เคล็ดไทย สายส่งเก่าแก่ผู้เชื่อมต่อสำนักพิมพ์เล็กๆ และนักอ่านกว่า 40 ปี

652 views
5 mins
February 18, 2025

          ในแวดวงหนังสือของเมืองไทย ชื่อของ เคล็ดไทย เป็นที่รู้จักอย่างดี นอกจากความเก่าแก่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2516

          สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เริ่มต้นจากร้านหนังสือ ศึกษิตสยาม และสำนักพิมพ์ เคล็ดไทย ก่อนจะแยกตัวออกมาเป็น สายส่งศึกษิต ในปี 2522 ช่วงที่ประชาธิปไตยในไทยกำลังเบ่งบานและเกิดการตื่นตัวในการอ่านของเหล่านักศึกษา เพื่อทำหน้าที่จัดจำหน่ายหนังสือให้กับสำนักพิมพ์ในเวลานั้น

          ปัจจุบัน สายส่งเคล็ดไทยทำหน้าที่จัดจำหน่ายหนังสือให้กับสำนักพิมพ์ไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง กระจายไปยังร้านหนังสือกว่า 800 ร้านทั่วประเทศ ภายใต้การดูแลของ วินัย ชาติอนันต์ กรรมการผู้จัดการ และ ทิชากร ชาติอนันต์ รองผู้จัดการทั่วไป แห่งบริษัท เคล็ดไทย จำกัด

          ในอดีต การที่สำนักพิมพ์จะทำหนังสือเพื่อวางขายสักเล่ม กระบวนการหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ขั้นตอนผลิตก็คือ การส่งขายตามร้านค้า ร้านหนังสือต่างๆ ทั่วประเทศ หากแต่ความหนักหนาของการขนส่งหนังสือที่มีอยู่จำนวนมากก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงต้องมีธุรกิจ ‘สายส่ง’ ที่เข้ามาเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตไปสู่ร้านค้า หรือพูดง่ายๆ คือเป็นผู้รับหนังสือจากสำนักพิมพ์กระจายไปตามร้านหนังสือต่างๆ

          แม้ว่าการเป็น ‘ตัวกลาง’ ของการกระจายหนังสือคือหน้าที่หลักและหัวใจสำคัญของธุรกิจสายส่ง หากแต่สิ่งที่สายส่งเคล็ดไทยทำมากกว่านั้น คือ การเป็น ‘ผู้สนับสนุน’ ให้สำนักพิมพ์ที่ทุนน้อย แต่มีความตั้งใจในการผลิตงานหนังสือที่มีสาระ ผ่านวิธีการทำงานร่วมกันและการออกเงินให้ก่อน โดยมีเงื่อนไขเดียวคือ ‘ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน’ 

          เปรียบเสมือนลมใต้ปีกให้สำนักพิมพ์เหล่านี้มีกำลังใจในการผลิตหนังสือต่อไป ซึ่งรายได้จากการขายหนังสือเหล่านั้นก็จะถูกแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์กลับมาสู่สำนักพิมพ์และสายส่งเพื่อเลี้ยงดูธุรกิจ

           “สายส่งเคล็ดไทยดำรงอยู่ได้ก็ด้วยเหตุของการพึ่งพาซึ่งกันและกัน”

          วินัยและทิชากร เล่าในตอนหนึ่งของบทสนทนา ซึ่งอาจเป็นข้อสรุปว่าทำไมธุรกิจสายส่งเคล็ดไทยยังคงยืนหยัดอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ ท่ามกลางโลกที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ซื้อและผู้อ่านหนังสือ จนสายส่งแทบจะถูกมองว่าไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว เมื่อผู้บริโภคมีช่องทางในการซื้อขายหนังสือได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง

เคล็ดไทย สายส่งเก่าแก่ผู้เชื่อมต่อสำนักพิมพ์เล็กๆ และนักอ่านกว่า 40 ปี

เคล็ดไทยมีจุดเริ่มต้นอย่างไร

          วินัย: เคล็ดไทยมีจุดเริ่มต้นมาจากร้านหนังสือศึกษิตสยาม ซึ่งเป็นแหล่งปัญญาชนในการพบปะเสวนากันในยุคนั้น แล้วก็มีการส่งหนังสือไปตามร้านค้า จนมีการแยกตัวออกมาเป็นสายส่งศึกษิต เต็มตัวในปี 2522 เนื่องจากสำนักพิมพ์ที่ต้องการให้สายส่งเป็นคนจัดการวางหนังสือตามร้านหนังสือในยุคนั้นไม่มีการวางหนังสือพ็อกเกตบุ๊ก แต่มีแค่หนังสือพิมพ์ โทรสารนิดหน่อย ทางเลือกเกี่ยวกับหนังสือมันน้อย ซึ่งก่อนหน้านั้นตอนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 เป็นช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานมาก นักศึกษาตื่นตัวเรื่องการอ่าน หนังสือเกี่ยวกับการเมืองและลัทธิจะบูม สายส่งศึกษิตก็คิดว่าตั้งเป็นบริษัทเคล็ดไทย จำกัด จัดจำหน่ายหนังสือทั่วไปเลยดีกว่า

          ช่วงนั้นนักอ่านตัวจริงที่เห็นชัดๆ คือ นักศึกษา ส่วนหนังสือก็เป็นแนวที่มีสาระในแง่ของความคิด ซึ่งตอนนั้นรอบประเทศเราจะมีลัทธิการปกครองของจีนและอื่นๆ ที่เข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับการทำหนังสือมากขึ้น 

สายส่งคืออะไร และมีความสำคัญในระบบธุรกิจร้านหนังสืออย่างไร

          วินัย: สายส่งหมายถึงผู้จัดจำหน่ายหนังสือให้กับสำนักพิมพ์ภายนอก และจัดจำหน่ายหนังสือของตัวเองที่พิมพ์ด้วย พูดง่ายๆ คือส่งหนังสือไปตามร้านหนังสือใน กทม. และต่างจังหวัด ถ้าในกรุงเทพฯ ก็ใช้รถขนส่ง มอเตอร์ไซค์หรือรถพิกอัป แต่ถ้าต่างจังหวัดก็ใช้รถขนส่งไป พอถึงระยะเวลาหนึ่งก็ออกไปเก็บหนังสือคืน

           ผมว่าสายส่งช่วยทั้งสำนักพิมพ์ และช่วยร้านค้าด้วย เพราะเป็นตัวกลางในการส่งผ่านหนังสือจากสำนักพิมพ์สู่ร้านหนังสือ โดยเฉพาะสำนักพิมพ์เล็กๆ บางคนบอกว่าสายส่งเป็นเสือนอนกิน แค่รับส่งหนังสือและได้ส่วนแบ่ง ต้องแย้งนิดหนึ่งว่าไม่ใช่ สายส่งเองก็มีค่าใช้จ่ายเยอะแยะไปหมด ดังนั้นสายส่งก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

นอกจากสายส่ง เคล็ดไทยก็มีสำนักพิมพ์และร้านหนังสือด้วย ทำไมถึงต้องทำหลายอย่าง

          วินัย: ความจริงงานหลักของเราคือ จัดจำหน่ายหนังสือ ถ้าพูดถึงปริมาณหนังสือข้างนอกกับที่เคล็ดไทยผลิตหนังสืออยู่ที่ 70/30 หมายถึงว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นหนังสือภายนอกที่มอบความไว้วางใจให้แก่เคล็ดไทยเป็นคนจัดหนังสือส่งให้ ส่วนของเคล็ดไทยเองมีหนังสืออยู่ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นหนังสือที่เฉพาะทางจริงๆ เช่น ของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อาจารย์กรุณา กุศลาสัย อาจารย์สมัคร บุราวาศ เป็นงานเขียนที่มีคุณค่าต่อจิตวิญญาณ คนรุ่นผมก็จะยังอ่านงานพวกนี้อยู่ 

หากทำเฉพาะสายส่งอย่างเดียวสามารถอยู่รอดในธุรกิจได้ไหม 

          วินัย: อยู่ได้ เพียงแต่ว่าถ้าคุณเป็นสายส่งก็ต้องทำให้ตัวเองเข้มแข็ง ต้องดูหลายอย่างให้มันอยู่ให้ได้ ถ้ากำลังการลงทุนของคุณคุ้มค่ากับการที่จะต้องจัดจำหน่ายหนังสือ ก็เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเอง ลองคิดดูว่าเคล็ดไทยก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2522 จนถึงปัจจุบันนี้ยังอยู่ได้ ทั้งที่สำนักพิมพ์ไม่ได้เยอะ เราอยู่ได้เพราะเรื่องการเก็บเงินต่างๆ ซึ่งมาจากสำนักพิมพ์ ถึงเวลาหนึ่งเราก็ต้องเคลียร์ให้ เพื่อให้สำนักพิมพ์นำเงินไปหมุนต่อและทำหนังสือให้เราจัดจำหน่าย การทำธุรกิจต้องรู้ตัวเองว่าเราอยู่ตรงไหน เงินที่ได้มาคือเงินส่วนต่างของเปอร์เซ็นต์ที่ได้รับ เอามาลงทุนเท่าที่ควร ไม่ใช่ทำแล้วก็ทุ่มไป ซึ่งจะเป็นภาระให้สำนักพิมพ์หรือร้านหนังสือ

          ส่วนเรื่องเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่ง แต่เดิมสายส่งคิด 37.5 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา ตอนหลังปรับเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ และต้องให้ร้านหนังสืออีก 20-30 เปอร์เซ็นต์ 

          ทิชากร: ในอดีตเราได้ 37.5 เปอร์เซ็นต์ และให้ร้านหนังสือ 20-30 เปอร์เซ็นต์ เหลือ margin อยู่ 7.5 เปอร์เซ็นต์ ก็คือค่าใช้จ่ายในออฟฟิศ ค่าเงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟจิปาถะเลย สุดท้ายเหลือ margin ไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราพอเพียงอยู่ตรงนี้ ไม่ได้ขยับอะไรมาก ก็อยู่ได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณหนังสือที่คุณขาย ถ้าขายได้มาก ก็ทำให้รายรับมากขึ้นด้วย

เคล็ดไทย สายส่งเก่าแก่ผู้เชื่อมต่อสำนักพิมพ์เล็กๆ และนักอ่านกว่า 40 ปี
วินัย ชาติอนันต์

ไม่ว่าจะเป็นสายส่ง สำนักพิมพ์ หรือร้านหนังสือ ทั้ง 3 ขานี้ของเคล็ดไทยมีพันธกิจร่วมกันอย่างไรบ้าง 

          วินัย: สำนักพิมพ์ก็เป็นผู้ผลิต ผลิตหนังสือมาให้ทางสายส่ง ถ้าไม่มีก็ให้ทางสายส่งนั้นๆ จัดการจัดจำหน่ายให้ เราก็จะเป็นตัวกระจายสินค้าไปตามร้านค้า ถ้าโดยระบบแล้วมันจะแยกเป็น 3 ขา ร้านหนังสือมีหน้าที่ขายให้ดีที่สุด สายส่งทำหน้าที่กระจายสินค้าให้ดีที่สุด สำนักพิมพ์ก็ต้องไปหาว่าคนอ่านชอบอ่านหนังสือประเภทไหนในยุคนั้น แล้วก็ให้มีการจัดจำหน่ายออกไป 

          ทิชากร: อย่างตอนนี้นิยายไลท์โนเวลของญี่ปุ่น มีคนดาวน์โหลดอ่านในอีบุ๊กกันเยอะมาก เขาพูดกันว่าปีเดียวยอดขายเริ่มตีตลาดหนังสือแล้ว เพราะเด็กรุ่นใหม่ที่อายุ 10 ขวบขึ้นไป เขาเริ่มอ่านจากมือถือ เริ่มดาวน์โหลดมาอ่าน ดังนั้น ต่อไปอีก 5-10 ปี ไม่แน่ว่ารายได้จากอีบุ๊กอาจจะมากกว่าหนังสือ มันเริ่มเป็น market share จากตัวเล่มมากขึ้นจนฟังแล้วน่ากังวลในแง่ของผู้จัดจำหน่ายเองหรือในแง่ของสำนักพิมพ์ 

          หรือความเปลี่ยนแปลง ณ เวลานี้ที่สำนักพิมพ์สามารถที่จะขายตรงได้มากขึ้น จากที่เมื่อก่อนหนังสือเคล็ดไทยอาจจะได้ 2,000 เล่มเต็ม แต่ตอนนี้หนังสือพรีออร์เดอร์ได้ประมาณ 500-1,000 เล่ม ดังนั้นถ้าพิมพ์ 2,000 เล่ม มันก็ผ่านตลาดแค่พันเล่มเท่านั้น ต่อไปสายส่งอาจจะลดความสำคัญลงในฐานะตัวกลาง จึงน่าห่วงหนังสือบางเล่มที่พอร้านหนังสือขายไม่ได้ ร้านหนังสือก็อาจพิจารณาไม่รับหนังสือเล่มนั้นๆ อาจจะต้องคุยกับเจ้าของหนังสืออีกรอบหนึ่งเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายติดต่อกันได้โดยตรง จนคนเริ่มมองว่า คนกลาง อาจไม่จำเป็น สายส่งเคล็ดไทยมีวิธีปรับตัวอย่างไร หรือต้องเปลี่ยนฟังก์ชันตัวเองอย่างไรบ้าง

          วินัย: เราปรับอยู่แล้ว เพื่อช่วยสำนักพิมพ์เล็กๆ มีการขายออนไลน์ไม่ว่าจะ Lazada หรือ Shopee มันเป็นเรื่องธรรมดาของการค้าขาย ถ้าเงินเข้ากระเป๋าเร็ว สำนักพิมพ์เล็กๆ ก็มีเงินไปลงทุนอะไรได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องของแต่ละแห่ง ส่วนของเคล็ดไทยก็มีเว็บไซต์ของเราเพื่อขายหนังสือในส่วนของเราเอง ขายได้บ้างไม่ได้บ้างตามแต่สถานการณ์ อย่างช่วงโควิดปี 2564 ยอดขายทางออนไลน์ดีมาก เพราะร้านหนังสือปิด แต่พอปี 2565 ตลาดเริ่มเปิด คนก็กลับเข้าร้านหนังสือ ตลาดก็เริ่มโตขึ้น ออนไลน์ก็เริ่มลดลง ซึ่งเป็นเรื่องเข้าใจได้

นอกจากวิธีการฝากขายหรือขายขาด สายส่งจะมีวิธีที่เรียกว่าแอดวานซ์ คือออกเงินให้สำนักพิมพ์ไปก่อนเพื่อประคองและสนับสนุน วิธีนี้มันส่งผลเสียหรือผลดีอย่างไรบ้าง

          วินัย: แรกเริ่มตั้งแต่ปี 2522-2523 สำนักพิมพ์เล็กๆ ไม่มีเงินมากพอที่จะทำหนังสือ เราก็ซัพพอร์ตแอดวานซ์เช็คให้ โดยจ่ายให้ 30 เปอร์เซ็นต์ จากราคาปกหักส่วนลดแล้ว เช่น 100 บาท หักส่วนลดไว้ 37.5 บาท เหลือเท่าไร เราจ่ายให้ 30 เปอร์เซ็นต์ของยอดหนังสือ คูณด้วยราคาที่หักส่วนลดจัดจำหน่ายไว้แล้ว ซึ่งเมื่อก่อนยังไม่มีปัญหาเรื่องการทำหนังสือ อาจจะมีบางแห่งที่เขาไม่เข้าใจระบบนี้ดี จึงเป็นหนี้เรา หนึ่งล้านหรือสองล้านกว่าบาท ต้องฟ้องร้องกัน เราก็ชนะคดี แต่ส่วนใหญ่ก็พอใจเรื่องการแอดวานซ์เช็คในการช่วยเหลือสำนักพิมพ์ เพราะการที่เขาจะต้องหาเงินมาทำหนังสือต่อเล่ม ถ้าต้องลงทุนพิมพ์ 7-8 หมื่นบาทคงไม่มีเงินพอ เคล็ดไทยก็ซัพพอร์ตให้ ไม่ใช่ว่าเรามีเงินขนาดนั้น แต่เราเข้าใจว่าต้องให้เขาผลิตหนังสือให้เราจัดจำหน่าย เขาจึงต้องมีเงินในการลงทุน 

          ปัจจุบันเรายังช่วยแอดวานซ์ให้สำนักพิมพ์เล็กๆ อยู่ แต่ต้องระวังมากขึ้น เพราะบางแห่งไม่รับผิดชอบเท่าไร พอแอดวานซ์เช็คไปแล้วปิดบัญชีติดลบ เขาก็ไม่ได้เคลียร์ หนังสือก็อยู่ที่คลังเรา นักขายหนังสือเก่าก็ฉวยโอกาสมาซื้อหนังสือราคาถูกๆ ซึ่งส่งผลหลายอย่างต่อวงการหนังสือ เพราะสำนักพิมพ์เองก็ไม่มีเงินพอที่จะมาใช้หนี้เรา หนังสือก็ยกให้เคล็ดไทยไป ซึ่งบางทีก็เป็นภาระ เพราะเราไม่รู้จะเอาหนังสือไปทำอะไร ก็ต้องเปิดคลังขายให้หนอนหนังสือ ให้นักอ่านหนังสือมาแวะดู แวะซื้อ

ในมุมมองของเคล็ดไทย รูปแบบการทำธุรกิจกับสำนักพิมพ์แบบไหน ที่เอื้อต่อทุกฝ่ายได้มากที่สุด 

          วินัย: สำนักพิมพ์ต้องมีความซื่อตรงซื่อสัตย์ในแง่ของการที่อาจมีเงินลงทุนไม่พอ แต่เขามีใจรักที่จะทำหนังสือ การจะแอดวานซ์เช็คให้สำนักพิมพ์ต้องมีข้อมูลว่าสำนักพิมพ์นั้นๆ แต่เดิมเขาขายเท่าไร ถ้าขายตรงตามแอดวานซ์เช็ค เราก็จ่ายเท่าเดิมได้ แต่บางแห่งดูข้อมูลแล้วขายเท่าเดิมไม่ได้ก็ต้องบอกเขา ซึ่งสำนักพิมพ์ก็เข้าใจและยอมลดยอดพิมพ์ บางแห่งจากที่เคยพิมพ์ 2,000 เล่ม ก็เหลือ 1,500 เล่ม แล้วแต่เรื่องแล้วแต่แนว อันนี้คือการปรับลดยอดพิมพ์ เพื่อไม่ให้เป็นภาระเรื่องหนังสือคงคลังเยอะ เพราะถ้าเยอะมันจะมีปัญหา เราต้องพยายามบาลานซ์ไปให้ได้

เคล็ดไทย สายส่งเก่าแก่ผู้เชื่อมต่อสำนักพิมพ์เล็กๆ และนักอ่านกว่า 40 ปี
ทิชากร ชาติอนันต์

เคล็ดไทยมีหลักเกณฑ์ในการเลือกสำนักพิมพ์ที่จะช่วยแอดวานซ์อย่างไร 

          วินัย: ถ้าเป็นสำนักพิมพ์เจ้าใหม่ๆ เราจะดูเนื้อหาว่าเป็นแนวไหน เหมาะกับตลาดไหม ถ้ามีม็อกอัปปกมาให้ดูจะดีมาก ถ้าหากโอเคก็จะช่วยแอดวานซ์ให้ แต่สำนักพิมพ์บางแห่งก็ไม่ต้องการเงินแอดวานซ์ แต่ต้องการให้เราวางหนังสือให้ทั่วตลาด ปล่อยการขายให้เป็นหน้าที่เรา ถึงเวลาก็มาเคลียร์บัญชีกันตามรอบ 2 เดือน 3 เดือน 6 เดือน หรือหนึ่งปี แต่เจ้าเก่าที่ต้องการแอดวานซ์ เราก็ดูยอดขาย ถ้ายอดขายต่ำลง เราก็ขอลดยอดลง 

มีสำนักพิมพ์ประเภทไหนหรือหนังสือแนวไหนที่เคล็ดไทยจะช่วยแอดวานซ์ให้เป็นพิเศษบ้างไหม

          วินัย: ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือที่มีสาระต่อผู้อ่าน มีคุณค่าต่อชีวิต ซึ่งก็จะแล้วแต่แนวทางของแต่ละสำนักพิมพ์ ตัวอย่างเช่น พี่ขนิษฐา ณ บางช้าง ลูกสาวของ คุณมาลัย ชูพินิจ ที่เขียนหนังสือ ล่องไพร ซึ่งผมนับถือแกเป็นพี่สาว รู้จักกันมา 30 ปีแล้ว แกก็เอื้อให้เคล็ดไทยเป็นผู้จัดจำหน่ายหนังสือของครูมาลัยมาตลอด เขาไว้ใจเราและซื่อสัตย์ต่อธุรกิจ เราก็ยินดีจ่ายล่วงหน้าให้ ตอนนี้เขาเปลี่ยนเป็นมูลนิธิ มาลัย ชูพินิจ มีคนมาดูแลเกี่ยวกับหนังสือของครูมาลัย อันนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดๆ 

          แล้วก็มีสำนักพิมพ์ นาคร ของ อาจารย์เจน สงสมพันธุ์ ซึ่งช่วยกันมาตลอด หรือสำนักพิมพ์ หอน ของชาติ กอบจิตติ ซึ่งอาจจะซาๆ ไปบ้าง เพราะตอนหลังแกพักเขียนงาน จึงไม่ค่อยมีเล่มใหม่ออกมา รวมถึงของ ไลบรารี่ เฮ้าส์ ที่พิมพ์งานวรรณกรรม

อย่างการสนับสนุนกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่าน เช่น LIT Fest ถือเป็นพันธกิจของเคล็ดไทยไหม 

          วินัย: เรารู้สึกว่าแนวทางหนังสือของเราสอดคล้องกับแนวทางที่เขาจัด จึงคิดว่าการช่วยเหลือโฆษณาหรือโปรโมตก็ไม่เกินความสามารถเราที่จะช่วยเขาได้ คนจัดก็จริงใจและตั้งใจที่จะทำให้วงการหนังสือมีความหลากหลาย มีความแตกต่างทางความคิดในการอ่านหนังสือ อาจจะไม่ได้เอาหนังสือทุกแนวมาขาย แต่คนที่เข้าไปในงานจะรู้เลยว่างานนี้มีคุณภาพ ซึ่งเราเข้าใจบรรยากาศนี้ จึงลงทุนช่วย ซื้อบูท และถ้ามีกำลังสนับสนุนช่วยโปรโมตอะไรก็ช่วยกันไป 

คุณมองว่าเคล็ดไทยหรือสายส่งมีส่วนในการสนับสนุนนักอ่านหรือวงการการอ่านในไทยให้เติบโตหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

          วินัย: ผมคิดว่าการทำหน้าที่ของสายส่งเคล็ดไทยก็เป็นการส่งเสริมแวดวงการอ่านไปในตัว เพราะเราทำหน้าที่ในการจัดจำหน่ายหนังสือ เป็นตัวส่งผ่าน ทำให้คนอ่านรู้จักวงการหนังสือมากขึ้น ส่วนหนังสือที่เราพิมพ์ออกมาแม้จะเป็นหนังสือที่ขายยาก แต่เราก็มีใจรักที่จะทำออกมา เพราะถือว่าเป็นหนังสือดี เราอยากจะส่งผ่านให้ผู้อ่านได้อ่าน เราไม่ได้ทำหนังสือสะเปะสะปะ แต่ทำหนังสือที่มีสาระจริงๆ หรือแม้แต่สำนักพิมพ์ภายนอกที่ให้เคล็ดไทยจัดจำหน่าย เราก็เข้าใจว่าเรามีบทบาทที่ช่วยเสริมในการส่งต่อหนังสือไปให้ร้านหนังสือหรือคนอ่านที่อยู่ต่างจังหวัด หรือบางทีก็จัดงานขายสัญจร ถ้ามีกิจกรรมพอช่วยเหลือได้ก็ช่วยกัน 

          นี่เป็นสิ่งที่เคล็ดไทยสนับสนุนมาตลอด 40 กว่าปีนี้ สายส่งเคล็ดไทยดำรงอยู่ได้ก็ด้วยเหตุของการพึ่งพาซึ่งกันและกัน และประคับประคองให้อยู่ได้ในอนาคต

          ทิชากร: เคล็ดไทยเป็นสายส่งเก่าแก่ก่อนที่จะมี นายอินทร์ หรือ ซีเอ็ด เพราะฉะนั้นงานของนักเขียนตัวเล็กๆ ที่หากพิมพ์พันเล่มหรือห้าร้อยเล่ม สายส่งใหญ่ๆ จะไม่รับ ดังนั้นเราคือทางเลือกของนักเขียนหรือสำนักพิมพ์เล็กๆ เหล่านี้ 

          เราไม่ได้เลือกว่าหนังสือคุณจะขายได้หรือไม่ได้ แต่เราจะทำหน้าที่ส่งต่อในสิ่งที่คุณสร้างสรรค์ออกมาไปวางให้ถึงมือคนอ่าน แถมมีการซัพพอร์ตล่วงหน้าให้อีก ดังนั้น ตลอดระยะ 40 กว่าปีมานี้ เคล็ดไทยช่วยให้สำนักพิมพ์เล็กๆ ได้เติบโต เพื่อที่จะมีกำลังการผลิต เงินจะได้หมุนเวียน และสามารถอยู่รอดได้

เคล็ดไทย สายส่งเก่าแก่ผู้เชื่อมต่อสำนักพิมพ์เล็กๆ และนักอ่านกว่า 40 ปี


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia 2 ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2567)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก