กับวัยรุ่นยุค 2000s ที่เติบโตมากับหนังสือของ ‘สำนักพิมพ์แจ่มใส’ เราคงไม่ต้องอธิบายว่า
สำนักพิมพ์นี้มีอิทธิพลต่อคุณแค่ไหน แต่กับคนที่รู้จักสำนักพิมพ์นี้เพียงน้อยนิด ขอสรุปให้ฟังอย่างย่อว่า แจ่มใสคือหนึ่งในสำนักพิมพ์ผู้ผลิตงานนิยายรักวัยรุ่นที่ประสบความสำเร็จที่สุด และเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เด็กหลายคนปล่อยมือจากหนังสือการ์ตูนตาหวาน แล้วหันมาอ่านนิยายรักจนติดงอมแงม
จากหนังสือชุด ความรู้สึกดี…ที่เรียกว่ารัก ในยุคแรกเริ่ม แจ่มใสสร้างปรากฏการณ์ในวงการหนังสือด้วยแบรนด์ ‘Jamsai Love Series’ บุกเบิกให้นิยายรักวัยรุ่นไทยเป็นที่นิยมจนครองชาร์ตขายดีอยู่หลายปี เช่นเดียวกับแบรนด์แปลจีน ‘มากกว่ารัก’ และแบรนด์นิยายวาย ‘everY’ ที่ผลักดันวัฒนธรรมป๊อปกลิ่นไทยๆ ให้ไปโด่งดังในต่างแดน
กว่า 20 ปีที่ผ่านมา แจ่มใสปลุกกระแสเหล่านี้จนประสบความสำเร็จได้อย่างไร น้ำฝน ปัญญา ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดของแจ่มใส พร้อมแล้วที่จะเล่าให้ฟัง
ความรู้สึกดี…ที่อยากแบ่งปัน
ถ้าให้นึกถึงหนังสือของ ‘สำนักพิมพ์แจ่มใส’ หลายคนอาจนึกถึงนิยายรักฟีลกู๊ดที่เน้นให้ความบันเทิงเป็นหลัก ซึ่งน้ำฝนก็ยืนยันว่าเราคิดถูก ในยุคแรกเริ่มของสำนักพิมพ์ เกรียงไกร สื่อสุวรรณ และ บุษรา พรประเสริฐศรี สองผู้ก่อตั้งอยากตีพิมพ์งานเขียนอ่านสนุก เพื่อสร้างความสุขและความแจ่มใสให้นักอ่าน จึงเป็นที่มาของชื่อสำนักพิมพ์แจ่มใสด้วย
“ย้อนกลับไปในปี 2544 ยุคนั้นนักเขียนส่วนใหญ่ที่ได้ออกหนังสือมักเป็นนักเขียนชั้นครูหรือนักเขียนที่รวมเล่มมาจากนิตยสาร แต่ทางผู้ก่อตั้งพบว่าในบอร์ดพันทิป ห้องถนนนักเขียน มีเรื่องสั้นเกี่ยวกับความรักที่เขียนโดยนักเขียนสมัครเล่นหลายคน ที่อ่านแล้วรู้สึกอิน สามารถสร้างความประทับใจไม่แพ้นักเขียนที่มีชื่อเสียง จึงคิดว่าน่าจะลองตีพิมพ์ดู เพราะเชื่อว่าคงจะมีคนที่ชอบอ่านเรื่องเหล่านี้เช่นเดียวกัน”
นั่นคือที่มาของรวมเรื่องสั้นชุด ความรู้สึกดี…ที่เรียกว่ารัก ซึ่งนำเรื่องสั้นเหล่านั้นมาตีพิมพ์ ทำให้แจ่มใสกลายเป็นผู้บุกเบิกการนำนิยายรักจากอินเทอร์เน็ตมาตีพิมพ์เป็นเจ้าแรก แม้ตอนนั้นพวกเขาไม่ได้คาดหวังว่าจะขายดี เพียงแค่อยากแบ่งปันกับนักอ่านเท่านั้น แต่ด้วยความสนุกของเนื้อเรื่อง และงานออกแบบปกที่สวยงาม มีเอกลักษณ์ ทำให้เสียงตอบรับของ ความรู้สึกดี…ที่เรียกว่ารัก ก็ดีสมชื่อ จนสามารถพิมพ์เล่ม 2 3 4 ออกมาได้เรื่อยๆ แถมยังรวมเล่มเดี่ยวให้นักเขียนแต่ละคนได้อีกด้วย
จุดนั้นเองทำให้เกรียงไกรและบุษราเริ่มทำ สำนักพิมพ์แจ่มใส อย่างจริงจัง มีการรับสมัคร
ทีมงานเพิ่มเติม ส่งผลให้กองบรรณาธิการมีความชื่นชอบอันหลากหลาย จากชุด ความรู้สึกดีฯ แจ่มใสจึงขยับขยายมาทำแบรนด์ Korean Love Series นิยายแปลแนวรักวัยรุ่นเกาหลีด้วยแพสชันของคนในทีมเช่นกัน
เรื่องรักสดใสที่ทำให้โลกทั้งใบเป็นสีชมพู
หนุ่มเหงาสาวหวาน สานฝันหัวใจ, หนุ่มฮอตสาวเฮี้ยว รักเปรี้ยวอมหวาน, คีย์หัวใจ บันไดเสียงรัก คือตัวอย่างงานเขียนของ ‘ควียอนี’ นักเขียนชาวเกาหลีที่แจ่มใสหยิบมาแปลจนได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นไทยเป็นอย่างมาก ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นคนไทยเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตกันอย่างแพร่หลาย แจ่มใสเองก็ทำเว็บไซต์ที่มีบอร์ด ‘แบ่งกันอ่าน’ ให้นักอ่านที่อินกับนิยายแจ่มใสได้มาแต่งเรื่องของตัวเองลงบอร์ดบ้าง
หนึ่งในนั้นคือ ‘แสตมป์เบอรี่’ นักเขียนคนแรกของแนว Love Series ที่ลองส่งต้นฉบับมาให้พิจารณา และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิด Jamsai Love Series อีกแบรนด์ในเครือที่ตีพิมพ์งานของนักเขียนวัยรุ่นไทย
ด้วยพื้นเพตัวละคร เซ็ตติ้งสถานที่ และภาษาที่เข้าถึงได้ง่าย มีกลิ่นอายของงานแปลเกาหลี ส่งผลให้แบรนด์ Jamsai Love Series คือหนึ่งในแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคนั้น ถึงขนาดที่สร้างรายได้ให้สำนักพิมพ์กว่า 70 ล้านบาทในปี 2547
“ในยุคนั้น งานเขียนแบบนี้เป็นสิ่งที่แตกต่างจากตลาด มันแปลกใหม่สำหรับน้องๆ วัยรุ่นที่เคยอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น อยู่ดีๆ มีนิยายที่พล็อตคล้ายการ์ตูน อ่านง่าย หน้าปกดึงดูดด้วยรูปของพระเอกนางเอกให้จินตนาการได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญคือเป็นเรื่องของเด็กวัยรุ่น น้องๆ อ่านแล้วก็จะรู้สึกว่าแจ่มใสเป็นเหมือนเพื่อนของเขา เกิดการไวรัลแบบปากต่อปากจนมันเป็นปรากฏการณ์ขึ้นมา” น้ำฝนวิเคราะห์ความสำเร็จให้ฟัง
“เราอาจไม่ได้ทำหนังสือที่เป็นวรรณกรรมชั้นครู แต่มันเป็นหนังสือที่เป็นจุดเริ่มต้นในการอ่านหนังสือที่เป็น text-based ของน้องๆ และทำให้เขาขยับไปอ่านงานที่เข้มข้นขึ้น ต่อยอดไปสู่การอ่านในรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นได้”
ความนิยมของ Jamsai Love Series ยังทำให้รูปแบบการสื่อสารของวัยรุ่นในยุคนั้นเปลี่ยนไป เริ่มมีอีโมติคอนอย่าง ^_^ >_< O_O ที่นักเขียนใช้แพร่หลายในโปรแกรมแชตออนไลน์แบบ MSN สะท้อนให้เราเห็นว่าแจ่มใสคือหนึ่งในผู้นำเทรนด์ภาษาของวัยรุ่นได้ชัดเจน
ผลักดันเสียงวัยใสให้เป็นวรรณกรรม
หากมองมาในฝั่งแวดวงวรรณกรรม นอกจากการตีพิมพ์หนังสือแบรนด์ Jamsai Love Series ซึ่งนักเขียนส่วนใหญ่เป็นเยาวชน แจ่มใสยังมีการผลักดันเสียงของวัยใสให้กลายเป็นวรรณกรรมอย่างจริงจัง ผ่านงานประกวด ‘นักเขียนหน้าใส’ ที่แจ่มใสจับมือกับเว็บไซต์อ่านนิยายยุคบุกเบิกอย่าง Dek-D.com รับสมัครงานเขียนแนว Jamsai Love Series จากนักเขียนหน้าใหม่เพื่อให้มาแข่งขันกัน โดยมีกองบรรณาธิการและนักเขียนในสังกัดคอยเป็นโค้ชให้
“แจ่มใสรู้สึกว่าเราควรพัฒนาศักยภาพของเด็กวัยรุ่นให้เขาเติบโต จริงๆ ก่อนโครงการนักเขียนหน้าใส เราก็มีการเทรนเรื่องการพัฒนางานเขียนให้กับนักเขียนในสังกัดอยู่แล้ว กระทั่งได้มาคอลแลบส์กับ Dek-D ที่ทำนิยายออนไลน์โดยจัดโครงการขึ้นด้วยกัน เพราะแจ่มใสมองว่านอกจากจะได้พัฒนานักเขียนรุ่นใหม่ เรายังได้ต้นฉบับดีๆ มาตีพิมพ์ต่อยอดให้นักอ่านได้อีก ก็เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ทั้งนักเขียนและตัวแจ่มใสเองด้วย” น้ำฝนเล่าด้วยรอยยิ้ม
แน่นอนว่าประสบความสำเร็จระดับนี้ หลายสำนักพิมพ์ทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าจึงออกหนังสือแนวเดียวกันมาแข่ง แต่น้ำฝนเล่าว่าสิ่งที่ทำให้ Jamsai Love Series ยังครองอันดับสูงสุดบนชาร์ตนิยายรักได้หลายปี คือความใส่ใจที่แจ่มใสมีต่อหนังสือทุกเล่ม
“ด้วยโจทย์ว่าเราอยากสร้างความสุขและความประทับใจให้กับนักอ่าน เราก็ใส่ใจในการทำหนังสือให้ออกมาดี พิถีพิถันทุกขั้นตอนเพื่อให้หนังสือของเรามีคุณภาพที่ดี เท่านั้นยังไม่พอ เรายังมี after service (บริการหลังการขาย) อีก จะเห็นว่าในยุคนั้นแจ่มใสเป็นสำนักพิมพ์เจ้าแรกๆ ที่มียูนิต JCC หรือ Jamsai Customer Care
“สมัยนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย Jamsai Customer Care คือหน่วยงานที่คอยรับโทรศัพท์และตอบอีเมลลูกค้าอยู่หลังบ้าน หากลูกค้ามีปัญหาเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ เจอหนังสือชำรุด หรือแม้กระทั่งอยากโทรมาสอบถามว่านิยายที่มีเนื้อเรื่องแบบนี้คือเรื่องอะไร เราก็มีเซอร์วิสตรงนี้ไว้รองรับ
“เราไม่ได้ดูแลเฉพาะส่วนของการทำหนังสือเท่านั้น แต่ดูแลลูกค้าจนถึงตอนที่เขาซื้อหนังสือกลับไป ลูกค้าเลยรู้สึกประทับใจและให้การสนับสนุนเราอย่างต่อเนื่อง เพราะเราดูแลเขาตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำเลย”
สื่อที่ปรับตัวไปตามบริบทของสังคม
กว่า 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ทีมงานแจ่มใสยึดเป็นหลักในใจระหว่างทำงานคือ พวกเขาอยาก ‘Forever
Young’
แจ่มใสอยากทำสิ่งที่สดใหม่เสมอ ไม่ว่าโลกการอ่านจะก้าวไปทางไหน พวกเขาก็อยากก้าวไปพร้อมๆ กันกับนักอ่าน นั่นทำให้กว่า 20 ปีที่ผ่านมา นอกจาก Jamsai Love Series ที่ประสบความสำเร็จแล้ว เราก็จะเห็นว่าแจ่มใสขยับตัวไปทดลองทำงานแนวอื่นๆ ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น สำนักพิมพ์ ENTER BOOKS ที่เน้นแนวแฟนตาซีและกำลังภายใน, สำนักพิมพ์มากกว่ารัก ที่เน้นนิยายรักแปลจีน หรือแม้กระทั่งสำนักพิมพ์กัมบัตเตะ ซึ่งเปลี่ยนคู่มือเตรียมสอบที่เด็กไทยเคยมองว่าอ่านยากให้เข้าถึงได้ง่าย
แต่ใช่ว่าเส้นทางของแจ่มใสจะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ มีหลายแบรนด์ที่ได้ทดลองทำแต่ยังไม่เหมาะกับตลาดจนต้องล้มเลิกไป แม้กระทั่ง Jamsai Love Series ที่ยุคหนึ่งเคยบูมมาก แต่ปัจจุบันมีการชะลอไว้ ไม่ออกงานใหม่ๆ ด้วยเทรนด์ของนักอ่านที่เปลี่ยนไป
หนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงในยุคนี้คือนิยายวาย แจ่มใสเองก็มีอีกหนึ่งสำนักพิมพ์ในเครือคือ everY ที่พิมพ์นิยายวายโดยเฉพาะ แม้จะเคยประกาศก่อนหน้านั้นว่าจะไม่ทำแนววาย
น้ำฝนให้เหตุผลว่าด้วยทีมบริหารที่เปลี่ยนไป บวกกับบริบททางสังคมที่โอบรับความหลากหลายมากขึ้น และเหตุผลที่แจ่มใสให้น้ำหนักที่สุดซึ่งเป็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการแตกไลน์สำนักพิมพ์ใหม่ทุกครั้ง นั่นคือแพสชันและความชอบของทีมงานแจ่มใสเอง
น้ำฝนเล่าว่า เอกลักษณ์ของ everY ที่ต่างจากนิยายวายของสำนักพิมพ์อื่นๆ ก่อนหน้านั้นคือ แจ่มใสมองว่ามันเป็นนิยายรัก
“everY คือแบรนด์ที่มองว่าความรักเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกเพศ อย่างไรก็ตามเวลาโฆษณาหรือตอนที่เราพูดถึง ก็จะบอกว่าเป็นนิยายวายแหละ แต่จริงๆ แล้วมันคือนิยายรัก มันสามารถทำอะไรก็ได้ในขอบเขตของนิยายรัก แต่ขณะเดียวกัน ก็ตระหนักว่าเราเป็นสื่อ เพราะฉะนั้นคอนเทนต์ของ everY จึงต้องเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับบริบทสังคมในเวลานั้น และต้องสามารถวางขายบนชั้นหนังสือได้”
everY เปิดตัวในปี 2558 เป็นสำนักพิมพ์เจ้าแรกๆ ที่ผลักดันให้นิยายชายรักชายและหญิงรักหญิงไปอยู่บนเชลฟ์ของร้านหนังสือชั้นนำ และนิยายวายหลายเรื่องในสังกัดถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปทำซีรีส์ที่โด่งดังทั้งในและต่างประเทศ เช่น เพราะเรา…คู่กัน, เดือนเกี้ยวเดือน, หลังม่าน (แค่เพื่อนครับเพื่อน), หอมกลิ่นความรัก และเมื่อนับตัวเองเป็นสื่อ everY จึงให้ความสำคัญกับการส่งต่อค่านิยมบางอย่างไปสู่คนอ่านผ่านวรรณกรรม น้ำฝนยอมรับว่างานของแจ่มใสและ everY บางเรื่องก็มีเรื่องผิดพลาดบ้างเป็นธรรมดา
“เช่นคอนเทนต์แบบนี้ไม่เหมาะกับค่านิยมยุคนี้แล้ว มันจะมีเคสที่หนังสือเมื่อ 5-6 ปีก่อนนำกลับมาทำเป็นซีรีส์ ซึ่ง ณ ตอนนั้น บริบททางสังคมเป็นอีกแบบหนึ่ง คนอ่านทุกคนเลิฟ ชื่นชมเล่มนั้น แต่ตอนนี้บริบทสังคมเปลี่ยนไป มีบางจุดที่เซนซิทีฟ แจ่มใสก็เรียนรู้และปรับตัว มันเลยเกิดเป็นเคสที่ว่าเรานำหนังสือบางเล่มมารีไรต์ใหม่ให้เหมาะสมกับสังคมในยุคสมัยนี้”
แจ่มใส…ประทับใจคุณ
และเพราะความตั้งใจที่จะเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ Forever Young ชาวแจ่มใสจึงกระโดดไปลองทำสื่อใหม่ๆ ที่พวกเขา ‘อยากลอง’ เช่นการออกหนังสือภาษาอังกฤษ การเป็นผู้จัดซีรีส์วายเรื่อง SOTUS พี่ว้ากตัวร้ายกับนายปีหนึ่ง การทำเว็บไซต์อ่านนิยายรายตอน และการทำ Virtual Live Fan Meeting ศิลปิน
“มันได้ know-how นะ” น้ำฝนบอกเหตุผล “ไม่ว่าจะหนังสือเล่ม เว็บไซต์นิยายรายตอน ทำซีรีส์ หรือแฟนมีตติ้ง ทุกอย่างได้องค์ความรู้ที่จะเอามาพัฒนาให้องค์กรได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นไปอีก เพราะเราก็ไม่อยากอยู่กับที่”
“แต่นักรบย่อมมีบาดแผล สิ่งที่เราทำมันก็มีทั้งเวิร์กและไม่เวิร์ก อันไหนที่ไม่เวิร์กก็เก็บเป็น lesson learned และเอามาปรับให้งานต่อไปดีขึ้น เราก็จะไม่กลับไปเจ็บอีก”
น้ำฝนยังเล่าเสริมว่า ในโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่างๆ มาขับเคลื่อนโลกคอนเทนต์มากขึ้น สิ่งที่แจ่มใสให้ความสำคัญมีสองส่วน คือ ทำธุรกิจหนังสือให้ไปได้ดีและมั่นคง อีกส่วนคือ ลองทำสิ่งแปลกใหม่ที่พวกเขาไม่เคยทำแต่อยากทำ
“การทำสิ่งเดิมให้ดีทำให้นักอ่านรู้สึกว่าเขายังมีเพื่อนคนนี้คนเดิมอยู่ข้างๆ เสมอ แต่เราก็อยากทำสิ่งที่แปลกใหม่ เพื่อเป็นสีสันและสร้างความ fresh ให้กับทีมงาน ซึ่งอาจนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ ในทางธุรกิจได้ ฉะนั้นมันก็ต้องไปพร้อมๆ กัน”
เหนืออื่นใด น้ำฝนย้ำว่า mission ของแจ่มใสที่ตั้งไว้ตั้งแต่วันแรกจะไม่มีวันเปลี่ยน นั่นคือการสร้างความสุขและความแจ่มใสให้นักอ่านเสมอมา และตลอดไป