การส่งเสริมทักษะด้านการเงิน (Financial Literacy) ไม่ได้มีแค่การออมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล การแบ่งปันผู้อื่น รวมทั้งการตัดสินใจทางการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ เรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่จำเป็นต้องรอให้โตเป็นผู้ใหญ่ก็เรียนรู้ได้ นอกจากจัดหาหนังสือหรือคัดสรรคอลเลกชันสำหรับเด็กแล้ว ห้องสมุดยังสามารถจัดกิจกรรมได้อีกหลายอย่าง ที่ทำให้การเงินไม่ใช่เรื่องยากหรือน่าเบื่อสำหรับเด็กๆ อีกต่อไป
สมาคมห้องสมุดอเมริกัน ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมการเงิน (FINRA Foundation) ริเริ่มโครงการส่งเสริมทักษะด้านการเงิน โดยผลิตสื่อนิทรรศการ สื่อออนไลน์ รวมทั้งคู่มือ ซึ่งประกอบด้วยแนวคิด ลิสต์รายชื่อหนังสือ และกรณีศึกษา ห้องสมุดต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทแต่ละแห่งได้ ที่ผ่านมามีตัวอย่างกิจกรรมที่ห้องสมุดหลายแห่งในสหรัฐอเมริกานำไปทดลองจัดดังนี้
นิทรรศการการเงินสัญจร
นิทรรศการสัญจร ‘Thinking Money for Kids’ สำหรับเด็กอายุ 7-11 ปี โดยผูกเรื่องราวเป็นตลาดชุมชน ผสมผสานฐานเกมและกิจกรรมสนุกๆ เช่น สถานการณ์จำลอง เล่านิทาน งานประดิษฐ์ เกมจับคู่สกุลเงิน เกมบิงโก การพับธนบัตรเป็นรูปต่างๆ ฯลฯ ห้องสมุดที่เข้าร่วมโครงการสามารถยืมนิทรรศการขนาด 1,000 ตารางฟุต เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พร้อมรับทุนสนับสนุนการทำกิจกรรม 1,000 ดอลลาร์ ทั้งนี้ ระหว่างปี 2019-2022 นิทรรศการดังกล่าวหมุนเวียนไปติดตั้งในห้องสมุดทั่วสหรัฐอเมริกากว่า 50 แห่ง
สื่ออินเทอร์แอคทีฟ
ช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด นิทรรศการสัญจร ‘Thinking Money for Kids’ ถูกดัดแปลงเป็นสื่ออินเทอร์แอคทีฟ ซึ่งห้องสมุดต่างๆ สามารถนำไปใช้ผ่านช่องทางออนไลน์ เนื้อหาแบ่งออกเป็นเรื่องการหารายได้ โดยติดตามเส้นทางชีวิตของตัวละครว่าพวกเขาสนใจอะไรในวัยเด็ก และต่อยอดมันไปสู่โอกาสทางอาชีพที่ประสบความสำเร็จได้อย่างไร เรียนรู้เรื่องการใช้จ่ายเงินโดยทดลองทำบัญชีรายรับรายจ่าย เรียนรู้เรื่องการลงทุนและหารายได้ด้วยสถานการณ์จำลองที่มีเงินตั้งต้น 500 ดอลลาร์ รวมทั้ง เรียนรู้เรื่องการซื้อขายและการเจรจาต่อรองจากตัวอย่างของตลาดเกษตรกร
บทบาทสมมติเกี่ยวกับร้านค้าหรือธนาคาร
ห้องสมุดหลายแห่งจัดกิจกรรมให้เด็กเล่นสมมุติการไปธนาคารเพื่อเปิดบัญชีออมทรัพย์หรือกู้เงิน หรืออาจเล่นจำลองสถานการณ์ในร้านค้า เพื่อให้เด็กลองตัดสินใจว่าเมื่อซื้อของแล้วจะชำระเงินด้วยเงินสด บัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือ E-banking กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้เด็กเรียนรู้เรื่องการทำธุรกรรมทางการเงิน ค่าธรรมเนียม และอัตราดอกเบี้ย ผู้ใหญ่ยังสามารถชวนคุยเรื่องการใช้จ่ายเงินอย่างมีเหตุผล เช่นตั้งคำถามว่า จำเป็นต้องกู้เงินหรือไม่ และหากจำเป็นจะทำอย่างไรให้สามารถคืนเงินได้ตรงเวลา
อ่านหนังสือการเงิน เก็บแต้มแลกรางวัล
แทนที่ห้องสมุดจะคัดสรรคอลเลกชันเกี่ยวกับการเงินไว้ แล้วรอให้ผู้บริการมาหยิบอ่านเอง ห้องสมุดเขตฟลอเรนซ์ ในเซาท์แคโรไลนา จัดกิจกรรมที่มีชื่อว่า Dewey Dollars จูงใจให้เด็กๆ อยากอ่านหนังสือการเงิน โดยจัดทำแบบฟอร์มสั้นๆ ให้ตอบคำถาม เด็กๆ สามารถสะสมแต้มแล้วนำมาแลกของรางวัล กติกาที่สร้างขึ้นช่วยทำให้การเข้าห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือเป็นเรื่องสนุกและท้าทาย
มหกรรมตลาดหางาน
งานแฟร์เปิดโลกอาชีพ เชิญวิทยากรจากวิชาชีพต่างๆ มาพูดคุยให้แรงบันดาลใจและบอกเล่าชีวิตการทำงาน บรรณารักษ์อาจสร้างสถานการณ์จำลองให้เด็กๆ สัมผัสบรรยากาศการทำงาน หรือกระตุ้นให้ลองเปลี่ยนงานอดิเรกให้เป็นอาชีพ เพื่อเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการเงิน ต้นทุน และกำไร จะเป็นเรื่องที่ดีมากหากห้องสมุดนำเสนอเรื่องอาชีพโดยก้าวข้ามกรอบความคิดแบบเหมารวม เช่น งานเย็บปักถักร้อยเป็นเรื่องของผู้หญิง งานด้านวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของผู้ชาย หรือแรงงานต่างถิ่นเหมาะกับงานทักษะต่ำ
ค่ายเยาวชนสำหรับเด็กในครอบครัวผู้ลี้ภัย
หอสมุดกลางโรเชสเตอร์ ในนิวยอร์กจัดค่าย Finlit for Refugee Families สนับสนุนทักษะด้านการเงินแก่เด็กๆ ในครอบครัวผู้ลี้ภัย ซึ่งส่วนใหญ่มีข้อจำกัดด้านการใช้ภาษาอังกฤษ กิจกรรมใน 1 วัน ประกอบด้วยเกม วงสนทนา และกิจกรรมสนุกๆ เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการออม และมีกิจกรรมบทบาทสมมุติการไปธนาคารซึ่งเด็กๆ ได้ฝึกสื่อสารภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ปกครอง
ทำของขวัญแสนประหยัด
กิจกรรมจุดประกายให้เด็กๆ ริเริ่มการทำของขวัญแบบเฮนเมด ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากแต่มีความหมายและน่าประทับใจ โดยไม่จำกัดเพียงเทศกาลหรือโอกาสพิเศษ แต่เป็นเรื่องการแบ่งปันสิ่งที่ตนมีและความรู้สึกดีๆ ให้ผู้อื่น ห้องสมุดอาจจะพาสำรวจความหมายของของขวัญและการให้ในวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก หรือชวนเด็กๆ ระดมสมองสร้างสรรค์ของขวัญตามโจทย์ต่างๆ
การวางแผนมื้ออาหารตามงบประมาณ
ห้องสมุดสามารถจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโภชนาการ ไปพร้อมกับสร้างทักษะด้านการเงิน อาจให้เด็กๆ และครอบครัวลองวางแผนมื้ออาหาร ว่าจะประกอบด้วยเมนูอะไรและใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง แล้วพาไปทัศนศึกษาในร้านขายของชำในท้องถิ่น เพื่อทดลองจับจ่ายเงินอย่างคุ้มค่า ตามกรอบวงเงินที่กำหนดไว้
ทั้งนี้สมาคมห้องสมุดอเมริกัน มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจประการหนึ่งว่ากิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมาจะเกิดผลลัพธ์สูงสุดกับผู้เรียน ควรคำนึงถึงธรรมชาติหรือสไตล์การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน กล่าวคือ เด็กที่ถนัดเรียนรู้ด้วยการมองเห็น เหมาะสำหรับกิจกรรมวาดภาพ ระบายสี หรือทำแอนิเมชัน บอกเล่าแนวคิดด้านการใช้จ่ายเงินของตัวเอง สำหรับเด็กที่ถนัดเรียนรู้ด้วยการฟัง เหมาะกับกิจกรรมเข้าจังหวะ ร้องเพลง หรือใช้สื่อประเภทวิดีโอ ส่วนเด็กที่ถนัดเรียนรู้ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกาย ควรส่งเสริมให้ลงมือประดิษฐ์หรือเล่น อาจให้ทำกระปุกออมสินของตัวเองสำหรับแบ่งสรรการใช้เงินประเภทต่างๆ และเด็กที่ถนัดเรียนรู้ด้วยการอ่านและเขียน อาจแนะนำให้พวกเขาทำบันทึกการใช้จ่ายสิ่งที่ต้องการซื้อ
ที่มา
บทความ “Thinking Money for Kids” จาก piscatawaylibrary.org (Online)
บทความ “Thinking Money for Kids” จาก ala.org (Online)
บทความ “Thinking Money for Kids” จาก tm4k.ala.org (Online)