อ่านชีวิตและเรื่องเล่าในแบบฉบับของ ‘Readery’

28 views
6 mins
October 1, 2024

          ไม่ว่าคุณจะเป็นนักอ่านที่ชื่นชอบหนังสือแบบไหน อย่างน้อยที่สุดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคงเคยได้ยินชื่อ ‘Readery’ แน่ๆ  เพราะร้านหนังสือออนไลน์แห่งนี้จะคอยดักเจอคุณอยู่ในทุกหนแห่งบนโลกอินเทอร์เน็ต ในยุคที่โซเชียลมีเดียเบ่งบาน

          วันที่คุณอยากได้หนังสือมาอ่านสักเล่ม Readery จะทำหน้าที่คอยป้ายยาหนังสือเก่าใหม่ทุกแขนง วันที่ชีวิตคุณต้องการการปลอบประโลม Readery Podcast จะชี้ชวนให้เห็นว่า ดูหนังสือเล่มนั้นสิ มันอาจมีคำตอบที่คุณต้องการซ่อนอยู่หน้าใดหน้าหนึ่งก็ได้ ความเป็น Readery จึงเป็นเสมือนคำคุณศัพท์ที่ไม่ว่าจะไปแปะอยู่บนสิ่งไหนก็ดูน่าเสน่หาไปเสียหมด

          สาเหตุคงเป็นเพราะว่า Readery ถูกปลุกปั้นขึ้นมาโดยคนรักหนังสือ อย่าง ‘โจ้’ อนุรุจน์ วรรณพิณ และ ‘เน็ต’ นัฏฐกร ปาระชัย สองนักอ่านที่ทำให้คติ ‘Reading is Sexy’ กลายเป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่เพียงข้อคิดเห็น

อ่านชีวิตและเรื่องเล่าในแบบฉบับของ ‘Readery’

คาถาข้อเดียวในการทำร้านหนังสือให้รอด…อย่าขาดทุน

          ในยุคที่คนเชื่อกันว่า ถ้าไม่รวยอย่าริอ่านเปิดร้านหนังสือ/คนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัด/วงการหนังสือเล่มกำลังจะตาย ฯลฯ แต่ร้านหนังสือที่ไม่มีหน้าร้านอย่าง Readery ยังคงดำเนินธุรกิจมาได้จนย่างเข้าสู่ปีที่ 10

          อะไรคือเคล็ดลับนั้น?

          เน็ต: ตอบในแง่ธุรกิจก่อนคือ ร้านขายหนังสือมันเป็นธุรกิจที่ตรงไปตรงมามากเลย ถ้าเราเป็นแค่ร้าน ไม่ได้เป็นผู้ผลิต ไม่ได้เป็นสำนักพิมพ์ ไม่ได้ผลิตเอง ก็ต้องไปซื้อมา ไปรับเขามาวาง หรือฝากขาย เพราะฉะนั้นหมวดธุรกิจมันมีแค่นี้ คือซื้อมาหรือฝากขาย

          margin ของมันก็แล้วแต่การเจรจา ตรงนี้เป็นข้อมูลที่ทุกคนควรจะรู้เมื่อเริ่มมาทำร้านหนังสือ คือให้คิดไปเลยว่า margin ร้านหนังสืออยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ อธิบายคร่าวๆ ว่า หนังสือ 100 บาท ร้านได้ 25 บาท โจทย์สำคัญมันเลยไม่ได้อยู่ที่เป็นออนไลน์หรือหน้าร้าน แต่อยู่ที่เรามี 25 บาท จะเอามาบริหารให้มันอยู่รอดได้ไหม มันง่าย ตรงไปตรงมาแค่นี้ เพราะโปรดักต์หนังสือเราทำราคาไม่ได้ ถ้าเราขายเสื้อผ้า อันนี้ดีไซน์เจ๋ง เรา mark up ไปเลย 100 เปอร์เซ็นต์ 200 เปอร์เซ็นต์ เห็นกำไรแน่ๆ แต่อันนี้ถ้าเราขายเกินราคาหน้าปก ก็ผิดกฎหมายอีก ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นโจทย์มันบีบมากๆ ก็คือ 25 เปอร์เซ็นต์ ทำอย่างไรก็ได้ให้อยู่ได้

          เมื่อ 10 ปีที่แล้วก่อนจะทำร้านหนังสือออนไลน์ พวกเราก็ลองกดเครื่องคิดเลขแล้วว่าจะไปเปิดร้านที่เชียงใหม่ ด้วย margin 25 เปอร์เซ็นต์ ทั้งค่าคน ค่าบริหาร ส่วนลดให้ลูกค้า แล้วยังเหลือกำไรอยู่ได้ไหม คำตอบในมุมของเราก็คือ เราอยู่ไม่ได้

          โจ้: ทำไมถึงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ก็คืออย่าขาดทุน (หัวเราะ) ทำให้ได้กำไรก็อยู่ได้แหละ แต่ถ้าจะตอบให้เป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากเปิดร้านหนังสือตอนนี้ เราว่าการเปิดร้านหนังสือ ส่วนใหญ่ทุกคนจะคิดถึงการตลาด ยอดขาย แต่สิ่งที่คนไม่ได้คิดถึงเลยและควรคำนึงถึงให้มากๆ ก็คือการบริหารค่าใช้จ่าย มันจะเป็นตัวช่วยให้ร้านอยู่ได้ระยะยาว

          เน็ต: แต่อีกครึ่งหนึ่งคือเรื่องของแบรนดิ้ง แบรนดิ้งของร้านคืออะไร ถ้าจะพูดถึงเรื่องดีเอ็นเอของ Readery ก็ต้องย้อนไปตั้งแต่วันแรกว่า จริงๆ เราเริ่มต้นจากการเป็นคนอ่านหนังสือ ไม่ได้เริ่มต้นจากความคิดว่าเราจะอยู่จุดไหนในวงการ เราอยู่ในฝั่งผู้เสพอย่างเดียวเลย เพราะฉะนั้นดีเอ็นเอที่เอามาก็เป็นเรื่องของคนอ่านหนังสือทั้งนั้นเลย ว่าเราจะทำร้านหนังสืออย่างไรให้คนที่ชอบอ่านหนังสือเขารักและซื้อจากเรา

อ่านชีวิตและเรื่องเล่าในแบบฉบับของ ‘Readery’

เลือกหนังสือไว้อ่านด้วยชีวิต

          ความน่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งของร้านหนังสือ โดยเฉพาะบรรดาร้านหนังสืออิสระ ก็คือไม่ว่าเราจะเดินเข้าร้านไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกแบบไหน ก็จะเจอหนังสือแบบที่เรากำลังต้องการอยู่เสมอ ร้านหนังสือออนไลน์อย่าง Readery ก็เช่นกัน

          นับตั้งแต่วรรณกรรมเยาวชน หนังสือฮาวทู งานแปลขายดีตลอดกาล หนังสือพัฒนาตัวเอง หนังสือว่าด้วยประวัติศาสตร์และการเมืองไทย ฯลฯ พอได้คลิกดูคำอธิบายหรือเรื่องย่อแล้วก็เหมือนได้เห็นหนังสือนั้นกวักมือเรียกหย็อยๆ ราวกับ Readery อ่านใจนักอ่านได้ก็ไม่ปาน

          น่าสนใจว่าการเลือกหนังสือที่กว้างและลึกเช่นนี้ ขัดกับมายาคติที่ว่า ‘คนรุ่นใหม่ไม่อ่านหนังสือยาก’ ‘คนออนไลน์ไม่อ่านหนังสือยาว’ หรือมายาคติสุดคลาสสิกที่บอกว่า ‘การอ่านวรรณกรรมเป็นความบันเทิงของคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น’

          เน็ต: ตั้งแต่แรกที่ทำ Readery โจทย์ของเราตอนนั้นก็คือ เรารู้สึกว่าการอ่านวรรณกรรมไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ใช่เรื่องขึ้นหิ้ง ไม่ต้องปีนบันได ถ้าเรียกว่ามันเป็นมายาคติไหม มันอาจจะเป็นมายาคติก็ได้ พอได้ยินคำว่างานวรรณกรรม คำพูดที่เข้ามาในชุดแรกๆ ก็คือยาก อ่านไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นเรื่องแรกๆ ที่เราทำก็อาจจะถอดมายาคติเรื่องนี้ก่อน มันเป็นของเท่ๆ อันหนึ่ง เอาไว้ถ่ายรูปก็ได้

          เรานึกถึงเรื่องแบบนี้ สมมติว่ามีเด็กสักคนหนึ่งปิดเทอม ไปอยู่บ้านยายต่างจังหวัด ถ้ายายเตรียมหนังสือเด็กให้ กับยายไม่เตรียมหนังสือเด็กให้ แต่ที่บ้านยายมี Moby-Dick (โมบี้-ดิ๊ก โดย เฮอร์แมน เมลวิลล์) อยู่เล่มเดียว พอเด็กไปอยู่ 3 เดือน อ่าน Moby-Dick คำถามคือ เด็กมันจะคิดไหมว่าอันนี้หนังสือยากหรือหนังสือไม่ยาก ก็เด็กมันไม่รู้นี่ ผู้ใหญ่จัดหนังสือเด็กให้ เด็กก็อ่านหนังสือเด็กสิ แต่ถ้าผู้ใหญ่จัด Moby-Dick ให้ เด็กก็อ่าน Moby-Dick ความยากมันไม่ได้อยู่ในหัวของเด็ก แต่อยู่ที่ว่าถ้าเขาหยิบ Moby-Dick มาแล้วเกิดไม่ชอบ เขาก็ไม่อ่าน แต่ถ้าเขาสนุก ชอบ เขาก็จะอ่านต่อไง เขาไม่จำเป็นที่จะต้องอ่านแค่หนังสือเด็ก

          ถ้าฟังจากเรา เราก็อาจจะไม่ได้พูดออกไปว่าหนังสือทำให้คุณฉลาด เพราะมีคนเป็นร้อยพูดออกไปแล้วไง แต่ว่าคนที่ยังไม่ได้พูดก็คือ หนังสือกับชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน การอ่านเพื่อรับรู้ผู้คนที่อยู่ในนั้น แล้วมันเชื่อมโยงกับการใช้ชีวิตของเรา การเผชิญกับอุปสรรคอะไรบางอย่าง การเอาตัวรอด การมีความสุข หรือการจะมีชีวิตอยู่ต่อได้ยังไง นี่เป็นมุมที่คนยังพูดถึงน้อยอยู่

          โจ้: พี่เน็ตพูดมีประเด็น มันไม่ใช่เรื่องยากหรือไม่ยาก มันคือเรื่องชอบหรือไม่ชอบ เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือเรียนตอนปิดเทอมนะ ไม่ได้อ่านเพราะอยากเรียนเก่ง แต่อ่านเพราะว่าชอบ สนุกที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ

          เน็ต: ก็เหมือนกับ ป.2 เราอ่าน มานะมานี ไปแล้ว ป.3 เราก็อยากรู้ว่ามานะมานีไปไหน มันก็เหมือนนิยายเรื่องหนึ่ง

          โจ้: แล้วเราก็ไม่รู้สึกว่ามันยากเลย แต่ถ้าใครมาบอกว่า แกๆ อ่านหนังสือของรุ่นพี่มันยากมากเลยนะ มันก็จะถูกบล็อกความคิดจาก mindset เราว่ามันยากนะ ดังนั้นหนังสือมันมีแต่ชอบกับไม่ชอบ แต่เราก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ชอบนะ เราอ่านเล่มนี้แล้วไม่ชอบก็ไม่เห็นจะเป็นไร คนอื่นเขาชอบก็มี มันไม่ได้หมายความว่าหนังสือดีหรือไม่ดี มันวัดอะไรใดๆ พวกนั้นไม่ได้

          การอ่าน ถ้ามันเป็นธรรมชาติที่เข้ากันกับชีวิตมันจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือที่เรียกว่าการเติบโตไปเรื่อยๆ มันเปลี่ยนแปลงตามเราไปเรื่อยๆ เราอาจจะเพิ่งเริ่มอ่านหนังสือตอนอายุ 50 แล้วอ่านวรรณกรรมเยาวชนล้วนๆ ก็ได้ หรืออาจจะเคยอ่านวรรณกรรมเยาวชนตอนที่เป็นเด็ก แล้วพอโตมาเป็นวัยรุ่นเราอ่าน ‘YA’ (Young Adult Book – ผู้เรียบเรียง) เราอ่านนิยายวรรณกรรมหนักขึ้น เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ พอพูดว่าเป็นธรรมชาติ หนึ่งคือ แต่ละคนมีความยูนีคของใครของมันไม่เหมือนกัน

          เพราะฉะนั้นมองการอ่านให้เป็นการอ่านด้วยชีวิต ที่เราพูดบ่อยๆ คือ เฮ้ย วันนี้เซ็งๆ อ่านเล่มนี้ดีกว่า วันนี้อยากเข้าใจเรื่องบางเรื่องก็หยิบเล่มนี้มาอ่าน มันไม่ได้มีกฎว่าถ้าคุณเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้วคุณจะต้องอ่านอย่างนี้อย่างนั้น แล้วที่สำคัญอย่าแปะป้ายตัวเองว่าฉันเป็นนักอ่านสายแข็ง ฉันต้องอ่านวรรณกรรมเท่านั้น คือเราเป็นทุกอย่างแหละ มนุษย์น่ะ เราเป็นทั้งคนทำงานด้วย เป็นคนที่มีแฟน เป็นคนอกหัก เราไม่ได้ทำงานตลอดเวลา บางวันเราก็ไม่อยากอ่านหนังสือก็ไม่เป็นไรเลย เราเป็นมนุษย์ เราเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าเราเข้าใจตัวเองว่าธรรมชาติของเราเป็นอย่างไร หนังสือเล่มที่ถูกต้องมันจะมาโผล่ตรงหน้าเราเอง

อ่านชีวิตและเรื่องเล่าในแบบฉบับของ ‘Readery’

‘ชีวิต’ และ ‘เรื่องเล่า’ สองคำสำคัญในดีเอ็นเอของ Readery

          ขณะที่ Readery เติบโตมาเป็นร้านหนังสือออนไลน์ขวัญใจนักอ่าน อีกมุมหนึ่งของโจ้และเน็ตก็ยังก้าวออกไปทำสิ่งอื่นอยู่แทบจะตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น ‘Readery Podcast’ พอดแคสต์ที่กดฟังเมื่อไรเป็นต้องได้สั่งหนังสือเล่มใหม่เมื่อนั้น ‘Rewrite’ เวิร์กชอปที่ใช้งานเขียนเป็นเครื่องมือเรียนรู้ชีวิต และ ‘Jo & Nes’ ช่องยูทูบที่ทำให้การนั่งฟังคนคุยกันเรื่องทั่วไปนาน 2 ชั่วโมงเต็มไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อแต่อย่างใด

          เรียกได้ว่าที่ผ่านมาเราอาจจดจำภาพของ โจ้-เน็ต ในฐานะเจ้าของร้านหนังสือออนไลน์ แต่ในขวบปีที่ 10 ของ Readery เราจะได้เห็น โจ้-เน็ต เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์เต็มตัว

          เน็ต: บทสนทนาที่มันเกิดขึ้นหลังจากเราทำพอดแคสต์ เราเริ่มเจาะลงไปมากขึ้นว่า storytelling ทำงานอย่างไร แล้วสิ่งนี้มันเกี่ยวกับชีวิตของคนที่อยู่ในหนังสือและชีวิตของเราข้างนอกอย่างไร

          เรามี 2 คำที่คิดว่าน่าจะเป็นดีเอ็นเอสำคัญของเราสองคน คือ คำว่า story กับคำว่า life ตั้งแต่ก่อนที่เราจะทำ Readery ตอนโตมา จนกระทั่งถึงวันนี้ สองคำนี้มันชัดมากๆ นอกจากการทำร้านหนังสือแล้ว ดีเอ็นเอของเรายังสะกิดเราด้วยว่า เฮ้ย เราทำอะไรได้อีกบ้าง ประโยคนี้มันผุดขึ้นมาเรื่อยๆ

          โจ้: ถ้าใครอ่าน Sapiens (เซเปียนส์ ประวัติย่อมมนุษยชาติ โดย ยูวัล โนอาห์ แฮรารี) จะรู้ว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตนักเล่าเรื่อง เราชอบเรื่องราว ชอบฟัง ชอบการนินทา ชอบเล่าต่อๆ กัน อันนี้คือ ดีเอ็นเอของมนุษย์เลย ไม่ใช่ของ Readery หรอก เพียงแต่ว่าเรามาขีดเส้นใต้ว่า นี่คือธรรมชาติของพวกเธอนะ มนุษย์เราชอบการเล่าเรื่องว่ะ

          เวลาพูดถึงเรื่องเล่า เรื่องเล่าจะประกอบด้วย 2 เรื่องคือ visible story เรื่องที่เห็นได้ เช่น เรื่องที่เราอ่าน กับ invisible story คือเรื่องที่เรามองไม่เห็น เราถามคำถามนี้กับทุกคนเสมอว่า เวลาที่เราอ่านหนังสือ เราเห็นอะไรระหว่าง หนึ่ง ตัวหนังสือ กับ สอง เรื่องเล่าหรือตัวละครที่อยู่ในนั้น ถามตัวเองดูสิ เวลาเราอ่านนิยาย เราจะข้ามเข้าไปเห็นเรื่องราวของตัวละคร เราจะเข้าไปอกหัก ผจญภัย แล้วถ้าพูดถึงเรื่องเล่า หนังสือก็เป็นสื่อหนึ่ง สื่ออื่นๆ มันก็มีเรื่องเล่าแบบนี้ตลอดเวลา ดังนั้นอย่างที่พี่เน็ตพูดก็คือ story กับ life ต่างหากที่เป็นดีเอ็นเอของพวกเราอยู่

          เรามีอย่างอื่นที่ทำให้คนเริ่มเห็นเรา เช่น คนเริ่มเห็นเราทำ Readery Podcast คนเริ่มเห็นความคิดของเรา เริ่มเห็นเราทำคลาส หลายคนก็ค่อยๆ รู้จักเราจากมุมอื่นๆ มากขึ้น คือ Readery ยังไงก็ยังเป็นร้านหนังสือออนไลน์อยู่ แต่พี่โจ้พี่เน็ตไม่ใช่ร้านหนังสือออนไลน์นี่ (หัวเราะ) แล้วพี่โจ้พี่เน็ตก็ไม่ได้เป็นพอดแคสต์ พี่โจ้พี่เน็ตก็เป็นคนที่มีมุมอื่นๆ อีกเยอะ

          เน็ต: สมมติว่าเรามีกระป๋องน้ำอยู่ 10 ใบ แล้วใบ Readery เราก็เติมเต็มแล้ว แล้วเขาก็ไปได้เรื่อยๆ ด้วยตัวเอง แต่ว่ากระป๋องน้ำอีก 9 ใบของเราก็ยังรออยู่ มันมีอีกหลายกระป๋องเลยที่เราจะต้องไปเติม แค่ไม่ใช่กระป๋องที่ไปต่อท้าย Readery แต่ดีเอ็นเอของเราไม่เคยเปลี่ยน เพียงแต่ว่าเราจะจับดีเอ็นเอเราไปทำอะไรต่อ แล้วมันยังเป็นดีเอ็นเอเดิมอยู่เลย ซึ่งดีเอ็นเอของ Readery Podcast ก็มาจากดีเอ็นเอของการทำร้านหนังสือ

อ่านชีวิตและเรื่องเล่าในแบบฉบับของ ‘Readery’

ปัจจุบันและอนาคตของการอ่านการเขียน

          แม้ว่าจะผ่านมาแล้วเกือบ 10 ปี แต่โจ้กับเน็ตยังคงยืนยันอยู่เสมอว่า Readery ไม่ได้มีอิทธิพลในวงการหนังสือ เป็นก็แต่เพียงตัวแทนของนักอ่านเท่านั้น กระนั้นเองในฐานะของนักอ่านที่ได้ยินสุ้มเสียงของนักอ่านด้วยกัน พวกเขามองเห็นความเปลี่ยนแปลงของนักอ่านในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาได้ชัดเจน แถมยังเป็นเรื่องน่ายินดีและน่าตื่นเต้นเสียด้วย ขณะเดียวกัน Readery ก็มีเรื่องที่อยากส่งเสียงไปถึงผู้ผลิตอยู่ด้วยเช่นกัน

          เน็ต: ตั้งแต่ทำร้าน Readery แล้วมาทำพอดแคสต์ ก็เจอกลุ่มคนอ่านที่ซื้อหนังสือจากเรา ฟังเราอยู่ ไปพร้อมๆ กับที่เราก็อ่านหนังสืออะไรต่างๆ ในรอบ 10 ปีนี้ด้วย สิ่งที่เราสังเกตก็คือว่า คนยุคนี้ทะลุกรอบของหนังสือประเทศไทยไปแล้ว เราก็เชียร์ด้วย เพราะว่ามันมีหนังสืออีกปริมาณมหาศาลเลยที่ถูกผลิตขึ้นมาในโลกนี้

          ถ้าเราไม่ขยายตัวเองจนข้ามเส้นแบ่งนี้ได้ เราก็จะรู้สึกว่าวงการหนังสือคือวงการหนังสือไทย แต่ถ้าเกิดเราข้ามเส้นไปแล้ว เส้นที่หนึ่งคือเรื่องภาษา เส้นที่สองคือขอบเขตของประเทศ มันจะมีเรื่องของผู้คนที่คนละวัฒนธรรมกับเรา แต่ว่าด้วยความเป็นมนุษย์ ความเป็นชีวิต มันมีหลายๆ อย่างที่เชื่อมโยงกัน มันเป็นเรื่องของ life

          โจ้: อย่าง Readery ก็มีคนลาว หรือคนต่างประเทศซื้อ มันไม่ใช่หนังสือของใคร มันเชื่อมโยงกันได้หมด เจ๋งเนอะ

          เอาจริงๆ พ.ศ. นี้มันคือยุคทอง ในวงเล็บ — หรือยุคฉิบหาย ของนักอ่านเลยนะ เพราะว่าเรามีชอยส์เยอะมาก ขอบเขตนี้มันไม่ได้จบอยู่แค่กระดาษ 300 แผ่นที่มาเย็บเล่ม เราอาจจะเปิด Netflix แล้วเจอขอบเขตของ story ที่มันกว้างใหญ่มากกว่าเดิม เราถึงพูดว่ามันเป็นยุคทอง มันเป็นยุคสนุกของเรามากเลย ถ้าใครสนุกกับการเชื่อมโยงข้อมูลในหัว มันคือการ connect the dot ถ้าตั้งสติดีๆ ยุคนี้มันมี dot ให้เราเชื่อมโยงกันสนุกเลย

          เราไม่ต้องวิเคราะห์หรอกว่าโลกมันเปลี่ยนแปลงจาก A ไปเป็น B หรือเติบโตจากอะไรไปเป็นอะไร ไม่ต้องกังวลว่าจะเปลี่ยนไหม เพราะมันเปลี่ยนทุกวันอยู่แล้ว เมื่อวานก็เปลี่ยน วันนี้ก็เปลี่ยน พรุ่งนี้ก็เปลี่ยน และมันจะเปลี่ยนแบบไม่มีใครรู้เลย การเปลี่ยนแปลงมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโคตรเร็วและเกิดขึ้นทุกวันในชีวิตเราอยู่แล้ว คำถามคือว่า เราจะสนุกกับการเปลี่ยนแปลง สนุกกับการเติบโตนี้อย่างไรต่างหาก

          เน็ต: เราอยากให้กำลังใจกลุ่มนักเขียนผู้ผลิตเพราะว่าเป็นต้นทาง ก็คือผลิตงานเกี่ยวกับเรื่องชีวิตออกมาเยอะๆ เพราะว่าเรารู้สึกว่ามันมีน้อย อยากอ่านชีวิตของคนไทยเยอะกว่านี้ เหมือนในคลาสพี่โจ้แล้วกัน เรารู้สึกว่าเรื่องเล่าของแต่ละคนที่แชร์กันในคลาส เป็นเรื่องที่สนุกๆ ทั้งนั้นเลย แล้วเมื่อไรที่แชร์ออกมา มันเหมือนเราได้อ่านหนังสืออีกเล่มหนึ่งจากหลายๆ คน โดยที่มันไม่จำเป็นที่จะต้องไปติดว่าฉันเป็นนักเขียนหรือเปล่า แต่ละคนมี story ที่พร้อมจะเล่าได้เสมอ อันนี้แหละที่เรารู้สึกว่าอยากอ่านมากขึ้น ถ้าพูดถึงในแง่ของผู้ผลิตในเมืองไทย

          โจ้: การเปลี่ยนแปลงมันคือชีวิต ชีวิตเป็นธรรมชาติ ถ้าใครไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงก็คือฝืนชีวิต ฝืนธรรมชาติ แล้วอะไรที่เราฝืนธรรมชาติ เราจะเอียงไปในทางที่เรียกว่า low vibe หงุดหงิด เครียด ไม่เข้าใจ เศร้า แต่ถ้าใคร go with the flow กับธรรมชาติ เราจะเอียงไปทาง good vibe เราจะมีความสุข และสนุกกับการได้เห็นโลกเปลี่ยนแปลง

          เราสนุกมากกับการเห็นคอนเทนต์ที่มันหลากหลายและโตขึ้น น่าทึ่ง มีความลึกซึ้ง มีความสนุก มันมีทั้งแนวลึกและแนวกว้างให้เราเอนจอยกับมันมากขึ้น ดังนั้นขอให้กำลังใจทุกคน ลองถามตัวเองว่าเรายังสนุกกับการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ สิ่งอยู่ไหม เพราะนั่นคือชีวิต

อ่านชีวิตและเรื่องเล่าในแบบฉบับของ ‘Readery’


เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ‘Readtopia ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศการอ่านของไทย’ (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก