‘Writer’ นิตยสารวรรณกรรมไทยที่เชื่อในคุณค่าและพลังของหนังสือ

728 views
7 mins
April 9, 2024

          Writer Magazine นิตยสารเพื่อนักอ่าน นักเขียน และคนร่วมสมัย
          Writer โลกนักอ่าน บ้านนักเขียน ห้องเรียนนักฝัน 

          ไม่ว่านิตยสารวรรณกรรมไทยเล่มนี้ จะอยู่ใต้ร่มสโลแกนแบบไหน หรือดำเนินมาถึงยุคที่เท่าไรของหนังสือ แต่สิ่งที่ไม่แปรเปลี่ยนคือการยืนหยัดในพลังการอ่าน และเชื่อมั่นในพลังของวรรณกรรม 

          “เราอยากเห็น ไรเตอร์ เป็นสถาบันหนังสือเหมือนกับที่ The Paris Magazine อยู่มาได้ 80 กว่าปี เราเชื่อว่าด้วยเงินทุนนั้นหนังสือเล่มนี้จะหมุนเวียนและจะอยู่ได้ในความเป็นจริง” บินหลา สันกาลาคีรี กล่าวในวันเปิดตัวนิตยสาร Writer ยุคที่ 3

          Writer วางจำหน่ายฉบับปฐมฤกษ์เมื่อเดือนตุลาคม 2535 ก่อนจะปิดตัวลง ต่อมาปี 2540-2541 กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เข้ารับช่วงต่อเป็นบรรณาธิการในยุคที่สองอีก 18 ฉบับ ก่อนที่นิตยสารวรรณกรรมเล่มนี้จะหายไปจากแผงหนังสืออย่างถาวร จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2554 Writer ก็กลับมาอีกครั้งในยุคที่สาม ภายใต้การปลุกปั้นของสามนักเขียน บินหลา สันกาลาคีรี วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และ ‘นรา’ พรชัย วิริยะประภานนท์

          ดังที่บินหลา สันกาลาคีรีกล่าวไว้ว่า อายุของหนังสือไม่ใช่สาระ คุณค่าของมันต่างหาก พลังของมันต่างหาก ความทรงจำของสังคมที่มีต่อมันต่างหาก เช่นเดียวกับ Writer แม้จะปิดตัวไปถึง 3 ครั้ง แต่ชื่อเสียง คุณูปการ ลีลาในน้ำหมึกของหนังสือยังถูกพูดถึงตราบจนทุกวันนี้

          เรามีโอกาสพูดคุยกับ ขจรฤทธิ์ รักษา ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Writer นิตยสารวรรณกรรมไทยที่เคียงข้างนักอ่าน นักเขียน คนร่วมสมัย และนักฝัน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงทิศทางการอ่านวรรณกรรมในยุคสมัยนี้

‘Writer’ นิตยสารวรรณกรรมไทยที่เชื่อในคุณค่าและพลังของหนังสือ

จุดเริ่มต้นการทำนิตยสาร Writer มาจากไหน

          เริ่มจากการอ่าน สมัยหนุ่มๆ กี่ปีก็จำไม่ได้แล้ว ผมอ่านนิตยสาร โลกหนังสือ ที่คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นบรรณาธิการ แล้วชอบมาก จนตอนหลังเขาหยุดทำไป ต่อมาบริษัทเคล็ดไทย จำกัด ทำนิตยสารชื่อ ถนนหนังสือ  บรรณาธิการคือเรืองเดช จันทรคีรี เล่มละ 15-20 บาท เป็นหนังสือที่ผมสมัครสมาชิกทุกเดือน เชื่อไหมมันเป็นนิตยสารที่ผมอ่านทุกคอลัมน์ตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย ผมชอบมาก เพราะได้เปิดโลกกว้าง

นิตยสารวรรณกรรมในยุคนั้น มีความสำคัญหรือความจำเป็นอย่างไรต่อวงการ

          ตอนนั้นเราเป็นนักเขียนเด็กๆ ไม่รู้ว่านักเขียนเมืองนอกมีใครบ้าง สมัยก่อนไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีโซเชียลมีเดีย จะตามอ่านข่าวสารโลกวรรณกรรมต่างๆ ก็อ่านได้จากถนนหนังสือ เช่น เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel Garcia Marquez) และจอห์น สไตน์เบ็ก (John Steinbeck) ก็จะมาอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ในนิตยสารจะมีบทสัมภาษณ์เรื่องราวเส้นทางการเป็นนักเขียนของแต่ละคนว่ามันยากเย็นขนาดไหน ผมก็เกิดแรงบันดาลใจอยากเป็นนักเขียน 

          นิตยสารที่เล่าเรื่องราววรรณกรรมพวกนี้ นอกจากมีเรื่องข่าวสารต่างประเทศแล้ว ก็มีข่าวสารในประเทศด้วย เช่น ชาติ กอบจิตติ ออกหนังสือเล่มใหม่ จำลอง ฝั่งชลจิตร เขียนเรื่องสั้นลงที่ไหน สำนักพิมพ์ดวงกมลออกหนังสืออะไรบ้าง ข่าวสารพวกนี้ทำเราตื่นเต้นทุกเดือน แต่วันหนึ่งเขาประกาศหยุด อาจจะขาดทุนหรือเนื่องด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ผมเสียดายมาก แต่ตอนนั้นยังเด็ก ไม่มีฐานะอะไร ก็ยังทำอะไรไม่ได้

‘Writer’ นิตยสารวรรณกรรมไทยที่เชื่อในคุณค่าและพลังของหนังสือ

นอกจาก Writer ยังมีนิตยสารเจ้าอื่นอีกไหมที่นำเสนอข่าวคราวความเคลื่อนไหวในแวดวงวรรณกรรมและนักเขียน

          สมัยก่อนนิตยสารที่ตีแผ่เรื่องราววรรณกรรม แวดวงนักเขียนมีเยอะมากนอกจากที่ผมพูดมาข้างต้น ยังมีนิตยสารสายการเมืองสมัยก่อนเช่น เนชั่นสุดสัปดาห์ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ มติชน ผู้จัดการ และกรุงเทพธุรกิจ ในแต่ละเล่มจะมีเซคชันวรรณกรรมที่เกื้อหนุนกันอยู่ตลอด เวลาเราออกนิตยสารเล่มใหม่ปุ๊บก็ส่งให้เขา เขาก็จะเขียนรีวิวว่านิตยสาร Writer ออกเล่มใหม่แล้วมีเนื้อหาอะไรบ้าง คนที่ไม่รู้ว่าหนังสือออกก็จะได้รู้ มีคนเขียนถึงเยอะก็ขายดี นึกออกไหม เหมือนปากต่อปาก 

          ก็อย่างที่บอก นิตยสารเล่มนี้มีพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ เกื้อหนุนดูแล เหมือนประโยคที่ผมชอบพูดว่า ในโลกนี้เราไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้ เช่นเดียวกับนิตยสาร Writer ผมทำคนเดียวไม่ได้ ผมมีเพื่อนช่วยคิดช่วยทำ 

ทำไมคุณถึงเลือกทำหนังสือนิตยสารวรรณกรรมในยุคนั้น

          วันดีคืนดีผมเริ่มมีสตางค์ ก็เลยคุยกับเพื่อนว่าอยากทำนิตยสารแนวนี้ ก็เริ่มไปเดินดูนิตยสารที่ขายแบกะดิน ผมเห็นนิตยสาร Writer ของเมืองนอก ตอนนั้นอ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่รู้ว่าเขาพูดถึงนักเขียน มีบทความแนะนำเรื่องการเขียนว่าต้องเขียนอย่างไร เราก็เอามาดูและใช้ชื่อ Writer ตาม

          ตอนนั้นมีกลุ่มเพื่อนวรรณกรรมนกสีเหลือง ประกอบด้วย จตุพล บุญพรัด, กนกพงศ์ สงสมพันธุ์, ไพวรินทร์ ขาวงาม, เวียง- วชิระ บัวสนธ์, สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ และมีพี่จําลอง ฝั่งชลจิตร มาช่วยคิด ช่วยเป็นที่ปรึกษา

‘Writer’ นิตยสารวรรณกรรมไทยที่เชื่อในคุณค่าและพลังของหนังสือ

ยากไหมกับการทำนิตยสารเกี่ยวกับวงการนักเขียนในยุคนั้น ทั้งเรื่องทุนรอน ขั้นตอนการผลิต กลุ่มคนอ่าน แม้แต่การแบ่งกลุ่มก้อนของเหล่านักเขียนเองก็ตาม

          การแบ่งกลุ่มเลือกข้างของนักเขียนมันก็มีบ้างแต่ไม่ชัดเท่าสมัยนี้ ตอนนี้มีแค่รักกับไม่รักถึงขั้นเลิกคบกันเลย 

          ผมว่าความยุ่งยากในการทำนิตยสารมันอยู่ที่กระบวนการผลิตมากกว่า สมมติเราจะถ่ายภาพปกนิตยสารมันถ่ายแบบสมัยนี้ไม่ได้ ต้องถ่ายในฟิล์มสไลด์ ตอนทำปกก็ต้องหาเครื่องมือเพราะสำนักพิมพ์ผมไม่มี อย่างเช่นสีในนิตยสาร เราไม่เห็นผ่านจอคอมพิวเตอร์นะ เวลาสั่งพิมพ์ปกหนังสือหรือพิมพ์เล่ม ต้องสั่งผ่านโค้ดสี เช่น M100 Y100 ต้องเลือกจากตารางสีที่โรงพิมพ์ให้มา หากไม่เชี่ยวชาญก็ต้องหาคนที่แม่นเรื่องนี้มาช่วยและไปตรวจดูหน้าแท่นพิมพ์ ทุกอย่างมันยากไปหมด บางทีอาร์ตเวิร์กมีคำผิดอยู่ 4-5 คำ ไม่ใช่ว่าแก้ตอนนี้แล้วพรุ่งนี้จะเสร็จ ต้องส่งคำผิดเป็นแผ่นยาวๆ แล้วรอให้บริษัทส่งมอเตอร์ไซค์มารับเอกสารเพื่อแก้ไขใหม่อีกที

          ตอนทำ Writer เล่มแรก ผมโชคดีมากที่บังเอิญไปเจอ อุกฤษณ์ ทองระอา เขาเป็นนักวาดภาพปก เลยถามว่า “น้องช่วยวาดภาพนักเขียนให้พี่หน่อยได้ไหม จะนำมาขึ้นปกนิตยสาร Writer” เขาก็ตอบกลับมาว่า “ได้พี่” อุกฤษณ์เขาฝีมือดีอยู่แล้วพอทุกคนเห็นปกที่เขาวาดก็ต้องหยิบ ซื้อไม่ซื้ออีกเรื่องแต่ต้องหยิบขึ้นมาดู กลายเป็นว่านิตยสารปกแรกขายดีมาก พิมพ์ 5 พันเล่ม ขายหมดเกลี้ยง ปกที่สองเป็น สุรชัย จันทิมาธร พิมพ์ครั้งแรกสามพันเล่มหมดภายในอาทิตย์เดียวและสั่งพิมพ์เพิ่มอีกสองพันเล่มก็หมด ถือว่าขายดีมากในตอนนั้น

‘Writer’ นิตยสารวรรณกรรมไทยที่เชื่อในคุณค่าและพลังของหนังสือ

“นิตยสารไรเตอร์ มิใช่นิตยสารที่อยู่ได้ด้วยเงินจากโฆษณาเลย เราอยู่ได้ด้วยกำลังทรัพย์และความใส่ใจจากคนอ่าน” อุทิศ เหมะมูล อดีตบรรณาธิการ Writer รุ่นที่สี่ เคยกล่าวเอาไว้ ในฐานะอดีตผู้ก่อตั้ง คุณมองว่าอะไรที่ทำให้นิตยสาร Writer ยังคงได้รับความสนใจและถูกสานต่อจากเพื่อนพี่น้องในวงการ 

          เอาจริงๆ ทุกอย่างมันเริ่มจากความชอบ ไม่มีเรื่องการตลาดหรือมาร์เก็ตติงเอาใจใคร เราแค่คิดเหมือนกับที่เพื่อนๆ คิดกันว่า ถ้าเราชอบวรรณกรรมมันต้องมีคนจำนวนหนึ่งที่ชอบเหมือนกัน เราเลยพิมพ์งานตามความชอบ เช่น ผมชอบงานของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็พิมพ์ ชอบพี่จำลอง ฝั่งชลจิตร ชอบชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ก็พิมพ์ตามที่ตัวเองชอบ บางเล่มก็ขายดี บางเล่มก็ไม่ดี แต่มันอยู่ได้มาตลอดจนถึงตอนนี้ ก็สามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้

          Writer มีช่วงพีค 2-3 เล่ม ก็ทำมาเรื่อยๆ 4 ปี อุกฤษณ์ก็อยู่กับเรามาเรื่อยๆ สุดท้ายเมื่อทำไปใกล้ปีที่ 4 ยอดขายมันทรงตัว บางปกก็ไม่ค่อยดี ยกเว้นปกที่เป็นนักเขียนดังๆ จะหมดไว ผมก็มาคิดว่าถ้ายังทำนิตยสาร Writer ที่มีทีมงานอยู่คนสองคน มันจะเหนื่อย เดือนๆ หนึ่งต้องมานั่งคิดว่าสัมภาษณ์ใครบ้างแล้วทำสต็อกไว้ จะไปต่างจังหวัด ไปต่างประเทศ จะไปเที่ยวไหนก็ไม่ได้ นิตยสารเป็นตัวกำหนด เพราะเราซึ่งเป็นบรรณาธิการไม่ได้วางมือให้คนอื่นเป็นสุดท้าย จึงคิดว่า 4 ปีที่ทุ่มเทให้กับนิตยสาร Writer ก็น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะเดิมทีผมอยากเป็นนักเขียนไม่ได้อยากเป็นเจ้าของนิตยสาร 

          ถ้าทำนิตยสารต่อก็ไม่มีเวลาทำ จะจ้างคนมาเป็นบรรณาธิการก็ไม่มีเงิน เลยไปคุยกับเพื่อนว่าจะพอแล้ว ผมอยากเป็นนักเขียน เขียนได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่งแต่อยากเป็นนักเขียนมากกว่า ก็ไปคุยกับกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เขาบอกว่างั้นผมทำต่อเอง ผมบอกว่าก็ดีสิ จะได้ยกทั้งหมดให้คุณแบบต่อเนื่องเลย 

          อีกกี่ปีถัดมาไม่รู้ คุณบินหลา สันกาลาคีรีมาขอทำต่อ เขาทำดีมากๆ ทุกวันนี้ผมยังหยิบนิตยสารที่เขาทำมาอ่านอยู่เลย ผมชื่นชม และคิดว่าบินหลาคงคิดเหมือนผมว่านิตยสารเล่มนี้มันจำเป็น ผมก็สมัครสมาชิกตามอ่านแบบต่อเนื่อง เขาเก่ง คนรุ่นใหม่เขาเก่งมาก เช่น คุณอุทิศ เหมะมูล คุณวรพจน์ พันธุ์พงศ์ บางทีการทำนิตยสารพวกนี้มันขาดทุนเรื่องเงิน แต่ได้กำไรเรื่องความรู้สึก ขาดทุนนิดหน่อยแต่อิ่มใจมากดีกว่าได้กำไรแต่ไม่อิ่มใจเลย

‘Writer’ นิตยสารวรรณกรรมไทยที่เชื่อในคุณค่าและพลังของหนังสือ

หนังสือวรรณกรรมในมุมมองของคุณคืออะไร

          ผมคิดว่าคนเราอ่านอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นแหละ อย่างที่ใครหลายคนชอบพูดว่า ดูคนให้ดูจากหนังสือที่เขาอ่าน ผมชอบอ่านวรรณกรรมเพราะชีวิตก็เหมือนวรรณกรรม มีเละเทะ มีสุข ถ้าคุณเห็นห้องสมุดที่ผมเสียบๆ หนังสือไว้บนชั้น ก็วรรณกรรมทั้งนั้น อย่างบทความทำอย่างไรให้รวย ทำอย่างไรให้เป็นคนดี ผมอ่านนะแต่ไม่ได้ชื่นชอบ ก็ไม่ได้เสียบไว้ในที่ชั้นหนังสือของตัวเอง

ยุคนี้คนอ่านวรรณกรรมน้อยลงจริงไหม

          เป็นคำถามที่ถามกันมาตั้งแต่สมัยไหนแล้ว แต่วรรณกรรมก็ยังคงอยู่ สมัยก่อนเคยไปฟังเขาพูดในวงเสวนาหัวข้อ ‘วรรณกรรมไทยตายแล้ว’ ถ้ามันตาย อุทิศ เหมะมูล และ วีรพร นิติประภา จะเกิดขึ้นได้หรือเปล่าล่ะ มันไม่ตายหรอก มีแต่จะมีนักเขียนเก่งๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ 

          ทุกวันนี้ยังมีคนอ่านวรรณกรรม เพราะวรรณกรรมคือการอ่านชีวิต ได้เข้าใจ ได้เห็นใจคนอื่น วรรณกรรมเป็นความผิดพลาดที่เราเห็นได้และล้วงลึกเข้าไปในแต่ละตัวละคร อย่างภาพที่เราเห็นมันคือภาพ แต่พออ่านวรรณกรรมมันจะเห็นความคิด วิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีอยู่ในนั้นทั้งหมด อย่างที่ลาว คำหอมพูดว่า อยากรู้จักใครก็ให้อ่านวรรณกรรม อยากไปประเทศไหนก็ให้อ่านวรรณกรรม อยากรู้ว่าคนเขาอยู่กันอย่างไรก็ให้อ่านวรรณกรรม

‘Writer’ นิตยสารวรรณกรรมไทยที่เชื่อในคุณค่าและพลังของหนังสือ

หลายคนบอกว่ายุคนี้เป็นยุคการอ่านการเขียนเฟื่องฟู รวมถึงพื้นที่ในการปล่อยของก็มีมากขึ้น เช่น โซเชียลมีเดีย E-books Audiobooks คุณเห็นด้วยไหม

          ผมเห็นด้วยนะ เคยไปงานสัมมนาเรื่องหนังสืออีบุ๊ก ตอนนั้นผมไม่เข้าใจว่านักเขียนเด็กๆ สามารถหาเงินได้เดือนละสองสามแสนจริงไหมหรือเป็นคำคุย เพราะสมัยก่อนนักเขียนอย่างรุ่นผมแทบจะไม่มีรายได้ (หัวเราะ) ในงานสัมมนาเขาพานักเขียนตัวจริงมาพูดให้ฟังว่า หลังหักรายได้ให้เว็บแล้วเขาได้เงินกว่าสองแสนบาท ส่วนใหญ่เป็นนิยายวาย ผมไปดูโปรไฟล์นักเขียนยังเป็นเด็กอยู่เลย น่าจะเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย เก่งมาก ถามว่าเราทำได้ไหม ผมลองพยายามเขียนดู ไม่ได้จะขายนะแต่ลองพยายามดู พบว่าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ (หัวเราะ) ก็ต้องยอมรับว่าโลกนี้มันกว้าง หลากหลาย อาชีพนักเขียนสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ เราต้องเปิดหูเปิดตา อย่าไปบ่นว่าไม่มีคนอ่านหนังสือ

ในฐานะบรรณาธิการผู้ก่อตั้งนิตยสาร Writer นักเขียนวรรณกรรม และเจ้าของสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ มีอะไรอยากจะแนะนำคนรุ่นหลังบ้าง 

          รุ่นนี้ไม่มีแล้ว (หัวเราะ) ต้องอย่างรุ่นอุทิศ เหมะมูลนู่น ผมไม่แนะนำใครเพราะ หนึ่ง อายุมากแล้ว สอง ผมอาจจะเชยเพราะอยู่คนเดียวมากเกินไป ไม่ได้เข้าสังคมไปเจอน้องๆ ก็ต้องไปถามพวกที่ยังอายุน้อยๆ แต่ถ้าจะมีข้อหนึ่งก็คือขอให้รักษาสุขภาพ อยู่กันให้ถึงอายุ 60 ปี อย่าเพิ่งรีบตายกัน (หัวเราะ)

‘Writer’ นิตยสารวรรณกรรมไทยที่เชื่อในคุณค่าและพลังของหนังสือ

ทุกวันนี้เรายังต้องการนิตยสารของวรรณกรรมอยู่ไหม 

          ต้องการมาก โลกโซเชียลมีเดียก็ดีอีกแบบหนึ่ง เช่น ตามข่าวนักเขียนได้โดยตรง ติดตามหนังสือใหม่ๆ สั่งซื้อออนไลน์ หรือพรีออร์เดอร์ก็ได้ ผมมองว่านิตยสารยังสำคัญ ถ้ามีอีกเมื่อไหร่ ผมคนหนึ่งล่ะจะสมัครเป็นสมาชิกแน่นอน

ในวันประกาศปิดตัวนิตยสาร Writer ยุคที่ 3 บินหลากล่าวว่า “หนังสือทุกเล่มทำแล้วก็ต้องเลิก ไม่ช้าก็เร็ว ไม่วันใดก็วันหนึ่ง อายุของหนังสือไม่ใช่สาระ คุณค่าของมันต่างหากพลังของมันต่างหาก ความทรงจำของสังคมที่มีต่อมันต่างหาก” คุณมองคุณค่าของ Writer มองความทรงจำที่หนังสือมีต่อสังคม หรือต่อตัวคุณอย่างไร

          นิตยสาร Writer ทำให้ผมมีทุกวันนี้ ผมมีความสุขที่ได้อ่าน เวลาอ่านหนังสือดีๆ สักเล่มมันมีความสุขมาก สามารถอยู่กับตัวเองได้โดยไม่ต้องไปไหน นอกจากนี้เวลาอ่านหนังสือเราจะเห็นความสุขความทุกข์ของคนอื่น เราสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้กับตัวเองได้ 

          นิตยสารเล่มนี้ก็เหมือนกัน ผมยังอ่านตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้ายเหมือนสมัย 30-40 ปีที่แล้ว บางประเด็นบางเรื่องอาจจะไม่ถูกจริตเรา แต่เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะนำเสนอ วันหนึ่งสิ่งที่เราบอกว่าไม่ตรงกับจริตเราในวันนั้น อาจจะกลับกลายเป็นถูกจริตเราในวันนี้ก็ได้ หนังสือยังอยู่ พลังของมันยังอยู่ หนังสือไม่ได้หายไปไหน เช่นเดียวกับนิตยสาร Writer

‘Writer’ นิตยสารวรรณกรรมไทยที่เชื่อในคุณค่าและพลังของหนังสือ


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก