สร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ผ่านแนวคิด ‘ห้องสมุดมีชีวิต’ จาก TK Park

473 views
6 mins
November 6, 2023

          “รู้ไหมว่าฟินแลนด์ ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ที่ดีที่สุดในโลกให้อะไรเป็นของขวัญประชาชนในการฉลองครบรอบร้อยปีของประเทศ?”

          กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ถาม และเฉลยทันทีว่า “ห้องสมุดประชาชน” ที่นับว่าเป็นกลไกแยบยลให้การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่ง เป็นปกติในชีวิตของผู้คน และส่งผลต่อการพัฒนาของประเทศ

          แม้จะไม่ใช่ของขวัญในวันครบรอบร้อยปี แต่น่ายินดีที่ชั้นสูงสุดของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีห้องสมุดสาธารณะขนาด 3,000 ตารางเมตร ที่ไม่ได้เป็นพื้นที่ให้ยืม-คืนหนังสือเท่านั้น หากยังมีห้องสมุดดนตรี มินิเธียเตอร์ ‘ลานสานฝัน’ พื้นที่เล่นและลอง เรียกได้ว่ามีมุมและข้าวของให้สำหรับคนทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองที่มากับลูก นักเรียน นักศึกษา คนทำงาน ก็สามารถเข้ามาใช้ชีวิตในห้องสมุดแห่งนี้ได้ทั้งนั้น

          สถาบันอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park กำลังจะมีอายุครบยี่สิบในปี 2568 และดูเหมือนว่า ‘อุทยาน’ แห่งนี้กำลังมีชีวิตของตัวเองอย่างแท้จริง จากกิ่งก้าน สาขา ที่ขยายตัวทำให้ระบบนิเวศในอุทยานแห่งนี้มีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ

          “คนมักมีภาพห้องสมุดเมื่อนึกถึง TK Park แน่นอนว่าห้องสมุดเป็นส่วนสำคัญของเรา แต่อุทยานนั้นมีหลายสิ่งที่ประกอบสร้างเข้าด้วยกัน เช่น National Knowledge Center บนถนนราชดำเนิน โครงการสำคัญที่กำลังทำร่วมกับ OKMD (สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้) และมิวเซียมสยาม เพื่อร่วมสร้างศูนย์การเรียนรู้ของประเทศ โดย TK Park รับผิดชอบในส่วนของ facility เสมือนเป็นการพัฒนา software เช่น การอบรม know-how การสร้างการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อให้นำไปใส่ใน hardware หรือพื้นที่แห่งนี้ และเป็นต้นแบบการเรียนรู้ให้ขยายต่อไปในระดับประเทศ”

สร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ผ่านแนวคิด ‘ห้องสมุดมีชีวิต’ จาก TK Park

          National Knowledge Center เป็นการร่วมมือครั้งสำคัญที่กำลังก่อร่างสร้างตัวเพื่อ “ร่วมสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้” ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของ TK Park เสมอมา เมื่อขั้นแรกของการสร้างต้นแบบอย่าง ‘ห้องสมุดมีชีวิต’ เกิดขึ้นแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นต่อไปในการ ‘ขยายต้นแบบ’ ไปยังพื้นที่อื่นๆ เพราะการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด การเป็นต้นแบบของการเรียนรู้ก็ต้องปรับตัว ขยับขยาย กลายร่างอยู่เสมอเช่นกัน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทโลกที่เปลี่ยนไป ความต้องการใหม่ๆ ของผู้คน

          เมื่อมองภาพใหญ่ในความเป็นอุทยานการเรียนรู้แล้ว ห้องสมุดที่เป็นภาพจำหลักของ TK Park จึงเป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เป็นหนึ่งในอิฐสร้างรากฐานการเรียนรู้ผ่านการอ่านที่นำไปสู่การเรียนรู้ และการลงมือปฏิบัติอื่นๆ ต่อไป

         “ภาพจำที่คนมองเราเป็นห้องสมุดไม่ใช่ปัญหา เป็นความท้าทายของเรามากกว่าที่ต้องทำให้คนมาแล้วเห็นว่าเราเป็นอะไรมากกว่านั้น เราต้องเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนให้ได้ เราต้องตอบความต้องการของเขาให้ได้ เช่น จะเห็นได้จากพื้นที่ชั้นแปดนี้ว่ามีทั้งโซนให้คนอ่านหนังสือ ถ้าเขาตั้งใจมาอ่านหนังสือก็อ่านเงียบๆ ได้ หรือถ้าอยากมาใช้พื้นที่อื่นๆ มาร่วมกิจกรรม เราก็มีพื้นที่ให้เขา สิ่งสำคัญไม่ใช่คนจำเราอย่างไร แต่เราทำให้เขาเกิดประสบการณ์อะไรเมื่อเขามาอยู่ในพื้นที่นี้ เราต้องกล้าลองทำในสิ่งที่เราเชื่อว่ามันดี แม้เขาอาจไม่เคยคิดว่าเรามีด้วยซ้ำ เช่น เขาอาจมองเราเป็น library แต่เราต้องขยายเป็น library of things ซึ่งสอดคล้องกับ sharing economy ทิศทางของโลกอยู่แล้วด้วย

      ห้องสมุดเองจริงๆ ก็เป็น sharing economy อยู่แล้ว เราแค่ต้องต่อยอดให้ได้ว่านอกจากแบ่งหนังสือแล้วเราจะแบ่งอะไรได้อีก แบ่งเครื่องดนตรี อุปกรณ์ทำสื่อได้ไหม หรือบางทีเขาอ่านจากหนังสือแล้วอยากลอง เราสามารถเป็นพื้นที่ทดลองให้เขาได้ไหม เราจัดกิจกรรมให้เขาเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ได้หรือเปล่า ถ้าทำแบบนี้ได้ เขาจะมองอย่างไรไม่สำคัญ แต่เขาจะมา และห้องสมุดจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขา เพราะมันตอบสิ่งที่เขาตามหา”

สร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ผ่านแนวคิด ‘ห้องสมุดมีชีวิต’ จาก TK Park

          นอกจากหนังสือหลายประเภทที่อัดแน่นเต็มหลายชั้น เต็มกำแพงแล้ว TK Park ก็ยังมีพื้นที่ เครื่องมือ สื่อมัลติมีเดียต่างๆ ให้ผู้คนได้เลือกใช้ รวมทั้งแอปพลิเคชันอย่าง TK Read ที่มีอีบุ๊กภาษาไทยมากกว่า 3,600 เล่ม อีแมกกาซีน ออดิโอบุ๊กและคอร์สออนไลน์ที่ได้รับการอัปเดตเพิ่มจำนวนทุกเดือน แต่แม้จะมีสื่อต่างๆ เพิ่มขึ้นมามากมาย กิตติรัตน์มองว่าหนังสือและพื้นที่เชิงกายภาพยังมีความสำคัญอยู่ ทั้งในเชิงเป็นประตูสู่การเรียนรู้อื่นๆ และเปิดผัสสะรับประสบการณ์

         “ห้องสมุดต้องเป็นมากกว่าพื้นที่เก็บหนังสือ มันต้องเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนให้ได้ ในต่างประเทศเราจะเห็นผู้คนเข้าออกห้องสมุด ร้านหนังสือเป็นปกติ เป็นศูนย์กลางของผู้คน บางคนบอกว่าคนไม่อ่านหนังสือกันแล้ว ข้อมูลอยู่ในอินเทอร์เน็ตหมดแล้ว ผมว่าไม่จริงนะ เราหาข้อมูลได้จริง แต่ก็ไม่ใช่ข้อมูลที่ผ่านการเรียบเรียง ตรวจสอบ ไม่เหมือนหนังสือที่ผ่านบรรณาธิการ ผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว และที่สำคัญคือห้องสมุดมันทำให้คุณได้กระโจนไปสู่ความรู้ใหม่ๆ เหมือนคุณไปซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วได้ของชิ้นอื่นติดไม้ติดมือกลับมา บางอย่างคุณไม่รู้ก่อนไปด้วยซ้ำว่าคุณอยากได้ ห้องสมุดก็เป็นแบบนั้น หลายครั้งเราก็เดินผ่าน ลองหยิบอ่านหนังสือที่เราไม่รู้จัก เรื่องที่เราไม่คิดว่าจะสนใจ ซึ่งมันสำคัญมากในยุคสมัยนี้ ที่เราต้องออกจากบับเบิลของเราให้ได้ ต้องขยายพรมแดนการรับรู้ของเราเอง ซึ่งมันทำไม่ได้ผ่านการหาข้อมูลด้วยอินเทอร์เน็ตที่คุณต้องมีคีย์เวิร์ดก่อนและสนใจเฉพาะสิ่งที่คุณมองหาเท่านั้น มันทำหน้าที่ต่างกัน

          สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่การเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือบอกว่าอะไรดีกว่ากัน แต่ต้องมีทั้งสองอย่าง ให้ทำงานควบคู่ ส่งเสริมกันไป ยกตัวอย่าง คุณมาห้องสมุดแล้วเจอหนังสือท่องเที่ยวเกี่ยวกับประเทศที่คุณไม่รู้จักมาก่อน แต่อะไรบางอย่าง อาจเป็นหน้าปก หรือชื่อเรื่อง หรือคนเขียนที่ทำให้คุณสนใจประเทศนี้ การที่คุณเดินผ่านและหยิบมันขึ้นมา ขอบเขตการรับรู้คุณก็ขยายขึ้นแล้ว แต่ลำพังการเห็นภาพ อ่านข้อความอย่างเดียวมันนึกไม่ออก พอมีคลิปวิดีโอมาเสริมมันก็ชัดเจนขึ้น เราก็พยายามออกแบบกระบวนการเรียนรู้พวกนี้ โดยมีหนังสือเป็นตัวเปิด แต่มันไม่ได้จบที่หนังสือ”

          นอกจากการเป็นประตูเปิดสู่การเรียนรู้อื่นๆ แล้ว หนังสือในห้องสมุดยังเป็นการบันทึกข้อมูลอีกด้วย ในทุกๆ ปี TK Park จัดทำการสำรวจร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติเรื่องการอ่านของคนไทย และในห้องสมุดเองก็มีการจัดเก็บข้อมูลจากพฤติกรรมสมาชิกที่จะช่วยให้เข้าใจความต้องการ วางแผนการดำเนินงาน หรือแม้กระทั่งประเมินงบประมาณในอนาคตได้

          “หลังบ้านของเราจัดเก็บข้อมูลเสมอว่าหนังสือประเภทไหนได้รับความนิยม คนกลุ่มไหนสนใจอ่าน อ่านตอนไหน เช่น หลังโควิดเราจะเห็นว่าหนังสือสองหมวดแรกที่ได้รับความนิยมคือนิยาย และการพัฒนาตนเอง ข้อมูลพวกนี้เป็นประโยชน์มากในการออกแบบสื่อ และการจัดงบซื้อหนังสือของเรา สิ่งที่เราต้องทำมากกว่าการจัดเก็บข้อมูลคือการอ่านข้อมูลให้ออกว่าความหมายที่ซ่อนอยู่หลังตัวเลขคืออะไร เช่น ทำไมคนอ่านนิยาย และการพัฒนาตนเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขาต้องการสิ่งที่ทำให้หนีออกจากโลกวุ่นวายหรือเปล่า เขาต้องการ reskill พัฒนาทักษะใหม่ๆ หรือเปล่าในโลกที่เปลี่ยนไป

          และถ้าเรามีสมาชิกที่อยู่กับเรานานพอ เราก็จะสามารถติดตามได้ว่าการเรียนรู้ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเขาอย่างไรบ้าง ถ้าเราได้ข้อมูลพวกนี้มากพอ ในระยะยาวพอที่จะอธิบายการเปลี่ยนแปลงได้ ก็จะตอบโจทย์ได้ง่ายขึ้นในการ secure งบประมาณเมื่อรัฐถามว่าการลงทุนกับการเรียนรู้เหล่านี้คุ้มค่าไหม คือมันคุ้มค่าอยู่แล้ว แต่เราจะพิสูจน์อย่างไร คนให้งบประมาณเขาก็อยากเห็น แต่มันเป็นคำตอบที่พิสูจน์ได้ยาก ก็ต้องใช้เวลา มันยาก แต่ก็จำเป็นต้องทำ ตอนนี้เรามีการเชื่อมโยงข้อมูลพื้นฐานกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้นด้วย”

สร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ผ่านแนวคิด ‘ห้องสมุดมีชีวิต’ จาก TK Park

          31 แห่ง 24 จังหวัด คือจำนวนเครือข่ายทั่วประเทศของ TK Park ยังไม่นับความร่วมมือตามห้องสมุดโรงเรียน หรือห้องสมุดเรือนจำในอีกกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ

          “ห้องสมุดบนห้างใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ คือสิ่งที่คนจดจำ TK Park แต่ความจริงคือเรามีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศตามพันธกิจที่เราต้องการเป็นต้นแบบ ห้องสมุดนี้ แท้จริงก็คือต้นแบบเพื่อให้พื้นที่อื่นได้เรียนรู้และนำไปต่อยอด แน่นอนว่าการเรียนรู้เป็นการพัฒนาตนเอง การกระจายการเรียนรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาตนเอง ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะลดความเหลื่อมล้ำในมิติอื่นๆ ของสังคมต่อไป”

          ปัจจุบันเครือข่ายของ TK Park กระจายตัวอยู่ใน ‘เมืองรอง’ เป็นส่วนใหญ่ แน่นอนว่าการมีศูนย์การเรียนรู้ทั่วประเทศนั้นเป็นภาพฝัน แต่การจะทำเช่นนั้นได้ต้องมาจากนโยบายระดับประเทศ เพื่อให้หน่วยงานระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัดมีความพร้อมทางงบประมาณในการดำเนินการ นอกจากความพร้อมแล้ว ความเข้าใจก็สำคัญเช่นกัน

          “แน่นอนว่างบประมาณเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดได้ว่าพื้นที่แบบนี้จะมีที่ทางในท้องถิ่นต่างๆ หรือไม่ แต่งบประมาณก็ต้องมาจากความเข้าใจ ผู้นำต้องเข้าใจให้ได้ว่าการพัฒนาคนและการพัฒนาเมืองคือเรื่องเดียวกัน เป้าหมายของการพัฒนาไม่ว่าจะชุมชน ท้องถิ่น หรือจังหวัดไม่มีทางบรรลุผลได้ ถ้าคุณไม่พัฒนาคนก่อน”

          ในวาระครบรอบ 20 ปี ผู้อำนวยการ TK Park บอกว่าสิ่งที่อยากเห็นยังเป็นสิ่งเดียวกับจุดเริ่มต้น นั่นคือการเห็นการเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของผู้คน ให้ห้องสมุดเป็นเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตของการเรียนรู้ มีหลายสิ่งอยู่ในนั้น จากที่เดินเข้าไปโดยไม่รู้ว่าอยากได้อะไรกลับได้หลายสิ่งติดไม้ติดมือกลับมา

“ไม่รู้จะไปไหน ไป TK Park จากที่ไม่รู้จะกลายเป็นอยากรู้อีกมาก”


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก