ในความรัก เราต่างเป็นนักทฤษฎี

2,644 views
3 mins
February 12, 2021

          กุมภาพันธ์เป็นเดือนแห่งความรัก รักมีหลายรูปแบบ ซับซ้อนเกินกว่าจะจินตนาการออก บางความรักแปลงเป็นถ้อยคำไม่ได้ เพียงรู้ในใจว่านี่แหละคือความรัก

          ในแง่หนึ่งความรักจึงเต็มไปด้วยคำถาม-ณ จุดใดของเวลาที่ความรักถือกำเนิด ทำไมจึงรู้สึกกระวนกระวายและมีความสุขไปพร้อมกันเมื่อเรามีความรัก เราสามารถรักใครได้มากพอจะยอมสละชีวิตหรือไม่ เว็บหาคู่และเอไอคือบุพเพสันนิวาสแห่งศตวรรษที่ 21 ได้หรือเปล่า เราสามารถรักโดยไม่ครอบครองได้จริงไหม หรือคำถามพื้นฐานที่สุด อมตะที่สุด และยากที่สุด ความรักคืออะไร?

          เราคงต้องนั่งบนเก้าอี้สบายๆ และครุ่นคิดอย่างจริงจังเพื่อพยายามตอบคำถามเหล่านี้ ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีสิ่งใดการันตีได้ว่ามันเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ถ้าใครสักคนบอกว่าคำตอบของตนถูกต้อง อนุมานไว้ก่อนเลยว่า เขาโกหก

          ‘In Theories ในความรัก เราต่างเป็นนักทฤษฎี’ ของกิตติพล สรัคคานนท์ เป็นความพยายามหรืออาจถึงขั้นทะเยอทะยานที่จะหาคำตอบว่า ความรักคืออะไร ในเมื่อเหล่ายักษ์ปรัชญาใคร่ครวญมานับพันปียังไม่อาจหาคำตอบได้ นับประสาอะไรกับชายหนุ่มวัย 40 กลางๆ คนหนึ่ง

          ขณะเดียวกันประหนึ่งว่ากิตติพลรู้ว่าโครงการของเขาใหญ่โตเหลือเกิน ชื่อหนังสือจึงเหมือนเป็นข้อสรุปที่อ่อนน้อมถ่อมตนและยอมรับว่า เราทำได้เพียงคาดเดาและสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับความรักเท่านั้น

          ใช่หรือไม่ว่าบรรดากูรูด้านความรัก ความสัมพันธ์ ที่มีชื่อเสียง ถึงที่สุดแล้วเป็นเพียงนักคาดเดาและนักทฤษฎี

          กิตติพลใช้วิธีใดค้นหาทฤษฎี ตอบว่าเขาใช้วิธีเดียวกับนิวตัน

          เปล่า, ไม่ใช่การนั่งให้ผลแอปเปิ้ลหล่นใส่หัว แต่หมายถึง “I have seen further it is by standing on the shoulders of giants.” หรือยืนยลบนไหล่ยักษ์ทำให้มองได้ไกลขึ้น เขานำทฤษฎีของผู้คนที่เคยตอบคำถามนี้ในอดีตมาร้อยเรียงให้เห็นความหลากหลายของคำตอบ ทั้งในเชิงปรัชญา ศาสนา จิตวิทยา สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ วงศาวิทยา วรรณกรรม และอื่นๆ

          สารภาพครับว่าช่วงบทต้นๆ ผมตื่นตาตื่นใจมาก เพราะกิตติพลทำให้เห็นว่าความรักแบบที่เราเข้าใจในปัจจุบันเป็นความรักคนละแบบกับในอดีต ความสัมพันธ์ การแต่งงาน การออกเดท ความรักแบบโรแมนติกไม่ได้ดำรงอยู่เช่นนี้มาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ มันค่อยๆ ถูกประกอบสร้าง ปรับเปลี่ยน ต่อเติม กระทั่งเป็นสถาปัตยกรรมแห่งความรักเช่นที่คนยุคเราเข้าใจ และแน่นอนว่ามันจะถูกต่อเติมขยับขยายไปเรื่อยๆ ถึงศตวรรษที่ 22 เราอาจจดจำใบหน้าของความรักที่เราคุ้นเคยไม่ได้เลยด้วยซ้ำ

          อย่างในยุโรปยุคก่อนสมัยใหม่ การแต่งงานไม่ได้เกิดจากแรงดึงดูดทางเพศหรือความเสน่หา (ความรัก?) แต่เป็นเรื่องของชนชั้นและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การแต่งงานสำหรับชนชั้นแรงงานคือการได้กำลังการผลิตเพิ่ม ทว่า การกอดจูบลูบคลำและกิจกรรมทางเพศกลับเกิดขึ้นไม่บ่อยเนื่องจากการทำงานหนัก ตรงข้ามกับเหล่าชนชั้นนำที่ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับงานจึงเลือกมีกิจกรรมทางเพศได้ทุกที่และทุกเวลาที่ต้องการ

          หรือกิตติพลอ้างอิงงาน Consuming the Romantic Utopia: Love and the Cultural Contradictions of Capitalism (1997) ของ Eva Illouz ที่ชี้ให้เห็นว่าความรักโรแมนติคมีส่วนสำคัญในการทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมขยายตัวในช่วง 25 ปีแรกของศตวรรษที่ 20

          แต่พอเข้ากลางเล่มเนื้อหาเริ่มซับซ้อนและต้องการการขบคิดมากขึ้นชนิดยกกำลังสอง ผมเข้าใจเนื้อหาไม่กระจ่างนักจึงตัดสินใจชวนกิตติพลสนทนาถึงหนังสือของเขา

          บางประโยค บางประเด็นจากการสนทนา…

          “กระบวนการ crystallization ที่ผมบอกคือกระบวนการทำให้คนที่เรารักชอบ ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในสายตาของเรา เขาจะเป็นเหมือนภาพอุดมคติ ผู้หญิงที่หน้าตาธรรมดาคนหนึ่งก็อาจจะสวยมากๆ สำหรับเรา หรือแม้กระทั่งรอยแผลเป็นที่มือ มันคือตำหนิ แต่สำหรับเรามันคือเสน่ห์”

         “ปกติเราจะคิดว่าความรักของเรา มันก็แค่ความรักของเรา เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่มีความเกี่ยวข้องกับใคร แต่ผมกลับมีความรู้สึกว่าในโลกของทุนนิยม เป็นความคิดของนักปรัชญาฝรั่งเศสที่ชื่ออแลง บาดิยู เขามองว่าในโลกของทุนนิยมการที่ทำให้เรารักตัวเองมากกว่าคนอื่น รักตัวเองก่อนรักคนอื่น มันเป็นประโยชน์สำหรับระบบทุนนิยมหรือวิธีคิดที่ต้องการให้เราเป็นปัจเจกมากๆ เพื่อที่จะทำให้เราไม่สามารถรวมตัวกัน ไม่สามารถมีบางสิ่งบางอย่างร่วมกันกับคนอื่นได้ และการที่เราเป็นแบบนี้มันควบคุมง่ายกว่าที่เราจะรู้จักแคร์คนอื่นหรือรักคนอื่นมากกว่าตัวเราเอง…ซึ่งผมก็เพิ่งค้นพบว่ามันมีนัยทางการเมือง เพราะการที่เราไม่ได้คิดแบบนี้ ความรักของเราก็แทบจะเป็นการปฏิวัติโลกของความรักทั้งหมดที่เราเคยเข้าใจ”

          กับคำถามอมตะที่ว่า ความรักคืออะไร?

          “คือการรักผู้อื่นและเราไม่สามารถรักโดยไม่มีใครให้เรารักได้” กิตติพลตอบโดยออกตัวในฐานะนักทฤษฎี

          ส่วนตัวแล้ว ‘In Theories ในความรัก เราต่างเป็นนักทฤษฎี’ เป็นหนังสือที่สนุก เชื้อชวนให้เราทำความรู้จักกับความรักที่ล่องลอยอยู่รอบตัว ทำความเข้าใจพัฒนาการของมัน พิจารณาการแตกร้าวของความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ

          อย่างไรก็ตาม ผมตั้งข้อสังเกตไว้ประการหนึ่งตอนที่สนทนากับกิตติพลว่า มุมมอง แนวคิด คำอธิบาย ทฤษฎีทั้งหมดในหนังสือมาจากฟากฝั่งตะวันตก ชวนให้สงสัยว่าฝั่งฟากตะวันออกทฤษฎีความรักหน้าตาเป็นเช่นใด มันจะแอบอิงกับศาสนาและจิตวิญญาณอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ อินเดียและจีนมหาสมุทรปรัชญาหลักของเอเชียนมองความรักอย่างไร ฯลฯ

          ความรักเป็นปริศนาที่มนุษย์หาคำตอบมาหลายพันปี และจะยังคงเป็นปริศนาไปอีกหลายพันปีต่อจากนี้

          คุณคิดว่าคุณรู้คำตอบหรือเป็นเพียงนักทฤษฎี?


ที่มา

Cover Photo: สำนักพิมพ์ Salmon Book

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก