นาฮีโดเป็นนักกีฬาฟันดาบ
อูยองอูเป็นทนาย
ฮวังชีมกเป็นอัยการ
พัคเซรอยเป็นเจ้าของร้านอาหาร
นัมโดซานเป็นโปรแกรมเมอร์ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัป
ละครเกาหลีหลายๆ เรื่องพาเราไปรู้จักชีวิตของตัวละครแต่ละตัว ผ่านความหลงใหลใฝ่ฝันและความหมายของพวกเขาที่มีต่อสังคมผ่านหลากสายอาชีพ หลายครั้งแม้เราจำชื่อละครไม่ได้ แต่แค่จำได้ว่าตัวเอกทำอาชีพอะไรก็คุยกันต่อได้แล้ว
ในซีรีส์เกาหลีบางเรื่อง อาชีพเป็นแค่องค์ประกอบรอง เสริมสีสันให้กับตัวละครนั้นๆ แต่หลายๆ เรื่องก็เขียนบทขึ้นมาอย่างประณีต และทำให้หน้าที่การงานกลายมาเป็นเส้นเรื่องหลัก ขับเสน่ห์ของตัวละครเอกออกมาผ่านความมุ่งมั่นที่เขามีต่อการทำงาน ฉายแววโดดเด่นผ่านทักษะหรือความรักงานที่ส่องประกายชัดกว่าตัวละครอื่นๆ
ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมบันเทิงที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพแบบเอาจริงเอาจัง เราคงเคยได้ยินผ่านข่าวมาบ้างแล้วว่า คนเกาหลีให้ความสำคัญกับงานมากแค่ไหน ซึ่งค่านิยมนี้ก็มีทั้งแง่ลบ อย่างการทำงานหามรุ่งหามค่ำ หรือการเคร่งเครียดสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพื่ออาชีพที่อยากเป็น
ผลสำรวจสำนักงานสถิติเกาหลี ในปี 2019 ชี้ว่าความกังวลอันดับหนึ่งของเด็กๆ เกาหลี ไม่ใช่การเรียนหรือหน้าตา แต่เป็นสายอาชีพที่จะเลือกทำต่อไปในอนาคต แต่ความตึงเครียดนี้ ก็นำมาซึ่งแง่มุมดีๆ อย่างการให้ความสำคัญกับเนื้อหาการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการงานในโรงเรียน หรือการก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ที่ผสานความเป็นพิพิธภัณฑ์เข้ากับสวนสนุกอย่าง Korea Job World เพื่อให้เด็กเล็กถึงเด็กโตได้มาเปิดโลกสายอาชีพต่างๆ มองในแง่นี้ก็คือการเตรียมตัวและสนับสนุนให้รู้จักตัวเองแต่เนิ่นๆ
ตั้งต้นตั้งแต่การทำความรู้จัก เพื่อที่จะได้นำไปสู่การวางแผนสายอาชีพในระยะยาว ไม่ใช่แค่การถามเด็กๆ ซ้ำๆ ในวันเด็กว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ที่นี่จะคอยก่อร่างภาพฝันให้ เพื่อให้เขารู้จักโลกและสังคมผ่านอาชีพหลากหลายเกินกว่าเด็กตัวเล็กจะจินตนาการ
สร้างภาพฝันก่อนช่วยสานแผน
ฮันกุกจ็อบเวิลด์ หรือชื่อภาษาอังกฤษ คือ Korea Job World เป็นศูนย์การเรียนรู้ขนาดใหญ่ในจังหวัดคยองกีโด ประเทศเกาหลีใต้ ที่นี่เป็นโลกจำลองนิทรรศการที่เกี่ยวกับอาชีพทั้งในปัจจุบันและอนาคต มีพื้นที่ราว 80,000 ตารางเมตร รวบรวมเอาวัตถุจัดแสดงและอุปกรณ์เวิร์กชอปต่างๆ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้สัมผัสบรรยากาศและประสบการณ์สายอาชีพอันหลากหลาย ทำให้พวกเขาเกิดจินตนาการในการตอบคำถามเกี่ยวกับอาชีพในฝันของตัวเองได้มากกว่าคำตอบมาตรฐาน อย่างทหาร ตำรวจ หรือหมอ
Korea Job World ตั้งอยู่ในเขตบุนดัง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพันกโย ดินแดนสตาร์ทอัปที่สื่อหลายสำนักเปรียบว่าเป็นซิลิคอนวัลเลย์ของเกาหลี เพราะเป็นที่ตั้งบริษัทด้านเทคโนโลยีดาวรุ่งต่างๆ ของประเทศ แม้จะไม่ได้ตั้งอยู่ในโซล แต่พื้นที่ที่เชื่อมต่อกันผ่านขนส่งสาธารณะอันสะดวกสบายก็ทำให้ประชาชนเดินทางมาเข้าชมได้ไม่ยาก
ตัวอาคารยังคงดูล้ำสมัย แม้จะเพิ่งครบรอบ 10 ปีไปเมื่อปี 2022 คิม ยอง-ชอล ประธานศูนย์ฯ คนปัจจุบัน เขียนถึงวิสัยทัศน์ของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ไว้ว่า จะมองไปให้เห็นอนาคตของประเทศ และอาชีพที่น่าจะมีบทบาทสำคัญในอนาคต เพื่อให้เด็กๆ และคนรุ่นใหม่สามารถมองเห็น รับฟัง สัมผัสประสบการณ์ เพื่อ ‘ใฝ่ฝัน’ ถึงมันได้ คอนเทนต์ที่จัดแสดง และสื่อให้ความรู้ต่างๆ จึงต้องมีการอัปเกรดและอัปเดตไปด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์ฯ เคยมองการณ์ไกล เล็งเห็นว่าเว็บตูนมีศักยภาพที่จะเป็นอุตสาหกรรมสุดฮอต จึงสร้างห้องสัมผัสประสบการณ์สตูดิโอเว็บตูน ตั้งแต่ในยุคที่เด็กๆ ยังไม่ค่อยรู้จักและมีจำนวนผู้เข้าชมไม่มากนัก ไม่กี่ปีให้หลัง จำนวนผู้ชมค่อยๆ พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงยุคที่อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีและซีรีส์ดังต่อยอดพล็อตเรื่องมาจากเว็บตูนมากมายหลายเรื่อง หรือห้องสัมผัสประสบการณ์บริษัทนักพัฒนาเกมที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ เห็นความเป็นไปได้ของการสร้างสรรค์ ขนานและผสานไปกับอุตสาหกรรมเกมของเกาหลีที่เติบโตในระดับโลก และนานวันก็ยิ่งต้องการกำลังคนมาช่วยกันผลักดันบริษัทท้องถิ่นให้ไปไกลกว่าเดิมในยุคที่ใครๆ ต่างก็พูดถึงเมตาเวิร์ส
เมื่อคราวที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ๆ เดิมทีเน้นไปที่กลุ่มเด็กและเยาวชน แต่ในโอกาสครบรอบที่ผ่านมา ทางศูนย์ได้ทบทวนแนวทาง ปรับกลยุทธ์ ขยายเป้าหมายไปยังกลุ่มคนในช่วงอายุอื่นๆ เช่น ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ที่อาจอยากเริ่มต้นอาชีพใหม่ในชีวิต รวมทั้งจัดคอร์สอบรมออนไลน์ให้กลุ่มที่อยู่ห่างไกลผ่านระบบ ONJOB ที่เป็นการบรรยายผ่านระบบออนไลน์
ฉายภาพ-ดึงดูด-วาดแผน สามขั้นตอนสู่อนาคต
จุดประสงค์ขององค์กร Korea Job World คือพาเด็กๆ มารู้จักโลกของอาชีพ ผ่านการดำเนินการด้วยสามขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 สร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้ลองสัมผัสประสบการณ์และสำรวจอาชีพต่างๆ ที่หลากหลาย
ขั้นที่ 2 ดึงดูดให้เด็กๆ ได้รู้จักอาชีพที่มีแววโดดเด่นในอนาคต
ขั้นที่ 3 สนับสนุนให้เด็กๆ ได้เลือกเส้นทางชีวิตและอาชีพที่เหมาะกับตัวเอง
งานหลักๆ ของ Korea Job World จึงประกอบไปด้วยการพัฒนาและดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างประสบการณ์อาชีพต่างๆ จัดนิทรรศการแสดงสิ่งที่เกี่ยวข้อง พัฒนาโปรแกรมแนะแนวสายอาชีพ การวางผังจัดแสดงและเส้นทางการเดินชมจึงเริ่มต้นจากห้องสัมผัสประสบการณ์สำหรับเด็กเล็ก (4 ขวบ – ป. 4) และห้องสัมผัสประสบการณ์สำหรับเยาวชน (ป.5 – ม.6) ที่ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 ขึ้นอยู่กับว่าผู้เข้าชมเป็นคนวัยใด
Korea Job World สร้างห้องสัมผัสประสบการณ์สำหรับเยาวชนถึง 41 ห้อง ที่ครอบคลุมอาชีพถึง 65 อาชีพในสาขาสังคมสงเคราะห์ ธุรกิจและการเงิน วัฒนธรรมและศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ชมสามารถสังเกตการณ์ผ่านเสียงของคนทำงานจริง ว่าผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้เคยผ่านอุปสรรคอะไรมาบ้างก่อนจะประสบความสำเร็จ สื่อผสมผสานที่นี่จัดไว้ให้เรียนรู้ ลองกดดูตำแหน่งและอาชีพต่างๆ ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อที่จะได้ประเมินตนเองและโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
เด็กๆ จะได้เข้าไปในห้องอาชีพที่ตัวเองสนใจ มีทั้งสื่ออธิบายให้ความรู้ และการบรรยายต่างๆ รวมทั้งฉาก เสื้อผ้าของอาชีพนั้นๆ ให้ลองใส่ และอุปกรณ์จำลองเพื่อให้ได้ลองสวมบทบาทขณะกำลังทำหน้าที่ของอาชีพนั้นๆ สอดคล้องกับขั้นที่ 1 คือขั้นตอนในการเปิดประสบการณ์ รู้จักอาชีพหลากหลาย รวมทั้งบทบาทและความหมายของอาชีพนั้นต่อสังคมโลก
เด็กๆ สวมชุดและหมวกสีส้ม ร้องตะโกนรับบทบาทพนักงานดับเพลิง สีหน้าจริงจัง อีกมุมหนึ่ง เด็กๆ กำลังนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ รับบทบาทนักข่าวดูว่าในหนึ่งวันนักหนังสือพิมพ์ต้องทำอะไรบ้าง ในห้องผจญอวกาศ พวกเขาสวมชุดนักบินอวกาศจำลองสุดเท่ เข้าไปดูหน้าจอจำลองว่าอยู่ในอวกาศเวิ้งว้าง
ต่อให้เด็กๆ จะไม่ได้ฝันอยากทำอาชีพนั้นในอนาคตก็ตาม แต่นี่ก็ถือเป็นประสบการณ์เรียนรู้ที่น่าสนุก ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้กลไกของสังคมปัจจุบันผ่านฟันเฟืองที่เรียกว่าการทำงาน และมองว่าเป็นการเล่นโรลเพลย์อย่างเพลิดเพลินกันไปด้วย
ที่น่าสนใจในส่วนนี้ก็คือ คล้ายๆ กับที่ซีรีส์เกาหลีมีตัวเอกประกอบอาชีพหลากหลาย ไม่ได้มีแค่อาชีพท่านประธานนั่งเซ็นเอกสาร ตำรวจ ทหาร และหมอ ศูนย์สร้างประสบการณ์อาชีพที่นี่มีทั้งอาชีพที่เราพอจะนึกออกอย่างนักหนังสือพิมพ์ นักดับเพลิง จิตรกร ตำรวจ เจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์ วิศวกรโรงงานรถยนต์ ผู้ประกาศ พยาบาล ฯลฯ หรืออาชีพที่เราอาจนึกไม่ถึงว่าจะมีให้ลองศึกษา เช่น เจ้าของร้านพิซซา ตำรวจน้ำ นักมายากล โรงงานอัปไซคลิง นักขับรถแข่ง ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ที่ฉายแสงให้อาชีพต่างๆ และมองว่าแต่ละบทบาทก็มีคุณค่าในสังคมในแบบที่แตกต่างแต่สำคัญไม่แพ้กัน
นอกจากนี้ เพื่อให้สมกับสถานที่ให้ความรู้และประสบการณ์สำหรับอาชีพ ที่ไม่ใช่แค่ธีมพาร์กที่สร้างขึ้นมาลอยๆ และที่ศูนย์ฯ ก็มีความเป็น One-stop Service การเชื่อมร้อยกับภาคีต่างๆ จึงสำคัญ
หลายห้องที่จัดแสดงมาจากการจับมือกับภาคเอกชนหรือหน่วยงานอื่นของรัฐเพื่อให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องจากองค์กรที่เกี่ยวกับอาชีพนั้นจริงๆ เช่น กรมตำรวจชายฝั่ง (ห้องหน่วยกู้ภัยทางทะเลและศูนย์ควบคุมการจราจรทางทะเลอัจฉริยะ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเกาหลี (ห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์) สำนักงานข้อมูลและการสื่อสารแห่งชาติ (NIA) (ห้องโลกอินเทอร์เน็ตอันงดงาม) คณะกรรมการลิขสิทธิ์แห่งชาติ (ห้องบริษัทกราฟิกดีไซน์และห้องส่งสถานีโทรทัศน์จำลอง) สำนักงานหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ (ห้องหน่วยข่าวกรอง) บริษัททันตกรรมยูดี (ห้องหมอฟัน) สมาพันธ์ความร่วมมือทรัพยากรการก่อสร้าง (ห้องโรงงานรีไซเคิล) กรมสวัสดิการแรงงาน (ศูนย์ฟื้นฟูอุบัติเหตุจากอุตสาหกรรม) ฯลฯ
เรียกได้ว่าเป็นความร่วมมือแบบวิน-วิน เพราะองค์กรแต่ละองค์กรทั้งได้โปรโมตตัวเองและส่งเมสเซจหลักที่อยากรณรงค์ให้เด็กๆ ไปพร้อมกับแนะนำความรู้เกี่ยวกับสายอาชีพนั้นๆ ด้วย
หลังจากได้สัมผัสประสบการณ์เกี่ยวกับอาชีพต่างๆ และรู้จักโลกปัจจุบัน-อนาคตอย่างหนำใจแล้ว ก็ได้เวลากลับเข้ามามองและรู้จัก ‘ตัวเอง’ (อย่างน้อยก็เป็นตัวเองในช่วงวัยนั้นๆ ของชีวิต) ผ่านการทำแบบทดสอบความถนัดและความสนใจ ซึ่งอยู่ในโซนที่เรียกว่าห้องวางแผนอาชีพที่ชั้น 2 เมื่อได้ผลการทดสอบออกมา ก็มีพื้นที่สำหรับพูดคุยกันกับเพื่อนๆ และห้องรับคำปรึกษาเส้นทางอาชีพ เพื่อให้ผู้รู้จริงได้มาไขข้อสงสัย
โตขึ้นอยากทำอะไร? คำถามง่ายๆ ที่คำตอบเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
นับตั้งแต่ดำเนินงานมา Korea Job World ก็มีผู้เข้าชมราว 1 ล้านคนต่อปี และมียอดผู้เข้าชมสะสมเกิน 6 ล้านคนไปเมื่อปี 2019 แม้ในช่วงสองปีล่าสุดจะประสบปัญหาจากโควิดที่ทำให้ผู้เข้าชมลดลงฮวบฮาบ แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย จำนวนผู้เข้าชมก็เริ่มฟื้นตัวกลับคืน
โลกทุกวันนี้ มีอาชีพใหม่ๆ ที่เคยไร้นิยามหรือเกินจินตนาการของเรา ก่อนจะเข้าถึงช่องทางเหล่านั้น ก็ต้องเปิดประตูแห่งความสร้างสรรค์ก่อน เพื่อจะได้กล้าสร้างสิ่งที่ยังไม่มี หรือไม่ยึดติดกับกรอบ เพื่อพาทั้งโลกและตัวเองไปให้ไกลกว่าเดิม ในฐานะศูนย์การเรียนรู้ที่ต้องตามโลกให้ทัน ล่าสุด Korea Job World ได้เพิ่มการเปิดศูนย์ประสบการณ์ทักษะเทคโนโลยีในปี 2020 และเมกเกอร์ อาร์ไคฟ์ (Maker Archive) หรือศูนย์สัมผัสประสบการณ์นักประดิษฐ์ ขึ้นที่ชั้น 4 ในปี 2022 เพื่อให้เด็กๆ ขยับจากการมองแค่อาชีพที่อยากเป็น มาเป็นการมองสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำหรือสร้างสรรค์ออกมาให้โลกใบนี้
หันมามองโลกที่ดำเนินไปข้างนอก อาชีพที่เด็กๆ เกาหลีอยากเป็นในแต่ละปีก็เปลี่ยนแปลงเสมอ และดูจะหลากหลายมากขึ้น ผลสำรวจปี 2015 บ่งบอกว่าอาชีพยอดนิยมของนักเรียนประถมฯ ในเกาหลี ได้แก่ ครู นักกีฬา และเชฟ ขณะที่อาชีพยอดนิยมของนักเรียนมัธยมต้น ได้แก่ ครู ตำรวจ เชฟ และสำหรับนักเรียนมัธยมปลาย ได้แก่ อาชีพครู นักวิจัยและวิศวกรเครื่องกล และตำรวจ
ส่วนผลสำรวจปี 2022 แม้อาชีพยอดนิยมอย่างครูและนักกีฬาจะยังรั้งอันดับต้นๆ แต่ก็เริ่มมีอาชีพสมัยใหม่อย่างครีเอเตอร์โผล่มาในอันดับของเด็กประถมฯ และตำแหน่ง CEO ในอันดับอาชีพของกลุ่มเด็กมัธยมปลาย
นอกจากนี้ ในบรรดาอาชีพต่างๆ ที่คะแนนอันดับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ดูเหมือนว่าความนิยมต่ออาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในปี 2022 จะได้รับความนิยมพุ่งสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้านั้นมาก แม้จะยังไม่ได้เป็นอันดับต้นๆ แต่ก็มีกระแสที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ สอดรับความต้องการของตลาด และการพัฒนาโดยรวมของประเทศ
เมื่อความสนใจของเด็กๆ แต่ละยุคเปลี่ยนผันไป สถิติการเข้าชมห้องต่างๆ ใน Korea Job World ก็เปลี่ยนตาม จากเดิมเมื่อเริ่มก่อตั้งศูนย์ใหม่ๆ ห้องยอดนิยมคือห้องส่งสถานีโทรทัศน์ที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจ สะท้อนความนิยมสื่อโทรทัศน์ แต่ในยุคหลังๆ ห้องที่เริ่มมีผู้เข้าชมเยอะกลับเป็นร้านอาหาร สถาบันวิจัยเครื่องสำอาง และสตูดิโอเว็บตูนที่ยุคแรกๆ ยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าไร ตอนนี้ก็เริ่มมีเด็กๆ ให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ
สำหรับค่าใช้จ่ายในการเข้าชมศูนย์นั้นต่างกันไปตามโซนที่เข้าใช้งาน หากเป็นโซนศูนย์สัมผัสประสบการณ์สำหรับเด็กเล็กจะตกอยู่ที่ 18,000 วอน และผู้ปกครอง (19 ปีขึ้นไป) คนละ 9,000 (แบ่งเป็นรอบ 9:30 – 13:30 น. และ 14:30 – 18:30 น.) ซึ่งค่าเข้าจำนวนนี้ หากรวมราคาเด็กกับผู้ใหญ่หนึ่งคนแล้วก็จะพอๆ กับค่าแรงขั้นต่ำของประเทศเกาหลีสำหรับการทำงานราวสามชั่วโมง (ค่าแรงขั้นต่ำเกาหลีปี 2023 อยู่ที่ชั่วโมงละ 9,620 วอน) หากเป็นโซนศูนย์ประสบการณ์สำหรับเยาวชนจะมีค่าเข้าคนละ 9,000 วอนต่อห้อง
สำหรับศูนย์วางแผนสายอาชีพนั้น ถ้าใช้บริการศูนย์ประสบการณ์เยาวชนอยู่แล้วก็ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม แต่หากต้องการใช้งานแบบเดี่ยวๆ ก็จ่ายในราคา 3,000 วอน
หากเทียบเป็นเงินไทยอาจจะมองว่าไม่ได้ถูกนักในฐานะศูนย์การเรียนรู้สาธารณะ แต่หากมองว่าเป็นราคาที่พ่อแม่ชาวเกาหลียอมจ่าย เพื่อพาลูกๆ เข้าไปใช้อุปกรณ์จำลองแบบครบครัน ได้ทั้งความสนุกและความรู้ในคราวเดียว ก็น่าจะมองว่าคุ้มค่าได้
การมีศูนย์แบบนี้ ช่วยให้เด็กๆ มองภาพอนาคตของตัวเองออกคร่าวๆ มีธงในใจ ช่วยขยายขอบฟ้าจินตนาการเกี่ยวกับโลกใบนี้ให้กว้างขึ้น หากมีเป้าหมายก็วางแผนและขอคำปรึกษาได้ ไม่ต้องคอยหลับตาคลำหาอาชีพที่คิดว่าใช่จากจินตนาการ วางแผนการ เส้นทาง ขั้นตอนที่จะทำให้ไปถึงจุดนั้น
“สิ่งสำคัญของ Korea Job World คือ ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One-stop Service) สำหรับการพัฒนาอาชีพที่เด็กสามารถกำกับทิศทางได้เอง พวกเขาจึงสามารถบ่มเพาะความคิดในการประเมินอาชีพ ทำความเข้าใจตนเอง สืบค้นอาชีพทั้งหลาย และวางแผนว่าอยากจะทำงานอะไรในภายภาคหน้า และมันจะน่าหลงใหลมากกว่า หากเด็กๆ ได้ลองมีปฏิสัมพันธ์จริงๆ กับคนทำงานที่ได้ประกอบอาชีพของเขาอย่างกระตือรือร้น Korea Job World อาจจะเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดของเยาวชนเกาหลีในการตามหาความฝัน ในประเทศที่มีพื้นที่เหล่านี้น้อยเหลือเกิน”
ดร.จี-ยอน (Dr. Ji-Yeon Lee) ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอาชีพและนักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันวิจัยอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมแห่งเกาหลี (Korea Research Institute for Vocational Education & Training) กล่าว
สิ่งที่น่าประทับใจมากกว่าการสร้างประสบการณ์ของ Korea Job World คือการมอบสายตาที่กว้างไกลขึ้น ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าอาชีพบนโลกนี้มีหลากหลาย บางครั้งสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำอาจยังไม่ใช่อาชีพ หรือยังไม่มีชื่อเรียกในวันนี้ แต่พวกเขาเป็นความหวังของประเทศที่จะบุกเบิกมันขึ้นมาก่อนใคร
เหนือกว่าคำถามที่ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร Korea Job World น่าจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่วาดภาพให้เด็กๆ ได้รู้ว่า โลกหมุนเวียนเคลื่อนตัวไปอย่างไรผ่านอาชีพและบทบาท และแต่ละคนมีคุณค่ามากเพียงใดในแบบของตัวเอง
ที่มา
บทความ “한국잡월드소개” จาก koreajobworld.or.kr (Online)
บทความ ““선생님보다는…” 초등생 장래희망 3위, 크리에이터…1위 직업은?” จาก donga.com (Online)
บทความ “중·고등학생 희망직업 1위는 ‘교사’…소프트웨어개발자 인기 상승” จาก ntoday.co.kr (Online)
บทความ “[그래픽] 초·중·고생 희망 직업 순위” จาก yna.co.kr (Online)
บทความ “한국잡월드_청소년체험실별 이용 현황” จาก data.go.kr (Online)
บทความ “전 세계가 주목하는 놀라운 직업체험관, 한국잡월드 탐방기” จาก blog.naver.com (Online)
บทความ “파트너사현황” จาก koreajobworld.or.kr (Online)
บทความ “THE MAGIC OF KOREA JOB WORLD” จาก ceric.ca (Online)
Cover Photo: 서울특별시 소방재난본부, CC BY-SA 4.0, via Wikimedia Commons