สร้างพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชนอย่างเข้าใจ ไปกับ แอ๋ม-ศิริพร จากคลองเตยดีจัง

1,290 views
7 mins
September 5, 2022

          พ.ศ. 2565 งานวิจัยจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) บอกว่ามีเด็กหลุดจากระบบการศึกษา 1.2 ล้านคน นี่คือปัญหาใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม

          วิธีการที่เริ่มเกิดขึ้นในหลากหลายประเทศ คือการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ใกล้บ้าน (Learning Neighborhood) เป็นพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชน และอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการดูแลคนที่หลุดจากระบบการศึกษา

          พื้นที่การเรียนรู้ใกล้บ้านสามารถเกิดได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าชุมชนจะรวมตัวกันออกแบบพื้นที่โดยหยิบเอาความรู้ในชุมชนมาส่งต่อ หรือจะเป็นหน่วยงานภายนอกเข้ามาสร้างพื้นที่พร้อมดูแลกระบวนการเรียนรู้ที่เห็นความต้องการว่าคนในชุมชนอยากได้อะไร ทั้งหมดต่างก็ช่วยส่งเสริม และต้อนรับคนทั่วไป หรือกระทั่งคนที่หลุดจากระบบการศึกษา ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ในแบบต่างๆ ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก 

          แอ๋ม-ศิริพร พรมวงศ์ ผู้ก่อตั้ง Music Sharing กลุ่มครูดนตรีอาสาที่อยากให้เสียงดนตรีเข้าถึงเด็กเปราะบาง ได้เริ่มใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือเข้าไปสร้างการเรียนรู้ในพื้นที่คลองเตยเมื่อ 10 กว่าปีก่อน จนกระทั่งออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชนที่สร้างเวิร์กชอปผ่านการเล่นดนตรี ช่วยสร้างสีสัน และทำให้ชุมชนกลับมามีชีวิตชีวา ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เข้าใจปัญหาของชุมชน และออกแบบวิชาเรียนจากความต้องการของคนในชุมชนจริงๆ ในนามของ ‘กลุ่มคลองเตยดีจัง’ 

          แม้วันนี้ พื้นที่การเรียนรู้ในชุมชนคลองเตยจะเพิ่งถูกเวนคืน มีเสาป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ขวางอยู่กลางสนามเด็กเล่นที่เด็กๆ เคยใช้ ทำให้พื้นที่การเรียนรู้ในคลองเตยหายไปและแอ๋มคิดว่าคงยากที่จะเรียกคืน ถึงอย่างนั้นแอ๋มก็ยังไม่ได้ทิ้งคลองเตยไปไหน ยังคงสร้างโปรเจกต์ให้เด็กๆ ในชุมชน เช่น On the Job โครงการรับของมือสอง ขายของมือสองออนไลน์ เพื่อให้เด็กคลองเตยได้เรียนรู้ระบบมาร์เก็ตติ้ง และช่วยหารายได้ให้ครอบครัว นอกจากนี้ยังพร้อมจะขยับขยายการเรียนรู้ไปในทุกความเป็นไปได้ต่อให้มีพื้นที่หรือไม่ก็ตาม

          และนี่คือที่มาที่ไปของสิ่งที่แอ๋มกำลังจะทำต่อไป และเป็นเหตุผลที่ทำให้แอ๋มมองเห็นว่าทำไมการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชนถึงสำคัญ

สร้างพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชนอย่างเข้าใจ ไปกับ แอ๋ม-ศิริพร จากคลองเตยดีจัง

ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นของการเข้าไปทำพื้นที่การเรียนรู้ในคลองเตยให้ฟังหน่อย

          เริ่มต้นจากเป็นอาสาสมัครสอนดนตรี สอนศิลปะ เราก็ใช้ดนตรีหรือศิลปะเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงเด็กเปราะบาง เพราะคิดว่าดนตรีเป็นสิ่งที่เด็กวัยรุ่นชอบ แล้วโอกาสที่พวกเขาจะได้เรียนดนตรีค่อนข้างน้อย พอคิดแบบนั้นก็เริ่มรับบริจาคเครื่องดนตรี แต่ทำไปทำมาพบว่าสิ่งที่หายากกว่าคือครูสอนดนตรี เพราะไม่ใช่แค่สอนครั้งเดียวจบ แต่ว่าต้องมาสอนต่อเนื่อง การเรียนดนตรีต้องอาศัยเวลา จากตอนแรกที่มาเป็นแค่อาสาสมัครช่วยหาเครื่องดนตรี ก็เลยมาเป็นครูสอนด้วย เป็นองค์กรในนาม Music Sharing คือดนตรีเพื่อการแบ่งปัน

          หลังจากไปทำโครงการมาในหลายพื้นที่ ทั้งบนดอย พื้นที่เปราะบาง เราก็เลยนึกถึงคลองเตย พอได้มาทำแล้วเห็นปัญหาที่เด็กๆ ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้หลายรูปแบบ เลยตัดสินใจมาทำบ่อยๆ แล้วผูกพันกับเด็กๆ พวกเขาเองก็เข้ามาเรียนเรื่อยๆ ซึ่งเราคิดว่าเด็กจะมีพัฒนาการถ้าเราทำอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นทำกับที่นี่มายาวนานกว่า 10 ปี 

          ต่อมาพอสอนเด็กๆ ให้เล่นดนตรีได้ก็คิดถึงพื้นที่ว่า ถ้าสอนแล้วเด็กๆ จะไปแสดงที่ไหนดี เลยเริ่มขอพื้นที่ในชุมชนที่มันรกร้าง หรือไม่ถูกใช้งาน จนกระทั่งไปเจอกับโรงฆ่าสัตว์เก่าที่ปิดตัวไปแล้ว เราก็ขอเจ้าของพื้นที่มาทำเป็นพื้นที่เรียนรู้ของเรา มาตกแต่ง ชวนศิลปินมาทำกราฟิก วาดสนามเด็กเล่นไว้สวยมาก

ภาพชุมชนคลองเตยที่แอ๋มรู้จักก่อนเข้าไปสร้างการเรียนรู้เป็นอย่างไร

          มันก็จะมีภาพตามสื่อที่พวกเขาเป็นคนหัวรุนแรง เสพยา เพราะสื่อก็จะย้ำประเด็นเหล่านี้ ซึ่งมันมีปัญหาจริงๆ แต่ว่าพอเราเข้าไปเราก็จะเห็นว่าเขาไม่ได้แตกต่างจากเราเลย ชาวบ้านทำมาหากินสุจริต อยากส่งลูกเรียนโรงเรียนดีๆ มีการศึกษาดีๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดี เลยเป็นที่มาของชื่อคลองเตยดีจังด้วย เพราะเราอยากสื่อสารว่าคลองเตยไม่ได้มีแต่เรื่องลบๆ นะ

ปัญหาอะไรที่ชุมชนเจอและยังเจออยู่

          เราว่าเป็นความยากจน พอยากจน ลูกไม่ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่ดี ไม่มีเวลาดูแลลูก เพราะต้องทำงาน ลูกก็เรียนไม่จบ ต้องออกกลางเทอมบ้าง เพราะไม่มีเงินสนับสนุน สุดท้ายเด็กๆ ก็ต้องออกมาทำงานตามค่าแรงขั้นต่ำ และมันยังส่งผลต่อภาพอนาคตที่เด็กๆ เห็น คือพวกเขาจะรู้สึกว่าโอกาสในชีวิตมันน้อยมาก ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตตัวเองได้ แถมเห็นความรุนแรงในครอบครัวจนเคยชิน ก็เลยใช้กำลังในการแก้ปัญหา 

แล้วเข้าไปคุยกับคนในชุมชนยังไง

          ตอนแรกก็จะติดต่อผ่านคณะกรรมการชุมชน เขาก็จะช่วยหาพื้นที่สอนให้ ซึ่งจริงๆ มันไม่ได้ยากอะไร แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการออกแบบกระบวนการในการทำงานกับเด็ก มีจิตวิทยาในการทำงานกับเด็ก เพราะว่าเด็กๆ ก็จะซนหน่อย 

          คนในชุมชนเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการของเรา เลยไม่ค่อยให้ลูกหลานมาร่วมกิจกรรม แต่เราก็ทำอย่างต่อเนื่อง ทำจนเห็นการเปลี่ยนแปลง ตอนแรกๆ พวกเขาคงมองว่าแค่มาเล่นกันเฉยๆ หรือถ้าจะให้มาก็เพราะมีข้าวฟรี แต่กระบวนการของเรามันทำให้เด็กที่เคยติดเกม สามารถหาเงินเลี้ยงยายได้

สร้างพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชนอย่างเข้าใจ ไปกับ แอ๋ม-ศิริพร จากคลองเตยดีจัง

นานไหมกว่าชุมชนจะเข้าใจ

          ก็เป็นเวลาเกือบ 10 ปีที่เราเข้าไปทำเลย คือ 10 ปีนี้มันเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กคนหนึ่งได้ชัดเจนพอที่จะพิสูจน์ให้ชุมชนเห็นว่าพื้นที่การเรียนรู้ที่เราเข้าไปทำมันดียังไง และทำให้ครอบครัวได้เห็นมิติอื่นๆ ของชีวิตเด็กนอกจากเรื่องเกรดเฉลี่ยหรือการไปเป็นแรงงานขั้นต่ำ

แอ๋มออกแบบกระบวนการเรียนรู้ยังไงบ้าง

          ก็จะใช้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย แต่เน้นสนุก ทำให้อิน ได้รวมกลุ่ม ไม่ใช่เอาทฤษฎีไปสอน เพราะเด็กๆ เจอทฤษฎีที่โรงเรียนมาหนักพอแล้ว เขาก็จะไม่ค่อยสนใจ แล้วก็มีการแยกกลุ่มย่อยเพื่อให้เด็กๆ เข้าถึงการเรียนรู้ได้ง่าย ตามความถนัด มีอาสาสมัครคอยดูแลเยอะหน่อย แล้วที่สำคัญคือการทำอย่างต่อเนื่อง

การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชนยากไหม

          การหาพื้นที่ไม่ยาก ที่ต้องทำต่อคือกระบวนการดูแลอย่างต่อเนื่อง ต้องออกแบบระบบดูแลรักษา มีกิจกรรมทำอยู่เสมอ เรื่องสถานที่ก็ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีครูหรืออาสาสมัครเข้าไปสอน สถานที่นั้นก็ไม่เกิดประโยชน์ 

Photo : คลองเตยดีจัง

ยกตัวอย่างกระบวนการที่แอ๋มทำให้ฟังหน่อย

          เช่น เราจะจัดงานอีเวนต์หนึ่ง เราก็จะชวนเด็กในชุมชนมาร่วมทำงานด้วย เพราะการทำอีเวนต์มีทักษะมากมายที่ซ่อนอยู่ทั้ง Hard Skills และ Soft Skills ทั้งการจัดการ การควบคุมอารมณ์ การฟีดแบ็ก การสื่อสาร ความตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบ หรือแม้แต่การใช้ Excel เพื่อจัดตารางงาน ทำบัญชีต่างๆ ในการทำงาน อาสาสมัครก็ช่วยสอน ช่วยฝึก 

          นึกภาพทักษะเหล่านี้ คนเรียนจบปริญญาตรีบางคนยังไม่มีเลย แต่มันจำเป็นมากๆ และนำไปต่อยอดได้มากมาย ซึ่งหลักๆ เราจะชวนเขาทำงานด้วยกัน แล้วมาถอดบทเรียนกันในแต่ละวัน เพื่อฝึกให้เขามองเห็นว่าเขากำลังทำอะไร เจออะไร มีอะไรที่ดี มีอะไรที่ต้องปรับปรุง ซึ่งกว่าจะมาถึงวันที่เขากล้าแสดงความเห็น กล้าบอก กล้าเล่า เราก็ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่ตัดสินกัน

          พื้นที่การเรียนรู้ในชุมชนจำเป็นสำหรับเรา แต่จริงๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘คน’ ลานกิจกรรม ต้นไม้ สนามเด็กเล่น คอมพิวเตอร์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการพัฒนาคน แต่องค์ประกอบเหล่านี้ก็ยังต้องอาศัยมนุษย์มาช่วยจัดกระบวนการการเรียนรู้อยู่ดี เพราะถ้ามีพื้นที่แต่ไม่มีการออกแบบจัดการกระบวนการเรียนรู้ก็เปล่าประโยชน์ อย่างเราเพิ่งถูกเวนคืนพื้นที่ไปทำป้ายโฆษณา แบบที่มาตั้งเสาโฆษณากลางชุมชนเลย แต่เราก็คิดว่าไม่เป็นไร พื้นที่การเรียนรู้สร้างที่ไหนก็ได้ ถ้ามีนักจัดการการเรียนรู้

อะไรคือนักจัดการการเรียนรู้

          คนที่คอยออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนรู้และตัวผู้เรียน ซึ่งจริงๆ ก็มีข้อมูลมากมายที่นักจัดการการเรียนรู้คนอื่นๆ เคยทำ เราก็สามารถเอามาเป็นข้อมูลทำในพื้นที่ของเราได้ เรามีข้อมูลเยอะมากๆ แต่แปลกที่ไม่ค่อยมีใครเอาไปใช้

          แต่ว่าสุดท้ายเราก็ต้องออกแบบให้เข้ากับพื้นที่ของเราแล้วทดลองทำไปเรื่อยๆ เพราะต้องมาดูว่าถ้าเอากระบวนการนั้นมาใช้ แล้วมันเหมาะกับพื้นที่เราไหม เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีบริบทของตัวเอง ถ้าไม่เวิร์กจะปรับยังไงได้บ้าง มาถอดบทเรียนกัน

Photo : คลองเตยดีจัง

สำหรับชุมชนคลองเตยมีบริบทเฉพาะอะไรบ้างที่ต้องนึกถึงเมื่อจะออกแบบกระบวนการเรียนรู้

          เด็กๆ ในคลองเตยจะเป็นเด็กที่มีฐานกายเยอะหน่อย หมายความว่าเขาชอบการออกกำลัง ชอบการเคลื่อนไหว ชอบการขยับร่างกาย เวลาเราออกแบบกระบวนการเราก็ต้องใส่การขยับตัว การเคลื่อนไหว การวิ่งเข้าไปในกิจกรรมให้เขาได้ใช้พลัง เพื่อให้การเรียนรู้ไม่น่าเบื่อสำหรับเขา 

          เด็กคลองเตยนี่ถ้าให้มานั่งฟังเราบรรยาย บางทีเขาลุกออกไปเลยก็มีนะ เด็กๆ เคยบอกว่าอยู่โรงเรียนก็ต้องมานั่งฟังบรรยาย มาเรียนรู้แบบนี้ยังต้องฟังบรรยายอีกเหรอ เพราะฉะนั้นเวลามีครูอาสาสมัครมาเราก็ต้องแจ้งอาสาสมัครถึงบริบทของเด็กๆ รับฟังฟีดแบ็กจากเด็กๆ แล้วเราก็ไปทำข้อตกลงกับเด็กๆ ด้วยว่ามันอาจจะมีตอนที่น่าเบื่อมาก แต่ขอเวลาอดทนนิดนึง ก็จะมีเด็กๆ ที่พยายามนั่งฟังอย่างอดทน แต่ให้ฟีดแบ็กออกมาตรงๆ ว่าไม่ชอบเลย ซึ่งภายนอกอาจจะมองว่าเด็กๆ ก้าวร้าว แต่เรามองว่านี่คือการให้เกียรติอย่างคนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้ด้วยว่าในชีวิตนี้เราทำแต่สิ่งที่ชอบไม่ได้ เราจะต้องเจอสิ่งที่ไม่ชอบบ้าง ดังนั้นความอดทนและการให้เกียรติเป็นเรื่องที่เราอยากให้เขาเรียนรู้

จะออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชนต้องคิดถึงอะไรบ้าง

          อันดับแรกคือกลุ่มเป้าหมาย คนที่จะมาใช้งานเป็นใคร เป็นเด็กหรือผู้สูงวัย อย่างของเราเป็นเด็ก เราก็จะออกแบบกิจกรรมที่เข้ากับช่วงวัย ช่วงอนุบาลเน้นเล่นอิสระ กับทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคม โตมาอีกหน่อยก็ให้มาเล่นดนตรี รุ่นโตสุดก็จะให้ทำโปรเจกต์ที่สามารถสร้างรายได้ให้เขาได้ เพราะเขาถึงวัยที่พ่อแม่คาดหวังให้หาเงินได้แล้ว เราก็ต้องมอบความต้องการให้เขาแทรกไปกับการเรียนรู้

          พอรู้ว่าจะออกแบบกระบวนการกับกลุ่มเป้าหมายของเรายังไง ค่อยมาดูเรื่องพื้นที่ว่าจะออกแบบยังไงได้บ้าง แล้วค่อยหาพาร์ตเนอร์หรือคนสนับสนุนมาช่วยเติมเต็ม

Photo : คลองเตยดีจัง

อะไรเป็นสิ่งที่ต้องนึกถึงเสมอเมื่อจะสร้างพื้นที่หรือทำงานร่วมกับชุมชน

          เราต้องศึกษาแล้วมองเห็นปัญหาและความเจ็บปวดของเขา อะไรที่ทำให้เขาต้องส่งลูกไปทำงานตั้งแต่อายุน้อยๆ อะไรทำให้เด็กไม่ค่อยได้เรียนต่อ เช่นที่คลองเตยเป็นเรื่องความยากจน เราจะไปบอกให้เขาเลิกทำงานมาเรียนกับเราอย่างเดียวไม่ได้ เราเลยต้องมีกระบวนการเรียนรู้ที่มีประโยชน์ต่อการทำงานของเขาด้วย อะไรที่เป็นทักษะจำเป็น อะไรที่จะทำให้เขาเข้าสังคมได้ ดูความต้องการของเขาเป็นหลัก

          นอกจากนี้การสร้างการเรียนรู้ในชุมชนเป็นงานระยะยาว ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าประสบความสำเร็จเท่าไหร่ แต่เป็นการเฝ้ามองการเติบโตของคนคนหนึ่ง ซึ่งระหว่างนั้นเราต้องพร้อมทดลอง ปรับเปลี่ยน และถอดบทเรียนกันเรื่อยๆ เพื่อให้คนที่เข้ามาเรียนได้ประโยชน์สูงสุด

          เป้าหมายของเราคือเด็กต้องรอดจากความยากจน รอดจากวงจรสีเทา รอดจากปัญหาครอบครัว การสร้างพื้นที่เป็นเครื่องมือหนึ่งในการชวนเด็กๆ มาเรียนรู้ ถึงอย่างนั้น ถ้าเราเอาแต่สร้าง แต่ไม่เกิดการใช้งานก็ไม่มีประโยชน์ เหมือนกับที่เรามีสนามเด็กเล่น มีสวนสาธารณะ มีห้องสมุด สร้างให้สวยแค่ไหน แต่ถ้าห้ามเด็กเข้าไปวิ่งเล่นในสวนสาธารณะ หรือห้ามเด็กเข้าไปใช้ห้องสมุด พื้นที่นั้นก็ไม่มีประโยชน์ 

          ดังนั้นแม้จะสร้างพื้นที่ให้ดูสวย ดูว้าว ผู้ใหญ่เห็นแล้วชอบ แต่สุดท้ายเราห้ามเด็กเข้าไปใช้ มันก็ไม่เกิดการเรียนรู้แน่นอน

แปลว่าถ้าสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ ก็น่าจะช่วยแก้ปัญหาชุมชนได้หรือเปล่า

          ใช่ค่ะ พื้นที่การเรียนรู้ที่มีกระบวนการการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจะช่วยแก้ปัญหาได้มากมายเลย เด็กที่เติบโตจากพื้นที่การเรียนรู้ของเรา เขาได้ทักษะไปสร้างอาชีพต่อเองได้ แถมพ่อแม่หรือครอบครัวก็ภูมิใจกับตัวเด็ก มุมมองชีวิตของทั้งเด็กและครอบครัวก็เปลี่ยนไป มากไปกว่านั้นคือคนแก่ที่ปกติอยู่ในชุมชนก็เบื่อๆ ไม่มีอะไรทำ พอมีกิจกรรมของเด็กๆ เขาก็รู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้น บางคนถึงขั้นทำกับข้าวมาแบ่งให้กิน ชุมชนดูสนุกขึ้นมากๆ พอมันช่วยเปลี่ยนชุมชนเขาก็รักเรานะ รักการเรียนรู้แบบเรา พอโดนเวนคืนพื้นที่เพื่อเอาไปให้เอกชน พวกเขาเลยโกรธกันมาก ออกมาเรียกร้องกัน แม้สุดท้ายจะสู้ไม่ไหวก็ตาม 

สุดท้ายแล้ว คุณเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างจากพื้นที่นี้

          พื้นที่ที่เราสร้าง อาจจะดูเป็นสนามเด็กเล่น หรือพื้นที่ให้เด็กได้เข้ามาเรียนรู้ แต่เป้าหมายของพื้นที่เราคือให้เด็กได้รับการพัฒนา ไปสร้างแรงบันดาลใจ ไปสร้างความหวังว่าชีวิตที่ดีมันเป็นยังไง แล้วถ้าอยากมีต้องทำยังไง

          เพราะบางครอบครัวอายุ 15 – 16 ปี ก็ถูกส่งไปทำงาน หาเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ แต่เด็กแค่ 15 – 16 เอง พอทำงานไม่ได้ก็ถูกไล่ออกจากงาน มีปัญหาในครอบครัว คือบางทีครอบครัวก็อาจจะลืมไปว่ากว่าที่เด็กจะเติบโต หรือมีทักษะมันต้องใช้เวลามากๆ เลย 

          พอเราเข้าไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่ที่เราทำ ด้วยการสอนความอดทน สอนการให้เกียรติกัน สอนวิธีสื่อสาร หรือแม้แต่ชวนมาทำงานร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ช่วยเติมทักษะการทำงาน ทักษะการใช้ชีวิตผ่านการเล่น พ่อ แม่ ผู้ใหญ่ก็เลยดูจะไว้วางใจเรามากขึ้น เด็กๆ ก็ได้พื้นที่ทดลองและเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากขึ้น

          อย่างตอนนี้คนที่เคยเรียนกับเรามาตั้งแต่เด็ก ก็มาช่วยเราทำงานอย่างจริงจัง แถมยังเป็นไอดอลให้เด็กๆ ในชุมชนด้วย ว่าเขาจะต้องเป็นเหมือนพี่คนนั้นคนนี้ที่เติบโตจนสามารถมาทำงานกับเราได้ มันดูเท่ ดูเป็นผู้ใหญ่ เด็กๆ ในชุมชนก็ได้แรงบันดาลใจว่าพี่ที่เคยมีปัญหาชีวิตยังเปลี่ยนแปลงได้เลย ทำไมเราจะเปลี่ยนไม่ได้ ความคิดนี้ก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นในชุมชนไปด้วย

สร้างพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชนอย่างเข้าใจ ไปกับ แอ๋ม-ศิริพร จากคลองเตยดีจัง

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก