จเด็จ กำจรเดช: ตัวตนที่สูญหายกับงานเขียนครั้งใหม่ที่ว่าด้วยเรื่อง ‘ไซไฟสายมู’

1,411 views
7 mins
March 28, 2023

          ผมเสียดายเล็กน้อยที่ไม่มีโอกาสนั่งคุยกับ จเด็จ กำจรเดช แบบพบหน้าค่าตากัน เพราะเมื่อติดต่อสัมภาษณ์ไป ตัวเขาอยู่ที่นครศรีธรรมราช และยังไม่มีแพลนจะเดินทางมากรุงเทพฯ เร็วๆ นี้ ที่สำคัญ เขาแจ้งว่าจะไม่มาร่วมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติด้วย เราจึงได้คุยกันผ่านทางออนไลน์แทน

          แต่ถึงแม้จะไม่ได้คุยกันต่อหน้า แรกเริ่มผมก็สัมผัสได้ว่าคำพูดคำจา ของนักเขียนรางวัลซีไรต์สองสมัย ผู้ที่กำลังจะมีหนังสือออกใหม่สองเล่ม คือ ตุ๊กตายางเจ้าแม่ และ แมวไม่เคยรอใครกลับมา ยังคล้ายกับคนเดิมที่เคยได้สัมภาษณ์กันเมื่อสามปีก่อน กระทั่งจเด็จเริ่มเล่าบางอย่างที่อยู่เบื้องหลังของความคิดก่อนที่จะลงมือเขียนนิยายสองเล่มใหม่นี้

           “เมื่อก่อนเราอยากจะเป็นคนที่เขียนหนังสือดี อยากให้คนอ่านและนักวิจารณ์ชอบ แต่พอเราได้รางวัลแล้ว มันยังใช่สิ่งที่บอกว่างานเราดีหรือเปล่า การได้รางวัลอาจไม่ได้แปลว่างานเราดีหรือเปล่า แต่เป็นเพราะกรรมการชุดนี้เขาให้”    

          นั่นทำให้เขารู้สึก ‘สูญเสีย’ เป้าหมายในการเขียนหนังสือไปเกือบสองปี จึงหันไปวาดการ์ตูนชื่อ ‘Whale Hunter’ ก่อนที่ความรู้สึกอยากเขียนเรื่องราวบางอย่างจะก่อตัวขึ้น พร้อมกับเป้าหมายใหม่ในการเขียน ที่เขาบอกว่า ‘อยากเขียนเอาสนุก’ 

          นิยายสองเล่มใหม่ของเขา ‘ตุ๊กตายางเจ้าแม่’ และ ‘แมวไม่เคยรอใครกลับมา’ น่าสนใจตั้งแต่คำโปรยในโพสต์เฟซบุ๊ก เพราะมันว่าด้วยเรื่อง ‘ไซไฟ’ ‘ความคัลท์แบบไทยๆ’ และ ‘การข้ามเวลา’ ซึ่งจะเป็นอย่างไร คงต้องลุ้นกันอีกทีหลังหนังสือวางขาย

          ไม่ว่าอย่างไร ‘การเขียนเพื่อเอาสนุก’ ของจเด็จ ย่อมต้องมีสารบางอย่างที่เขาทิ้งไว้กับเรื่องราวในเล่มให้คนอ่านได้ลองค้นหา และยิ่งน่าสนใจว่ากลิ่นอายความไซไฟในฉบับของเขา ต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ

ก่อนอื่น เราสงสัยว่าการที่คุณได้รางวัลซีไรต์สองสมัยส่งผลต่อการทำงานในเล่มถัดๆ ไปของคุณบ้างไหม

          รางวัลไม่ส่งผลอะไร เพียงแต่ว่ามันมีเรื่องอื่น เช่น พอทำงานเสร็จก็รู้สึกเบื่อ หมายถึงว่า เราอยากจะเขียนเรื่องอื่นต่อ แต่ก็จะมีคำถามกลับมาว่า เราจะเขียนเพื่ออะไร เราจะทำเพื่ออะไร เมื่อก่อนเราอยากจะเป็นคนที่เขียนหนังสือดี อยากให้คนอ่านและนักวิจารณ์ชอบ แต่พอเราได้รางวัลแล้ว มันยังใช่สิ่งที่บอกว่างานเราดีหรือเปล่า การได้รางวัลอาจไม่ได้แปลว่างานเราดีหรือเปล่า แต่เป็นเพราะกรรมการชุดนี้เขาให้

          สิ่งที่จะบอกว่างานดี อาจจะเป็นคนอ่านหรือเปล่า แต่เราจะเอาอะไรมาวัด คนอ่านชอบไม่ได้หมายความว่างานดีแบบที่เราเข้าใจ เพราะบางทีนักอ่านก็เป็นเพื่อนเราใช่ไหม

          มันเหมือนไปอยู่กลางทะเลทราย เวิ้งว้าง คว้าอะไรไม่ได้ ประเมินค่าไม่ได้ เอาอะไรมาวัดไม่ได้เลย ไม่รู้จะมุ่งไปหาทางไหน เมื่อก่อนเราคิดว่า ถ้างานของเราดี มันต้องดีเท่ากับงานต่างประเทศที่เราอ่านกันอยู่ ต้องไปถึงขนาดนั้น แต่พอทำไปทำมากลายเป็นว่าสิ่งที่จะมาประเมินเรื่องพวกนั้นทั้งหมด มันเป็นเรื่องที่ไม่จริง แต่เป็นแค่ภาวะ ช่วงเวลา หรือจังหวะอะไรสักอย่าง เหมือนเราเชื่ออะไรสักอย่าง แล้ววันหนึ่งความเชื่อนั้นหลุดแหลกสลายหมด

จเด็จ กำจรเดช: ตัวตนที่สูญหายกับงานเขียนครั้งใหม่ที่ว่าด้วยเรื่อง ‘ไซไฟสายมู’
Photo : คริษฐ์ ช่วยอักษร

ตอนนี้คุณยังรู้สึกแบบนั้นอยู่ไหม หรือค้นเจอความหมายใหม่ๆ ในการเขียนบ้างไหม

          ก่อนหน้านี้ พอไม่อยากเขียน เราก็ไปวาดการ์ตูนมาเล่มหนึ่ง ชื่อ ‘Whale Hunter’ แต่ตอนนั้นอ่านอะไรก็ไม่สนุก แต่ความอยากเขียนของเรามันเป็นนิสัย พอทิ้งไปนาน อยู่ดีๆ วันหนึ่งมีเรื่องที่ก่อตัวอยู่ข้างใน แล้วอยากจะเขียน อยากจะเล่า เราก็ลองมาหาเป้าหมายใหม่ คือเขียนเพื่อให้คนสนุกบ้างได้ไหม เพราะเมื่อก่อนเราเขียนเพื่อตัวเอง ใครบอกว่างานเราอ่านแล้วซับซ้อนวุ่นวาย เราก็รู้สึกว่า มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา เราแค่เขียนให้เต็มที่ก็พอ

          พอมาถึงตอนนี้ ก็คิดว่าเราน่าจะมีเป้าหมายใหม่ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากใช้ชื่ออื่นเขียนด้วยซ้ำ เพราะอยากให้คนอ่านแล้วสนุก โดยที่ไม่ต้องคิดถึงภาพเดิมๆ ของเรา

นิยายสองเล่มใหม่ของคุณ ‘ตุ๊กตายางเจ้าแม่’ กับ ‘แมวไม่เคยรอใครกลับมา’ มีความเป็น ‘ไซไฟ’ ทั้งคู่ ทำไมถึงสนใจธีมนี้จนเอามาเขียน

          เราชอบเรื่องไซไฟมาตั้งนานแล้ว ตอนอยู่มัธยมเราไปนั่งอ่านนิยายไซไฟในห้องสมุดและชอบมาก เพราะมันพาไปสู่โลกที่เราไม่รู้จัก อีกเรื่องคือเรามีปมในใจ เพราะเคยกลัวคำทำนายนอสตราดามุสที่ว่าโลกจะแตก แต่ว่านิยายไซไฟมันพาพ้นปีนั้นไปสู่โลกอนาคต ซึ่งมันคือจุดประสงค์หลักของนิยายแนวนี้ที่พาเราพ้นไปจากโลกปัจจุบัน และฉายภาพอีกแบบหนึ่ง

          ประกอบกับการเรียนทางด้านศิลปะ มันมีภาพแนวเซอร์เรียลลิสต์ ศิลปินบางคนเขียนภาพประหลาด โลกต่างดาว เราก็ชอบมาก และติดใจหนังแนวไซไฟด้วย มันสนุก มีอะไรให้เล่าเยอะ ตอนมาเขียนนิยายเราก็อยากเขียนแบบนั้น แต่เป็นไซไฟแบบแฟนตาซี ที่ไม่เอาหลักการทางวิทยาศาสตร์ แต่แค่มีกลิ่นอายเหมือนวิทยาศาสตร์ เพราะคิดว่ายังไม่เก่งขนาดนั้น 

          เมื่อก่อนเรื่องประหลาดในทางวรรณกรรมมันเป็นได้แค่ Magical ถ้าชัดเจนเกินไปก็จะเป็นแฟนตาซี เวลาเขียนนิยายเลยทำได้แค่ความคลุมเครือ ซึ่งก็ดีตรงที่ให้คนตีความ และให้ความหมายได้หลากหนทาง แต่ถ้าเราเปิดหน้าชัดเจนว่าเป็นไซไฟ ก็อาจจะมีผลให้คนอื่นมาสนใจ คือเราอยากเปิดกลุ่มคนอ่านที่เขาไม่ใช่คอวรรณกรรม แต่เห็นชื่อว่าเป็นงานไซไฟแล้วอยากลองหยิบมาอ่าน

คำอธิบายในโพสต์เฟซบุ๊กของเล่ม ‘ตุ๊กตายางเจ้าแม่’ บอกว่า ‘เป็นเรื่องคัลท์แบบไทยๆ ไซไฟสายมู’ อยากให้อธิบายหน่อยว่า ‘คัลท์แบบไทยๆ’ กับ ‘ไซไฟสายมู’ คืออะไร

          เรื่องเล่าของบ้านเรานี่คือความคัลท์เลย อะไรก็ไม่รู้ปนกันมั่วไปหมด เหมือนบ้านผีปอบ อยู่ๆ มีอะไรโผล่มาก็ได้ คือส่วนผสมมันเยอะแยะวุ่นวาย เหมือนไม่น่าจะอยู่ด้วยกันได้ ถ้าเป็นฝรั่ง เขาจะบอกว่ามันไม่เมกเซนส์ แต่ของหนังไทย มันไม่สมจริงเลย แต่ก็มันดี คือเอาแค่ความสนุก

          ในเรื่องของตอนเขียน เมื่อก่อนเราต้องวางแผน ต้องรู้สึกว่ามันจะออกมาดี ลงตัว มีคุณค่า แต่ตอนนี้คิดแค่ว่าเขียนแบบไม่สนใจอะไรเลยได้ไหม เขียนแบบเป็นหนังเกรดบี เหมือนจอห์น วิค เหมือนไม่ต้องมีพล็อตเรื่อง เอาแค่ความมัน แต่พอเล่าไปๆ ด้วยความที่เป็นตัวเรา มันก็ต้องมีประเด็นสอดแทรก ซึ่งก็เพิ่มมาเรื่อยๆ หลายชั้น พอเขียนเสร็จ เราก็มาพยายามหาคำนิยามของคำโปรยว่าควรจะเป็นอย่างไร และเพื่อจะบอกว่ามันไม่ใช่ไซไฟแบบที่ทุกคนคาดหวัง 

          เวลาพูดถึงงานไซไฟ คนไทยจะนึกภาพไม่ออก เหมือนงานสืบสวนสอบสวนต่อเนื่อง ที่พอมาอยู่ในบริบทเมืองไทยแล้วเราไม่อิน พอเขียนเรื่องไซไฟ เราก็มองไซไฟแบบไม่น่าจะเอามารับใช้ได้ในบริบทไทย เลยพยายามทำให้คนอ่านคุ้นเคยก่อนด้วยการบอกว่า มันคือสังคมไทย คือเรื่องไทยๆ คือสิ่งที่เราเจอทุกวัน เพียงแค่มันมีมุมที่เป็นเทคโนโลยี มีความคิดที่ย้อนเวลา ข้ามเวลา วิทยาศาสตร์ ไซไฟบ้าง ก่อนที่เราจะไปแบบไซไฟสายแข็งต่อไป ท่าทีของหนังสือเลยออกมาแบบสนุก ไม่ต้องจริงจัง ไม่ต้องเครียด

จเด็จ กำจรเดช: ตัวตนที่สูญหายกับงานเขียนครั้งใหม่ที่ว่าด้วยเรื่อง ‘ไซไฟสายมู’
Photo : คริษฐ์ ช่วยอักษร

คุณคิดว่าความมูในสังคมไทยสะท้อนอะไร

          มันไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ นึกถึงเวลาคนไทยปล่อยจรวดขึ้นดวงจันทร์ วันปล่อยจรวดเราก็ต้องนิมนต์พระมาประน้ำมนต์แปะยันต์แน่ๆ หรือคนที่ขับยานอวกาศ เขาก็ต้องห้อยพระ เพราะฉะนั้นคนที่เชื่อวิทยาศาสตร์ คนที่หัวก้าวหน้า เป็นหมอ เขาก็ยังสนใจเรื่องพวกนี้อยู่ โดยที่ไม่ได้เป็นเรื่องงมงายอะไร แต่เป็นแค่ความรู้สึก เป็นแค่สิ่งยึดเหนี่ยว เป็นความคุ้นชิน 

          เวลาพูดเรื่องวิทยาศาสตร์ พูดเรื่องไซไฟ มันไม่ได้ออกไปนอกอวกาศที่ไหนเลยนะ แต่คือการเดินทางเข้าข้างในเลย มันคือการพุ่งเข้าหานิพพาน เหมือนพระพุทธเจ้านั่งบำเพ็ญเพียร

          เราเลยมองว่าเรื่องสายมูสนุก น่าสนใจ ถ้ามองในแง่การทำมาหากิน มันก็ยังทำได้ เช่น ถ้าเราเขียนภาพเหมือนแวนโกะห์ก็ขายบ้านเราไม่ได้ แต่ถ้าเขียนภาพม้าเจ็ดตัว ภาพนกกระเรียน ภาพพระ คนก็จะซื้อไปติดบ้าน เพราะเป็นฮวงจุ้ยที่ดี ฉะนั้น ถ้าพูดถึงความเชื่อของคนไทย มันก็ยังอยู่ต่อไปอีกร้อยปีสิบปี และมีแง่มุมให้หยิบมาเขียนได้ตลอด

ยกตัวอย่างเรื่องสายมูที่คุณสนใจให้ฟังหน่อย

          อย่างเรื่องของคนทรงเจ้า ที่เขาบอกว่าเป็นเรื่องการสถาปนาอำนาจตัวเอง ของคนต่ำต้อยในสังคม คนชั้นล่างสุด ที่จะทำอย่างไรให้คนอื่นยอมรับ ชีวิตปกติเขาเป็นคนใช้แรงงานวันละสามร้อย ใครก็ไม่สนใจ แต่วันหนึ่งกลายเป็นร่างทรงขึ้นมา เป็นเทพขึ้นมา กลับมีคนอื่นมาไหว้ มีอำนาจขึ้นมาเฉยเลย เราก็เลยสนุกกับเรื่องพวกนี้ ว่ามันไม่ใช่เรื่องงมงายอย่างเดียว แต่เป็นวิทยาศาสตร์เลย

แสดงว่าทั้งวิทยาศาสตร์และสายมู มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันใช่ไหม

          วิทยาศาสตร์ไปทางขวา ไสยศาสตร์สายมูไปทางซ้าย แต่ว่า…ไปอ้อมแล้วมาเจอกันตรงไหนสักที่ แต่ถ้าเราเอาแค่พุทธอย่างเดียว มันไปอธิบายวิทยาศาสตร์ได้หลายอย่าง เราเคยเขียนถึงคนที่เป็นร่างทรง คือมีอาการหายใจไม่อิ่ม ปวดคอ ตัวสั่น มือสั่น พอไปหาหมอไสยศาสตร์ ก็บอกว่าอาการแบบนี้คือมีเทพมาอยู่ด้วย ต้องรับดอกไม้ธูปเทียนเพื่อบูชา แต่พอไปหาจิตแพทย์ หมอบอกเป็นโรคแพนิค อาการเดียวกัน แต่อธิบายได้สองอย่าง เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่เรื่องเดียวกันก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร เพียงแต่จะเอาอะไรมาอธิบายเท่านั้นเอง

แล้วในมุมคุณ เชื่อวิทยาศาสตร์หรือสายมูมากกว่ากัน

          คือบางเรื่องวิทยาศาสตร์ก็อธิบายไม่ได้ จึงต้องหาทฤษฎีมาเป็น X เป็น Y ไว้ก่อน แต่เราก็เชื่อในสายมู เชื่อในพลังของการมุ่งไปหา การภาวนา การดึงดูด แต่ถ้าถามว่าเชื่ออันไหนมากกว่า เรารับได้ทั้งสอง และไม่ได้มองว่าสองอย่างนี้หักล้างกัน 

          เรื่องไสยศาสตร์ คาถาอาคม เราก็ยังไม่เคยเจอจริงๆ เราเคยพกเขี้ยวเสือแล้วรู้สึกมีพลังใจ แต่พอยกให้คนอื่น ก็รู้สึกเหมือนสูญเสียพลังไป ดังนั้น เราเชื่อทั้งสอง รอเวลาว่าอันไหนจะชัด ถ้าเราจะเชื่อฝ่ายวิทยาศาสตร์แบบจริงจัง ก็วันที่มนุษย์ต่างดาวปรากฏตัว แต่ถ้าฝั่งสายมู เราจะเชื่อก็ตอนที่เราเห็นปาฏิหาริย์แบบชัด เห็นผี เห็นคนตายมาคุยกับเรา

          นิยายอีกเล่มเรื่อง ‘แมวไม่เคยรอใครกลับมา’ เราเขียนเรื่องคนตาย คนตายไปในมุมมองของเราคือ หายไปในมิติเวลา ไปในมิติที่ห้าที่หก พอกลับมาก็เรียกว่าผี แต่มันคือพลังงานอย่างหนึ่งในมิติอื่นที่โผล่ขึ้นมา มันก็กลายเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าออกมาหน้าเละๆ แบบผีไทย นั่นเป็นผี

จเด็จ กำจรเดช: ตัวตนที่สูญหายกับงานเขียนครั้งใหม่ที่ว่าด้วยเรื่อง ‘ไซไฟสายมู’
Photo : คริษฐ์ ช่วยอักษร

แสดงว่าความจริงแล้ว ก้อนความเชื่อนี้ก็ทำให้คุณเขียนนิยายอีกเล่มคือ ‘แมวไม่เคยรอใครกลับมา’ ใช่ไหม เล่มนี้เล่าถึงอะไร

          มันเล่นกับประเด็นของการหาย คือ เรื่องของคนที่โดนทำให้หายไปในการเมือง แต่ไม่รู้ว่าหายไปไหน เราแทนเหตุการณ์ตอนที่เครื่องบิน MH370 หายไป (เครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ที่หายไประหว่างการบินจากกัวลาลัมเปอร์ไปปักกิ่ง) ตอนนั้นเกิดทฤษฎีเยอะ มันติดอยู่ในใจเราว่า เครื่องบินมันหายไปไหน การเดินทางข้ามเวลามันมีจริงใช่ไหม เลยเขียนเรื่องนี้ที่มีความเป็นไซไฟ แต่ก็เป็นไซไฟเพื่อสังคม และมีโจทย์อื่น คือ ทำให้เป็นเรื่องสำหรับเด็กลงมาอีกนิดหนึ่ง มันเลยอ่านง่าย ฉาบด้วยความน่ารักของแมว ของเหตุการณ์อื่นๆ ส่วนเรื่องของการเมือง ก็มีตัวละครอีกตัวที่บอกเล่าอยู่

ทำไมเรื่องนี้ใช้แมวเป็นตัวสำคัญในเรื่อง

          มันเป็นโจทย์ของยุคนี้มั้งนะ ทุกคนก็ผูกพันกับแมว บังเอิญว่าในช่วงที่เขียน เราสัมพันธ์อยู่กับแมวเยอะเลย แล้วแมวเราหางขาด ไม่รู้โดนอะไร เราเลยติดใจแมวตัวนี้ และพอมีโจทย์คืออยากเขียนให้คนอ่านสนุก เราก็ต้องตั้งโจทย์ว่าเอาอะไรมาใส่บ้าง ซึ่งก็คือแมว การเดินทางข้ามเวลา การหายไป การตามหา เรื่องของความรัก แล้วก็ทำให้เป็นหนังสือเล่มเล็กที่กลุ่มผู้อ่านต่ำลงมาหน่อย 

คำโปรยสั้นๆ ของเล่มนี้บอกว่า ‘เป็นนิยายสำหรับคนที่บางอย่างหายไปจากชีวิตและคนที่เฝ้ารออะไรบางอย่าง’ แต่ชื่อหนังสือกลับบอกว่า ‘แมวไม่เคยรอใครกลับมา’ ซึ่งดูจะขัดแย้งกัน ระหว่าง ‘รอ-ไม่รอ’ เป็นเพราะอะไร

          มันเป็นคู่ขัดแย้งที่เราสนใจ เช่น นิยายเรื่อง ‘หรือเป็นเราที่สูญหาย’ ก็พูดถึงการจำ การลืม เพราะนิยายเรื่องนั้นฝ่ายปกครองทำให้คนลืม จับคนไปลบความทรงจำ ทีนี้พอมาเป็นอีกภาคหนึ่ง เราคิดว่าการลืมมันเป็นเรื่องเลวร้ายแล้ว แต่บางทีการจำก็เป็นเรื่องเลวร้ายเช่นกัน ซึ่งฝ่ายปกครองทำกับเราสองอย่างคือ อะไรที่ไม่อยากให้เราจำเขาก็ทำให้เราลืม แล้วเขาก็เอาอย่างอื่นมาให้เราจำ มันมีสองมุม เรื่องการตามหากับการค้นพบ การจากกับการเจอ เป็นคู่ขัดแย้งที่เราสนใจ 

แสดงว่านิยายทั้งสองเล่มก็ตั้งอยู่บนฐานและสะท้อนความจริงใช่ไหม เรื่องแต่งของคุณพยายามสะท้อนความจริงหรือหยิบจับความจริงบางอย่างในสังคมมาเล่าหรือเปล่า

          ใช่ ถ้าแกะได้นะ คือบางทีเหมือนกับว่าเราก็พยายามบาลานซ์น้ำหนักให้มันพอดี ไม่ให้เกิน แต่บางทีอาจจะไม่เก่งขนาดนั้น ก็เลยแล้วแต่ว่าใครเจอสารไหม บางทีก็เหมือนเป็นการหลอกนักอ่าน หลอกด้วยคำโปรย หลอกด้วยหน้างานที่บอกว่าเป็นไซไฟ พออ่านไปจริงๆ อาจเป็นเรื่องที่คิดแบบจริงจังก็ได้ คิดแบบสนุกก็ได้ 

เล่ากระบวนการหาข้อมูลในการเขียนงานทั้งสองเล่มให้ฟังหน่อย

          ส่วนมากจะเป็นข้อมูลจากเหตุการณ์ที่เราเจอ แต่ถ้าเป็นเรื่องแง่มุมของวิทยาศาสตร์ก็ต้องไปหาเพิ่ม แต่เราก็อ่านเรื่องพวกนี้ประจำอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ใช่นักเรียนสายวิทย์ที่เข้าใจกับเรื่องพวกนี้  เราก็ต้องใช้อะไรที่เข้าใจง่าย ที่ติดอยู่ในหัว ไม่ต้องซับซ้อนมาก แล้วเราก็มีเพื่อนที่เป็นนักเขียนในสายวิทยาศาสตร์ เราก็จะชวนคุย ชวนถาม เช่น ถ้าเราย้อนเวลาร้อยปีกลับไปเอาของโบราณมาชิ้นหนึ่งมาปัจจุบัน ของชิ้นนั้นจะมีอายุร้อยปี หรือมีอายุหนึ่งปีตอนที่เราไปเอามา มันก็ประหลาดนะ คำตอบก็ไม่ใช่หนึ่งเดียว แต่มีคำตอบหลากหลาย มีความเป็นไปได้เป็นเปอร์เซ็นต์ เพราะวิทยาศาสตร์ใช้การคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพื่อป้องกันความผิดพลาด 

          หรือเรื่องของมิติเวลาในเล่ม ‘แมวไม่เคยรอใครกลับมา’ ทีแรกเรานึกภาพไม่ออกว่ามิติที่ห้ามีอะไรบ้าง ก็เขียนไปก่อน พอผ่านมาเป็นปีก็ไปเจอข้อมูลที่เป็นข้อสันนิษฐานที่มีคนคิดขึ้นมา อาจจะไม่ใช่ อาจจะไม่จริง แต่พออ่านแล้วเราเข้าใจ เราก็เลยเอากลับมาใส่ในเรื่อง

จเด็จ กำจรเดช: ตัวตนที่สูญหายกับงานเขียนครั้งใหม่ที่ว่าด้วยเรื่อง ‘ไซไฟสายมู’
Photo : คริษฐ์ ช่วยอักษร

ในการเขียนนิยายส่วนใหญ่นักเขียนก็มักต้องเอาตัวเองไปอยู่ในโลกนั้นๆ คุณเขียนนิยายรอบนี้ถึงสองเล่ม คุณมีวิธีจัดการความคิดในโลกสองใบนี้อย่างไร

          ความจริงเราเขียนคนละเวลา เราเขียนเล่มหนึ่งเสร็จ ก็มาเขียนอีกเล่ม แต่ว่าเวลาเขียนเรื่องในเวลาใกล้ๆ กัน ความคิดก็จะไหลไปอยู่เล่มโน้นเล่มนี้บ้าง แต่ไม่ต้องกลัว เรามีวิธีรู้ว่าอันไหนล้นไป อันนี้ไม่ใช่ของเล่มนี้ เป็นของเล่มโน้น ซึ่งพอเวลาเขียนเล่มหนึ่ง ด้วยตัวละคร สถานการณ์ มันกันให้เราไม่หลง และพาให้เรารู้ว่าอันไหนควรพอแล้ว อันไหนควรเพิ่ม อันไหนควรอยู่เล่มไหน 

          เราไม่ได้เขียนวันนี้เรื่องนี้ พรุ่งนี้เขียนอีกเรื่อง เราเขียนเดือนนี้เรื่องหนึ่ง แล้วก็วางไว้ อีกเดือนก็ไปเขียนอีกเรื่อง มันเลยไม่ปนกัน

ตอนนี้งานเล่มใหม่ทั้งสองก็เสร็จแล้ว ถ้าเทียบจากเล่มก่อนๆ สองเล่มใหม่นี้มีอะไรที่เปลี่ยนไป อะไรที่คงเดิมบ้างไหม ไม่ว่าจะเป็นวิธีเขียน หรือความคิด

          เราพยายามเปลี่ยนวิธีเล่า แต่คิดว่าคนอ่านก็คงรู้ว่าเป็นงานที่เราเขียน แต่เรื่องที่เปลี่ยนคือ มันมุ่งไปหาเรื่องราวที่กว้างขึ้น แล้วเราคิดว่ามันสนุกกว่าเดิม หมายถึงว่าเมื่อก่อนเวลาเราเขียนจะมีความหม่นเศร้าทั้งเรื่อง ไม่พาคนอ่านออกพ้นความเศร้านั้นไป แต่สองเล่มใหม่นี้มีความสว่างอยู่ เราทำให้สนุก ให้ตลก ให้ขำเลย บางหน้าก็ตลกแบบตลกคาเฟ่เลย แต่ไม่รู้ว่าอารมณ์ขันจะเป็นคนละอย่างกับคนอ่านหรือเปล่า

          ดังนั้น ที่ชัดเจนคือสนุกขึ้น แต่ที่เหมือนเดิม คือยังมีมุมให้คิดอยู่

คุณเป็นนักเขียนที่ดูจะใช้ ‘ตัวงาน’ เป็นตัวทำงานมากกว่า เพราะไม่ค่อยปรากฏตัวทางโซเชียล แถมรอบนี้ก็ไม่ไปงานหนังสือ กับนิยายใหม่ทั้งสองเล่มในครั้งนี้ คุณมี Agenda อะไรด้วยไหม

          ถ้าเล่ม ‘แมวไม่เคยรอใครกลับมา’ เรามี Agenda เพราะในเรื่อง ตัวละครก็คือคนที่เคลื่อนไหวทางสังคมและถูกทำให้หายไป เรายังคิดเหมือนเดิมว่า ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากออกไปสู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่ไปแสดงออกเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ว่ามันทำไม่ได้ เพราะมันไม่ถูกกับนิสัยเรา หรือบางเรื่องรู้สึกโกรธมาก แต่ว่าเราเป็นความดันสูงอยู่ ยังรักษาตัวเองอยู่ ยังเป็นคนป่วยอยู่ มันมีปัจจัยพวกนี้ด้วย เรารู้สึกว่าการไปเคลื่อนไหวมันผิดที่ผิดทางของเรา ไม่ใช่ว่าไม่อยากทำ แต่เราทำแล้วมันไม่มีพลังเท่ากับใครทำ

          ในเล่ม ‘ตุ๊กตายางเจ้าแม่’ พูดถึงคนที่ออกมาประท้วงไล่คนชั่ว แต่ตัวเองก็ทำชั่วเอง พวกผู้นำชุมชนที่เซ็นเอกสารให้ขุดภูเขา ทำประชาพิจารณ์หลอกๆ รับเงินนายทุน เซตติงเป็นเทศบาลตำบลหนึ่งที่ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของตำบลถูกสัมปทาน ก็จิกกัดกองทัพ 

          พอมานั่งคิด เราอาจจะทำได้แค่นี้ ถ้าใครอยากเจอมุมนี้ก็มาเจอในงานเขียนของเรา อาจจะไม่มีพลังเท่ากับการเขียนในเฟซบุ๊ก หรือออกไปเคลื่อนไหว หรือต้องทำทั้งสองอย่าง โอเค ถ้าใครทำได้ก็ทำ เราก็พยายามแล้ว แต่คนที่เป็นซึมเศร้าจะทำได้อย่างไร มันเป็นเรื่องซับซ้อน เป็นเรื่องของเคมีข้างในด้วย เหมือนคนเป็นอินโทรเวิร์ตที่ไม่ออกไปข้างนอก และเราจะไปบังคับไม่ได้นะ ตัวเองอยากจะออกไปจะตาย แต่ออกไปแล้วสั่น กลัวคนเห็น

จเด็จ กำจรเดช: ตัวตนที่สูญหายกับงานเขียนครั้งใหม่ที่ว่าด้วยเรื่อง ‘ไซไฟสายมู’
Photo : คริษฐ์ ช่วยอักษร

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก