เจมี โอลิเวอร์ : เชฟนักรณรงค์ ‘ฉลาดกินเพื่ออยู่ ฉลาดรู้เรื่องกิน’

267 views
4 mins
December 6, 2023

          เมื่อปี 1999 สถานีโทรทัศน์บีบีซีช่อง 2 ของอังกฤษออกอากาศรายการทำอาหาร ‘The Naked Chef’ ที่โด่งดังไปทั่วโลก รายการนี้แจ้งเกิดเชฟหนุ่ม เจมี โอลิเวอร์ (Jamie Oliver) ซึ่งมีพรสวรรค์ทั้งในครัวและหน้าจอ ต่อมาเขาได้กลายเป็นดารา และเจ้าของธุรกิจร้านอาหารที่มีสาขาทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

          บนเส้นทางความเป็นเชฟ เจมี ไม่เพียงมุ่งสู่ความสำเร็จด้านวิชาชีพแต่ยังสนใจปัญหาด้านสังคมแบบจริงจัง รายการโทรทัศน์ต่างๆ ที่เขาผลิตขึ้นเป็นเครื่องมือสำหรับการขุดคุ้ยปมปัญหาเรื่องปากท้องอย่างละเอียดรอบด้าน รวมทั้งก่อให้เกิดการสื่อสารที่ทรงพลังจนสามารถโน้มน้าวให้ผู้คนในสังคมและผู้กำหนดนโยบายคล้อยตาม

          ในวัยเด็ก เจมี เป็นคนขี้อาย งุ่มง่าม มักถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง อีกทั้งมีความบกพร่องด้านการอ่านและการเขียน (Dyslexia) ทว่าอุปสรรคเหล่านี้กลับกลายเป็นประตูแห่งโอกาสไปสู่การค้นพบสิ่งที่หลงใหล และอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่เขา

          “การเรียนรู้ในโรงเรียนไม่สามารถช่วยอะไรผมได้เลย ผลการเรียนออกมาแย่ ผมเลยใช้เวลาวันหยุดสุดสัปดาห์ทำงานในผับของครอบครัว ความสามารถในการทำอาหารได้ตั้งแต่อายุ 11 ขวบ ช่วยชีวิตผมไว้ มันทำให้รู้สึกไม่สิ้นหวัง …ผมคิดว่ามีเด็ก 20-30% ที่ไม่เหมาะกับโรงเรียนแบบดั้งเดิม โรงเรียนจะตอบสนองพวกเขาได้อย่างไร จริงๆ แล้วงานของโรงเรียนคือสอนเด็กๆ ให้เรียนรู้ด้วยตนเอง แก้ปัญหา และรู้จักปรับตัว”

          เมื่อ เจมี มีลูกคนแรก เขาเริ่มหันมาสนใจเรื่องโภชนาการในโรงเรียน และตั้งข้อสังเกตว่า มื้ออาหารสำหรับเด็กมักเป็นอาหารแปรรูปราคาถูกที่มีไขมันสูง ในปี 2005 เขาผลิตสารคดีชุด ‘Jamie’s School Dinners’เริ่มต้นจากการไปเยี่ยมโรงเรียนคิดบรู๊ค จุดเล็กๆ ที่นั่นเผยให้เห็นปัญหาในระดับโครงสร้างและนโยบาย งบประมาณอาหารต่อหัวที่รัฐจัดสรรให้มีเพียง 37 เพนนี หรือ ประมาณ 16 บาท เท่านั้น

          เมื่อเจมีทดลองเข้าไปเปลี่ยนมื้ออาหารในโรงเรียนดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักโภชนาการ เขากลับถูกนักเรียนต่อต้าน เพราะเด็กๆ เคยชินและชื่นชอบการกินอาหารขยะ ส่วนแม่ครัวก็ขู่จะลาออกเพราะมีภาระเพิ่มขึ้น ในสารคดีตอนถัดมาเขาจึงจัดค่ายให้แม่ครัวโรงเรียนได้เรียนรู้กลวิธีทำอาหารปริมาณมากให้เสร็จรวดเร็วและมีคุณภาพจากกองทัพอังกฤษ

          เขายังสืบสาวพบว่า เคาน์ตีเดอแรมเป็นพื้นที่ที่เด็กมีปัญหาสุขภาพมากที่สุดในอังกฤษ และต้นตอหนึ่งของปัญหาก็คือคุณภาพอาหารจากครอบครัวที่บ้าน เขาจึงพยายามทำทุกอย่าง ทั้งผลิตสื่อการศึกษา คัดเลือกเด็กๆ ให้ลองมาทำงานในครัว

          สารคดีชุดดังกล่าวเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การรณรงค์ระดับชาติ ‘Feed Me Better’ ซึ่งขับเคลื่อนและให้ความรู้เรื่องการยกระดับคุณภาพอาหารสำหรับเด็ก กรณีแคว้นลิงคอล์นเชียร์และดอร์เซ็ต โรงเรียนส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณและยกเลิกการประกอบอาหารให้กับนักเรียน ภายใต้แคมเปญนี้ เจมีทดลองแก้ปัญหาด้วยการริเริ่มทำโครงการอาหารสำหรับโรงเรียน โดยเชื่อมโยงผู้ประกอบการต่างๆ ทั้งร้านอาหาร โรงแรม ผับ และเกษตรกร เพื่อปรุงอาหารจากวัตถุดิบในท้องถิ่น แล้วจัดส่งไปยังโรงเรียนด้วยอาสาสมัครหรือรถแท็กซี่

“ผมใช้เวลา 25 ปีในการท่องโลก และพบว่า แม้แต่ในชุมชนที่ยากจนที่สุดก็มีอาหารที่ดีที่สุดเสมอ อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงบางประเภทมีราคาถูก แต่มันจะไม่มีความหมายอะไรเลย หากไม่มีการศึกษาและการเข้าถึง ถ้าคุณมีความรู้ คุณจะพบวิธีเอาชนะค่าใช้จ่าย”

          ผลการรณรงค์ ‘Feed Me Better’ มีชาวอังกฤษเกือบ 3 แสนคนร่วมลงชื่อในแคมเปญ กดดันให้เมนูอาหารคุณภาพต่ำ เช่น ไก่งวงชุบแป้งทอดเคลือบน้ำตาล (Turkey Twizzlers) ถูกยกเลิกในโรงเรียน บางแคว้นกำหนดให้โรงเรียนเสิร์ฟอาหารทอดได้สัปดาห์ละไม่เกินสองครั้ง และห้ามจัดหาน้ำอัดลมให้นักเรียน ยิ่งไปกว่านั้น ยังส่งผลให้รัฐบาลอังกฤษออกมาตรการแก้ปัญหาคุณภาพอาหารในโรงเรียน รวมทั้งเพิ่มงบประมาณด้านอาหารสำหรับเด็ก

          “เราต่างก็รู้ดีว่าเด็กที่รับประทานอาหารกลางวันและอาหารเช้าจะเรียนรู้ได้ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน นี่เท่ากับเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมในโรงเรียนให้เด็กทุกคนสามารถเติบโตอย่างมีคุณภาพ”

          ในอังกฤษ เด็กปฐมวัยจนถึงนักเรียนระดับประถม 2 ทุกคน จะได้รับอาหารฟรีที่โรงเรียน ส่วนนักเรียนตั้งแต่ประถมปีที่ 3 ขึ้นไป เฉพาะผู้ซึ่งมาจากครัวเรือนยากจนหรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 7,400 ปอนด์เท่านั้นจึงจะได้รับสิทธิสวัสดิการนี้ ในความเป็นจริงอาจมีนักเรียนอีกจำนวนมากที่ขาดแคลนแต่ตกหล่นจากหลักเกณฑ์ดังกล่าว

          มันเป็นเรื่องน่าเจ็บปวดกับข้อสรุปที่ว่า “เด็กยากจนมีเวลาอยู่บนโลกนี้น้อยกว่าเพื่อนที่ร่ำรวย” นี่จึงเป็นที่มาของการริเริ่มอีกหนึ่งโครงการ คือ ‘Feed the Future’ เพื่อแจกอาหารฟรีในโรงเรียนให้กับเด็กอีกราว 800,000 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางในสังคม

          อย่างไรก็ตาม เจมี มีข้อวิจารณ์ว่า ความยากจนมีความสัมพันธ์กับอาหารการกินที่ด้อยคุณภาพก็จริง แต่ก็ใช่ว่าคนรวยทุกคนจะมีสุขภาพที่ดีและมีตรรกะในการเลือกบริโภค ตราบใดที่ผู้คนยังขาดความรู้และความตระหนัก

          “เรามีการเกษตรที่ทันสมัย ทั้งไบโอไดนามิก หรือออร์แกนิก ผู้คนไขว่คว้าหาสิ่งเหลือเชื่อจากที่ไกลโพ้นของโลก แต่เท่าที่ผมได้สัมผัสคนร่ำรวย พวกเขามักออกไปรับประทานอาหารสุดหรู จากนั้นก็กลับบ้านไปกินอาหารบ้าๆ บอๆ สุดท้ายมันก็เป็นเรื่อง ‘ความรู้’ อยู่ดี”

เจมี โอลิเวอร์ : เชฟนักรณรงค์ ‘ฉลาดกินเพื่ออยู่ ฉลาดรู้เรื่องกิน’
เจมี โอลิเวอร์
Photo: Scandic HotelsCC BY-NC 2.0, via Flickr


ที่มา

บทความ“Jamie Oliver: Give more children free school meals”จาก bbc.com (Online)

บทความ “Jamie Oliver says ‘children coming to school with empty lunchboxes’ in free meals plea” จาก independent.com (Online)

บทความ “Jamie Oliver’s school dinners shown to have improved academic results” จาก theguardian.com (Online)

บทความ “Jamie takes on school dinners again – and asks how the whole school can promote child health” จาก jamieoliver.com (Online)

บทความ “Jamie Oliver on fame, failure and fighting obesity: ‘I’m actually quite shy. I don’t like a ruck’” จาก theguardian.com (Online)

บทความ “Jamie Oliver: I’ve been able to use dyslexia as a positive” จาก breakingnews.ie (Online)


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ Lifelong Learning Focus issue 03 (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก