ราวยี่สิบปีก่อน – ไม่นานเกินลืม ความทรงจำของผมยังคงแจ่มชัดถึงวินาทีที่เดินเข้าไปในร้านหนังสือ หยุดแวะมุมนิตยสาร หยิบเล่มนั้นเล่มนี้ขึ้นมาพลิกดูทีละหน้า ไล่สายตาตั้งแต่ภาพคนดังบนปก คำโปรยเนื้อหาเด่นประจำฉบับ อ่านบทบรรณาธิการจบอย่างรวดเร็ว แล้วค่อยละเลียดบทสัมภาษณ์ใหญ่ ยันคอลัมน์โปรดที่ติดตามเข้าขั้นแฟนพันธุ์แท้
พูดอย่างหน้าไม่อาย – ยืนอ่านฟรีจนหนำใจ ยกเว้นบางเล่มที่ชอบจริงๆ ต้องเก็บสะสมไว้ประดับตู้ ถึงยอมควักเงินซื้อกลับบ้าน ในวันที่ยังเด็กและไม่ค่อยจะมีสตุ้งสตางค์มากนัก นักอ่านหลายคนคงเคยทำแบบผมเช่นกัน ใช่ไหม?
การยืนอ่านนิตยสารเล่มแล้วเล่มเล่านานนับชั่วโมง เวลาคล้ายหยุดเดิน ช่างเป็นโมเมนต์แห่งความสุข ในยุคที่มีนิตยสารนับร้อยหัวหลากหลายแนววางเรียงรายคึกคักอยู่บนชั้นอันใหญ่โตมโหฬาร นักอ่านมุงกันเบียดเสียดจนหาช่องแทรกตัวเข้าไปแทบไม่ได้ นั่นคือบรรยากาศในยุคที่ใครๆ เรียกว่า ‘ยุคทองของแมกกาซีน’
เกศินี สุทธาวรางกูล หรือ ‘พี่ตุย’ หัวเราะ หลังจากฟังเด็กหนุ่มรุ่นลูกรำลึกถึงความหลังยุคนิตยสารรุ่งเรือง แต่สำหรับความทรงจำของ ‘คนทำแมกกาซีน’ อย่างเธอ กลับมีมุมมองต่างออกไป ในฐานะผู้ที่โลดแล่นอยู่ในสนามมาเกือบ 30 ปี ตั้งแต่บทบาทนักเขียน นักแปล คอลัมนิสต์ จนถึงบรรณาธิการบริหาร ร่วมงานกับนิตยสารชั้นนำหลายเล่ม ทั้ง ดิฉัน, สไตล์, Cosmopolitan, Hello, Reader’s Digest ฯลฯ ผ่านยุครุ่งเรือง ร่วงโรย จนถึงกาลอวสาน
ถ้าจะคุยกับใครเกี่ยวกับแวดวงนิตยสารเมืองไทย ก็ต้องเป็นเธอนี่แหละ
จากหนอนหนังสือสู่นักเขียนน้องใหม่วงการแมกกาซีน
เกศินีเกิดในครอบครัวข้าราชการชนชั้นกลาง โตมากับตู้หนังสือของคุณพ่อและคุณย่าผู้ชอบท่องกาพย์กลอนให้ฟัง ทำให้เธอรักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่เด็ก
“ก่อนนอนคุณย่าจะอ่านวรรณคดีให้ฟัง ขุนช้างขุนแผน, พระอภัยมณี ไม่ได้อ่านเฉยๆ แต่อ่านแบบมีท่วงทำนอง มีจังหวะสูงต่ำ เหมือนกำลังท่องอาขยาน ประทับใจเรามาก ประกอบกับบ้านอยู่ใกล้ห้องสมุดประจำจังหวัดตรัง เวลาว่างๆ เบื่อๆ ก็เดินเข้าห้องสมุด อ่านแหลกเลยค่ะ โดยเฉพาะนิยายของ ทมยันตี, โสภาค สุวรรณ”
ไม่เฉพาะหนังสือภาษาไทย ช่วงเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนต่อมัธยมที่เตรียมอุดมศึกษา และพักอาศัยอยู่กับคุณป้าที่เก่งภาษาอังกฤษ เธอเริ่มฝึกอ่านภาษาอังกฤษจากนิตยสาร Student Weekly และหนังสือพิมพ์ Bangkok Post รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างแต่เธอก็สู้จนจับใจความได้
“สมัยเรียนเตรียมฯ เราได้เกรดเอ วิชา Reading ตลอด หลังเอนทรานซ์เข้าคณะอักษรฯ จุฬาฯ ก็ชอบไปนั่งอ่านหนังสือในห้องสมุด British Council และเริ่มหัดแปลจริงจัง ยังจำนิยายต่างประเทศที่แปลเล่มแรกได้ ชื่อ Very Far Away from Anywhere Else ของ เออร์ซูลา เค. เลอ กวิน (Ursula K. Le Guin) เป็นเรื่องของวัยรุ่นคนหนึ่งที่กำลังค้นหาตัวเองท่ามกลางความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา อ่านจบก็รู้สึกว่า โอ๊ย อยากแปลเป็นภาษาไทย อ่านเสร็จปุ๊บมันจะมีฟีลลิ่งที่เป็นภาษาไทยออกมาเลย ก็เลยแปลเก็บไว้อ่านคนเดียว”
เกศินีเล่าด้วยน้ำเสียงร่าเริง คล้ายได้ย้อนอดีตกลับคืนสู่วันวานอันหวานชื่นอีกครั้ง สมัยที่ยังเป็นนักศึกษาผู้ตกหลุมรักหนังสือหัวปักหัวปำ
ใครจะเชื่อว่าไม่นานหลังจากนั้น ตัวอักษรจะพาเธอออกนอกห้องเรียนโบยบินไปในโลกของหนังสือดั่งนกน้อยบนฟ้ากว้าง จนเกือบเรียนไม่จบ!
“จำได้ว่าสมัยนั้นบ้าบอมาก อยากทำอะไรก็ทำเลย เคยไปขอสมัครงานกับคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี แกทำนิตยสาร โลกหนังสือ ซึ่งถือเป็นไบเบิลของวงการยุคนั้น เรายังใส่ชุดนักศึกษาอยู่เลย คุณสุชาติ คงเอ็นดู เลยมอบหมายให้ไปสัมภาษณ์คุณนน รัตนคุปต์ นักเขียนเรื่องสั้นคนสำคัญของนิตยสาร ลลนา ตอนนั้นให้ทำอะไรก็ทำหมด ทั้งเขียน แปล ได้เงินหรือเปล่าก็ไม่รู้ จำไม่ได้ (หัวเราะ) แต่ทำเพราะอยากทำ เคยลุยเดี่ยวไปของานทำที่ ลลนา ด้วยนะ เพราะเขียนลง ลลนา อยู่บ้างแล้ว จำได้ว่าป้าสุวรรณี สุคนธา น่ารักมาก
“พอขึ้นปี 3 ก็เอาอีก ไปขอสมัครงานที่ ชีพจรลงเท้า เป็นรายการสารคดีไทยทางช่อง 7 แนวท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม คุณชูศักดิ์ วรพิทักษ์ ช่างภาพชื่อดังและเจ้าของรายการ ก็ให้เราลองเขียนบทสารคดีโทรทัศน์ความยาว 1 นาที ต่อมาค่อยขยับเป็นสารคดี 30 นาที ก็จะมีทีมรถตู้นั่งกันไป ผู้ชายหมดเลย เขาเรียกเราว่าแม่ทัพ ทำหน้าที่คอยถือเงินออกกองฯ ติดต่อประสานงาน และเขียนบทด้วย ทำได้ 3 ปีก็เริ่มเบื่อเลยไปทำนิตยสาร สไตล์ ของคุณมานิต รัตนสุวรรณ สัมภาษณ์คนในแวดวงโฆษณา”
การออกไปสัมผัสกับการทำงานจริงมันเย้ายวนชวนหลงใหลกว่านั่งเรียนในห้อง ทำให้ความคิดความอ่านและประสบการณ์ของเกศินีโตเกินวัย เธอเล่าขำๆ ว่า กลับไปเรียนอีกทีเพื่อนจำแทบไม่ได้ ถึงขั้นอาจารย์ที่ปรึกษาต้องยกหูโทรตามให้มาเรียนวิชาสุดท้ายจะได้จบๆ ไปเสียที
“ช่วงนั้นเราทำตัวแก่มาก (หัวเราะ) มีเพื่อนที่ทำงานเยอะกว่าเพื่อนนักศึกษา ทุกวันนี้เพื่อนหลายคนยังงงว่า นี่เราเรียนมาด้วยกันเหรอ (หัวเราะ) เพราะว่าไม่ค่อยเข้าห้องเรียน เราหยิ่งยโสมาก คิดว่าไม่จบก็ได้ เพราะทำงานได้แล้ว แต่ก็ต้องขอบคุณอาจารย์ที่บอกว่า นี่ เกศินี เหลือวิชาเดียวแล้ว เธอเอาหนังสือไปนะแล้วเข้ามาสอบด้วย กว่าจะจบใช้เวลาถึง 8 ปี”
จบแล้วเธอได้งานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้ผู้อพยพของหน่วยงาน UNHCR อีกสองปีกว่า ก่อนเข้าสู่โลกแมกกาซีน (อย่างเป็นทางการ) เธอร่อนใบสมัครไปที่นิตยสาร ดิฉัน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นนิตยสารผู้หญิงที่มีชื่อเสียงโด่งดังอันดับหนึ่งในยุคนั้น
“ไปสมัครที่ ดิฉัน เพราะอยากรู้ว่านิตยสารนัมเบอร์วันของประเทศเขาทำงานกันยังไง เวลาเปิดอ่านข้างในเล่มจะเป็นไลฟ์สไตล์ทุกเรื่องเลย แล้วกอง บ.ก. ก็ชอบไปต่างประเทศกันน่าดู เวลาไปถ่ายแฟชั่นที่เมืองนอก ก็จะมีเรื่องราวเบื้องหลัง คนอ่านก็จะตื่นตาตื่นใจ เลยคิดว่ามันน่าจะสนุก
“บ.ก. ตอนนั้นคือ พี่ชาลี-ชุลิตา อารีย์พิพัฒน์กุล คนนี้คือ แอนนา วินทัวร์ (Anna Wintour) ของวงการนิตยสารเมืองไทยเลย เป็น The Legend ของวงการนิตยสารผู้หญิง เป็นบรรณาธิการที่ทำให้นิตยสาร ดิฉัน เป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยมายาวนาน และเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสาร พลอยแกมเพชร ด้วย
“พี่ชาลีเป็นคนที่มีเซนส์ในการหยิบจับทุกอย่างมาทำเป็นเรื่องราว แกใส่รองเท้าแตะ นุ่งชุดแขก ผมยาว ทาปากแดง สะพายย่าม ขับเบนซ์ เท่มาก จำได้ว่าตอนเที่ยงแกจะเรียกทุกคนขึ้นรถไปกินข้าวที่ Peninsula Plaza แล้วจะมีเพื่อนไฮโซมานั่งเมาท์มอยด้วยตลอดเวลา ตอนแรกเราก็ไม่เข้าใจว่านั่นคือการทำงาน แต่จริงๆ นั่นแหละคือการทำงานสไตล์พี่ชาลี คือการเก็บข่าว แกมีคอนเนกชันในแวดวงไฮโซ ก็จะได้เรื่องเอ็กซ์คลูซีฟ คนก็ตามอ่านเยอะ เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่รู้จะไปหาอ่านจากไหน จุดเด่นของ ดิฉัน คือ การสัมภาษณ์บุคคล แต่ละคนน่าสนใจทั้งนั้น”
เกศินีเว้นวรรคจิบม็อกเทลชื่อเก๋ไก๋ ‘ต้มยำกุ้ง’ เปรี้ยวหอมซาบซ่าเย็นเฉียบ สีหน้ากระตือรือร้นยามได้เล่าถึงเรื่องเก่าๆ – เครื่องติดแล้ว ผมยิงคำถามต่อทันที คนทำแมกกาซีนในยุคนั้นเท่ไหม?
“คำนี้ไม่เคยอยู่ในหัวเลยเวลาทำงาน คนที่มาทำงานนิตยสารยุคนั้นส่วนใหญ่เป็นคนที่อยากเขียนหนังสือ แล้วก็ไม่เคยรู้เลยว่าการทำนิตยสารมันทำยังไง เราแค่อยากเขียนหนังสือ ไม่รู้หรอกว่าต้องไปยืนถือไวน์ในงานสังคม ไม่รู้หรอกว่าต้องมีหน้าที่ไปเข้าสังคมเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการทำหนังสือ เราก็แค่อยากทำหนังสือ อยากเดินทางเท่านั้น คำว่าเท่น่าจะหมายความว่า งานของเรามันมีอิทธิพลต่อสังคมจริงๆ เราทำให้คนหรือธุรกิจเกิดได้ เหมือนเป็นอินฟลูเอนเซอร์อันดับต้นๆ ของยุคนั้น
“ตลอดชีวิตการทำนิตยสารเราได้ประสบการณ์ที่ถ้าอยู่ในอาชีพอื่นก็คงไม่มีวันได้สัมผัส ได้เจอคนที่เราจะไม่มีทางได้เจอในเวลาปกติ ไปในที่ที่เราคงจะไม่มีโอกาสได้ไป มันเป็นประสบการณ์ที่หาซื้อไม่ได้”
จบประโยค สีหน้าเกศินีเรียบเฉย แต่ผมแอบเห็นประกายความภาคภูมิใจในแววตาของเธอ
ปลุกปั้น Cosmopolitan เวอร์ชันไทย
แล้วจุดเปลี่ยนของชีวิตเกศินีก็มาถึง วันที่เธอได้ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของคนทำงานแมกกาซีน
นั่นคือการได้รับมอบหมายให้รับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารเป็นครั้งแรก แถมยังเป็นนิตยสารหัวนอกที่นำเข้าจากต่างประเทศ นิตยสารนั้นมีชื่อว่า Cosmopolitan (คอสโมโพลิแทน) ซึ่งวางขายกว่า 60 ประเทศ และเป็นหนึ่งในนิตยสารผู้หญิงที่ใหญ่ที่สุดในโลกสมัยนั้น
“ช่วงปี 2540 หลังฟองสบู่แตก คุณหญิงทิพยวดี ปราโมช ณ อยุธยา ซึ่งเป็นน้องสาวของคุณปีย์ มาลากุล เจ้านายเก่าโทรถามว่าสนใจมาเป็น บรรณาธิการบริหาร Cosmopolitan ไหม ตอนนั้นคอสโมฯ ถือเป็นนิตยสารต่างประเทศเล่มแรกๆ ที่มีการซื้อลิขสิทธิ์มาทำเป็นเวอร์ชันภาษาไทย เป็นนิตยสารที่ต้องแปลจากต้นทาง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยุคนั้นไม่มีใครเขาทำกันแบบนี้ เรียกว่าไม่มีเนื้อหาที่เป็นออริจินัลของเราเลยนอกจากบทบรรณาธิการหน้าเดียว
“เราก็ต้องไปศึกษาดูว่านิตยสารนี้เกี่ยวกับอะไร อ๋อ มันเกี่ยวกับ relationships ซึ่งมีเรื่องเซ็กซ์
ด้วย ทุกคนมักพูดว่าคอสโมฯ ขายเซ็กซ์ ตอนนั้นเมืองไทยไม่มีใครพูดเรื่องเซ็กซ์อย่างเปิดเผยเหมือนทุกวันนี้ และยังไม่มีใครพูดเรื่องเซ็กซ์ในสื่อด้วย ซึ่งคอสโมฯ ของอเมริกาหรืออีกหลายประเทศเขาพูดกันอย่างเสรีมาก พูดอวัยวะเพศออกมาตรงๆ เลย แต่เราจะมาแปลอย่างนั้นไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีทุกวิถีทางที่จะไม่ให้ดูอนาจาร ทำให้เรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองให้ได้
“เราเห็นด้วยว่าควรจะมีเรื่องเซ็กซ์ เพราะผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จักร่างกายตัวเองด้วยซ้ำ ถามคนในออฟฟิศยังไม่รู้เลยว่า อวัยวะตัวเองมีหน้าที่อะไร มีขนาดไหนบ้าง ยิ่งเรื่องเซ็กซ์นี่ยิ่งไม่กล้าพูดกันเลย ทั้งที่ควรจะพูดกันให้เป็นเรื่องปกติ แต่จะพูดยังไงให้มันน่าสนใจ เราพยายามหาความน่าสนใจของคอสโมฯ ก็พบว่าคอสโมฯ น่าสนใจตรงทำให้คนอ่านหันกลับมารู้จักตัวเอง มันเป็นอะไรที่ดีสำหรับวัยรุ่น เราอยากให้เป็นแมกกาซีนที่ดีของวัยรุ่นและคนกำลังโตในช่วงนั้น เพราะมีคนอ่านตั้งแต่อายุ 13-50 ปี”
ประโยคคลาสสิกหนึ่งบอกไว้ว่า คนที่บุกเบิกทำสิ่งใดเป็นเจ้าแรกๆ มักหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องเผชิญกับความยากลำบาก เกศินีซาบซึ้งใจในข้อนี้ดี ยิ่งเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมดัดจริตด้วยแล้ว ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้นเป็นเท่าตัว
“เราเริ่มทำการบ้าน ศึกษาดูคอสโมฯ ทั้ง 60 ประเทศว่าเขาทำอะไรกันบ้าง ด้วยความเป็นนิตยสารแปลทั้งเล่ม หน้าที่พี่ก็เหมือน curator เลือกเรื่องที่ดีที่สุดสำหรับคนอ่านชาวไทย จะเอาเนื้อหาจากปกประเทศไหนก็ได้ แต่ทุกเวอร์ชันก็จะมีกรอบกติกาของเขา บางประเทศฟรี บางประเทศเสียเงิน พอเลือกเรื่องได้แล้ว ก็เริ่มสร้างภาษาของคอสโมฯ ในเวอร์ชันไทย เราต้องมีภาษาของตนเอง ภาษาของคอสโมฯ เรามองว่าต้องเป็นภาษาที่เหมือนเพื่อนสนิทคุยกัน ฉัน เธอ เรา ให้มันเป็นธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเวลาคุยเรื่องเซ็กซ์ก็จะรีแลกซ์ สบายๆ เพราะเรากำลังคุยกับเพื่อนสนิท ถ้าเรากำลังคุยเรื่องความรัก คุยเรื่องแม่ผัว ก็จะคุยกันแบบเพื่อนสนิท
“Cosmopolitan จะมีการประชุม บ.ก. จากทั่วโลกทุก 2 ปี ปีนั้นดูเหมือนจะจัดที่ซิดนีย์ ก็มีอีเมลจากสำนักงานใหญ่ที่อเมริกาส่งมาว่ายูต้องเตรียมตัวขึ้นไปพูดหัวข้อ ‘Challenge of the New Editor’ เป็นเรื่องที่เครียดสุดในชีวิต เพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์พูดบนเวที แล้วต้องพูดเป็นภาษาอังกฤษด้วย ก็มาคิดว่า challenge จริงๆ คงเป็นเรื่องการใช้ภาษาเรื่องเซ็กซ์ในบริบทของเมืองไทย พอได้ขึ้นเวทีเราก็พูดเลยว่าเมืองไทยไม่เคยมีสื่อที่พูดเรื่องเซ็กซ์มาก่อน คอสโมฯ เป็นที่แรก เพราะฉะนั้นเราต้องปรับภาษาเพราะไม่สามารถพูดตรงไปตรงมาได้ เช่น masturbation ก็ต้องปรับเป็น self service เวลาพูดถึงอวัยวะเพศชาย ประเทศคุณสามารถพูดกันตรงๆ ได้ว่า penis แต่เราพูดไม่ได้ ก็ต้องตั้งชื่ออวัยวะผู้ชายเป็น ‘Mr. Happy’ บ.ก.รัสเซียถามว่า แล้วอวัยวะเพศหญิงใช้ยังไง เราบอกว่า ‘there’ ทุกคนก็เฮกันทั้งฮอลล์ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับประเทศเขา อย่างที่บราซิลนี่แก้ผ้าขึ้นปกเลย อินโดนีเซียพูดเรื่องคอสโมฯ กับศาสนา สิงคโปร์ขึ้นมาฟ้องว่าฉันโดนปิดแล้ว เพราะว่าประเทศฉันไม่รับนิตยสารนี้ ก็เป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจมากที่ได้สะท้อนมุมมองจากฝั่งเรา”
นั่นคือเหตุการณ์ประทับใจเมื่อคราวที่เธอนั่งเก้าอี้บรรณาธิการบริหารคนแรกของ นิตยสาร Cosmopolitan ฉบับภาษาไทย เกศินียิ้มมุมปากจิบเครื่องดื่มนิดนึง ก่อนเปรยสั้นๆ
“หลังจากวางแผงได้ 6 เดือน พวกเราก็ทำให้คอสโมฯ เป็นนิตยสารที่มียอดขายอันดับหนึ่งบนแผงได้”
ถอดบทเรียนการทำงานจากแมกกาซีนระดับโลก
บทเรียนล้ำค่าจากการได้ร่วมงานกับนิตยสารชั้นนำของโลก ในฐานะบรรณาธิการ ไม่ว่าจะเป็น Cosmopolitan, Hello รวมถึง Reader’s Digest (แผนก book) เกศินียอมรับว่าระบบการทำงานแบบ ‘มืออาชีพ’ ของนิตยสารระดับโลก ช่วยเปิดโลกทัศน์ในการทำหนังสือของเธอให้กว้างไกลขึ้น
“ชัดเจนมากที่สุดคือตอนทำ Reader’s Digest ซึ่งตอนนั้นถือเป็นสำนักพิมพ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มแรกเราต้องเข้าปฐมนิเทศ หรือ Orientation เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อให้รู้ว่าเราเป็นใครในองค์กรทั้งหมดและต้องร่วมงานกับใครบ้าง ฝ่ายมาร์เก็ตติ้งทำอะไรบ้าง เราไม่ได้ทำหนังสือตามใจชอบ แต่ต้องทำตามผลการวิจัยของฝ่ายการตลาด สมมติว่าปีนี้ต้องทำทั้งหมด 4 เล่ม เล่มละ 1,000 หน้า รวมกว่า 4,000 หน้า เขาจะบอกเลยว่าคุณต้องบริหารงาน บริหารเงินยังไง สอนวิธีการคำนวณเข้าไปในโปรแกรม Excel ว่าแต่ละวันคุณต้องทำให้ได้กี่หน้า ต้องดูแลการผลิตทุกขั้นตอนให้ออกมาดีที่สุด เรื่องสีก็สำคัญมาก มีสีแค่นี้ที่คุณใช้ได้ ห้ามเปลี่ยนสีเด็ดขาด หรืออะไรที่เปลี่ยนอะไรได้ อะไรที่เปลี่ยนไม่ได้บ้าง
“หรืออย่างตอนทำที่ Hello เขาจะมีไบเบิลให้เราเป็นเล่มเลยให้ศึกษาว่าอะไรคือ Hello และอะไรไม่ใช่ เรื่องราวของ Hello คืออะไร เราจะพูดเรื่องอะไร สไตล์ภาพเราคืออย่างไร เรื่องภาพสำคัญมากเพราะเราใช้ภาพเยอะมาก ทุกภาพจะต้องเช็กลิขสิทธิ์ ภาพต้องเล่าเรื่องแล้วต้องเรียงตามไทม์ไลน์ด้วย เรามีคนทำหน้าที่ดูแลประสานงานเรื่องภาพโดยเฉพาะ เพราะต้องติดต่อขอซื้อภาพจากทั่วโลก เราต้องทำตามไบเบิลอย่างเคร่งครัด อย่าง Cosmopolitan นี่เคร่งครัดน้อยที่สุดแล้ว ยืดหยุ่นมาก แต่บางทีเขาก็ยังติมาเรื่องสี ว่าคุณใช้สีอย่างนี้ได้ไง เราก็บอกว่าคุณขา ประเทศดิฉันมันแดดแจ๋ขนาดนี้ ใช้สีจืดๆ มันก็แห้งตายคาแผงสิคะ ก็ต้องเถียงเขาบ้าง ยอมเขาทุกอย่างไม่ได้ บางครั้งก็ต้องเจรจา ต้องไฟต์ให้ถึงที่สุด”
แม้นิตยสารแต่ละเล่มจะมีไบเบิลของตัวเอง ซึ่งอาจไม่เหมาะกับบริบทสังคมและวัฒนธรรม
ของเมืองไทย การบริหารงานจึงต้องอาศัยประสบการณ์ ความเก๋าเกม การตัดสินใจที่ฉับไว พร้อมปรับเปลี่ยนได้ในทุกกระบวนท่า
“อย่างคอสโมฯ ไม่ค่อยยากเท่าไหร่ เพราะผู้หญิงทั่วโลกก็ไม่ค่อยต่างกันมาก เราเป็นผู้หญิงและผ่านวัยมาจนพอรู้ว่าในชีวิตของผู้หญิงมันมีอะไรบ้าง มีเรื่องเพื่อน เรื่องแฟน เรื่องร่างกาย เรื่องความงาม ความมั่นใจ ตอนแรกก็เคยตั้งคำถามเหมือนกันว่าจะพูดเรื่องเหล่านี้ได้ยังไงทุกเล่มวะ ก็ต้องพลิกมุมไปเรื่อยๆ พยายามดูว่าอะไรที่มัน relate กับผู้หญิงไทยมากที่สุด
“ครั้งหนึ่งมีบทความเกี่ยวกับเซ็กซ์ ภาพประกอบเป็นการ์ตูนแสดงท่าร่วมเพศเลย แล้วเขาก็เล่าบรรยายถึงท่านู้นท่านี้ เราก็แย่แล้ว เอายังไงดี ในมุมหนึ่งมันเป็นการ educate คนจะรู้อยู่แล้วว่านี่คือท่ามิชชันนารี สำหรับพี่นี่คือ realistic แต่การนำเสนอจะทำยังไงให้มันไม่ดูอนาจาร” ผมถามเธอว่าการนำนิตยสารหัวนอกมาทำเวอร์ชันภาษาไทยช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่วงการนิตยสารบ้านเราอย่างไรบ้าง
“ระบบการทำงานที่เป็น professionalism” เกศินีตอบทันควัน “ในประเทศเราวิชาบรรณาธิการศึกษามันเพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง เกิดขึ้นแล้วก็จบไป ชื่อวิชาบรรณาธิการศึกษามันเป็นเรื่องทฤษฎี แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนี้เลย
“ตอนทำหัวไทย ทีมกองบรรณาธิการหนึ่งคนทำทุกอย่าง แต่พอทำหัวนอก เราเห็นโครงสร้างของการทำงานที่ชัดเจน การตีโจทย์ วิธีคิดนี่ก็สำคัญ เขาสอนเราให้คิดในวิถีที่ถูกต้อง บรรณาธิการเข้าใจเรื่องแบรนดิ้งจะทำงานสนุกขึ้นมาก เพราะเราจะตีโจทย์ได้แตก ว่าผู้อ่านเราเป็นใคร เขาต้องการอ่านอะไร เขามีวิถีชีวิตยังไง เขาคิดฝันอะไร อะไรที่จะทำให้เขาสนใจ
“ตอนที่ทำ Hello นี่เป็นระบบมาก ทั้ง MD (Managing Director) และผู้อำนวยการฝ่ายตลาด เขาเก่งการตลาดมาก ทำให้เราได้เรียนรู้และมองนิตยสารในมุมของมาร์เก็ตติง แบรนดิง เราเป็นเหมือน Brand Manager เป็นทั้ง บ.ก. ดูแลเนื้อหา เป็นทั้งผู้ดูแลเรื่องแบรนดิง ทำงานกันหนักมากแต่ก็สนุกมาก ทุกครั้งที่ไปทำแต่ละหัว ก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน มันเป็นสิ่งที่ไม่มีสอนในห้องเรียน มันคือประสบการณ์ชีวิต”
เคล็ดลับการบริหารของ บ.ก. อาวุโส
ในฐานะคนทำแมกกาซีนที่โลดแล่นอยู่ในวงการมากว่า 30 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาโชกโชน จากนิตยสารแฟชั่นไลฟ์สไตล์เบอร์หนึ่งของไทย สู่นิตยสารผู้หญิงชั้นนำระดับโลก จนถึงนิตยสารไฮโซแถวหน้า เริ่มต้นก้าวแรกในบทบาทนักเขียนสู่ตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร กระทั่งวันนี้กลายเป็นนักอ่านฟูลไทม์ที่ยังเฝ้ามองความเป็นไปในแวดวงสื่ออย่างสนใจใคร่รู้
เคล็ดลับในการทำงานบรรณาธิการของเธอคืออะไร?
“บรรณาธิการก็เหมือนเชฟปรุงอาหาร ตอนปรุงที่สนุกที่สุดคือตอนปรุงที่คอสโมฯ เพราะมันเป็นเรื่องใหม่ และเรามีเสรีที่จะปรุงได้เต็มที่เลย ไม่มีใครรู้เรื่องคอสโมฯ ได้ดีไปกว่าเราในตอนนั้น แต่ที่ Hello ก็สนุกมาก ได้เจอผู้คนที่น่าสนใจเยอะมาก”
แม้จะทำนิตยสารไฮโซอย่าง Hello นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะพูดแต่เรื่องไลฟ์สไตล์สุดหรู ชีวิตความเป็นอยู่ของคนดัง เกศินียืนยันว่าเธอมีแก่นหลักของการเล่าเรื่องอันมั่นคง
“ตอนทำ Hello เราบอกน้องในทีมเลยว่า ต้องระวังไม่ให้เป็นนิตยสารที่บ้าวัตถุนิยม บ้าความรวย ทำยังไงก็ได้ให้เนื้อหามันมีคุณค่าด้วย เพราะถ้าขาดคุณค่า มันก็เป็นแค่ขยะ โอเคแม้ภาพที่ออกมาจะบ้านหลังใหญ่โตสวยงาม แต่เราไม่มีบทสัมภาษณ์ที่ถามว่าคุณมีเงินเท่าไหร่ มีเครื่องเพชรกี่ชิ้น แต่จะถามเรื่องชีวิตมากกว่า ว่าคุณผ่านอะไรมา ต้องต่อสู้อะไรมาบ้าง เพราะชีวิตคนทุกคนมันเฉพาะตัวมากๆ ไม่มีใครเหมือนใคร นี่คือสิ่งที่เราบอกกันในทีมว่าจงช่วยใส่คุณค่าความเป็นมนุษย์เข้าไปด้วย แม้กระทั่งเรื่องเจ้าทั้งหลายที่อาจจะดูเหมือนเทพนิยาย แต่เรารู้สึกว่ามันก็เป็นเรื่องของมนุษย์ทั้งนั้น”
ทุกวันนี้หลายคนคงเห็นแล้วว่าวงการนิตยสารได้เดินทางมาถึงช่วงขาลง ในฐานะคนทำงานแมกกาซีนที่ทันเห็นยุครุ่งเรือง โรยรา กระทั่งร่วงหล่น เกศินีมีความอัดอั้นตันใจที่อยากระบายเช่นกัน
“ความเสื่อมถอยอย่างหนึ่งก็คือทุกอย่างตอนนี้ทำเพื่อเงินกันมากไป บทสัมภาษณ์ของนิตยสารหลายเล่มคือการซื้อหมดแล้ว แต่ก่อนใครมาบอกว่าต้องจ่ายเท่าไหร่เพื่อให้ได้ลงนิตยสารเราโกรธตายเลยนะ ชกได้เลย เพราะเรามีเกียรติมีศักดิ์ศรี ก็เข้าใจนะว่าตอนนี้เขาต้องทำเพื่อความอยู่รอด แต่มันทำให้ขาดสปิริตที่แท้จริงของนิตยสารไปแล้ว มันทำทุกอย่างเพื่อให้อยู่รอด การตลาดก็ต้องไปหากิจกรรมอื่นๆ มาช่วยพยุง ก็มองไม่เห็นอนาคตเหมือนกัน ไม่ได้เศร้านะ มันคือธรรมชาติ เราอยู่กับความเปลี่ยนแปลงมาตลอดชีวิต โชคร้ายว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถ้าคุณไม่ปรับตัวก็จะลำบาก”
แล้วมีอะไรที่รู้สึกเสียดายบ้างไหม? – ผมถามอดีตบรรณาธิการนิตยสารวัยเฉียด 60 เธอนิ่งคิดอยู่นานก่อนพูดว่า
“ช่องว่างระหว่างวัยมันห่างออกไปเรื่อยๆ พูดแล้วจะร้องไห้ ทำไมคนสองวัยนี้ไม่เห็นคุณค่าของกันและกัน คนรุ่นใหม่คุณไม่รู้เหรอว่ารุ่นเราก็มี wisdom บางอย่างที่คุณเอาไปใช้ได้ แล้วอีพวกป้าๆ ทั้งหลาย คุณไม่รู้เหรอว่าคนรุ่นใหม่เขาสอนเราได้มากมาย ทุกวันนี้เราอยู่กับลูกสาวซึ่งทำงานโฆษณาที่เกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ ก็เรียนรู้จากเขาทุกวัน พยายามแลกเปลี่ยนกันว่าทำยังไงให้คนสองวัยนี้อยู่ร่วมกันได้ ต้องเปิดกว้างให้กับความต่าง เพราะเราเชื่อว่าแต่ละวัยก็มีคุณค่าของเขา”
วันที่คอนเทนต์ออนไลน์ครองเมือง
ช่วงท้ายของการสนทนา ท้องฟ้าสวยกระจ่างใส ลมบ่ายพัดตึง ราวกับเมฆทะมึนผ่านพ้นไปแล้ว สีหน้าของเกศินียังยิ้มแย้ม แม้ดูเหน็ดเหนื่อยแต่ก็อารมณ์ดี เมื่อถามว่า – คิดอย่างไรกับยุคคอนเทนต์ออนไลน์ครองเมือง
“ชอบความกระชับ ไม่มีเวลาที่จะมาอืดอาด รุงรัง ฟูมฟายอะไรได้เยอะ มันต้องเร็ว เพจที่อ่านประจำตอนนี้คือ The Cloud รู้เลยว่าสิ่งที่เขาทำอยู่คือ storytelling เล่าเรื่องชีวิตผู้คน เขามีคอนเซปต์ที่ดี สำหรับเรามันน่าสนใจทุกชิ้นเลย เขียนมา 15 หน้า เราอ่านจบ เพราะเขามีกลวิธีในการเล่า เราไม่เสพข่าวหรืออะไรที่เป็นความคิดเยอะๆ เพราะว่าดิฉันคิดมาทั้งชีวิตแล้วค่ะ พอแล้ว แต่ยังสนุกกับสตอรี ยังชอบเสพสตอรี ยังชอบอ่านเรื่องชีวิตของผู้คน The Cloud ก็ตอบโจทย์เราในข้อนี้
“นี่ก็ลองทำคอนเทนต์ลงในโลกออนไลน์ สนุกกับมันตลอด คิดเพียงแต่ว่าเราจะสนุกกับโลกออนไลน์ในแบบของเราได้อย่างไร ทุกวันนี้สนุกกับเรื่องอาหาร เรื่องการเดินทาง สนุกกับการเล่าเรื่องที่ไปพบเจอมา ก็ต้องหาจุดที่เป็นความเฉพาะตัวของเราเองว่า magic ของเราอยู่ตรงไหน ก็ใช้ตรงนั้นให้มันเต็มที่ เราชอบในมุมที่ทุกคนเป็นดาราได้หมด ทุกคนเป็น บ.ก. เป็นนักเขียน เป็นนักสัมภาษณ์ได้ อยากทำอะไรก็ทำ นั่นคือความน่าสนุกของยุคนี้ ทุกคนมีเวทีเท่าเทียมกัน
“แต่เราก็ไม่เชื่อว่าคนคนหนึ่งจะทำได้ดีทุกอย่าง เราเชื่อในเรื่อง specialist เชื่อว่ายุคนี้เป็นยุคของ specialist ไม่รู้ว่าคำว่า specialist มันจะไปแตะคุณที่ตรงไหนบ้าง แต่ถ้าต้องทำหลายอย่างก็
ไม่รู้สึกว่ามันจะดีงามได้อย่างไร เราไม่เชื่อในการเติบโตแบบนั้น แต่เชื่อในการเจาะลงไปแล้วหาให้เจอว่าคุณคือใคร คุณเลิศตรงไหน ก็ขยี้ตรงนั้นให้ดีเด่น”
ชำเลืองมองสมุดจดที่เต็มไปด้วยตัวอักษรโย้เย้ซึ่งมีผมคนเดียวเท่านั้นที่อ่านออก ก่อนพบว่า – คำถามสุดท้ายมาถึงแล้ว
จากประสบการณ์ทั้งหมดในวงการหนังสือ การเป็นบรรณาธิการที่ดีต้องมีคุณสมบัติอย่างไร? ขณะถามคำถามสำคัญ ผมไม่คิดว่าตัวเองสัมภาษณ์อยู่ด้วยซ้ำ แต่รู้สึกเหมือนกำลังขอเคล็ดลับวิชาจากปรมาจารย์มากกว่า
พี่ตุย เกศินี ยิ้มอ่อนโยน ใบหน้าเธอตอนนี้ดูใจดีมาก ผมเผลอกลั้นหายใจ ลุ้นรอคอยคำตอบจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
“โห ตอบยากนะ เป็นคำถามที่มันยิ่งใหญ่มาก” เธอถ่อมตัว
“พี่ยังเชื่อในเรื่องที่มันมาจากข้างใน เชื่อในเรื่องความเป็นธรรมชาติ เชื่อในเรื่องความจริงใจ ถ้าคุณเป็น บ.ก. คุณต้องหาเวทีที่มันตรงกับใจคุณก่อนแล้วเริ่มจากตรงนั้น ทุกอย่างก็จะไปของมันเองตามธรรมชาติ ความผิดพลาดสำหรับพี่ก็คือ การไปอยู่ในที่ที่มันไม่ใช่ที่ของเรา
“นอกจากนี้เราต้องมีความอยากรู้อยากเห็น ต้องเสพประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะไม่งั้นคุณจะนั่งเน่าแน่ๆ ทุกวันนี้แม้พี่ไม่ได้ทำอาชีพ บ.ก. แล้ว แต่ก็ยังวิ่งหาว่าที่ไหนมีเรื่องราวน่าสนใจ เราก็ไปตรงนั้น พี่ยังมองทุกอย่างเป็นเรื่องราวที่อยากจะถ่ายทอด อยากบอกต่ออยู่เสมอ”
แม้ เกศินี สุทธาวรางกูล จะวางมือจากวงการนิตยสารไปแล้ว แต่ในฐานะอดีตบรรณาธิการที่คลุกคลีอยู่กับการทำแมกกาซีนมาชั่วชีวิต เธอยังรู้สึกตื่นเต้น มีพลัง และมีความสุขทุกครั้งยามได้นั่งคุยเรื่องหนังสือ ผมยังแอบเห็นไฟในดวงตาที่อาจจะไม่ต่างจากสมัยที่ยังเป็นนักศึกษาผู้ชอบเช็กอินในห้องสมุดมากกว่าห้องเรียน สมัยที่ยังเดินทางออกไปสัมภาษณ์ผู้คนตามสถานที่ต่างๆ
ใครจะไปรู้ว่า อีกไม่นานเธออาจจะลุกขึ้นมาทำอะไรที่น่าตื่นเต้นอีก