ณ พื้นที่กว้างกลางทะเลทรายร้อนเผาไหม้ เม็ดฝนตกไม่ทั่วถึงท่ามกลางภูมิศาสตร์แห้งผาก ท่ามกลางความแร้นแค้นและดูเหมือนจะถูกตัดขาดจากโลก หมู่บ้านจาดกัล หรือ Seyedbar-Jadgal ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองชาบาฮาร์ (Chabahar) ในประเทศอิหร่าน 100 กิโลเมตร มีสิ่งก่อสร้างทรงกลมแปลกประหลาด พร้อมหน้าต่างเล็กใหญ่สไตล์โพลก้าดอทที่ดูไม่เข้ากับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เลยตั้งอยู่
นั่นคือโรงเรียนประถมศึกษาจาดกัล ที่สร้างเสร็จในปี 2020 และเข้าชิง 20 อันดับสุดท้ายของรางวัล The Aga Khan ในปี 2022 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับสิ่งก่อสร้างที่ขับเน้นความต้องการและสร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนมุสลิม
“เรามีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างโรงเรียนที่เป็นสถานที่ฟูมฟักความคิดสร้างสรรค์ เสรีภาพ และความคิดเชิงวิพากษ์ โปรเจกต์การสร้างโรงเรียนแห่งนี้เกิดขึ้นบนความต้องการที่จะเปลี่ยนระดับชั้นทางสังคมและปัญญาของชาวบ้าน เสริมพลังให้กับผู้หญิงชาวชนบท สร้างการมีส่วนร่วม และใช้ประโยชน์จากมันเพื่อสร้างโรงเรียนในที่สุด” นี่คือเสียงจาก Daaz Office สถาปนิกเจ้าของโครงการ
โปรเจกต์การสร้างโรงเรียนแห่งนี้เกิดขึ้นมาจากแผนงานดั้งเดิมขององค์กร NGO นามว่า Iran e Man (แปลว่า “My Iran” หรืออิหร่านของข้าพเจ้า) ที่มีแกนหลักในการทำงานคือการสร้างโรงเรียนในพื้นที่ขาดโอกาสทั่วอิหร่าน และทำแคมเปญพร้อมสร้างสำเร็จมาแล้วหลายแห่ง พวกเขากระจายข่าวนี้ไปตามชุมชนที่ต้องการสถานศึกษาในพื้นที่ ซึ่งหมู่บ้านจาดกัลตอบรับและผ่านการคัดเลือกในที่สุด
“เราต้องจัดการกับภาวะทางจิตใจระหว่างคุณครูและเด็กๆ อย่างจริงจัง ประเด็นนี้ทำให้การดำเนินโครงการยากขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่แค่เรื่องเชิงสถาปัตย์ แต่เราใช้เวลากว่า 1 ปี ในการศึกษาหมู่บ้าน ผู้คน เด็กที่จะมาเรียน จากนั้นถึงค่อยออกแบบสถานที่” อราช อาลีบาดิ (Arash Alibadi) หัวหน้าสถาปนิกกล่าว
กลุ่มเป้าหมายหลักของโรงเรียนคือเด็กๆ หัวใจสำคัญจึงเป็นการสร้างห้องเรียน ห้องสมุด ลักษณะเด่นอีกประการคือมีพื้นที่อเนกประสงค์ที่ชาวบ้านสามารถเข้ามาใช้งานร่วมกันในฐานะ ‘ศูนย์กลางชุมชน’ ได้อีกด้วย พื้นที่ภายนอกและภายในอาคารจึงมีความสำคัญเท่าๆ กัน
วงกลมอาร์ตๆ เสมือนหน้าต่างรอบโรงเรียนถูกดีไซน์มาเพื่อให้เด็กๆ ได้เล่นซน พื้นผิวของโครงสร้างบริเวณลานถูกสร้างให้หนาแน่น สะท้อนเสียงจอแจของเด็กๆ ให้ดังยิ่งขึ้น สร้างความตื่นเต้นในการเล่นอย่างเต็มที่
ห้องเรียน 4 ห้อง ทั้งเล็กและใหญ่ถูกสร้างให้มีช่องแคบๆ เหลื่อมซ้อนกัน ในวันที่มีครูสอนไม่เพียงพอ เด็กทุกคนจะได้รับโอกาสในการเรียนเสมอ และยังเปิดโอกาสให้เด็กเล็กได้สำรวจชั้นเรียนของเด็กโตได้ทุกเมื่อ หรือกำแพงที่สร้างเป็นวงล้อม ก็ได้บรรยากาศของการดึงผู้คนให้เข้ามาเล่นด้วยกัน (playful shell) ไม่ใช่กำแพงที่สร้างมาเพื่อกั้นห้องจากกัน
แสงอาทิตย์เจิดจ้าและอุณหภูมิราว 40 องศาเซลเซียส ไม่ปรานีลานโล่งกว้างกลางโรงเรียน แม้จะมีต้นไม้วัยเยาว์ปลูกไว้ตามหน้าต่างและลานเล็กๆ รอเวลาเติบโตสร้างร่มเงาในอนาคต พื้นที่ตรงนี้จึงเนื้อหอมในช่วงเช้า ช่วงเย็น ยาวไปจนถึงค่ำ เป็นสนามเด็กเล่นของเด็กๆ ในวันหยุด พื้นที่ที่ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างครื้นเครง และยังเป็นลานกิจกรรมที่ชาวบ้านสามารถรวมตัวดูฟุตบอลด้วยกัน จัดคอนเสิร์ต ฟังดนตรีจากนักดนตรีพื้นถิ่น
เพราะสถาปัตยกรรมต้องเป็นหนึ่งเดียวกันกับวัฒนธรรมของชุมชนเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ การสร้างโรงเรียนประถมที่นี่จึงมีชาวบ้านร่วมด้วยในทุกกระบวนการ (participation-based method) ตั้งแต่การมอบที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียน การเป็นแรงงานและแรงเงิน และร่วมถกเถียงว่าความต้องการของคนในหมู่บ้านมีอะไรบ้าง
โรงเรียนประถมศึกษาจาดกัลไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่รวมใจของหมู่บ้านและการศึกษาของเด็ก แต่ยังท้าทายประเด็นทางการเมืองและสังคม อิหร่านเป็นประเทศที่อำนาจปกครองกดครอบสังคมและประชาชนเอาไว้ ดังนั้นการที่ชาวบ้านพูดเองว่าต้องการสร้างโรงเรียนในฐานะศูนย์กลางชุมชนและลานชุมนุมจึงนับเป็นการค่อยๆ เปลี่ยนผ่านความคิดไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิมีเสียงที่จะออกความเห็นและลงมือทำเพื่อสังคม
สถานะของผู้หญิงในหมู่บ้านมีความสำคัญขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด เพราะโปรเจกต์นี้มีเป้าหมายในการสร้างรากฐานด้านสังคมและเศรษฐกิจสำหรับสตรี แม่ๆ ป้าๆ ในแต่ละครัวเรือนลงมือทำงานเย็บปักถักร้อยเพื่อหาทุนมาทำนุบำรุงโรงเรียน การดึงพวกเธอมาร่วมอบรมการเย็บปักถักร้อยและโปรโมตสินค้าผ่านเพจ อินสตาแกรม banook.doch จึงเป็นเหมือนการต่อลำโพงขยายเสียงให้กับผู้หญิงมุสลิม
สินค้าที่ผลิตจากเด็กผู้หญิงและผู้หญิงในหมู่บ้าน ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่ช่วยทำให้โรงเรียนดำเนินการต่อไปได้ เพราะงบประมาณที่ใช้สร้างมีจำกัด และคนในชุมชนก็ไม่สามารถบริจาคเงินไปได้ตลอด เมื่อมีทุนตั้งต้นจากชาวบ้านและอาสาสมัครแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด บุคลากรครูและแรงงานซ่อมบำรุงมาจากคนในพื้นที่ มีการจัดระบบการขายสินค้าหัตถกรรมและห้องอเนกประสงค์ที่สามารถใช้รับรองนักท่องเที่ยวที่ต้องการค้างอ้างแรมได้ด้วย
หลังจากโปรเจกต์โรงเรียนประถมศึกษาจาดกัลก่อสร้างสำเร็จในปี 2017 องค์กรเอกชนหลายแห่งก็เริ่มมองหาโปรเจกต์ที่ส่งเสริมสังคมและการศึกษาทำนองเดียวกันในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ จึงเห็นได้ชัดเจนว่าผลลัพธ์ของโครงการนี้สร้างผลกระทบในวงกว้างมากกว่าเดิม
คนเริ่มติดต่อบริษัทสถาปนิก Daaz office เพื่อร่วมสร้างโมเดลลักษณะนี้ในพื้นที่อื่น สร้างการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างความเป็นเมือง-ชนบทที่มีการพัฒนาไปในทางบวก หมู่บ้านข้างเคียงก็ประทับใจจนถึงขั้นส่งลูกหลานมาเรียนที่จาดกัล และเริ่มวางแผนที่จะสร้างพื้นที่ทางสังคมแบบนี้ สร้างแนวร่วมด้านการศึกษาให้เกิดขึ้นในพื้นที่แวดล้อม
“เราได้โรงเรียนที่เปิด 24 ชั่วโมง มันไม่ได้เป็นแค่โรงเรียน แต่กลายเป็นชีวิตประจำวันของผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ พวกเขาไม่ได้คิดว่าที่นี่เป็นแค่โรงเรียน แต่เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นพื้นที่รวมตัวเพื่อพูดคุยจิปาถะ เป็นห้องสมุดทั้งกลางวันและกลางคืน และที่สำคัญที่สุดคือ มันได้เปลี่ยนแปลงขนบความคิดเดิมๆ ของผู้หญิงในพื้นที่” มินา คัมราน (Mina Kamran) ผู้จัดการโครงการกล่าว
ที่มา
บทความ “DAAZ Office Jadgal Elementary School Iran” จาก floornature.com (Online)
บทความ “Jadgal Elementary School / Daaz Office” จาก archdaily.com (Online)
บทความ “daaz office wraps a ‘playful shell’ around this school in rural iran” จาก designboom.com (Online)
บทความ “Jadgal Elementary School” จาก archnet.org (Online)
วิดีโอ “Jadgal Elementary School” จาก facebook.com (Online)