คำให้การของ ‘โจรสลัดแห่งวงการหนังสือ’ กิตติพล สรัคคานนท์ ผู้อยากให้ทุกคนเข้าถึงการอ่าน

3,279 views
8 mins
June 29, 2022

          ธุรกิจสิ่งพิมพ์ในยุคดิจิทัลไม่ต่างจากเรือลำน้อยที่ต้องเผชิญคลื่นลมบ้าคลั่งกลางมหาสมุทร ร้านหนังสือและสำนักพิมพ์มากมายล้มหายตายจากไปจำนวนมาก ทว่าก็มีผู้เล่นหน้าใหม่ทยอยเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ช่วยสร้างสีสันและสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้ผู้อ่านได้เลือกเสพหนังสือที่มีเนื้อหาหลากหลาย

          เช่นกันกับการเกิดขึ้นของร้านหนังสืออิสระ Books & Belongings ที่รวบรวมหนังสือคลาสสิก ตำราวิชาการ หรือหนังสือความรู้เชิงทฤษฎี และ สำนักพิมพ์ 1001 ราตรี (1001 nights editions) ซึ่งเน้นตีพิมพ์งานกวีนิพนธ์ ความเรียงด้านปรัชญา และเรื่องสั้น ทั้ง 2 ธุรกิจก่อตั้งโดย กิตติพล สรัคคานนท์ ผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือมายาวนาน ทั้งบทบาทการเป็นนักเขียน คอลัมนิสต์ และผู้ออกแบบปกหนังสือ

          กิตติพล สรัคคานนท์ ยังมีส่วนร่วมผลักดันโครงการต่างๆ ซึ่งมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพหนังสือและสนับสนุนให้ผู้คนเข้าถึงการอ่าน เช่น ‘รางวัลปีศาจ’ ซึ่งมีมาตรฐานการตัดสินที่มุ่งเน้นความเปลี่ยนแปลง ‘โครงการวรรณกรรมไม่จำกัด’ ซึ่งเป็นโครงการระดมทุนเพื่อการแปลหนังสือ และล่าสุดยังมีโครงการการตีพิมพ์หนังสือดีปลอดลิขสิทธิ์จากต่างประเทศที่มีชื่อว่า ‘Pirate Edition’

          The KOMMON จึงชวนนักเขียนและบรรณาธิการ ผู้มีปณิธานในการ ‘ทำให้นักอ่านเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น’ มาพูดคุยบอกเล่าประสบการณ์บนเส้นทางในวงการหนังสือเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักอ่าน นักเขียน ที่ชื่นชอบหนังสือนอกกระแส

อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของคุณในการทำงานแวดวงหนังสือ

          ในสมัยก่อนการมีโอกาสเข้าไปทำงานในแวดวงหนังสือ หรือผลิตหนังสือเป็นของตัวเองสักเล่มไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าใครอยากจะทำก็อาจเริ่มต้นด้วยการส่งบทความไปลงตามนิตยสารต่างๆ หรือถ้าอยากพิมพ์หนังสือเองก็ต้องลงทุนพวกหนังสือทำมือ เพราะในสมัยนั้นยังไม่มี Self-Publishing

          อย่างตัวผมเองก็ถือว่าโชคดีที่มีจังหวะเข้ามาในวงการ โดยเริ่มจากการทำงานเขียนต่างๆ แล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้งานในกองบรรณาธิการของนิตยสาร Scale และจากตรงนั้นก็ค่อยๆ ขยับไปทีละจุดสองจุด จากนิตยสารก็ไปทำสำนักพิมพ์ คือ สำนักพิมพ์ไชน์ (Shine Publishing) ของคุณวาด รวี ซึ่งเป็นการทำงานครั้งแรกในตำแหน่งบรรณาธิการ โอกาสการทำงานตรงนั้นทำให้ได้รับรู้ว่า การทำหนังสือไม่ใช่แค่การเขียนเนื้อหาแต่มีกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ทั้งกองบรรณาธิการ คนออกแบบ ฝ่ายผลิต และส่วนอื่นๆ อีกเต็มไปหมด

ความสนใจส่วนตัวของคุณในเรื่องปรัชญาและทฤษฎีต่างๆ มีประโยชน์ต่อการทำงานในวงการหนังสืออย่างไร

          ต้องบอกว่าผมเติบโตมากับแนวคิดแบบตะวันตกนิยม แนวคิดด้านปรัชญา และแนวคิดทางวิชาการ ดังนั้นความถนัด หรือความสนใจของเราจึงเป็นสิ่งที่ไม่เป็นที่นิยมในคนหมู่มาก เรียกได้ว่าเป็นตลาดความสนใจเฉพาะกลุ่ม แต่ผมก็อยากให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงเนื้อหาพวกนี้ได้มากขึ้น

          สิ่งที่ผมทำคือ การ Curate ตัวงานและไอเดียที่น่าสนใจมานำเสนอ ผลักดันโครงการต่างๆ เช่น วรรณกรรมไม่จำกัด สำนักพิมพ์ หรือแม้กระทั่งร้านหนังสือ Books & Belongings ซึ่งมีทั้งวรรณกรรม หนังสือวิชาการ ผสมกับหมวดศิลปะ ปรัชญา คือ มีความคิด และความสนใจของเราแฝงอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปกลายร่างจากความสนใจของตัวเองให้เป็นสินค้าที่รู้สึกว่ามันน่าจะดีสำหรับหลายๆ คน

คำให้การของ ‘โจรสลัดแห่งวงการหนังสือ’ กิตติพล สรัคคานนท์ ผู้อยากให้ทุกคนเข้าถึงการอ่าน

ช่วยเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการ ‘วรรณกรรมไม่จำกัด’ ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

          ผมคิดว่าหากมองในมุมหนึ่ง หนังสือเป็นเหมือน “โลกของความมีอันจะกินในสังคมที่ขาดโอกาส” การทำโครงการวรรณกรรมไม่จํากัด มาจากความคิดของทีมงานที่ต้องการให้คนได้เข้าถึงหนังสือเนื้อหาดีๆ ซึ่งอาจจะถูกจำกัดด้วยกำแพงภาษา

          บางคนอาจเข้าใจว่าโครงการนี้เป็นการพรีออเดอร์หนังสือ ซึ่งไม่ได้จริงไปเสียทั้งหมด เป้าหมายสูงสุดของโครงการคือ ทำให้เนื้อหาของหนังสือที่น่าสนใจเหล่านี้ ถูกแปลออกมาเป็นชุดความรู้ภาษาไทยและมีการเผยแพร่ โดยคนที่ให้การสนับสนุนผ่านการระดมทุนจะได้รับหนังสือเป็นการตอบแทน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในกระบวนการทำงานทั้งหมด ผู้เกี่ยวข้องต้องใช้ความเสียสละสูงมาก และเป็นแนวคิดที่ยังต้องพัฒนาต่อ โดยเฉพาะในแง่ของความเป็นไปได้ทางธุรกิจ แต่เราก็คิดว่าวันหนึ่งข้างหน้าอาจมีคนที่สนใจ หรือเคยได้ยินว่ามีโครงการนี้ แล้วสามารถทำได้ดีกว่า มีเครื่องมือ มีกำลังคนที่พร้อมกว่า ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ในตอนนี้คือโยนไอเดียลงไปในสังคมก่อน แล้วถ้ามันจะคงอยู่หรือเป็นประโยชน์ มีคนนำไปทำต่อได้ก็เป็นเรื่องที่ดี

นอกจากโครงการวรรณกรรมไม่จำกัด มีโครงการอื่นที่ช่วยสานต่อความตั้งใจของคุณอีกไหม

          เรายังพยายามสานต่อความตั้งใจที่ว่า “ทำอย่างไรให้คนเข้าถึงความรู้ได้” ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีองค์ความรู้จำนวนมากเกิดขึ้น และถูกโยนเข้าไปในฐานข้อมูลต่างๆ มีหนังสือมากมายที่ได้รับการสแกนและเผยแพร่ในโลกออนไลน์ แต่ว่านักอ่านหลายคนอาจจะไม่รู้หรือเข้าไม่ถึง

          ร้านหนังสือ Books & Belongings เลยมีโครงการเล็กๆ ที่เกิดจากการพูดคุยกันกับหุ้นส่วน เราเคยนำเข้าหนังสือต่างประเทศบางเล่มที่รูปแบบการจัดทำ หรือกระบวนการผลิตไม่มีคุณภาพ สิ่งที่เลวร้ายกว่าคือการที่เราต้องแบกรับค่าขนส่ง และยังต้องบวกค่าใช้จ่ายต่างๆ เข้าไป ทำให้ต้นทุนของหนังสือราคาสูงเกินความเป็นจริงไปมาก

          เราก็เลยคิดกันว่า ถ้าอย่างนั้นมาพิมพ์หนังสือกันเองไหม ผลิตหนังสือที่เราคิดว่าไม่มีแล้วหรือหายาก นี่จึงเป็นที่มาของโครงการ Pirate Edition คือการนำต้นฉบับหนังสือที่กลายเป็นสาธารณะสมบัติ และลงเผยแพร่ใน Project Gutenberg: Free eBooks มาจัดเรียงรูปเล่มใหม่ พิมพ์แบบดิจิทัลออฟเซ็ตในจำนวนไม่มาก ประมาณ 10 เล่ม และจำหน่ายในราคาเป็นมิตร

โครงการ Pirate Edition มีกระบวนการดำเนินงาน และรายละเอียดของโครงการอย่างไร

          เราคัดเลือกหนังสือที่นำมาพิมพ์ตามความสนใจของเรา หรือตามความเหมาะสมกับช่วงเวลา เช่น เรื่อง God and the State ของ Mikhail Bakunin นักปรัชญาอนาธิปไตยชาวรัสเซีย ซึ่งเราทำขึ้นในช่วงที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในสังคม บางเล่มก็เป็นแนวทฤษฎี เช่น The Society of the Spectacle ของ Guy Debord ที่ขายหมดไปแล้ว ส่วนอีกเล่มหนึ่งที่กำลังทำอยู่ และน่าจะออกจำหน่ายเร็วๆ นี้ คือหนังสือเกี่ยวกับการประท้วงหยุดงานของ Rosa Luxemburg

          ตอนนี้หนังสือที่เราทำออกมาทั้งหมดยังเกี่ยวข้องกับการเมือง สีของปกหนังสือแต่ละสีก็จะมีความหมายต่างกันไป เราไม่ได้มีแค่ปกสีเเดง ในอนาคตก็จะมีหนังสือปกเฉดสีฟ้า และสีอื่นๆ ที่เป็นหนังสือเกี่ยวกับปรัชญา และศิลปะ ทั้งหมดนี้เป็นเนื้อหาที่เรามองว่าน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด และอยากให้คนได้รู้จักมากขึ้น คล้ายกับตอนทำโครงการวรรณกรรมไม่จำกัด เพียงแต่ว่าโครงการนี้ยังไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย เรามองว่าอ่านเป็นภาษาอังกฤษไปก่อนก็ได้

          โครงการ Pirate Edition นี้ยังเรียกได้ว่าเป็น Pilot Project อาจจะยังมีความผิดพลาดที่ต้องแก้ไข แต่อย่างน้อย ข้อดีก็คือมีต้นฉบับหนังสือเหล่านี้เป็นไฟล์ดิจิทัลเก็บไว้ สามารถแก้ไขได้ตลอด พอพิมพ์ในครั้งต่อไป ข้อผิดพลาดก็จะน้อยลง  เราอาจจะมีการขยายโมเดลเป็นการพิมพ์แบบออฟเซ็ต ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการผลิตถูกลง เพราะตอนนี้ที่ทำอยู่ถือว่าแทบไม่ได้อะไรในแง่การเงิน คือไม่มีการคิดค่าออกแบบ หรือค่าดำเนินการต่างๆ เลย

หนังสือปกแดงเรื่อง God and the State ของ Mikhail Bakunin ซึ่งทำขึ้นในโครงการ Pirate Edition ของร้าน Books & Belongings
หนังสือปกแดงเรื่อง God and the State ของ Mikhail Bakunin ซึ่งทำขึ้นในโครงการ Pirate Edition ของร้าน Books & Belongings

เสียงตอบรับของนักอ่านต่อหนังสือในโครงการ Pirate Edition เป็นอย่างไร

          คนที่ซื้อหนังสือโดยส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้ที่มาที่ไปของโครงการ เพราะเราเองก็ไม่ได้บอก หนังสือกลุ่มนั้นเป็นเหมือนหนังสือเล่มหนึ่งที่วางขายอยู่ในร้าน เราไม่ได้ป่าวประกาศ เพราะคิดว่าถ้าวันหนึ่งฐานข้อมูลตรงนี้มีข้อมูลเพียงพอ ผู้คนก็คงเริ่มรับรู้ว่าสิ่งที่เราตั้งใจทำคืออะไร

          ความตั้งใจของเราคือ การเผยแพร่ เรามีแผนที่จะทำฐานข้อมูลที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ไม่ใช่แค่หนังสือเป็นเล่ม แต่อาจจะเป็นทั้งในรูปแบบ e-Publishing ไฟล์ PDF หรือแม้กระทั่งให้คนเข้ามาโหลดต้นฉบับไปพิมพ์เอง แต่เนื่องจากตอนนี้โครงการเพิ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น เรายังรวบรวมหนังสือมาได้ไม่มากนัก คิดว่าต้องใช้เวลาตรงนี้อีกสักพัก ไม่ช้าก็เร็วน่าจะได้ขยับขยายและมองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ถ้ามีคนที่สนใจหรือเห็นโอกาสทางธุรกิจก็อาจจะเข้ามาต่อยอดร่วมกันได้ เพราะฉะนั้นความตั้งใจของเราในตอนนี้คือทำโครงการนี้ไปเรื่อยๆ

ภาพรวมธุรกิจของร้านหนังสือ Books & Belongings ซึ่งเป็นร้านหนังสืออิสระ และมีตลาดที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่มเป็นอย่างไรบ้าง

          หุ้นส่วนของร้าน Books & Belongings คือคุณวิกกี้ วิชุตา โลหิตโยธิน ช่วยบริหารจัดการได้มาก ก่อนหน้านี้ร้านหนังสือเปิดมานาน แต่ไม่เคยอยู่ได้ในเชิงธุรกิจ ตอนนี้ร้านอยู่ได้แบบสบาย ถ้าไม่คิดค่าแรงตัวเองนะ (หัวเราะ) เขามาช่วยวางแผนว่าร้านของเราต้องมีเวอร์ชั่น 2.0 และ 3.0 จากตอนแรกที่ร้านไม่มีเว็บไซต์ ก็ทำเพิ่มขึ้นมา เพราะเขามองว่าร้านหนังสือต้องสามารถซื้อขายออนไลน์ได้ ทำให้สะดวกขึ้นมาก เราสามารถขายหนังสือให้นักอ่านที่อยู่ที่ไหนก็ได้ ร้านจะอยู่ในตรอกซอกซอย หรือทำเลไหนก็ได้ทั้งหมด ที่ตั้งของร้านในปัจจุบันเองก็ตั้งอยู่ในซอย ใครเข้ามาเขาก็รู้สึกได้ถึงเสน่ห์ว่ามีร้านหนังสือซ่อนอยู่ในชุมชน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน คือ กิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้เสียง เช่น งานฉายหนัง หรือกิจกรรมอื่นที่มีเสียงดัง ก็อาจจะรบกวนละแวกชุมชนได้ ตรงนี้ก็เป็นข้อจำกัด

          ส่วนเรื่องการดำเนินงานของร้าน หนึ่งคืออยากทำให้ร้านดีขึ้น มีหนังสือที่น่าอ่านมาเพิ่มเรื่อยๆ  สองคือ ทำโครงการ Pirate Edition ต่อไป สามคือ ทำกิจกรรม Reading Club ที่ทำให้เห็นว่าเราก็มีเพื่อนของร้านหนังสืออยู่มากมาย ทั้งกลุ่มนักอ่าน อาจารย์ หรือนักเขียน

ร้านหนังสือ Books & Belongings
ร้านหนังสือ Books & Belongings
Books & Belongings

ร้านหนังสือ Books & Belongings เริ่มจัดกิจกรรม Reading Club ตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีรายละเอียดกิจกรรมอย่างไรบ้าง

          เข้าปีที่ 2 แล้วสำหรับการจัดกิจกรรม Reading Club แบบออนไลน์ เราจัดเดือนละ 2 ครั้ง โดยจะเลือกหนังสือนิยาย 1 เล่ม และหนังสือวิชาการ 1 เล่ม มาถกประเด็นกัน เราเคยจัดแบบออนไซต์มาก่อนหน้านี้ คือเป็นโครงการต่อเนื่องมาจากโครงการวรรณกรรมไม่จำกัด จัดเป็นกิจกรรมที่ให้ผู้อ่านมาพบปะพูดคุยกันที่ร้าน

          จุดเริ่มต้นของการปรับรูปแบบเกิดขึ้นในจังหวะที่สอดคล้องกับช่วงแพร่ระบาดของโควิดพอดี คือ อาจารย์อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง ที่ร่วมกิจกรรมกับเราสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้เราต้องจัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ แล้วก็กลายเป็นทำต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งถ้าเทียบกันแล้ว Reading Clubที่เราจัดในปัจจุบันจะมีความจริงจังมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน ผู้เข้าร่วมแต่ละคนต้องเตรียมตัวล่วงหน้า อาจารย์บางท่านที่มาพูดคุยกันข้อมูลแน่นเหมือนเตรียมมาสอน พอจัดเป็นรูปแบบออนไลน์ คนฟังก็ชอบ เพราะเขาสามารถย้อนกลับไปฟังได้หลายรอบ และไม่มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนคนที่เข้าร่วมได้ในแต่ละครั้ง

          โดยส่วนตัวคิดว่าการมี Reading Club เป็นเรื่องที่สนุกมาก ทำให้ตัวผมเองได้อ่านมากขึ้น รู้กว้างขึ้น ได้อ่านนิยายหรือหนังสือบางเล่มที่เราไม่เคยสนใจ แถมยังได้ความรู้เหมือนลงทะเบียนเรียนในชั้นเรียน ได้เข้าไปนั่งฟังพวกเขาบรรยาย ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้ทำตามความตั้งใจของเรา คือการทำให้ความรู้เป็นสาธารณะ เพราะเรื่องที่เรานำเสนอมันอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เซ็กซี่อยู่แล้ว ดังนั้นถ้าเราทำให้นักอ่านเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งดีมากขึ้นเท่านั้น แต่ต้องทำให้เรื่องที่คุยไม่ซับซ้อน เพราะไม่อย่างนั้นแค่ฟังก็ปวดหัวแล้ว

คุณได้ประสบการณ์จากการผลักดันตลาดหนังสือเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) อย่างไรบ้าง รู้สึกอย่างไรกับผลงานของตัวเอง

          สนุกด้วย ทุกข์ด้วย การทำงานในช่วงที่ผ่านมาเป็นความสนุกที่มาพร้อมกับความทุกข์ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เราต้องพร้อมเจ็บตัวไปกับสิ่งที่เรารักและสนใจ โดยส่วนตัวผมผ่อนปรนมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น แต่อาจจะต้องระมัดระวังว่าคนรอบข้างจะเจ็บไปด้วยกับเราไหม ต้องคอยถามไถ่กันตลอด

          คุณอาจจะบ่น หรือโอดครวญเกี่ยวกับสิ่งที่คุณตั้งใจทำบ้าง แต่ถ้าคุณทำดี ทำให้เต็มที่ สิ่งนั้นต้องมีคนเห็นอยู่บ้าง และคงจะทำให้คุณยิ้มได้ในสักวันหนึ่ง มีหลายครั้งที่คนในแวดวงมาคุยกันว่า “ทำได้แล้วนะ สำเร็จแล้วนะ” ซึ่งคนมองโลกในแง่ร้ายอาจจะบอกว่า “มันก็เป็นความสำเร็จในช่วงเวลาหนึ่ง” ดังนั้นผมคิดว่าไม่มีอะไรที่แน่นอน สิ่งที่ดีที่สุดคือ เราต้องรักษาคุณภาพของสิ่งที่ทำ ขายไม่ดีก็ไม่เป็นไร นอกจากนี้ก็ต้องเรียนรู้ที่จะแบ่งงาน สร้างแนวร่วม โดยไม่บังคับใคร ค่อยๆ เริ่มทำ ค่อยเป็นค่อยไป

กิตติพล สรัคคานนท์

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก