ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ : ผ่าอนาคตธุรกิจหนังสือไทย กับก้าวแรกของงานหนังสือไฮบริด

844 views
10 mins
October 27, 2021

          ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่ซา ความท้าทายของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้รับผิดชอบ ‘งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ’ คือจะจัดงานรูปแบบไหนที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ผลิตและผู้อ่าน

          ในมุมของสำนักพิมพ์ งานสัปดาห์หนังสือฯ ซึ่งปกติจัดขึ้นปีละสองครั้ง ถือเป็นช่วงเวลาที่จะได้กอบโกยกระแสเงินสดแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ช่วยต่อลมหายใจเฮือกใหญ่ให้คนทำหนังสือ โดยเฉพาะรายที่ไม่ได้มีสายป่านยาวนัก 

          ในมุมของนักอ่าน งานสัปดาห์หนังสือฯ คือโชว์รูมขนาดใหญ่ที่มีหนังสือให้เลือกซื้อแบบจุใจ แถมยังมีโอกาสได้พบปะนักเขียนในดวงใจแบบตัวเป็นๆ

          ทว่าในห้วงยามที่ต้องเว้นระยะห่าง ยอดผู้ติดเชื้อยังแตะหลักหมื่นต่อวัน การจัดงานแบบเดิมในศูนย์ประชุมที่มีคนพลุกพล่าน คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก

          นั่นคือที่มาของการจัดงานมหกรรมหนังสือแนวใหม่ ‘Hybrid Book Fair’ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา ภายใต้ธีมแสบๆ คันๆ ที่ว่า ‘อ่านออก เถียงได้’

          รูปแบบคือการขายหนังสือและจัดกิจกรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ควบคู่ไปกับการขายผ่านหน้าร้านหนังสือทั่วประเทศ โดยมีสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เป็นตัวกลาง สนับสนุนช่องทางการขาย ประชาสัมพันธ์ รวมถึงการจัดโปรโมชั่นต่างๆ

          จุดที่น่าสนใจคือ ไอเดียทั้งหมดได้รับการสร้างสรรค์และปรากฏสู่สาธารณะภายในระยะเวลาไม่ถึงสองเดือน ด้วยฝีมือของคณะกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ชุดใหม่ นำโดย ‘ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์’ ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์บุ๊คส์เมคเกอร์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยคนล่าสุด 

          ในฐานะคนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงมาสิบกว่าปี เธอมองว่าธุรกิจหนังสือไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในแง่ตัวเลขยอดขาย ภารกิจที่เธอและทีมงานสมาคมฯ ตั้งใจทำให้ได้ภายในวาระสองปี คือการดึงกราฟให้เชิดหัวขึ้นอีกครั้ง พร้อมวางรากฐานให้ธุรกิจหนังสือไปต่อได้ระยะยาว

          The KOMMON ชวนเธอมาพูดคุยถึงเรื่องราวเบื้องหลังก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ที่มาที่ไปของงานมหกรรมหนังสือฯ รูปแบบใหม่ และวิสัยทัศน์ที่เธอมีต่ออนาคตธุรกิจหนังสือไทย

ทำไมถึงตัดสินใจลงสมัครนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ

          ก่อนหน้านี้เราเคยเป็นกรรมการสมาคมฯ มา 4 ปีค่ะ แล้วก็เว้นไปช่วง 2 ปีล่าสุด ช่วงที่เว้นไป เรามีไอเดียอยู่เรื่อยๆ ว่าถ้ายังทำงานให้สมาคมอยู่ เราอยากทำอะไรบ้าง ประกอบกับช่วงโควิดที่ผ่านมา เราในฐานะที่ทำสำนักพิมพ์เล็กๆ เจอปัญหาค่อนข้างเยอะ เช่นเดียวกับเพื่อนๆ ที่ทำสำนักพิมพ์ด้วยกัน เลยอยากใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ จากที่ทำงานอยู่ในธุรกิจนี้มาเกินสิบปี มาช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้เพื่อนสำนักพิมพ์ให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้ค่ะ

ช่วงก่อนเลือกตั้ง มีนโยบายอะไรบ้างที่ดึงดูดหรือสร้างความไว้วางใจให้เพื่อนสมาชิกเลือกคุณ

          หลักๆ คือใช้ความจริงใจกับความตั้งใจ ด้วยความที่เราเป็นคนทำสำนักพิมพ์เล็กที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก เราจึงไม่สามารถใช้คอนเนคชั่นในการหาเสียงได้เท่าไรนัก เราจึงพยายามขายนโยบายว่าจะทำอะไรเพื่อเพื่อนสมาชิกบ้าง

          ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่จับต้องได้ เรื่องแรกคือการหาวิธีเพิ่มกระแสเงินสดให้เพื่อนสำนักพิมพ์ ซึ่งประสบปัญหากันมากในช่วงโควิด นี่คือเรื่องเร่งด่วนที่สุด เพราะการที่สำนักพิมพ์ โดยเฉพาะสำนักพิมพ์เล็ก จะอยู่รอดได้ เขาต้องมีกระแสเงินสดมาหมุน เราจึงมุ่งไปที่การสนับสนุนการขายออนไลน์ ควบคู่กับการออกบูธในระดับภูมิภาคที่เป็นพื้นที่สีเขียว

          ถ้าสำนักพิมพ์เริ่มมีกระแสเงินสดเข้ามา เริ่มแข็งแรง เขาจะมีต้นทุนที่สามารถนำไปต่อยอดในการผลิตหนังสือใหม่ๆ แต่ปัญหาที่ทุกคนเจอในช่วงที่ผ่านมา คือเงินค่อนข้างฝืด พอเงินฝืดก็ไม่มีทุนสำหรับการผลิตหนังสือใหม่ นี่คือผลกระทบที่ชัดเจนตั้งแต่ศูนย์สิริกิติ์ฯ ปิดปรับปรุงไป

          พอเรามีนโยบายแบบนี้ออกมา เข้าใจว่ามันโดนใจบรรดาสำนักพิมพ์เล็ก ซึ่งมีสัดส่วนถึง 63% ของสมาชิกทั้งหมดกว่า 400 สำนักพิมพ์ ทำให้เราได้โอกาสเข้ามาทำงานตรงนี้อีกครั้ง

สังเกตว่าคุณค่อนข้างให้ความสำคัญกับสำนักพิมพ์เล็ก อยากทราบว่าเป็นเพราะอะไร

          ต้องอธิบายก่อนว่า นิยามของสำนักพิมพ์เล็ก คือสำนักพิมพ์ที่มีรายได้ต่ำกว่า 5 ล้านบาทต่อปี ลักษณะของสำนักพิมพ์ประเภทนี้ จะไม่ได้มีพนักงานเยอะ บางแห่งมีคนทำงานอยู่ไม่กี่คน ทำกันเองแทบทุกอย่าง และใช้ outsource มาช่วยในบางตำแหน่ง

          พอเราต้องทำเองทุกอย่าง เราจะรู้ว่าสำนักพิมพ์เล็กมีปัญหาตรงไหน อย่างเรื่องเงินทุน สำนักพิมพ์ใหญ่ที่มีสายป่านยาวกว่า มีพนักงานเยอะกว่า มีฐานแฟนคลับมากกว่า อาจไม่ได้มีผลกระทบในช่วงโควิดเท่าสำนักพิมพ์เล็ก ยกตัวอย่างช่องทางการขายออนไลน์ สำนักพิมพ์ใหญ่มีช่องทางของตัวเองอยู่แล้ว ทำได้สบายมาก แค่เปลี่ยนจากหน้าร้านมาออนไลน์ แต่สำนักพิมพ์เล็ก จากที่ได้คุยกับหลายเจ้า แม้แต่เว็บไซต์ หรือร้านค้าในช้อปปี้ ก็ไม่มี ทำไม่เป็น เราก็ช่วยประสานกับมาร์เก็ตเพลสต่างๆ ให้มาสอนเพื่อนสมาชิก เพื่อให้เขาเข้าสู่การขายแบบออนไลน์ได้มากขึ้น

แล้วการโฟกัสสำนักพิมพ์เล็กเป็นหลักแบบนี้ มีฟีดแบ็กจากสำนักพิมพ์ใหญ่อย่างไรบ้าง

          เราเน้นสำนักพิมพ์เล็กก็จริง แต่สำนักพิมพ์ใหญ่เราก็ไม่ได้ละเลยเขา เราเข้าไปหาเขา คุยกับเขาเพื่อตอกย้ำว่าเป้าหมายสมาคมฯ ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำให้พวกเราทั้งหมดแข็งแกร่งขึ้น หมายความว่าพี่ใหญ่ก็ต้องช่วยน้องเล็ก ในช่วงนี้เราเน้นสำนักพิมพ์เล็กก็จริง แต่ในระยะยาว หากสำนักพิมพ์เล็กสามารถไปได้ดี สำนักพิมพ์ใหญ่จะได้รับประโยชน์ตามไปด้วย

          เวลาเราจัดอบรมหรือทำกิจกรรมให้สำนักพิมพ์เล็ก จะมีสำนักพิมพ์มาเข้าร่วมหรือแชร์ประสบการณ์ด้วย บทบาทของสำนักพิมพ์ใหญ่ จะเป็นลักษณะของการให้ความช่วยเหลือ หลายสำนักพิมพ์จะบอกเราเสมอว่า ถ้าสมาคมมีอะไรให้ช่วย บอกได้เลย เขาไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าเราโฟกัสสำนักพิมพ์เล็กหรือใหญ่ แต่เขามองภาพรวมว่าพวกเราจะโตไปด้วยกันอย่างไร

ภาวะเกื้อกูลกันแบบนี้ เกิดขึ้นมานานหรือยัง

          ก่อนหน้านี้ ถ้าเป็นช่วงงานหนังสือยุคศูนย์สิริกิติ์ สังเกตว่าบรรดาสำนักพิมพ์ใหญ่จะกระจายกันไปตามโซนต่างๆ เช่น มติชนอยู่โซนพลาซ่า นานมีอยู่โซนแพลนารี ซีเอ็ดอยู่ชั้นบน เนชั่นอยู่ชั้นล่าง จุดประสงค์เพื่อให้นักอ่านเดินไปทั่วงาน นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัด

นอกจากนโยบายหลักที่ชูเรื่องช่องทางการหากระแสเงินสด มีนโยบายอื่นๆ อีกไหมที่ทีมงานของคุณพยายามนำเสนอ

          มีค่ะ อีกเรื่องที่เราเน้นมาก คือการขอความสนับสนุนจากรัฐบาล นี่คือภารกิจที่เราตั้งไว้ว่า ภายในสองปีที่อยู่ในวาระ ต้องทำให้ได้

          ที่ผ่านมา ภาครัฐอาจนึกไม่ออกว่าจะสนับสนุนวงการหนังสือยังไง สิ่งที่เราจะทำขั้นแรกคือเรื่องวิจัย รีเสิร์ชว่าต่างประเทศมีโมเดลแบบไหนที่ประสบความสำเร็จบ้าง แล้วนำมาทำเป็นโรดแมป นำเสนอคณะรัฐมนตรี ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงจัดตั้งทีมวิจัย เป้าหมายก็เพื่อให้ภาครัฐสามารถสนับสนุนพวกเราได้อย่างเป็นรูปธรรม

          ยกตัวอย่างที่เกาหลีใต้ เขามีเมืองพาจู เป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมหนังสือ โดยรัฐสนับสนุน facility ต่างๆ รวมถึงลดค่าเช่า เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ หรือในยุโรป จะมีโมเดลที่รัฐช่วยสนับสนุนสำนักพิมพ์ สมมติว่ามีพิมพ์ปกนี้ออกมา 5,000 เล่ม รัฐบาลจะตัดซื้อทันที 1,000 เล่มทุกปก เพื่อเอาเข้าห้องสมุดของประเทศ เรื่องพื้นฐานแบบนี้จะช่วยให้สำนักพิมพ์มีต้นทุนในการผลิตหนังสือใหม่ต่อไป บางประเทศมีการมอบเงินให้สำนักพิมพ์เพื่อแปลหนังสือต่างประเทศให้นักอ่านได้อ่านกัน หรือขั้นพื้นฐานที่สุด ก็คือการลดหย่อนภาษีเมื่อซื้อหนังสือ เราตั้งใจว่าจะทำเป็นแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวแล้วเสนอเข้าไป

ฟังดูแล้ว บางเรื่องก็ไม่ได้ยากเย็นหรือซับซ้อนเลย

          ใช่ค่ะ ความจริงแล้วนโยบายเกี่ยวกับธุรกิจหนังสือหรือการส่งเสริมการอ่าน ที่ผ่านมามันมีอยู่ในแทบทุกแผนอยู่แล้ว เพียงแต่มันไม่ถูกทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม หรือบางครั้งก็มุ่งไปผิดทาง เช่น ถ้าพูดถึงการอ่านปุ๊บ ก็บริจาคหนังสือเข้าห้องสมุด จบ แต่เราอยากให้มันเป็นเชิงนโยบายที่ใหญ่กว่านั้น

แสดงว่าสุดท้ายแล้ว คุณมองว่าภาครัฐยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันเรื่องการอ่าน รวมถึงการส่งเสริมแวดวงหนังสือ

          ถูกต้องค่ะ ในระยะยาว แวดวงการอ่าน แวดวงหนังสือ จะอยู่ไม่ได้หากภาครัฐไม่สนับสนุน

แล้วในสภาวะปัจจุบัน เริ่มเห็นช่องทางที่จะทำให้ภาครัฐสนับสนุนอย่างที่ตั้งใจไว้ไหม

          เห็นอยู่บ้างค่ะ อย่างเรื่องลดหย่อนภาษี จากที่เราได้เข้าไปคุยกับผู้ใหญ่บางท่าน เขาบอกว่าเรื่องนี้เป็นไอเดียที่ดี และทำได้ง่ายที่สุด ทำไมถึงไม่ทำล่ะ เดี๋ยวจะช่วยผลักดันให้ ตอนนี้อยู่ระหว่างการพูดคุย เบื้องต้นคือเราเห็นสัญญาณที่ดี มีผู้ใหญ่ที่เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีและควรทำ อย่างล่าสุดที่เราจัดงานมหกรรมหนังสือ Hybrid Book Fair ก็มีนักการเมืองหลายท่านที่เห็นคุณค่าของการอ่าน แล้วช่วยเราประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางของตัวเอง

พูดถึงงานมหกรรมหนังสือครั้งล่าสุด เข้าใจว่าเป็นโจทย์ที่ยากพอสมควร ด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่ยังไม่ดีขึ้น รวมถึงกระแสของงานหนังสือที่ไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน อยากทราบว่าตัวคุณเองและทีมงาน วางแผนการจัดงานในครั้งนี้อย่างไร

          อันที่จริง ครั้งนี้สมาคมได้จองพื้นที่จัดงานไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่าช่วงที่เราเข้ามารับตำแหน่ง เป็นช่วงที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อแตะหลักหมื่นต่อวัน เราจึงประชุมกันแล้วตัดสินใจด้วยความรวดเร็วว่าเปลี่ยนแผนดีกว่า เพราะเราไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์แย่ลง ไม่อยากให้เกิดคลัสเตอร์งานหนังสือ ก็เลยปรับมาเป็นรูปแบบออนไลน์ แล้วรีบประกาศให้เพื่อนสมาชิกทราบ เขาจะได้มีเวลาวางแผนกันใหม่

          เรามีเวลาทำทุกอย่างภายในหนึ่งเดือน ถือว่ากระชั้นมาก ช่วงแรกหนักใจเหมือนกัน แต่โชคดีที่ได้ทีมงานที่เก่งมาก แล้วทุกคนช่วยกันเต็มที่ ซึ่งเราก็ค่อนข้างพอใจกับผลลัพธ์ที่ออกมา

เมื่อตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนแผน ไม่จัดแบบเดิมแล้ว แล้วแผนใหม่คืออะไร

          แผนใหม่คือเปลี่ยนรูปแบบเป็นออนไลน์ มีช่องทางหลักคือเว็บไซต์ Thai Book Fair ที่รวบรวมหนังสือจากทุกสำนักพิมพ์และโปรโมชั่นต่างๆ ไว้ นักอ่านสามารถเลือกช้อปหนังสือจากที่นี่ได้เลย อีกส่วนคือร้านหนังสือ ในที่ประชุมยกประเด็นขึ้นมาว่า เราไม่ควรลืมร้านหนังสือนะ เพราะการที่เขาถูกล็อคดาวน์มานาน โดยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแต่ละเดือน มันหนักหนาสำหรับเขามาก ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยต่างประเทศที่บอกว่า ถ้าเทียบผลกระทบที่ร้านหนังสือกับสำนักพิมพ์ต้องเจอในช่วงโควิด ร้านหนังสือถือว่าหนักกว่าเยอะ เพราะสำนักพิมพ์ยังสามารถโยกไปขายแบบออนไลน์เองได้ โดยให้ส่วนลดที่เยอะกว่า ต่างจากร้านหนังสือที่ลดได้อย่างมากแค่ 10%

          เราจึงกลับมามองว่า การจัดงานหนังสือแบบออนไลน์ ช่วยให้สำนักพิมพ์ไปต่อได้ก็จริง แต่ร้านหนังสือจะทำยังไง สุดท้ายจึงตัดสินใจกันว่า ขอจัดร่วมกับร้านหนังสือด้วยดีกว่า ซึ่งร้านหนังสือก็ให้ความร่วมมืออย่างดี ตั้งแต่ร้านเชนสโตร์ 4 ร้านหลัก อย่างซีเอ็ด, บีทูเอส, นายอินทร์ และศูนย์หนังสือจุฬาฯ รวมถึงร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศอีกประมาณ 35 ร้าน ถือเป็นครั้งแรกที่มีร้านหนังสืออิสระมาร่วมจัดงานมหกรรมหนังสือ แต่ละร้านจะมีโปรโมชั่น ส่วนลด ของที่ระลึก และกิจกรรมต่างๆ ให้นักอ่านได้ร่วมสนุกกัน

ร้านหนังสือมีความสำคัญอย่างไรในวงจรธุรกิจหนังสือ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่คนสามารถซื้อแบบออนไลน์ได้

          ร้านหนังสือคือพื้นที่ที่ทำให้เราได้พบความหลากหลาย ทุกวันนี้เวลาเราอยู่ในโลกออนไลน์ สมมติว่าเราสนใจหนังสือฮาวทู หน้าฟีดของเราก็จะมีแต่เรื่องฮาวทูเด้งขึ้นมา มันจะคัดสรรมาแต่เรื่องที่เราชอบ ทำให้เราจมลึกลงไปในเรื่องนั้นๆ โดยไม่ได้สนใจเรื่องอื่นที่กว้างออกไป

          แต่ถ้าเรามีเวลาว่าง แล้วไปเดินร้านหนังสือ เราจะได้เจอหนังสือแนวอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจ หรือไม่เคยรู้ว่ามันมีอยู่ด้วยซ้ำ มันทำให้เห็นความหลากหลาย ได้หยิบจับ ได้เจอหนังสือบางเล่มที่ตกหลุมรักเมื่อเห็นหน้าปก สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการเข้าร้านหนังสือ

          ทุกวันนี้เราซื้อหนังสือแบบออนไลน์ได้ก็จริง แต่ทุกครั้งที่เราได้เข้าร้านหนังสือ หยิบหนังสือมาเปิดอ่าน ได้สัมผัส พลิกหน้าพลิกหลัง นี่คือเสน่ห์ที่ร้านออนไลน์ยังให้ไม่ได้ ยังไม่นับว่าเอกลักษณ์หรือการเลือกหนังสือของแต่ละร้าน โดยเฉพาะร้านหนังสืออิสระ ก็มีความแตกต่างกันไป

          เคยมั้ยคะ เวลาเดินเข้าร้านหนังสือบางร้านแล้วเราถูกจริต ไม่ว่าจะเดินไปเจอเล่มไหน ก็รู้สึกชอบ ถูกใจไปหมด เพราะรสนิยมของเขามันตรงใจเรา หรือถ้าเป็นร้านหนังสือใหญ่ๆ เขาจะมีการจัดอันดับหนังสือขายดีแต่ละหมวดไว้ ลิสต์เหล่านี้เป็นเหมือนไกด์ที่ช่วยแนะนำหนังสือให้เรา เพราะบางทีเราก็นึกไม่ออกว่าอยากอ่านอะไร

สุดท้ายเมื่อตัดสินใจจัดงานแบบไฮบริด ขายแบบออนไลน์ควบคู่กับหน้าร้านหนังสือทั่วไป สิ่งที่คุณและทีมงานคาดหวังจากงานครั้งนี้คืออะไร

          เรื่องแรกที่คาดหวังมากคือบรรยากาศ เราอยากให้เกิดบรรยากาศของการซื้อหนังสือ พูดคุยกันเรื่องหนังสือรือการถกกันว่า เฮ้ย แกอ่านเล่มนี้หรือยัง อ่านแล้วคิดยังไง เราอยากให้บรรยากาศแบบนี้เกิดขึ้น ทั้งในโลกโซเชียลและในสถานที่จริง นี่คือเป้าหมายแรก ถ้าสร้างบรรยากาศให้เกิดขึ้นได้ เราถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ขั้นต่อมา ถ้าได้ยอดขายด้วยก็ยิ่งดี งานนี้เราตั้งเป้ารวมไว้ที่ 200 ล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อยกว่าการจัดงานในรูปแบบปกติ ที่จะตั้งไว้ประมาณ 600 ล้านบาท

นอกจากการขายหนังสือ สังเกตว่ามีการจัดเสวนาออนไลน์ควบคู่กันไปด้วย

          ใช่ค่ะ เราตั้งใจให้เป็นเหมือนเวทีเสวนาในงานหนังสือ เพื่อจะได้ยกงานหนังสือเข้ามาสู่โลกออนไลน์อย่างแท้จริง ซึ่งหัวข้อการพูดคุยแต่ละรายการ เราก็คาดหวังว่ามันจะเป็นกระแสได้ ภายใต้ธีมงาน ‘อ่านออก เถียงได้’

ไอเดียของธีมนี้มีที่มาที่ไปยังไง

          มาจากการที่เราอยากเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งตอนประชุมกัน เรามีชื่อที่ทางครีเอทีฟมาประมาณ 20 ชื่อ พอทุกคนได้ยินชื่อนี้ ทุกคนก็ชอบ รู้สึกว่าถ้าปล่อยคำนี้ออกไป มันน่าจะกลายเป็นแฮชแท็กได้ จุดกระแสบางอย่างได้ และก็มีควาหมายที่ดี คือสื่อว่าเราต้องเริ่มจากการอ่านก่อน เอาความรู้ input เข้ามาเยอะๆ นำมาสังเคราะห์ วิเคราะห์ แล้วก็เอามาถกเถียงกัน แลกเปลี่ยนความคิดกัน สู้กันด้วยความคิด ซึ่งต้องตั้งต้นจากอ่าน การแสวงหาความรู้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการเถียงแบบข้างๆ คูๆ ซึ่งไม่นำไปสู่อะไร

          พอตกลงว่าจะใช้ธีมนี้ เราก็นำมาแทรกในกิจกรรมต่างๆ ของเรา อย่างงานเสวนา มีหลายวงที่ชวนคุยชวนคิดถึงประเด็นต่างๆ ในสังคม มีพาร์ทที่เป็น Rap Talk จากกลุ่มแร็ปเปอร์รุ่นใหม่ที่รักการอ่านเป็นทุนเดิมอยูแล้ว หลายคนชอบอ่านบทกวี ซึ่งมีส่วนมากๆ ในการแต่งเนื้อเพลงของเขา เรามีวงเสวนาที่พูดถึงการศึกษาไทย ว่ามันทำให้เราอ่านออกเขียนได้หรือไม่อย่างไร ส่วนในหน้าแฟนเพจ Thai Book Fair จะมีการดึง topic จากหนังสือเล่มต่างๆ มาชวนคุยเป็นระยะ ต่อยอดให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน ทำให้เราอยากอ่านหนังสือเล่มนั้นๆ มากขึ้น

          โดยส่วนตัว เวลาอ่านอะไรก็ตาม เราอยากแชร์ให้คนอื่นรู้ อาจเป็นแค่บางประโยคหรือบางหน้า ที่มันกระทบใจเรา เราก็จะถ่ายรูปแล้วโพสต์ลงโซเชียล คิดว่าหลายคนก็คงเป็นเหมือนกัน ยิ่งถ้าเป็นนิยาย ยิ่งสนุกเลย จะต้องหาเพื่อนที่อ่านด้วยกัน แล้วมาคุยกันว่าเป็นยังไง ทำไมตรงนี้เขียนดีเหลือเกิน หรือพล็อตตรงไหนยังปิดไม่หมด

ในอนาคต การจัดงานหนังสือจะเป็นแบบไฮบริดต่อไปไหม หรือจะเป็นในรูปแบบไหน

          ยังไงก็ตาม งานแบบ on ground ยังต้องมีอยูค่ะ แม้จะต้องปรับรูปแบบให้มีการเว้นระยะห่าง กำหนดจำนวนคน หรืออะไรก็ตาม โดยส่วนตัวยังมองว่าเสน่ห์ของการเดินงานหนังสือ มันยังไม่สามารถทดแทนได้ด้วยสื่ออื่น

          ก่อนหน้านี้เราเคยทำรีเสิร์ชว่าคนมาเดินงานเพราะอะไร อันดับหนึ่งตอบว่าอยากมาดูความหลากหลายของหนังสือ อันดับสองมาเพื่อรวบรวมและซื้อหนังสือใหม่ จุดแข็งของงานหนังสือแบบเดิม คือมันเป็นที่ที่หนังสือทุกประเภทมารวมอยู่ในที่เดียวกัน คนที่มีความสนใจหลากหลายจึงมารวมกันอยู่ที่นี่ เป็นสาเหตุที่ทำให้งานหนังสือเป็นอีเวนต์ที่มีจำนวนคนเข้าร่วมมากที่สุด ยังไม่มีอีเวนต์ไหนมาโค่นล้มได้ หมายความว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างที่ดึงดูดคนเข้ามา

          เราจึงมั่นใจว่าถึงที่สุด งาน on ground แบบเดิมยังต้องมี แต่ถัดจากนี้ไป สิ่งที่จะเพิ่มเข้ามาด้วยก็คือการขายแบบออนไลน์ รวมถึงการดึงร้านหนังสือต่างๆ เข้ามาร่วมด้วย อย่างที่เราทดลองทำในครั้งนี้

วิกฤตโควิดที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างมหาศาล เช่นเดียวกับธุรกิจหนังสือ อยากทราบว่าคุณประเมินอนาคตของธุรกิจหนังสือไทยถัดจากนี้อย่างไร

          จากที่ได้ติดตามเทรนด์ของต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา เราพบว่าโควิดทำให้ตลาดหนังสือโลกเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะในตลาดหนังสือเล่ม นี่คือกระแสที่น่าจับตา โดยปกติแล้วเมื่อเกิดเทรนด์ต่างๆ ขึ้นมา ประเทศไทยจะตามหลังประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ประมาณ 5 ปี พูดง่ายๆ คือเขาจะนำไปก่อน แล้วเราค่อยตามไป

          เมื่อเห็นกระแสแบบนี้ เราก็มีกำลังใจมากขึ้นว่าอีกสักพัก ตลาดหนังสือเมืองไทยน่าจะเติบโตตามเขาไปได้ แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน อันดับหนึ่งคือการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างที่บอกไป อันดับต่อมาคือตัวเราเอง บรรดาสำนักพิมพ์ จะต้องคัดเลือกและนำเสนอคอนเทนต์ที่มีน่าสนใจและมีคุณภาพมากขึ้น สุดท้ายคือสื่อมวลชนที่สามารถช่วยชี้เป้าหรือหยิบยกหนังสือที่น่าสนใจมานำเสนอให้คนในวงกว้างได้รับรู้ หนังสือดีๆ บางเล่ม คนไม่รับรู้ว่ามีอยู่ หรือรับรู้ในวงจำกัด ซึ่งน่าเสียดาย ส่วนตัวเชื่อว่าถ้าคนรู้ว่ามีหนังสือเล่มนี้อยู่ แล้วมันน่าสนใจยังไง เขาจะอยากหามาอ่าน ถ้าสามส่วนนี้ขับเคลื่อนไปด้วยกัน ตลาดหนังสือนอกจากจะไม่ตายแล้ว จะสามารถเติบโตได้แน่นอน

          ยิ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมา สังเกตว่ากลุ่มวัยรุ่นอ่านหนังสือกันเยอะและหลากหลายมาก หลากหลายจนเราเองยังตกใจ นี่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าดีใจ และเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้แวดวงหนังสือ แวดวงการอ่าน เติบโตคึกคักขึ้นต่อไป

แสดงว่าในภาพรวม วงการหนังสือถือว่ายังมีความหวัง

          มีความหวังค่ะ ช่วงโควิดที่ผ่านมา เป็นโอกาสที่หลายสำนักพิมพ์ได้แจ้งเกิดและเติบโต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขายแบบออนไลน์ที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการขายแบบเดิมๆ จากแต่ก่อนที่ร้านหนังสือจะมี Shelf life ของมัน ได้วางอยู่บนชั้น 3 เดือน 6 เดือน ก็ถูกเก็บลงไป แทนที่ด้วยหนังสือใหม่

          แต่หนังสือที่อยู่ในโลกออนไลน์ มันยังขายได้ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ไม่จำเป็นต้องลดราคาด้วยซ้ำ เพราะมันมีคนใหม่ๆ ที่เข้ามาเห็นตลอดเวลา อย่างที่บอกว่า ถ้าคนเห็น ถ้าคนรับรู้ ยังไงเขาก็ซื้อ นี่คือโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และทำให้สำนักพิมพ์หลายแห่งเติบโตในช่วงที่ผ่านมา บางแห่งสามารถอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องวางขายหน้าร้านเลย

          ในมุมกลับกัน เราจึงเป็นห่วงการขายแบบหน้าร้านเหมือนกัน ว่าจะทำอยางไรให้เขาอยู่ได้ เรายังต้องรักษาเขาไว้ในฐานะ supply chain ที่ขับเคลื่อนธุรกิจนี้ไปด้วยกัน

แล้วในมุมของสำนักพิมพ์ มีอะไรที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอีกไหม นอกจากเรื่องช่องทางการขาย

          ถ้าเป็นเมื่อสัก 10 ปีก่อน จำนวนปกที่พิมพ์ออกมาคือหัวใจสำคัญที่ทำให้สำนักพิมพ์อยู่ได้ หลายสำนักพิมพ์จึงตั้งเป้าว่าจะออกเดือนละ 5 เล่ม 10 เล่ม แต่ในปัจจุบัน สิ่งที่เห็นคือคนอ่านมีความละเอียดในการเลือกคอนเทนต์เยอะขึ้น ไม่ใช่ว่าพิมพ์อะไรออกมาก็ขายได้ ต้องคัดเลือกเนื้อหาให้ดี เช่นเดียวกับคุณภาพในการจัดทำต้นฉบับ โดยเฉพาะหนังสือแปล สมัยนี้ยิ่งต้องละเอียดรอบคอบ เพราะคนอ่านตรวจสอบได้ เข้าถึงข้อมูลได้เท่าเทียมกับเรา แล้วถ้าเขาเจอจุดผิดพลาด เขาจะโพสต์กระจ่ายข่าวลงโซเชียลทันที จุดนี้ต้องระวังเหมือนกัน

หากประเมินจากสภาวะปัจจุบัน คุณมองว่าตอนนี้ธุรกิจหนังสือไทยอยู่ในจุดไหน

          ถ้าวัดจากรายได้ ตอนนี้เราอยู่ในจุดต่ำสุดในรอบ 10 ปีค่ะ สิ่งที่เราพยายามทำตอนนี้ คือการทำทุกอย่างเพื่อให้มันหักหัวขึ้นให้ได้ อย่างที่หลายคนอาจทราบกันดีว่า ธุรกิจหนังสืออยู่ในกลุ่ม 10 อันดับธุรกิจดาวร่วงต่อเนื่องมาหลายปี พูดง่ายๆ คือแย่มานาน จนล่าสุดเพิ่งหลุดจากลิสต์ไป

          ในฐานะคนทำหนังสือ รวมถึงสมาคม เราก็มองในแง่ดีว่าไหนๆ มันอยู่จุดต่ำสุดแล้ว ถัดจากนี้เราแค่ดันมันขึ้นไป ผลักมันขึ้นไปให้ได้ นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจ อย่างที่บอกว่าเทรนด์ตลาดหนังสือเล่ม ยังไงก็ต้องวกกลับมา หน้าที่ของเราคือหาทางพามันกลับไปสู่จุดนั้นให้ได้

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก