Patani Artspace ให้ความจริงถูกบอกเล่าผ่านศิลปะ

820 views
8 mins
November 13, 2023

          เป็นเวลากว่าสิบปี นับตั้งแต่ปี 2547 ที่เหตุการณ์ความรุนแรงได้ปะทุขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ช่วงเวลานั้น ผู้เขียนจะเพิ่งผ่านพ้นวัยสิบปีมาเพียงเล็กน้อย แต่ก็ยังจำภาพเหตุการณ์บนหน้าหนังสือพิมพ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปิดล้อมมัสยิดกรือเซะ หรือภาพสลายการชุมนุมที่ตากใบ เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดความสลดใจในความรู้สึกของผู้เขียน เช่นกันกับเพิ่มช่องว่างในใจระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธให้เหินห่าง แทนที่ความไว้วางใจด้วยความหวาดระแวงและเกรงกลัว

          ความรู้สึกของคนในพื้นที่เหล่านั้นก็ไม่ต่างไปจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ชายผู้ใช้ชีวิตอยู่บนแผ่นดินปัตตานีมาตั้งแต่แรกเกิด เขาทันเห็นภาพของชาวพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันก่อนที่ความไม่สงบจะมาเยือน

          นั่นจึงเป็นเหตุให้ อาจารย์เจะอับดุลเลาะ ลุกขึ้นมาสร้างพื้นที่แสดงออกด้านศิลปะและวัฒนธรรมอย่าง ปาตานี อาร์ตสเปซ (Patani Artspace) เพื่อสลัดภาพจำว่าปัตตานีเป็นพื้นที่แห่งความรุนแรง

ตั้งแต่อาจารย์จำความได้ ภาพพื้นที่ปัตตานีในตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง

          โตมาผมก็เห็นวิถีชีวิต บ้านเมืองที่อุดมไปด้วยธรรมชาติและวัฒนธรรม จริงๆ มันก็น่าจะเหมือนกับบริบทของชนบทในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยนี่แหละ เพียงแต่ว่าในพื้นที่เรามันมีอัตลักษณ์ของความเป็นมลายู เลยทำให้รู้สึกว่าเรามีความแตกต่างในเรื่องของการดำเนินชีวิต ศาสนา ความเชื่อ แต่ในความแตกต่างนั้นเราก็มีชุมชน มีเพื่อนคนพุทธที่อยู่ด้วยกัน สนิทสนมกัน เล่นกัน เรียนด้วยกันมา

          สมัยนั้นมันเป็นพื้นที่ที่ผมรู้สึกว่าเพอร์เฟกต์มาก ได้อยู่กับธรรมชาติ เห็นชุมชนประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ปีนเก็บตาลโตนด แค่นั้นก็รู้สึกว่ามีความสุขแล้ว อาจจะเพราะว่าเรายังเป็นเด็กก็ได้ ทำให้เราไม่ได้มองในมิติอื่นๆ แล้วปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองตอนนั้นมันก็ไม่มีอะไรเลย พอมาถึงยุคหนึ่งเทคโนโลยีมันเปลี่ยนจากแอนะล็อกเป็นดิจิทัล บวกกับการเมืองมันก็เริ่มมีความรุนแรง มีสถานการณ์ความไม่สงบเข้ามา ทำให้เราได้อยู่ในบรรยากาศของสองช่วงยุคสมัย

อาจารย์รู้สึกยังไงกับช่วงการเปลี่ยนผ่านที่เข้ามา

          หนึ่งคือ จากยุคแอนะล็อกที่อยู่กับธรรมชาติ มาสู่ยุคดิจิทัลเทคโนโลยี ไฟฟ้าเข้ามา อินเทอร์เน็ตเข้ามา อันนี้คือปัจจัยแรก แล้วก็ปัจจัยที่สองคือเหตุการณ์ความรุนแรงและการเมือง มันเป็นสองปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราได้เห็นความแตกต่างอย่างมาก

          เทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน การรับรู้ข่าวสาร การใช้ชีวิตมันเปลี่ยนหมด ส่วนเหตุการณ์ความไม่สงบ ความรุนแรง การเมือง มันทำให้คนมีความแตกแยกกัน คือจังหวะที่เข้ามามัน ‘เหมาะ’

เหมาะในที่นี้ไม่ใช่เรื่อง positive นะ มันเป็นช่วงชีวิตของคนที่ไม่ต้องมาอยู่ร่วมกันแบบคอมมูนิตี้ คนเริ่มอยู่กับตัวเอง พอมีความขัดแย้งเข้ามาในขณะเดียวกัน ยิ่งทำให้คนมีความโดดเดี่ยวมากขึ้น

          การเปลี่ยนจากความแอนะล็อกมาสู่ความเป็นดิจิทัล มันก็ยังพอที่จะรับได้ ปรับสภาพได้ แต่พอมีประเด็นทางการเมือง ความรุนแรงเข้ามาด้วย เราต้องปรับทั้งทางกายภาพและทางจิตใจไปด้วยกัน ก็เลยเป็นภาวะที่ค่อนข้างจะหนักสำหรับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะตัวผมเอง ผมรู้สึกว่ามันหนักมากเลย จากคนบ้านๆ คนธรรมดา ต้องเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้า ใช้โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ตต่างๆ มันยากพอสำหรับเราแล้ว

          ต้องเข้าใจในมิตินี้ด้วยว่าการศึกษาของบ้านนอกมันขาดโอกาสมากๆ ตอนผมเรียนปริญญาตรี ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่ผมเริ่มปรับใช้โทรศัพท์มือถือ จากที่ต้องซื้อบัตรแล้วก็ใช้เหรียญขูดเติมตัวเลข จากที่เคยเรียนกล้องฟิล์มตอนอยู่ปวช. พอเข้าระดับมหาวิทยาลัย ก็ต้องมาเรียนกล้องดิจิทัลด้วย ต้องปรับองค์ความรู้ ปรับสภาพชีวิต พอกำลังจะจูนกับมันได้ปุ๊บ ก็มีเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นมา

          เหตุการณ์ที่กระชากหัวใจ หักดิบหัวใจผมในตอนนั้น คือเหตุการณ์ ตากใบ กับ กรือเซะ มันเลยดับเบิลเลย ชีวิตเราจากที่ต้องปรับตัวกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว ก็ต้องมาปรับตัวกับสังคมที่มีความขัดแย้งอีก ปี 2547 เป็นช่วงเวลาที่ต้องปรับสภาพจิตใจมากๆ อยู่ด้วยความอึดอัด ความหวาดระแวง ผมก็ต้องอยู่กับตัวเอง คือไว้ใจตัวเองมากที่สุด

Patani Artspace ให้ความจริงถูกบอกเล่าผ่านศิลปะ
มัสยิดกรือเซะ หนึ่งในสถานที่ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง เมื่อปี 2547

สิ่งนี้หรือเปล่าที่ทำให้เกิดปาตานีอาร์ตสเปซ

          ตอนนั้นผมยังไม่ได้คิด เพราะยังใช้ชีวิตเป็นนักเรียนนักศึกษาตามปกติ จนผมทำกิจกรรมแล้วเขาคัดเลือกเยาวชนนักศึกษา มีโอกาสได้ไปต่างประเทศด้วยทุนจากกระทรวงวัฒนธรรม ก็กลัวนะ ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ผมเป็นมุสลิม ผมมาจากปัตตานี พื้นที่ที่มีความรุนแรง ตอนไปสัมภาษณ์วีซ่าก็กังวลพอสมควร เพราะกระแสของอิสลาโมโฟเบียบวกกับ 9/11  แล้วผมต้องไปอเมริกา ก็กลัวว่าจะสัมภาษณ์ไม่ผ่านถ้าเขารู้ว่าผมมาจากปัตตานี แน่นอน อเมริกาเขาเซฟประเทศตัวเองมากในเรื่องการก่อการร้ายต่างๆ นานา ยิ่งผมเป็นมุสลิม ชื่อก็เป็นมุสลิมชัดๆ แต่สุดท้ายก็ผ่านไปด้วยดี วีซ่าผมก็ราบรื่น

           พอได้เห็นประเทศเขา กลับมาแล้วเรามีความฝันเลยว่า บ้านเราต้องมีพื้นที่ทางศิลปะ มีพื้นที่การเรียนรู้ทางด้านศิลปะ ต้องมีสเปซ มันเป็นจุดเริ่มต้นแล้วก็ทำให้อุดมการณ์ตัวเองเปลี่ยนด้วย จากตอนแรก ก็กะว่าเรียนจบแล้วจะเป็นครูศิลปะ ไม่ใช่แล้ว เราอยากเป็นศิลปินเลย คือเราไปเห็นโลกศิลปะต่างประเทศ เขาให้เกียรติศิลปินมากๆ ถือว่าเป็นบุคลากรสำคัญ เป็นภูมิปัญญาของประเทศเขา เราเลยรู้สึกว่ามันมีคุณค่า ตั้งเจตนารมณ์ว่าอยากจะมีอาร์ตสเปซของตัวเอง แต่ก็ไม่ได้คิดว่ามันจะมีฟังก์ชันในการขับเคลื่อนสังคมมากมาย เพียงแค่จะรองรับการทำงานศิลปะ มีพื้นที่แสดงศิลปะ แล้วก็มีความเป็นคอมมูนิตี้ของศิลปินแค่นั้นเอง ไม่ได้คิดการใหญ่เลยในวัยนั้น

          พอขึ้นปีสาม ปีสี่ ผมเริ่มรู้สึกว่าเราถูกมองในมิติด้านลบมากจากสังคมเมืองไทย ถูกมองเป็นอื่น ถูกหวาดระแวงไปหมดจากสังคมในประเทศ เขามองว่าคนปัตตานีโหดร้าย มีการใช้ความรุนแรง แต่เขาไม่ได้เรียนรู้บริบทว่าที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอะไร มันเป็นเพราะระบบในเมืองไทย ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ ทุกคนก็จะมีมายด์เซ็ตที่เห็นคุณค่าของคนที่นี่ แต่พอไม่รู้ดีเทลเขาก็เหมารวม

          บางคนถึงขั้นบูลลี่คนที่นี่ว่า “สึนามิมาทำไม…ทำไมไม่ไปที่สามจังหวัด ไปกวาดล้างให้หมดสิ้นสามจังหวัด ไม่น่ามาที่อันดามันเลย”

           พอฟังแล้วรู้สึกว่า โอ้โห มันโหดร้ายมากเลย มีดีเทลเยอะแยะมากมายที่ต้องเรียนรู้กันว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด ผมก็เลยรู้สึกว่า ไม่ได้ละ มันต้องมีพื้นที่พูดคุย ยิ่งพอผมไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ตอนเรียนระดับปริญญาโท ผมตั้งใจไว้แล้วว่าเรียนเสร็จกลับมาต้องทำสเปซ แน่นอนผมมีบทเรียนว่า ในวัยผม ผมไม่มีพื้นที่ในการแสดงออกทางศิลปะ แล้วลูกศิษย์ผมเรียนจบไปก็ไม่มีโอกาสทำงานทางศิลปะต่อ มันยิ่งทำให้ผมรวบรวมความคิดเหล่านี้ มันจำเป็นแล้วแหละ

           พื้นที่ตรงนี้จะต้องรองรับคนที่มีอุดมการณ์อยากจะทำงานศิลปะ เปิดโอกาสให้ผู้คนต่างๆ เหล่านี้โดยเฉพาะลูกศิษย์ของตัวเอง ผมเสียดายมากๆ ในฐานะอาจารย์ผมปลิ้นกระเป๋าให้ความรู้กับเขาเต็มที่ สุดท้ายเขาเรียนจบไปก็ไม่ได้ทำศิลปะ ไม่ได้ไปต่อ ไม่ใช่เพราะไม่อยากไป แต่เป็นเพราะบริบทสังคมทั้งครอบครัวและพื้นที่ไม่เปิดโอกาสให้เขา ปัจจัยหลายอย่างทำให้เขาท้อแท้แล้วก็ไม่อยากไปต่อ มันลำบาก ต้องเปลี่ยนอาชีพ สุดท้ายนี่ก็เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมมาทำอะไรเหล่านี้ เราอยากจะเปลี่ยนแปลงมายด์เซ็ตของคนที่หวาดระแวงกันให้มาเจอกัน มาคุยกันให้เข้าใจมากขึ้น ศิลปะมันน่าจะให้เมสเซจกับผู้คนในสังคมไทย ให้เขาได้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ พื้นที่ตรงนี้มันสามารถทำให้คนข้างนอกเข้ามาเจอ เข้ามาดู เข้ามาคุย เข้ามาสร้างบทสนทนาได้มากขึ้น ในช่วงแรกที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง พื้นที่สำหรับพูดคุยกันแบบปลอดภัยมันค่อนข้างไม่มีเลย  มันถูกความหวาดระแวงสร้างกำแพง พอมีที่นี่ เราเอาศิลปะมาเป็นชนวนให้คนได้มาพบปะพูดคุยกัน มันก็ได้ผลในท้ายที่สุด

กว่าจะเป็นปาตานีอาร์ตสเปซ

          อาร์ตสเปซช่วงแรกเริ่มไม่ได้อยู่ในพื้นที่ปัจจุบันนี้ ผมไปเช่าห้องแถวในตัวเมืองปัตตานี ตอนนั้นความกระหาย อยากจะมีพื้นที่ทำกิจกรรมทางศิลปะมันล้นมาก แต่ว่างบประมาณไม่มี ก็เลยอาศัยเงินเดือนตัวเองที่เป็นครูเอามาเช่าห้องแถวสองชั้นแล้วสร้างเป็นแกลเลอรีเล็กๆ ขึ้นมา กิจกรรมแรกที่ทำเป็นนิทรรศการที่นำศิลปินแล้วก็เยาวชน นักศึกษา ลูกศิษย์ลูกหามาจัดแสดงงาน แล้วก็จัดกิจกรรมบรรยาย เชิญปราชญ์พื้นบ้านมาให้ความรู้

          ช่วงนั้นมีโครงการค่ายศิลปะเพื่อสันติภาพ ภาคประชาสังคมเวลาเขาจัดกิจกรรมเสวนาก็จะมีการพูดคุยในทางวิชาการ แต่มันไม่มีกิจกรรมในทางศิลปะที่เชื่อมโยงกระบวนการสันติภาพ เพราะฉะนั้นมันก็ประจวบเหมาะเลยที่ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มาจับมือกับเราจัดกิจกรรมศิลปะเพื่อสันติภาพ มีดนตรี มีกวี มีการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ แล้วก็มีการพูดคุยเสวนากันในกระบวนการของสันติภาพ ศิลปะจะช่วยอะไรได้บ้าง เยียวยาอะไรได้บ้าง ขับเคลื่อนให้สังคมมีสันติในพื้นที่อย่างไรได้บ้าง ผมทำที่ห้องแถวสามปี พอดีที่บ้านมีที่ดินอยู่ เป็นทุ่งนาของคุณพ่อ ก็เลยบอกพ่อว่า ขอพื้นที่ตรงนี้มาทำอาร์ตสเปซ แกก็ไม่รู้เรื่องนะว่าอาร์ตสเปซมันคืออะไร

          แกถามว่า “หอศิลป์ อาร์ตสเปซอะไรของมึง”

          พ่อทำนาอยู่ ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ ช่วงแรกต้องไฟต์กับแกน่าดูครับ อยู่ๆ มาทุบหม้อข้าวของเขา จะเอานาเขาไป ผมพยายามอธิบาย แกก็ยังไม่เข้าใจ แต่ก็เห็นความตั้งใจของลูก เพราะแกก็รู้สึกผิดที่ตอนผมจบ ป.6 ไม่ได้สนับสนุนให้ผมเรียน แกให้ผมทำงาน แต่ผมก็เข้าใจเพราะที่บ้านไม่มีตังค์ส่งเรียน ผมเป็นคนดื้อหน่อยก็หาวิธีเรียนเอง อาศัยมีพี่ชายมาช่วย

          สุดท้ายแกก็ “อะ ทำ แล้วแต่มึงถ้าอย่างนั้น

          ผมเลยบอกแกว่า เดี๋ยวจะทำนาอีกประเภทหนึ่ง มีข้าวกินก็แล้วกันแหละ แกก็งงๆ หน่อย พอได้อธิบายแล้วก็มีข้อแลกเปลี่ยนว่า จะส่งแกไปเมกกะ (Makkah) แต่ขอเวลาสองปีนะ สุดท้ายก็ทำได้ แกร้องไห้เลย คือฐานะเรายากจน แล้วการไปที่นั่นมันคือความฝันของชาวมุสลิม

          ส่วนสเปซก็ทำกันเอง สร้างขุดตอม่ออะไรต่างๆ พ่อกับพี่ก็มาช่วย ที่ผมเริ่มทำกันเอง เพราะว่าไม่มี budget ไม่มีเงิน ก็พยายามทำวันละนิดวันละหน่อย ทำช่วงเวลาว่างเสาร์-อาทิตย์ ค่อยๆ เติบโต ใช้เวลาสองปีกว่าจะมีอาคารหลังแรกของอาร์ตสเปซ พอเราเริ่มมีอาคารตรงนี้ เราก็คืนบ้านเช่า พื้นที่ตรงนั้นมันแคบ แล้วกิจกรรมที่เราจัดมันเริ่มขยายสเกลมากขึ้น คนในพื้นที่ก็ตื่นเต้น อาร์ตสเปซแห่งแรกในสามจังหวัด แล้วศิลปะก็เป็นสิ่งใหม่ของคนในพื้นที่ด้วย มันเหมือนกับในช่วงวิกฤตก็ยังมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในมิติของวัฒนธรรมและศิลปะ

          ในช่วงแรกภาคประชาสังคม นักกิจกรรมต่างๆ ก็เข้ามาพูดคุย ได้รู้จักกัน สังคมเรามันเริ่มกว้างขึ้น ไม่ได้มีเฉพาะเราในฐานะคนสอนศิลปะ ศิลปิน คนทำงานศิลปะแค่นั้น สเกลเราเพิ่มขึ้น มีหลายภาคส่วนเข้ามาจับมือกับเรา ทำงาน ทำกิจกรรม ขยับขับเคลื่อนร่วมกัน พอทุกคนรู้ว่าตรงนี้มันเป็นสเปซ เป็นพื้นที่สาธารณะ ทุกคนก็เริ่มมาคอนเนกกัน ทำงานร่วมกัน

Patani Artspace ให้ความจริงถูกบอกเล่าผ่านศิลปะ
อาคารแสดงศิลปะที่ Patani Artspace

Patani Artspace ให้ความจริงถูกบอกเล่าผ่านศิลปะ
Photo: Jehabdulloh Jehsorhoh

Patani Artspace ให้ความจริงถูกบอกเล่าผ่านศิลปะ
Photo: Patani Artspace

จากที่สังเกต ส่วนใหญ่งานของอาจารย์จะมี ‘ผู้หญิง’ อยู่ในภาพ อยากรู้ว่าเป็นเพราะอะไร

          ถ้าพูดถึงเรื่องความรู้สึก ความผูกพันกับ ‘แม่’ ในมิติของอิสลาม มีบทหนึ่งในอัลกุรอานบอกว่า สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้ามารดา ฉะนั้นแล้วสิ่งที่เราประพฤติต่อผู้เป็นแม่จะต้องพิถีพิถัน ผมเลยมีความรู้สึกผูกพันกับตรงนั้นผมรู้สึกว่าแม่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นผู้ให้กำเนิด ในประเด็นทางสังคม ถ้าพูดถึงอิสลาม สัญลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดคือการใส่ฮิญาบ เพราะฉะนั้นในช่วงหนึ่งของโลกที่มีปรากฏการณ์อิสลาโมโฟเบีย มีการห้ามไม่ให้ใส่ฮิญาบ ทั้งที่ฮิญาบไม่ได้เป็นอันตรายเลย ฮิญาบคืออาภรณ์สำหรับคนที่มีความเชื่อ ที่จะปกป้องร่างกายเขา ทำไมใช้เป็นเครื่องหมายของภัยความรุนแรง ภัยความมั่นคง ไปเฉยเลย ระหว่างปืนกับฮิญาบอะไรที่น่ากลัวกว่ากัน งานหนึ่งที่ผมเขียนคือการซ่อนปืนอยู่ในฮิญาบ เป็นการตั้งคำถามว่า อะไรกันแน่ที่เป็นความรุนแรง ฮิญาบเหรอ มันรู้สึกสะเทือนใจกับสิ่งนั้น

อาจารย์ได้เทคนิคการวาดภาพที่เหมือนกับใช้สีหยดลงไปทีละจุดมาอย่างไร เหมือนจะเป็นเทคนิคที่เฉพาะตัวมากๆ

          เทคนิคในการวาดแบบนี้ ผมค้นพบสมัยเรียนปริญญาตรี ตอนนั้นงานที่เรียนผมทำอีกแบบหนึ่ง แต่บังเอิญว่าเคยเขียนลายบาติกด้วยเทียน ผมก็เลยคิดว่า ถ้าจะเอาเทคนิคมาปรับใช้ในงานศิลปะของตัวเองมันจะเป็นยังไง บังเอิญอีกที่ผมกินข้าวแล้วมันมีขวดซอส…บีบ เฮ้ย ใช่เลยอะ จะเอาเทียนมาใส่ในนี้ก็ไม่ได้เพราะต้องใช้ความร้อน ก็เลยลองเอาสีมาใส่ในขวดแล้วก็บีบ มันได้เลย ก็เลยพัฒนาหาขวดที่เหมาะสมควบคุมได้ เริ่มต้นจากตรงนั้นจนกลายเป็น identity ของตัวเองไป

Patani Artspace ให้ความจริงถูกบอกเล่าผ่านศิลปะ

Patani Artspace ให้ความจริงถูกบอกเล่าผ่านศิลปะ
Patani Artspace ให้ความจริงถูกบอกเล่าผ่านศิลปะ

สำหรับลูกศิษย์ของอาจารย์ที่อยากมาทำงานในนี้ มีกระบวนการหรือเงื่อนไขอะไรบ้าง

           ข้อตกลงผมอย่างเดียวเลยคือ ทำงานศิลปะ แล้วศิลปะนั้นก็จะทำให้เราได้ทำอย่างอื่น แค่นั้นเอง ตอนที่ผมทำที่นี่ใหม่ๆ ลูกศิษย์คนแรกๆ ที่มาอยู่ก็มาร่วมทำอาคารด้วยกัน กวนปูนด้วยกัน ผมดูแลเขาเหมือนลูกผมอีกคน อาหารการกินที่หลับที่นอน เราดูแลเขาหมดเลย เพราะว่าเขาไม่มีงานทำ เขาเรียนจบ อยากทำงานศิลปะ แต่ศิลปะมันไม่ได้สร้างรายได้ให้กับเขา แน่นอนผมเข้าใจ ผมเคยผ่านมาก่อน เรียนจบแล้วใจอยากทำศิลปะ แต่รายได้มันไม่เกิดก็ต้องหาวิธีการอื่น คือไปรับจ็อบทำนู่นนี่นั่น ให้ตัวเองมีตังค์เพื่อมาทำงานศิลปะ ผมขายงานไม่ได้เลยในช่วงแรกๆ ที่ทำงานศิลปะ ก็เลยเข้าใจ

          ผมอาสาดูแลเขาเหล่านั้น ช่วงแรกที่มาอยู่ด้วยกันก็ทำงานศิลปะตลอดจนเขาโต เราใช้เวลาห้าปีอยู่ด้วยกัน ผมนับถือใจลูกศิษย์เหล่านี้มากเลย ผมพยายามอธิบายว่าต้องอดทนอย่างเดียวเลย คือต้องเชื่อ ต้องศรัทธาเพราะว่ามันเป็นนามธรรมมาก บางทีก็ดูเหมือนเพ้อฝันเหมือนกันนะ แต่เราก็เชื่อ เขาก็เชื่อในตัวผมว่าผมจะพาเขาไปตลอดรอดฝั่ง ครั้งแรกที่เขามีรายได้จากงานศิลปะใช้เวลา 5 ปี แล้วเขาก็ได้เงินเป็นแสน มันเหมือนกับชดเชยเวลาที่ผ่านมา พอได้สี่ห้าแสนมันยิ่งทำให้เขาเชื่อว่า มาถึงจุดหนึ่งมันก็ให้ผลลัพธ์ในด้านนี้เหมือนกัน

          แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ผมทำให้เขาเชื่อในศิลปะ ทำศิลปะโดยไม่ปรารถนาว่าศิลปะจะช่วยให้เกิดรายได้กับเขา ถ้าทำศิลปะเพื่อให้มีเงินเข้ามา มันจะทำให้เขามีความคาดหวัง พอคาดหวังแล้วมันไม่มา ก็จะเสียเซลฟ์ เพราะรายได้ของการทำงานศิลปะมันไม่มั่นคงเลย แล้วอยู่ประเทศนี้ด้วยนะ เราอยู่ชายขอบ ไม่มีคอลเลกเตอร์ ไม่มีแกลเลอรีดังๆ ที่จะซัพพอร์ตเรา แทบไม่มีความหวังเลย ผมเลยให้จุดยืนกับเขาว่า เราทำไป เดี๋ยวอย่างอื่นจะตามมาเอง ถ้าไม่มาก็ช่างมัน ไม่ต้องไปสนใจ ขอให้ทำศิลปะให้บริสุทธิ์ที่สุด คือจริงใจกับศิลปะ ทีนี้พอผมให้วิธีคิดแบบนั้น แน่นอนว่าก็ต้องหาทางออกในเรื่องของปากท้องให้เขา ผมก็เปิดเป็นร้านกาแฟ ร้านอาหาร เพื่อมาซัพพอร์ตตรงนี้ รายได้ไม่ได้มากมายมหาศาล แต่ก็พอที่จะมีข้าวสามมื้อกิน มีที่หลับที่นอน จ่ายค่าน้ำค่าไฟได้

          สิ่งที่มากไปกว่านั้นคือ ได้ดำเนินกิจกรรมทางศิลปะของเราอย่างต่อเนื่อง เขาเองก็ได้ทำศิลปะ ผมเองในฐานะที่เปิดสเปซก็ได้ทำกิจกรรม แล้วก็มีคอนเนกชันได้ไปแสดงต่างประเทศ มีคิวเรเตอร์ คอลเลกเตอร์เข้ามา อันนี้สำคัญกว่ารายได้ที่จะได้จากศิลปะอีก เพราะเขาได้ทำงานศิลปะต่อ

          ลูกศิษย์กลุ่มแรกๆ เขาเชื่อแล้ว กลุ่มนี้บางคนเขาก็ไปเป็นอาจารย์ เป็นศิลปินอิสระ เป็นบาริสต้าชงกาแฟ เป็นเชฟทำกับข้าว กลายเป็นว่าคนที่มาอยู่ที่นี่ไม่ใช่แค่ทำงานศิลปะของตัวเอง แต่ทำทุกอย่างตั้งแต่ล้างห้องน้ำ ตัดหญ้า เป็นแรงงานในอาร์ตสเปซ เพื่อให้สเปซนี้เป็นพื้นที่รองรับงานศิลปะของเขา เหมือนบ้านที่เขาจะต้องรักษาเพื่ออุดมการณ์ ให้เขาได้ทำงานทางด้านศิลปะ

Patani Artspace ให้ความจริงถูกบอกเล่าผ่านศิลปะ

Patani Artspace ให้ความจริงถูกบอกเล่าผ่านศิลปะ

ยากไหมสำหรับการทำงานศิลปะในประเทศที่ไม่สนับสนุน และยังถูกกดทับเพราะอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดอีก

          ยาก แต่ในความยากก็มีความง่ายอยู่ ความยากก็คือ อย่างที่บอก เราแตกต่างจากที่อื่นเราถูกกดทับ เราอยู่ไกลจากศูนย์กลางและอำนาจของระบบในวงการศิลปะ ความง่ายของเราก็คือ ความแตกต่าง คือเสน่ห์ของศิลปะ สิ่งที่จะทำให้เราโตเร็วโตไวคือความต่าง ฉะนั้นไอ้ความต่างตรงนี้มันทำให้เขาไม่เคยได้เห็น สังคมไม่เคยได้สัมผัส เวลามีปรากฏการณ์เกิดขึ้นมาเลยทำให้คนสนใจ พอมันผุดขึ้นมาคนก็ เฮ้ย อะไรอะ ยังไงอะ แปลกว่ะ มีอย่างนี้ด้วย ผมชอบใช้คำว่า ในวิกฤตของเรามันก็มีโอกาสนะ แต่เราต้องใช้โอกาสนั้นให้คมคาย ให้ลุ่มลึกอารมณ์เหมือนซามูไร ฟันทีเดียวอยู่ ต้องเด็ดขาด ใช้โอกาสอย่าให้มันสิ้นเปลือง

          ปรากฏว่าพอเราใช้โอกาสนั้นอย่างไม่สิ้นเปลือง ใช้แล้วมันปัง ทำให้คนสนใจ ทำให้คนหันมามอง จนถึงขั้นคนกรุงเทพฯ คนในวงการศิลปะเอง กรูกันเข้ามาเหมือนที่นี่เป็นขุมทรัพย์ บางคนหาแรงบันดาลใจจากที่นี่ หา issue ในการทำงาน บางคนสามารถเสนอ proposal ขอทุนจากองค์กรต่างๆ แล้วก็มาขุดขุมทรัพย์เพื่อให้ตัวเองโต กลายเป็นอย่างนั้นไปเลย จนบางครั้งกลายเป็นมากดทับเราอีกครั้งหนึ่ง คือมันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย พอเราบูมขึ้นมา เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจขึ้นมา ตอนแรกเราอยากให้คนเข้ามา มาในลักษณะที่เราจะมีคอนเนกชันทำงานร่วมกัน มาเพื่อส่งเสริมคนที่นี่ แต่พอหลังๆ มันไม่ใช่ กลายเป็นมาเพื่อกอบโกยจากคนที่นี่

เล่าให้ฟังได้ไหม ว่าเขากอบโกยจากคนที่นี่อย่างไร

          ในความหมายก็คือ เพราะประเด็นมันน่าสนใจ คนที่นี่เลยกลายเป็น material หนึ่งที่จะทำให้เขาได้ทำงานบรรลุเจตนารมณ์ของเขา ไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่เราจะนำเสนอ เหมือนเราเป็นแรงงานให้เขาอีกครั้งหนึ่ง ถามว่าคนที่นี่ได้อะไรบ้าง คนที่ได้คือคนที่มีบทบาทกับนโยบายนั้น คนที่นี่ก็เป็นแค่เครื่องมือหนึ่งที่พาเขาไปสู่ผลประโยชน์ของเขา ซึ่งสิบกว่าปีที่ผมเห็น มันมีหลากหลายอารมณ์มากเลย แต่เราต้องยอมรับว่าในการช่วยเหลือแต่ละครั้ง บางครั้งมันก็มีการกดทับอยู่

          บางคนมาเพื่อจะเป็นมิตร มาช่วย มาให้โอกาสเราจริงๆ แต่บางคนมาเพื่อจะเอาเปรียบเรา มันก็หดหู่มากเลยนะ แน่นอนแหละ ว่าสังคมมันอยู่ได้ด้วยผลประโยชน์ แต่ว่าผมก็ไม่ได้หยิบประเด็นเหล่านั้นมาบั่นทอนการทำงาน เราก็เลือกคนที่จะเป็นมิตรกับเราจริงๆ คนที่จะมาให้โอกาส คนที่จะมาจับมือทำงานกับเราจริงๆ คนกลุ่มนี้ทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานต่อ

แล้วคนนอกพื้นที่เขาเข้าใจสิ่งที่อาจารย์อยากจะสื่อมากขึ้นไหม

          เยอะเลย อย่างน้อยเขาได้รับรู้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ ประเด็นที่ศิลปินนำเสนอเป็นเมสเซจที่ทำให้คนได้รับรู้ กิจกรรมที่เราทำมันทำให้คนอยากรู้จักเรามากขึ้น ทั้งประเด็นเรื่องความจริงที่เกิดขึ้น ศิลปะและวัฒนธรรมของที่นี่ ตอนที่ผมเปิดอาร์ตสเปซใหม่ๆ คนพุทธในพื้นที่ไม่กล้าเข้ามา เพราะว่ามันอยู่ในชุมชนมุสลิมและที่สำคัญเราใช้คำว่า ปาตานี ด้วย เขาก็มีความหวาดระแวง พอตอนหลังเรามีกิจกรรมชัดขึ้น มีการนำเสนอโดยข่าวโดยบทสัมภาษณ์ต่างๆ นานา คนก็เริ่มรู้จัก คนก็เริ่มรู้จุดประสงค์ของเรามากขึ้น เขาก็เข้ามา มีบทสนทนา ศิลปินที่อยู่ที่นี่มีทั้งพุทธมีทั้งมุสลิม มันก็ได้เห็นภาพของการอยู่ร่วมกันมากขึ้น

          แต่ยุคแรกๆ เมื่อปี 2554 ที่ไปแสดงงานศิลปะที่กรุงเทพฯ ที่นี่ก็ไม่ได้ถูกพูดถึงมากมายนัก ผมก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร จะโดนวิจารณ์มากกว่า โดนประเด็นที่ว่าผลงานที่จัดแสดงไม่ได้พูดความจริงของที่นี่ คือไม่เห็นเลือดสาด ไม่เห็นนู่นนี่นั่นสารพัด คืองานมันต้องถูกเซ็นเซอร์โดยคิวเรเตอร์อยู่แล้ว ทีนี้พอเขามาวิจารณ์์แบบนั้นผมก็รู้สึกว่า แทนที่คุณจะเซอร์ไพรส์ว่าพื้นที่ในความขัดแย้งมันมีศิลปะเติบโตขึ้นมา กลับกลายเป็นว่าคุณไปวิจารณ์ในเรื่องของการไม่นำเสนอความจริง ไอ้ความจริงที่ว่ามันคืออะไรสำหรับคุณ เราเองอยู่ในพื้นที่ เราจะพูดประเด็นเหล่านี้ยังต้องระมัดระวังเลย ต่อให้เรานำเสนอได้ สุดท้ายเราก็ต้องกลับมาอยู่กับพื้นที่จริงๆ แค่คนที่มาจากพื้นที่ตรงนี้ยังทำศิลปะได้ นั่นก็คือความจริงแล้ว เขายังมีจิตใจทำศิลปะนี่ ผมว่ามันเพอร์เฟกต์แล้ว ไม่ต้องบอกหรอกว่าในงานศิลปะเขามีอะไรบ้าง แค่เขาได้ทำ เขามีกะจิตกะใจทำ ลองเทียบสิว่าประเด็นที่เขานำเสนอมันกล้าหาญแค่ไหน ทำไมคุณไม่พูดถึงวิวัฒนาการเหล่านี้

แล้วต่างประเทศล่ะ

          ความ international นักวิจัย คิวเรเตอร์ คอลเลกเตอร์ที่เดินทางมา เกิดขึ้นด้วยอานิสงส์ของนิทรรศการที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ คือตอนที่พิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยมมาคิวเรตงานที่นี่ไปแสดง เขาเป็นคนแรกเลยที่ให้คุณค่าด้วยความจริงใจ

          เขายังบอกผมเลยว่า “อาจารย์ ผมมาสนใจศิลปะที่นี่ไม่ใช่เพราะว่าผมจะมาเห็นใจคุณที่อยู่ในพื้นที่แบบนี้นะ ผมไม่มีความรู้สึกเหล่านั้นเลย ผมมาที่นี่เพราะพวกคุณมีคุณภาพจริงๆ ผมให้คุณค่าในเรื่องของคุณภาพของพวกคุณจริงๆ

          โห ผมดีใจมากเลย เขาพูดแบบบริสุทธิ์ใจจริงๆ เราในฐานะคนทำงานเราก็อยากเห็นคนวิพากษ์วิจารณ์แล้วก็พูดคุยตรงไปตรงมา คือถ้าไม่ดีเราก็จะได้พัฒนาต่อ ไม่มีคุณค่าเราก็จะได้สร้างคุณค่าใหม่

          ด้วยอานิสงส์ของนิทรรศการครั้งนั้น งานเราถูกนำไปแสดงที่ อิลฮัม แกลเลอรี (ILHAM Gallery) มาเลเซีย ในปีนั้นมีการจัดลำดับ 20 นิทรรศการที่น่าสนใจระดับโลก มีนิทรรศการ ปาตานี เซมาซอ (PATANI SEMASA) อยู่ในนั้นด้วย ผมดีใจมาก แสดงว่าเรามีคุณค่าจริงๆ อีกตัวชี้วัดหนึ่งก็คือ มีคิวเรเตอร์จากออสเตรเลียมาคัดเลือกศิลปินที่นี่ไปแสดง มีศิลปินผู้หญิงด้วยที่ได้ไป ทำให้เห็นว่าคิวเรเตอร์ที่มาจากต่างประเทศซึ่งไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศไทยเขาสนใจ คือในเมืองไทยสำหรับผมตัวชี้วัดมันยังไม่สามารถที่จะตอบ 100% ได้ว่างานไหนถูกเลือกไปแสดงเพราะงานนั้นมีคุณค่าจริงๆ

          ความสัมพันธ์ส่วนหนึ่งมันก็ดี แต่ในเชิงตัวชี้วัด ผมไม่อยากใช้ความสัมพันธ์ บางทีมันวัดไม่ได้ ใดๆ ก็ตามไม่ใช่แค่ศิลปะ ไม่งั้นไม่สามารถจะเอาอะไรมา reference ให้กับสังคมภายนอกได้ว่าตัวชี้วัดที่มันมีบรรทัดฐาน โดยที่ไม่ต้องใช้ความสัมพันธ์มาตัดสิน

          ตอนนี้เราได้รับโอกาสจากหน่วยงานของมาเลเซียมากๆ โดยเฉพาะหอศิลป์แห่งชาติของมาเลเซีย (National Art Gallery) ผลพวงที่เราได้ทำกิจกรรมที่นี่ทำให้คนในวงการศิลปะของเขาเดินทางมาดูงานเรา เห็นน้ำใจที่เราทำกันขึ้นมาเอง เห็นหัวใจของเรา จนทำให้เขาเชิญเราไปทำงานร่วมกันหลายครั้งหลายครา ผมรู้สึกว่าเขาสนับสนุนเต็มที่เลย เขาให้เกียรติเราด้วย เขาเอ็นดูเราด้วย เขาเห็นน้ำใจที่เราทำงาน เขางงมากว่าทำไมไม่มีใครมาสนับสนุนคุณ คิวเรเตอร์หลายคนที่มาจากต่างประเทศ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เขางงมากเลย เขาบอกว่าคนในประเทศพยายามไปดูเวนิสเบียนนาเล (La Biennale di Venezia) ไปดูสิงคโปร์ แต่ว่าพวกคุณจัดผมไม่เห็นคนเข้ามาเลย แปลกใจมาก เขาอุตส่าห์นั่งเครื่องบินมาจากญี่ปุ่นเพื่อมาดู นี่คือการตั้งคำถามของเขา กรุงเทพนั่งเครื่องชั่วโมงเดียวลงมา แต่คุณดั้นด้นไป ด็อกคิวเมนตา (documenta) ที่มีอยู่ทำไมคุณไม่ไปดู

สุดท้ายแล้วจากมุมมองของอาจารย์ ปาตานีอาร์ตสเปซได้เข้าไปทำงานกับความรู้สึกของคนในพื้นที่และของอาจารย์ยังไงบ้าง

          ผมรู้สึกว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมา มันทำให้เราคลี่คลายความรู้สึก ได้เห็นผู้คน ครอบครัว พี่น้อง คนพุทธ คนมุสลิม มากินกาแฟ มาดูงานศิลปะ ผมรู้สึกว่ามันมีค่ามาก บางคนเดินทางมาดูงานจากต่างจังหวัด มาจากกรุงเทพฯ ขับรถมาเป็นครอบครัว เห็นความบริสุทธิ์ใจกัน หนึ่งคนมาที่นี่คือหนึ่งกำลังใจสำหรับผมเลยนะ บางคนมาแล้วเขาก็อยากบริจาคแต่ผมก็ไม่ได้ตั้งตู้รับบริจาค บางคนเอาเงินวางในสมุดโน้ตที่ให้ลงชื่อเวลาเข้าชมนิทรรศการ เสียบเงินไว้ตรงนั้น

           แม้กระทั่งคนต่างประเทศเขาก็ถามว่า ทำไมคุณไม่เก็บตังค์ แล้วจะเอาเงินที่ไหนมา เขาบอกไม่ได้นะคุณทำแบบนี้ไม่ได้ เขาโกรธเลย อย่างน้อยคุณต้องตั้งตู้บริจาค ฉันอยากช่วยคุณ ฉันอยากช่วยสเปซคุณ คุณทำสิ่งเหล่านี้ให้กับสังคมฝรั่งเขาคิดแบบสำคัญมากนะเรื่องนี้

          สำหรับผม แค่คุณมา กินกาแฟสักแก้วหนึ่ง กินน้ำ กินก๋วยเตี๋ยว คุณก็ได้ช่วยเราแล้ว แต่สำหรับเขา อันนั้นคือการแลกเปลี่ยนอาหาร มากินข้าวกินกาแฟมันคือการรับรส ส่วนตัวของเขา การบริจาคคืออยากช่วยจริงๆ การซื้อขายมันไม่ใช่การช่วย ผมก็เซอร์ไพรส์มาก ก็เลยคุยกับทีมงานว่าเราต้องตั้งกล่องรับบริจาคแล้ว พอเห็นต่างประเทศก็เลยเข้าใจว่า ในมิวเซียมเขาก็วางกล่องรับบริจาคกัน เห็นน้ำใจกัน สังคมมันก็ได้ขับเคลื่อนต่อ แล้วอาร์ตสเปซเรามันก็อยู่ไกลจากถนนใหญ่ ต้องเข้าซอยนิดหน่อย มันตื้นตันใจมากเลย เรามีความสุขมากที่ได้เห็นคนมา

Patani Artspace ให้ความจริงถูกบอกเล่าผ่านศิลปะ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก