ญี่ปุ่นทวนกระแส เปิดทางเอกชนยกเครื่องห้องสมุด หลอมรวมร้านหนังสือ

2,261 views
8 mins
July 2, 2021

          คุณอาจเคยได้ยินคำกล่าวทำนองว่า “หมดสมัยของห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือและความเงียบ แต่เป็นยุคสมัยของห้องสมุดที่เป็นศูนย์กลางชุมชนและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา” ปัจจุบันเราจึงพบเห็นห้องสมุดที่มีทั้งพื้นที่ทำงาน ห้องประชุม และพื้นที่กิจกรรมอื่นๆ หลากหลายรูปแบบ

          ขณะเดียวกัน การเข้ามาของอีบุ๊ก (E-book) แหล่งข้อมูลข่าวสารและฐานข้อมูลบนโลกออนไลน์ ทำให้หนังสือและการอ่านไม่ได้มีบทบาทเป็นตัวเอกของห้องสมุดอย่างเคย

          แม้กระแสโลกจะเป็นไปในทิศทางดังกล่าว แต่นับจากปี 2013 จนถึงปัจจุบัน กลับมีห้องสมุดหลายแห่งในประเทศญี่ปุ่นที่ปรับตัวแบบสวนกระแส ด้วยการเพิ่มปริมาณหนังสือกว่า 2 เท่าจากเดิม แต่สามารถสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการอ่านได้อย่างน่าประทับใจ

การพัฒนาบนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

          จุดเริ่มต้นของการปรับตัวครั้งนี้ มาจากการที่ห้องสมุดประจำเมืองหลายแห่งในญี่ปุ่นประสบปัญหาคล้ายกัน คือมีผู้ใช้บริการค่อนข้างน้อย ภาครัฐจึงวางแผนเพื่อปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของห้องสมุดให้น่าสนใจยิ่งขึ้น โดยเปิดโอกาสให้เอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ หนึ่งในนั้นคือบริษัท Culture Convenience Club (CCC) ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจ Tsutaya ร้านค้าปลีกหนังสือและดีวีดีให้เช่ารายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น โดดเด่นในด้านส่งเสริมการตลาด และการออกแบบร้านหนังสือที่สวยงาม  

          สิ่งที่ CCC ทำคือปรับเปลี่ยนห้องสมุดเมืองให้เป็นคล้ายศูนย์หนังสือขนาดใหญ่ โดยรวมเอาห้องสมุดกับร้านหนังสือไว้ด้วยกัน เน้นการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เริ่มดำเนินการแล้วในห้องสมุดประจำเมือง 4 แห่งตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ประกอบด้วย ห้องสมุดเมืองทาเคโอะ (Takeo City Library) ห้องสมุดเมืองทากาโจ (Tagajo City Library) ห้องสมุดเมืองเอบินะ (Ebina City Library) และห้องสมุดเมืองทาคาฮาชิ (Takahashi City Library)

ห้องสมุดก็ต้องมีหนังสือเยอะๆ สิ

          ห้องสมุดเมืองในแนวทางใหม่นี้ มีการเพิ่มปริมาณหนังสือมากเป็น 2 เท่าของห้องสมุดทั่วไป โดยจะมีหนังสือราว 200,000 – 300,000 เล่ม เปิดทำการ 7 วันต่อสัปดาห์ 12 ชั่วโมงต่อวัน ไม่เว้นวันหยุด ภายในอาคารเต็มไปด้วยชั้นหนังสือขนาดใหญ่ที่เปิดโล่ง ออกแบบอย่างสวยงาม เน้นการจัดเรียงหนังสือให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานซึ่งปรับมาจากการเรียงดีวีดีให้เช่าของร้าน Tsutaya

          ร้านหนังสือที่ถูกผนวกเข้ามาจะมีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ คิดเป็นสัดส่วน 20-25% ของแต่ละชั้น พนักงานของห้องสมุดและร้านหนังสือเป็นทีมเดียวกัน ได้รับการฝึกอบรมภายใต้การบริหารจัดการของ CCC ผู้ใช้บริการสามารถอ่านหนังสือทุกเล่มที่ต้องการ ไม่ว่าจะหยิบมาจากโซนร้านหนังสือหรือห้องสมุด และถ้าคุณใช้งานเสร็จแล้ว สามารถนำไปคืนตรงจุดยืม-คืนที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณ หรือหากต้องการครอบครองก็สามารถซื้อได้

          การตลาดลักษณะนี้ สามารถดึงดูดลูกค้าที่ปกติจะเข้าเฉพาะร้านหนังสือให้เข้ามาใช้บริการห้องสมุดเมืองได้มากขึ้น

          การบูรณาการห้องสมุดและร้านหนังสือเข้าไว้ด้วยกัน ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ของผู้ใช้บริการ เพราะพวกเขาจะได้สำรวจประเภทของหนังสือที่เยอะและครอบคลุมกว่าร้านหนังสือทั่วไป รวมถึงการได้อัปเดตหนังสือออกใหม่และหนังสือยอดนิยม ความสะดวกสบายและการอำนวยความสะดวกทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดว่า ‘หนังสือ’ คือตัวเอกของสถานที่

ออกแบบพื้นที่จากการคิดรอบด้าน และการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสวยงามของสถานที่ เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ดึงดูดใจให้ผู้คนมาเยี่ยมเยือน แน่นอนว่าห้องสมุดเมืองภายใต้การเปลี่ยนโฉมของ CCC ได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน เน้นทั้งความสวยงามและประโยชน์ใช้สอย โดยมีหนังสือตัวชูโรง ทำหน้าที่เป็นทั้งทรัพยากรความรู้ในห้องสมุด เป็นสินค้าในร้านหนังสือ และเป็นของตกแต่งพื้นที่ไปในตัว

          นอกจากนี้ การออกแบบพื้นที่ภายในยังสะท้อนความกล้านำเสนอสิ่งใหม่ๆ เช่น การตัดพื้นที่ให้บริการคอมพิวเตอร์สาธารณะออกไป เหลือไว้แค่บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต Wi-Fi และแท็บเล็ตที่ให้ยืมได้ครั้งละ 1-2 ชั่วโมง

          มองเผินๆ อาจเป็นแนวคิดที่แปลกไปสักหน่อยในยุคปัจจุบัน แต่ในมุมกลับกัน นี่คือการแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในวัฒนธรรมการอ่านของคนญี่ปุ่นอย่างแท้จริง เพราะแม้ญี่ปุ่นจะเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยี มีบทบาทในการคิดค้นและผลิตอุปกรณ์ e-reader แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังนิยมหนังสือเล่มมากกว่าอีบุ๊กอยู่พอสมควร ส่วนเหตุผลที่คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะถูกตัดออกไป เพราะคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะพกพาโน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนที่มีอินเทอร์เน็ตส่วนบุคคลอยู่แล้ว

          อีกส่วนที่น่าสนใจคือการที่ห้องสมุดแต่ละแห่งไม่มีห้องประชุม แต่มีพื้นที่และเฟอร์นิเจอร์อเนกประสงค์อยู่เหลือเฟือ สามารถนำมาจัดวางได้อย่างยืดหยุ่นตามการใช้สอย มีมุมสำหรับเด็กๆ แยกออกมาต่างหาก และมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

พื้นที่แสนสบาย กรุ่นกลิ่นกาแฟในโลกหนังสือ

          สำหรับคอหนังสือทั้งหลาย จะมีอะไรดีไปกว่าการได้เพลิดเพลินในบรรยากาศที่รายล้อมด้วยหนังสือและกลิ่นหอมกรุ่นของกาแฟ

          ด้วยเหตุนี้ ร้านกาแฟเจ้าดังอย่างสตาร์บัคส์ (Starbucks) จึงถูกชักชวนให้เข้ามาร่วมในการยกเครื่องห้องสมุดเมืองในครั้งนี้ด้วย เพราะแม้ห้องสมุดหลายแห่งจะมีร้านกาแฟให้บริการ แต่ก็มักจำกัดพื้นที่ในการกินดื่มและพูดคุย ทว่าห้องสมุดห้องสมุดโฉมใหม่นี้ ผู้ใช้บริการสามารถดื่มกาแฟได้ทุกที่ในอาคาร รวมถึงเครื่องดื่มซึ่งนำมาเองด้วย ข้อแม้อย่างเดียวคือต้องเป็นถ้วยที่มีฝาปิด

          นอกจากกาแฟจะช่วยสร้างบรรยากาศอันน่ารื่นรมย์แล้ว อีกทางหนึ่งยังช่วยดึงดูดให้คนเข้ามาใช้บริการห้องสมุดมากขึ้น คุณอาจแค่แวะมาซื้อกาแฟ นัดพบปะเพื่อนฝูง เดินสำรวจหนังสือหรือนั่งหยิบเล่มที่ถูกใจมานั่งอ่าน ก่อนที่สุดท้ายจะซื้อติดมือกลับบ้านไป      

          การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงห้องสมุดในครั้งนี้ มุ่งหวังให้ผู้ใช้บริการรู้สึกสบายใจและผ่อนคลาย ไม่อึดอัดจากกฎระเบียบหรือการจับจ้องจากเจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการอ่าน และทำให้กลายเป็นสถานที่ที่ไม่ว่าใครก็อยากมา ดังคำกล่าวของ มูเนอากิ มาสุดะ (Muneaki Masuda) กรรมการผู้จัดการบริษัท CCC ที่ว่า “มนุษย์เคยสร้างสิ่งต่างๆ ด้วยมือของพวกเขา แต่ด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมและระบบทุนนิยม ผู้คนใช้สมองเพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ แต่ก้าวต่อไปนั้น เราต้องใช้ใจสร้างสินค้าและบริการ นี่คือความหมายของสังคมที่ร่ำรวย”

การบูรณาการที่ ‘วิน-วิน’ ทุกฝ่าย

          โครงการพัฒนาห้องสมุดเมือง โดยความร่วมมือของเมืองและบริษัท CCC ทำให้การบริหารจัดการงบประมาณทำได้ดีกว่าห้องสมุดแบบดั้งเดิม การมีร้านหนังสือ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร และร้านค้าต่างๆ ในแง่หนึ่งเป็นการช่วยให้ห้องสมุดมีรายได้มากขึ้น ซึ่งการที่ห้องสมุดมีสถานะการเงินที่พึ่งพาตนเองได้ สามารถช่วยลดแรงกดดันจากการใช้ภาษีให้คุ้มค่าได้อย่างมีนัยสำคัญ ห้องสมุดสามารถเปิดทำการเพิ่มจาก 10 ชั่วโมงเป็น 12 ชั่วโมงต่อวัน และเปิด 7 วันต่อสัปดาห์แบบไม่เว้นวันหยุด ถือว่ามากกว่าเดิมหลายเท่า แต่กลับไม่ได้ใช้เงินมากกว่าเดิมเท่าไรนัก

          ห้องสมุดรูปแบบใหม่นี้ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ ห้องสมุดเมืองทาเคโอะ ได้รับรางวัล Japanese Good Design Gold Award ในปี 2013 และเป็นหนึ่งในห้องสมุดที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น มีผู้ใช้บริการประมาณ 260,000 คนในช่วง 3 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 1,527% เมื่อเทียบกับก่อนหน้าการปรับปรุง ส่วนยอดจำหน่ายหนังสือเพิ่มขึ้น 350% ไม่รวมหนังสือลดราคา

          อีกกรณีที่สะท้อนความสำเร็จได้ชัดเจน คือผลสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการห้องสมุดเมืองเอบินะ พบว่าผู้ใช้บริการต่อเดือนเพิ่มขึ้น 70% จาก 35,000 ในปี 2014 เป็น 60,000 คนในปี 2016 ห้องสมุดแห่งอื่นๆ มียอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 171% ถึง 269% ขณะที่การใช้เวลาในห้องสมุดโดยเฉลี่ยต่อคน เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3 ชั่วโมง จากเดิมที่ใช้เพียง 30 นาที

          หลักฐานเชิงสถิติบ่งชี้ว่าห้องสมุดในแนวทางที่บริษัท CCC และเมืองทำร่วมกันนั้นสัมฤทธิ์ผล สามารถเปลี่ยนห้องสมุดเมืองให้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คน และปลุกบรรยากาศของเมืองให้มีชีวิตชีวามากขึ้น

อนาคตห้องสมุดประชาชน ในฐานะส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ

          แม้จะมีข้อดีหลายประการ แต่ก็มีคนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารห้องสมุดในแนวทางดังกล่าว โดยมองว่าห้องสมุดมีปัญหาในแง่ของการคัดสรรหนังสือ ซึ่งไม่หลากหลายเท่าที่ควร แต่ยึดตามความเห็นของบริษัท CCC เป็นหลักโดยไม่รับฟังความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งการรวมเอาร้านหนังสือและร้านกาแฟเข้ามาไว้ในห้องสมุด ภายใต้การบริหารจัดการโดยภาคเอกชนแบบเบ็ดเสร็จ ดูจะเน้นการให้บริการเชิงพาณิชย์ มากกว่าความต้องการให้บริการห้องสมุดอย่างจริงใจ ยังไม่นับปัญหาการเมืองภายในที่แอบแฝงไว้ด้วยผลประโยชน์ ซึ่งควรหารือถึงแนวทางบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อไป

          ถึงแม้จะมีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในบางประเด็น แต่แนวทางของห้องสมุดภาครัฐที่เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม มีการบริหารจัดการในเชิงธุรกิจมากขึ้นจนกลายเป็นฟันเฟืองหนึ่งซึ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังคงเป็นทิศทางที่น่าสนใจ ตราบใดที่ห้องสมุดไม่มองข้ามภารกิจในฐานะผู้ให้บริการสาธารณะ


ที่มา

Japan Press Weekly. Komaki City cancels contract with major bookstore chain over city library construction plan. [Online]

Steve Coffman. Japan Is Transforming Libraries Into ‘Vibrant Community Hubs’ … By Doubling Down on Books. [Online]

Steve Coffman. New model for public libraries from japan. [Online]

Steve Coffman. The CCC/Tsutaya library miracle in Japan: combined bookshop libraries. [Online]

Takenaka Harukata. Liberating a Library in Saga Prefecture. [Online]

The Future of Life Proposals Aimed by CCC. How Japan’s Biggest Bookstore Chain Reinvented Itself For the Digital Age. [Online]

Tsutaya, beyond the bookstore. [Online]

William. New Tsutaya library rejected by locals amid controversy over mismanagement. [Online]

Yoko Hirose. Use of Private Sector Dynamism in Japanese Public Library: Ebina City Central Library. [Online]

Cover Photo: https://www.ana-cooljapan.com/

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก