
Libraries and Archives Blueprint 2025 (LAB25) คือแผนพัฒนาห้องสมุดของ คณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ (NLB) สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลยุทธ์หลัก คือ 1) ตลาดนัดแห่งการเรียนรู้ (Learning Marketplace) 2) สร้างประชากรที่ฉลาดรู้เรื่องข้อมูล (Informed Citizenry) 3) สร้างนักเล่าเรื่องเมืองสิงคโปร์ (Singapore Storytellers) และ 4) สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงความรู้ (Equalizer)
บทบาทของ NLB ในการส่งเสริมความเสมอภาค (Equalizer) คือช่วยเหลือครอบครัวที่มีรายได้น้อยให้มีช่องทางในการเรียนรู้ สนับสนุนการเรียนรู้เทคโนโลยีเกิดใหม่ และออกแบบบริการพิเศษสำหรับผู้บกพร่องทางร่างกาย
ห้องสมุดพังโกล (Punggol Regional Library) เป็นห้องสมุดแห่งความเท่าเทียมแห่งแรกของ NLB ทีมงานเก็บข้อมูลหลายครั้งเพื่อให้เข้าใจปัญหาและความต้องการของผู้พิการ หลังจากนั้นจึงจัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น ทดลองสร้างต้นแบบในห้องสมุดอื่นๆ ก่อนนำผลลัพธ์ไปใช้จริงกับห้องสมุดพังโกล
การจัดการประสบการณ์ผู้ใช้ซึ่งมีความต้องการพิเศษของห้องสมุดพังโกลครอบคลุมตั้งแต่การเดินทางมายังห้องสมุด เส้นทางการใช้บริการในห้องสมุด การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ห้องสมุดและผู้ใช้งาน และการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ
สิ่งอำนวยความสะดวกในห้องสมุดพังโกลมีหลายประการ เช่น ‘พื้นที่สงบ’ หรือ ‘ห้องสงบใจ’ เพื่อปรับอารมณ์ผู้ใช้ที่เป็นออทิสติกให้สงบลง ชั้นวางที่ถูกออกแบบให้ต่ำกว่าของห้องสมุดอื่นๆ จุดยืมคืนมีพื้นที่กว้างขวางสำหรับรถเข็น มีหนังสือภาษาอังกฤษแบบอักษรเบรลล์ หนังสือเล่าเรื่อง หนังสือเสียงโฟนิกส์ และหนังสือสัมผัส
เจ้าหน้าที่ห้องสมุดได้รับการอบรมพิเศษเพื่อให้ช่วยเหลือผู้ใช้งานได้ตรงความต้องการ และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมที่ห้องสมุดจัดเอื้อให้ผู้พิการสามารถเข้าร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ โดยมีการใช้ ‘เทคโนโลยีช่วยเหลือ’ สำหรับผู้พิการ เช่น การขึ้นคำบรรยายสด เครื่องช่วยฟัง และที่สำคัญก็คือห้องสมุดพังโกลมีการสื่อสารและรับฟังความคิดเห็นผู้ใช้เพื่อพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง ในฐานะต้นแบบด้านการให้บริการอย่างครอบคลุม