การเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและวัฒนธรรมเกิดขึ้นจากมาการเผยแพร่สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมหนึ่งไปยังอีกสังคมหนึ่ง ทุกวันนี้ทั่วโลกมีการสร้างสรรค์องค์ความรู้ เทคนิควิธีการ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการศึกษาจำนวนมาก แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่นักการศึกษาส่วนใหญ่ ไม่มีโอกาสทำความรู้จักกับกรณีตัวอย่างดีๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก ทำให้ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งทุกครั้งในการบุกเบิกนวัตกรรม
ในขณะที่บริบทโลกปัจจุบัน ทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ต่างเป็นปัจจัยที่กดดันให้ต้องเร่งเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้เท่าทันสถาณการณ์ คงจะดีไม่น้อยหากมีคนที่คอยทำหน้าที่รวบรวมและอัปเดตนวัตกรรมการศึกษาไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ
The KOMMON ขอแนะนำให้รู้จักแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้สนใจด้านการพัฒนาการศึกษา สามารถทำความรู้จักกับนวัตกรรมดีๆ หลายพันนวัตกรรม เพื่อเป็นแรงบันดาลใจหรือนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมตามบริบทของสังคม ทั้งหมดนี้ถูกรวบรวบไว้แล้วในแพลตฟอร์ม hundred.org
ทำความรู้จัก HundrED
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า แม้การเรียนรู้ทักษะวิชาการจะมีความสำคัญ แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับพลเมืองโลกในอนาคต เยาวชนที่กำลังเติบโตต้องการการศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของพวกเขามากที่สุด นวัตกรรมการเรียนรู้ที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียนแต่ละคน และอยู่บนพื้นฐานความหลงใหลของผู้เรียน จึงยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสังคมยุคอุตสาหกรรม
HundrED เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรในฟินแลนด์ ก่อตั้งเมื่อปี 2016 มีบทบาทในการค้นคว้าวิจัยและแบ่งปันแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมการศึกษา รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการนำนวัตกรรมไปใช้ โดยทุกปีจะมีการจัดทำรายงาน HundrED annual Global Collection เพื่อนำเสนอ 100 นวัตกรรมการศึกษาที่โดดเด่นจากทั่วโลก เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และมีการจัดงาน The HundrED Innovation Summit งานประชุมวิชาการที่นำเสนอองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมการศึกษาในงานสัปดาห์การศึกษาแห่งเฮลซิงกิ
นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้ง HundrED Academy ชุมชนการเรียนรู้สำหรับครู นักการศึกษา และนวัตกรรม เพื่อการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์เชิงลึก สนับสนุนกิจกรรมซึ่งนักพัฒนานวัตกรรมจาก 27 ประเทศ หนุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพกว่า 50 กิจกรรม โดยมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำและติดตามพัฒนาการของสมาชิกที่เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้อย่างใกล้ชิด
ทฤษฎีแห่งการเปลี่ยนแปลง
แนวคิดในการทำงานของ HundrED ได้แรงบันดาลใจด้านระเบียบวิธีมาจากหนังสือเรื่อง ‘Diffusion of Innovation Theory’ ของ Everett M. Rogers นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเสนอตัวแปรหรือองค์ประกอบที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมไว้ 4 ประการ คือ นวัตกรรม ที่ทำให้เกิดประโยชน์มากกว่าเดิม มีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมในสังคม ไม่ซับซ้อน สามารถเลือกนำบางส่วนมาทดลอง และจับต้องได้ง่าย มีการสื่อสารจากแหล่งกำเนิดนวัตกรรมไปยังผู้รับ อาศัยระยะเวลาเพื่อการยอมรับและปรับตัว และระบบสังคมสมัยใหม่ที่เอื้อต่อการรับนวัตกรรม ทั้งในแง่ความรวดเร็วและปริมาณที่จะรับ
สำหรับกระบวนการทำงานของ HundrED แบ่งเป็นขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
1. การเฟ้นหานวัตกรรม
มีทีมวิจัยที่ทำหน้าที่สำรวจ โดยการสัมภาษณ์และการค้นหาออนไลน์เชิงลึก เพื่อรวบรวมนวัตกรรมการศึกษาที่โดดเด่นจากทั่วโลก จัดทำเป็นรายชื่อเบื้องต้น (shortlist) จากนั้นมีการจัดเวิร์กชอปเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษากว่า 150 คน จากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ร่วมกันประเมินนวัตกรรมใน 3 ด้าน ได้แก่ คุณค่าที่มีต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา หลักฐานเชิงประจักษ์ถึงการสร้างผลกระทบทางสังคม (impact) และความเป็นไปได้ในการนำไปปรับใช้เพื่อการขยายผลในสังคมอื่นๆ (scalability) ทั้งนี้ 100 นวัตกรรมที่ดีที่สุดจะถูกรวบรวมและจัดเป็นคอลเล็กชันประจำปี
2. สร้างแพลตฟอร์มในการสื่อสาร
ครู นักการศึกษา ผู้สร้างนวัตกรรม หรือผู้นำทางการศึกษา สามารถนำเสนอนวัตกรรมที่สร้างตนหรือองค์กรสร้างขึ้น ผ่านเว็บไซต์ hundred.org เพื่อให้นวัตกรรมที่ริเริ่มขึ้นเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ผู้อื่น และเป็นโอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยนกับผู้ที่มีความสนใจในประเด็นที่คล้ายคลึงกัน
3. การเผยแพร่นวัตกรรมผ่านทูตการศึกษา
ทูตการศึกษาที่กระจายตัวอยู่กว่า 100 ประเทศ จะมีบทบาทในการช่วยเผยแพร่นวัตกรรมในท้องถิ่น โดยสนับสนุนให้เกิดการร่วมมือขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม
4. การขยายผล
มีบริการสนับสนุน ให้คำปรึกษา และผลักดันโปรเจกต์ที่ต่อยอดจากนวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละพื้นที่ โดยใช้วิธีร่วมกันสร้างสรรค์ (co-created) นวัตกรรมการศึกษา ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ นักนวัตกรรม และกลุ่มเป้าหมาย
นวัตกรรมการศึกษา กับการพัฒนาทักษะอนาคต
ตลอดปี 2020 HundrED ได้รวบรวมและเผยแพร่นวัตกรรมการศึกษาจำนวน 604 นวัตกรรม จาก 38 ประเทศ มีการวิเคราะห์ว่า นวัตกรรมจำนวนมากมีส่วนสำคัญในการช่วยเติมเต็มช่องว่างของการศึกษาในระบบโรงเรียนแบบดั้งเดิม ทั้งนี้ 55% เป็นนวัตกรรมที่มุ่งพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ตามนิยามที่อยู่ในรายงาน The Future of Education and Skills 2030 ของ OECD และ 63% เป็นนวัตกรรมที่เน้นพัฒนาทักษะองค์รวม เช่น ทักษะทางสังคม ทักษะทางอารมณ์ ความเห็นอกเห็นใจ การมีสติ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในการเตรียมความพร้อมผู้เรียนสำหรับศตวรรษที่ 21
ต่อไปนี้คือตัวอย่างนวัตกรรมด้านต่างๆ ที่มุ่งพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งถูกรวบรวมไว้ใน HundrED annual Global Collection: 2021
1. นวัตกรรมที่สนับสนุนทักษะทางสติปัญญา (cognitive skills และ meta-cognitive skills) ด้านการคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การเรียนเพื่อเรียนรู้ (learning to learn) การควบคุมตนเอง ฯลฯ เช่น พื้นที่การเรียนรู้ Genius Lab เมกเกอร์สเปซในประเทศจีนที่ส่งเสริมการเรียนรู้สะเต็มศึกษาด้วยความสนุกและสร้างสรรค์ เป้าหมายเป็นเด็กระดับปฐมวัยและประถมศึกษา มีหลักสูตรให้เรียนรู้กว่า 600 หลักสูตร ปัจจุบันมี 50 สาขา ใน 30 เมือง ทั่วประเทศจีน แพลตฟอร์มออนไลน์ Kide Science ซึ่งออกแบบเพื่อให้เด็กอายุ 3-8 ปี เรียนรู้ทักษะการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ด้วยความสนุกและเข้าใจง่าย Scratch ซึ่งสนับสนุนพื้นฐานด้าน coding ทักษะการคิดเชิงคอมพิวเตอร์ และความคิดสร้างสรรค์ สำหรับเด็กทุกวัย ปัจจุบันมีกว่า 50 ภาษาทั่วโลก รวมถึงภาษาไทย Minecraft หนึ่งในเกมออนไลน์ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์และสนุกที่สุด สนับสนุนให้เกิดการคิดแก้ปัญหา การสื่อสาร และความเข้าใจเรื่องพื้นที่ (space) และ Lab4U เทคโนโลยีที่พัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยเน้นประสบการณ์การเรียนรู้จากการสืบค้น (inquiry-based learning experiences) ซึ่งนักเรียนสามารถเข้าถึงกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านทางแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน
นอกจากนี้ยังมี Learning Creative Learning ห้องเรียนออนไลน์ที่ริเริ่มโดย MIT Media Lab เพื่อให้ครูได้เรียนรู้แนวคิดและวิธีการสอนให้นักเรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ ปัจจุบันแม้ชั้นเรียนออนไลน์จะยุติลงแล้ว แต่ทรัพยากรการศึกษาและห้องพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ออนไลน์ ก็ยังคงเปิดให้ใช้งานโดยไม่มีค่าจ่าย และ Creating Together By Kids to Kids นวัตกรรมการสอนภาษา ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาร่างกาย และภาษาภาพ โดยให้นักเรียนร่วมกันทำแอนิเมชันเพื่อเล่านิทานอย่างสร้างสรรค์
2. นวัตกรรมที่สนับสนุนทักษะทางอารมณ์และสังคม (social skills และ emotional skills) ด้านความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การร่วมมือ การรับฟังและการสื่อสาร ฯลฯ เช่น Roots of Empathy หลักสูตรบ่มเพาะความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยเปิดโอกาสให้เด็กระดับประถมศึกษาได้ไปเยี่ยมและเรียนรู้จากครอบครัวที่มีทารก เพื่อฝึกฝนการรับรู้ถึงความต้องการหรืออารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งมิได้แสดงออกผ่านคำพูด Slam Out Loud กระบวนการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนหลายหลายภูมิหลัง ได้ส่งเสียงสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของตนเองผ่านการแสดงออกที่สร้างสรรค์ เช่น บทกวี และศิลปะการแสดง รวมทั้งกล้าที่จะฝันให้ไกลและมุ่งมั่นไปสู่จุดหมายในอนาคต และ Wandering Challenge เกมการเรียนรู้ ซึ่งทีมต้องช่วยกันพิชิตภารกิจต่างๆ ซึ่งสอดแทรกทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต ทำให้เยาวชนได้สำรวจตัวตนของตนเองอย่างลึกซึ้ง และมีแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
3. นวัตกรรมที่สนับสนุนทักษะทางร่างกาย (physical skills) เช่น Tagtiv8 Active Learning แนวทางการจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการรายวิชาต่างๆ กับเกมหรือกิจกรรมด้านร่างกาย ทำให้เด็กๆ เรียนรู้อย่างสนุก มีส่วนร่วม และเกิดพัฒนการด้านร่างกายที่สมวัย และ AMAZE.org สื่อการเรียนรู้ออนไลน์เพื่อการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างสร้างสรรค์และเข้าใจง่าย สำหรับวัยรุ่นตอนต้นอายุ 10-14 ปี
ปัจจุบันแพลตฟอร์ม hundred.org เผยแพร่นวัตกรรมการศึกษาจำนวน 2,250 นวัตกรรม จาก 127 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย (มี 1 นวัตกรรม คือ โรงเรียนวันเสาร์) มีสถิติการเข้าชมนวัตกรรมการศึกษาในเว็บไซต์กว่า 2 ล้านครั้ง และมีการประเมินว่า มีผู้เรียนได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมดังกล่าวราว 1.1 พันล้านคน และมีการนำนวัตกรรมไปขยายผลหรือประยุกต์ใช้นอกประเทศต้นกำเนิด กว่า 15,000 กรณี ทั้งนี้ HundrED ตั้งเป้าหมายสูงสุดในการทำงานไว้ว่า ภายในปี 2030 เด็กทุกคนจะสามารถเข้าถึงนวัตกรรมการศึกษาที่เป็นไปได้มากที่สุด
ที่มา
เว็บไซต์ HundrED [online]
The Future of Education and Skills 2030 [online]
ทฤษฎีการแพร่กระจายนวัตกรรม (Diffusion of Innovation Theory) [online]
Cover Photo by Mark Stosberg on Unsplash