กางเกงช้าง ผ้าบางเบาใส่สบายคือสิ่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาติคุ้นเคยและนิยมซื้อหา พอเริ่มมีกางเกงลายแมวโมโนแกรมมาบุกตลาด แถมยังไปปรากฏโฉมในเกม Free Fire ที่มีผู้เล่นกว่า 560 ล้านคนทั่วโลก คนไทยด้วยกันเองและนักท่องเที่ยวต่างชาติก็หันมาให้ความสนใจ โคราช ถิ่นกำเนิดของกางเกงแมวลวดลายเก๋ไก๋ดูโมเดิร์นแปลกตามากขึ้น
นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างอัตลักษณ์ให้กับเมือง หรือ City Branding ผลงานที่เกิดจากการริเริ่มและร่วมแรงร่วมใจของคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง เป้าหมายของคนกลุ่มนี้ คืออยากให้ชาวโคราชเข้าใจวัฒนธรรม เข้าใจเมือง พัฒนาความรู้ เติมแรงบันดาลใจ แล้วมาร่วมกันสร้างสีสัน สร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้กับเมือง
โจ-จิรพิสิษฐ์ รุจน์เจริญ ประธาน YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) หรือกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของโคราช มาพูดคุยกับเราเพื่อบอกเล่าผลลัพธ์จากสิ่งที่ได้ลงมือทำ พร้อมทั้งสรุปขั้นตอนการผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นในโคราช ซึ่งเกิดขึ้นได้ไม่ยากถ้า…..
- เริ่มจากต้นทุนที่มี
- หมั่นพาสมาชิกไปเติมความรู้ เติมฝัน เติมไฟ
- ศึกษาและทำความเข้าใจเมืองของตัวเองให้ถ่องแท้
ความเคลื่อนไหวที่น่าประทับใจนี้ โจบอกว่า เกิดขึ้นจากการริเริ่มของกลุ่ม YEC ที่รวมตัวของคนรุ่นใหม่เปี่ยมพลังสร้างสรรค์ ลูกหลานผู้ประกอบการเมืองโคราชที่ออกไปเรียนรู้ในโลกกว้างแล้วกลับมาพัฒนาเมืองบ้านเกิดของตัวเอง

สมาชิก YEC ของโคราชมีมากน้อยแค่ไหน ทำธุรกิจประเภทไหนกันบ้าง
ตอนนี้ YEC KORAT น่าจะมีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในประเทศไทยแล้วครับ เพราะ หนึ่ง โคราชเป็นจังหวัดที่ใหญ่มาก สอง YEC KORAT เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งเป็นจังหวัดแรกๆ พวกเราประกอบอาชีพน่าจะครอบคลุมทุกสาขา ตั้งแต่พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร โรงแรม โลจิสติกส์ รถโดยสาร แปรรูปอาหาร จำนวนสมาชิกตอนนี้มี 400 กว่าคน ตอนที่ YEC Thailand ฉลองครบรอบ 10 ปี YEC ของโคราชครบรอบ 13 ปี ไปแล้ว ตอนแรกๆ ใช้ชื่อ YES เรารวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เวลารุ่นลูกไปศึกษาต่อ กลับมาอยู่โคราชก็แทบไม่มีเพื่อนคุยเรื่องธุรกิจ พอรู้จักกัน พบเจอกัน ก็เหมือนมีเพื่อนคุยแลกเปลี่ยนกันทั้งเรื่องธุรกิจ ปัญหาที่บ้าน หลักการของเรามีอยู่ 3 อย่าง คือ พัฒนาตัวเอง พัฒนาธุรกิจ และ พัฒนาเมือง
ในมุมมองตัวเองและ YEC มองโคราชเป็นแบบไหน
ตั้งแต่แรก พวกเราอาจจะไม่ได้มองการเข้าร่วมสมาคมในแบบที่ผู้ใหญ่เขามองกัน ว่าต้องมีตำแหน่งนี่นั่น เรามองว่าการรวมกลุ่มกันทำให้มีเพื่อน ทำอะไรก็สนุก พอเริ่มต้นจากคำว่าเพื่อน เริ่มต้นจากความสนุก มันถึงจะเกิดสิ่งใหม่ พอเราเห็นงานเทศกาลต่างๆ อย่างงานประจำปี งานตรุษจีน งานย่าโม ก็คิดว่าพวกเราน่าจะช่วยพัฒนาให้เกิดงานรูปแบบใหม่ๆ ได้บ้าง ช่วยปรับ ช่วยทำ มาเรื่อยๆ และมีโอกาสได้พูดคุยกับองค์กรมากมาย ทั้งผู้ว่าฯ ข้าราชการ เอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการพัฒนาเมือง
เราคิดแค่ว่า ทำงานนี้น่าจะสนุกนะ และมีคนที่มีความสามารถพอที่จะทำได้ สมาชิกในกลุ่มเรียนจบจากหลากหลายสาขา ไม่ได้จบด้านบริหารธุรกิจแต่ไปจบในสิ่งที่ตัวเองชอบก็ไม่น้อย บางคนจบแฟชันดีไซน์ กราฟิก การตลาด บางคนหลังจากที่จบมาแล้ว ก็ไม่มีโอกาสได้แสดงศักยภาพเท่าไหร่ เพราะต้องมาทำธุรกิจกับที่บ้าน พอมีเวทีให้เราได้ทำเพื่อเมือง เราก็ยิ่งสนุก ยิ่งอยากจะทำ อยากจะมาเติมเต็มให้กับเมือง ลองโยนไอเดียกัน พอเราไปเห็นอะไรใหม่ๆ ในต่างประเทศ กรุงเทพฯ หรือเมืองอื่นๆ เราก็อยากให้โคราชมีแบบนั้นบ้าง
เรียกได้ว่า YEC มีส่วนในการเปลี่ยนหน้าตาของเมือง เพราะมุมมองของเราแตกต่างจากรุ่นก่อน
ใช่ครับ ผู้ใหญ่เขาค่อนข้างให้การยอมรับนะ เพราะเราเป็นกลุ่มที่เอาความสนุกเป็นที่ตั้ง และไม่ได้มองผลประโยชน์มากมายขนาดนั้น บางงานขาดทุนแต่สนุก เราก็ทำ ถ้ามองว่าต้องได้กำไร ต้องมี KPI เราก็จะเครียด พอเราคิดตรงกันว่าถึงจะขาดทุนแต่สนุก ก็ทำไปโดยออกเงินกันเองก็ได้ ช่วงแรกๆ ก็ขาดทุนไปหลายงานครับ แต่รู้สึกว่าภูมิใจที่ได้ทำ พอเป็นแบบนี้ มีงานอะไร ผู้ใหญ่ก็อยากให้เราลองทำ เขาจะบอกว่ามีงานนี้นะ มีงบฯ เท่านี้นะ ถ้าอยากจะทำให้แตกต่างออกไป YEC ลองหางบฯ มาเพิ่มเติมนะ อีกด้านหนึ่งคือ เมื่อมีการประชุมหารือเรื่องเกี่ยวกับเมือง มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเมือง เราก็จะมีบทบาททุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคมนาคม หรือเรื่องอื่นๆ
ผลงานที่ทำให้ YEC KORAT เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศน่าจะเป็นลวดลาย KORAT Monogram และกางเกงแมว จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้คืออะไร
นี่แหละครับ คือผลลัพธ์ของการทำงานเป็นทีม ตั้งแต่แรกทางหอการค้าก็คุยกับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองเราได้อย่างไร เรามาดู Data หลังบ้านกันว่า คนนอกพูดถึงเราอย่างไรบ้าง เลยค้นพบว่าคนพูดถึงเราแค่ไม่กี่อย่างเอง ทั้งที่เรามีหลายๆ อย่างที่อยากจะพูด อยากจะสื่อสาร ก็เลยคิดกันว่าการทำ Branding ของเมืองต้องทำให้คนในพื้นที่ยอมรับทั้งหมด ไม่ใช่ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งออกแบบขึ้นมาแล้วบอกว่า “ฉันจะเอาแบบนี้” มันเป็นเรื่องส่วนรวมไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ถ้าเป็นเอกชนทำได้สิ คุณอยากจะทำแบรนด์สินค้า คุณทำได้เลย แต่ถ้าคุณทำเรื่องเมือง มันมีองค์กร มีประชาชน มีคนอีกหลายกลุ่มที่ต้องมีส่วนร่วม ดังนั้น KORAT Monogram เลยเกิดขึ้นมาจากการจัดประกวด คุณจะประกอบอาชีพไหน อยู่ที่ไหน ขอให้เป็นคนโคราช คุณมีสิทธิ์ที่จะออกแบบหมด
คำว่า โคราช ของแต่ละคนไม่เหมือนกันครับ คนอาจจะมองโคราชไม่เหมือนกันเลย คนหนึ่งอาจจะมองว่าเป็นเมืองศิวิไลซ์ อีกคนอาจจะมองว่าเป็นเมืองวัฒนธรรม คุณมองโคราชแบบไหน คุณก็ออกแบบมาเลย แล้วมาลองดูกันว่า คนโคราชจะชอบแนวคิดของคุณหรือเปล่า จะซื้อไอเดียหรือเปล่า สรุปแล้วมีคนส่งผลงานมาร่วมประกวดเกือบร้อยราย แล้วเราก็ให้คนในเมืองโหวตทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ เพราะผู้สูงอายุอาจจะไม่ถนัดโหวตแบบออนไลน์ ลวดลายที่ชนะการประกวดก็คือลายที่เราเห็นกันทุกวันนี้ KORAT Monogram


พอได้ผู้ชนะแล้วทำอย่างไรต่อ
พอชนะแล้วก็ต้องประชาสัมพันธ์ว่า นี่คือ CI (Corporate Identity: อัตลักษณ์เฉพาะ) ของเมืองโคราชนะ แต่คนเขายังไม่เข้าใจหรอกว่า CI คืออะไร เราต้องทำให้เห็นเลยว่าเราเอาลายโมโนแกรมไปทำอะไรได้บ้าง สิ่งที่ทำควบคู่กันไปเลยก็คืองาน KORAT Mamuyaa (มามูย่า) YEC เป็นคนคิดชื่อนี้ขึ้นมาเอง มาจากคำว่า มา มู ย่าโม แต่ว่าเราอยากให้มันฟังดูชิคๆ
ต้องให้เครดิตทีมงานเลยว่าคิดเก่งมาก พี่คนหนึ่งในทีมเสนอว่า ลองนึกถึงงานวัดญี่ปุ่นดูสิ เราจะเอามาปรับให้เข้ากับงาน มามูย่า ได้อย่างไรบ้าง ที่นั่นมีการผูกผ้าสีตามวันเกิด ใส่ชุดกิโมโน แล้วทำไมเราจะใส่ชุดตะเบ็งมานแบบย่าโมไม่ได้ เราก็ให้คนใน YEC นั่นแหละ ใส่ชุดตะเบ็งมานถ่ายรูปประชาสัมพันธ์ออกไป มันได้อารมณ์เหมือนนักท่องเที่ยวต่างชาติใส่ชุดไทยมาถ่ายรูปที่วัดอรุณฯ เลยครับ ก็เริ่มเป็นไวรัลกันขึ้นในโคราช
นอกจากจะมีกิมมิกพวกนี้แล้ว ยังมีการให้ข้อมูลด้วยว่าวิธีการไหว้ย่าโมแบบถูกวิธีต้องทำอย่างไร สินค้าสายมูต่างๆ เราก็เอาลายโมโนแกรมเข้าไปจับ รวมถึงออกแบบแพ็กเกจจิ้งใหม่ๆ ให้ดูน่าสนใจ มูแบบน่ารัก มูแบบไม่ตะโกน มูแบบมินิมอล มูแบบเทรนด์ใหม่ มูแบบวัยรุ่น คนก็เลยสนใจมาเดินในงานกันเต็ม สิ่งที่เป็นไฮไลต์แล้วทำให้โมโนแกรมมันดัง คือใครที่มางานนี้ เราจะเปิดโอกาสให้จองกางเกงแมวแบบลิมิเต็ดที่มีเฉพาะในงานนี้ 1 คน ต่อ 1 สิทธิ์ ถ้าได้ดูข่าวจะเห็นว่าคนต่อคิวยาวไปจนสุดถนนเลย เราตกใจมากนะ โอ้โห ทำไมคนถึงให้ความสนใจมากมายขนาดนี้

เห็นแบบนั้นแล้ว รู้สึกอย่างไร ได้ข้อคิดอะไรบ้าง…
ถ้าเราจะทำงานส่วนรวม คนในเมืองต้องสนับสนุนเราก่อน ต้องเห็นสิ่งที่เราทำ เมื่อคนในเมืองสนับสนุนเราแล้ว สื่อในพื้นที่ก็จะให้ความสนใจแล้วก็เขียนถึง กลุ่มไหนจัดงาน ทำไมงานถึงน่าสนใจ ทำไมคนถึงมา แล้วคนอื่นๆ ก็จะเริ่มสนใจด้วย เอ๊ะ…นี่มันเป็นงานรูปแบบใหม่นี่ ไม่เหมือนงานแบบเดิมๆ นะ แล้วคนก็จะเริ่มหลั่งไหลกันมา จากที่เคยคิดว่าจะจัดแบบมินิมอล เล็กๆ น่ารัก กลายเป็นว่างานใหญ่เกินกว่าที่เราคาดคิดไว้
เรียกได้ว่า ‘แมส’ (Mass) เลย
ใช่ครับ แมสเลย แต่ข้อเสียก็คือ เราไม่ได้เตรียมตัวกันมาก่อน เราเริ่มต้นจากความสนุก พอมันแมสปุ๊บ ทำไงดี กางเกงแมวมีแค่ 300 ตัว แต่คนอยากได้ 3 หมื่น กลายเป็นว่าคนก็ใส่กันทั้งเมืองในช่วงนั้น เราก็กระตุ้นเศรษฐกิจโดยการให้โรงงานในโคราชเอาลายแมวโมโนแกรมไปใช้ได้เลย ใช้ได้ฟรี คนก็เอาไปผลิตทั้งเสื้อ ทั้งกางเกงแมว ขายเต็มเมือง แล้วมันก็เริ่มดังออกไปนอกโคราช สื่อกระแสหลักทุกช่องมาทำข่าวหมดเลย ตั้งแต่พี่ยุทธ (สรยุทธ สุทัศนะจินดา) เล่าข่าวว่าเกิดกางเกงแมวฟีเวอร์ จังหวัดอื่นๆ เห็นก็ให้ความสนใจ อยากลองทำบ้าง ผมดีใจนะที่คนเห็นกระแสแล้วอยากจะทำลวดลายของตัวเอง แต่ความจริงแล้วสิ่งที่เราทำมันไม่ใช่แค่ทำลวดลายแมว มันมีรายละเอียดเบื้องหลังและมีการวางแผนเยอะมาก ทั้งการจัดประกวด การทำความเข้าใจเมือง เข้าใจวัฒนธรรม กว่าจะออกมาเป็นลายโมโนแกรมแบบนี้
หลังจากนั้นกางเกงแมวก็เดินทางออกนอกโคราช เริ่มเห็นนักท่องเที่ยวใส่ เห็นที่สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ เยาวราช เชียงใหม่ ภูเก็ต มีคนถ่ายรูปแล้วแท็กผมมาเต็มไปหมดเลย พอเราเป็น YEC มีเพื่อนๆ สมาชิกหอการค้าทั่วทั้งประเทศ เขาเห็นกางเกงแมวที่ไหนก็ถ่ายรูปส่งมาให้เรา เพื่อนในทีมก็รู้สึกใจฟู ว่ามันไปได้ไกลขนาดนี้เลยนะ
แล้วถือโอกาสต่อยอดจากกระแสอย่างไรบ้าง
จุดนั้นผมก็มาคิดว่าความจริงแล้วมันก็ไม่ใช่อะไรที่ใหม่ กางเกงแมวก็มาจากกางเกงช้าง คนรู้จักกางเกงช้างอยู่แล้ว ฝรั่งบางคนคิดว่าเป็นอีกลายหนึ่งของกางเกงช้างด้วยซ้ำ สุดท้ายเดี๋ยวมันก็ซา เขาไม่ใส่กางเกงแมวทุกวัน เราเองก็ไม่ได้ใส่กางเกงแมวทุกวัน จะทำอย่างไรให้มันไปได้ไกลกว่านั้น ผมเริ่มสนุกกับมันละ พอมีโอกาสได้ไปคุยกับบริษัทเกม การีนา ออนไลน์ (Garena) ซึ่งเป็นบริษัทเกมยักษ์ใหญ่ระดับโลก เจ้าของเกม Free Fire ที่มีผู้เล่น 560 ล้านคน 160 ประเทศทั่วโลก เราก็เข้าไปคุย
ตอนนั้นคิดว่า คุยคนเดียวอาจจะไม่มีอิมแพคมากพอ ถ้ามีภาครัฐเข้ามาช่วยคุยด้วยมันก็จะเสริมกันไปได้ไกล ช่วงนั้นกระแสนโยบายซอฟต์พาวเวอร์กำลังมา ผมก็เลยเอาเรื่องนี้เข้าไปคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในตอนนั้น ท่านก็ยินดีสนับสนุน แต่เราก็รู้สึกว่ายังไม่พอ บริษัทเขาเป็นบริษัทใหญ่ระดับโลกเลยนะ ก็เลยเข้าไปคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอีกสองกระทรวง ผมติดต่อขอเข้าไปคุย ไปพรีเซนต์เอง เหมือนกับการ pitching เลย ผมเล่าว่าผมกำลังทำอะไรอยู่ ผมทำเรื่องเมือง อยากจะทำให้คนทั้งโลกรู้จักโคราช ทุกท่านยินดีซัพพอร์ตหมด ทีนี้ปัญหาก็คือจะเชิญทุกท่านมาร่วมงานในวันเดียวกันได้อย่างไร ในวันเปิดงานที่มีรัฐมนตรีทั้ง 3 ท่าน ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และผม ทั้งหมด 5 คน มาในงานเดียวกัน ทำเรื่องเดียวกัน คือเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ มันเป็นอะไรที่หาดูได้ยากมากเลยนะ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามมาจากโปรเจกต์นั้นคืออะไร
พอแถลงข่าวออกไปว่ากางเกงแมวไปอยู่ในเกมระดับโลกอย่าง Free Fire ก็ยิ่งทำให้คนรู้จักโคราชมากขึ้น ไม่ใช่แค่คนไทยแล้ว แต่เขารู้จักโคราชไปทั่วโลก จากเดิมที่ไม่เคยเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เราก็เริ่มเห็นตาม งานเทียนพรรษา งานย่าโม เขาใหญ่ก็แน่นเลย เริ่มมีคนต่างชาติมาส่องสัตว์ มาวิ่งเทรล เราถามผู้ประกอบการแถวๆ นั้น เขาบอกว่าเมื่อก่อนไม่เคยเห็นคนต่างชาติมาเท่าไร เพราะเราอาจจะไม่ได้ประชาสัมพันธ์เมืองมากขนาดนั้น พอเริ่มทำคนก็เริ่มสงสัยว่า โคราชคือที่ไหน มีอะไร พอเข้าไปเสิร์ชมันขึ้นข้อมูลเยอะมาก เป็นเมืองมรดกโลก เป็นเมืองที่โอโซนติด Top 7 ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นมีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เชียงใหม่ คนก็เลยย้ายมาเที่ยวเขาใหญ่ด้วยระยะเวลาการเดินทางที่เท่ากัน ไปเชียงใหม่ใช้เวลาบนเครื่องบิน 1 ชั่วโมง รอเครื่องอีก 1 ชั่วโมง เขาใหญ่นี่ขับรถมาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่งจากกรุงเทพฯ ก็ถึงแล้ว คนต่างชาติก็เริ่มพูดถึงแบบปากต่อปาก เริ่มมีรีวิวจากบล็อกเกอร์ นั่นคือผลที่ได้จากการเริ่มทำ Branding ของเมือง
ได้ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดความสำเร็จบ้างไหม
จากนั้น ผมก็ไปทำรีเสิร์ชข้อมูลเชิงลึกต่อว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนอยากมาเที่ยว ทำอย่างไรถึงจะยั่งยืน ผมก็ดูโมเดลของหลายๆ เมือง อย่างเวลาเราไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เรามักจะไปเที่ยวแค่เมืองหลักอย่างโตเกียว ฮอกไกโด เราไม่ค่อยจะรู้จักเมืองรองเท่าไรนัก คุมาโมโตะเป็นเมืองรอง แต่เขาทำอย่างไรให้คนสนใจ สิ่งที่เขาทำคือทำให้เมืองเป็นที่รู้จักด้วยคาแรกเตอร์ดีไซน์ ก็คือหมีคุมะมง คนไทยยังรู้จักหมีก่อนจะรู้จักเมืองเสียด้วยซ้ำ ผมก็เลยทำเลย…มาดูว่าเมืองเรามีอะไรที่น่าสนใจ แล้วก็พบว่าสิ่งที่น่าสนใจก็คือ แมว
มีคัมภีร์โบราณเขียนเอาไว้ว่า แมวสีสวาดมีต้นกำเนิดที่จังหวัดโคราช อำเภอพิมาย ใครที่ได้ครอบครองแมวสีสวาดจะโชคดี เจ้าขุนมูลนายก็จะมอบเป็นของขวัญให้กัน ในหน้าแล้งแมวสีสวาดก็จะเป็นแมวมงคลที่ขอฝนจากเทวดาได้ พอผมได้ไอเดียปุ๊บก็นั่งวาดรูปแมวเลย วาดๆๆ ไปหลายแบบ ผมสังเกตเห็นว่าคาแรกเตอร์แมวส่วนมากจะยิ้ม แต่แมวที่เป็นมีม (meme) ทำหน้าบึ้ง มันดูตลกดี ผมชอบมีมพวกนี้อยู่แล้ว ก็เลยเอามาใช้เป็น reference
‘เจ้าเมื่อย’ เวอร์ชันแรกที่ผมทำคืออาร์ตทอยส์แมวกวัก ด้วยความที่แมวสีสวาดเป็นแมวมงคล ผมลองคิดว่าถ้าผมเป็นแมวที่ทำหน้าที่กวักเงินกวักทองทั้งวัน ผมเซ็ง ผมเหนื่อย ผมเบื่อชัวร์ มันก็เลยเข้ากับที่ผมอยากทำให้แมวมันหน้าบึ้งอยู่แล้วด้วย กลายมาเป็นเรื่องราวของน้อง ชื่อเจ้าเมื่อยนี่ จริงๆ แล้วมีความหมายเชิงบวกนะครับ มันคือ ‘นับเงินจนเมื่อย กวักเงินจนเมื่อย หาเงินจนเหนื่อย’ พอเราออก เจ้าเมื่อย มาปุ๊บ พี่ยุทธก็เอาไปอ่านออกรายการข่าวอีกรอบ เรียบร้อย คนจองเต็มอีกเหมือนกัน คนจีนชอบมาก
แล้วคาแรกเตอร์ ‘เจ้าเมื่อย’ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างไรบ้าง
อาร์ตทอยส์ทุกตัวผลิตในเมืองโคราชหรือไม่ก็เมืองใกล้เคียง เป็นผลงานของศิลปินที่มีฝีมือ ไม่ได้ใช้โรงงานผลิต เราอยากกระตุ้นทุกทางเท่าที่เราจะทำได้ ในแต่ละกล่องจะมีแผ่นทองคำที่มีคำอธิบายว่า เจ้าเมื่อยคืออะไร พอคนจีนชอบแล้วก็ซื้อๆๆ ไป ก็ยิ่งทำให้มันดัง พอเจ้าเมื่อยเริ่มดัง ผมก็เอาคาแรกเตอร์นี้มาสื่อสารว่า เมืองของเรามีอะไรดีๆ บ้าง คนเห็นกางเกงแมวก็อาจจะลืมไปแล้ว แต่ถ้าเห็นหน้าเจ้าเมื่อยก็อยากให้คิดถึงโคราช
เจ้าเมื่อยนี่ไปช่วยต่อยอดสินค้าชุมชน อยู่ในแพ็กเกจจิ้งของดีของฝากต่างๆ รวมถึงของขวัญปีใหม่ด้วย เปิดกล่องออกมาปุ๊บจะเจอผัดหมี่โคราชรูปแบบใหม่ และยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ แทนที่จะต้องหิ้วกระเช้าที่ไม่มีเรื่องเล่า กลายเป็นว่าซื้อของฝากเจ้าเมื่อยเราก็จะมีเรื่องเล่าแนบไปด้วย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในเมือง ช่วยวิสาหกิจรายย่อย ช่วงปีใหม่ใครๆ ก็อยากกลับบ้าน ผู้ค้ารายย่อยเขาก็อยากมีรายได้ด้วยเหมือนกัน พอซื้อสินค้าปุ๊บ ชุมชนก็มีรายได้เข้าทันที เขาอาจจะขายไม่เป็นแต่เขาผลิตของเก่ง เราก็ช่วยทำแพ็กเกจจิ้งให้เลย ขายให้ด้วย คุณรอรับเงินก็พอ จากเดิมที่ต้องซื้อของฝากจากรายใหญ่ไม่กี่เจ้า รายได้ตรงนี้ก็จะถูกแบ่งมาให้วิสาหกิจรายย่อยด้วย คนก็ยิ่งอยากสนับสนุนเรา


ดูเหมือนกับว่าการออกสินค้ามาแต่ละตัว จะเป็นการก้าวไปข้างหน้าทีละก้าว ในอนาคตจะส่งไม้ไปสู่เรื่องอื่นๆ อีกไหม?
ตอนนี้ เจ้าเมื่อยก็สามารถเดินด้วยตัวของมันและสามารถช่วยเมืองได้แล้ว สิ่งที่ผมจะทำต่อก็มีเรื่องการสร้างวัฒนธรรมให้คนในเมืองมีความคิดสร้างสรรค์ มี Creative Mindset สามารถทำได้แบบที่ผมกับเพื่อนๆ ทำ ผมไม่จำเป็นต้องผูกขาดว่าจะต้องเป็นแมวผม หรือเป็นสินค้าครีเอทีฟดีไซน์ของใคร ผมแค่ต้องการกระตุ้นว่า ถ้าคนในเมืองมีความคิดสร้างสรรค์กันคนละเรื่อง รวมกันแล้วมีหลายๆ เรื่อง เมืองโคตรจะมีสีสันเลย เมืองจะมีหลายๆ เรื่องที่คนอยากจะพูด เมืองจะมีหลายๆ เรื่องที่คนอยากจะเล่า ตอนนี้ผมเลยลงไปทำงานกับหลายกลุ่มมาก กลุ่มครีเอทีฟ นักออกแบบ กลุ่มเพลง บีทบ็อกซ์ กลุ่มดีไซน์ เยอะแยะไปหมด พอเป็นคนรุ่นใหม่ เขาก็มีเรื่องราวที่อยากจะพูดในสไตล์ของเขา ล่าสุดคืองาน Korat Graffiti City ก็เป็นงานที่พี่ๆ น้องๆ ในเมืองจัดด้วยกัน เอาศิลปิน Graffiti จากต่างประเทศอย่างยุโรปบ้าง สิงคโปร์บ้าง ญี่ปุ่นบ้าง มาคอลแลบกับศิลปินในโคราช สร้างสีสันให้เมือง
ผมเป็นแค่จุดเล็กๆ จุดหนึ่งในโคราชที่อยากจะบอกว่าถ้าคนโคราชอยากจะทำอะไร เราทำได้นะ เราทำได้โดยที่เราไม่มีกรอบ ไม่ต้องคิดว่าเราจะทำได้ถึงแค่ไหน ขอให้เราได้ลองทำ เราทำได้กันทุกคนนั่นแหละ ถ้าเกิดมีจุดแบบผมเยอะๆ จุดแบบเพื่อนผม หรือจุดแบบพี่ผมเยอะๆ แต่ละจุดอาจจะไม่เหมือนกัน แต่รับรองว่าพอมาต่อกันมันจะกลายเป็นภาพใหญ่และชัดขึ้นแน่นอน ที่เราทำอยู่คือ Grouping บ่มเพาะ สร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ และให้โอกาสคน สร้างคนที่เป็นรุ่นน้องเราและผลักดันคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น
งาน Learning Fest ที่เราร่วมจัดกับ TK Park ในธีม Korat Cat 361° เป็นครั้งแรกที่ทำเรื่องแมวในสายงานสร้างสรรค์อย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้อาจจะเคยจัดงานประกวดแมวกันมา แต่ยังไม่ใช่การเอาความคิดสร้างสรรค์เข้ามาเกี่ยวข้องเท่าไหร่ รอบนี้เราจะเอาความสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ เข้ามาแตะคำว่า ‘เมืองของแมว’ แมวจะต่อยอดเป็นอะไรได้อีกบ้าง ผมมองว่าผมเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่จะมีจุดอื่นๆ เกิดขึ้นอีกเยอะเลย เวลาน้องๆ เห็นว่าเราทำได้ ก็จะมีกำลังใจขึ้น “พี่ทำได้ พี่บอกผมด้วยนะว่าทำยังไง คอนเนกให้ผมหน่อย” มันก็จะทำให้เขารู้สึกสนุก รู้สึกอยากทำ
ถือว่าเป็นการบ่มเพาะด้วยวิธีการทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้วชวนมาลงมือทำด้วยกันหรือไม่
ใช่ครับ ใช่เลย พอเราทำให้เห็นแล้ว สิ่งที่ทำให้มันไปต่อได้คือผู้ใหญ่ให้โอกาส ตรงนี้สำคัญมาก พอผู้ใหญ่เห็นฝีมือ เห็นความตั้งใจ เขาค่อนข้างจะให้พื้นที่กับเรา เมืองก็จะเป็นเหมือนสวนสนุกของคนรุ่นใหม่ที่อยากจะทำเพื่อเมือง เมืองขาดอะไรไป เราก็จะหยิบเรื่องนั้นมาทำ
ถ้ามองในแง่ของทรัพยากร เช่น ‘งบประมาณ’ และ ‘ความรู้’ คิดว่าโคราชยังขาดอะไรอยู่ไหม หรือว่ามีเพียงพอแล้วแค่ยังไม่ได้กอบมากองรวมกัน
ผมว่าขาดทุกอย่าง และเมืองอื่นก็ขาดเหมือนกัน ขนาดเมืองใหญ่อย่างเราที่คนมองว่าได้งบประมาณเยอะ เรายังรู้สึกว่าขาด เมืองอื่นยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย เมืองรองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าเราต้องตั้งต้นจากงบประมาณก่อน แต่มันก็เป็นปัจจัยสำคัญ ทุกๆ คนรวมถึงเราด้วย เวลาจะเริ่มจัดงานก็ต้องตั้งต้นจากงบประมาณ ถึงเราจะยอมขาดทุนได้บ้างถ้างานสนุก แต่เราก็ไม่อยากจะขาดทุนหรือเข้าเนื้อไปเสียทุกรอบหรอก เราเลยต้องพยายามมองว่าเมืองเรามีต้นทุนอะไร เราวาดแผนภาพ ขึ้นโครงร่างก่อนเลยว่าเมืองเรามีทรัพยากรอะไรบ้าง แล้วก็มาแก้ปัญหากัน
เรื่องแรก เรื่องเงิน เราไปคุยกับหน่วยงานต่างๆ ว่ามีงบประมาณเดิมแค่ไหน ต้องจัดงานกี่งาน ผมไปต่อรองว่าถ้ามีสัก 10 งาน ขอให้พวกผมได้ลองสัก 1 งานได้ไหม ตอนที่เราเริ่มทำพวกเรายังอายุแค่ 24-25 อยู่เลย ถ้าไปแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมซึ่งผู้ใหญ่นั่งกันเต็มไปหมดก็คงจะไม่มีใครซื้อไอเดียหรอก เราเลยใช้วิธีทดลองให้เห็นก่อน ขอลองดูก่อน แค่งานเดียวก็พอ ขอทำให้เห็น ให้งบฯ เท่าไหนก็เอาเท่านั้น ถ้าขาดทุนพวกผมซัพพอร์ตเอง มันก็เลยกลายเป็นว่าเราไม่ได้ขาดงบประมาณแล้ว แต่เป็นการมองว่า เรามีทุนเริ่มต้นแค่ไหน เราทำได้แค่ไหน ถ้าเราอยากทำให้ได้มากกว่านี้ เราจะหาสปอนเซอร์จากที่ไหนมาเพิ่มเติม จากเพื่อนๆ ของเราได้ไหม เขาก็ได้ประชาสัมพันธ์สินค้าใหม่ เราก็ได้งาน ไม่มีใครเสียหาย
เรื่องที่สอง เรื่องความรู้ เราขาดแน่นอน คนที่มีโอกาสได้ไปเห็นข้างนอกก็จะมีองค์ความรู้ไม่เท่ากันกับคนที่อยู่แค่ในเมือง สิ่งที่เราทำคือ เราเชิญคนที่สำเร็จแต่ละด้านมาเป็นที่ปรึกษา ยกตัวอย่างเช่น ผมรู้จักกับ ป๋าเต็ด (ยุทธนา บุญอ้อม) ป๋าต้องมาจัดงาน Big Mountain ทุกปีอยู่แล้ว คนโคราชอย่างพวกผมอยากได้ไอเดีย อยากได้ know-how จากป๋า ขอแค่ไปดูเบื้องหลังการจัดงานได้ไหม ก่อนจะเกิดงานมันต้องมีขั้นตอนอะไรบ้าง ป๋าบอก เอาสิ ยินดี นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้เรื่องการจัดงานของพวกเรา เราพาคนโคราชไปเรียนรู้เรื่องเวที เรื่องงานเบื้องหลัง ป๋าก็จะคอยแนะนำว่าต้องคิดแบบนี้นะ วางโครงสร้างแบบนี้นะ คนก็จะได้ความรู้พื้นฐานจากคนที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว คือ ป๋าเต็ด
เรียนรู้แบบนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมากกว่านั่งอบรมกันในห้องหรือเปล่า
ใช่ครับ เป็นโครงการแรกที่ผมทำและภูมิใจเสนอมาก อาจจะเป็นเพราะผมเป็นคนที่กล้าจะต่อรอง กล้าที่จะคุยด้วย ไหนๆ ป๋าก็จะต้องจัดงานอยู่แล้ว ขอเวลาสักครึ่งวันช่วยพาเราทัวร์หน่อยเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ พอมีแรงบันดาลใจปุ๊บ คนกลุ่มนี้ก็สามารถกลับไปจัดงานเล็กๆ ในเมืองของเราต่อได้ บอกได้เลยว่าพอไปเห็นของจริงแล้วต้องตาวาว เดินดูงานกันจนเหนื่อย
ตอนนี้เราก็มีทั้งเงินทุน และมีแรงบันดาลใจที่ได้จากคนที่ทำสำเร็จมาก่อนแล้ว สำเร็จแบบเฉพาะด้าน ด้วย เช่น เรื่องการจัดงานเฟสติวัลใหญ่ๆ ก็ต้องป๋าเต็ด ถ้าเราอยากจะจัดงานดนตรี ก็ต้องหาผู้ที่เชี่ยวชาญในวงการเพลงมาทำให้เราได้พัฒนามุมมองให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเขา บางทีเราสื่อสารกันไม่เข้าใจนะ สมมติว่าผมมีความรู้ 10 เพื่อนอีกคนมี 15 อีกคนหนึ่งมี 5 ทำอย่างไรจะให้ทุกคนมองจากมุมเดียวกันได้ นั่นคือปัญหา แล้วไหนจะต้องมาคุยกับคนในทีมที่เป็นนักศึกษาที่มีความตั้งใจแต่อาจจะไม่มีโอกาสได้เรียนรู้มาก่อน ความรู้เป็น 0 เลย เราก็ให้นักศึกษาไปดูงานเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ จะได้สื่อสารกับเราได้เข้าใจ ในเมืองโคราชเราไม่ได้ทำงานกันแค่ในกลุ่ม YEC อยากจะดึงคนในเมืองนี่แหละมาทำงานด้วย เลยไปเชื่อมโยงกับกลุ่มนักศึกษา นักสร้างสรรค์ เราอยากให้ทุกฝ่ายทำงานกลมกลืนเข้ากัน ไม่ใช่ต่างคนต่างจัด ก็มาคุยกันก่อนว่าอยากจัดงานให้ได้แบบไหน แต่ละกลุ่มช่วยอะไรได้บ้าง ดังนั้น ความรู้สำคัญมาก เราต้องพาเขาไปเปิดโลกเยอะๆ ยิ่งเยอะเท่าไร เมืองเราจะยิ่งมีสีสันมากขึ้นเท่านั้น
อย่างที่สามที่จำเป็นต้องมี คือเขาต้องรู้จักเมืองตัวเองให้มาก เมื่อรู้จักเมืองมากๆ เขาจะยิ่งรู้ว่าเรามีของดีอะไรบ้าง ถ้าตอนที่ผมกับทีมทำ Branding เมือง แล้วเราไม่รู้ว่าโคราชมีดีอะไร เราก็คงเขียนโครงการไม่ออกหรอก แต่เรารู้ว่ามีแมวนะ มีปราสาทหินนะ มีอะไรเยอะแยะไปหมด เราถึงมีวัตถุดิบที่จะสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ได้

Cover Photo: Jirapisit Joe Rutcharoen