เด็ก “เล่นขายของ” กรณีศึกษาเพื่อให้ผู้ใหญ่ได้เรียนรู้

1,539 views
6 mins
September 21, 2022

          บ่ายแก่ๆ วันเสาร์หนึ่งกลางเดือนกรกฎาคม ขณะที่ผมกำลังนอนอ่านหนังสืออย่างสบายใจบนเปลญวนที่ผูกไว้ใต้ต้นมะม่วง เสียงใสๆ ลอยมาแต่ไกล “ป่ะป๊าจ๋า” “จ๋า” ผมตอบไปอย่างอัตโนมัติ ลูกสาววัย 5 ปี เดินเข้ามาพร้อมกล่องของเล่น “มาเล่นขายของกัน” “โอเค” ผมตอบอย่างไม่ลังเล ช่วงเวลาการเรียนรู้ที่เหมาะสม ทั้งความต้องการของผู้เรียน ผู้สอน และสถานที่ ผมเตรียมโต๊ะเตี้ยๆ พร้อมเก้าอี้แบบนั่งยอง ๆ ไว้ 2 ตัว วางไว้ใต้เงาไม้ใต้ต้นมะม่วงใกล้ๆ เปลญวนนั่นเอง

          ลูกสาวจัดแจงจัดของเล่นวางบนโต๊ะ ทั้งหม้อ จาน ชาม กระทะ ตะหลิว ช้อน ส้อม และอุปกรณ์คู่กายของเธอก็คือ ครก และสากไม้เล็กๆ ที่เธอได้ขอซื้อเป็นของขวัญวันเกิดที่ผ่านมา “วันนี้แม่ค้าจะขายอะไรจ๊ะ” ผมเปิดประเด็นถามลูกสาวก่อนเลยด้วยคำถามที่ไม่ชี้นำ และเปิดโอกาสให้เขาได้จินตนาการอย่างเต็มที่ “ขายส้มตำจ้ะ” เธอตอบทันที ด้วยประสบการณ์การเล่นขายส้มตำที่ผ่านมา ผมเลยลองชี้ชวนให้เปลี่ยนสินค้า “แม่ค้าจ๋า เอาส้มตำที่นึงจ้ะ แต่อยากกินอย่างอื่นบ้าง ไม่มีอะไรใหม่ๆ ให้ลูกค้าบ้างเลยเหรอจ๊ะ” โจทย์ใหม่เข้ามาท้าทายเธอ

           “ได้สิจ๊ะ ถ้าอย่างนั้นแม่ค้าต้องไปจ่ายตลาดก่อนนะ ว่ามีอะไรบ้าง” เป็นที่รู้กันของเราพ่อลูกว่าการจ่ายตลาด คือการออกไปสำรวจต้นไม้ดอกไม้บริเวณรอบๆ บ้าน เพื่อนำมาทำเป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร ผลมาจากประสบการณ์ที่ชวนเธอไปสำรวจ ค้นหา ใบไม้ ดอกไม้ ผลไม้ ดิน เศษกิ่งไม้ และอื่นๆ เท่าที่เราจะพบเจอในแต่ละวันที่เราได้เล่นกัน

           “ไปตลาดกันเถอะป๊า” ลูกสาวเรียกผม แต่วันนี้ผมอยากทดลองสิ่งใหม่อีกครั้งกับเธอ จึงบอกเธอไปว่า “พอดีลูกค้าขาเจ็บจ้ะแม่ค้า วันนี้คงไปตลาดเป็นเพื่อนแม่ค้าไม่ได้นะจ๊ะ” หน้าตาสงสัยเจือด้วยความกังวลเกิดขึ้นทันทีหลังจบประโยค “งั้น หนูทำแค่ที่มีแล้วกันนะ” เธอตอบเพราะว่าความกังวล และความกลัวที่จะออกไปเดินเก็บใบไม้ ดอกไม้ เพียงลำพัง ด้วยความที่ก่อนหน้านี้เราสอนและย้ำให้เธอไม่ออกไปไหนมาไหนคนเดียว หรือไปกับคนแปลกหน้า ผมจึงต้องตอบไปว่า “ไม่เป็นไรนะ ลองดู ป๊ารู้ว่าหนูกังวล แต่ป๊าจะคอยดูหนูอยู่ตรงนี้ตลอดเวลาเลย หนูจะได้จ่ายตลาดได้อย่างสบายใจ ป๊ารู้ว่าหนูทำได้อยู่แล้ว”

เด็กเล่นขายของกรณีศึกษาเพื่อให้ผู้ใหญ่ได้เรียนรู้
Photo : Bonroom

          การเสริมพลังความกล้า และเพิ่มความมั่นใจให้กับเธอ รวมทั้งสะท้อนความรู้สึกให้เธอรู้ว่าเรารับรู้ และอยู่ตรงนี้ข้างๆ เธอ ไม่จากไปไหน ในวัยที่เธอยังต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัยจากการดูแลของคนที่เธอรู้สึกอยู่ด้วยแล้วสบายใจ เธอก้าวออกไปค้นหาในโลกใบเดิมที่มีพื้นที่ที่กว้างขึ้นกว่าเดิม แม้ครั้งนี้จะเป็นการก้าวไปพร้อมกับการหันกลับมามองหาที่พึ่งใจอยู่เป็นระยะ แต่เธอจะกล้าที่จะก้าวต่อไปอีกเรื่อยๆ พ่ออย่างผมเชื่ออย่างนั้น

          เธอกลับมาพร้อมกับใบไม้ ดอกไม้ หลายชนิดในตะกร้าใบน้อย เรามานั่งเลือกกันดู มีดอกพุด ดอกเข็ม ดอกมะลิ ดอกหญ้า และดอกอัญชัน ส่วนใบไม้นั้น ก็มีใบไม้ที่มาพร้อมกับดอกต่างๆ และที่เพิ่มเติมมาแม้แต่ตัวเราเองก็ยังไม่รู้จัก เมื่อลูกถามว่า “ป๊าอันนี้ใบอะไร” คำตอบที่ผมให้กับลูกได้ในตอนนั้นคือ “ไม่รู้เหมือนกันสิ” ผมกล้าที่จะบอกว่าไม่รู้ เพราะมันมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างในโลกใบนี้ที่เราเองก็ไม่รู้จริงๆ แต่เราสามารถค้นหาคำตอบที่เราไม่รู้ในตอนนั้นได้นี่นา ดังนั้นผมจึงตอบลูกไปว่า “เดี๋ยวเล่นเสร็จแล้วเราไปค้นหาคำตอบกันว่าใบนี้คือใบอะไรด้วยกันนะ ป๊าเองก็อยากรู้เหมือนกัน”

          เธอพยักหน้ารับ พร้อมกับเริ่มลงมือตำดอกไม้ ใบไม้แต่ละชนิด เติมน้ำลงไป เอาดินมาชงเป็นโกโก้ ดอกไม้ ใบไม้แต่ละชนิดให้สี ให้กลิ่นที่ต่างกันออกไป เป็นช่วงเวลาที่ลูกได้ตักตวงความรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 4 ได้แก่ การสัมผัส การดม การมองเห็น การได้ยิน ส่วนอย่างที่ 5 การชิมรสนั้นวันนี้คงเว้นไว้ก่อน แต่ถ้าผมไม่อยู่ด้วยตรงนั้น อาจจะได้ครบทั้ง 5 เลยทีเดียว เพราะว่าความอยากรู้อยากเห็นของเด็กนั้นกว้างใหญ่ไพศาลกว่าผู้ใหญ่นัก เพราะว่าประสบการณ์ที่เราพบเจอมาทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ซึ่งเป็นข้อดี แต่ก็เป็นตัวที่สร้างกรอบบางอย่างให้กับผู้ใหญ่อย่างเราด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ที่ไม่ดียิ่งสร้างกรอบอย่างหนาแน่น จดจำฝังใจ แม้กาลเวลาเปลี่ยนไปนานแสนนานก็ยังคงตราตรึงใจอยู่ จนกว่าจะได้รับประสบการณ์ใหม่ที่มาทับ และสามารถเปลี่ยนแปลงประสบการณ์เดิมอันเก่านั้นไปได้

เด็กเล่นขายของกรณีศึกษาเพื่อให้ผู้ใหญ่ได้เรียนรู้
Photo : Bonroom

          ดังนั้น การให้เด็กได้เรียนรู้เยอะๆ จากประสบการณ์จริงๆ จึงเป็นเรื่องที่ช่วยให้เด็กเกิดความจำได้อย่างยาวนานเช่นกัน ผมจึงเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นเยอะๆ จากการทดลองทำ การลงมือด้วยตนเอง และพยายามที่จะหักห้ามใจตนเองอย่างยิ่งยวด เพื่อที่ไม่เอากรอบของเราไปสวมให้เขา เพียงแต่คอยช่วยเหลือและระมัดระวังในสิ่งที่จะทำให้เกิดอันตรายมากๆ ได้กับตัวเขาหรือผู้อื่น

          เวลานี้เอง น้ำหลากหลายสีเริ่มทยอยมาเสิร์ฟให้กับผม ผมทำท่าทางดื่มน้ำเหล่านั้นอย่างเอร็ดอร่อย พร้อมทั้งทำท่าทางหน้าตาตื่นเต้นบ้าง เปรี้ยวบ้าง ยิ้มบ้าง แหวะบ้าง เพื่อลองดูปฏิกิริยาของเขาต่อท่าทางของเราว่าตรงกับที่เขาต้องการหรือไม่ อีกทั้งยังให้เขาได้เดารสชาติต่างๆ ของน้ำที่เขาขายให้เรา ด้วยการสังเกตจากสีหน้า ท่าทาง หน้าตาของเราเมื่อดื่มน้ำชนิดนั้น

           “เท่าไหร่จ๊ะแม่ค้า” ผมเอ่ยขึ้น หลังจากที่ทำท่าทางดื่มเสร็จแล้ว “5 บาทจ้ะ” ผมจ่ายเงินเป็นใบไม้จำนวน 4 ใบ เธอรับไปพร้อมบอกว่า “ป๊าจ่ายหนูไม่ครบนะ” “อ้าวเหรอ หายไปกี่บาทจ๊ะแม่ค้า ขอโทษที” “ต้องจ่ายอีก 1 ใบจ้ะ” เธอบอก ผมให้ใบไม้เธอเพิ่มไปอีก 1 ใบ “ขอบคุณมากจ้ะ”

เด็กเล่นขายของกรณีศึกษาเพื่อให้ผู้ใหญ่ได้เรียนรู้
Photo : Bonroom

          ได้เวลากินข้าวเย็นแล้ว ผมได้กลิ่นหอมของไข่เจียวลอยโชยมาจากในครัว “แม่ค้าจ๋า เราจะเปิดร้านกันอีกแค่ 5 นาทีนะ แล้วเรามาช่วยกันปิดร้านนะจ๊ะ” ผมเอ่ยชวน พอครบ 5 นาทีตามสัญญา พ่อลูกจึงพากันเอาอุปกรณ์ของเล่นทั้งหลายไปล้าง และนำเศษใบไม้ ดอกไม้ ดิน ไปทิ้งบริเวณโคนต้นมะม่วงใกล้ๆ กับบริเวณที่เล่น เพื่อให้เป็นปุ๋ยต่อไป ก่อนนอนคืนนั้นเราสองพ่อลูกก็ยังไม่ลืมที่จะค้นหาชนิดของใบไม้ที่เราไม่รู้จักในอินเทอร์เน็ต

           ‘เด็ก’ มีความสามารถชนิดหนึ่งที่ผู้ใหญ่ทำตกหล่นหายไป นั่นก็คือ ‘การเล่น’ ไม่ว่าจะที่ไหน เมื่อไหร่ จากมุมมองของเด็กสามารถรังสรรค์สิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว ให้เป็นของเล่นของตนได้เสมอ เพราะทุกที่คือแหล่งการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขา ยิ่งถ้ามีพ่อแม่ คุณครู หรือผู้ใหญ่ที่คอยช่วยชี้แนะพวกเขา สิ่งที่พวกเขาจะได้รับจากการเล่นนั้นมันมากมายมหาศาลเลยทีเดียว จากเรื่องราวข้างต้น อ่านผ่านๆ ก็แค่เรื่องพ่อลูกเล่นขายของกัน แต่มันเต็มไปด้วยนัยยะแอบแฝงไว้มากมาย

  • เริ่มจากช่วงเวลาที่เป็นช่วงเวลาแห่งคุณค่า คุณภาพ ในการสร้างสายสัมพันธ์ให้กับเด็กในวัยปฐมวัยนี้ ที่เริ่มต้องการมีตัวตน แต่ก็ยังต้องการที่พึ่งพิง ความรัก ความอบอุ่นจากบุคคลที่ตนเองไว้ใจ แค่พ่อตอบรับและเลิกทำกิจกรรมตรงหน้าหันไปหาเขาพร้อมกับใช้เวลาไปด้วยกันกับเขา เด็กรับรู้ได้ถึงการตอบสนองต่อความต้องการของเขา ทำให้เขามีตัวตนจริงๆ ได้รับการดูแลเอาใจใส่จริง
  • การถามคำถามปลายเปิด ให้เด็กได้มีโอกาสในการตัดสินใจ มากกว่าที่ผู้ใหญ่จะคิดแทนให้ เป็นวิธีการที่ทำให้เด็กเห็นคุณค่าของความคิดของตน การได้รับการยอมรับ และช่วยให้เขาได้คิดได้อย่างสร้างสรรค์อีกด้วย
  • การปล่อยให้เด็กได้ก้าวออกไปจากพื้นที่ปลอดภัยบ้าง เป็นการท้าทายตนเองของพวกเขาสุดๆ ต้องรวบรวมพลังใจอย่างมาก โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ และเด็กขี้อาย เมื่อทำได้ ได้รับคำชม จะยิ่งส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเองให้กับเขา
  • การหาของรอบๆ ตัวมาเล่น โดยเฉพาะบทบาทสมมติ เป็นการสร้างจินตนาการ ที่เป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กได้คิดอย่างสร้างสรรค์ รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี เมื่อโตขึ้น
  • วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในหนังสือ ทำไมใบไม้ ดอกไม้ ให้สี ให้กลิ่นที่แตกต่างกันออกไป ใบนี้ ดอกนี้มีชื่อว่าอะไร ทำไมจึงมี 5 กลีบ ทำไมใบมีหยัก ไม่มีหยัก การสอนนับจำนวนของใบไม้ ดอกไม้ มีคำถามมากมายซ่อนอยู่ ถ้าตอบได้ก็ตอบเลย แต่ถ้าตอบไม่ได้ไม่เป็นไร บอกพวกเขาไปเลยว่าเราไม่รู้ ทำให้เขารู้ว่าการที่ไม่รู้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าจะให้ดี ก็คือ ไม่รู้ก็ต้องหาความรู้เพิ่มต่างหาก
  • การรู้จักเวลาเลิกเล่น รู้จักกติกา การยอมรับ และอดทนต่อความต้องการของตนเองได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการทำงานของสมองส่วนหน้า สมองส่วนสำคัญที่คอยควบคุมและสั่งการสมองส่วนอื่นๆ ในการเรียนรู้ หรือที่เรารู้จักในชื่อ EF (Executive Function) ว่ากันว่าเด็กที่มี EF ดีจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่าคนอื่นๆ นั่นเอง
  • การเก็บล้างทำความสะอาด การสร้างความรับผิดชอบต่อของเล่น หลังจากเล่นเสร็จแล้ว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน รับรู้ว่าตนเองมีหน้าที่ และที่สำคัญเป็นส่วนที่ทำให้เขาเห็นว่าตนเองก็มีตัวตนที่มีความสามารถในการช่วยเหลือผู้อื่นได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเองได้อีกทาง

          นี่แค่การเล่นขายของเท่านั้นนะ ยังมีอะไรรอบๆ ตัวอีกเยอะแยะ พวกเราเองบางทีลองถอดความเป็นผู้ใหญ่แล้ววิ่งลงไปสนามเด็กเล่น เล่นอย่างไม่ต้องแคร์สายตาใครดูบ้าง ความรู้สึกอิสระมันจะพองโตขึ้นในใจทันทีเลย แล้วลองคิดดูว่าเด็กๆ จะรู้สึกพองมากกว่าพวกเราเท่าไร เมื่อเขาได้เล่นกับคนที่พวกเขารักอย่างสุดหัวใจ

          รู้อย่างนี้แล้วรออะไรล่ะ ลุยเลยครับ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก