ปัจจุบัน เมื่อพูดถึงการพัฒนาองค์กร เรามักจะได้ยินคำว่า ‘นวัตกรรม’ พ่วงตามมาด้วยเสมอ ในแวดวงห้องสมุดเองก็เริ่มมีความคาดหวัง มีการตั้งภารกิจว่าจะต้องสร้างสรรค์นวัตกรรม ทั้งที่นิยามของคำๆ นี้ยังคลุมเครือและเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ตกลงแล้วนวัตกรรมห้องสมุดคืออะไรกันแน่?
ในบทความนี้ จะพาไปสำรวจว่า เมื่อเราพูดถึงคำว่า ‘นวัตกรรมห้องสมุด’ ขอบเขตและความหมายคืออะไร จับต้องได้แค่ไหนในเชิงรูปธรรม แล้วสุดท้ายจะนำไปสู่การพัฒนาห้องสมุดให้ตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนในยุคปัจจุบันได้อย่างไร
จาก ‘นวัตกรรม’ สู่ ‘นวัตกรรมห้องสมุด’
นวัตกรรม (Innovation) ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง การกระทำหรือสิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ เป็นต้น นวัตกรรมคือการนำเสนอสิ่งใหม่ที่มีคุณประโยชน์ สนองตอบความต้องการของมนุษย์หรือชุมชน และช่วยให้การดำรงชีวิตง่ายขึ้น
ในแง่ขององค์กร นวัตกรรมคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ เพื่อช่วยให้การดำเนินงานขององค์กรมีความคล่องตัว สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง และเพิ่มคุณค่าหรือส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กร
ซาราห์ แอนเดอร์สัน (2003) กล่าวว่า นวัตกรรมห้องสมุดคือความเปลี่ยนแปลงหรือการปรับตัวที่ส่งเสริมคุณค่าของห้องสมุดสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในเชิงกระบวนการ นวัตกรรมห้องสมุด คือ กระบวนการหลายขั้นตอน ที่ซึ่งห้องสมุดเปลี่ยนแปลงแนวความคิดให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างจุดต่างเพื่อผลักดันตัวเองให้สามารถยืนหยัดและประสบความสำเร็จได้ในวงการ
ในบทความ Innovation in Public Libraries มีการอภิปรายแนวคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมห้องสมุดไว้หลายแง่มุม ผู้เขียน แคโรลิน แอนโทนี (2014) ชี้ถึงความสำคัญในการตีโจทย์นวัตกรรมให้แตก โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของห้องสมุด เรียนรู้ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และศึกษาสภาพปัญหาในชุมชน เมื่อทราบเงื่อนไขต่างๆ แล้ว ห้องสมุดจะสามารถตกผลึกความคิดเพื่อสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสมได้
แคทริน ไดส์ (2004) กล่าวว่า นวัตกรรมและการคิดเชิงกลยุทธ์เป็นสิ่งสำคัญต่ออนาคตขององค์กร และมีความสัมพันธ์กับภารกิจและเป้าหมายขององค์กร ปัจจุบันภารกิจของห้องสมุดประชาชนไม่ใช่แค่การให้ยืมคืนหนังสือ แต่รวมไปถึงบทบาทในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย ห้องสมุดประชาชนได้เปลี่ยนสถานะไปสู่พื้นที่เรียนรู้ทางสังคม มีการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรแบบตั้งรับ ไปสู่การทำงานเชิงรุก มีความกระตือรือร้นในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและกลุ่ม หรือมีการจัดโครงการเคลื่อนที่ร่วมกับศูนย์ชุมชนต่างๆ
จากนิยามที่ไล่เรียงมา จะเห็นได้ว่านวัตกรรมเป็นเหมือนแนวทางสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน องค์กรต้องพึงระลึกเสมอว่ายังมีปัญหาที่รอการแก้ไข และมีแนวปฏิบัติใหม่ๆ ที่รอการค้นพบ โดยในส่วนของห้องสมุดนั้น ควรมีการเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากร ส่งเสริมให้พวกเขาได้เพิ่มพูนทักษะผ่านการทดลอง เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ร่วมงานหรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคลากรที่มาจากสายงานอื่นๆ และโน้มน้าวให้เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง สามารถวิเคราะห์ภาพรวมของการแข่งขันในอุตสาหกรรม โอกาสและความท้าทาย สร้างทัศนคติเชิงบวก ที่สำคัญคือสอนให้รู้จักรับมือกับความล้มเหลว
เมื่อพูดถึงนวัตกรรมห้องสมุด หลายคนอาจนึกถึงการติดตั้งตู้ยืมคืนหนังสืออัตโนมัติ หรือการติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ๆ ในพื้นที่เมกเกอร์สเปซ (Maker Space) แต่ที่ต้องมีมากไปกว่านั้นคือการคำนึงถึงบริบทท้องถิ่น และความต้องการของชุมชน ใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วมเพื่อค้นหาแนวทางการแก้ปัญหา (Solutions) เน้นการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ (Adapting) มากกว่าการรับมาใช้แบบทั้งดุ้น (Adopting) เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น และสร้างคุณค่าให้แก่ห้องสมุดในฐานะสมาชิกของชุมชน
เดวิด ลี คิง (2018) เสนอแนวทางแก่ผู้จัดการห้องสมุดในการพัฒนาแผนปฏิบัติการนวัตกรรม ได้แก่ (1) ประเมินสภาพการณ์ปัจจุบัน เรียนรู้เทรนด์นวัตกรรมที่ถูกนำไปใช้โดยเพื่อนร่วมวงการ (2) วิเคราะห์นวัตกรรมร่วมสมัยของนวัตกรรุ่นบุกเบิก และ (3) ประเมินว่านวัตกรรมร่วมสมัยเหมาะสมหรือนำมาปรับใช้กับองค์กรเราได้หรือไม่ และมีศักยภาพในการผลักดันภารกิจและเป้าหมายของห้องสมุดให้มีความก้าวหน้าหรือไม่
ประเภทของนวัตกรรมห้องสมุด
ในงานวิจัย What is innovative to public libraries in the United States? A perspective of library administrators for classifying innovations เดเวนดรา พอทนิส และคณะ (2019) ได้ทำการศึกษานวัตกรรม 80 อย่าง จากข้อมูลของห้องสมุดประชาชนดีเด่นจำนวน 108 แห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา และสกัดข้อมูลออกมาจนสามารถแบ่งประเภทของนวัตกรรมห้องสมุดได้ 4 ด้าน ได้แก่ นวัตกรรมโครงการ นวัตกรรมกระบวนการ นวัตกรรมความร่วมมือ และนวัตกรรมเทคโนโลยี
1. นวัตกรรมโครงการ (Program Innovation)
การริเริ่มโครงการเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้ใช้ หรืออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงทรัพยากรข้อมูลและบริการ นวัตกรรมโครงการสามารถแบ่งออกเป็น 2 หมวดย่อย ดังนี้
1.1 โครงการที่เน้นการเข้าถึง (Access-Oriented)
เป็นการส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แก่ผู้ใช้กลุ่มเดิมหรือผู้ใช้กลุ่มใหม่ เช่น ผู้อพยพ ประชากรสูงวัย ผู้พิการ เป็นต้น และส่งเสริมความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ตัวอย่างกิจกรรมในหมวดย่อยนี้ ได้แก่ การกระจายโสตทัศน์วัสดุของห้องสมุด การเข้าถึงพื้นที่ห้องสมุดและทรัพยากรข้อมูล การให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำ และการให้บริการแก่คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม
1.2 โครงการที่เน้นการใช้งาน (Use-Oriented)
เป็นการส่งเสริมการใช้งานหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภายนอก บรรณารักษ์จัดกิจกรรมสาธิตหรือกิจกรรมฝึกอบรมต่างๆ ให้แก่ประชาชน เช่น การใช้ซอฟต์แวร์ การทำอาหาร การพัฒนาทักษะต่างๆ เช่น การรู้ดิจิทัล การเล่าเรื่อง และการเขียนโค้ด
2. นวัตกรรมกระบวนการ (Process Innovation)
การผสมผสานการดำเนินการหรือกระบวนการเพื่อพัฒนาบริการห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นวัตกรรมกระบวนการแบ่งออกเป็น 2 หมวดย่อย ดังนี้
2.1 ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ (Efficiency-driven)
เป็นกระบวนการที่เกิดจากภายในองค์กรเป็นหลัก สร้างบริการหรือกลไกใหม่ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวแสดงในองค์กรอย่างเช่น บรรณารักษ์ พื้นที่ห้องสมุด และผู้จัดการห้องสมุด นวัตกรรมประเภทนี้ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ห้องสมุดได้พัฒนาโครงการหรือบริการใหม่ๆ อันประกอบด้วย (1) การระดมความคิด กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมจากล่างสู่บน (2) เสริมสร้างประสิทธิภาพให้แก่กระบวนการที่มีอยู่แล้ว (3) คิดค้นเทคนิคใหม่ๆ ในการประเมินโครงการ
2.2 ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิผล (Effectiveness-driven)
เป็นกระบวนการเพื่อปรับปรุงคุณภาพการบริการ เพิ่มประสิทธิผลในการให้บริการหรือกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วม เน้นการตอบสนองต่อปัจจัยภายนอก เช่น ลักษณะประชากรและความต้องการของผู้ใช้ที่เปลี่ยนไป
3. นวัตกรรมความร่วมมือ (Partnership Innovation)
การสร้างความร่วมมือทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรจะเป็นแหล่งกำเนิดนวัตกรรม เนื่องจากมีการส่งเสริมการแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวเนื่องกับห้องสมุด มีการบูรณาการใหม่ๆ ของทรัพยากรอย่างเช่น ประชาชนกับสารสนเทศ ที่เกิดจากการสนับสนุนหรือการแบ่งปันโดยองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน นวัตกรรมความร่วมมือแบ่งออกเป็น 2 หมวดย่อย ดังนี้
3.1 ความร่วมมือภายในองค์กร (Internal)
นวัตกรรมความร่วมมือที่พบได้ในห้องสมุดขนาดใหญ่ หรือเครือข่ายห้องสมุดที่ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ เป็นการสร้างความร่วมมือรูปแบบใหม่ระหว่างพนักงานจากต่างแผนกต่างสาขา เพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศในการดำเนินงาน
3.2 ความร่วมมือภายนอกองค์กร (External)
นวัตกรรมที่เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างห้องสมุดกับพันธมิตรที่ไม่ใช่ห้องสมุด เช่น หน่วยงานภาครัฐ โรงเรียน องค์กรนอกภาครัฐ ธุรกิจท้องถิ่น เป็นการขยายบริการห้องสมุดไปสู่ภายนอก นำบริการที่มีอยู่ไปส่งมอบให้แก่กลุ่มผู้ใช้ใหม่ในองค์กรชุมชนหรือองค์กรอาสาสมัคร การสร้างความร่วมมือภายนอกจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของห้องสมุด และสร้างคุณค่าให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม
4. นวัตกรรมเทคโนโลยี (Technology Innovation)
การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาการดำเนินงานของห้องสมุด อำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าทุกกลุ่มในการเข้าถึงและใช้บริการหรือทรัพยากรได้อย่างฉับไวและมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงช่วยลดช่องว่างทางดิจิทัล และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสำหรับกลุ่มผู้ใช้ที่ด้อยโอกาส อย่างไรก็ดีห้องสมุดต้องพิจารณาและเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างระมัดระวัง เพราะมีเรื่องของการลงทุนครั้งใหญ่ และต้นทุนการบำรุงรักษา รวมถึงการฝึกอบรมบรรณารักษ์ให้สามารถใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ นวัตกรรมเทคโนโลยีสามารถแบ่งออกเป็น 3 หมวดย่อย ได้แก่ 4.1 เทคโนโลยีเว็บ 4.2 เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก 4.3 ปัญญาประดิษฐ์
การแบ่งประเภทของนวัตกรรมห้องสมุด
ประเภทนวัตกรรม | หมวดย่อย | เป้าหมาย/ขอบเขต | ตัวอย่างนวัตกรรม |
---|---|---|---|
โครงการ (Program) | การเข้าถึง | การใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงบริการ สถานที่ และผลิตภัณฑ์ | 1. โครงการจัดส่งหนังสือและสื่อ โสตทัศน์ถึงบ้าน 2. บริการสำหรับ SME 3. การยกเลิกค่าปรับสำหรับเยาวชน 4. โครงการเปิดพื้นที่สานเสวนา |
การใช้งาน | การสร้างความมั่นใจในการ ใช้บริการ สถานที่ ข้อมูล และผลิตภัณฑ์ | 5. ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ร่วมกัน 6. โครงการนักเล่าเรื่อง 7. โครงการสอนทำอาหารในศูนย์ ส่งเสริมการอ่าน | |
กระบวนการ (Process) | ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ | เพื่อสร้างประสิทธิภาพในกระบวนการที่มีอยู่ | 8. การปรับโครงสร้างวิชาชีพในห้องสมุด 9. การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการนำเข้ารายการวัสดุสารสนเทศ 10. การใช้ประโยชน์จากพื้นที่จัดแสดงในรูปแบบใหม่ 11. การทดสอบภาวะวิกฤต |
ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิผล | ออกแบบกระบวนการให้มีประสิทธิผลมากขึ้น | 12. การสร้างทีมงานที่มีความ หลากหลาย 13. การว่าจ้างนักสังคมสงเคราะห์ 14. บรรณารักษ์ผู้ช่วย | |
ความร่วมมือ (Partnership) | ภายในองค์กร | ส่งเสริมความร่วมมือรูปแบบใหม่ระหว่างทีมบุคลากร | 15. หน่วยเฉพาะกิจเมกเกอร์สเปซ |
ภายนอกองค์กร | ส่งเสริมความร่วมมือกับหุ้นส่วนภายนอกองค์กรและชุมชน | 16. ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับห้องสมุดประชาชน 17. บริการวิจัยค้นคว้าในชุมชนท้องถิ่น 18. โครงการส่งเสริมนักเขียนชุมชน 19. โครงการส่งเสริมการเข้าถึงของเด็กนักเรียน 20. สัปดาห์ส่งเสริมการรู้ดิจิทัล | |
เทคโนโลยี (Technology) | เทคโนโลยีเว็บ | เทคโนโลยีบนอินเทอร์เน็ต | 21. การให้บริการระบบปฏิบัติการ Google Chromebooks |
เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก | เทคโนโลยีสำหรับผู้พิการ | 22. เครื่องช่วยอ่านหนังสือสำหรับผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น | |
ปัญญาประดิษฐ์ | การเรียนรู้ของเครื่องกลและคอมพิวเตอร์ | 23. การใช้หุ่นยนต์ช่วยเสริมบริการอัตโนมัติและแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่ | |
ตัวอย่างนวัตกรรมห้องสมุด
ตัวอย่างนวัตกรรมห้องสมุดดีเด่นที่ผ่านการคัดเลือกจากองค์กร EIFL (ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับห้องสมุด) ซึ่งทุกปีจะมีการเปิดรับผลงานจากห้องสมุดในประเทศกำลังพัฒนา นับตั้งแต่ปี 2012 มีห้องสมุด 50 แห่งทั่วโลกที่ได้รับรางวัล EIFL จากการประกวด 14 ครั้ง โดยพิจารณาจากนวัตกรรมห้องสมุดที่มีความโดดเด่นในด้านการพัฒนาชุมชน หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
นวัตกรรมจากการรับมือสถานการณ์โควิด-19 (2021)
ห้องสมุดวินคัส คูเดอร์กา ประเทศลิทัวเนีย ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติผลิตที่เปิดประตูแบบไม่ต้องใช้มือจับเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และอุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์
ในช่วงที่ห้องสมุดปิดทำการระหว่างการล็อกดาวน์ เจ้าหน้าที่ไอที 2 คนของห้องสมุด ได้ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติในพื้นที่เมกเกอร์สเปซ ผลิตเครื่องหนีบที่ช่วยให้คนแง้มเปิดประตูได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้มือสัมผัส และห้องสมุดได้นำที่เปิดประตูไปติดตั้งตามห้องสมุดต่างๆ และสถานที่ที่ผู้สูงวัยแวะไปบ่อย เช่น ร้านค้า ร้านขายยา รวมทั้งสถานีตำรวจ นอกจากนี้ห้องสมุดยังมีส่วนในการช่วยผลิตโครงแว่นเฟซชิลด์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย
นวัตกรรมส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม (2020)
ห้องสมุดโอรัลฮาน โบเคเยฟ ประเทศคาซัคสถาน จัดโครงการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลตามความต้องการของผู้เรียน มีการใช้บทบาทสมมติและสถานการณ์ในชีวิตประจำวันเพื่อช่วยให้เยาวชนผู้พิการสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างกลมกลืน และส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคม
โครงการนี้ถูกออกแบบมาสำหรับเยาวชนผู้พิการอายุต่ำกว่า 21 ปี โดยเฉพาะผู้ป่วยสมองพิการ มีการพัฒนาโปรแกรมการสอนตามความสนใจของกลุ่มผู้เรียน พวกเขาจะได้เรียนรู้การใช้งานระบบปฏิบัติการ Windows ซอฟต์แวร์ต่างๆ และทักษะออนไลน์ เช่น ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต การสื่อสารด้วยอีเมล เครือข่ายสังคมออนไลน์
ในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของห้องสมุด จะใช้วิธีการสอนที่เน้นการปฏิสัมพันธ์ มีการจำลองสถานการณ์ในชีวิตประจำวันระหว่างการเรียนรู้ทักษะดิจิทัล ตัวอย่างเช่น มีการแสดงบทบาทสมมติของการช็อปปิ้งเพื่อสอนโปรแกรม Excel ในร้านค้าจำลอง ผู้เรียนจะสวมบทต่างๆ เช่น ผู้ขาย ผู้ซื้อ เจ้าของร้าน และนักบัญชี พวกเขาจะสร้างตารางและกรอกข้อมูลต่างๆ เช่น งบประมาณ ยอดขาย รายรับ และสูตร เพื่อคำนวณผลกำไรและขาดทุน
นวัตกรรมส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน (2018)
ห้องสมุดเมรู ประเทศเคนยา จัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีทัศนคติเชิงบวกต่ออาชีพเกษตรกร โดยผสมผสานการฝึกอบรมทักษะไอที การเป็นผู้ประกอบการ และเกษตรกรรม
เมรูเป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตรกรรมและปศุสัตว์ในภาคตะวันออก แต่สมัยนี้วัยรุ่นไม่ต้องการเป็นเกษตรกรอีกแล้ว เพราะคิดว่าเป็นอาชีพเชยๆ สำหรับคนแก่ ทางห้องสมุดเมรูจึงดำเนินโครงการ 3 ส่วนไปพร้อมๆ กัน ได้แก่
หนึ่ง การทำแปลงเกษตรสาธิตในบริเวณห้องสมุด เพื่อให้ผู้ใช้ที่สนใจมาทดลองเพาะปลูกพืชผลได้
สอง มีการฝึกอบรมกลุ่มวัยรุ่นเพื่อเพิ่มพูนทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต และทักษะผู้นำ เพื่อเพิ่มโอกาสการได้งาน
สาม ส่งเสริมกลุ่มการเรียนรู้ทักษะผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ยังมีการบูรณาการโครงการทั้งสามส่วนที่ว่ามา เพื่อสร้างชุมชนเกษตรกรขนาดย่อม ในหลักสูตร 3 เดือนนี้ผู้เรียนจะได้ทดลองเพาะปลูก เข้าถึงฐานข้อมูลของกระทรวงเกษตร แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเกษตรกร และยังได้ความรู้เรื่องการตลาดออนไลน์อีกด้วย
นวัตกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (2017)
ห้องสมุดกันกัวกา ประเทศโคลอมเบีย จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาให้แก่เด็กชนเผ่าอินเดียนแดงที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเทือกเขาศักดิ์สิทธิ์ เซียร์รา เนวาดา เดอ ซานตา มาร์ตา (Sierra Nevada de Santa Marta)
ทุกวันเสาร์ บรรณารักษ์จะจัดกิจกรรมสำหรับเด็กๆ โดยพวกเขาจะมารวมตัวกันที่ห้องปฏิบัติการ Kanduruma Lab ซึ่งมีกล้องถ่ายรูป กล้องวิดีโอ และอุปกรณ์อื่นๆ เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ และถ่ายทอดไอเดียในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม บรรณารักษ์จะพาเด็กๆ ลงพื้นที่ในชุมชนเพื่อเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ผู้อาวุโส รวบรวมภาพถ่ายและของพื้นเมือง ใช้กล้องบันทึกภาพวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม จากนั้นพวกเขาจะกลับมาที่ห้องสมุดเพื่อเขียนเรื่องราว จัดนิทรรศการ และวาดแผนที่ชุมชน
กิจกรรมนี้ช่วยเสริมสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เปิดพื้นที่ให้ผู้คนต่างวัยได้มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาชุมชนและปกป้องสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ห้องสมุดยังจัดกิจกรรมพิเศษปีละ 2 ครั้ง มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อดิจิทัลและอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยมาสอนเด็กๆ ผลิตภาพยนตร์และแอนิเมชันที่พัฒนามาจากงานค้นคว้าของพวกเขา และนำผลงานเหล่านี้ไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ ตัวอย่างผลงานได้แก่ แอนิเมชันขนาดสั้นเรื่อง ‘The Guardian of the Sierra’ ที่สร้างขึ้นจากภาพวาดของเด็กๆ แอนิเมชันเรื่องนี้ได้ถูกนำไปฉายตามเทศกาลหนังในประเทศโคลอมเบียด้วย
จากตัวอย่างที่หยิบยกมา จะเห็นว่านวัตกรรมได้นำพาห้องสมุดไปสู่ทิศทางใหม่ๆ สร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนในหลากหลายมิติ ส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายพันธมิตรใหม่ๆ กับหลายภาคส่วน อีกทั้งยังสร้างคุณค่าให้แก่องค์กรและสังคม
อย่างไรก็ดี หัวใจสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมห้องสมุด คือการเข้าถึงชุมชน วิเคราะห์ปัญหาท้องถิ่น รับฟังความต้องการของประชาชน และตกผลึกความคิด เพื่อสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสม อันจะนำไปสู่การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน
ที่มา
Carolyn Anthony. Innovation in Public Libraries. 2014. [Online]
EIFL. Examples of innovative public library services advancing community development in Europe. 2016. [Online]
John Garland. 10 innovative technologies to implement at the library of the future. 2017. [Online]
Potnis, Devendra; Winberry, Joseph; Finn, Bonnie; and Hunt, Courtney. What is innovative to public libraries in the United States? A perspective of library administrators for classifying innovations. (2019). [Online]
Cover Photo by Cristina Gottardi on Unsplash