แสงแดดยามบ่ายของเมืองปัตตานีสะท้อนลานคอนกรีตสลับกับเนินสูงต่ำ หลังร้านอาหารแบบฟิวชันดูเจิดจ้าจนอยากจะยกมือขึ้นมาปกป้องดวงตาไม่ให้หรี่ลง แต่ลมที่พัดโชยเอื่อยเข้ามาในตัวอาคารที่เพดานสูงดูโปร่งโล่งก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกร้อนมากเกินไปนัก ที่มุมหนึ่งของห้องโถงเป็นมุมที่มีชั้นวางหนังสือตั้งอยู่เรียงกัน หนังสือหลากประเภท หลากสีสันถูกจัดเรียงอยู่บนชั้น และกระจายอยู่ทั่วไปบนโต๊ะ
ที่นี่คือ ‘กำปงกู’ ที่เคยปรากฏในพื้นที่สื่ออยู่หลายครั้ง ในฐานะพื้นที่สาธารณะที่เด็กๆ และผู้ใหญ่ในชุมชน รวมถึงเหล่า ‘คุณครู’ ใช้เป็นพื้นที่ร่วมเรียนรู้ด้วยกัน
แต่คุณครูที่ว่านั้น ไม่ใช่คุณครูจากการศึกษาในระบบ แต่เป็นคนในพื้นที่ที่มีความปรารถนาจะพลิกสังคมให้ดีขึ้นด้วยการทดลองหลากหลาย ‘โปรเจกต์’ กับพื้นที่ว่างตรงนี้ ด้วยความหวังอันเรืองรอง ว่าท้ายที่สุดแล้วชุมชนจะเข้มแข็งขึ้น และเยาวชนจะมีโอกาสเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ
การมาถึงของพันธมิตรผู้มีเป้าหมายเดียวกัน อาจารย์อาร์ม (ดร. ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย) อาจารย์เด๊ะ (ผู้ช่วยศาสตราจารย์จารียา อรรถอนุชิต) สองอาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และอาซีซี ยีเจะแว เจ้าของร้านกาแฟอินตออาฟ (In_t_af Cafe’ & Gallery) ร้านกาแฟบนถนนปัตตานีภิรมย์ ทำให้บทสนทนาเริ่มต้นขึ้น เสียงเล่าเรื่องบวกกับเสียงหัวเราะ ทำให้พวกเรารู้สึกเหมือนกับได้ย้อนเวลากลับไปในช่วงที่พื้นที่แห่งนี้กำลังจะเกิดขึ้นมา ได้ร่วมเดินทางไปกับทั้งสามท่าน พร้อมกับรับสารที่ทุกคนตั้งใจจะสื่อว่า
ไม่มีความฝันใดสำเร็จได้ถ้าไม่เริ่มลงมือทำ และการลงมือทำสิ่งใดให้สำเร็จนั้น เราต้องรู้สึก ‘สนุก’ กับมันก่อน
กว่าจะมาเป็นพื้นที่เรียนรู้สาธารณะกำปงกู
‘กำปงกู’ ตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนบือติงกำปงกู ใจกลางเมืองปัตตานี ที่นี่เปิดให้เด็กๆ เข้าไปเล่นได้อย่างเสรี ไม่มีเวลาเข้าออก ไม่มีการปิดประตูคล้องกุญแจ
ในพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ มีทั้งร้านอาหาร มุมหนังสือ และลานสเกต เรียกได้ว่าเกิดขึ้นโดยประชาชนที่มีความฝัน อยากให้ชุมชนคึกคักไปด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พัฒนาเป็นย่านที่เลี้ยงตัวเองได้ และมีประชากรที่มีคุณภาพ
แต่การจะปั้นชุมชนหนึ่งให้ได้ดังใจแบบนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยน้ำมือของใครคนใดคนหนึ่ง อาจารย์อาร์ม อาจารย์เด๊ะ และคุณอาซีซี เข้าใจถึงความซับซ้อน และความท้าทายอย่างถ่องแท้ เพราะกว่าจะมีพื้นที่ให้เด็กๆ มาเล่นสเกต อ่านหนังสือ และร่วมกิจกรรมกันอย่างแข็งขันแบบทุกวันนี้ พวกเขาต้องผ่านเส้นทาง ลุ่มๆ ดอนๆ ลองผิดลองถูกมาไม่ใช่น้อย
อาซีซี ยีเจะแว คือสถาปนิกผู้มีความฝันอยากพลิกชุมชนบือติงกำปงกูให้เป็นย่านเศรษฐกิจ เหมือนที่เคยทำสำเร็จมาแล้วกับย่านเมืองเก่าริมแม่น้ำ ร้านกาแฟอินตออาฟเคยกระตุ้นให้ถนนเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยอาคารโบราณกลายเป็นย่านครีเอทีฟ ที่มีทั้งร้านกาแฟ บริษัทออกแบบ และเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่จัดงาน Pattani Decoded ที่นำเสนออัตลักษณ์แดนใต้ผ่านงานศิลป์และงานฝีมือพื้นถิ่นได้อย่างเก๋ไก๋
ในครั้งนี้ ร้านชาบู คือกลไกที่อาซีซีเลือกใช้…
“ผมไม่รู้มาก่อนเลยว่าที่ว่างที่ผมสนใจนั้น เป็นของครอบครัวอาจารย์อาร์ม พอเขาไปกินน้ำชาที่ร้าน ผมก็เล่าให้ฟังเรื่องการพัฒนาย่านเมืองเก่าด้วยการทำธุรกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดเป็นย่านที่ผู้คนมีงานทำ มีคนข้างนอกเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนความคิด ตอนแรกอาจารย์อาร์มก็ไม่ได้บอกนะ ว่าตรงนั้นคือที่ของเขา หลายวันผ่านไปเขาถึงติดต่อกลับมาแล้วถามว่า เราอยากจะทำอะไร”
เมื่อเจ้าของสถานที่เปิดไฟเขียวแล้ว ความฝันที่จะพลิกชุมชนบือตงกำปงกูให้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์นี่แล่นฉิวเลยไหม ทีมงานสอบถามด้วยรอยยิ้ม ส่วนอาซีซีตอบกลับมาด้วยเสียงหัวเราะ
“กำปงกูมันตันไปแล้วรอบหนึ่ง ร้านชาบูที่ผมเข้าไปเปิดในพื้นที่มันเจ๊งแบบไม่เป็นท่าเลย แค่ 3 เดือนก็รู้ผลว่าไปไม่รอด ไม่ใช่ว่าร้านไปไม่รอดนะ แต่องค์กรไปไม่รอด เพราะเรากดดันตัวเองว่าทำไมไม่เป็นอย่างที่คิดไว้”
เมื่ออาซีซีได้ลองพูดคุย ตกผลึกกับอาจารย์อาร์ม ความฝันครั้งใหม่ก็จุดประกายขึ้นอีกครั้ง เพราะแนวคิด ความเชื่อ และความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง คือจุดร่วมของทั้งคู่ การทดลองลงมือทำจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง
“โชคดีที่พี่อาร์มเขาเข้าใจในสิ่งที่ผมอยากทำ เขาเป็นนักกิจกรรมอยู่แล้ว เลยมาร่วมมือกัน”
อาจารย์อาร์ม เจ้าของพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นบ้าง “ผมบอกเขาว่า ผมจะไม่เอาเงินออกมาจากโครงการ เรามาคิดกันว่าเราอยากจะทำอะไร บังเอิญว่าร้านชาบูมันปิดเร็วไปหน่อย แต่ก็โชคดีที่ยังมีเงินก้อนหนึ่งเอามาซ่อมโน่น ซ่อมนี่ได้ พอมองเห็นแนวทางว่าจะเดินไปในทางไหนต่อ ก็วางกระบวนการกันใหม่ วางวิธีคิดใหม่ ส่วนที่ซีลงทุนไปก็ถือว่าเป็นเงินลงทุน ตอนนี้เราเป็นหุ้นส่วนกัน”
เมื่อตั้งหลักได้ก็เริ่มเดินกันใหม่ มีธุรกิจร้านอาหารเข้ามาเช่าพื้นที่ภายใต้ข้อตกลงที่ว่า ขอปันพื้นที่และทรัพยากรบางอย่างสำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในกำปงกู
การเข้ามามีส่วนร่วมของอาจารย์เด๊ะ สุภาพสตรีเพียงหนึ่งเดียวในกลุ่มสามทหารเสือผู้ร่วมกันต่อจิ๊กซอว์ภาพพื้นที่เรียนรู้ ทำให้สิ่งที่วาดหวังไว้ดูลงตัวมากขึ้น ชายหนุ่มทั้งสองคนกล่าวว่า อาจารย์เด๊ะช่วยทำให้ภาพของกิจกรรมที่ทำอยู่ดูเป็นมิตร เข้าถึงง่าย
“ในช่วงแรกที่มีแต่เด็กผู้ชายมาร่วมกิจกรรม ภาพลักษณ์ของเราก็จะดูเถื่อนหน่อยๆ กิจกรรมของอาจารย์เด๊ะกับเด็กผู้หญิงทำให้ดูละมุนขึ้นมากเลย”
โชคดีที่ทางอาจารย์อาร์มเองก็มีโครงการพัฒนาเยาวชนร่วมกับ อาจารย์เด๊ะ อยู่แล้ว การผสานรวมกิจกรรมกับพื้นที่ตรงนี้จึงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
ด้วยความที่ทั้งสามคนมีเป้าหมายร่วมกัน เลยต่างสรรหาเครื่องมือและโปรเจกต์มาร่วมฟื้นย่านให้มีชีวิต เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดีย ปลุกความคิดสร้างสรรค์ อาซีซี รับหน้าที่ดูแลในเรื่องของการออกแบบพื้นที่ บทบาทของอาจารย์อาร์มและอาจารย์เด๊ะจึงเป็นการครุ่นคิดหาวิธีเติมความหมายให้กับพื้นที่ว่าง
หากจะผลักดันให้ลานโล่งตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาพื้นที่ การยอมรับจากชุมชนต้องเกิดขึ้นและเติบโตงอกงาม เมื่อแรกเริ่มดำเนินโครงการ คนในชุมชนยังมองไม่เห็นภาพว่าสิ่งที่ทั้งสามกำลังพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นคืออะไร สะพานเชื่อมใจระหว่างผู้ริเริ่มและเจ้าของชุมชนคงไม่แคล้วต้องเป็นกลุ่มเยาวชน เมื่อคิดได้ดังนี้ แผนการล้านแปดที่จะเจาะกลุ่มเยาวชนเพื่อกรุยทางไปสู่การสร้างสัมพันธ์อันดีกับครอบครัวของหนูๆ จึงเกิดขึ้น
เด็กก็คือเด็ก เราจะเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกัน
เมื่อตกลงปลงใจจะล่มหัวจมท้ายพัฒนาพื้นที่เรียนรู้สาธารณะไปด้วยกัน ก็ต้องมองหาช่องทางว่าควรจะเริ่มต้นแบบไหน ถึงจะสามารถเจาะเข้าถึงใจเยาวชนได้ จนมาลงตัวที่ลานสเกต กีฬาที่สะดุดใจวัยแจ๋ว อาจารย์อาร์มบรรยายให้เรามองเห็นภาพของกำปงกูในอดีต และการริเริ่มโปรเจกต์ได้อย่างชัดเจน
“แต่ก่อนที่ตรงนี้มันเป็นป่า แต่ภาพปลายทางคือเราอยากให้ตรงนี้เป็นตลาด เป็นถนนคนเดิน มีคนในชุมชนออกมาค้าขาย แต่ยังเป็นไปได้ยาก เคยคิดว่าแค่ถางหญ้าเฉยๆ แล้วเปิดให้คนมาขายของมือสองจะดีไหม ไอเดียมาจบลงตรงที่เทปูนเรียบๆ แล้วไปชวนทีมสเกตมาซ้อมที่นี่ ให้พื้นที่เขา มีร้านอาหาร ร้านน้ำมาขาย”
เพราะคิดว่ากีฬาเซิร์ฟสเกตกำลังมาแรง อีกทั้งยังมีนักกีฬาทีมชาติรวมกลุ่มอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลในจังหวัดปัตตานีนี่เอง การทำลานสเกตจึงเป็นทางออกที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ด้วยความหวังว่าการก่อตั้งทีมนักกีฬาแบบพี่สอนน้อง ให้โปรสเกตสอนมือใหม่ น่าจะช่วยกระตุ้นให้พื้นที่คึกคัก ดึงดูดความสนใจให้คนในและนอกพื้นที่ออกมาร่วมเล่นกีฬาด้วยกัน
ลานสเกตที่ถูกออกแบบขึ้นมาโดยอาซีซี สถาปนิกประจำทีม มีความซับซ้อน ท้าทายให้ชาวสเกตหันมาให้ความสนใจ
“เล่นยากนะ ลานนี้มันไม่เรียบ เด็กทั่วไปยังเล่นไม่ได้ทันที ตอนแรกผมก็เล่นไม่ได้” แม้แต่อาจารย์อาร์มเจ้าของพื้นที่ที่มีใจรักการเล่นสเกตยังยอมรับ “โชคดีที่มีโปรสเกตจากเยอรมันมาที่ปัตตานีพอดี เราเลยชวนเขามาเล่นที่นี่ เด็กๆ ก็เลยได้เรียนรู้ไลน์สเกตจากมืออาชีพ”
“หลายคนเล่นสเกตบนลานของเราไม่ได้ เราก็เลยกลับมาทบทวนกันว่าจะต้องทุบมั้ย แต่ผมก็เสียดายเพราะซีเขาอุตส่าห์ตั้งใจทำ มีรูปดอกไม้ มีดอกชบา มีสตอรี่ในการออกแบบ เซิร์ฟสเกตก็กำลังฮิต ก็เลยตัดสินใจว่าจะไม่ทุบ พอโปรสเกตมาเล่นให้เราดู เราก็พอจะก็มองเห็นว่าเขาเล่นยังไง ทีนี้ก็เกิดการเรียนรู้ตามๆ กัน”
“เด็กในชุมชนเล่นได้นะคะ เขาเก่ง”
อาจารย์เด๊ะกล่าวเสริม พร้อมทั้งเล่าให้ฟังว่าลักษณะของการเล่นสเกตที่นี่เป็นแนวพี่สอนน้อง นักกีฬาทีมชาติที่อยู่ในพื้นที่ หรือรุ่นพี่ที่สามารถเล่นได้ดี ก็จะทำหน้าที่เป็นโค้ชให้กับน้องๆ ที่สนใจจะทดลองเล่น เกิดเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ช่วยสานสัมพันธ์เด็กในชุมชนและนอกชุมชนไปโดยปริยาย
แต่ใช่ว่าการผลักดันให้กำปงกูเป็นพื้นที่เรียนรู้ของชุมชนจะราบรื่นไร้อุปสรรค อาจารย์อาร์มเล่าว่า
“พอทำพื้นที่เสร็จแล้ว โจทย์ต่อไปก็คือการทำงานกับเด็ก ปัญหาแรกที่เจอเลยคือ ปัญหาเชิงพื้นที่ แถวนี้มีปัญหายาเสพติดมาก่อน พอทำลานสเกตเสร็จเด็กบางกลุ่มก็มาใช้พื้นที่เสพยา หรือไม่ก็เข้ามาทำกิจกรรมกัน เช้ามาก็เจอขยะรกรุงรัง เราก็ต้องสร้างกติกาการใช้พื้นที่ร่วมกัน การแบ่งปัน เคารพสิทธิของผู้อื่น ซึ่งตรงนี้ก็เป็นงานที่ต้องอาศัยความพยายามพอสมควร”
“ตอนแรกชุมชนก็ยังไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำ เกรงว่าวัยรุ่นจะใช้ลานสเกตเป็นพื้นที่มั่วสุม อยากให้ทำรั้วรอบขอบชิด ปิดล็อกกุญแจ แต่ตอนนั้นความคิดของพวกเราก็เริ่มตกผลึกแล้ว เราอยากใช้คำว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ ที่แปลว่าทุกคนใช้ได้ เราไม่อยากเห็นพื้นที่ที่ต้องคล้องกุญแจ มีเวลาเปิดปิด เราไม่อยากเห็นความเป็นสาธารณะสไตล์นี้ พอชุมชนยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูด เราก็ต้องอธิบายว่าเราต้องการอะไร ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้น ก็ต้องมาสร้างความเข้าใจกับผู้ใช้งาน ว่าสาธารณะคือ การใช้พื้นที่ร่วมกัน ช่วยกันดูแล”
นอกจากเรื่องการใช้พื้นที่ของเด็กๆ แล้ว กลุ่มนักสเกตที่เข้ามาใช้ลานในช่วงแรกก็มีลักษณะเฉพาะอีกด้วย อาซีซีให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเด็กๆ ในยุคบุกเบิก
“เด็กพวกนี้เขาเติบโตมาแบบต่อสู้ชีวิต เพราะฉะนั้นเขาจะเป็นเด็กที่ห้าวมาก หลายคนเลือกที่จะใช้กำลังก่อนพูดคุยกัน ภาษาที่ใช้ก็ค่อนข้างแข็ง เรียกได้ว่าเป็นเด็กที่ค่อนข้างฮาร์ดคอร์”
อาจารย์อาร์มเสริมอีกนิด “ฮาร์ดคอร์จริง ในช่วงแรกชุมชนก็ไม่อยากให้ลูกตัวเองมาสุงสิง พอมีเด็กกลุ่มใหม่ที่สนใจการอ่านหนังสือเข้ามาร่วมด้วย มีอาสาสมัครมาอ่านหนังสือให้เด็กฟัง มีเด็กผู้หญิงมาร่วมกิจกรรม ภาพรวมมันก็ดูละมุนขึ้น”
สำหรับการแก้ปัญหาเหล่านั้น อาจารย์เด๊ะผู้ทำงานกับเด็กมาจนเชี่ยวชาญได้กล่าวไว้ว่า
“เราทำอะไรไม่ได้นอกจากทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เราสอนเขาไม่ได้ สั่งยิ่งไม่ได้ ต้องทำให้ดูอย่างเดียว เราเก็บกวาด ทำความสะอาด เก็บขยะทุกวัน แล้วก็ชวนเด็กๆ พวกนั้นแหละเข้ามาช่วยกันกวาด ช่วยกันจัดหนังสือ พูดกับเขาเพราะๆ ชาวบ้านเขามารับลูกก็เห็นว่าเรามีหนังสือ มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์จริง เขาก็จะเริ่มเข้าใจ ไว้วางใจ”
“พอชุมชนเข้าใจแล้ว เขาก็มาช่วยเราดูแลพื้นที่นะ แถมยังคอยเป็นหูเป็นตา ดูแลเด็กๆ ให้ด้วย” อาซีซี แชร์ประสบการณ์บ้าง
การแก้ปัญหาเยาวชนในชุมชนนี้ ใช้เวลาเพียง 2 เดือน ทั้งปัญหาขยะ การเคารพสิทธิกันและกัน รวมถึงการพูดจาให้อ่อนน้อมสุภาพ ทุกปัญหาล้วนแก้ได้ด้วยการทำให้เห็นเป็นตัวอย่างทั้งสิ้น นับว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็วทันใจไม่น้อย
“เราก็ได้เรียนรู้ว่า ที่เขาเป็นแบบนั้นเพราะสิ่งแวดล้อมมันบีบให้เขาเป็น ถ้าสิ่งแวดล้อมมันเอื้อให้เขาเป็นเด็ก เขาก็คือเด็ก พอเราค่อยๆ สอนให้เขารู้ว่าเขาไม่ต้องแก่งแย่งหรือต่อสู้เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ เขาก็อ่อนลงทั้งความคิดและคำพูด มันไม่ใช่ปัญหาที่ยาก ง่ายๆ เท่านี้เอง”
“สุดท้ายพอเขาพูดจาอ่อนหวาน ยอมรับเรา เข้ามากอด เข้ามาสวัสดี เข้ามาบอกว่าคิดถึงในช่วงที่เราไม่ได้มาหลายๆ วัน เราก็ดีใจ” อาจารย์เด๊ะสรุปปิดท้ายคำถาม
หลากโปรเจกต์ ร้อยความฝัน
หลังจากโครงการลานสเกตเริ่มต้นได้สวยงาม มีพื้นที่และมีเด็กๆ ที่เป็นขาประจำของกำปงกู กิจกรรมอื่นๆ ก็ตามมา
“พอเราเริ่มมีโปรเจกต์เกี่ยวกับเด็ก เกี่ยวกับหนังสือ อาจารย์เด๊ะก็จะถนัดกว่า” อาจารย์อาร์มเปิดประเด็นเรื่องโปรเจกต์หนังสือ
อาจารย์เด๊ะเล่าถึงที่มาของกิจกรรม “เราเห็นเด็กเล่นสเกต แล้วมีเด็กส่วนหนึ่งนั่งมองตาปริบๆ ไม่ค่อยได้เล่นกับพวกพี่เขา เรามีหนังสือกับของเล่นส่วนหนึ่งของลูก ลูกเราโตแล้ว ไม่ได้ใช้อีกแล้ว ก็อยากให้มีประโยชน์กับคนอื่นบ้าง ถ้าบริจาคก็จะเป็นประโยชน์กับคนใดคนหนึ่ง แต่ถ้าเอามาไว้ในพื้นที่สาธารณะตรงนี้ก็จะเกิดประโยชน์ในวงกว้างกว่า ก็เลยเอามาไว้ที่นี่ให้เขาได้อ่านกัน การยืมหนังสือก็ถือว่าเป็นกระบวนการขัดเกลานะ ฝึกวินัยการใช้ของสาธารณะ ให้เขาเห็นความสำคัญของสิ่งที่ใช้ร่วมกัน มันเป็นกระบวนการสอนให้รู้จักความรับผิดชอบ”
“ที่ผ่านมาเด็กไม่ได้ถูกสร้างวิสัยทัศน์ให้เข้าไปห้องสมุดเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ มาที่นี่เขาก็ไม่ได้ตั้งใจจะมาอ่าน แต่ก็จะค่อยๆ ถูกดึงดูดกระตุ้นให้เริ่มสนใจการอ่าน” อาซีซีช่วยยืนยันถึงผลที่ได้จากกิจกรรมที่เกิดขึ้น
นอกจากการยืมคืนหนังสือแล้ว อาจารย์เด๊ะก็ยังชวนอาสาสมัครที่มาเก็บขยะกับโครงการ Trash Hero ให้มาเป็นอาสาสมัครอ่านหนังสือภาษาต่างประเทศให้กับเด็กๆ ที่นี่ฟังอีกด้วย ซึ่งกิจกรรมนี้ก็เป็นที่ชื่นชอบ ได้รับเสียงตอบรับที่ดี
“สำหรับโครงการหนังสือ ตอนนี้ก็ยังทดลองอยู่ จริงๆ แล้วโครงการเริ่มต้นจาก Pain Point บางอย่าง ผมเคยทำโปรเจกต์ Book Fairy ที่เอาหนังสือไปซ่อนไว้แล้วให้เด็กไปหา พอหาเจอ อ่านจนจบก็เอาไปซ่อนให้คนอื่นๆ ค้นหาต่อไป โปรเจกต์นั้นไม่เกิด เพราะเขาไม่หยิบ แล้วเราก็ไม่มีที่วางด้วย ต้องเอาหนังสือไปวางในพื้นที่สาธารณะ ส่วน Pain Point ที่ 2 ก็คือ เราอาจจะมีหนังสือเยอะ แต่หนังสืออาจจะล้าสมัยไปแล้ว ลูกโตไปแล้ว เป็นหนังสือประเภทที่จะทิ้งก็เสียดาย จะยกให้ใครก็ไม่กล้า พอมีพื้นที่กำปงกู เราก็รับหนังสือประเภทนี้มาให้หมด”
อาจารย์อาร์มเล่าให้เราฟังต่อถึงความพยายามที่จะสานฝันโครงการที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ ในอนาคตก็ยังมีแผนการที่จะทดลองอีกหลายโปรเจกต์ ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Mini Library ที่คิดจะสร้างมุมหนังสือเล็กๆ ในร้านอาหาร ร้านกาแฟในละแวก หรือสร้างห้องสมุดในอาคารหลักด้านหน้าของลานสเกต นอกจากโครงการหนังสือก็ยังมีสิ่งที่อยากทำรออยู่ในลิสต์อีกหลายรายการ เช่น เชิญชวนอาสาสมัครต่างประเทศให้เข้ามาเรียนรู้ชุมชนร่วมกับเด็กๆ คล้ายกับจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัคร
“พอคอนเซปต์ชัด ก็มีสื่อมาสนใจมากพอสมควร เราก็อาศัยสื่อเหล่านั้นมาสร้างแรงกระเพื่อม มีคนสนใจมาร่วมกิจกรรมด้วยกันหลายกลุ่ม มีเครื่องมือหลายอย่างมาใช้ให้เป็นประโยชน์”
“หนังสือมันอยู่กับที่ แต่เราอยากให้กิจกรรมมันเคลื่อนไหวตลอดเวลา กิจกรรมเก็บขยะก็ทำให้เด็กๆ มีส่วนร่วมได้ เด็กๆ ชอบมาก ยิ่งพอถึงวันครบรอบ 6 ปี กิจกรรม Trash Hero เราก็มาจัดงานปาร์ตี้ที่นี่ เด็กๆ แถวนี้ก็ชอบ อยากให้มาอีกเรื่อยๆ เด็กก็ถามว่า อาจารย์…เมื่อไหร่ จะเก็บขยะกันอีก”
นับว่ากิจกรรมเหล่านี้ได้เติมความมีชีวิตชีวาให้กับพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ได้ตามที่ทั้งสามได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ และเมื่อเราถามถึงความพึงพอใจในความคืบหน้าของโครงการที่ได้ทำมาทั้งหมด อาซีซีก็ตอบว่า
“สำหรับผม ธุรกิจร้านอาหารที่มาเช่าตรงนี้ไปต่อได้ มีคนเข้ามาเล่นสเกต มีชาวบ้านมาขายของ สิ่งที่ผมคาดหวังไว้ก็พอใจแล้ว”
ส่วนอาจารย์อาร์มยังมีภาพฝันในใจที่ต้องการจะเดินต่อไปอีกสักหน่อย “ถ้าปลายทางของผมคือ กระตุ้นชุมชนให้คึกคัก มีตลาด มีการค้าขาย ก็ยังไม่ถึงเป้าหมาย แต่ตอนนี้ธุรกิจก็ไปได้แล้ว มีคนสนใจพื้นที่ตรงนี้ มีโปรเจกต์ข้างหน้าต่อไป ก็อยากจะเริ่มขยายพื้นที่ด้านข้าง เตรียมโปรเจกต์ของซีสำหรับช่างฝีมือในชุมชน”
“อ้อ ใช่ คนในชุมชนตรงนี้แหละครับ เขาทำว่าวกันเอง ก็เลยอยากให้นำออกมาสู่สายตาสาธารณะ” อาซีซีแวะมาขยายความสั้นๆ ก่อนที่อาจารย์อาร์มจะสรุปปิดท้าย
“ที่เดินหน้าเป็นโปรเจกต์ไม่ได้ตังค์ โปรเจกต์ได้ตังค์ยังไม่ค่อยคืบ ถ้ามีรายได้เข้ามาก็คงขยับได้อีกเฟสหนึ่ง โปรเจกต์ลานสเกตผ่านมาแล้ว 2 ปี เด็กๆ ก็เริ่มเติบโตเกินกว่าที่จะเล่นสเกตแล้ว หลายคนก็ไปเรียนต่อ ไปอยู่โรงเรียนประจำ มีโอกาสกลับมาบ้างนิดหน่อย กลุ่มที่สองที่เข้ามาคือไม่มีสเกตเลย แต่ว่าเล่นเก่งมาก เพราะมองเห็นพี่ๆ เล่นมาตั้งแต่เด็ก มาขอเราเล่นตั้งแต่เด็ก พอผมไม่ได้เข้ามาที่นี่ทุกวันเหมือนช่วงก่อน เด็กกลุ่มนี้ก็มีโอกาสน้อยลง โจทย์ต่อไปคือทำยังไงให้มีอุปกรณ์ ทำยังไงให้เขาเล่นได้ทุกวัน ทำยังไงถึงจะส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นได้ โจทย์มันก็จะเปลี่ยนไป”
เราต่างเรียนรู้จากกันและกัน มีความฝัน และความตั้งใจ
พื้นที่สาธารณะกำปงกูเกิดขึ้นมากว่า 2 ปี แล้ว ‘นักลงมือทำ’ ทั้งสามได้เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนบือติงกำปงกูจนเห็นผล เด็กๆ ได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากคนนอกชุมชนที่เข้ามา ในขณะเดียวกันผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงก็ได้เรียนรู้จากเด็กๆ และจากการทำงานที่ผ่านมาหลายประเด็นด้วยช่วยกัน
“ผมได้เรียนรู้ว่าถ้ามันสนุก เราก็จะมองบวกไปทุกอย่าง สามารถแก้ปัญหาให้มันดีกว่าเดิมได้ ดังนั้นจะทำอะไรก็ต้องเพิ่มพลังบวกเข้าไป ตอนที่ร้านชาบูไม่สำเร็จเพราะเราซีเรียสไปทุกอย่าง ตอนที่ทำอินตออาฟทุกอย่างเป็นเรื่องสนุก พอเราเรียนรู้ ก็ได้เปลี่ยนวิธีคิด” อาซีซีเริ่มแบ่งปันก่อน ตามด้วยอาจารย์อาร์ม ปิดท้ายด้วยอาจารย์เด๊ะ
“สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องลงมือทำ ไอเดียสวยหรูแค่ไหน งบประมาณมากแค่ไหน ผลลัพธ์เกิดจากการลงมือทำเท่านั้น มันจะล้มเหลว สนุกหรือไม่สนุก ต้องลองทำก่อน”
“เราได้ฝึกการไม่คิดอะไรมาก คิดมากก็จะกลัว กังวลไปหมด เราไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่ให้ความสำคัญกับความสนุก ความฝันที่เราอยากทำ ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น เราก็ค่อยๆ แก้กันไป ทุกอย่างที่เราทำ เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ก็เลยทำเท่าที่พอจะทำได้ ไม่ทำเกินตัว เพราะถ้าเรากดดันตัวเองเราก็จะรู้สึกไม่สนุก เราจะไม่มีพิธีการ ขั้นตอนเยอะแยะมากมาย”
ดวงอาทิตย์ลอยคล้อยต่ำลงไปแล้ว แสงแดดที่แผดกล้าในช่วงบ่ายเริ่มอ่อนลง ลมพัดพาไอร้อนให้จางลงไป เสียงของอาจารย์อาร์มยังดังก้องอยู่ในใจ แม้ในยามที่เราทอดน่องอยู่บนลานคอนกรีตที่เต็มไปด้วยเนินสูงต่ำท้าทายนักสเกตวัยเยาว์ที่ขี่จักรยานแวะเวียนมา
“การจะลงมือทำอะไรสักอย่าง ถ้าเข็มทิศเราชัด เราเดินทางไปถึงอยู่แล้ว เราไปในทิศทางที่เราต้องการ ระหว่างนี้เราก็ ‘Enjoy the View’ ทุกก้าวที่ก้าวไป เรารู้ว่าเข้าใกล้ปลายทางแค่ไหน ด้วยความที่เรามีโปรเจกต์เยอะมาก เลยไม่ได้กังวลว่ายังไม่ได้ทำตรงนั้น ตรงนี้ เพราะสิ่งที่ต้องทำในตอนนี้ก็มีเยอะมากอยู่แล้ว ในเมื่อเข็มทิศเราชัดเจนมาก เราก็จะไม่ทำอะไรที่ออกนอกทิศทาง หรือเปลี่ยนแปลงความตั้งใจแรกเริ่ม เราจะก้าวไปในสปีดที่เราพอใจ ถือว่าวิวมันสวย มองเห็นเด็กมานั่งอ่านหนังสือ เห็นอาสาสมัครมาร่วมกิจกรรม คนแต่ละกลุ่มรู้สึกพอใจ เห็นคุณค่าชีวิต แค่นี้ผมก็พอใจแล้ว”
แดดร่ม ลมตก อากาศไม่ร้อนอีกต่อไป แสงสุดท้ายของวันใกล้จะลาขอบฟ้า แต่พวกเรายังสัมผัสได้ว่าไฟฝันของนักลงมือทำที่จะช่วยให้พื้นที่สาธารณะตรงนี้เป็นพื้นที่เรียนรู้ของชุมชนอย่างแท้จริง ยังลุกโชน สดใสเสียยิ่งกว่าแดดยามบ่าย