พื้นที่ฉายหนังอิสระ แหล่งพบปะของคนรักหนัง เวทีถกปะทะทางความคิดอย่างสร้างสรรค์

2,670 views
7 mins
August 8, 2022

          ก่อนที่การ ‘ฉายหนัง’ จะได้รับความนิยมและกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลก ย้อนกลับไปปลายปี ค.ศ.1895 เหล่าผู้ชมได้รับชมภาพเคลื่อนไหวที่ฉายไปบนจอหรือภาพยนตร์ที่เก็บค่าเข้าชมเป็นครั้งแรกที่ใต้ถุนร้านกาแฟแห่งหนึ่งในปารีส ผ่านเครื่อง Cinematograph ของพี่น้องนักประดิษฐ์ หลุยส์ และ ออกุสต์ ลูมิแอร์ นับตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของโรงภาพยนตร์

          ผ่านมาราวร้อยกว่าปี โลกของภาพยนตร์ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครมากมาย ทุกวันนี้คุณสามารถพบโรงภาพยนตร์ที่กระจายอยู่ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วประเทศ มีสารพัดโปรแกรมหนังดังที่จ่อคิวเข้าฉาย แต่โรงภาพยนตร์ที่มีอยู่ทุกหนทุกแห่งนั้น ส่วนใหญ่ดำเนินกิจการไปในรูปแบบของธุรกิจอุตสาหกรรมบันเทิงมากกว่าจะเป็นพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีทั้งข้อจำกัดในการเลือกฉายหนังและราคาค่าเข้าชมเป็นอุปสรรค

          การมีอยู่ของพื้นที่ฉายหนังอิสระจึงสำคัญ และถึงจะยังเป็นเพียงพื้นที่ของคนกลุ่มเล็กๆ แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยที่สุดหนังที่ไม่ถูกเลือกจากผู้ประกอบธุรกิจโรงภาพยนตร์ก็ยังมีทางได้ออกสู่สายตาคนดู หรือมากกว่านั้นคือคอมมูนิตี้เหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่จัดฉาย แต่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้ผ่านหนัง เป็นพื้นที่พบปะพูดคุย ถกปะทะทางความคิดอย่างสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งการสร้างวงคุย การจัดนิทรรศการต่อเนื่อง หรือการจัดเวิร์กชอปเกี่ยวกับหนัง ซึ่งสามารถพูดได้เลยว่าพื้นที่ฉายที่เข้าใจหนังและคนดูของพวกเขา จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้ไปได้ไกลกว่าเดิม

หอภาพยนตร์ ศาลายา – พื้นที่เก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์ไม่ให้สูญหายไปจากการรับรู้ของผู้คน

          พื้นที่เก็บรักษาฟิล์มภาพยนตร์และวีดิทัศน์ รวมถึงทำหน้าที่เก็บกู้บางส่วนของฟิล์มที่เสื่อมสภาพไปแล้วให้กลับมาใช้การได้อย่างเดิมจากการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ ตั้งอยู่บนถนนพุทธมณฑลสาย 5 ศาลายา จังหวัดนครปฐม ที่นี่มีชื่อเรียกว่าหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ก่อตั้งโดย โดม สุขวงศ์ นักวิชาการภาพยนตร์ จากจุดเริ่มต้นที่ค้นพบฟิล์มภาพยนตร์เก่าสมัยรัชกาลที่ 7 ก่อนเรียกร้องให้ทางการจัดตั้งหน่วยงานที่จัดเก็บรวบรวมและอนุรักษ์ฟิล์มหนังเก่าที่กำลังจะหายไป

          แรกเริ่มอาจดูเข้าถึงยากสักหน่อย เพราะหอภาพยนตร์ส่วนหนึ่งของสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม แต่ในปี พ.ศ.2552 เป็นต้นมาที่นี่ถูกโอนกิจการมาจัดตั้งเป็นองค์การมหาชน และปัจจุบันยังเป็นสมาชิกของ สมาพันธ์หอภาพยนตร์ระหว่างชาติ (International Federation of Film Archives) ทำให้มีโปรแกรมพิเศษที่เชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นให้เข้าร่วมอยู่บ่อยครั้ง อย่างกิจกรรม ARCHIVES: DOUBLE BILL ที่นำภาพยนตร์ในคลังอนุรักษ์ของ Asian Film Archive สิงคโปร์ มาประกบคู่กับของหอภาพยนตร์ไทย เพื่อแสดงความเชื่อมโยงของบทสนทนาจากหนังไทยและหนังจากภูมิภาคอาเซียน

          นอกจากนี้ หอภาพยนตร์ยังเป็นพื้นที่จัดเทศกาลภาพยนตร์ มีกิจกรรมสัญจรอย่างรถโรงหนังเฉลิมทัศน์ โรงภาพยนตร์เคลื่อนที่ขนาด 100 ที่นั่ง ตระเวนไปตามโรงเรียนและชุมชนห่างไกล เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงการดูหนังในโรงภาพยนตร์ และที่นี่ยังเปิดให้คนทั่วไปได้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับภาพยนตร์ผ่านพื้นที่ที่แบ่งเป็นโซนอย่างห้องสมุดและโสตทัศนสถาน เชิด ทรงศรี พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย และด้วยสังกัดก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น Public Organization จึงเปิดให้เข้าชมแบบไม่มีค่าใช้จ่ายให้กังวลใจ

a.e.y. space – อาร์ตสเปซที่เชื่อมผู้คนทั้งในและนอกชุมชนสงขลาให้ได้รู้จักกัน

          ถ้าใครมีโอกาสได้ผ่านไปมาบนถนนนางงาม จังหวัดสงขลา คงสะดุดตากับตึกแถวสองคูหาสีขาวรูปทรงจีนผสานยุโรป ที่มีโครงสร้างปูนผสมไม้ หน้าต่างลายขนมปังขิง และประดับป้ายกล่องไฟที่ระบุไว้ว่า a.e.y. space (อ่านว่า เออีวาย สเปซ) เพราะที่นี่คืออาร์ตสเปซประจำชุมชนที่มี เอ๋ ปกรณ์ รุจิระวิไล เป็นเจ้าของ

          เออีวาย สเปซ ทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้าน เปิดต้อนรับผู้คนให้เข้ามาสู่โลกของศิลปะ ให้คนนอกพื้นที่เข้ามารู้จักชุมชน ขณะเดียวกันก็ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยแบ่งพื้นที่ชั้นล่างไว้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการ ฉายภาพยนตร์ และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ (ทั้งจัดเวิร์กชอป เสวนา หรือเปิดให้เต้นสวิงก็เคยมาแล้ว) ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนพื้นที่ชั้นบนตกแต่งไว้เป็น Artist in Residence หรือที่พำนักของเหล่าศิลปินจากทุกพื้นที่ทั่วโลก นับว่าเป็นครีเอทีฟคอมมูนิตี้ประจำจังหวัดสงขลาที่กลายเป็นหมุดหมายของคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

          ผลงานที่เพิ่งผ่านจอของเออีวาย สเปซ คือโปรแกรมหนังสั้นคัดสรร 7 เรื่อง จากสองผู้กำกับไทย เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ และสมัคร กอเซ็ม และหนึ่งผู้กำกับไต้หวัน Chiu Chih-Hua ในชื่อโปรแกรม The Youth/The God/The Citizen หนุ่มสาว พระเจ้า พลเมือง หนังทั้งสามเรื่องสร้างขึ้นในประเทศไทยที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของการถูกควบคุม งานสามชิ้นนี้จึงเรียงร้อยไปด้วยกันอย่างเหลือเชื่อ

          และในเดือนสิงหาคมนี้ พวกเขากำลังขับเคลื่อนงาน Singorama ซิงโกรามา สงขลา-ภาพยนตร์  宋卡大戲院 ชวนคนในย่าน (และนอกย่าน) มาดูภาพยนตร์นอกบ้านที่โรงงิ้ว ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลาในย่านเมืองเก่า ฉายหนังบนเวทีโรงงิ้ว พร้อมโรงน้ำชาและขนมที่ออกแบบเป็นพิเศษในงาน และกิจกรรมน่ารักมากมายที่ชวนคนมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์พื้นที่ วัฒนธรรมพื้นถิ่น และสร้างความคึกคักให้ชุมชนไปพร้อมๆ กัน

Photo : a.e.y.space
Photo : a.e.y.space

Wildtype – คนบ้าหนังที่ยืนหยัดฉายหนังนอกกระแสมาเกินสองทศวรรษ

          ถ้าชอบอ่านบทวิจารณ์ภาพยนตร์ หรือคลุกคลีอยู่ในแวดวงการฉายหนังอิสระ คุณจะคุ้นเคยกับชื่อของ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา ด้วยความที่เขามีส่วนร่วมในหลากหลายโปรเจกต์ที่ล้วนข้องเกี่ยวกับการฉายหนังอิสระทุกแขนงมานานเกินสองทศวรรษ

          และ Wildtype เป็นโปรเจกต์ล่าสุดที่มีเขาเป็นผู้ก่อตั้ง แต่รูปแบบยังคงคล้ายสิ่งที่วิวัฒน์ทำมาอย่างต่อเนื่อง นั่นคือการพาหนังนอกกระแสไปตระเวนฉายตามสถานที่ต่างๆ ทั้งแบบเก็บค่าเข้าชมและไม่มีค่าใช้จ่าย ในนามของกลุ่ม Filmvirus (ส่วนใหญ่เป็นการจัดให้ดูฟรี) ขึ้นอยู่กับสถานที่จัดฉาย และแรงสนับสนุนที่มีในแต่ละรอบ เขามักเลือกฉายหนังที่น่าสนใจแต่ไม่มีใครเลือกไปฉาย หรือว่าง่ายๆ คือฉายหนังที่ตัวเองอยากดูและอยากหาคนมาดูด้วยเพื่อล้อมวงแลกเปลี่ยนพูดคุยหลังหนังจบ หลายครั้งก็ชักชวนผู้กำกับ นักคิด นักเขียน นักวิชาการ และนักต่างๆ มาพูดคุยถึงแต่ละประเด็นทั้งที่อยู่ในหนัง ในช่วง Q&A ด้วย โดยเปลี่ยนเวียนสถานที่จัดฉายไปเรื่อยๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

          ผลงานล่าสุด คือการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ นิมิตวิกาลในกรุงเทพ ครั้งที่ 8 ร่วมกับ International Festival Signes de Nuit และ Documentary Club เป็นการพาเทศกาลที่มีจุดกำเนิดในปารีสและคงอยู่ผ่านระยะเวลายาวนานถึง 19 ปี มาพบกับผู้ชมในประเทศไทย ซึ่งงานนี้มีฉายทั้งหนังทดลอง หนังสารคดี ไปจนถึงหนังเล่าเรื่อง

Dude, Movie – ขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ด้วยการนั่งดูหนัง

          กลุ่มฉายหนังอิสระ ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ที่นิยามตัวเองว่าเป็น Homeless Theater, Community Gathering เริ่มจากการอยากนั่งดูหนังด้วยกันของสองเพื่อนสนิท อ้น ณัฐกุล คำพินิจ และไอซ์ อนันตญา ชาญเลิศไพศาล ก่อนชวนเพื่อนมารวมตัวเป็นสี่คน

          พวกเขาเริ่มจากการหยิบ Dead Poets Society ภาพยนตร์ของปีเตอร์ เวียร์ ผู้กำกับชาวออสเตรเลีย ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจของใครหลายคนมาฉายบนพื้นที่ดาดฟ้าของโฮสเทลเล็กๆ แห่งหนึ่งในเมือง เมื่อมองเห็นความไปเป็นได้ จึงต่อยอดและพัฒนามาเรื่อยๆ ขยับขยายด้วยการจัดฉายหนังกลางแปลงในงานยี่เป็ง (วันลอยกระทง) ที่ชุมชนช้างม่อย ร่วมกับกลุ่มเชียงใหม่ ฉันจะดูแลเธอ เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาเมืองเชียงใหม่ไปด้วย

          นอกจากนั้น ยังจัดเทศกาล Dude, French Film Week ฉายหนังฝรั่งเศสสิบเรื่องตลอดสิบวันในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และก้าวข้ามไปสู่งานสร้างสรรค์อื่นๆ ที่ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในโลกภาพยนตร์ ทั้งการจัด Performance Art นิทรรศการศิลปะ รวมถึงปาร์ตี้สนุกๆ อีกด้วย เป็นกลุ่มน้องใหม่ไฟแรงอายุเพียงปีกว่า แต่ยืนยันจะฉายหนังและทำงานสร้างสรรค์ร่วมกับคนในพื้นที่ต่อไป

Dude, Movie
Photo : Dude, Movie

Little lovely bookshop ร้านหนังสือเล็กๆ ที่รัก – พื้นที่ฉายหนังแห่งเดียวในจังหวัดลำปางที่มีเจ้าของเป็นสัตวแพทย์

          ที่แห่งนี้เป็นทั้งร้านหนังสือ คลินิกรักษาสัตว์ และพื้นที่ฉายหนัง แห่งเดียวในจังหวัดลำปาง ของสัตวแพทย์พงษ์ประสิทธิ์ พงษ์พิจิตร หรือหมอมิ้น ที่จัดสรรพื้นที่ของตัวเองเพื่อบรรจุทั้งสามสิ่งข้างต้นเข้าไว้ด้วยกันในพื้นที่แสนจะจำกัด

          ตัวร้านชั้นหนึ่งเป็นคลินิกรักษาสัตว์ การงานอาชีพตามที่ได้ร่ำเรียนมา ชั้นลอยขอทำตามใจด้วยการเปิดเป็นร้านหนังสือที่หลายครั้งแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่จัดงานเสวนาและจัดกิจกรรมฉายหนังที่บรรจุคนดูได้เพียงครั้งละไม่เกิน 6 ที่นั่ง แต่เต็มทุกครั้งและทุกรอบจนน่าชื่นใจ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมบุ๊กคลับออนไลน์ ชวนนักอ่านเลือกหนังสือที่ชอบมาแบ่งปันกันอ่าน อีกหนึ่งพื้นที่การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ที่เป็นขวัญใจของคนท้องถิ่น

พนมนครรามา – กลุ่มคนรักหนังอิสระแห่งเมืองนครพนม

          พนมนครรามา เกิดจากการตั้งคำถามว่าถ้าจังหวัดชายแดนอย่างนครพนมอยากสร้างพื้นที่ฉายหนังนอกกระแสดูบ้าง จะทำได้ไหมและออกมาเป็นอย่างไร ด้วยความตั้งใจอยากให้พื้นที่นี้จะกลายเป็นจุดแลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างคนไทย คนลาว และคนเวียดนาม อย่างที่พวกเขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้

          นอกจากอาศัยวิธีติดต่อขอหนังหลายต่อหลายเรื่องจาก Documentary Club มาฉาย แบบเก็บค่าเข้าชมราคาย่อมเยา (และหลายๆ ครั้ง ค่าเข้าชมยังเอามาแลกเครื่องดื่มไปจิบระหว่างดูหนังได้ด้วย) พนมนครรามายังเลือกหยิบหนังสั้นของนักเรียนนักศึกษามาฉายก่อนโปรแกรมหนังหลักจะเริ่มอีกด้วย รูปแบบเดียวกับเวทีดนตรีที่มีวงเล่นเปิด ก่อนศิลปินหลักจะทำการแสดง ถือเป็นโอกาสแจ้งเกิดของคนทำหนังอย่างแท้จริง

          ส่วนสถานที่ฉายก็มีความน่าสนใจ เพราะสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปทั้งร้านกาแฟในตัวเมือง และพื้นที่สาธารณะอย่างหอนาฬิกาเวียดนามอนุสรณ์ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำจืด โลกของปลาแม่น้ำโขง (หนองญาติ) และมหาวิทยาลัยนครพนม


ที่มา

บทความ คุยกับ Filmsick วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา “หนังทุกเรื่องเท่ากัน หนังทุกเรื่องมีการเมือง” (Online)

บทความ จิบกาแฟแลดูหนังทางเลือกครั้งแรกในเมืองชายโขงกับ ‘พนมนครรามา’ พื้นที่ฉายหนังอิสระแห่งเดียวในนครพนม (Online

บทความ เสน่ห์นางงาม A.E.Y. Space ตึกแถว (Online

บทความ Dude French Film Week หนังฝรั่งเศสที่เชียงใหม่ แบบจุใจกว่า 10 วัน (Online)

บทความ Hey, Dude! Dude, Movie สหายคนฉายหนังในเชียงใหม่ที่ใช้พลังของศิลปะและป๊อปคัลเจอร์เปลี่ยนนครพิงค์ (Online)

บทความ Little lovely workshop เยี่ยมร้านหนังสืออิสระในคลินิกของหมอมิ้น สัตวแพทย์ลำปางที่รักการอ่านพอๆ กับสรรพสัตว์ (Online)

เฟซบุ๊ก Wildtype (Online)

เว็บไซต์ หอภาพยนตร์ (Online)

Cover Photo : a.e.y. space

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก