เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพียงแค่ในปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในโลกของการจัดการข้อมูลข่าวสาร มีทั้งเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ใช้งาน ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งความห่วงใยจากกลุ่มนักพัฒนาเทคโนโลยีทั้งหลาย เกิดคำถามขึ้นว่าระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศและการจัดการความรู้จะพัฒนาไปในทิศทางไหน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะส่งผลอย่างไรต่อการทำงานและการใช้ชีวิต และคำถามที่สำคัญ ห้องสมุดยังมีที่ทางในโลกแห่งความรู้อยู่หรือไม่
การจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ก็ต่อเมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง แต่บรรณารักษ์และผู้ปฏิบัติงานในห้องสมุดก็ไม่ควรที่จะรอคอยแบบตั้งรับเท่านั้น หากตระหนักรู้และมีเครื่องมือที่ดีพอ ห้องสมุดจะไม่ใช่แค่หมากบนกระดาน แต่อาจจะเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าไปร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงและกำหนดทิศทางของโลกข้อมูลข่าวสารและความรู้ได้ด้วย แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่บทความนี้กล่าวถึง ถอดความมาจาก IFLA Trend Report 2024 ลองมาสำรวจกันว่า ทิศทางเหล่านี้จะส่งผลต่อการทำงานของห้องสมุดอย่างไรบ้าง
แนวโน้มที่ 1: รูปแบบของระบบความรู้ที่เปลี่ยนไป
เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้นิยามของสิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘ข้อมูล’ ‘สารสนเทศ’ และ ‘ความรู้’ นั้นเปลี่ยนแปลงไป เรากำลังว่ายวนอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร อันจะนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายหลายประการ
ทุกวันนี้ ‘ข้อมูล’ และ ‘ความรู้’ อยู่รอบตัวเรา เทคโนโลยีทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลปริมาณมหาศาล แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นพื้นที่หลักที่ผู้คนใช้ในการเสพข้อมูล เชื่อมต่อกับเครือญาติ เพื่อนฝูง และซื้อสินค้าต่างๆ นอกจากนี้ผู้ใช้ก็ยังเป็นฝ่ายสร้างข้อมูลได้ด้วย ข้อมูลส่วนบุคคลที่เป็นความเคลื่อนไหวของเราในแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ก็ถือเป็นหนึ่งในทรัพยากรสำคัญที่จะถูกเปลี่ยนไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแนะนำและออกแบบบริการให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ และที่สำคัญก็คือ ข้อมูลและความรู้ในปัจจุบันนั้นมาจากผู้คนหลากหลายกลุ่ม ไม่ได้ถูกผูกขาดด้วยวัฒนธรรมกระแสหลักเพียงเท่านั้น กลุ่มคนซึ่งเคยมีที่ทางน้อยนิดในโลกแห่งความรู้อย่างชนกลุ่มน้อย และกลุ่มความเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ เช่น Black Lives Matter และ Me Too เริ่มได้รับความสนใจจากสาธารณชน และกล้าแสดงออกมากขึ้น
ข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่ตามสื่อต่างๆ มักจะอยู่ในรูปแบบ bite-size ไม่ว่าจะเป็นคลิปสั้นเชิงบันเทิง หรือคลิปเพื่อการศึกษา เพื่อความง่ายต่อการย่อยข้อมูลข่าวสาร สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ จึงปรับตัวเข้ากับแนวโน้มนี้ โดยเพิ่มฟีเจอร์พิเศษให้ตอบรับกระแสสังคม นอกจากนี้ ข้อมูล สารสนเทศ และองค์ความรู้ยังถูกสร้างได้ด้วยตนเองอย่างง่ายดายผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ประเด็นเรื่องความเที่ยงตรงของข้อมูลลักษณะนี้จึงได้รับความสนใจจากสาธารณชนมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องก็หันมาควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารประเภทนี้มากขึ้น นำมาซึ่งข้อถกเถียงเรื่องจุดสมดุลระหว่าง ‘การรักษาความเป็นส่วนตัว’ กับ ‘ประโยชน์ที่จะได้รับจากการปล่อยให้ภาครัฐควบคุมและเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น’ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อความปลอดภัย การจัดการด้านสุขภาวะ หรือประโยชน์ด้านการตลาดในภาคเอกชน
เมื่อข้อมูลและความรู้ในปัจจุบันมีความหลากหลาย สามารถเกิดขึ้นได้รอบตัวเรา โจทย์สำคัญที่ห้องสมุดต้องหันกลับมาทบทวนคือ ห้องสมุดเองก็ควรจะให้บริการข้อมูลและความรู้ที่ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้แต่ละกลุ่ม ผ่านสื่อหลากหลายประเภท ไม่ได้สะท้อนจากมุมมองของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และทำหน้าที่เป็นเวทีเปิดโอกาสให้ผู้สร้างสรรค์ข้อมูลและความรู้ได้มีโอกาสเผยแพร่สู่สาธารณะ
แนวโน้มที่ 2: เทคโนโลยีทันสมัย และ AI กำลังจะเปลี่ยนแปลงโลก
Generative AI และเทคโนโลยีอื่นๆ กำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสร้าง การเผยแพร่ และการใช้ข้อมูล และกำลังมีอิทธิพลต่อทุกวงการตั้งแต่การศึกษา สุขภาพ ธุรกิจ ไปจนถึงงานสร้างสรรค์ต่างๆ เพราะ AI เป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการจัดการและนำเสนอข้อมูลแบบใหม่ๆ รวมถึงการปกป้องคุ้มครองข้อมูลไม่ให้สูญหายด้วย เรียกได้ว่าความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี AI นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทาย สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับพัฒนาการของเทคโนโลยี AI คือความห่วงใยในเรื่องการใช้ AI โดยมิชอบ
หากพิจารณาความสามารถในการทำงาน Generative AI สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งงานเขียน งานแปล ภาพ ดนตรี หรือแม้กระทั่งช่วยเขียนโปรแกรม ยกตัวอย่างเช่น AI ทั่วไปอาจจะสามารถวิเคราะห์เอกสารสัญญาได้ แต่ Generative AI สามารถช่วยร่างเอกสารสัญญาฉบับใหม่ได้ตามความต้องการของผู้ใช้ Generative AI จึงเข้ามามีอิทธิพลต่อการทำงานทั้งในระดับองค์กร และในระดับครัวเรือนมากขึ้น
เทคโนโลยีเสมือนจริง ไม่ว่าจะ AR (Augmented Reality), VR (Virtual Reality), MR (Mixed Reality) หรือ Metaverse จะมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา เช่น การนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาสร้างกระบวนการ Simulation เพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เรียนรู้สิ่งแวดล้อมในอดีต ร่างกายมนุษย์ และศึกษาลักษณะทางธรณีวิทยาและภูมิศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ การใช้ประโยชน์จาก Digital Twins หรือการสร้างโลกเสมือนที่ผู้คนสามารถเข้าไปประกอบกิจกรรมทางสังคมได้ ก็จะเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาจมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโลกเป็นแรงผลักดัน โลกเสมือนแบบ Digital Twins หลายโปรเจกต์ เกิดขึ้นเพราะความต้องการที่จะบันทึกข้อมูลทางกายภาพของสถานที่เอาไว้ ก่อนที่จะถูกทำลายโดยปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก
ในปัจจุบันการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 30 เท่าในปี 2030 อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของบริการ Streaming อย่าง Netflix ที่ช่วงชิงตลาดในสหรัฐอเมริกาและเอเชียแปซิฟิก และ YouTube ที่ยังครองอันดับในภูมิภาคยุโรป คุณภาพของสัญญาณอินเทอร์เน็ตนั้นพัฒนาอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ซึ่งนับว่าเป็นเหมือนดาบสองคม ผู้ใช้งานที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูล สารสนเทศ และความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ผู้คนบางส่วนยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงโลกออนไลน์ มีความเร็วของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพียง 3G หรือ 4G ช่องว่างของโอกาสทางสังคมจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ห้องสมุดจึงควรทดลองนำ AI และเทคโนโลยีเสมือนจริงมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ การแปลภาษา และการสร้างคอนเทนต์ เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้มาลองสัมผัสเทคโนโลยีเหล่านี้ โดยไม่ลืมคำนึงถึงและสร้างความตระหนักเรื่องความถูกต้องแม่นยำและความปลอดภัยของข้อมูลที่ได้จาก AI ด้วย
แนวโน้มที่ 3: การฟื้นฟูความเชื่อมั่นในภาครัฐและสื่อเป็นสิ่งจำเป็น
ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อภาครัฐและสื่อมวลชนคือปัจจัยสำคัญในการทำงานของหน่วยงานดังกล่าว แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นคือความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อหน่วยงานเหล่านี้ลดลงอย่างน่าใจหาย สภาวะเช่นนี้นำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายหลายประการ
ข้อมูลจากงานวิจัย และการสำรวจหลายๆ แห่ง ทั้ง OECD, WEF และ Reuters เผยให้เห็นว่า ประชาชนลดความเชื่อมั่นในหน่วยงานภาครัฐและสื่อกระแสหลักลง ทั้งยังให้ความไว้วางใจข้อมูลจากภาคเอกชนมากกว่า ข้อมูลจาก Edelman Trust Barometer บ่งบอกว่า ประชาชนเสพและเชื่อมั่นในข้อมูลที่สำคัญๆ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ จากนักวิทยาศาสตร์ เพื่อน และผู้เชี่ยวชาญ มากกว่าข้อมูลข่าวสารจากทางการ นับว่าเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง
เจ้าของงานวิจัยเหล่านี้ได้เสนอแนะว่าหน่วยงานเหล่านั้นมีความจำเป็นต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้วยการเข้าถึงประชาชนมากขึ้น อาจจะเป็นการรับฟังเสียงของประชาชนกลุ่มต่างๆ ให้ความสำคัญกับความท้าทายในโลกปัจจุบัน อย่างเรื่องความผันผวนของสภาพอากาศ และพัฒนาระบบการจัดการข้อมูลข่าวสารให้มีความน่าเชื่อถือ ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ สำนักข่าวท้องถิ่นหรือนิตยสารรายย่อยต่างทยอยกันปิดตัว ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้เสพข้อมูลสามารถเข้าถึงสื่อกระแสหลักได้โดยง่าย ทำให้ข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่ในระบบทุกวันนี้มาจากสื่อรายใหญ่เสียมากกว่า นั่นทำให้เรื่องราวจากท้องถิ่นมักจะถูกละเลยมองข้าม
หนึ่งในประเด็นที่ก่อให้เกิดความเป็นห่วงในช่วงหลังมานี้ คือเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูล ผู้ใช้จำเป็นต้องสละความเป็นส่วนตัวเพื่อเข้าถึงข้อมูลบางแพลตฟอร์ม โดยต้องยอมให้เจ้าของระบบติดตามสอดส่องและเก็บข้อมูลการใช้งาน ยิ่งไปกว่านั้น การเข้าถึงข้อมูลและสารสนเทศในแพลตฟอร์มเชิงธุรกิจบางแห่งยังอาจมีค่าใช้จ่ายด้วย จึงอาจสวนทางกับความต้องการของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่เรียกร้องให้เข้าถึงข้อมูลได้อย่างเสรีเพื่อยกระดับการศึกษาและการพัฒนาตนเอง นี่จึงเป็นจุดที่ห้องสมุดหรือสถาบันการศึกษาที่มีกำลังพอในการจับจ่ายเพื่อการเข้าถึงเนื้อหาเหล่านี้ควรปรับรูปแบบการบริการให้เอื้อประโยชน์ต่อผู้ใช้งานให้มากที่สุด
แนวโน้มที่ 4: ทักษะและสมรรถนะในการทำงานเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น
เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินชีวิต เราจึงจำเป็นต้องมีทั้งทักษะเชิงปฏิบัติการ ทักษะการคิดวิพากษ์ และทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลไปพร้อมๆ กัน ตลาดแรงงานกำลังต้องการคนที่มีทักษะเหล่านี้ และมีความรู้เท่าทันข้อมูลสารสนเทศ นับว่าเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประชาชน
งานโดยทั่วไปจะต้องการทักษะในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ไม่ใช่แค่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเท่านั้น ปัญหาเรื่องแรงงานในตลาดปัจจุบันขาดทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานจึงเริ่มกลายเป็นปัญหาเร่งด่วน การเสริมทักษะให้กับแรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับลักษณะงานในอนาคตจึงเป็นย่างก้าวที่สำคัญ สมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association: ALA) ได้คาดการณ์ไว้ว่า หาก AI เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานในตลาดแรงงานจริง บทบาทของห้องสมุดจะยิ่งซับซ้อนขึ้น คือกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ที่ทำอาจไม่ใช่แค่การเสริมทักษะพื้นฐานเพื่อตำแหน่งในระดับเริ่มต้นเท่านั้น แต่ยังต้องนึกถึงการเสริมทักษะที่จำเป็นต่อตำแหน่งงานในระดับกลาง ซึ่งแรงงานรุ่นเยาว์ที่มีอยู่ในตลาดแรงงานในตอนนี้ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ด้วยเช่นกัน
แนวโน้มทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการในอนาคตไม่ได้มีเพียงแค่ทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเท่านั้น ตลาดยังต้องการบุคคลที่มีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ และการสร้างนวัตกรรม รวมถึงความสามารถในการฟัง เข้าอกเข้าใจอารมณ์ผู้อื่น การทำงานเป็นทีม และเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่เสมอ อีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้คือ การรู้เท่าทันสื่อ โดยต้องสามารถวิเคราะห์ และจำแนกข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหรือถูกบิดเบือน และข้อมูลที่เป็นเท็จได้
การสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อและข้อมูลนั้น ต้องใช้ทั้งความรู้ และทักษะในการค้นหาข้อมูลที่จำเป็น สามารถวิเคราะห์ ประเมิน จัดการข้อมูลเหล่านั้น และสามารถนำไปใช้อย่างถูกต้องได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลที่เป็นเรื่องเล่าปากเปล่า สิ่งพิมพ์ หรือข้อมูลดิจิทัล องค์กรที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลและความรู้อย่างห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ หอจดหมายเหตุ สถานศึกษา และสำนักข่าวต่างๆ จึงควรจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันข้อมูล และช่วยเติมทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานให้กับประชาชนด้วย
แนวโน้มที่ 5: ความเจริญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลยังกระจุกตัวอยู่กับคนบางกลุ่ม
แม้ว่าการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการดิจิทัลได้อย่างทั่วถึง (Digital Inclusion) จะทำให้เกิดความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการภาครัฐ และทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลทางวัฒนธรรมได้โดยสะดวก แต่ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในการใช้งานดิจิทัลกลับเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เช่นกันกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนรูปแบบบริการจากออฟไลน์สู่ออนไลน์
สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) ได้กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสในการเข้าถึงบริการดิจิทัลต่างๆ โดยชี้ให้เห็นข้อมูลจากการสำรวจว่าโอกาสในการเข้าถึงบริการดิจิทัล ยังขึ้นอยู่กับอัตราของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ในปี 2023 ประชากรกว่า 81% ของประชากรในเมืองใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวัน แต่สำหรับในเขตชนบทนั้นมีประชากรที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 50% เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ในโลกที่บริการจากภาครัฐและเอกชนกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบออนไลน์ และเทคโนโลยี AI กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ประชากรที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะขาดโอกาสทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เกิดเป็นช่องว่างระหว่างประชากร 2 กลุ่ม ที่มีแนวโน้มจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อุปสรรคในการเข้าถึงบริการออนไลน์มีทั้งอุปสรรคที่เกิดจากระบบ เช่น อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณเครือข่ายที่ดีพอ หรือเกิดจากความสามารถทางการเงินและทักษะความสามารถในการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลของตนเอง
Digital-first คือ การปรับรูปแบบการให้บริการของทั้งภาครัฐและเอกชนให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นประจำ แต่ก็ส่งผลต่อประชากรกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้เช่นกัน รายงาน 2023 Digital Government Index ของ OECD กล่าวว่า นโยบายของเกือบทุกประเทศพยายามลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการดิจิทัล โดย 90% มีแผนพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาด้านนี้โดยเฉพาะ และ 80% มีโครงสร้างทางกฎหมาย ข้อบังคับ และนโยบายการให้ทุนเพื่อส่งเสริมการดำเนินการตามแผน
หลายๆ ประเทศพยายามที่จะผลักดันให้เกิด Digital Identity หรือ Digital ID ที่สามารถเข้าถึงบริการออนไลน์ของหน่วยงานต่างๆ ได้โดยสะดวก เช่น ประเทศเดนมาร์ก ที่เรียกได้ว่าเป็นผู้นำในการเปลี่ยนระบบให้บริการภาครัฐให้กลายเป็นรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด รวมถึงการใช้ Digital ID เพื่อเข้าถึงบริการของรัฐด้วย ดังนั้นรัฐบาลจึงออกนโยบายเพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต สามารถเข้าถึงได้ด้วยเครื่องมือต่างๆ
การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล จะช่วยให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น และแสดงออกถึงความต้องการได้โดยสะดวก เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ และเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลที่จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังเอื้อให้เกิดการสร้างเครือข่ายหรือฐานข้อมูลทางวัฒนธรรม นำไปสู่การบันทึกและอนุรักษ์วัฒนธรรมที่มีความเสี่ยงต่อการสูญหาย เช่น ภาษาที่ในปัจจุบันมีคนพูดน้อยลง เป็นต้น ดังนั้น ห้องสมุดจึงควรจะมีบทบาทสำคัญในการกระจายโอกาสให้ประชาชนหลากหลายกลุ่มสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน
แนวโน้มที่ 6: ระบบข้อมูลต่างๆ กำลังใช้ทรัพยากรโลกอย่างสิ้นเปลือง
เศรษฐกิจสีเขียว (green economy) คือ ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลดการปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ ลดการสร้างมลภาวะ อีกทั้งยังปกป้องคุ้มครองระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าใช้พลังงานจำนวนมหาศาล อีกทั้งยังก่อให้เกิดขยะจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เหลือใช้ (e-waste) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำแนวคิด เศรษฐกิจดิจิทัลสีเขียว มาใช้เพื่อจัดการผลกระทบของระบบข้อมูลสารสนเทศที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและความผันผวนของสภาพอากาศ
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหลือใช้ ทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน สำนักงาน ถ่านไฟฉายหรือแบตเตอรี่ หรือที่เรียกว่า e-waste คืออุปกรณ์ที่เลิกใช้แล้ว และไม่มีความประสงค์จะนำกลับมาใช้อีก รายงาน The Global E-waste Monitor 2020 พบว่าในปี 2019 โลกเราสร้าง e-waste สูงถึง 53.6 เมกะตัน หรือโดยเฉลี่ย 7.3 กิโลกรัมต่อคน เป็นที่ประมาณการว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะสูงถึง 74.7 เมกะตัน ในปี 2030 ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ขยะประเภทนี้เพิ่มปริมาณขึ้น คืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีอายุการใช้งานที่สั้นลง และไม่สามารถซ่อมแซมได้
รัฐบาลของแต่ละประเทศพยายามที่จะออกนโยบายลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม องค์กรที่อยู่ในแวดวงข้อมูลสารสนเทศอย่างห้องสมุด ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผู้ใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และพลังงานไฟฟ้าในการให้บริการในปริมาณมาก จึงควรจะมีนโยบายรณรงค์ให้ลดความถี่ในการเปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ หรือสนับสนุนให้เปลี่ยนเมื่อจำเป็นเท่านั้น รวมถึงช่วยส่งเสริมให้ผู้ใช้เห็นประโยชน์ของการใช้พลังงานหมุนเวียนด้วย
แนวโน้มที่ 7: ผู้คนต่างแสวงหาความสัมพันธ์อันดีกับคนในชุมชน
สายใยและความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในชุมชนจะนำมาซึ่งสุขภาพกายและใจที่ดี แต่องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization: WHO) ได้สังเกตเห็นว่าภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม (Social Isolation) กำลังเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนของโลก ด้วยความที่บริการต่างๆ และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมักจะอยู่ในรูปแบบออนไลน์ และการทำงานระยะไกลหรือ Work from Home ก็เริ่มกลายเป็นสิ่งปกติ ผู้คนจำนวนมากจึงโหยหา และแสวงหาการปฏิสัมพันธ์แบบเผชิญหน้า เพื่อพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ หรือแม้กระทั่งทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน สภาวะเช่นนี้มีทั้งโอกาสและความท้าทายหลายประการเช่นกัน
ชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งจึงนิยมจัดกิจกรรมที่สามารถหลอมรวมสมาชิกเข้าด้วยกัน เพราะเชื่อว่าสามารถกระตุ้นให้ผู้อยู่อาศัยเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วม สำนึกในถิ่นที่ และมีความผูกพันระหว่างผู้คนสังคมได้มากกว่าชุมชนเมืองหรือชุมชนขนาดใหญ่ การทำกิจกรรมในชุมชนจะช่วยสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างกลุ่มคนต่างวัย และสร้างสำนึกร่วมที่จะกระตุ้นให้เกิดความหลากหลายของกลุ่มคนในสังคม
ภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก สถิติที่ได้จากการสำรวจของ WHO บ่งบอกว่า ผู้สูงอายุประมาณ 1 ใน 4 กำลังประสบปัญหานี้ เช่นกันกับกลุ่มวัยรุ่นประมาณ 5-15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิต คุณภาพชีวิต อัตราส่วนการเสียชีวิตที่เกิดจากความโดดเดี่ยวนั้น สูงพอๆ กับการสูบบุหรี่และภาวะโรคอ้วน เลยทีเดียว
องค์กร FSG ที่ส่งเสริมการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาสังคม ได้นำเสนอแนวคิดที่เรียกว่า ‘Place-based Solution’ หรือการจัดกิจกรรมที่สร้างความร่วมมือ เสริมสร้างทักษะการปรับตัวและพัฒนาความสามารถของคนในชุมชน โดยนำเสนอโมเดลการทำงานที่ประกอบไปด้วยหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ ชุมชน และพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องสมุด เป็นต้น แนวโน้มของโครงการแบบนี้เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้ให้ทุน เพราะสามารถเห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจน อีกหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยหลอมรวมความเป็นสังคมได้ คือ เรื่องราว (Storytelling) หรือ ประวัติศาสตร์ชุมชน ที่สมาชิกต่างวัย ต่างประสบการณ์ สามารถมาร่วมกันสร้างขึ้น เรื่องราวเหล่านั้นจะช่วยสร้างสำนึกในถิ่นที่ และเชื่อมร้อยผู้คนเอาไว้ด้วยกัน
นอกจากชุมชนในเชิงพื้นที่แล้ว ประชาชนก็แสวงหา ชุมชนออนไลน์ เพื่อร่วมทำกิจกรรมหรือสร้างสรรค์ผลงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยผู้คนมักจะเลือกเข้าร่วมเป็นสมาชิกชุมชนออนไลน์ตามความสนใจหรืองานอดิเรกของตนเอง เช่น ชุมชนนักเขียน บอร์ดเกม โปรแกรมเมอร์ หรือนักแก้ไขปัญหาเมือง
การรวมตัวของประชาชนเพื่อดำเนินกิจกรรมหรือโครงการในชุมชนทำให้เกิดการพยากรณ์ว่า องค์กร ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเลิกทำงานแบบเดี่ยวๆ แต่จะแสวงหาความร่วมมือจากองค์กรอื่น ใน ‘ระบบนิเวศ’ เดียวกัน โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะยิ่งมีส่วนผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรได้ง่ายมากขึ้น ห้องสมุดในฐานะที่เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้ก็ควรจะมีบทบาทในการร่วมสร้างเสริมความเป็นชุมชนและสังคมด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ คือแนวโน้มเกี่ยวกับข้อมูลสารสนเทศและการจัดการความรู้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และในอนาคตอันใกล้ การทำความเข้าใจแนวโน้มเหล่านี้คือก้าวแรกเท่านั้น ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยถ้าไม่มีก้าวต่อไป นั่นคือการลองนำแนวโน้มเหล่านี้ไปวิเคราะห์ดูว่า แนวคิดไหนที่สอดคล้องกับบริบทการทำงานของห้องสมุดบ้าง และจะวางแผนการทำงานให้สอดคล้องกับทิศทางพฤติกรรมผู้ใช้งานได้อย่างไร
บทความ “IFLA Trend Report 2024: Facing the Future of Information with Confidence” จาก ifla.org (Online)