ตื่นตั้งแต่ตีสามตีสี่มาจัดการข้อมูลเอกสารประกันตัวเหยื่ออำนาจของ คสช. วิ่งไปศาล ไปค่ายทหาร ไปโรงพักเพื่อทำหน้าที่ ‘นายประกัน’ ป้องกันไม่ให้ใครต้องถูกขังในเรือนจำ หอบหิ้วต้นฉบับไปนั่งตรวจที่ศาล พิมพ์เรื่องราวของผู้ถูกกดขี่ในสังคมภายใต้สำนักพิมพ์ของตัวเอง และนำรายได้บางส่วนมาทำงานการเมือง ฯลฯ
เหล่านี้คือสิ่งที่เราได้รับรู้จากการสนทนากับ ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ ‘อ่าน’ ที่มีอีกบทบาทหนึ่งคือการเป็น ‘นายประกัน’ ตั้งแต่หลังรัฐประหาร ทั้งยังดูแลจัดการกองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งตอนนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิสิทธิอิสรา
“เราอยู่ในภาวะสองขาที่เลือกไม่ได้มาตลอด” คือประโยคที่เธอพูดบ่อยๆ ในบทสนทนาครั้งนี้
ภาวะสองขาที่ว่าคือการเลือกไม่ได้ระหว่าง ‘การทำงานหนังสือ’ และ ‘การทำงานเอ็นจีโอเพื่อสังคม’ ไอดาเล่าว่า เหมือนชีวิตของเธอต้องคำสาปให้ตัวตนและการงานวนเวียนอยู่กับสองสิ่งนี้อย่างแยกไม่ขาดมาตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งภาวะการไม่เลือกสักอย่างนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมัน
แต่ถึงอย่างนั้น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้หญิงคนนี้ได้ใช้ความรู้ความสามารถและทักษะบรรณาธิการสร้างสรรค์ตีพิมพ์วารสาร งานเขียน และหนังสือที่มีคุณค่าต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยออกมาจำนวนไม่น้อย ทั้งยังใช้สำนักพิมพ์เป็นเครื่องมือถ่ายทอดเสียงของกลุ่มคนที่ถูกปิดกั้น ถูกบังคับให้เงียบหาย เพื่อทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่ต่อในน้ำหมึกและบนหน้ากระดาษ ในวันที่เจ้าตัวอาจไม่อยู่บนผืนแผ่นดินนี้แล้วก็ตาม
คุณทำงานเป็นบรรณาธิการครั้งแรกเมื่อไร
ตอนเข้ามหาวิทยาลัยแล้วต้องเลือกกิจกรรม ด้วยพื้นฐานเราเป็นคนสนใจภาษากับหนังสือมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว พอเห็นชมรมวรรณศิลป์ จุฬาฯ หาคนทำตำแหน่งบรรณาธิการของสาราณียกร ก็เลยลองไปทำ นับว่าเป็นครั้งแรกเพราะไม่เคยทำหนังสือมาก่อน แต่เราไม่ได้ตั้งใจถึงขนาดว่าอยากเป็นคนทำหนังสือ แค่อยากเขียนและแปล แต่หลังจากทำตำแหน่งนี้ ก็กลายเป็นอยู่กับการทำหนังสือมาตลอดเลย น่าจะเป็นการตกกระไดพลอยโจน มันทำมาได้แล้วก็เลยทำต่อไป
เอาเข้าจริงเราสลับการทำงานระหว่างเอ็นจีโอกับการทำหนังสือ งานเอ็นจีโอที่ว่าคืองานที่ต้องไปอยู่ในชุมชน เรียกร้องสิทธิชุมชน งานประท้วง เพราะเป็นสิ่งที่เราสนใจตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว เราคิดว่าเราถูกคำสาปนี้มาตั้งแต่ตอนนั้น (หัวเราะ) เพราะตอนที่ทำงานอยู่ชมรมวรรณศิลป์ ขาข้างหนึ่งเราอยู่ในชมรม แต่ขาอีกข้างเราอยู่สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยที่ทำงานเคลื่อนไหวทางการเมือง
สมัยนั้น ครม. เพิ่งอนุมัติให้ทำเขื่อนปากมูล ชาวบ้านมาประท้วง เราก็ไปอยู่กับชาวบ้านในที่ชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล และปิดต้นฉบับจุลสารไปด้วย สภาพเหมือนทุกวันนี้เลย เป็นภาวะสองขาที่เลือกไม่ได้ตลอดมา
สิ่งใดที่ทำให้คุณสนใจการเมือง สังคม และทำงานเอ็นจีโอ
เราคิดว่าเพราะหนังสือ เพราะตอนเด็กๆ มันไม่มีอย่างอื่นให้ทำ ครอบครัวก็ไม่ได้มีฐานะมาก ไม่ค่อยได้ไปเที่ยว เลยอ่านแต่หนังสือ เหมือนเราเห็นโลก เห็นชีวิตผู้คนจากหนังสือ ทีนี้หนังสือที่เราอ่านเป็นหนังสือแปล อย่าง โอลิเวอร์ ทวิสต์ (Oliver Twist) ที่เป็นเรื่องเด็กยากจนเร่ร่อน อ่านแล้วก็คิดว่าโตขึ้นฉันจะไปช่วยเขา เนื่องจากการอ่านหนังสือคือการที่เราไม่ได้เห็นแค่ข่าวว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เหมือนเราไปนั่งในใจเขา เพราะผู้เขียนจะเล่าความรู้สึกนึกคิดผ่านสายตาของตัวละคร เราก็เกิดความรู้สึกเห็นใจ เข้าใจ สงสาร ทุกข์ยากกับเขาไปเสียหมด
ตั้งแต่เด็กเลยคิดอยู่สองอย่างว่า หนึ่ง จะเป็นนักเขียนนักแปล สอง จะเปลี่ยนแปลงโลก มันเลยเป็นคำสาป และด้วยความที่ตอนเด็กๆ ได้ฟังเรื่องเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ค่อนข้างเยอะ จึงตั้งใจว่าจะเข้าธรรมศาสตร์ เพื่อไปแก้ปัญหาสังคม ขนาดที่คิดว่าฉันจะต้องไปเรียนคณะสังคมสงเคราะห์ เพราะนึกว่าสังคมสงเคราะห์คือการแก้ปัญหาสังคม (หัวเราะ) มันเลยเป็นความรู้สึกที่เลือกไม่ได้ว่าเราจะทำทั้งสองอย่างนี้ อันหนึ่งเป็นสิ่งที่เรารักโดยความถนัด โดยทักษะ แต่อีกอันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นพันธกิจของชีวิต เป็นสิ่งที่คิดตั้งแต่เด็กว่าเราควรทำ
แล้วมาก่อตั้งสำนักพิมพ์ ‘อ่าน’ ได้อย่างไร
หลังเรียนจบเราไปทำงานเป็นกองบรรณาธิการ รับงานแปล ฟรีแลนซ์ สลับกับงานอื่นๆ ที่สนใจอย่างบรรณารักษ์ ครูบนดอย ทำงานเรื่องเด็กเร่ร่อน เพราะตั้งใจว่าจะไม่เข้าไปอยู่ในระบบ ทั้งในระบบราชการหรือบริษัทเอกชน ช่วงปีแรกจึงเป็นปีที่ผจญภัยมาก จนกระทั่งวันหนึ่ง คุณฐิติมา คุณติรานนท์ ที่เป็น บ.ก.สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ชวนไปทำงานเป็นผู้ช่วย บ.ก. เรียกว่ามาทำอะไรที่เป็น professional ขึ้นจริงๆ ก็ตอนนั้น
ทำงานไปได้ปีครึ่ง ด้วยความที่อายุ 23-24 ก็อยากเป็นตัวของตัวเอง เลยลาออกมาแปลหนังสืออย่างเดียว ไม่อยากทำงาน บ.ก. แก้งานคนอื่นแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำมากสักเท่าไร ต้องกลับไปเข้าระบบอีกเพราะ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ชวนไปทำพจนานุกรมมติชน แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนไปทำงานเอ็นจีโอในองค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องโครงการพัฒนาด้านพลังงานกับสิทธิชุมชนอยู่ 10 ปี จนร่างกายเราไม่ไหว ต้องกลับมาสู่สิ่งเดียวที่อยู่กับบ้านแล้วยังทำได้ นั่นคืองานหนังสือ เราเลยเริ่มทำ อ่าน มาตั้งแต่ตอนนั้นซึ่งเป็นช่วงหลังรัฐประหารปี 2549
การเป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ที่ตัวเองก่อตั้ง แตกต่างจากตอนไปทำให้คนอื่นอย่างไร
การตัดสินใจเป็นเรื่องที่เหนื่อยที่สุด เพราะเราต้องรับผิดชอบการตัดสินใจทุกอย่าง ไม่มีใครมาตัดสินใจแทนเราได้ว่าอันนี้เอาหรือไม่เอา ตรงนี้เอาแค่ไหน จะแก้ยังไง เวลาอีดิตต้องชั่งใจตลอดเวลาว่าจะอนุโลมความผิดประหลาดนี้เพราะมันเป็นตัวตนเขาหรือเขาทำผิดเอง กว่าวารสาร อ่าน จะออกสักเล่มหนึ่งนี่เหนื่อยมาก เพราะถ้าเป็นหนังสือเล่มที่มีผู้เขียนหนึ่งคน เราดีลกับคนเดียว มือเดียว สไตล์เดียว แต่พอเป็นวารสารที่มีสิบกว่ามือ สิบกว่าคาแรกเตอร์ สิบกว่าน้ำเสียง ก็จะเหนื่อยมาก
แต่ถึงแม้จะเหนื่อยเราก็มีความสุขกับมัน รู้สึกสะใจและอิ่มใจ เวลาวารสารออกมาหนึ่งเล่ม เราเต็มที่กับมันมากๆ เพราะ อ่าน ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ที่เอางานของคนอื่นมารวมกัน แต่มีการเมืองในตัวของมัน เราคิดและออกแบบมาหมดแล้วว่าเล่มนี้จะเล่นเรื่องอะไร ผลักดันประเด็นใด บรรดานักเขียนที่ส่งผลงานเข้ามาเลยกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างโลกของเราโดยยินยอมพร้อมใจ
เหตุผลใดที่ทำให้วารสาร อ่าน ที่ทำงานวิจารณ์วรรณกรรม ปรับเปลี่ยนมาสู่งานเขียนแนวการเมือง
เพราะการเมืองมันเป็นแบบนั้น ถ้าตอนนั้นไม่มีม็อบพันธมิตรฯ ไม่มีม็อบเสื้อแดง เราก็คงทำงานวิจารณ์ของเราไปเรื่อยๆ
ตอนที่ทำ อ่าน เรามองวัฒนธรรมการวิจารณ์เป็นเรื่องที่เสมือนอยู่ในสังคมศิวิไลซ์ เราพูดถึงเรื่องวัฒนธรรม ภาษา สิ่งที่เป็นนามธรรม มันไม่ใช่การต่อสู้อันสาธารณ์เฉพาะหน้าในทางการเมือง แต่พอเกิดสถานการณ์เฉพาะหน้าขึ้นก็เลี่ยงไม่ได้ เราจะพูดเรื่องเหล่านี้โดยไม่เกี่ยวกับการเมืองไม่ได้ เพียงแต่เรายังพูดในระดับสายตาและน้ำเสียงแบบเรา ต้องชัดเจนในการตอบรับกับสถานการณ์บ้านเมือง เพราะสิ่งที่เราเลือกเป็นจุดสำคัญของวารสาร อ่าน คือการเลือกว่าจะเป็นวารสารวิจารณ์ล้วนๆ ไม่ใช่วารสารวรรณกรรมแบบที่มีในยุคนั้น
ความน่าสนใจคือ ทำไมเกณฑ์การคัดเลือกเรื่องและนักเขียนของคุณมักเป็นคนกลุ่มน้อย ไม่ใช่นักเขียนหรือนักวิชาการในกระแสหลัก
ปัญหาคือแวดวงวิชาการส่วนใหญ่เป็นโลกของผู้ชาย เราเลยตั้งใจว่าต้องมีคอลัมนิสต์และนักเขียนที่กำหนดคาแรกเตอร์ของอ่าน นอกจากคอลัมนิสต์ที่เป็นปัญญาชนผู้หญิงแล้ว เราก็มี นักเขียนผู้หญิงที่วิจารณ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไปจนถึงคุณศรีดาวเรือง ซึ่งเป็นนักเขียนจบ ป.4 ที่เรารู้สึกว่าเขาเป็นคนเรียนน้อยแต่อ่านเยอะ พอเขียนเรื่องที่เขาอ่านมันจะปลอดการปนเปื้อนจากชุดคำใหญ่ๆ มีเสน่ห์ มีท่วงทำนองที่ต่างไปจากคนที่มาจากโลกปัญญาชน
เราต้องการให้คนอ่านได้เห็นหลายเลเยอร์ หลากสีสันในพื้นที่เดียวกัน งานของนักวิชาการและงานของชาวบ้านต้องอยู่ในโลกใบเดียวกันได้ โดยผ่านการคัดมาแล้วว่านี่คือคุณภาพที่ดีในแต่ละแนวทาง
งานวรรณกรรมแนวบันทึกที่ อ่าน ตีพิมพ์ออกมา สำคัญต่อสังคมไทยอย่างไร
อย่างน้อยจะได้มีเสียงที่เราเก็บไว้ ไม่ได้หายไป ให้ผู้เขียนรู้ว่ามันมีตัวตน เราคิดว่ามันสำคัญมากกับการที่คนเขียนได้เขียนออกมา สำหรับเราส่วนนี้มักเป็นประเด็นแรกที่สำคัญก่อนสังคม เพราะเรารู้ว่าการเขียนออกมามันช่วยผู้เขียนได้ ทีนี้พอเขียนออกมาแล้วจะทำให้มันไปอยู่ในสิ่งที่สังคมสนใจได้ยังไงคือหน้าที่ของเรา แต่เพื่อตัวเขา เขาต้องเขียนออกมาก่อน สุดท้ายแล้วเราว่าสังคมคงได้อะไรอยู่บ้างแหละ แต่ว่าเขาต้องได้ก่อนไง เพราะเขาคือส่วนหนึ่งของสังคม เขาคือภาพแทนของสังคม
เราคิดว่าการเขียนช่วยให้เขาได้เยียวยา ตอนที่ทำหนังสือ มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ (ภรณ์ทิพย์ มั่นคง) มันคือประเด็นนี้เลย ทำใจเต็มที่ว่าเล่มนี้น่าจะขาดทุน แต่คิดว่าไม่เป็นไรหรอก ให้เขาได้เขียนออกมา เรารับปากเขาไว้ว่าเราจะทำ ขายไม่ได้ก็ช่างมัน ปรากฏว่ามันขายได้ และขายดีด้วย
การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยแอนะล็อกไปสู่ดิจิทัล ส่งผลกับวงการหนังสืออย่างไร พฤติกรรมคนอ่านเปลี่ยนไปไหม
ยุคสมัยกระทบต่อวงการหนังสือแน่ๆ แต่ในแง่ยอดขายเรารู้สึกว่าหนังสือในแบบที่เราทำมันขายได้ ไม่ว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปยังไง เพราะมีความเฉพาะของมัน และด้วยความที่เราไม่ได้ตั้งต้นจากการทำงานตอบสนองตลาดแต่แรก เพราะฉะนั้นตลาดเป็นยังไง มันก็ไม่เกี่ยว เรายืนอยู่ที่เดิม ถ้าคนสนใจเขาก็เข้ามาอยู่ดี ยิ่งเด็กสมัยนี้ที่อยู่กับโซเชียลมีเดีย เวลาเขาสนใจหนังสือเล่มไหนก็เข้าถึงได้เลย แต่ส่วนที่มีความรู้สึกกระทบแน่ๆ จะเป็นในแง่การเสพรับของคน ทั้งในแง่สุนทรียรสหรือแง่ใดก็ตาม เอาง่ายๆ คือเรื่องภาษา เพราะเดี๋ยวนี้มีนิยายแชตหรือเขาอ่านด้วยการฟังกันเยอะ ซึ่งบางทีเราตามไม่ทัน และไม่ได้มองว่าผิดเลย มันน่าสนใจ เพียงแต่เราไม่มีเวลาไปไล่ตามเท่านั้นเอง
ถ้าให้เขียนนิยายขึ้นมาสักเรื่อง สุดท้ายเราก็ต้องไปนั่งเขียนหนังสือแล้วตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มอยู่ดี ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะเข้าถึงคนที่อ่านนิยายแชตหรืออ่านหนังสือด้วยการฟังได้ไหม แต่ก็พยายามคิดว่าไม่เป็นไร เพราะตราบใดที่มีอะไรดึงดูดความสนใจคนได้ เขาก็ยังเดินกลับมาหามันอยู่ดีแหละ การมีโลกแบบใหม่ๆ ไม่ได้แปลว่าโลกเก่าจะหมดอายุเสมอไป มันก็ยังอยู่ตรงนั้นของมันได้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่สนใจ แค่จากเดิมมันอาจเคยเป็นทางหลัก แต่ตอนนี้ก็เจียมตัวลงหน่อย เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับเขา ซึ่งก็โอเค
อาชีพบรรณาธิการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ไหม
พูดยาก เพราะเดี๋ยวนี้เขาก็ผลิตงานโดยไม่ต้องมี บ.ก. แต่เราคิดว่างานที่ผลิตโดยไม่มี บ.ก. มันแมตช์กับแพลตฟอร์มที่เขาใช้ บางทีงานที่ใช้ความเร็ว ความลำลอง อ่านแล้วทิ้งไป อยู่ในโลกออนไลน์ที่หายไปได้ มันไม่ได้ต้องอยู่เป็นประวัติศาสตร์ให้คนมาไล่ตามฟ้องหรือเอามาเรียน ใช้อ้างอิงนอกเวลา เพราะฉะนั้นมันไม่จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกร้องเยอะแยะมากก็ได้มั้ง เราคิดว่ามันคือโลกของการทดลอง ปล่อยฟรี ทุกวันนี้ทุกคนทำคลิป TikTok ได้ตลอดเวลา มันก็อยู่ในพื้นที่นั้น เราไม่รู้สึกว่าต้องตามไปไล่บอกเขาให้สะกดคำให้ถูก ทำให้ดีสิ ถ้าไปทำอย่างนั้นคงตลกมากเลย เพราะในโลกนั้นมันสะกดไม่ต้องถูกก็ได้ เราไม่จำเป็นต้องเอาไม้บรรทัดไปไล่ตีเขา
แต่เมื่อพิมพ์เป็นหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ มันจะถูกบังคับโดยปริยายด้วยระบบและการลงทะเบียนจากหอสมุดแห่งชาติว่าต้องมี ISBN และถ้าคุณทำไม่เรียบร้อย ก็ควรต้องโดนด่าจริงๆ ว่า บ.ก. ไม่ทำงานเหรอ คล้ายๆ ว่าถ้าเราเลือกอยู่ในภาษาของโลกระบบนี้ เราก็ต้องไปตามระบบนี้ แต่ถ้าอยู่ข้างนอกเราก็ไม่จำเป็นต้องไล่ตามเขา ปล่อยเขาไป ไม่ต้องไปคุมเขา อีกอย่างเราคงไม่มีปัญญาไปอีดิตงานเด็กรุ่นใหม่ด้วย อาจไปทำลายด้วยการเอาอะไรไปครอบเขาแทนด้วยซ้ำ
ทำงานตรงนี้มานาน คิดว่าทักษะและคุณลักษณะใดที่สำคัญต่อการเป็นบรรณาธิการ
ต้องเป็นคนละเอียดและจับผิด แต่ขณะเดียวกันต้องเป็นคนใจกว้างด้วย เส้นแบ่งตรงนี้เหมือนเราต้องทำมาถึงจุดหนึ่งแล้วจะรู้ เราไม่ใช่เจ้าของงานเขียน เขาคือเจ้าของงานเขียน เราต้องไม่ข้ามเส้นนั้น แต่เราต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่อยู่ตรงกลางที่เรารู้สึกว่าจะทำให้งานเขาดีขึ้นได้ หรือปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่เขาผิดพลาด เราต้องละเอียดมากพอถึงจะเห็นตรงนั้น แต่ความละเอียดนั้นเราต้องไม่ใช่ครูภาษาไทยในแง่ที่จะมาหมกมุ่นว่าสรรพนามของถนนต้องเป็นเส้นหรือสาย ครูภาษาไทยอาจบอกว่าต้องเป็นสาย แต่เรารู้สึกว่าถ้า นักเขียนพูดในฐานะของเส้นทาง คนใช้กัน แพร่หลายแล้ว เราจะอนุโลมให้เป็นเส้นก็ได้
แต่ถ้าคุณซีเรียสกับภาษาจริงๆ จะจับผิดจริงๆ คุณจะพบว่าคุณเอากติกาไปครอบไม่ได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นตรงนี้คือสิ่งที่ บ.ก. ต้องเห็น บ.ก. จะไม่มานั่งบอกว่าอันนี้ใช่หรือไม่ใช่อย่างเดียว ยกตัวอย่าง เราจะมีความต่างในเลเยอร์ว่าถนนเส้นที่ไปเชียงใหม่ อันนี้ได้ ส่วนสายจะใช้กับตัดถนนสามสาย แต่ถ้าถามว่าสิ่งนี้อยู่ในตำราไหม มันไม่อยู่หรอก หรือกระทั่งเราเรียนมาตั้งแต่เด็กว่าปากกาเป็นด้าม ดินสอเป็นแท่ง แต่เราค่อนข้างแน่ใจว่าปากกาสมัยนี้เป็นหมึกแห้ง มันเป็นแท่งได้ แต่ถ้าเป็นปากกาหมึกซึม ปากกาขนนก ปากกาคอแร้งแบบสมัยก่อนถึงจะเป็นด้าม ทุกวันนี้พอจะแก้ลักษณะนามของปากกา เรากลับคิดว่ามันเป็นแท่งก็ได้ เพราะแท่งเหมือนดินสอเลย
เรารู้สึกว่าการเป็น บ.ก. คือการเห็นชีวิตของภาษา ดูให้ละเอียดว่าเห็นจริงๆ แล้วอนุโลมมัน
สุดท้ายบทเรียนจากประสบการณ์บรรณาธิการที่คุณอยากแบ่งปันให้คนที่สนใจสายงานนี้คืออะไร
ถ้าเขารักงานนี้จริงๆ เขาต้องลงแรงหนัก และอย่ารีบเกิด บางทีเราอ่านงานเขียนบางเล่มแล้วรู้สึกว่ามันอีกนิดนึงนะ ควรจะต้องฝึก ต้องเหนื่อย ต้องลองผิดลองถูกกว่านี้อีกหน่อย พอแพลตฟอร์มออนไลน์มันทำให้คนเกิดง่าย เกิดเร็ว เรารู้สึกว่าถ้ารักในสิ่งที่ทำอยู่จริงๆ ต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง ลงแรงกับมันให้เยอะขึ้น เพราะไม่มีใครมาบอกถูก-ผิดกับคุณได้ ไม่เหมือนเวลาคุณพิมพ์หนังสือกับสำนักพิมพ์ที่จะมีขั้นตอนต่างๆ มาดึงขา สะกิด เตือน หรือตีกรอบเยอะ แต่ในทางเดียวกันมันก็ทำให้เราต้องละเอียด ซีเรียส เราดีใจที่คนรุ่นหลังได้อยู่ในพื้นที่ที่ฟรีนะ แต่ก็ยังรู้สึกว่าความอิสระที่ไม่มีอุปสรรค ไม่มีอะไรให้สะดุด มันไม่ได้ทำให้เราพิสูจน์ตัวเอง
เวลาอ่านประโยคหนึ่งที่เด็กรุ่นใหม่เขียนก็จะรู้สึกว่า เอาอีกทีซิ อันนี้มันใช่หรือเปล่า คุณจะใช้คำที่สร้างอารมณ์แต่เป็นชุดคำที่เฝือเหรอ ลองคิดอีกทีไหม เพราะโลกออนไลน์ทุกอย่างมันเฝือได้หมด อันนี้พูดในฐานะคนที่มีแพสชันต่อเรื่องนี้เหมือนกันว่า สมมติถ้ามีอะไรมาครอบ มาบังคับเราไว้สักหน่อย แม้จะเป็นในพื้นที่ที่เราฟรีแล้ว มันก็น่าจะดี เราแค่อยากให้เขาลองไปผ่านอะไรที่มันต้องถูกครอบ ที่ต้องลำบาก เพื่อให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่ง อย่าไปกลัวกับความเครียด ความกดดัน เพราะอย่างน้อยเราอยู่ในพื้นที่ที่เปิด จะออกจากกรอบนั้นเมื่อไรก็ได้ แต่คิดว่าควรไปผ่านอะไรแบบนั้นมาให้เข้าใจ แล้วเราจะไม่เปราะบางเวลาเจออะไรที่ไม่เป็นดังหวัง