นักเขียนซีไรต์ที่อายุน้อยที่สุด
สาววายเจ้าของเรื่อง ‘เฟื่องนคร’ นิยายวายเรื่องดังที่กำลังจะได้ทำเป็นซีรีส์
นักเขียนที่เริ่มเขียนหนังสือครั้งแรกตั้งแต่อายุ 12 ปี
ถ้าเสิร์ชชื่อ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท ในเสิร์ชเอนจิน ผลลัพธ์ที่คุณจะเห็นได้อาจเป็นคำเหล่านี้
ในแวดวงนักอ่านวรรณกรรม ชื่อของ ลี้-จิดานันท์ ไม่ใช่คนแปลกหน้า นับตั้งแต่เธอคว้ารางวัลซีไรต์ในปี 2560 ได้จากรวมเรื่องสั้น สิงโตนอกคอก และได้รับการขนานนามว่าเป็นนักเขียนซีไรต์ที่อายุน้อยที่สุด เช่นเดียวกับนักอ่านนิยายวายที่ต่างคุ้นเคยกับนามปากกา ‘ร เรือในมหาสมุท’ เป็นอย่างดีจากนิยายเรื่องฮิตอย่าง เฟื่องนคร จีบเยลลี่แถมฟรีคนดื้อ ชายใดเล่าจะแซ่บเท่าแฟนเก่าแม่ และอีกมากมาย
สำหรับเราที่เป็นนักอ่านวายเจ้าประจำ ผลงานของ ‘ร เรือในมหาสมุท’ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นและแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ และสร้างแรงกระเพื่อมให้คนในวงการเห็นว่านิยายวายสามารถเล่าอะไรได้มากกว่าความรักของผู้ชายสองคน อย่างใน ชายใดเล่าฯ งานเล่มแรกของเธอก็สอดแทรกเรื่องผลผลิตจากสงครามเวียดนามที่ส่งผลกระทบถึงตัวละครในยุคปัจจุบัน หรือ เฟื่องนคร นิยายดังที่กำลังจะทำเป็นซีรีส์ ก็ตีแผ่ความท้าทายของชีวิตดาราชายผู้เป็นเกย์ในวงการบันเทิงไทย
เบื้องหลังงานเขียนที่หลากหลายและสอดแทรกแง่มุมทางสังคมของจิดานันท์เริ่มต้นได้อย่างไร เราต่อสายคุยกับเธอเพื่อหาคำตอบ
จากจุดเริ่มต้นที่เขียนนิยายแนวแฟนตาซีตอนอายุ 12 พัฒนามาเป็นแนวงานเขียนที่หลากหลายในทุกวันนี้ได้อย่างไร
มันก็จะมีช่วงที่แฟนตาซีบูม ช่วงนิยายโรงเรียนเวทมนตร์บูม เราก็เขียนแฟนตาซี แล้วตอนนั้นเรายังเด็ก ก็ส่งไปหลายสำนักพิมพ์มาก แต่ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนเอาเลยนะ ด้วยความเป็นเด็กเราก็เฟล ประจวบกับช่วงนั้นมีประกวดนิยายสยองขวัญของสำนักพิมพ์โซฟามาพอดี เราเลยลองส่งดู แม้จะไม่เคยเขียนนิยายสยองขวัญเลยสักครั้ง ปรากฏว่ามันก็ได้รางวัล เราส่งไป 2 เรื่องพร้อมกัน เรื่องแรกได้ที่หนึ่ง อีกเรื่องได้ที่สาม แล้วก็ได้เงินมาก้อนหนึ่ง เราก็ เฮ้ย โอเคนะ รู้สึกว่าการประกวดมันดูเป็นแนวทางที่ดีว่ะ ประกวดครั้งแรกก็ได้เลย เราก็เลยเหมือนไปหาว่ามันมีประกวดอะไรอีก แล้วเราก็ได้เงินตลอด เราก็รู้สึกดีที่ได้เงิน (หัวเราะ) หลังจากนั้นเราก็ประกวดมาตลอด แล้วขยับแนวงานมาเรื่อยๆ จนถึงการเขียนนิยายวายในทุกวันนี้
ถ้าให้วิเคราะห์ เอกลักษณ์ในงานของ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท คืออะไร
ทุกเรื่องต้องมีแสงสีทองส่องผ่านหน้าต่างเข้ามา แล้วก็ทำให้บรรยากาศห้องเป็นสีเหลืองส้ม หรือไม่ก็มีซีนที่ตัวละครขับรถคุยกันตอนกลางคืน มีบรรยากาศแสงไฟกลางคืนของกรุงเทพฯ และไฟจราจร ตัวละครของเราจะไม่เคยคุยกันที่อื่น คุยกันในรถเท่านั้น (หัวเราะ) เราชอบ situation ของการขับรถคุย คือมันเป็นสถานที่ปิดที่ไม่มีใครรบกวนและคุยได้นาน เคยถึงขั้นไปเสิร์ชว่าแยกไหนรถติดที่สุดในประเทศไทย แล้วเอาตัวละครไปอยู่แยกนั้น เพื่อที่จะคุยได้แบบยาวๆ (หัวเราะ)
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา งานเขียนของคุณมีการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ได้รับอิทธิพลจากงานของคนอื่นบ้างไหม
สมัยก่อนถ้าเราเขียนออริจินัลเราจะเขียนแฟนตาซีอย่างเดียวเลย เขียนเป็นโลกเวทมนตร์ มีเจ้าหญิง เจ้าชายอะไรแบบนี้ตลอด เราไม่สนใจเรื่องที่เป็น realistic เท่าไหร่ จนกระทั่งได้ไปอ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของพี่ในชุมนุมวรรณศิลป์ที่ธรรมศาสตร์ ชื่อ ยากล่อมใจในคืนฝัน ซึ่งมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนในปัจจุบัน จิตแพทย์กับเด็กมัธยม ซึ่งไม่ได้มีเวทมนตร์อะไรเลยนะ แล้วเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย เรื่องที่มันเป็นสัจนิยมมันก็สนุกได้เหมือนกันนี่ หลังจากนั้นเราก็เริ่มเขียนงานสัจนิยม เริ่มเขียนงานที่อยู่บนโลกแห่งความจริง
โดยทั่วไปงานตอนเด็กๆ ของเรามันก็จะดูเหมือนร่าเริงสดใส มีตัวละครออกมาเยอะๆ คืองานมันจะดูการ์ตูนๆ ตัวละครทุกตัวก็เหมือนปล่อยพลังได้ แต่พอผ่านเวลามา ลักษณะที่ดูเป็นการ์ตูนมันก็น้อยลง หรือมันอาจจะยังการ์ตูนอยู่แต่ก็เป็นการ์ตูนแนวรักแทน มันจะไม่ค่อยการ์ตูนจัมป์แล้ว และมันก็จะมีช่วงที่งานดูเศร้ามากๆ งานดูเหมือนบ่นๆ กับตัวเอง แล้วผ่านมาสักนิดหนึ่งก็รู้สึกว่างานในช่วงหลังไม่ค่อยวุ่นวายกับตัวเองแล้ว จะดูปลงกับชีวิตมากขึ้น (หัวเราะ)
เทรนด์ของหนังสือยอดนิยมที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ส่งผลต่องานเขียนบ้างไหม
ลี้เป็นคนที่ชอบนั่งคุยกับเพื่อนว่าช่วงนี้อะไรมาวะ แล้วเราก็จะไปเขียนงานแนวนั้น อย่างช่วงนี้แนวร้านญี่ปุ่น ร้านมหัศจรรย์ต่างๆ มันเยอะ ก็เลยรู้สึกว่าอยากเขียนงานแนวร้านว่ะ บางทีคือเราเป็นคนที่คิดแนวมาร์เก็ตติงเยอะ เพราะสำนักพิมพ์ก็จะทำงานง่าย มันก็จะขายง่าย เหนืออื่นใดคือเราทำแต่ไม่ได้รู้สึกว่านักเขียนทุกคนจะต้องทำแบบนี้ บางคนเขามีแนวของตัวเอง ก็ใช้ชีวิตอย่างสงบของเขา เราก็โอเค
การทำสิ่งที่อยู่ในกระแสมันไม่เหนื่อยบ้างหรือ
เหนื่อย เพราะกระแสมันเร็ว อย่างเมื่อก่อนแนวโรงเรียนเวทมนตร์ดัง เราอยู่กับมันเป็น 10 ปี เขียนอยู่ 1 ปีก็ยังออกตามกระแสทัน แต่เดี๋ยวนี้พอมีอะไรดังกระแสจะเปลี่ยนเร็วมาก เช่นปีก่อนจะมีวายแนวแต่งหญิง แนวเฟมบอย ผ่านไป 6 เดือนกระแสเปลี่ยนไปสู่แนวโอเมกาแล้ว ถ้าแกเขียนแนวเฟมบอยอยู่แกออกไม่ทันนะ แต่นักเขียนบางคนทำได้ ออกทัน ผมก็ไม่รู้ว่าคุณทำได้ยังไงเหมือนกัน แต่ปรบมือให้ (หัวเราะ)
แล้วทำไมเราถึงต้องวิ่งตามกระแส
ส่วนหนึ่งมันเป็นเรื่อง commercial อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของจิตใจ…
ลี้เหมือนเป็นคนมีปม ถ้าสมมติว่าสังคมเขาฮิตอะไรอยู่ ลี้จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้น แล้วฉันก็จะมีปมมาตลอดว่าฉันอยากที่จะอยู่ในกลุ่มคนส่วนใหญ่ของสังคม อยากไปมีส่วนร่วม โหยหาความรักความเมตตาเพราะว่าเป็นคนนอกของสังคมมาตลอด แล้วอะไรที่ฮิตอยู่ คือไม่ได้เกี่ยวกับงานเขียนก็ได้ อย่างทุกคนฮิตกินชานมไข่มุก ฉันก็จะกินชานมไข่มุก เพราะฉันอยากมีส่วนร่วมกับสังคม (หัวเราะ)
แม้แต่ทุกวันนี้ที่เขียนหนังสือ สมมติลี้บอกว่าลี้เขียนนิยายวายนะ เวลาไปอยู่ในวงการนิยายวาย ทุกคนก็จะแบบ…ลี้มันเป็นนักเขียนซีไรต์ด้วยนะ ก็จะดูเหมือนแยกออกมานิดนึง แต่เวลาอยู่ในวงการวรรณกรรม คนก็จะแบบ…ลี้มันเขียนงานแมส ลี้มันเขียนงานขายได้ มันไม่เหมือนพวกเราหรอก อ้าว สรุปฉันอยู่ที่ไหน ฉันก็ out of bubble หมดเลย
เพราะฉะนั้นลี้ก็เลยเหมือนเป็นคนที่ชอบทำตามอะไรฮิตๆ แต่เราทำแล้วมีความสุขด้วยไง
ข้อดีข้อเสียของการจับงานหลายแนวคืออะไร
ลี้ว่ามันมีข้อดี ก็คือสมมติเราเป็นนักเขียนวายเฉยๆ คิดพล็อตมาพล็อตหนึ่ง เราก็จะต้องพยายามทำให้พล็อตนั้นมันวาย ไม่ว่าพล็อตผี พล็อตไซไฟ พล็อตสืบสวน มันก็เหมือนเราจะต้องใส่คู่รักชาย-ชายเข้าไป แต่ว่าพอลี้เขียนหลายๆ แบบ เราก็สามารถดูได้ว่าพล็อตนี้มันน่าจะชาย-หญิงก็ได้นะ หรือพล็อตนี้เอาแบบการ์ตูนๆ หน่อย ไลท์โนเวลเลย คือเหมือนเรามีพล็อตพล็อตหนึ่งเราก็สามารถเลือกได้ว่าจะใส่แบบไหน โดยที่ไม่ต้องวนมาแบบเดียว
สองคือเวลาคนถามว่าออกนิยายเยอะขนาดนี้ไม่กลัวคนเบื่อเหรอ ลี้ก็ตอบได้ว่าแต่คนมันเป็นคนละคนกันนะ คือคนที่รอเรื่องสั้นแนววรรณกรรมอยู่มันก็ไม่ได้มีผลงานออกมา 3-4 ปีแล้ว พอออกมาก็ดีใจ คนที่รอนิยายวายอยู่ก็คือไม่ได้ออกมาเป็นปีแล้ว สมมติเราออก 3 เล่ม คนอ่านก็อาจจะคนละกลุ่ม แล้วเราก็สามารถที่จะออกวนไปวนมาโดยที่คนอ่านไม่เบื่อ
สามก็คือเราได้ทำงานกับคนเยอะ ลี้ได้ทำงานกับสำนักพิมพ์หลากหลายมาก แล้วก็ได้ทำงานกับคนหลายแบบ เจอนักอ่านหลายแบบ นักอ่านวายก็จะแบบหนึ่ง นักอ่านไลท์โนเวลก็จะทำให้เราได้เจอนักอ่านผู้ชายเยอะขึ้น มันเป็นความสนุกของชีวิตนะ
การมีรางวัลซีไรต์การันตีมันทำให้งานเขียนวายของคุณเป็นที่รู้จักมากขึ้นไหม
ลี้ไม่แน่ใจว่ามันมีผลมากแค่ไหน บางทีคนอ่านก็จะแนะนำว่านักเขียนวายเรื่องนี้ได้ซีไรต์ด้วยนะ เหมือนมันก็มีผลอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ทำให้แกดังในเว็บเด็กดีหรืออะไรก็ตาม มันไม่ช่วย บางทีมันทำให้บางคนกลัวด้วยซ้ำ มันให้ความรู้สึกว่าเรื่องมันจะอ่านยากหรือเปล่าวะ
คุณเคยให้สัมภาษณ์เรื่องรสนิยมทางเพศว่าชอบผู้ชายอ่อนหวาน ความชอบนี้มีผลต่องานวายบ้างไหม
ส่งผล อย่างตัวเมะ (ฝ่ายรุก) ของเรามันค่อนข้างจะดูเป็นเคะ (ฝ่ายรับ) บางทีมันดูเหมือนเป็นเคะสองตัวมาคู่กัน อย่างพี่เฟื่อง (จากนิยายเรื่อง เฟื่องนคร) ก็จะฟีลเข้าจิ้นว่านางเป็นโพขวา แต่พอนางอยู่กับแฟนนางเป็นซ้าย หรือพี่จุลเกียรติ (จากนิยายเรื่อง อรุณสวัสดิ์รักร้าย) ก็คือหล่อ รวย ขับรถ ดูดบุหรี่ โคตร mature เลย แต่ถามว่าว่างๆ ชอบทำอะไร ชอบทำกับข้าว ชอบรีดผ้า แล้วนางก็จะแทนตัวเองกับแฟนว่าเมีย ชอบชอปปิงอะไรแบบนี้ ต้องบอกก่อนว่าในคอมมูนิตี้ LGBTQ+ จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ได้มีฝ่ายที่ชัดเจน มันอาจจะสลับได้หรือว่าเป็นแค่สองคนที่ไม่ได้ฟิกซ์ชัดเจนว่านี่คือสามี นี่คือภรรยา แต่โอเค ในนิยายมันจะเป็นการฟิกซ์ว่าสามี-ภรรยา แต่ตัวที่อยู่ในโรล (role) ของสามีของเรามันก็ค่อนข้างภรรยาด้วย มันก็ค่อนข้างหวานๆ
หรือว่างานชาย-หญิงที่ออกมาเรื่อง อ่อนหวานและหาญกล้า ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงเลย เพราะมันพูดถึงผู้ชายที่ค่อนข้างมีรสนิยมแบบเฟมินิสต์ ชอบดอกไม้ ชอบผ้าลูกไม้ ริบบิ้น แล้วนางเอกมีพ่อเป็นทหารมาเจอผู้ชายคนนี้แบบอีนี่เป็นอะไร ไม่คุ้น ไม่เข้าใจเลย ก็เหมือนมันมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับภาพลักษณ์ที่ควรจะเป็นของความเป็นชาย งานของเรามันมีการพูดถึงสิ่งนั้น
ในนิยายวาย คุณมีขั้นตอนเก็บข้อมูลหรือเข้าใจตัวละครที่เป็น LGBTQ+ อย่างไร
ถ้าเป็นเรื่องเพศ เอาจริงๆ ลี้ก็รู้สึกว่าลี้ยังไม่เข้าใจเต็มร้อยนะในการเขียน บางครั้งจะมีการสร้างตัวละครขึ้นแล้วเราก็จะรู้สึกว่าคนแบบนี้มันจะมีหรือเปล่าวะ มันชอบมีคนบอกหรือให้ความรู้ว่าเกย์จริงๆ มันเป็นแบบนี้นะ แต่บางทีพอเราไปดูในคอมมูนิตี้จริงๆ เพื่อนที่เป็นกะเทย เพื่อนที่เป็นเกย์ ลี้ก็ถามว่ามันจำเป็นจริงๆ ไหมที่เกย์จะต้องเป็นแบบนี้ในนิยายวาย เพื่อนเกย์ก็บอกว่ามันไม่จริงนี่แก แบบนิยายก็มี แบบที่แกอยากเขียนก็มี หรือบางทีดูคอมมูนิตี้เกย์ตามเฟซบุ๊ก มันมีโพสต์หนึ่งที่เคยถามว่ารุกชอบรับแบบไหน เป็นคอมมูนิตี้เกย์ที่ไม่มีสาววายอยู่เลย มันเป็นเพจเกย์น่ะ เกย์แบบชนชั้นกลางด้วย เขาก็บอกว่าชอบขาวๆ ต้นขาใหญ่ๆ อวบๆ น่ารัก อ้อนเก่ง กูก็อ้าว ไหนทวิตเตียนสอนกูว่าเกย์จะต้องชอบแมนๆ กล้ามแน่น ชอบรับแมนๆ เหมือนทั้งหมดตอบว่าชอบขาวๆ ต้องขาวๆ อวบๆ อะไรแบบนี้ ก็เลยรู้ว่ามันเป็นไปได้หมด
เคยมีประเด็นในอินเทอร์เน็ตที่ช่วงหนึ่งมีคนบอกว่านิยายวายกับนิยาย LGBTQ+ ต่างกัน สำหรับคุณมองเรื่องนี้อย่างไร
เรื่องแรกเลย คำว่านิยายวายก็คือนิยาย Yaoi เริ่มในญี่ปุ่น แล้วมันก็เป็นสิ่งที่ดำเนินมาพร้อมกับการ์ตูนโชโจ ซึ่งเป็นการ์ตูนที่ผู้หญิงอ่าน มีพระเอกกับนางเอก แล้วนิยายชาย-ชายคือพระเอกกับพระเอก มันเริ่มต้นแบบนั้น เพราะฉะนั้นเราขออนุมานก่อนว่าวายคือผู้หญิงอ่านในตอนแรกเลย ผู้หญิงอ่านมาเรื่อยๆ แล้วมันก็จะมีงานแบบเกย์อ่าน เขาเรียกว่าบาระ เป็นผู้ชายล่ำสองคนฟีลนั้น ก็จะโป๊ๆ นิดนึง ผู้ชายเกย์ก็จะไปอ่านอันนั้น ผู้หญิงก็จะอ่านอันนี้ แล้วมันก็จะเป็นวงกลมสองอันที่อยู่แยกกัน
แต่โลกมันเปลี่ยนไป โลกพัฒนาไปเรื่อยๆ วงกลมสองวงนี้มันก็เคลื่อนเข้ามาเป็นซับเซตกัน เพราะฉะนั้นนิยายเฉพาะเกย์อ่าน นิยายอีโรติกเกย์ก็ยังมีอยู่ มันก็จะอยู่ทางวงกลมด้านซ้าย แล้วนิยายวายแบบเพื่อผู้หญิง ผู้หญิงอ่านผู้หญิงชอบก็ยังมีอยู่ ซึ่งอยู่วงกลมด้านขวา แล้วมันก็จะมีส่วนที่ซ้อนกัน
ลี้รู้สึกว่าบางคนก็พยายามไปชี้เพื่อให้เขามาทำตามที่ตัวเองต้องการ การทะเลาะกันมันเกิดจากการไม่เข้าใจว่ามันมีทั้ง 3 แบบ แต่ว่าโลกใบนี้มันต้องการความหลากหลาย หนึ่ง แกไม่สามารถทำให้ทุกคนในโลกทำตามที่ตัวเองต้องการได้ ทุกคนมีสิทธิ์ทำสิ่งที่แต่ละคนต้องการ สอง บางครั้งโลกมันก็อาจจะอยากได้นิยายวายพาฝันก็ได้ บางคนในโลกใบนี้ บางวันที่เขาตื่นขึ้นมาก็อาจจะอยากอ่านนิยายวายเบาสมองก็ได้ ถ้าวันหนึ่งตื่นมาแล้ว โอเค นิยายทุกเรื่องสังคมการเมืองหมดเลย ตัวเอกทุกตัวไปม็อบ มันเป็นไปไม่ได้ โลกมันต้องมีสิ่งที่หลากหลาย ไม่อย่างนั้นทุกคนก็เขียนงานจริงจังหมด
คุณคิดว่าการมีอยู่ของนิยายวายส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคม
สมัยก่อนที่ไม่มีนิยายวาย ในนิยายทั่วไปก็จะไม่มีตัวละครเกย์หรือเลสเบี้ยน จนกระทั่งมาถึงยุคที่มีการพูดถึง อย่างในเรื่อง ใบไม้ที่ปลิดปลิว ที่ตัวละครตายตอนจบ ไม่สมหวัง ครอบครัวมองว่าอีนี่ผิดปกติ ยุคนั้นชะตากรรมของ LGBTQ+ ก็จะจบไม่สวย จนกระทั่งมาถึงช่วงที่หนังแบบ สตรีเหล็ก หอแต๋วแตก บูม มันก็จะสร้างภาพจำว่าถ้าแกเป็นตุ๊ดแกต้องตลก เป็นสีสันของโลก perception ตรงนี้ก็ดีกว่าตอนที่ครอบครัวกีดกัน ต้องเป็นเอดส์ หรือต้องตายตอนจบ มันดีขึ้นแต่อาจจะยังไม่ครอบคลุมถึงทุกคน เพราะกะเทยบางคนก็อยากอยู่สวยๆ ไม่อยากขายขำ
ลี้คิดว่าการมีนิยายวายก็ทำให้ perception ของเพศที่สามในสังคมขยับขึ้นมาอีก แกไม่ต้องตลกอย่างเดียว มีดราม่าเป็นคนธรรมดาทั่วไปได้ แต่ถามว่านิยายวายสะท้อนภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ไหม มันก็อาจยังมีจุดที่ไม่ตรงกับสังคมอยู่ ซึ่งลี้มองว่าตอนนี้ภาพมันดีขึ้น ดีกว่าตอนเป็นเอดส์แล้วตาย แล้วก็หลากหลายกว่าตอนที่ต้องตลกอย่างเดียว ตอนนี้ยังไม่ครอบคลุมแต่ในอนาคตมันจะเปลี่ยนไป เพราะว่าประวัติศาสตร์จะเคลื่อนไป ในอนาคตอาจจะ 10-20 ปี มันก็อาจจะค่อยๆ ปรับตัวเองไปจนถึงจุดที่อาจจะเหมาะสมได้
อีกอย่างที่ลี้มองเห็นคือ นิยายวายในตอนนี้กำลังทำหน้าที่เป็นหนังสือ young adult ให้วัยรุ่นไทยอยู่ เพราะในไทยตอนนี้ไม่มีวรรณกรรมสำหรับวัยรุ่นตอนต้น วัยเด็กตอนปลาย อย่างเมื่อก่อนก็จะมีวรรณกรรมแบบ โรอัลด์ ดาห์ล, แฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือวรรณกรรมแว่นแก้ว แต่เขาก็ผลิตออกมาน้อยมากแล้วในตอนนี้ แล้วเด็กส่วนใหญ่ยุคนี้อ่านวายและแฟนฟิก (Fan Fiction) กัน ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าตอนนี้นิยายวายกำลังทำหน้าที่นั้นอยู่
ในฐานะนักเขียนที่เขียนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก คุณคิดว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีส่งผลต่อวงการหนังสือหรือพฤติกรรมการอ่านของคนไทยอย่างไร
เรามองว่าคนอ่านหนังสือเยอะขึ้นนะ สมัยก่อนถ้าจะอ่านหนังสือต้องไปร้านหนังสือ ไปซื้อหนังสือมา เหมือนกลายเป็นกิจกรรมเฉพาะของคนชอบหนังสือเท่านั้นแหละที่จะอ่าน แต่อันนี้ทุกคนเล่นมือถือตลอดเวลา ก็มีโอกาสที่คนจะเล่นมือถือแล้วก็อ่านนิยายในเด็กดี readAwrite ธัญวลัย ซึ่งมันก็ฟรี มันไม่ได้ต้องไปไหนหรือเสียทุนทรัพย์เวลาเดินทาง
แล้วกับวงการนิยายวาย การมาถึงของโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มต่างๆ ส่งเสริมหรือส่งผลต่อวงการนิยายวายอย่างไร
วงการนิยายวายทั้งหมดเกิด เติบโต และใช้ชีวิตอยู่บนโซเชียลมีเดีย สมัยก่อนวายเป็นเรื่องที่ต้องแอบๆ ทำ แอบๆ อ่าน ทุกคนก็เหมือนแอบๆ เข้าเว็บบอร์ด มันไม่ได้เป็นกิจกรรมที่แกทำที่โรงเรียนตอนเลิกเรียนได้ ช่วงที่หนังสือทำมือบูม พวกเราก็ขายผ่านอินเทอร์เน็ตแล้วส่งไปรษณีย์ จนกระทั่งช่วงนี้ที่เป็นวายไทยแล้วก็บูม กระแสต่างๆ ก็มาจากคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต คนอ่านทั้งหมดคือคนรุ่นที่ใช้อินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่าทุกอย่างเลยของวงการวายยึดโยงอยู่กับอินเทอร์เน็ตและโซเชียลโดยที่แทบจะไม่สามารถแยกออกได้
หากให้ถอดบทเรียนจากประสบการณ์แล้วให้คำแนะนำนักเขียนรุ่นใหม่ คุณจะแนะนำพวกเขาว่าอะไร
ถ้าเป็นแรกเริ่มเลยก็อยากจะให้โฟกัสกับการเขียน บางคนอยากเป็นนักเขียน อยากเขียนจังเลย พูดตามโซเชียลตลอดเลยว่าอยากเป็นนักเขียน แต่ก็ไม่ได้เขียนสักที เล่นอยู่ ทำอะไรอยู่ ไปเขียนหนังสือสิ แล้วก็ถ้าเริ่มเขียนแล้วพยายามเขียนให้จบ โลกมีอะไรมากมายเว้ยที่จะมาดึงความสนใจของเราไปจากงานของเรา พยายามโฟกัสกับงานของตัวเอง