ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center – UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำวิจัยว่าด้วยการสร้างเมืองบนฐานความรู้ โดยวิเคราะห์โอกาสและข้อจำกัดของประเทศไทยในการขับเคลื่อนสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ตามแนวทางของยูเนสโก
นิยามของเมืองแห่งการเรียนรู้ แบบเข้าใจและสื่อสารง่ายๆ คือ เมืองที่ผู้คนสามารถหาคำตอบในสิ่งที่อยากรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยเมืองมีบทบาทสนับสนุนการจัดหาสาธารณูปการด้านการเรียนรู้ การพัฒนาเมืองให้เอื้อต่อการเรียนรู้
กรณีตัวอย่างในต่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนเมืองด้วยเศรษฐกิจฐานความรู้ มักเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมการเรียนรู้และวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็ง มีอำนาจในการจัดการการเมืองของตน มีโครงสร้างการบริหารจัดการที่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ประชาสังคมเข้มแข็ง และผู้คนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่าย
ในการประยุกต์แนวคิดเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้มาใช้ในประเทศไทย ความท้าทายที่สำคัญคือโครงสร้างการบริหารจัดการเมืองที่รวมศูนย์และแยกส่วน การตัดสินใจเชิงนโยบายสำคัญมักมาจากระดับที่สูงกว่าระดับเมือง ผลคือเกิดการกระจุกตัวของแหล่งเรียนรู้อยู่ในบางพื้นที่ นอกจากนี้ การพัฒนาเมืองส่วนใหญ่มักยึดการดำเนินงานตามพันธกิจ ซึ่งอาจไม่ได้สอดคล้องกับเรื่องการเรียนรู้ รวมทั้ง ขาดแพลตฟอร์มในการเก็บแล้วและกลั่นความรู้ในระดับย่าน
ฟัง… การบรรยายเรื่อง “Knowledge-based City Remaking เมืองการเรียนรู้แห่งอนาคต” บรรยายโดย ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center – UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บันทึกในโอกาสการประชุม TK Forum 2022 หัวข้อ “Learning City and Lifelong Learning Ecosystem”