สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม ความหลากหลายทางเพศ ประชาธิปไตย การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมมติว่าคุณต้องอธิบายชุดคำเหล่านี้ให้เด็กๆ เข้าใจ คุณจะใช้วิธีไหน หรือจะอธิบายให้พวกเขาฟังว่าอย่างไร
อย่าว่าแต่เด็ก ลำพังแค่การอธิบายให้ผู้ใหญ่ด้วยกันเข้าใจ ก็อาจใช้เวลาอยู่นานโข โดยเฉพาะในบริบทสังคมไทยที่แทบไม่ได้ปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ในระบบการศึกษา
กวาดตามองไปบนแผงหนังสือเด็ก นับเฉพาะที่มีการจัดพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาไทย แม้จะมีให้เลือกหลากหลายหมวดหมู่ แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่ในกรอบของการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย ทว่ามีจำนวนน้อยที่แตะไปถึงการบ่มเพาะความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อชีวิตและสังคม ต่างจากหนังสือเด็กในระดับสากลที่มีการสอดแทรกประเด็นเหล่านี้อย่างแพร่หลาย
ช่องว่างดังกล่าว จุดประกายให้สำนักพิมพ์ Bookscape (หรือชื่อเดิมคือ Openworld) ที่เชี่ยวชาญในการผลิตหนังสือ non-fiction สร้างสรรค์สังคม เปิดสำนักพิมพ์ใหม่ในเครือ ชื่อว่า ‘Kidscape’ เพื่อทำหนังสือเด็กในแบบที่คนไทยอาจยังไม่คุ้นเคยนัก
“Kidscape เชื่อในคุณค่าของ ‘หนังสือเด็ก’ ที่ไม่ใช่เพียงแค่หนังสือ แต่คือเพื่อนคู่คิดในวัยเยาว์ คือกุญแจสู่จินตนาการกว้างไกล คือตัวช่วยบ่มเพาะอุปนิสัย คือสะพานเชื่อมสู่มุมมองหลากหลาย และที่สำคัญ เราเชื่อว่าหนังสือเด็กคือเครื่องมือชั้นดีที่พ่อแม่จะใช้สื่อสารกับลูก เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในประเด็นที่ลึกซึ้งของชีวิต” คือนิยามที่ Kidscape ใช้บอกเล่าจุดยืนและแนวทางของตัวเอง หลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา
The KOMMON พาไปจับเข่าคุยกับ วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และ อินทุพิมพ์ เลิศวิริยะไพบูลย์ สองผู้ร่วมบุกเบิกสำนักพิมพ์ ว่าด้วยความสำคัญของหนังสือเด็กที่ผู้ใหญ่หลายคนไม่เคยรู้ และพรมแดนใหม่ที่หนังสือเด็ก (แบบไทยๆ) ยังไปไม่ถึง
จุดเริ่มต้นของ Kidscape
วรพจน์ : จริงๆ หนังสือแนวนี้อยู่ในความสนใจของเรามาสักระยะแล้วครับ จากที่ผ่านมา ประสบการณ์จากการทำสำนักพิมพ์ Openworld เรื่อยมาถึง Bookscape เราพยายามทำหน้าที่สร้างองค์ความรู้ให้สังคมในแบบหนึ่ง สื่อสารกับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าเราได้ทำหนังสือที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก ทำให้เด็กมีมุมมองความคิดใหม่ๆ ด้วย ก็น่าจะดีเหมือนกัน
อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์ (บรรณาธิการบริหาร-ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์ Bookscape) ใช้คำว่า เราเคยทำหนังสือให้ผู้ใหญ่ หรือคนที่โตแล้ว มีความรู้ในการต่อสู้กับสังคม คำถามคือทำไมเราไม่สู้กันตั้งแต่เด็กเลยล่ะ แน่นอนว่าการทำหนังสือเด็ก ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา แต่อีกแง่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังสือที่เราเลือกมาทำ ก็ยังมีแก่นแบบ Bookscape อยู่ดี ประจวบเหมาะกับที่บรรณาธิการคนหนึ่งของเรา คือคุณส้ม-อินทุพิมพ์ มีความสนใจ มีแพชชั่นในหนังสือประเภทนี้อยู่แล้ว แล้วในเมื่อเรามี messege ที่อยากสื่อสาร มีกลุ่มเป้าหมายที่เราอยากคุยด้วย คือพ่อแม่หรือคุณครูที่อยากมีสื่อการสอน สื่อการเรียนรู้ ที่ไม่จำเป็นต้องติดกรอบเดิมๆ เราก็ทำ
ก่อนหน้านี้ เราเคยทำหนังสือที่สื่อสารกับพ่อแม่ เพื่อให้พ่อแม่มีองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการเลี้ยงลูก เช่นเล่ม Read-Aloud Handbook ถือเป็นเล่มที่ inspire เราเหมือนกัน ว่าทำไมสื่อการเรียนรู้ของเด็กถึงสำคัญ คือนอกจากจะช่วยเรื่องพัฒนาการของลูกแล้ว ยังมีเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกที่เกิดขึ้นระหว่างกิจกรรมอ่านออกเสียงด้วย ทำให้รู้สึกว่าจริงๆ แล้วการสร้างองค์ความรู้ในเด็ก ก็สำคัญเหมือนกัน
ถ้านับเฉพาะในประเทศไทย ก่อนหน้านี้เคยมีหนังสือเด็กแบบที่ Kidscape พยายามจะทำมาก่อนไหม
อินทุพิมพ์ : ถ้าช่วง 3-4 ปีมานี้ เราเห็นหนังสือที่มีประเด็นหลากหลายมากขึ้น เช่น พูดถึงการบูลลี่ พูดถึงเรื่องเพศในมุมที่ไม่ได้สอนแค่เรื่องอวัยวะ พูดถึงเรื่องความตายและการสูญเสีย แต่ถามว่ามันมีมากกว่านี้ได้อีกไหม คำตอบคือยังมีได้อีก เทียบกับต่างประเทศ หนังสือประเภทนี้มีเยอะมาก แต่ในไทยยังไม่ค่อยหลากหลาย รู้สึกว่ายังเติมได้อีก
ที่บอกว่าอยากเติม คือส่วนไหนยังไง
อินทุพิมพ์ : หลักๆ จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสังคม เกี่ยวกับความหลากหลาย อย่างหนังสือเซ็ตแรกที่เราเลือกมา จะค่อนข้างชัด ยกตัวอย่างเล่มที่ชื่อว่า ‘เป็นตัวเรานั่นแหละ ดีที่สุดแล้ว’ (The World Needs Who You Were Made to Be) เนื้อหาจะพูดถึงการทำบอลลูน เปิดมาหน้าแรกๆ จะเห็นว่ามีเด็กที่หลากหลาย ทั้งผิวขาว ผิวสี ใส่แว่น นั่งวีลแชร์ เด็กแต่ละคนจะหยิบผ้าสีที่ตัวเองชอบเพื่อเอาไปทำบอลลูน ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีการทำบอลลูนที่ไม่เหมือนกันด้วย บางคนชอบทำคนเดียว บางคนชอบทำงานเป็นกลุ่ม แต่ละคนเลือกวัสดุ เลือกสีไม่เหมือนกัน แต่ในตอนท้ายบอลลูนทุกลูกที่เด็กๆ ทำ มันสามารถลอยขึ้นไปประดับบนท้องฟ้าได้เหมือนกัน
ประเด็นที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องนี้ คือการเปิดรับความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าเราจะหน้าตายังไง ชอบอะไร มีความคิดยังไง สุดท้ายมันคือตัวเราเอง และการเป็นตัวเราเองนั่นแหละดีที่สุดแล้ว ที่สำคัญกว่านั้นคือในสังคมไม่ได้มีแค่เราคนเดียว แต่ยังมีคนอื่นๆ ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันด้วย
วรพจน์ : เวลาเราเลือกหนังสือ นอกจากเรื่องของภาพ หรือความสวยงามแล้ว แน่นอนว่ามันต้องเป็นหนังสือที่เราชอบด้วย เวลาอ่านแต่ละเล่ม เราจะคิดไปอีกขั้นว่ามันอาจเพิ่ม argument บางอย่างให้สังคมได้ เช่นเล่มที่พูดถึงอยู่นี้ ทำให้เรานึกถึงพ่อแม่หลายๆ คนที่มักจะตีกรอบความสำเร็จแบบไทยๆ ให้ลูก ลูกต้องเข้าโรงเรียนแบบไหน ต้องเรียนพิเศษที่ไหน เรียนแล้วจะต้องได้อะไร แบบไหนถึงเรียกว่าเก่ง พ่อแม่หลายคนยังติดกรอบทำนองนี้อยู่
บางครั้งผมแปลกใจเหมือนกัน เวลาเห็นหลาน หรือลูกของเพื่อน ผมรู้สึกว่าเขาเอาใจใส่กับลูกมากๆ แต่ความเอาใจใส่นั้นมันกลับไปบล็อกเส้นทางชีวิตของลูกในระดับหนึ่ง ว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ถึงจะดี เหมือนพยายาม define ความสำเร็จให้ลูกตั้งแต่ต้น ฉะนั้น messege หนึ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามบอก คือความสำเร็จมีหลายรูปแบบ คนเรามีความชอบ ความฉลาด ความเก่งคนละแบบ จริงๆ มันอาจไม่ใช่หนังสือที่สอนแค่เด็กด้วยซ้ำ แต่สอนพ่อแม่ไปพร้อมๆ กันด้วย ว่าคุณควรมีมุมมองต่อความสำเร็จของลูกอย่างไร
ที่ยกตัวอย่างแบบนี้ เพราะอยากอธิบายให้เห็นว่า เวลาเราเลือกหนังสือ พิมพ์หนังสือออกมา ถ้ามันสามารถส่ง messege ที่ท้าทายหรือชวนตั้งคำถามกับบรรทัดฐานหรือวาทกรรมบางอย่างในสังคมได้ เราก็อยากจะทำ
อินทุพิมพ์ : อีกเล่มที่อยากพูดถึงคือเล่มที่ชื่อว่า ‘มาเล่นกับความคิดกันเถอะ’ (What Do You Do With an Idea?) เป็นเรื่องของเด็กคนหนึ่งที่บังเอิญไปเจอวัตถุก้อนหนึ่ง ชื่อว่า ‘เจ้าความคิด’ ปรากฏว่าเจ้าความคิดก็เดินตามเขามาเรื่อยๆ ตอนแรกเขาก็ทำเป็นไม่สนใจ แต่มันก็ยังตามมาอยู่ดี เด็กคนนี้เลยตัดสินใจว่า ไหนๆ ก็ลองเล่นกับมันดูหน่อยแล้วกัน ให้อาหารมัน พามันไปเจอผู้คน จนมันค่อยๆ เติบโตและมีสีสันขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามสะท้อนคือ เจ้าก้อนความคิด ก็เหมือนความคิดของเด็กๆ บางคนอาจมีความคิด แต่ไม่กล้าแสดงออก เพราะรู้สึกว่าคนอื่นจะไม่ชอบ กลัวถูกตัดสิน แต่หนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องมือที่พ่อแม่สามารถใช้สื่อสารกับลูกได้ ว่าถ้าวันหนึ่งหนูมีความคิด หนูสามารถที่จะแสดงมันออกมาได้ และสามารถเอามันไปต่อยอดได้ ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้คนเดียว
วรพจน์ : ตอนจะเลือกเล่มนี้มา เราคิดเยอะเหมือนกัน เพราะว่ามันค่อนข้าง abstract แต่อีกมุม มันก็พูดถึงประเด็นที่สำคัญในสังคมไทยเหมือนกัน คือการที่เด็กๆ ไม่ค่อยกล้าแสดงออก หรือไม่ค่อยเคารพความคิดของตัวเองนัก ประเด็นหนึ่งที่เราอยากทำ คือเราอยากสร้าง critical thinking ให้เด็กไทยมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเราเห็นว่ามีแต่หนังสือที่พยายามทำให้เด็กพินอบพิเทา เล่มนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เราได้ทำ คือช่วยจุดประกายให้เขากล้าพาความคิดตัวเองไปเจอกับผู้คน เจอความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งเล่มต่อๆ ไปอาจพูดถึงประเด็น critical thinking มากขึ้น นี่เป็นโจทย์หนึ่งที่ผมคิดว่าสำคัญ
ถ้าอย่างนั้น โจทย์หรือเป้าหมายระยะยาวของการทำ Kidscape คืออะไร แต่ละคนคาดหวังว่าจะเห็นอะไรจากการทำสิ่งนี้
อินทุพิมพ์ : เป้าหมายหลักๆ คือเพิ่มความหลากหลายของหนังสือเด็ก ส่วนตัวรู้สึกว่าตลาดหนังสือเด็กของประเทศไทยตอนนี้ ยังหลากหลายได้กว่านี้ แล้วด้วยความเชี่ยวชาญของเรา เราคิดว่าเรามีศักยภาพในการหยิบประเด็นยากๆ มาอธิบายหรือนำเสนอผ่านหนังสือเด็กที่เข้าถึงง่าย ความคาดหวังของเราคือคนเป็นพ่อเป็นแม่ จะสนใจและเข้าใจในประเด็นเหล่านี้มากขึ้น และอยากถ่ายทอดให้ลูกๆ เข้าใจด้วย ซึ่งเท่าที่สังเกตมา คิดว่าพ่อแม่ยุคใหม่ค่อนข้างเปิดกว้างพอสมควร
วรพจน์ : จริงๆ สำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือเด็กหลายเจ้า ก็ทำกันมานาน แต่เท่าที่เห็นคือประเด็นจะไม่ controversial มากนัก ส่วนใหญ่จะพูดเรื่องพื้นฐาน เช่น สอนเด็กเข้าห้องน้ำ สอนให้ทำนั่นทำนี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนะครับ เพียงแต่เรารู้สึกว่ามันยังขยับไปได้อีก ขยับจากเรื่องชีวิต ไปสู่เรื่องความคิดมากขึ้น
ระดับกิจวัตรประจำวัน มีคนทำเยอะแล้ว เราคงไม่ทำซ้ำ แต่ในระดับปัจเจก เช่นการทำให้เขาเชื่อมั่นในความคิด หรือการสอนให้รู้จักว่าสิทธิคืออะไร เขาเชื่อมโยงกับสังคมยังไง เรายังไม่ค่อยเห็น สุดท้ายแล้วมิติด้านสังคม เช่นเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความแตกต่างหลากหลาย ความเท่าเทียม คือโจทย์หลักที่เราอยากแตะไปให้ถึงในระยะยาว อย่างที่คุณส้มบอก ผมคิดว่ามีกลุ่มพ่อแม่สมัยใหม่ที่อยากปลูกฝังลูกในประเด็นเหล่านี้ แต่มันไม่ใช่เรื่องที่จะปลูกฝังกันง่ายๆ
การที่อยู่ดีๆ จะไปบอกเด็กว่าสิทธิมนุษยชนคืออะไร ความเท่าเทียมคืออะไร มันยากมากนะครับ ฉะนั้นการมีหนังสือหรือเครื่องมือบางอย่างที่ทำให้เด็กเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ ช่วยให้พ่อแม่สื่อสารเรื่องเหล่านี้กับลูกได้ ในแบบที่ทั้งสนุกและแนบเนียน ผมว่าจำเป็นมาก ทั้งกับพ่อแม่เอง รวมถึงการสอนในโรงเรียนด้วย
การตัดสินใจเปิดตัวสำนักพิมพ์ในช่วงเวลานี้ โดยเลือกที่จะทำหนังสือเด็กแนวนี้ออกมา เกี่ยวข้องกับกระแสที่คนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวทางสังคมมากขึ้นในที่ช่วงที่ผ่านมาด้วยหรือเปล่า
วรพจน์ : ถ้าถามผม มันอาจมีส่วนโดยที่เราไม่รู้ตัวก็ได้ ปัจจัยหนึ่งที่มีผลแน่ๆ คือคุณส้ม ที่มีความพร้อมและอยากทำสิ่งนี้อยู่แล้ว เราเลยให้คุณส้มเป็นคนรับผิดชอบโปรเจกต์นี้โดยตรง นั่นคือปัจจัยเชิง management ที่ต้องมีคนขับเคลื่อนสำนักพิมพ์
แต่ในแง่ปัจจัยแวดล้อม บรรยากาศสังคม พอคุณถามมา ก็ทำให้คิดขึ้นมาว่า นี่อาจเป็นจังหวะเวลาที่เราอยากทำหนังสือแบบนี้ หนังสือที่ช่วยซับพอร์ตให้เด็กๆ เติบโตมาแล้วรู้จักสิทธิตัวเอง รู้จักปัญหาสังคม มีจินตนาการเกี่ยวกับสังคมในอนาคต ลึกๆ อาจเป็นจังหวะที่ใช่ก็ได้ เราเริ่มคิดโปรเจกต์นี้เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งตลอดทั้งปีก็มีความเคลื่อนไหวของเยาวชนกลุ่มต่างๆ มากมาย คงพูดได้ไม่เต็มปากว่าสภาวะสังคมส่งผลให้เราทำสิ่งนี้ แต่พูดได้ว่ามันอาจ inspire ให้เราทำโดยที่ไม่รู้ตัว
อินทุพิมพ์ : เราคิดว่าเป็นจังหวะที่ดีด้วยส่วนหนึ่ง และสังคมอีกส่วนหนึ่ง ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เห็นความเป็นไปได้ คือเรารู้สึกว่าพ่อแม่ยุคนี้เปิดกว้างมากขึ้น แง่หนึ่งอาจเพราะเขาอยากเข้าใจเด็กด้วย และอยากหาเครื่องมือที่ช่วยเขาได้
ก่อนเริ่มทำ Kidscape เรามีการทำ focus group เพื่อสำรวจกลุ่มเป้าหมายที่เป็นพ่อแม่ยุคใหม่ หัวข้อหนึ่งที่เราถามคือ อยากเห็นหรืออยากได้หนังสือที่พูดถึงประเด็นไหน มีหลายคนบอกว่าอยากได้หนังสือที่มีประเด็นสังคมด้วย นอกเหนือจากเรื่องไอคิว อีคิว หรือพัฒนาการเด็กแบบทั่วไป
แง่หนึ่งคือเป็นจังหวะที่ดี ที่สังคมเปิดกว้างมากขึ้น อีกแง่คือเราในฐานะคนทำหนังสือ ก็รู้สึกว่ามันคือเครื่องมือที่อาจช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้
วรพจน์ : เอาเข้าจริง เรายังมีความกลัวๆ กล้าๆ อยู่บ้าง แต่รู้สึกว่าต้องลอง อย่างน้อยมันอาจช่วยเปิดตลาดใหม่ๆ เปิดแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับหนังสือแบบนี้ในสังคม ถ้าต่อไปมีคนทำกันมากขึ้น เราก็ยินดีนะครับ เหมือนที่ทุกวันนี้คนหันมาทำหนังสือ non-fiction แบบที่เราทำสำนักพิมพ์ openworld ทำเมื่อสิบปีที่แล้ว ผมคิดว่าหนังสือเด็กก็เหมือนกัน วันนี้เราอยากทำหนังสือเด็กที่ช่วยเปิดประเด็นทางสังคมได้ ช่วยเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ให้หนังสือแนวนี้ ซึ่งในอนาคตเราก็อยากให้มันกลายเป็นสิ่งสามัญธรรมดา มีคนกระโดดลงมาทำกันเยอะๆ แล้วเราจะยิ่งสนุกกับมันมากขึ้น
การทำหนังสือเด็กประเภทนี้ ที่พูดถึงประเด็นสังคม หรือการบ่มเพาะความคิด ในด้านหนึ่งอาจสะท้อนว่าระบบการศึกษาไม่สามารถให้สิ่งเหล่านี้กับเด็กๆ ได้หรือเปล่า
อินทุพิมพ์ : เวลาเราไปไล่ดูต้นฉบับของต่างประเทศ หลายเรื่องเขาสอนกันตั้งแต่เด็ก เช่น การเงิน ระบบภาษี แต่ของบ้านเราก็อย่างที่ทราบกัน เชื่อว่าคนที่เรียนจบมาหลายคนยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าภาษีคืออะไร หรืออาจตั้งคำถามว่าทำไมฉันถึงไม่เคยได้เรียนเรื่องพวกนี้ที่โรงเรียนเลย นี่คือตัวอย่างง่ายๆ แค่เรื่องเดียว ซึ่งหนังสือประเภทนี้อาจเข้าช่วยเติมเต็มได้
วรพจน์ : เราคงไม่พูดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียนทั้งหมดมันแย่ มันก็คงมีดีบ้าง สิ่งที่เราพยายามทำคือการสร้างทางเลือก แต่เรื่องที่ต้องยอมรับคือวัฒนธรรมในโรงเรียนแบบไทยๆ มันมีความกดทับเด็กอยู่เยอะ และพยายามจะยึดกุมนิยามว่าความรู้ที่ถูกต้องคืออะไร ถ้าเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ ก็จะบอกว่าเหตุการณ์นี้ต้องเป็นแบบนี้ แทนที่จะทำให้เราตั้งคำถามแล้วหาความจริง ถ้าเป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ ก็จะพร่ำบอกว่าแนวคิดเศรษฐกิจแบบไหนดีที่สุดสำหรับประเทศไทย แต่ไม่ได้บอกว่าโมเดลเศรษฐกิจในโลกนี้มีความแตกต่างหลากหลายยังไง ข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบคืออะไร
พูดง่ายๆ คือการศึกษาไทยไม่เคยสอนให้เด็กตั้งคำถาม เราถึงเห็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เราถึงเห็นเพจอย่าง ‘นักเรียนเลว’ เกิดขึ้น เพราะคุณต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้เด็กไม่ได้ถูกจำกัดการรับรู้อยู่แค่ในโรงเรียนอีกต่อไปแล้ว แต่เขามีช่องทางในการหาความรู้มากมาย มันถึงเกิดวัฒนธรรมแอนตี้ขึ้นในทุกหมู่เหล่าของเด็กยุคนี้ เพราะเขากล้าตั้งคำถามกับทุกเรื่อง
การที่เราทำหนังสือแบบนี้ออกมา จะบอกว่าเราไม่มี agenda ในใจเลยก็คงไม่ได้ อย่างที่เล่าไป เราเลือกเล่มนี้เพราะเราอยากให้พ่อแม่รับรู้ว่าความสำเร็จมีรูปแบบที่หลากหลาย เราเลือกเล่มนั้นเพราะอยากส่งเสริมให้เด็กกล้าคิดกล้าทำ ปัญหาของหนังสือในโรงเรียน อย่างที่รู้กันคือกระทรวงศึกษาฯ จะเข้ามาคอยกำหนด ดูแลตรวจสอบเนื้อหาทั้งหมด ซึ่งเขาก็มีกฎเกณฑ์อยู่แล้วว่าหนังสือที่ดี ที่เด็กควรอ่าน จะต้องเป็นยังไง กระทั่งว่านักเรียนที่ดี ต้องเป็นแบบไหน สิ่งเหล่านี้ถูกฝังอยู่ในระบบการศึกษาไทยมานาน
ในเมื่อโลกทุกวันนี้ มีสื่อให้เลือกเสพหลากหลายช่องทางอย่างที่คุณบอก คำถามคือหนังสือยังมีความจำเป็นอยู่แค่ไหน โดยเฉพาะหนังสือเด็กแบบที่ Kidscape กำลังทำอยู่
อินทุพิมพ์ : โดยส่วนตัว ยังเชื่อในพลังของหนังสืออยู่ โดยเฉพาะหนังสือเด็ก ถ้าเป็นเด็กเล็ก มันคือช่วงเวลาที่เขาจะได้ฝึกใช้ประสาทสัมผัส ใช้กล้ามเนื้อ ซึ่งหนังสือที่เป็นรูปเล่ม มันทำงานกับประสาทสัมผัสของเขาในแบบที่เทคโนโลยียังทำไม่ได้ จุดสำคัญคือการที่เขาได้มีปฏิสัมพันธ์ ใช้เวลาร่วมกันกับพ่อแม่ แม้เด็กเล็กอาจยังอ่านตัวหนังสือไม่ออก แต่การที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้เขาฟัง ใช้เวลาร่วมกันผ่านหนังสือ มันคือช่วงเวลาสำคัญที่มีผลต่อพัฒนาการของเด็กมาก
วรพจน์ : ในมุมของคนทำหนังสือ เรายังเชื่ออยู่ว่าหนังสือคือสื่อที่เปิดพื้นที่ให้คนมี reflection กับตัวบทมากกว่าสื่อประเภทอื่นๆ หนังสือเด็กก็เช่นกัน มันยังทำงานในลักษณะนั้นอยู่ แต่เรื่องที่เพิ่มเข้ามาก็คือสิ่งที่คุณส้มบอก คือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ที่เป็นคนอ่าน กับลูก และตัวสื่อที่เป็นหนังสือ ซึ่งสื่อประเภทอื่นๆ ให้ไม่ได้
เท่าที่ฟังดู ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของหนังสือเด็ก คือกระบวนการอ่านที่เรียกร้องปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก ซึ่งต้องอ่านไปพร้อมๆ กัน ต่างจากหนังสือทั่วไปที่ต่างคนต่างอ่าน
อินทุพิมพ์ : ใช่ค่ะ จริงๆ มีหลักอย่างนึงที่อยากบอกพ่อแม่เหมือนกัน เวลาอ่านหนังสือให้เด็กฟัง คือเราไม่จำเป็นต้องอ่านตามตัวบทที่เขียนไว้ก็ได้ เพราะหัวใจสำคัญคือการที่เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัส ได้จับ ได้ดูรูปภาพ ได้ฟังเสียง
เคยมีแม่บางคนมาเล่าให้ฟังว่า เวลาอ่านนิทานให้ลูกฟัง ลูกไม่ค่อยฟัง แต่พอเป็นพ่อ ลูกกลับสนใจ แม้เป็นเรื่องเดียวกันแท้ๆ ด้วยความที่พ่ออาจใส่แอ๊กชั่นในการเล่า หรือเพิ่มตัวละครเข้าไป ทำให้เด็กรู้สึกสนุกมากขึ้น
วรพจน์ : ผมว่าเด็กเล็กส่วนใหญ่ ถึงเขาจะยังอ่านไม่ได้ แต่เขาจำเสียงได้ จำปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นได้ นึกภาพง่ายๆ ว่า หนังสือนิทานหนึ่งเล่ม เขาไม่เคยขอให้พ่อแม่อ่านแค่รอบเดียวนะครับ แต่จะขอให้อ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งแต่ละรอบ พ่อแม่ก็เล่าไม่เหมือนกัน เด็กก็มีปฏิสัมพันธ์กับเราต่างกันไป เอาเข้าจริงมันคือการอิมโพรไวซ์ด้วยซ้ำ ไม่มีทางที่เราจะเล่าได้เหมือนเดิมเป๊ะทุกครั้ง
ถ้าเปรียบเทียบการอ่านของเด็กกับผู้ใหญ่ เวลาผู้ใหญ่อ่านหนังสือ หนังสือคือพื้นที่ที่เราจะมี reflection กับตัวบทอย่างชัดเจน แต่พอเป็นเด็ก มันมีกระบวนการมากกว่านี้ ทั้งภาพที่เขาเห็น เสียงที่เขาได้ยิน ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง นี่คือความต่างของหนังสือเด็ก
ในเพจของสำนักพิมพ์ มีโพสต์ที่เขียนอธิบายไว้ว่า “Kidscape เชื่อในคุณค่าของ ‘หนังสือเด็ก’ ที่ไม่ใช่เพียงแค่หนังสือ แต่คือเพื่อนคู่คิดในวัยเยาว์ คือกุญแจสู่จินตนาการกว้างไกล…” หากยึดจากนิยามที่เขียนอธิบายไว้ข้างต้น อยากถามในมุมกลับกันว่า คุณมองว่าอะไรคือศัตรูที่ขัดขวางการเรียนรู้และจินตนาการของเด็กๆ
อินทุพิมพ์ : สิ่งแรกน่าจะเป็นสภาพสังคมที่เป็นอยู่ ซึ่งค่อนข้างจำกัดความคิดที่เด็กควรมีต่อสิ่งต่างๆ สาเหตุหนึ่งที่เราพยายามเลือกประเด็นที่หลากหลาย เพราะเราเห็นตัวอย่างจากต่างประเทศที่มีความเปิดกว้างมากกว่านี้ ยกตัวอย่างเรื่องความเป็นครอบครัว นิยามของครอบครัวไม่จำเป็นต้องมีแค่พ่อแม่ลูกเสมอไป อย่างหนังสือชุดหนึ่งที่เราเลือกมาทำ คือชุด ‘เจ้าเพนกวิน’ ของ โอลิเวอร์ เจฟเฟอร์ส ตัวละครมีแค่เด็กคนหนึ่งกับนกเพนกวิน แต่สามารถสะท้อนให้เห็นความรักความผูกพันในอีกรูปแบบหนึ่งได้เหมือนกัน เราอยากนำเสนอประเด็นแบบนี้ ที่ไม่จำกัดหรือตีกรอบให้เด็กว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น
อีกเรื่องที่อาจมีส่วนขัดขวางการเรียนรู้ของเด็ก คือการให้เวลาของผู้ใหญ่ เราอยากให้พ่อแม่ หรือครู มีเวลาให้เด็กๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีแรกซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก
วรพจน์ : ผมคิดว่าความคาดหวังของพ่อแม่ที่มีต่อลูกในสังคม เป็นอุปสรรคใหญ่เหมือนกันในการส่งเสริมให้เด็กมีจินตนาการที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งต้นตอก็คงมาจากสังคมด้วยส่วนหนึ่ง ที่บอกว่าการประสบความสำเร็จควรจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ นี่คืออุปสรรคสำคัญที่อาจทำให้พ่อแม่บางกลุ่ม ยังไม่เปิดใจรับแนวคิดใหม่ๆ ในหนังสือที่เราอยากนำเสนอ
ถ้าเป็นในโรงเรียน อาจเป็นเรื่องของวัฒนธรรมอำนาจนิยม ที่ไม่ยอมรับแนวคิดที่ส่งเสริมความแตกต่างหลากหลาย และอาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้แนวคิดบางอย่างในหนังสือที่ดูแปลกใหม่ หรือท้าทายความคิดที่มีอยู่เดิม ไม่สามารถทำงานได้
ถ้าในภาพกว้างสุด ก็คือสังคมที่เป็นอยู่ ในเมื่อสังคมยังไม่เปิดกว้าง ในเมื่อสังคมยังขีดเส้นไว้ว่าความสำเร็จต้องเป็นแบบนี้ ให้คุณค่าหรือรางวัลกับคนแบบใดแบบหนึ่งเป็นพิเศษ สุดท้ายแล้วสิ่งที่เป็นศัตรูของหนังสือที่เราทำ รวมถึงแนวคิดใหม่ๆ ที่เราพยายามนำเสนอ ก็คือสภาวะสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั่นแหละครับ