คธาวุฒิ เกนุ้ย: 15 ปีการเดินทางของกองคาราวาน ‘ยิปซี’

1,681 views
9 mins
September 19, 2023

          ‘นักสัญจรบนหน้ากระดาษ ผู้แสวงหาความรู้และภูมิปัญญามาบรรณาการแด่ผู้อ่าน’

          มอตโต้เท่ๆ ที่ประทับลงบนหน้าแรกในหนังสือทุกเล่มของสำนักพิมพ์ยิปซี (Gypzy Publishing) คือคำประกาศถึงเจตนารมณ์อันแรงกล้า คือพันธกิจอันภาคภูมิใจสูงสุดของคนทำหนังสือ

          หลายคนคงรู้จักสำนักพิมพ์ยิปซีผ่านหนังสือแนวประวัติศาสตร์สากล ไล่เรียงตั้งแต่ชีวประวัติบุคคลสำคัญ สงครามโลก อารยธรรมโบราณ เหตุการณ์สำคัญในอดีต สารพัดเรื่องราวแปลกประหลาดน่าพิศวง วิถีชีวิตของมนุษย์ยุคต่างๆ รวมถึงผลงานของนักเขียนระดับเวิลด์คลาสอย่างชุด ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Sapiens, 21 Lessons for the 21st Century, Homo Deus) จาเร็ด ไดมอนด์ (Guns, Germs, and Steels, The Third Chimpanzee, Collapse: How Societies Choose to Fail or Succeed) และริชาร์ด ไฟน์แมน (The Meaning of It All, The Pleasure of Finding Things Out)

          ยังไม่นับอีกหลายครั้งหลายหนที่ยิปซีสร้างสีสันตื่นตาตื่นใจให้แก่วงการหนังสือ ทั้งการตกแต่งบูธขายหนังสือสุดอลังการ งานเปิดตัวหนังสือใหม่ที่เรียกเสียงฮือฮาได้ทุกครั้ง การเปิดโกดังไลฟ์สดขายหนังสือแบบทุบราคาครั้งใหญ่โกยเงินได้ถึงวันละล้าน ตลอดจนขบวนพาเหรดคอสเพลย์ประวัติศาสตร์ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ

          เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้มีชายชื่อ ‘คธาวุฒิ เกนุ้ย’ กรรมการผู้จัดการบริษัทยิปซีกรุ๊ป ยืนจังก้าอยู่หน้ากองคาราวานหนังสือของชาวยิปซี

          จากเด็กชายชาวสตูล ผู้ฝันสลายจากการเป็นนักมวยและนักฟุตบอลเมื่อครั้งวัยรุ่น หันมาสนใจการอ่านและขีดๆ เขียนๆ สมัยเรียนรามคำแหง เบนเข็มสู่เส้นทางสายน้ำหมึกด้วยหมวกพ่อค้าเร่ขายหนังสือมือสอง ก่อนปลุกปั้นสำนักพิมพ์ยิปซีจนกลายเป็นขวัญใจนักอ่านสายประวัติศาสตร์ และสร้างปรากฏการณ์ ‘เซเปียนส์’ เขย่าสังคมไทย

          ครบรอบ 15 ปีพอดีกับการรอนแรมบนเส้นทางอันยาวไกลของกองคาราวานยิปซี พวกเขาผ่านมาแล้วทุกสมรภูมิ ทางขรุขระทุรกันดาร ทางสวยงามราบรื่น ผ่านคืนวันมืดมิดและโมงยามที่ดวงอาทิตย์เจิดจ้า คธาวุฒิยังคงพาชาวยิปซีบุกบั่นไปข้างหน้าอย่างแน่วแน่ เพื่อไล่ล่าทำความฝันให้เป็นจริง

          ฝันที่อยากจะสร้างอาณาจักรของตัวเองเพื่อทำหนังสือดีๆ มามอบให้แก่ผู้อ่านที่รัก

พื้นเพวัยเด็กของคุณเป็นอย่างไร

          ผมเกิดในหมู่บ้านชาวประมงชื่อบ้านบุโบย อำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นชุมชนมุสลิม พ่อเป็นครู แม่ขายโรตี สมัยเด็กฝันอยากเป็นนักมวย ไปซ้อมอยู่ค่ายมวยนานเป็นปี อยากเก่งเหมือน เขาทราย กาแล็กซี อยากเป็นเหมือน สามารถ พยัคฆ์อรุณ ถึงขนาดว่าตอนที่ สด จิตรลดา ชกแพ้ ยังบอกตัวเองว่าสักวันจะไปแก้แค้นให้ (หัวเราะ) แต่สุดท้ายก็ไม่เคยได้ขึ้นชกเพราะพ่อไม่อนุญาต แกกลัวเราเจ็บตัว ความฝันที่จะเป็นนักมวยก็ล่มสลาย

          โตขึ้นก็อยากเป็นนักฟุตบอลอีก เพราะอ่านบทสัมภาษณ์ของ วิทยา เลาหกุล สมัยไปค้าแข้งที่ยุโรปแล้วประทับใจ อยากเป็นวีรบุรุษในตำนานเหมือนเขา ตื่นมาเดาะบอลตั้งแต่ตีสี่ เริ่มฝันอยากติดทีมฟุตบอลโรงเรียน ไปเล่นทีมประจำจังหวัดแล้วติดทีมชาติ สุดท้ายสอบเข้าโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา เพราะเป็นโรงเรียนที่มีทีมฟุตบอลเก่ง พอจริงจังกับมันก็ตั้งหน้าตั้งตาซ้อม ฝีมือพัฒนาจนได้เป็นนักฟุตบอลโรงเรียน เริ่มมีคนชวนไปเดินสายแข่งชิงถ้วย ได้ค่าตัวนัดละสองร้อย จู่ๆ วันหนึ่งโดนเตะขาหักต้องเข้าเฝือก 3 เดือน ความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอลก็จบลง

คธาวุฒิ เกนุ้ย: 15 ปีการเดินทางของกองคาราวาน ‘ยิปซี’
Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

แล้วมาอ่านสนใจหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่

          สมัยมัธยมไม่ค่อยเรียนหนังสือ ค่อนข้างเกเร ไม่ใช่ตีรันฟันแทงนะ แต่ชอบโดดเรียน ซึ่งการโดดเรียนของเพื่อนคนอื่นคือตีสนุ๊ก จีบหญิง นั่งเล่นชายทะเล แต่เราชอบไปแอบนอนในห้องสมุดเพราะมันเย็นดี (หัวเราะ) ห้องสมุดของโรงเรียนมหาวชิราวุธสงขลาใหญ่มาก หนังสือเยอะแยะเต็มไปหมด หนังสือเล่มแรกที่อ่านคือ ฮามิชตีนระเบิด เป็นการ์ตูนที่ตีพิมพ์ในนิตยสารสตาร์ซอคเกอร์ ซึ่งไม่เคยมาตรงเวลาเลย ก็ต้องไปนั่งเฝ้าว่ามันจะมาเมื่อไหร่ มาถึงปุ๊บก็รีบอ่านปั๊บ อ่านด้วยความหิวกระหาย

          ขณะเดียวกันผมเป็นเด็กหอก็จะมีรุ่นพี่เรียนเทคนิคกันเยอะ บางวันเขากินเหล้าดีดกีตาร์เล่นเพลงเพื่อชีวิต รู้สึกว่าเจ๋งดีว่ะ แล้วได้อ่านรวมเรื่องสั้นของสุรชัย จันทิมาธร ฟังเพลงนายหัวครกของแสง ธรรมดา ก็เริ่มอยากเป็นฮิปปี้ไว้ผมยาว เลยตัดสินใจขึ้นมาเรียนรามฯ

          ด้วยนิสัยรักการอ่าน ชอบเข้าชมรมทำกิจกรรมต่างๆ ชีวิตเหมือนถูกกำหนดมาให้เราไปรู้จักกับพี่ๆ เพื่อนๆ กลุ่มกวีหน้าราม พี่ศิริวร แก้วกาญจน์ อาจารย์พิเชฐ แสงทอง วิสุทธิ์ ขาวเนียม อังคาร จันทาทิพย์ พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ ทุกคนเขียนเรื่องสั้นเขียนบทกวีส่งไปตามนิตยสาร แต่ละคนเก่งๆ ทั้งนั้น เขาอ่านอะไรเราก็อ่านตามเขา ศึกษาว่าเขาเขียนกันยังไง ทีนี้คันมืออยากเขียนส่งบ้าง ก็พยายามเขียนไปเรื่อย จนกระทั่งได้ตีพิมพ์บทกวีในมติชนสุดสัปดาห์ ได้ค่าเรื่องมาพันนึง โคตรดีใจเลย (หัวเราะ) ก็ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จนะกับการเป็นนักเขียน แต่อย่างน้อยก็ได้มีโอกาสรู้จักหนังสือดีๆ รู้จักนักเขียนเก่งๆ ว่าเขาอ่าน เขาคิด เขาเขียนอะไรกัน

เข้าสู่วงการสำนักพิมพ์ได้ยังไง

          ผมจับได้ใบแดงต้องไปเป็นทหารอยู่สองปี หลังปลดประจำการก็กลับมากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำ ไปรับจ้างติดสติกเกอร์หาเสียงให้พรรคการเมืองช่วงเลือกตั้งแล้วบังเอิญเจอรุ่นพี่ที่เคารพมากคนหนึ่งชื่อ เริงวุฒิ มิตรสุริยะ แกก็ชวนว่ามึงมาทำหนังสือกับกูไหม มันเป็นสิ่งที่เราอยากทำอยู่แล้ว อยากเรียนรู้ว่าโลกของหนังสือมันเป็นยังไง ก็เลยได้เป็นกองบรรณาธิการนิตยสารฮาลาล เรียนรู้เรื่องการรีไรต์ต้นฉบับ ทำอาร์ตเวิร์ก รู้จักว่าเพลตคืออะไร หนังสือหนึ่งยกมีกี่หน้า ควรออกแบบปกยังไง 

          รายได้จากการเป็นพนักงานในตอนนั้นมันน้อยนิด เราอยากเติบโตกว่านี้ พอดีมีโอกาสพลิกชะตาชีวิตคือรู้จักกับรุ่นน้องที่อยู่องค์การนักศึกษารามคำแหง ก็ไปคุยเล่นๆ ว่า ถ้าจะจัดงานขายหนังสือรอบลานพ่อขุนฯ ได้ไหม เขาบอกว่าพี่จัดสิ เดี๋ยวผมเอาพื้นที่ให้ ตอนนั้นเรายังไม่เคยจัดงานหนังสือเลย ก็ต้องไปเดินดูตามร้านหนังสือเพื่อจดรายชื่อว่ามันมีสำนักพิมพ์อะไรบ้างเพื่อชวนมาออกบูธขายหนังสือ ผลออกมาค่อนข้างประสบความสำเร็จนะ จัด 7 วัน คนมาเยอะมาก 

          เหตุการณ์นั้นทำให้ชื่อผมเริ่มเป็นที่รู้จักของสำนักพิมพ์ต่างๆ ต่อมารุ่นพี่ก็ชวนไปเป็นพนักงานขายหนังสือของเครือสยามอินเตอร์บุ๊คส์ หน้าที่คือไปออกบูธขายหนังสือตามที่ต่างๆ โดยมีเป้าหมายเป็นยอดขายที่เขาตั้งไว้ ตอนนั้นราวปี 2545 เป็นยุคเฟื่องฟูของสิ่งพิมพ์ หนังสือเล่มขายดีมาก ผมก็ขายพ็อกเก็ตบุ๊กของเครือสยามอินเตอร์บุ๊คส์ ที่ดังๆ ก็มี The White Road ของ ดร.ป๊อป ทำได้เดือนเดียวก็เกิดความมั่นใจ เปิดบริษัทเองดีกว่าว่ะ

คธาวุฒิ เกนุ้ย: 15 ปีการเดินทางของกองคาราวาน ‘ยิปซี’
Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

ก็เลยลาออก

          ลาออกเลย เพราะมั่นใจว่าเส้นทางนี้กูจะทำของกูเองแล้ว ตั้งบริษัทชื่อ สานฝันครีเอชั่น แล้วไปเช่าบ้านหลังเล็กๆ จ้างพนักงาน 2 คน ตั้งใจจะไปเป็นออแกไนซ์จัดงานหนังสือตามที่ต่างๆ งานแรกคือห้างมาบุญครอง ได้เงินมาเยอะเลย ตอนนั้นถือเป็นคนหนุ่มที่สามารถหาเงินได้เยอะกว่าคนหนุ่มอื่นๆ แต่ไม่นานก็มีปัญหา เพราะเราไม่รู้จักการทำบัญชี ไม่เคยวางแผนล่วงหน้าว่าจะต้องเดินไปยังไงต่อ พอจัดงานหนังสือไปได้ 7-8 งาน เริ่มจ้างทีมเพิ่ม ให้เงินเดือนลูกน้องคนละสองหมื่นสองหมื่นห้า วันไหนขายได้ก็เลี้ยงลูกน้องเต็มที่ ปิดซอยเลี้ยงเหล้าเลย สุดท้ายเงินที่อยู่ในกระเป๋าคือเงินของกูหมด (หัวเราะ)  ผ่านมาไม่ถึง 7 เดือนก็เป็นหนี้ ไม่มีเงินจ่ายลูกน้อง เลยหยุดดีกว่า 

          ตอนนั้นมีทุนเหลืออยู่ก้อนนึงก็บอกภรรยาว่าเดี๋ยวให้น้องชายไปดาวน์มอเตอร์ไซค์มาคันนึง เงินที่เหลือก็เอาไปซื้อของกิฟต์ชอปจากสำเพ็งมาขาย เช้าไปขายใต้ตึกสำนักงาน เย็นไปขายตามตลาดนัดเปิดท้ายซึ่งยุคนั้นกำลังบูมมาก 

          วันหนึ่งขณะนั่งขายที่ห้างคาร์ฟูร์ เราก็นั่งสูบบุหรี่มองไปที่ห้าง แป๊บเดียวก็บอกภรรยาว่าเก็บร้านเหอะ เขาถามว่าอ้าว เก็บทำไม ผมบอกว่าพี่ไม่ใช่คนขายกิฟต์ชอป พี่จะเป็นเจ้าของคาร์ฟูร์ ความฝันของผมไม่ใช่การเป็นพ่อค้าขายกิฟต์ชอป ถ้าเราต้องตายเราจะต้องเป็นเจ้าของคาร์ฟูร์ เราต้องอยู่ระดับนั้น ภรรยาก็บอกว่าพี่บ้าไปแล้ว (หัวเราะ) 

ช่วงนั้นขายดีไหม

          ถือว่าดีนะ ขายได้วันละสองสามพัน กำไรวันละพัน ตกเดือนละสามหมื่นก็พอเลี้ยงชีวิตได้

แล้วตอนนั้นยังมีหนี้อยู่ไหม

          หนี้ก็ค่อยๆ ทยอยจ่ายไปเพราะมันไม่เยอะ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือถ้าอยู่แบบนี้ไปนานๆ เราก็จะเป็นอย่างนี้ไปตลอด จะเคยชินกับสิ่งที่เราเป็น ความฝันของผมมันใหญ่กว่าการเป็นคนขายกิฟต์ชอปไง โชคดีภรรยาเขาเชื่อมั่นในตัวผม ก็เลยตัดสินใจเลิก

ชีวิตดำเนินไปยังไงต่อ

          ผมไปคุยกับพี่สุพัฒน์ คงอาษา เจ้าของสำนักพิมพ์ไทยควอลิตี้ในปัจจุบัน สมัยนั้นแกเป็นคนขายหนังสือเก่าโดยจะไปเหมาหนังสือค้างสต็อกของสำนักพิมพ์ต่างๆ เอามาขายเป็นหนังสือมือสองสภาพสมบูรณ์ เราถามว่าพี่ ผมขอหนังสือมาขายได้หรือเปล่า ผมอยากจะมีอาชีพเป็นคนขายหนังสือ แกก็บอกว่าได้ ว่าแต่มึงขับรถยนต์เป็นไหม เราตอบว่าเป็นทั้งที่ขับไม่เป็น (หัวเราะ) แล้วแกก็ให้หนังสือมาล็อตนึง 

          โชคดีเรามีประสบการณ์ที่ได้จากตอนออกบูธขายหนังสือ ขายกิฟต์ชอป ทำให้รู้ว่าควรไปขายที่ไหนที่คนมันเยอะๆ ผมออกจากบ้านตั้งแต่ตีสามเพราะรถมันไม่ติด ไปตั้งร้านขายหนังสือตามตึก หนังสือลดราคานี่ขายดีมาก ครั้งหนึ่งขายที่ใต้ตึกอิตัลไทย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ชั่วโมงเดียวได้มาหกหมื่น ต่อมาก็เริ่มขยายจุดโดยเอาภรรยาทิ้งไว้ใต้ตึกอิตัลไทย ส่วนผมไปนั่งขายอยู่ที่อาคารว่องวานิช อาร์ซีเอ ปรากฏว่าขายได้หกเจ็ดหมื่น จากนั้นก็ชวนป๊อป ยอดนักขาย (ปัจจุบันเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย สำนักพิมพ์ยิปซี) เข้ามาช่วย แล้วก็น้องคนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ถึงเวลาก็ไปโยนทิ้งไว้ใต้ตึกพร้อมหนังสือกองใหญ่ สุดท้ายก็ขยายเพิ่มเป็น 10 จุดต่อวัน 

          วันหนึ่งรู้สึกอีกแล้วว่าเราต้องโตให้มากกว่านี้ เลยไปเหมาสต็อกเอง นั่นคือจุดเปลี่ยนทำให้เราได้เข้าไปคุยกับสำนักพิมพ์โดยตรง เริ่มซื้อหนังสือสต็อกจากเจ้าต่างๆ ที่ลดราคา 80% แล้วเอามาลด 50% ก็เลยกลายเป็นกองคาราวาน เริ่มออกไปตะลุยตามต่างจังหวัด เหนือ กลาง อีสาน ใต้ คนก็แซวว่าพวกยิปซีมาแล้วโว้ย พวกหนังสือเร่ เจอพวกเราได้ทุกที่ที่มีคนเยอะๆ ตั้งแต่งานวัด งานเกษตรแฟร์ งานกาชาด

คธาวุฒิ เกนุ้ย: 15 ปีการเดินทางของกองคาราวาน ‘ยิปซี’
Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

จากประสบการณ์เป็นพ่อค้าเร่ตระเวนไปทุกสนาม หนังสือแบบไหนขายได้ ขายไม่ได้

          หนังสือที่เราขายมีคุณสมบัติเด่นคือลด 50% ยุคนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย เราไปขายหลายที่จนรู้ว่าจุดไหนบ้างที่ควรขาย แต่ละจุดควรเอาหนังสือแบบไหนไปขาย หนังสือขายดีในยุคนั้นที่ผมต้องติดเอาไปด้วยทุกที่คือหนังสือทำนายฝัน (หัวเราะ) เอาไปร้อยเล่มก็หมดร้อยเล่ม ฝันเห็นกระต่าย ฝันเห็นจระเข้จะต้องซื้อเลขอะไร ประมาณนั้น 

          ที่พูดๆ กันว่าแฮร์รี่ พอตเตอร์ เซเปียนส์ขายดี สมัยนั้นไอ้ทำนายฝันนี่ผมว่าแม่งขายเป็นล้านเล่มนะ (หัวเราะ) จะเรียกว่าเป็นหนังสือขายดีที่สุดในประเทศไทยเลยก็ได้ 

มันสะท้อนสภาพสังคมยุคนั้นได้เหมือนกันนะ 

          สังคมไทยเป็นแบบนี้แหละ ฝันเห็นเลขแล้วไปขูดหวย พอไปซื้อแล้วถูก คนก็บอกต่อๆ กัน เวลาผมไปขายตามงานวัด ตลาดนัด ตลาดเกษตร พวกหนังสือทำนายฝัน ตำราพรหมชาติ หนังสือดูดวงนี่ขายดีฉิบหาย 

มีหนังสืออะไรอีกที่ขายดีในยุคนั้น

          ก็พวกวิธีเลี้ยงลูก ตั้งชื่อลูก สอนลูกให้เป็นเด็กดี สมัยก่อนมันไม่มีให้ค้นในกูเกิลเหมือนเดี๋ยวนี้ไง หนังสือพวกนี้มันเลยขายดี กลุ่มวรรณกรรมก็ต้องไปขายตามมหาวิทยาลัย ถ้าเกิดว่าเอาวรรณกรรมไปขายตลาดนัดก็คงขายไม่ได้ ส่วนหนังสือโทนกลางๆ ที่ขายได้ทั้งกลุ่มปัญญาชนและกลุ่มตลาดนัดคือนิทานสำหรับเด็ก 

ดูเหมือนว่าความนิยมของหนังสือประเภทต่างๆ จะเปลี่ยนไปในแต่ละยุค

          ยุคแรกที่ผมเข้าวงการ หนังสือที่ขายดีคือหนังสือแฟนตาซี มาจากอิทธิพลของแฮร์รี่ พอตเตอร์ หลายสำนักพิมพ์เลยแห่ทำแฟนตาซีออกมากันบาน พอนิยายแฟนตาซีเริ่มดาวน์ก็เป็นนิยายตาหวานเข้ามาแทนซึ่งตอนนั้นพีคสุดคือแจ่มใส แล้วทุกคนก็ทำนิยายตาหวานกันหมด ถัดจากนิยายตาหวานก็เปลี่ยนมาเป็นหนังสือธรรมะง่ายๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ เช่น ว.วชิรเมธี  พระมหาสมปอง พอหนังสือธรรมะร่วง หนังสือแนวเกษตรพอเพียง เกษตรในเมือง เกษตรสมัยใหม่ก็เข้ามา จากนั้นก็มาถึงยุคนิยายวาย หนังสือ non-fiction

คธาวุฒิ เกนุ้ย: 15 ปีการเดินทางของกองคาราวาน ‘ยิปซี’
Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

ประสบการณ์พ่อค้าเร่ขายหนังสือให้อะไรกับคุณบ้าง

          ผมลงตลาดเองก็เลยมีโอกาสได้คุยกับคนอ่าน จึงรู้ว่าตลาดที่แท้จริงคืออะไร ลูกค้าบางคนเป็นหมอก็มาเล่าว่าชอบอ่านนิยายแปลรัสเซียของลีโอ ตอลสตอย, ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี, อันตัน เชคอฟ เราก็ไปหามาอ่านบ้าง คุยกับเกษตรกรก็ได้รู้จักหนังสือทฤษฎีเกษตรสมัยใหม่ที่กำลังฮิตๆ คุยกับพนักงานออฟฟิศก็ได้รู้จักหนังสือฮาวทู

          สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามองเห็นตลาดหนังสือได้กว้างขึ้น ไม่ใช่ความเพ้อฝันว่าฉันอยากทำวรรณกรรมนะแต่ไม่รู้ว่าลูกค้าของฉันคือใครหรือจะเอาไปขายใครดี แต่สิ่งที่เราได้มาจากการเดินทางทั่วประเทศ คุยกับลูกค้าทุกวัน ได้เงินแต่งเมียก็มาจากการเป็นพ่อค้าขายหนังสือนี่แหละ (หัวเราะ) ผมเลยไม่รังเกียจตัวเองว่าเป็นพ่อค้าขายหนังสือ

แล้วเริ่มต้นทำสำนักพิมพ์ได้ยังไง 

          ปี 2551 ผมตัดสินใจทำสำนักพิมพ์โดยที่ไม่รู้เรื่องเลยว่าการทำสำนักพิมพ์มันทำยังไง เราเป็นพ่อค้าขายหนังสือมา 5-6 ปี จนรู้แล้วว่าหนังสือแบบไหนขายดี หนังสือแบบไหนที่ไม่ควรขาย แต่เราไม่มีความรู้เรื่องการผลิตหนังสือเลย

          เป้าหมายแรกๆ ของยิปซีก็คือทำหนังสืออะไรก็ได้ที่ตลาดต้องการ พูดง่ายๆ ทำอะไรมาก็ได้แล้วค่อยเอาไปขายตามสถานที่ต่างๆ ยอมรับว่าทิศทางไม่ค่อยชัดเจน คิดแค่ว่าจะทำหนังสือที่ขายได้ ถ้าขายได้ มีเงินจ่ายลูกน้อง บริษัทมันก็เดินหน้าต่อได้ ก็เลยทำทั้งหนังสือประวัติศาสตร์ ตำราอาหาร เกษตร วรรณกรรมแปล นิยายประโลมโลก ธรรมะ จนถึงนิทานเด็ก เอามันทุกแนว ทีนี้ปัญหาคือถ้าทำหนังสืออาหารแล้วจะมาใช้ชื่อยิปซี เดี๋ยวมันจะปนกันอีก ก็เลยต้องเปิดสำนักพิมพ์ใหม่เพื่อทำหนังสืออาหารโดยเฉพาะ ทำหนังสือเกษตรก็ต้องเปิดสำนักพิมพ์ที่เกี่ยวกับเกษตรโดยเฉพาะ ทำหนังสือธรรมะก็สำนักพิมพ์ธรรมะ สุดท้ายก็มีมากถึง 7 สำนักพิมพ์ ได้แก่ ยิปซี บ้านธรรมะ นานา ลายแฝด คุณป้าใจดี ณดา มอร์แกน 

จากพ่อค้าขายหนังสือแบบรับมา-ขายไป วันหนึ่งกลายมาเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เอง อะไรคือความท้าทาย

          จากสวมหมวกพ่อค้าขายหนังสือก็ต้องสวมหมวกบรรณาธิการเพิ่มอีกใบ ช่วงแรกผมโดนวิจารณ์เละ ทำหนังสือบ้าบออะไร ทำหนังสือแบบนี้มึงไปขายก๋วยเตี๋ยวดีกว่า ทั้งข้อมูลผิด ปรูฟหลุด ผมก็ยอมรับผิดนะเพราะยุคแรกๆ เราเร่งผลิตเพื่อให้มีหนังสือออกมาเยอะๆ จำเป็นต้องผลิตให้ทัน 20 เล่มต่อเดือน ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย สำหรับคนทำสำนักพิมพ์ 7 สำนักพิมพ์ พอทำเยอะก็เจอปัญหาสร้างฐานแฟนคลับไม่ได้ คนไม่รู้จักชื่อสำนักพิมพ์ คนจำเราไม่ได้ ทั้งที่ยอดขายก็โอเค

เป็นเพราะออกมาเยอะเกินด้วยหรือเปล่า Branding เลยไม่ชัด

          ไม่ชัดเลย สะเปะสะปะ เพราะเรายังอ่อนประสบการณ์ในการทำหนังสือด้วย วันหนึ่งมานั่งคิดว่าถ้าเราเดินอย่างนี้ต่อไป ทำวรรณกรรมก็สู้เจ้าที่ทำวรรณกรรมเก่งๆ ไม่ได้ ทำหนังสืออาหารก็สู้คนที่เขาทำหนังสืออาหารดีๆ ไม่ได้ ทำหนังสือเด็กก็ต้องไปสู้กับอีกเจ้าที่มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่น ทำนิยายประโลมโลกก็ต้องไปแข่งกับคนที่เขาแกร่งอยู่แล้ว แบบนี้ต้องใช้พลังอีกเท่าไหร่ มันถึงเวลาที่ผมต้องเลือก ก็ลำบากใจนะ เราเดินมาอย่างนี้ตั้ง 8 ปี สุดท้ายผมตัดทิ้งหมดทุกสำนักพิมพ์ให้เหลือแค่สำนักพิมพ์เดียวนั่นคือยิปซี 

          ในยุคดิจิทัลดิสรัปชันที่กำลังมา ยุคหนังสือกระดาษถดถอย เราจะทำสำนักพิมพ์ยังไงให้อยู่รอด ผมมองว่าสิ่งแรกคือคุณต้องชัด ชัดว่าคุณเป็นอะไร มีความถนัดแบบไหน พอชัดแล้วก็ต้องเล็ก แน่นอนว่าผมไม่สามารถเป็นผู้ล่าอาณานิคมได้ทุกอาณาจักร จึงสร้างดินแดนเล็กๆ ของเราให้เป็นอาณาจักรเดียวดีกว่า สุดท้ายคือคุณภาพ ถ้าคุณทำหนังสือออกมาไม่มีคุณภาพ คุณจะไปต่อไม่ได้ นั่นคือ 3 สโลแกนที่ผมคิดไว้

คธาวุฒิ เกนุ้ย: 15 ปีการเดินทางของกองคาราวาน ‘ยิปซี’
Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

วันที่เหลือแค่สำนักพิมพ์ยิปซีแล้วเลือกเบนเข็มไปในทางประวัติศาสตร์สากล ตอนนั้นหนังสือหมวดนี้ได้รับความนิยมแค่ไหน

          ถ้าพูดถึงตลาดหนังสือประวัติศาสตร์สากล ผมชอบต่วย’ตูน พยายามศึกษาว่าเขาทำอะไร เดินยังไง ทำไมถึงมาได้ไกลขนาดนี้ ผมอยากทำแบบต่วย’ตูน แต่ทำให้มันพรีเมียมขึ้น ก็เลยตัดสินใจปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เรียกว่าเป็นการ Rebranding ครั้งแรกเลย 

          ผมชวนหลายคนซึ่งเป็นบรรณาธิการมีชื่อเสียงมาเป็นที่ปรึกษา นั่งประชุมกันว่าถ้าจะทำให้ยิปซีแข็งแกร่งขึ้นต้องทำยังไง จะคัดสรรต้นฉบับกันอย่างไร จะสร้างกลุ่มนักเขียนนักแปลของเราเองได้ยังไง สร้างกลุ่มนักอ่านด้วยวิธีไหน จนถึงเป้าหมายที่เราจะต้องเดินไปให้ถึง แล้วก็ได้ข้อสรุปว่า คนเราสามารถ ‘ทำได้’ ทุกอย่าง แต่สิ่งที่ยากสุดคือเราจะ ‘ไม่ทำ’ อะไร ตรงนี้แหละที่สำคัญ เพราะฉะนั้นอะไรที่ไม่ใช่ยิปซี เราไม่ทำ 

คำว่า ‘ทำให้พรีเมียมขึ้น’ หมายความว่ายังไง

          อัปเกรดเนื้อหามันให้แข็งแรงขึ้น มีหลักฐานอ้างอิงถูกต้องน่าเชื่อถือ ออกแบบดีไซน์ปกและรูปเล่มให้ทันสมัย ที่ผ่านมายังออกแบบปกไม่ค่อยสวย คุณภาพการปรูฟยังไม่ดี กระดาษก็ยังใช้ในราคาประหยัดมาก เพราะเน้นปริมาณเพื่อขายอย่างเดียว แต่ตอนหลังเรามองว่าหนังสือของยิปซีต้องเป็นหนังสือที่เก็บสะสมได้ เป็นหนังสือที่ใครเดินถือก็รู้สึกเท่ ลึกไปกว่านั้นก็คือต้องสร้าง Brand Loyalty ให้ได้ 

          นอกจากนั้นเรายังออกแบบโลโก้ใหม่ สร้างทีมออนไลน์ขึ้นมาผลิตคอนเทนต์ลงในโซเชียลมีเดีย วางระบบการขายออนไลน์ จัดงานเปิดตัวหนังสือ ตกแต่งบูธขายหนังสือในงานหนังสือแห่งชาติให้น่าสนใจมากขึ้นด้วย

หลังจากตัดสินใจ Rebrand เสียงตอบรับกลับมาเป็นยังไงบ้าง

          วงการหนังสือมันมีเรื่องดีมากๆ อยู่เรื่องหนึ่งก็คือถ้าเกิดลูกค้าอ่านแล้วชอบ เขาก็ชมเลย แต่ถ้าอ่านแล้วไม่ชอบ เขาก็จะตำหนิตรงๆ เราเห็นยอดขายที่มันโตกว่าของเดิมอย่างเห็นได้ชัด เวลาเดินไปไหนก็รู้สึกว่ามีคนชมมากขึ้น คำตำหนิเริ่มน้อยลง

คธาวุฒิ เกนุ้ย: 15 ปีการเดินทางของกองคาราวาน ‘ยิปซี’
Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

มองกลุ่มแฟนหนังสือแนวประวัติศาสตร์ของยิปซีอย่างไร

          หลายปีก่อนเราเปิดตัวหนังสือชื่อ ‘สารานุกรมเครื่องแบบในสงครามโลกครั้งที่ 1’ (Uniform of World War I) ที่ศูนย์สิริกิติ์ ก็ประชาสัมพันธ์ออกไปทางโซเชียลมีเดีย วันนั้นมีกลุ่มคอสเพลย์เครื่องแบบทหาร กลุ่มคนที่คลั่งไคล้ประวัติศาสตร์สงครามโลกแห่มาร่วมงานโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว เฮ้ย มันมีแบบนี้ด้วยเหรอวะ พวกเขาชวนกันทำอะไรแปลกๆ ชวนป๊อป ยอดนักขายซึ่งสมัยนั้นยังแต่งตัวธรรมดาๆ จนกลายมาเป็นทหารญี่ปุ่น พอไอ้ป๊อปบ้า ทุกอย่างก็บ้าตามกันไปหมด (หัวเราะ)

          อีกครั้งหนึ่งตอนเราแปลหนังสือชื่อ ‘ผู้หญิงของเช: เช เกวาราในความทรงจำของภรรยาผู้เป็นที่รัก’ (Remembering Che) เป็นบันทึกที่อาเลย์ดา มาร์ช ภรรยาของเชเขียนถึงสามีตัวเอง ผมก็มองว่าทำไมไม่เชิญภรรยาเชมาเปิดตัวหนังสือด้วยเลยล่ะ ตอนนั้นเรามีโอกาสรู้จักกับท่านทูตคิวบาผ่านการแนะนำของคุณเก๋-เกศณี ไทยสนธิ ก็ได้ทราบว่าภรรยาของเชไม่สะดวกเดินทางไกลเพราะอายุมากแล้ว สุดท้ายคนที่ตอบรับมาแทนคือ อาเลย์ดา เกวารา ลูกสาวคนโตของเช งานนั้นอลังการมาก ทูต 19 ประเทศตอบรับคำเชิญมาร่วมงาน แอ๊ด คาราบาวก็ยังมา คนอ่านต่อคิวขอลายเซ็นแถวยาวจนเจ้าหน้าที่ต้องมาช่วยจัดระเบียบ วุ่นวายฉิบหายเลย (หัวเราะ) แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่พวกเราภาคภูมิใจมาก

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งของยิปซีคือการได้แปลหนังสือดังระดับโลกอย่าง ‘เซเปียนส์’ เบื้องหลังที่มาที่ไปเกิดขึ้นได้อย่างไร

          วันหนึ่ง น้องอุ๋ย-ศิริวรรณ คุ้มโห้ บรรณาธิการที่ทำงานร่วมกับยิปซีในขณะนั้น เอาหนังสือภาษาอังกฤษมาให้เล่มหนึ่งชื่อ Sapiens (เซเปียนส์) บอกว่าไปเจอที่เอเชียบุ๊คส์ ตอนนั้นยังไม่ค่อยดังเท่าไหร่แต่ซื้อมาอ่านแล้วดีมากๆ เพราะมันรวมศาสตร์ทุกแขนงไว้ในเล่มเดียวเพื่อบอกเล่ารากเหง้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ผมบอกว่า พี่อ่านภาษาอังกฤษไม่ออก เอ็งลองแปลมาให้อ่านสักบทสองบทได้ไหม

          พออ่านต้นฉบับที่น้องแปลมาจบ ผมบอกตัวเองเลยว่าถ้ามึงไม่ทำ มึงแม่งโง่มาก เพราะเล่าเรื่องโคตรดี สนุก แถมได้ความรู้ใหม่ๆ ผมเอาต้นฉบับแปลนี้ไปให้คนอื่นอ่าน ทุกคนก็ชอบ เลยติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์จากเมืองนอก

กระบวนการแปลเซเปียนส์ยุ่งยากไหม

          เซเปียนส์นี่ผ่านการแปลมา 2 รอบแล้วนะ รอบแรกยังไม่ได้มาตรฐาน มันน่าจะเติมเต็มให้สมบูรณ์กว่านี้ได้ ก็เลยชวนอาจารย์นำชัย ชีววิวรรธน์ (ผู้แปลเซเปียนส์) มาทำให้มันแข็งแกร่งขึ้น อาจารย์นำชัยแกอยู่กับงานวิทยาศาสตร์ ก็เลยเข้าใจพวกศัพท์ทางเทคนิคต่างๆ ซึ่งแกก็ทำออกมาได้ค่อนข้างสมบูรณ์ เราใช้เวลานานมากกว่าจะเสร็จออกมาเป็นเล่ม

คธาวุฒิ เกนุ้ย: 15 ปีการเดินทางของกองคาราวาน ‘ยิปซี’
Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

เกิดอะไรขึ้นหลังเปิดให้พรีออเดอร์เป็นครั้งแรก

          ตอนส่งต้นฉบับเข้าโรงพิมพ์ ผมไม่ได้อยู่เมืองไทยเพราะต้องเดินทางไปทำพิธีฮัจญ์ที่กรุงเมกกะ ซาอุดีอาระเบีย ทีมงานเขาก็โปรโมทแล้วประกาศพรีออเดอร์ วันแรกที่เปิดพรีออเดอร์ ขณะกำลังประกอบพิธีอยู่ที่ซาอุฯ ปรากฏว่าโทรศัพท์สั่นสะท้านเลย ผมเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊กยิปซีด้วยก็เห็นข้อความเด้งเข้ามาในแชทรัวๆ จอง 1 เล่มค่ะ จอง 1 เล่มครับ หลั่งไหลเข้ามาไม่หยุดจนต้องปิดมือถือ เราได้ยอดพรีออเดอร์เยอะมากในแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน แค่สองสามวันแรกยอดพรีออเดอร์เข้ามาเกือบ 2,000 เล่มแล้ว 

ข้อดีของการทำหนังสือเล่มนี้นานคือในต่างประเทศเขาดังไปก่อนล่วงหน้าแล้ว เมืองไทยช้ากว่าชาวบ้านเขานิดนึง ซึ่งพอช้ากว่ามันก็เลยทำให้กระแสของเซเปียนส์ทั่วโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น เราออกมาในวันที่ทุกอย่างมันสุกงอมพอดี 

วันที่เซเปียนส์กลายเป็นปรากฏการณ์สั่นสะเทือนวงการหนังสือ ยอดขายถล่มทลาย ติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ คนแห่กันรีวิว รู้สึกยังไงบ้างตอนนั้น

          การติดอันดับเบสเซลเลอร์ก็ถือเป็นเรื่องปกตินะ เพราะหนังสือหลายเล่มของยิปซีก็เคยทำได้ แต่ที่ไม่ปกติคือกลุ่มคนที่เรียกว่าปัญญาชนต่างพูดถึงหนังสือเล่มนี้กันเยอะมาก วันเปิดตัวเซเปียนส์ที่ศูนย์สิริกิติ์นี่ห้องแทบแตก เล่มถัดมาของ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี อย่าง 21 Lessons for the 21th Century และ Homo Deus คนก็ล้นตลอด 

          มันเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ผมรู้สึกว่าสำนักพิมพ์เราควรทำหนังสือแบบนี้ออกมาอีกเยอะๆ แม้ว่ามันอาจจะขายไม่ดี แต่เราก็ควรคัดเลือกหนังสือดีๆ มาอีก เพราะกระแสหรือยอดขายไม่สำคัญเท่าหนังสือมีคุณภาพที่ดี เป็นหนังสือที่ได้รับการยอมรับทั่วทั้งโลก ยิปซีจึงควรทำหนังสือกลุ่มนี้ต่อไป

คธาวุฒิ เกนุ้ย: 15 ปีการเดินทางของกองคาราวาน ‘ยิปซี’
Photo: สำนักพิมพ์ยิปซี

เคยมีคนแซวว่ายิปซีได้เซเปียนส์มาเหมือนถูกรางวัลแจ็กพอต เช่นเดียวกับตอนที่นานมีบุ๊คส์เคยถูกรางวัลแจ็กพอตกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ 

          คนทำหนังสืออย่างเราอันดับแรกต้องตั้งใจทำหนังสือให้มันดีมีคุณภาพก่อน แต่ผมเชื่อว่าหลายสำนักพิมพ์ก็หวังอยากให้มีวันนั้นกันบ้างแหละ วันที่หนังสือเราขายดีมากๆ ถูกพูดถึงมากๆ จนเป็นปรากฏการณ์ที่พลิกโฉมสำนักพิมพ์เรา

หลังประสบความสำเร็จกับหนังสือชุดยูวัล โนอาห์ แฮรารี คุณก็ทยอยปล่อยชุดจาเร็ด ไดมอนด์ ชุดริชาร์ด ไฟน์แมนออกมา นี่คือการแตกไลน์หนังสือหมวด Brainy Books ของยิปซีใช่ไหม

          เซเปียนส์ทำให้ผมตระหนักได้ว่าการจะเข้าใจสิ่งต่างๆ ในโลก เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจอารยธรรมมนุษย์ มันต้องประกอบด้วย 3 สิ่งคือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต 

          ที่ผ่านมาเราทำหนังสือประวัติศาสตร์ออกมาก็เพื่อให้คนเข้าใจอดีตว่ามีเหตุการณ์สำคัญๆ อะไรบ้างที่ส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันเราก็ต้องรู้ด้วยว่าอนาคตมันกำลังจะเดินไปทางไหน แนวคิดนี้เลยทำให้พวกเราไม่ย่ำอยู่กับเรื่องเดิมๆ ซึ่งตรงกับพันธกิจของยิปซีที่ว่า ‘นักสัญจรบนหน้ากระดาษ ผู้แสวงหาความรู้และภูมิปัญญามาบรรณาการนักอ่าน’

คธาวุฒิ เกนุ้ย: 15 ปีการเดินทางของกองคาราวาน ‘ยิปซี’
Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

ช่วงโควิด-19 วงการหนังสือบ้านเราก็ได้รับผลกระทบหนักหน่วง ร้านหนังสือหรือสำนักพิมพ์เองก็เจ็บเนื้อเจ็บตัวไปตามกัน ยิปซีได้รับผลกระทบมากแค่ไหน

          ช่วงโควิด-19 เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของยิปซี ตอนนั้นรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ร้านค้าถูกปิดหมด คนที่ไม่เคยทำออนไลน์มาก่อนหน้านี้เลยก็ได้รับผลกระทบไปโดยปริยาย แต่โชคดีที่ยิปซีเราเตรียมการไว้แล้วในเรื่องช่องทางการขายออนไลน์ ใครจะเชื่อว่าวันหนึ่งออนไลน์นี่แหละที่ช่วยพยุงให้เรารอดมาได้ ทุกคนมีแผลจากโควิดแน่ๆ เราเองก็มีแผล แต่ออนไลน์ก็ทำให้แผลเราไม่ใหญ่มากนัก  

ปีนี้ครบรอบ 15 ปียิปซี มันมีความหมายอะไรกับคุณบ้าง

          เมื่อเร็วๆ นี้ผมตื่นขึ้นมาเห็น On This Day ในเฟซบุ๊ก พบว่าเราเดินทางมา 15 ปีแล้วกับการทำหนังสือ ตะลึงมาก กูทำยังได้ยังไงวะ ใช้พลังแบบไหนถึงพามันมาไกลถึงปีที่ 15  สำหรับคนที่เริ่มต้นจากศูนย์อย่างผมก็มองว่าควรที่จะฉลองกับมันหรือทำอะไรบางอย่างเพื่อตอบแทนคนอ่าน

          ปีนี้เราเพิ่งเซอร์ไพรส์คนอ่านด้วยการจัดงานหนังสือ GYPSY BOOK FEST ที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นความฝันเล็กๆ ตั้งแต่เริ่มทำสำนักพิมพ์แล้วว่าอยากจะจัดงานของตัวเอง ส่วนโปรเจกต์ต่อไปผมอยากจัดงานเสวนาครั้งใหญ่ที่เชิญนักเขียนระดับโลกมาเมืองไทย แต่ตรงนี้ขออุบไว้ก่อน (ยิ้ม)

คธาวุฒิ เกนุ้ย: 15 ปีการเดินทางของกองคาราวาน ‘ยิปซี’
Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

ทุกวันนี้ดูเหมือนยิปซีจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เคยวาดภาพไว้ไหมว่าอยากไปไกลสุดแค่ไหน

          ความฝันสูงสุดของผมคืออยากให้สำนักพิมพ์ยิปซีกลายเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ แหล่งชุมนุมของนักเขียนนักแปลและผู้สนใจประวัติศาสตร์แขนงต่างๆ แล้วก็ฟูมฟักบ่มเพาะเด็กรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา มันอาจจะฟังดูใหญ่โตนะ แต่ผมก็อยากไปให้ถึงจุดนั้น

อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของยิปซี 

          พวกเราไม่มีสูตรตายตัว แต่เคยมีคนบอกว่ายิปซีเหมือนพวกไวกิ้ง ไม่คิดอะไรมาก มีแต่เดินลุยไปข้างหน้า พวกมันอยู่ไหนเดี๋ยวกูจะไปฟาดแม่ง…หมายถึงปัญหานะ ถ้าสู้ไม่ได้กูถอย แล้วก็ไม่อายที่จะถอยด้วย คำตอบมันอาจผิดหลักการทำงานเชิงธุรกิจ แต่นี่ยิปซีไง เรามันพวกอนารยชนคนเถื่อน ผมจะไม่เป็นวีรบุรุษที่ตายคาสนามรบเด็ดขาด ไม่ชนะด้วยวิธีหนึ่ง ก็ต้องสู้อีกวิธีหนึ่ง (หัวเราะ)  

คำถามสุดท้าย มองย้อนกลับไปวันที่ยังเป็นนักอ่าน เป็นพ่อค้าหนังสือเร่ จนมาเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ระดับแถวหน้า ความสุขยังเหมือนเดิมไหม 

          ความท้อน่ะมนุษย์มีกันทุกคนแหละ แต่สิ่งที่ทำให้ผมยืนหยัดมาได้ถึงทุกวันนี้ และอยากยืนต่อจนกว่าชีวิตจะหมดลมหายใจก็คือความฝันที่จะสร้างอาณาจักรเล็กๆ ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทุกคนเข้า มาสนุกสนานได้  สิ่งนี้มันทำให้เรามีพลังตื่นเช้ามาทำงานแล้วนั่งคิดว่ามีตรงไหนที่เรายังสามารถซัพพอร์ตได้อีก เพื่อทำให้ความฝันมันเป็นจริง ผมยังมีความสุขในการแก้ปัญหา และตอนนี้ก็ไม่ใช่เวลาที่กองทัพยิปซีจะหันหลังกลับ

คธาวุฒิ เกนุ้ย: 15 ปีการเดินทางของกองคาราวาน ‘ยิปซี’
Photo: อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก