สองห้องสมุดเมืองพร้าว กับสองสาวที่ชุบชีวิตชุมชนด้วยหนังสือ

1,637 views
7 mins
September 13, 2021

          ราวหนึ่งร้อยกิโลเมตรจากตัวเมืองเชียงใหม่ ศูนย์กลางความเจริญและแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เป็นที่ตั้งของ ‘พร้าว’ อำเภอที่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยรู้จัก และมักเป็นเส้นทางผ่านไปยังอำเภออื่นๆ พร้าวในวันนี้ยังเต็มไปด้วยทุ่งนาป่าเขา ผู้คนส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรและมีวิถีชีวิตเรียบง่าย

          ทว่าสิ่งหนึ่งที่อำเภอพร้าวมีไม่ด้อยไปกว่าเมืองใหญ่ เป็นเพชรล้ำค่าที่ยังไม่ค่อยมีใครแลเห็น คือห้องสมุดเล็กๆ สองแห่งที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นและเป็นแหล่งชุบชูใจของผู้คนในชุมชน

          ‘ห้องสมุดจินดา’ และ ‘ห้องสมุดรังไหม’ ไม่ใช่แหล่งเรียนรู้สาธารณะของรัฐ แต่เกิดขึ้นจากความทุ่มเทโดยไม่หวังผลตอบแทนของผู้หญิงเก่งสองคน คือ ‘การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์’ นักเขียน อดีตบรรณาธิการ และผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ ซึ่งมีความฝันอยากทำห้องสมุดชุมชนมาตั้งแต่วัยรุ่น และกว่าจะเป็นจริงได้ก็อีก 30 ปีให้หลัง อีกคนหนึ่งคือ ‘โยชิมิ โฮรุจิ’ หญิงสาวชาวญี่ปุ่นผู้มีความบกพร่องทางสายตา ที่จากบ้านเกิดเมืองนอนมาปักหลักทำงานส่งเสริมการอ่านในอำเภอพร้าวเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว

          ห้องสมุดทั้งสองแห่ง ได้เติมเต็มความขาดแคลน และสร้างโอกาสในการเข้าถึงการอ่านและการเรียนรู้ของคนหลากหลายกลุ่ม ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าห้องสมุดยังมีคุณค่าสำหรับผู้คนอยู่เสมอ เพียงแค่หา ‘แก่น’ และ ‘ที่ทาง’ ของตัวเองให้เจอ

ห้องสมุดและหนังสือคือสะพานแห่งชีวิต

          พื้นที่ 7 ไร่รายล้อมด้วยทุ่งนา เป็นที่ตั้งของ ‘สิริเมืองพร้าว’ ธุรกิจเพื่อชุมชนซึ่งประกอบด้วยร้านอาหาร นิทรรศการ แปลงเกษตรอินทรีย์ ร้านจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น ห้องสมุด และพื้นที่แลกเปลี่ยนสร้างสรรค์ต่างๆ

          อาคารไม้หลายหลังรูปทรงเรียบง่ายแต่มีดีไซน์ มีพันธุ์ไม้น้อยใหญ่ประดับประดาชวนมอง บนโต๊ะมีแจกันปักดอกกุหลาบที่เพิ่งตัดจากแปลงส่งกลิ่นหอมฟุ้ง ใครผ่านไปผ่านมาสามารถแวะเข้ามาซื้อน้ำหวานและไอศกรีมดับกระหายคลายร้อน หรือเข้ามาเติมอาหารสมองที่ห้องสมุดได้ตามอัธยาศัยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

          ‘ห้องสมุดจินดา’ เกิดขึ้นจากความริเริ่มของ การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ ร่วมกับน้องสาวคือ กาญจน์ ศรีปริญญาศิลป์ สองพี่น้องเป็นคนพร้าวแท้ๆ เกิดที่บ้านท่ามะเกี๋ยง หลังจบ ป.6 การะเกต์ไม่ได้เรียนต่อมัธยมหรือมหาวิทยาลัย เพราะต้องออกไปทำงานในภาคแรงงาน กระนั้นก็มีนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก ได้แบบอย่างมาจากที่ครอบครัว ประกอบกับการสนับสนุนจากครูในการหายืมหนังสือจากห้องสมุดประชาชนในตัวอำเภอมาให้อ่านอย่างสม่ำเสมอ สะสมเป็นเชื้อไฟที่ทำให้เธอมุ่งมั่นอยากเป็นนักเขียนในเวลาต่อมา

          “ตอนนั้นทำงานใช้แรงงาน เกิดคำถามว่าทำอย่างไรเสียงของเราจะออกไปสู่ภายนอกได้ ก็เลยคิดว่าอยากเป็นนักเขียน ช่วงแรกจะเขียนเรื่องความฝันหรืออุดมการณ์ชีวิต ความทุกข์ยากของเรา ของพ่อแม่ หรือของพี่น้องที่เราเห็น จนกระทั่งวันหนึ่งได้ก้าวมาเป็นคนทำหนังสือ เกิดความรู้สึกว่าอยากทำอะไรสักอย่างให้ผู้คนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งอาจขาดโอกาสแบบเรา หรือยังเข้าไม่ถึงโลกของหนังสือ สามารถเจอสะพานที่พาก้าวข้ามไปสู่อีกจุดหนึ่งได้เหมือนเรา”

          สำหรับชาวชนบท การอ่านเป็นปัจจัยที่ไม่ได้อยู่ในชีวิตประจำวัน คนส่วนใหญ่ต้องรีบเรียนให้จบเพื่อไปขายแรงงาน หาเงินเลี้ยงชีพเลี้ยงครอบครัว ขณะนั้นการะเกต์ได้เงินจากการทำงานในโรงบ่มยาสูบเพียงวันละ 16 บาท ทำงานเกี่ยวข้าวได้เงินวันละ 18-25 บาท แม้จะรักการอ่าน แต่การจะซื้อหนังสือสักเล่มยังถือเป็นเรื่องเกินกำลัง

          “เวลาเรากลับมาบ้าน จะเห็นชนบทเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ และเห็นว่าผู้คนจำนวนมากขาดความรู้และขาดโอกาส สมัยก่อนมักมีเพียงผู้ชายที่มีเวลาไปนั่งอ่านหนังสือตามศาลา ส่วนผู้หญิงมักจะง่วนอยู่กับภาระงานบ้าน และเด็กๆ ไม่มีหนังสือให้อ่าน เราอยากให้คนเข้ามาอ่านหนังสือโดยมีเงื่อนไขน้อยที่สุด ถ้าทำร้านหนังสือก็ต้องเป็นคนมีเงิน จึงจะมาซื้อหนังสือไปอ่านได้ เราตั้งใจทำสถานที่อ่านหนังสือให้มีบรรยากาศที่ดีงามและสบายๆ ต่อให้เราอยู่บ้านนอกก็สามารถได้รับสิ่งดีๆ โดยไม่ต้องเข้าไปอยู่ในเมือง”

          หลังจากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เธอกลับมาบ้านเกิด พร้อมหาลู่ทางสานฝันที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จ

การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์

อ่าน เล่น เรียนรู้ ใน ‘สิริเมืองพร้าว’

          การะเกต์เริ่มต้นทำโครงการห้องสมุด โดยสำรวจความคิดเห็นของคนในบ้านท่ามะเกี๋ยงและชุมชนใกล้เคียง ซึ่ง 100% มีความคิดเห็นตรงกันว่า หนังสือจะช่วยส่งเสริมความรู้และอนาคตที่ก้าวหน้าให้กับเยาวชน พวกเขาต้องการห้องสมุดที่มีพื้นที่นั่งพักผ่อน สามารถกินขนมกินน้ำและพูดคุยกันได้ มีบริการอินเทอร์เน็ต และมีมุมหนังสือเด็ก

          “เราตั้งใจจะทำงานกับชุมชน อยากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่ได้ต้องการทำตัวแปลกปลอม หรือทำแล้วคนรู้สึกว่าเป็นสิ่งหรูหราเหมือนเป็นอีกชนชั้นหนึ่ง ถ้าเป็นแบบนั้นเขาก็เข้าไม่ถึงเรา”

          ห้องสมุดจินดาเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2563 ด้วยแนวคิด “ห้องสมุดที่เป็นมากกว่าที่เก็บหนังสือ แต่คือสถานที่บ่มเพาะทางปัญญา เสริมสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ไม่มีวันจบ” เด็กๆ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมนอกห้องเรียนที่ห้องสมุดจัดขึ้นเป็นประจำ มี ‘ธนาคารของเล่น’ ซึ่งรวมรวมของเล่นที่ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย จัดเป็นถุงแจกให้ผู้ปกครองเอาไปเล่นกับลูกที่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการจัดทำ ‘กระเป๋าม่วนใจ’ ใส่หนังสือสำหรับเด็กและของเล่น นำไปส่งให้ครอบครัวต่างๆ ทุกสัปดาห์

          “เรามองว่าการอ่านการเขียนเป็นทักษะพื้นฐานที่จะติดตัวเขาไปตลอด เอาไปประยุกต์ใช้กับอะไรก็ได้ เราเคยทำ ‘กาดนัดละอ่อน’ ให้เด็กได้ฝึกหัดประดิษฐ์ของต่างๆ แล้วก็สร้างพื้นที่ให้เขาได้ลองขาย มันช่วยฝึกทักษะการคิด การคำนวณ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การดีไซน์ งานศิลปะ ขณะเดียวกันครอบครัวก็ได้เรียนรู้กับเด็กด้วย กิจกรรมนี้มีการต่อยอดไปเป็น ‘กาดชาวบ้าน’ เพื่อสนับสนุนให้คนในชุมชนได้นำผลผลิตมาขาย”

          ห้องสมุดจินดามีหนังสือเกือบ 3,000 เล่ม ทั้งวรรณกรรมไทยและวรรณกรรมแปล สุขภาพ การทำมาหากิน เศรษฐกิจ และสังคม ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือส่วนตัวของการะเกต์และน้องสาว ประกอบกับหนังสือที่เพื่อนฝูงและคนรู้จักส่งมาสมทบ อีกส่วนหนึ่งเป็นหนังสือที่หาซื้อเข้ามาเพิ่มเติม โดยเฉพาะหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน

          “เราพยายามจะมีหนังสือให้หลากหลายที่สุด บางเล่มเราไม่เห็นด้วยกับเนื้อหา แต่เราไม่มีสิทธิ์ไปเซ็นเซอร์ เพราะไม่ว่าจะอ่านอะไร เราสามารถเกิดการเรียนรู้ระหว่างทางได้เสมอ คนเรามักจะมีมายาคติว่าแบบนี้คือคนฉลาด แบบนี้คือปัญญาชน แบบนี้คือชาวบ้าน มันเป็นแค่เพียงภาพลวงตา เราไม่อยากสร้างความเหลื่อมล้ำแบบนี้ให้เกิดขึ้น”

          วันนี้ สิริเมืองพร้าวและห้องสมุดจินดา ดำเนินไปด้วยทุนส่วนตัวของการะเกต์และครอบครัว ซึ่งเธอมองว่าหากวันหนึ่งพื้นที่แห่งนี้สามารถสร้างรายได้และเลี้ยงตัวเองได้ กิจการก็น่าจะดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน จากตลาดสินค้า ต่อยอดไปเป็นตลาดความรู้ อาจมีการจัดคอร์สให้ผู้คนนอกชุมชนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนในชุมชนด้วย

‘ห้องสมุดรังไหม’ ของขวัญจากแดนไกล

          ปัญหาการเข้าถึงหนังสือและการอ่านไม่เพียงแต่ถูกรับรู้โดยคนพร้าวด้วยกันเอง แม้แต่ชาวต่างชาติก็เห็นความวิกฤตของปัญหานี้ เช่นเดียวกับ โยชิมิ โฮรุจิ หญิงสาวชาวญี่ปุ่นผู้มีความบกพร่องทางสายตา ซึ่งได้ระดมทุนจากประเทศญี่ปุ่นมาทำห้องสมุดและห้องสมุดเคลื่อนที่ในอำเภอพร้าว

          สิ่งแรกๆ ที่สะดุดตาเมื่อมองเข้าไปในห้องสมุดแห่งนี้คือมุมสำหรับเด็กที่มีตุ๊กตาพี่หมีตัวใหญ่ ของเล่นเสริมพัฒนาการ และนิทานภาพที่จัดเรียงไว้อย่างชวนอ่าน จึงไม่น่าแปลกใจที่ห้องสมุดรังไหมจะเป็นขวัญใจของเด็กๆ ถัดเข้าไปด้านในมีตู้ซีดีภาพยนตร์ที่คัดสรรมาแล้วจำนวนมาก และหนังสือคุณภาพดีกว่า 6,000 เล่ม ที่เหมาะสำหรับผู้อ่านทุกช่วงวัย

          แม้สายตาของโยชิมิจะมองไม่เห็น แต่เธอก็รักหนังสือมาก เมื่อยังเด็กคุณตาและญาติๆ เอาใจใส่กับการอ่านหนังสือให้ฟัง ซึ่งเป็นประตูบานแรกที่เปิดให้เธอรู้จักโลกที่กว้างใหญ่ไพศาล เมื่อเติบโตเธอไม่อยากเป็นหมอนวดอยู่ในชุมชนดังเช่นผู้บกพร่องทางการมองเห็นคนอื่นๆ แต่อยากออกไปรู้จักผู้คนและวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งในเมืองโตเกียวและต่างประเทศ

          โยชิมิมีพรสวรรค์เรียนรู้หลายภาษา ชนิดที่ว่าใครได้คุยด้วยอาจฟังสำเนียงไม่ออกว่าเธอไม่ใช่คนไทย เมื่อมีโอกาสได้มาเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ประเทศไทย เธอสนใจทำงานพัฒนาสังคมด้านส่งเสริมการอ่าน เริ่มต้นจากการนำหนังสือขึ้นตุ๊กตุ๊กหรือเช่ารถเพื่อไปให้บริการตามสวนสาธารณะและชุมชนในกรุงเทพฯ

          “โยพยายามทุกทางเพื่อที่จะรู้จักเมืองไทยมากขึ้น โดยไม่ได้สนใจว่าเป็นจังหวัดอะไร สำหรับเราเมืองไทยก็คือเมืองไทย ตอนมาเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยน เราอยากทำงานด้านพัฒนาสังคม พยายามคิดว่าในฐานะคนตาบอดเราจะทำอะไรได้บ้าง ตอนนั้นสังเกตว่าคนไทยเหมือนจะไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือเท่าไหร่ ยกเว้นบางคนที่ชอบจริงๆ ก็จะอ่านเป็นงานอดิเรก เท่าที่ทำงานมาโยรู้สึกว่ากรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีความต้องการด้านหนังสือแล้ว คนที่ทำกิจกรรมจิตอาสาลักษณะเดียวกันก็มีเยอะแล้ว จึงอยากไปทำที่ต่างจังหวัด จังหวะดีได้มาลงพื้นที่ที่อำเภอพร้าว ที่นี่ไม่มีร้านหนังสือ มีห้องสมุด 1 แห่งของ กศน. ซึ่งมีหนังสือหลายพันเล่ม แต่แทบไม่มีหนังสือสำหรับเด็กเลย”

          เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ซึ่งได้รับต่อยอดเป็น ‘ห้องสมุดรังไหม’ ในเวลาต่อมา

โยชิมิ โฮรุจิ

จาก ‘หนอนหนังสือ’ ถักทอใยเป็น ‘รังไหม’

          ในปี 2554 โยชิมิ เริ่มทำโครงการ ‘คาราวานหนอนหนังสือ’ โดยนำหนังสือขึ้นมอเตอร์ไซค์ไปให้คนในชุมชน และอาศัยยุ้งเก็บข้าวเป็นโกดังเก็บหนังสือซึ่งขณะนั้นมีเพียง 300 เล่ม ถัดมาเพียงปีเดียวหนังสือได้เพิ่มจำนวนเป็นหลักพัน จึงก่อตั้งห้องสมุดรังไหมขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สำหรับการอ่านและทำกิจกรรม โดยทุกวันเสาร์-อาทิตย์จะมีกิจกรรมเล่านิทานและงานฝีมือที่เชื่อมโยงกับหนังสือต่างๆ

          “ตอนแรกก็มีคนสนใจบ้าง แต่บางคนก็ไม่กล้าเข้ามาใช้บริการ เพราะยุ้งเก็บหนังสือของเราตั้งอยู่ในพื้นที่ของอีกองค์กรหนึ่งที่ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับหนังสือโดยตรง พอเราไม่มีพื้นที่ของเราเอง คนก็มองว่าเราเป็นใครก็ไม่รู้ มาทำอะไรก็ไม่รู้ เอาหนังสือมาบังคับขายให้เขาหรือเปล่า เหมือนเราไม่ค่อยมีที่ยืนในสังคมสักเท่าไหร่”

          หนึ่งในข้อสังเกตสำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมการอ่านของผู้ที่มาใช้บริการห้องสมุดก็คือ มักเป็นสมาชิกหน้าเดิมๆ ที่ชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่คิดจะเดินเข้ามาในห้องสมุด ความท้าทายในการทำงานของโยชิมิ จึงเป็นการเข้าถึงคนกลุ่มนี้ให้ได้

          ปัจจุบันห้องสมุดเคลื่อนที่ยังคงเป็นภารกิจหลักของห้องสมุดรังไหม คาราวานหนอนหนังสือซึ่งวันนี้เติบใหญ่กลายเป็นรถบัสสีสันสดใส เคลื่อนไปจัดกิจกรรมตามวัด ตลาด ชุมชน จนถึงที่พักสำหรับเด็กชาติพันธุ์ซึ่งลงจากดอยมาเรียนหนังสือ

          นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม ‘หนอนเยี่ยมบ้าน’ เดือนละสองครั้ง นำหนังสือไปให้คนที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้ เช่น ผู้พิการรุนแรง ผู้สูงอายุ คุณแม่ที่เพิ่งคลอด ฯลฯ มี ‘มุมหนอนน้อย’ หรือจุดหมุนเวียนหนังสือในชุมชน 15 แห่งทั่วอำเภอพร้าว รวมทั้งมีศูนย์เด็กเล็กสำหรับเด็กชาติพันธุ์สองแห่ง คือ ‘บ้านพระอาทิตย์’ และ ‘บ้านอมยิ้ม’ เพื่อสอนการอ่านเขียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ ให้กับเด็กเล็กจนถึงหกขวบ

          เป็นเวลา 10 ปีแล้วที่ห้องสมุดรังไหมเป็นที่รับรู้ของคนในชุมชน และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคนต่างถิ่นเริ่มแวะเวียนเข้ามาท่องเที่ยว งานใหม่ๆ มากมายเกิดขึ้นในรูปแบบมูลนิธิซึ่งอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค อดไม่ได้ที่โยชิมิจะคาดหวังถึงอนาคตระยะยาวของห้องสมุดแห่งนี้ แม้จะมีหรือไม่มีเธออยู่ก็ตาม

          “โยเป็นเพียงคนที่มาจุดไฟให้ จริงๆ คนที่จะเฝ้าไฟไว้ไม่ให้ดับก็คือชุมชน ถ้าห้องสมุดรังไหมเป็นองค์กรของคนญี่ปุ่น มันอาจไม่สามารถอยู่ด้วยตัวเองได้อย่างยั่งยืน เพราะไม่รู้ว่าอีก 10 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้า โยจะไปอยู่ที่ไหน ที่นี่เปรียบเสมือนลูกของเรา เมื่อลูกเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว ความรักของแม่ย่อมไม่มีวันเปลี่ยนแปลงใช่ไหมคะ แต่เราก็หวังว่าลูกของเราจะได้แต่งงานเร็วๆ นี้”

ใครที่มีโอกาสเดินทางไปยังอำเภอพร้าว สามารถแวะไปเยี่ยมชมและเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจจากห้องสมุดทั้ง 2 แห่ง
ห้องสมุดจินดา เปิดให้บริการ ทุกวัน 9.00-17.00 น.
ติดตามข่าวสารและกิจกรรม ได้ที่ Facebook fanpage ห้องสมุดจินดา

ห้องสมุดรังไหม เปิดให้บริการ ทุกวัน วันจันทร์-ศุกร์ 9.00-18.00 น. วันเสาร์อาทิตย์ 9.00-17.00 น.
ติดตามข่าวสารและกิจกรรม ได้ที่ Facebook fanpage Rang Mai Library (ห้องสมุดรังไหม)


เผยแพร่ครั้งแรก ทาง TK Podcast ตุลาคม 2562 และ มีนาคม 2564

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก