“เราอ่านหนังสือเยอะมาก อ่านทุกอย่าง การอ่านมากทำให้เราอยากเขียน เพราะความฝันแรกคืออยากเห็นหนังสือที่เราเขียนวางเรียงอยู่บนชั้นในร้านหนังสือ”
นี่เป็นประโยคเปี่ยมด้วยความมุ่งมั่นของ ปาริฉัตร ศาลิคุปต เจ้าของนามปากกา กิ่งฉัตร เธอเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนที่มีผลงานในวงการนิยายไทยมายาวนานกว่า 30 ปี มีผลงานที่ถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์มากกว่า 20 เรื่อง ทุกวันนี้ยังผลิตงานเขียนน้ำดี มีคุณภาพ และได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ทั้งแนวรักโรแมนติก สืบสวน จนถึงแฟนตาซี
กิ่งฉัตรเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการเขียนตั้งแต่วัยเด็กว่า “หนังสือเป็นการเปิดโลกของเราเลย เราอ่านหนังสือมาตั้งแต่ประถมและเริ่มอ่านจริงจังตอนมัธยมต้น เราชอบอ่านหนังสือในห้องสมุดโรงเรียนเป็นหลัก ติดหนังสือถึงขั้นไปห้องสมุดก่อนมากินข้าวกลางวันเสียอีก พอเลิกเรียนก็จะแวะร้านหนังสือข้างโรงเรียน ซื้อกลับบ้านไปอ่านบนรถเมล์ เรียกว่าเป็นเด็กที่กระหายการอ่านมาก อ่านทุกแนวที่มีในห้องสมุด แม้กระทั่งนิตยสาร แต่จะไม่ค่อยชอบอ่านแนวโศกนาฏกรรม
“พออ่านมากก็ทำให้เราอยากเขียน เป็นความใฝ่ฝันที่ประทับใจต่องานเขียน อยากเกิดความรู้สึกแบบนั้น อยากให้มีคนประทับใจกับสิ่งที่เราเขียน ครั้งแรกในชีวิตที่ฝันเกี่ยวกับวงการนี้ คือเดินเข้าไปในร้านหนังสือ แล้วได้เห็นหนังสือของเราวางเรียงอยู่บนเชลฟ์ เมื่อตั้งใจแล้วว่าเราชอบทางนี้ เลยมาเลือกเรียนวารสารฯ เอกหนังสือพิมพ์”
พรพรหมอลเวง จากนิยายเล่มแรกสู่ละครโทรทัศน์ยอดฮิต
พรพรหมอลเวง เป็นนิยายเล่มแรกในชีวิตที่เธอเขียนและเป็นผลงานแจ้งเกิด ภายใต้นามปากกา กิ่งฉัตร
“เราเริ่มเขียนเรื่องแรกคือ พรพรหมอลเวง เขียนตอนเรียนปี 4 ตอนนั้นกำลังฝึกงานที่หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ และต้องทำสารนิพนธ์หนึ่งฉบับ เลยตัดสินใจเขียนสารนิพนธ์ไปด้วย เขียนพรพรหมอลเวงไปด้วยพร้อมกัน
“เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเพื่อนที่สวยและเก่งเหมือนนางเอก แต่ไม่ชอบเด็ก เพราะคิดว่าเด็ก คือคนละโลก คุยกันไม่รู้เรื่อง แต่เรามองว่าไม่ใช่นะ เด็กคือผู้ใหญ่ในร่างเล็กลงมาหน่อยเท่านั้นเอง เด็กก็มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกับเรา เด็กสามารถซึมซับปัญหารอบตัวได้ เราเลยสร้างตัวละครเป็นเด็กที่ต้องอยู่กับครอบครัวที่มีปัญหา อยากให้คนรู้ว่าเด็กไม่ใช่อะไรที่คุยกันไม่รู้เรื่องและน่ารำคาญ เพียงแต่เราต้องดูให้เห็นว่าเราเข้าใจเด็กหรือเปล่า
“ใช้เวลาเขียนเล่มนี้ประมาณ 6 เดือน เขียนรวดเดียวจบพร้อมสารนิพนธ์ สมัยนั้นยังใช้พิมพ์ดีด เย็บเล่ม เข้าเล่มเองหมด ตอนเอาไปให้เพื่อนอ่าน เพื่อนเผลอทำตกน้ำ หมึกพิมพ์ดีดเลือนเลยนะ ก็ต้องมานั่งทำใหม่ ต่อมาไปทำงานที่สำนักพิมพ์ ผู้จัดการ เลยฝากพี่ที่รู้จักกับสำนักพิมพ์ไปส่งให้ และได้ตีพิมพ์เป็นตอนๆ กับสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง จนกระทั่งช่อง 7 มาขอไปทำละคร ซึ่งกระแสตอบรับดีมาก เป็นงานเขียนเรื่องแรกแล้วได้ทำละครเลย”
สไตล์การเขียนนิยายที่แตกต่างกันของ 3 นามปากกา
รู้กันดีในแฟนหนังสือว่า นอกจาก กิ่งฉัตร เธอยังมีนามปากกาอื่นที่ใช้ในการเขียนด้วย นั่นคือ อลินา กับ ชื่อถง ถือเป็นการก้าวข้ามจากโลกใบเดิมนั่นคือ นิยายรัก ไปสู่นิยายแนวสืบสวน-แฟนตาซี และนิยายจีน ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าเป็นงานยาก ท้าทาย แต่ก็ขอลองดูสักตั้ง
“แต่ละนามปากกาก็จะมีเรื่องที่เขียนยากง่ายต่างกันไป กิ่งฉัตร เป็นแนวรักโรแมนติก อลินา เป็นสืบสวน-แฟนตาซี ส่วน ชื่อถง เป็นเรื่องจีน กิ่งฉัตร กับ อลินา เขียนค่อนข้างง่าย เรื่องจีนจะยากกว่า เพราะเป็นเรื่องไกลตัว แต่เราอยากลองทำเพราะรู้สึกว่าเรื่องจีนน่าจะเล่นอะไรได้เยอะ ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี เสื้อผ้า ความมหัศจรรย์ กำลังภายใน อภินิหาร ยาพิษ การล้วงของออกมาจากแขนเสื้อได้ตลอดเวลา มีความเหนือจริงเยอะแยะไปหมด แต่ของไทยเรายังติดในกรอบหลายอย่าง เช่น นิยายไทยจะมาเขียนว่าตัวละครกระโดดขึ้นชั้นสามมันเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเป็นของนิยายจีนทุกคนก็จะว้าว
“แนวที่ไม่ถนัดเลยและคิดว่ายากมากคือ แนวประวัติศาสตร์ เพราะเราเป็นคนที่ไม่ค่อยแม่นข้อมูล ทำให้เราต้องระวัง พอระวังมากๆ ก็จะเกร็ง ซึ่งจะมีผลกับงาน ถ้าเราทำแล้วรู้สึกติดขัด คนอ่านก็จะรู้สึกได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มั่นใจอะไรก็จะไม่ทำดีกว่า
“เราเป็นคนเขียนก็รู้ว่าเรื่องไหนจะสนุก เราจะบอกทุกคนเสมอว่า นักเขียนคือคนอ่านคนแรก ถ้าเรารู้สึกสนุก เปอร์เซ็นต์ที่คนอ่านจะสนุกก็สูง แต่ถ้าอ่านเองแล้วมันยังฝืดเหลือเกิน อึดอัดเหลือเกินกว่าจะขยับไปได้แต่ละหน้าแต่ละบท ก็ควรจบตรงจุดนั้น สิ่งที่สำคัญมากคือเราต้องเคารพความรู้สึกของเราเอง ถ้ารู้สึกว่ามันโอเค มันสนุก ก็คือตามนั้น แต่ถ้าเราเขียนแล้วมันไม่สนุก เราบีบคั้นมัน อารมณ์ก็จะออกมาแบบนั้นจริงๆ จะทำให้เรารู้สึกว่าอึดอัด เรื่องมันเดินช้า ไม่ได้ดั่งใจ เพราะฉะนั้นถ้าเจอความรู้สึกนั้น ให้ถอย อย่าฝืน เพราะฝืนแล้วมันจะออกมาทางตัวหนังสือทั้งหมด”
บุกเบิกนิยายรักที่มีนางเอกเป็นสาวเปรี้ยว แหกขนบแบบเดิมๆ
เมื่อพูดถึงนิยายรักโรแมนติกไทยยุคก่อน หลายคนคงติดตากับภาพนางเอกผู้แสนอ่อนโยน พูดจาอ่อนหวานนุ่มนวล กิริยามารยาทเรียบร้อยราวกับผ้าพับไว้ แต่ใครจะรู้ว่ากิ่งฉัตรนี่แหละเป็นนักเขียนคนแรกๆ ที่พลิกโฉมภาพลักษณ์นางเอกในนิยายแบบเดิมๆ ให้กลายเป็นสาวเปรี้ยวหัวขบถ มั่นอกมั่นใจ กล้าได้กล้าเสีย ไม่แพ้ชายอกสามศอก
“สูตรเสน่หา น่าจะเป็นเรื่องแรกในชีวิตที่เขียนให้นางเอกแหกขนบมากชนิดที่ตัวร้ายอ่อนด้อยไปเลย เพราะเราอยากจะสื่อว่า ผู้หญิงมีหลายสไตล์ ไม่ใช่ทุกคนที่รักเด็ก รักสัตว์ เราเชื่อว่าต้องมีนางเอกบางคนที่ไม่รักเด็ก ไม่รักสัตว์ แต่ก็ไม่ได้ร้ายสุดๆ คือยังร้ายแบบนางเอก ร้ายแบบโก๊ะๆ
“ตอนแรกที่เขียนก็กังวล เพราะคนอ่านสมัยนั้นก็ยังเป็นคนรุ่นเก่าที่เชื่อว่านางเอกต้องเป็นตามขนบประเพณี กลัวจะมีผลลบ คนอ่านจะรับไม่ได้ แต่คุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ บ.ก. สกุลไทย บอกว่า ‘การทำหนังสือก็เหมือนสำรับอาหาร ในกับข้าวบางอย่างก็มีทั้งเปรี้ยว ทั้งเค็ม ทั้งหวาน แตกต่างรสกันไป ต้องให้คนอ่านได้เลือกอ่านในสิ่งที่ชอบ ได้ลองสิ่งที่แปลกใหม่ ไม่ต้องห่วง ลองลงไปก่อน’ พอลงไปแล้ว ก็ได้รับเสียงตอบรับดีมาก”
ด้วยความชอบครุ่นคิด ตั้งคำถาม จินตนาการถึงเรื่องราวและตัวละครต่างๆ ในโลกวรรณกรรม ทำให้กิ่งฉัตรสร้างตัวละครในนิยายของเธอออกมาได้อย่างมีมิติ ลึกซึ้ง และหลากหลาย
“เพราะเราเชื่อว่าคนมีความหลากหลาย และคิดว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นตัวเอกในเรื่องราวของตนเอง เราเป็นนักเขียนเราก็ต้องตั้งคำถาม เราเรียนวรรณคดี สังข์ทอง ก็ตั้งคำถามว่า นี่พระเอกเหรอ ตั้งแต่เล็กก็ขโมยรูปเงาะ ทำให้แม่ยักษ์ตาย แกล้งตัดหูตัดจมูกเขยคนอื่น แต่สุดท้ายกลับประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทำไมเราไม่เคยรู้สึกว่าคนนี้ควรเป็นพระเอก หรืออย่างขุนแผน ที่มีเมียหลายคน ทำไมเป็นพระเอก นั่นเพราะเรายึดติดความเป็นรูปทองของพระเอกกัน แล้วนางพันธุรัตมีข้อเสียอะไร ข้อเสียคือเป็นยักษ์ ทั้งที่เขาก็ทุ่มเทความรักให้ลูกทุกอย่างจนนาทีสุดท้ายก่อนตายก็ยังเป็นห่วงลูก เลยรู้สึกว่าเขามีชีวิตน่าสงสารมาก รู้สึกว่านางยักษ์ตนนี้เป็นผู้ให้จริงๆ เป็นคนที่น่ารักมาก แต่ทำไมต้องมาประสบชะตากรรมแบบนี้
“พอมองอีกมุมก็จะเห็นว่าทุกเรื่องมีความเข้าข้างมนุษย์ ส่วนตัวอะไรที่ประหลาดพิสดารไม่ใช่มนุษย์ ก็จะถูกปัดให้เป็นตัวร้ายไป คิดดูว่าความผิดของตัวละครทุกตัวในนิยายแค่เพราะเป็นยักษ์ เลยเกิดไอเดียให้ตัวละครอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แล้วมีชีวิตแบบปัจจุบันทุกอย่าง เหมือนเราๆ นี่ล่ะ แต่เป็นตัวละครที่ไม่ตาย มีความพิเศษ มีอาชีพที่ปรับมาจากในวรรณคดี นางพันธุรัตก็มาเป็นครูอนุบาล ฤๅษีแปลงสารในปัจจุบันก็ต้องทำเอกสารปลอมสิ เพราะเข้ากับอาชีพ สันตราก็เป็นนักธุรกิจ สังข์ทองทำอะไรไม่ได้ก็ต้องเป็นนักแสดง กากีมีกลิ่นกายหอม ก็เปิดร้านเครื่องหอม ตัวละครทุกตัวสามารถมาปรับเป็นยุคปัจจุบันได้หมด”
กิ่งฉัตรเล่าว่า เอกลักษณ์ของนิยายเธอคือ การสร้างตัวละครที่มีเสน่ห์ มีชีวิตชีวา อ่านแล้วเชื่อว่ามีอยู่จริง ทำให้คนอ่านทั้งรัก ทั้งเอ็นดู หรือหมั่นไส้ก็ได้
“อาจจะเพราะนิยายของเราไม่ได้ดราม่าสุดติ่ง และเขียนค่อนข้างหลากหลายตามความรู้สึกของเราในตอนนั้น เราชอบอ่านแนวไหนก็เขียนแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นสืบสวน วรรณคดีจีน วรรณคดีไทย แม้กระทั่งเรื่องผี ทุกอย่างมาจากการอ่านอย่างหลากหลาย การฟังอย่างหลากหลาย มีเพื่อนที่หลากหลาย ทำให้งานเราไปได้ทุกแนว
“สมัยนั้นไม่มีตัวเลือกมาก งานเก่าๆ ก็จะถูกนำไปสร้างละครเยอะ แต่หลังๆ พอเริ่มเขียนแนวแฟนตาซี ก็อาจจะสร้างยาก แต่คิดว่าจุดเด่นของเราคือ ตัวละครที่มีบุคลิก อ่านแล้วเชื่อว่ามีอยู่จริง เหมือนกับเป็นคนที่มีอยู่จริงๆ ถ้าเราอ่านแล้วเชื่อก็จะทำให้คนอ่านเชื่อด้วย ส่วนหนึ่งของงานเขียนที่จะดีได้คือ ตัวละครต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง ต้องมีเสน่ห์ในตัว ไม่ว่าจะในแง่ดีหรือแง่ลบ ถ้าทำให้คนอ่านเกลียดได้ ทำให้คนอ่านรักได้ ทำให้คนอ่านเอ็นดูได้ ทำให้คนอ่านหมั่นไส้ได้ ขอให้คนอื่นมีอารมณ์ร่วมได้ คุณก็ประสบความสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว”
ปรับตัวสู่โลกออนไลน์ อ้าแขนรับความเปลี่ยนแปลง
แม้จะสร้างชื่อมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ทว่าเมื่อความเปลี่ยนแปลงมาถึง เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อโลกน้ำหมึกอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ปาริฉัตรก็ยินดีอ้าแขนตอบรับความเปลี่ยนแปลงนั้น ด้วยการก้าวข้ามจากโลกกระดาษเข้าสู่โลกออนไลน์
“จริงๆ เริ่มทำออนไลน์ ทำอีบุ๊กนานมากแล้ว นับจากเปิดสำนักพิมพ์ ลูกองุ่น ตอนแรกไม่คิดว่าอีบุ๊กจะโตเร็ว แต่เริ่มต้นจากที่ช่วงนั้นมีปัญหาว่าหนังสือที่ส่งไปอเมริกาเป็นหนังสือเสีย ถ้าส่งกลับมาเปลี่ยนก็จะเสียค่าใช้จ่ายมาก เลยทำอีบุ๊กเพื่อคนอ่านที่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ หนังสือเล่มยังขายดีกว่า จนถึงตอนนี้ก็ยังดีกว่า เรื่องเดียวที่ยอดออนไลน์ดี คือ วาสนาชะตาใจ ซึ่งเป็นแนวจีน
“ฐานคนอ่านของเราจะเป็นคนอ่านหนังสือเล่ม จนถึงตอนนี้ยอดออนไลน์ก็ยังสู้หนังสือเล่มไม่ได้ แต่ภาพรวมยอดขายหนังสือเล่มตอนนี้ก็ลดลงอยู่แล้ว ด้วยเศรษฐกิจ ด้วยรูปแบบการอ่านที่เปลี่ยนไปทำให้คนอ่านเปลี่ยนอยู่ตลอด รสนิยมของคนอ่านเปลี่ยนไปตลอดเวลา”
เธอยังเชื่อด้วยว่าอีบุ๊ก คือช่องทางที่ดีที่สุดสำหรับการลงสู่สนามของเหล่านักเขียนใหม่ในยุคนี้
“สำหรับนักเขียนใหม่เอี่ยมที่เพิ่งเริ่มต้นลงสนาม เราจะแนะนำทุกคนว่า ให้ไปเริ่มต้นจากอีบุ๊กก่อน เนื่องจากไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องง้อสำนักพิมพ์ ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น เพราะการจะรวมเล่มในปัจจุบันค่อนข้างยาก งานต้องดีจริงๆ ถึงจะทำได้ แต่ถ้ายังไม่มีฐานคนอ่าน ควรใช้แพลตฟอร์มก่อนจะดีกว่า เพื่อเปิดตัวให้คนอ่านรู้จักเรา อย่าไปติดว่าต้องทำเป็นเล่ม ถ้าทำอีบุ๊กไปสักพักพอมีคนรู้จักค่อยมาทำเล่มก็ได้
“ทุกอย่างเป็นทุน ถ้าคุณยังไม่แข็งพอจะกลายเป็นภาระหนี้ ซึ่งไม่ควรจะมี แต่อีบุ๊กเงินลงทุนไม่เยอะ ผลตอบแทนดีกว่า ไม่ต้องแบกภาระสต๊อกเลย ทุกอย่างอยู่ในอากาศ ดาวน์โหลดไป แต่ขอแค่อย่าสูบเอาไปปล่อย เพราะกว่าที่นักเขียนหรือสำนักพิมพ์จะผลิตออกมาได้แต่ละชิ้นมันยาก แต่คุณเอาไปปล่อยภายใน 5 นาที ทำให้วงการอยู่ยากลำบากขึ้น”
แพลตฟอร์มออนไลน์ สวรรค์ของนักเขียนรุ่นใหม่
ในมุมมองของ ‘นักเขียนรุ่นใหญ่’ มองว่าแพลตฟอร์มออนไลน์เปรียบดั่งสวรรค์สำหรับ ‘นักเขียนรุ่นใหม่’ เลยก็ว่าได้
“การมาถึงของช่องทางออนไลน์หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ได้มีผลกระทบกับนักเขียนเลยนะ จริงๆ คือดีสำหรับนักเขียนด้วยซ้ำ เพราะเป็นเวทีที่เปิดกว้างมากขึ้น สมัย 30-40 ปีก่อน นักเขียนต้องพึ่งนิตยสารเพื่อสร้างฐานคนอ่าน เพื่อสร้างชื่อ และต้องพึ่งพาสำนักพิมพ์ นักเขียนหลายคนพยายามจะเปิดสำนักพิมพ์แต่ไม่สำเร็จ อาจจะด้วยความไม่ชำนาญ แต่ปัจจุบันเรามีหนังสือทำมือ เปิดพรีออร์เดอร์ได้ นักเขียนสามารถทำเองได้หมดตั้งแต่ต้นจนจบทุกกระบวนการ ไม่ต้องเสี่ยงมาก นักเขียนเป็นนายของตัวเอง ทำโฆษณาเอง ประชาสัมพันธ์เอง เป็นทั้งนักเขียน นักลงมือทำและการตลาด นำผลงานของตัวเองออกไปสู่ตลาดให้มากที่สุด
“แพลตฟอร์มออนไลน์นี่ยิ่งเป็นสวรรค์สำหรับนักเขียนรุ่นใหม่ เพราะมันง่าย และมีปฏิกิริยาตอบกลับจากนักอ่านที่ไวมาก อย่างที่ลงตีพิมพ์เป็นตอนในเว็บต่างๆ ลงไปแค่ไม่ถึงหนึ่งนาทีก็มีฟีดแบ็กกลับมาแล้ว และเป็นตลาดที่กว้างมากไม่จำเป็นต้องมีบรรณาธิการ ไม่ต้องมีสำนักพิมพ์ มีแค่แพลตฟอร์มก็เขียนลงไป ถ้างานดี เดี๋ยวก็มีสำนักพิมพ์มาติดต่อเอง เลือกได้ด้วยว่าจะเอาสำนักพิมพ์หรือจะทำรวมเล่มขาย มีอีบุ๊กแทบไม่ต้องลงทุนอะไร ยิ่งจัดหน้าเองได้ยิ่งดี เดี๋ยวนี้ทุกอย่างง่ายมาก นักเขียนส่วนมากก็ปรับตัวกันได้เก่งขึ้น ถึงอายุเยอะก็หันมาใช้เทคโนโลยีกันมากขึ้นแล้ว ทุกคนปรับตัวกันหมด
“จากการเขียนหนังสือมา 30 กว่าปี เราเห็นเลยว่าทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เราเห็นทั้งการเกิดและตายจากไปของนิตยสาร การเข้ามาของออนไลน์และอีบุ๊กที่เข้ามาตีตลาด การเปลี่ยนรสนิยมของผู้อ่าน ทุกอย่างไม่เคยหยุดมันเคลื่อนไหวตลอดเวลา ปรู๊ดไปทางนั้นปร๊าดมาทางนี้ ใครอยู่มานานๆ จะเห็นว่ามันเป็นยุคสมัยของแต่ละยุคที่รุ่งเรืองแล้วก็เสื่อมไป นิยายไทยรุ่งมากแล้วก็ซา นิยายแปลจากฝั่งอเมริกามาแล้วก็ไป ต่อมาก็นิยายสืบสวนญี่ปุ่นก็เข้ามา แล้วก็ถูกนิยายจีนตี
“ตอนนี้นิยายจีนกับนิยายวายบูมมาก แต่เราก็ไม่รู้ว่าต่อไปจะมีอะไรเข้ามาแทนได้อีกไหม คาดเดาไม่ได้เลย ไม่มีใครเดาตลาดได้เป๊ะ มีบ้างบางสำนักพิมพ์ที่เก่งจริงๆ ที่จะคาดการณ์ได้ว่ากระแสจะไปทางไหน แต่ถ้าให้ฟันธงลงไปคิดว่ายาก ใครจะคิดว่านิยายวายจะบูมมากขนาดนี้ นิยายจีนที่เราเคยอ่านตอนเด็กๆ เป็นกำลังภายในหมด ภาษาจีนก็ไม่มีคนสนใจ คนจะชอบเรียนภาษาญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันคนจะไปทางภาษาจีน ทุกสำนักพิมพ์ก็จะรับคนแปลภาษาจีนได้ จีนเข้ามาตีตลาดหมด ทั้งนิยายทั่วไป นิยายวาย นิยายสืบสวน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะประเทศเขาใหญ่ และผลิตนักเขียนออกมาได้เยอะมากก็เป็นได้”
ในวันที่คำว่า soft power ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย ย้อนกลับมามองเมืองไทยโดยเฉพาะแวดวงศิลปวัฒนธรรม กิ่งฉัตรเศร้าใจเมื่อพบว่างานเขียนเป็นศิลปะที่ถูกละเลย ถูกมองเป็นของฟุ่มเฟือย เป็น soft power ที่ไม่มีอำนาจ
“ประเทศเรามีการส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรมค่อนข้างน้อย เพราะมักจะมองเศรษฐกิจสำคัญกว่างานเขียนและงานศิลปะ ความเชื่อที่สืบต่อกันมาคือ ศิลปะคือความฟุ่มเฟือย ไม่มีความจำเป็นกับชีวิต ไม่ได้มองว่าศิลปะคือการกล่อมเกลา ไม่ได้มองว่านี่คือ moral คือแนวทางของสังคม ทำให้งานศิลปะถูกละเลย ไม่ได้รับการยอมรับ
“การสนับสนุนงานเขียนก็มีอยู่บ้างแต่น้อยมาก ส่วนมากเป็นภาคเอกชนที่สนับสนุนผลักดันกันเอง หลายเรื่องเราต้องช่วยตัวเอง ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ทุกอย่างยิ่งยากขึ้นกับวงการหนังสือ ผู้คนเน้นเรื่องปากท้องก่อนการจรรโลงจิตใจ ทำให้รู้สึกเสียดาย กลายเป็นว่า soft power ของเราไม่มีอำนาจ ไม่แข็งแกร่งพอ ซึ่งเราควรจะต้องมองว่านี่เป็นอาวุธ แต่กลับมองว่าเป็นของไม่จำเป็น ถ้างานของเราส่งออกไปต่างประเทศเหมือนที่จีนส่งมาไทย เราก็ประสบความสำเร็จแล้ว ตอนนี้เรามีแต่นำเข้ามา แทบจะไม่มีการนำงานของเราออกไปเลย”
เลือกทำเพราะมีความสุข แม้บางเรื่องอาจไม่ประสบความสำเร็จ
ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายฤดู นักเขียนนิยายระดับแถวหน้าของเมืองไทยคนนี้บอกว่า ที่อยู่มาได้นาน เพราะเลือกเขียนในสิ่งที่อยากเขียน แม้บางเรื่องอาจไม่ประสบความสำเร็จ
“งานเขียนส่วนมากที่ไม่ประสบความสำเร็จน่าจะเป็นนิยายสืบสวนเล่มแรกๆ แต่ก็ไม่เฟลนะ เรารู้อยู่แล้วว่าเราทำเพื่อสนองความต้องการของเราเองที่อยากเขียน ซึ่งใช้นามปากกาว่า อลินา ตอนแรกที่จะทำ น้องสาวก็ถามว่าจะคุ้มไหม เพราะแนวทางต่างจากนามปากกาเดิมเยอะมาก แต่เราก็อยากทำเพราะเรามีความสุขในการเขียน อีกทั้งมีนักอ่านกลุ่มหนึ่งที่ตามอยู่ เราทำเพื่อตอบโจทย์เราและนักอ่านกลุ่มนี้ ถ้าเราไม่เขียน เขาจะหาอ่านจากที่ไหน ถึงจะไม่เป็นแนวที่ป๊อปปูลาร์ แต่เป็นแนวที่เราชอบอ่าน เวลามีพล็อตอะไรดีๆ เราก็จะเขียนมันขึ้นมา เอาแค่อยู่ตัว เลี้ยงตัวเองให้รอด ไม่เอากำไร เพราะเราไปเขียนเรื่องใหญ่มาอุดหนุนเรื่องเล็กได้”
ความสำเร็จที่ได้รับในวันนี้ เธอถือว่าเกินความคาดหมายมาไกล
“ทุกอย่างที่ผ่านมา เราคิดว่าเราได้กำไรแล้ว เพราะทั้งหมดเริ่มจากการที่เรารักการอ่านจริงๆ ช่วงแรกเราไม่ได้คาดหวังอะไรมาก หวังแค่ให้เราสามารถเลี้ยงตัวเองได้ถือว่าโอเคแล้ว ที่ผ่านมาเราได้ในสิ่งที่เราต้องการแล้ว และมีความสุขมากกับการเขียน เรามีความสุขมากๆ เมื่อเขียนจบ เมื่องานเสร็จไปอีกหนึ่งชิ้น ก็จะรอดูผลว่าการตอบรับจะเป็นอย่างไร ต้องพร้อมที่จะได้รับทั้งคำชมและคำตำหนิ สมัยนี้คนเราเปิดเผยกันมากขึ้น อยากพูดอะไรก็พูด ฉะนั้น เราต้องพร้อมรับ เพราะอาจจะเป็นจุดที่เราคิดไม่ถึงก็ได้”
สำหรับคำแนะนำแก่คนอยากเริ่มต้นเขียน กิ่งฉัตรบอกว่า จงเขียนในสิ่งที่ชอบ และมองทุกอย่างให้ลึกกว่าคนอื่น
“เมื่อก่อนเราเคยพูดว่า คนที่เป็นนักเขียนต้องอ่านเยอะ แต่ตอนนี้ไม่แน่เสมอไป เพราะบางคนมีสไตล์ของตัวเอง คนสมัยก่อนอ่านมากเพื่อสะสมความคิดและแพสชัน ทำให้เป็นแรงขับจากการอ่านหนังสือ แต่ปัจจุบันเหตุปัจจัยหลายอย่างทำให้รูปแบบการเขียนเปลี่ยนแปลงไป แต่ละประเด็นแต่ละกรณีก็จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
“สำหรับคนที่อยากเริ่มเขียน แต่เขียนไม่ออก ยังไม่มีพล็อต ต้องดูตัวเราเองก่อนว่าชอบแนวไหน เราจะเขียนได้ดีที่สุดจากแนวที่เราชอบอ่าน ชอบแบบไหนเขียนไปแบบนั้น แล้วต้องเป็นคนช่างสังเกต มองไปรอบๆ ด้าน มองให้ลึกมากกว่าคนอื่น เช่น คนอื่นอาจจะมองเห็นว่านั่นคือหมาตัวหนึ่ง แต่เราจะต้องเห็นพันธุ์ของหมา สีขนของหมา สายตาของหมา กิริยาของหมา มันต้องเห็นมากกว่าคนปกติ ต้องคิดผูกเรื่องได้
“อ่านให้เยอะ ดูเรื่องราวต่างๆ ให้เยอะ มองคนรอบตัวให้เยอะ มองเห็นให้มากกว่าที่คนอื่นมอง พยายามเข้าใจความเป็นมนุษย์ให้มากกว่าคนอื่น เข้าใจว่าทำไมถึงทำแบบนี้ ทำไมถึงมีปฏิกิริยาอย่างนี้ ต้องเข้าใจว่าคนไม่เหมือนกัน แต่ไม่ต้องไปคาดหวังว่าทำไมเขาถึงไม่ทำแบบนั้น ทำไมเขาถึงไม่ทำแบบนี้ เพราะมนุษย์มีร้อยแปดพันเก้ารูปแบบ นิสัยก็จะแปลกประหลาดต่างกัน ยิ่งแปลกประหลาดยิ่งน่าสนใจที่จะเอามาเขียน ศึกษาผู้คนให้มาก ศึกษาสถานการณ์ให้มาก มองให้กว้าง แล้วจดบันทึกเก็บไว้เป็นข้อมูล วันนี้อาจจะยังเขียนไม่ได้ แต่วันหน้าอาจจะมีพล็อตอะไรเข้ากับสิ่งที่เราเก็บเอาไว้แล้วนำมาใช้ได้”
นอนอ่านหนังสือ ความฝันเรียบง่ายที่รอวันเป็นจริง
ถามเธอเป็นคำถามสุดท้ายว่า มีความฝันอะไรอีกไหมที่อยากลงมือทำให้สำเร็จ
“มีสิ่งที่อยากลองทำคือ หนังสือเสียง แต่ตอนนี้ยังไม่มีเวลาเลยจริงๆ บวกกับเราเขียนงานได้ช้าลงตามอายุ เราจะโหมงานหนักเหมือนสมัยเริ่มทำงานใหม่ๆ ไม่ได้แล้ว สายตาก็แย่ลงมาก และต้องดูแลสุขภาพคนในครอบครัวไปด้วย ทำให้ไม่พร้อมที่จะลุยงานทั้งวันทั้งคืนเหมือนเดิม เอาจริงๆ ตอนนี้ก็ถือว่าโอเคแล้ว หรือถ้าจะมีแพลนอย่างอื่นก็คงไม่หลุดแนวไปจากนี้
“แต่สิ่งที่อยากทำมากที่สุดตอนนี้คือ การได้นอนอ่านหนังสือไปเรื่อยๆ นอนอ่านไปแบบไม่ต้องทำอะไรเลย เมื่อก่อนเคยเป็นคนที่ภูมิใจในตัวเองมากว่าไม่มีกองดอง ซื้อหนังสือมาจะอ่านๆๆ ไปจนหมด แต่ตอนนี้พูดไม่ได้แล้ว หนังสือหลายเล่มที่ซื้อมา บางเล่มยังไม่ได้แกะออกมาจากซีลเลยด้วยซ้ำ”
เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia 2 ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2567)