อ่าน ‘หนังสือมนุษย์’ สัมผัสเรื่องราวด้วยหัวใจ

4,184 views
4 mins
February 9, 2021

          มนุษย์อ่านหนังสือก็เพราะหนังสือบอกเล่าเรื่องราวที่ไม่เคยสัมผัส รวมทั้งนำพาไปรู้จักผู้อื่นซึ่งมีวิถีชีวิต ความรู้ และความนึกคิดที่แตกต่างออกไป จะดีแค่ไหนหากเราสามารถไปห้องสมุดเพื่อดื่มด่ำสิ่งเหล่านี้โดยไม่ต้องเปิดหนังสืออ่าน แต่สามารถรับฟังจากเจ้าของเรื่องราวแบบตัวเป็นๆ

          พื้นที่ที่เรียกว่า “ห้องสมุดมนุษย์” (Human Library)  สนับสนุนให้ผู้คนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนได้มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไม่เก้อเขิน และเปิดใจรับฟังกันอย่างไม่ตัดสิน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องท้าทายทัศนคติของแต่ละคนมิใช่น้อย

ทำไมต้อง “อ่าน” มนุษย์

             ปี 1993 หนุ่มวัยรุ่นชาวเดนิชคนหนึ่งถูกทำร้ายด้วยอาวุธมีดขณะอยู่กับเพื่อนๆ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ก็รอดชีวิตมาได้ ภายหลังผ่านพ้นเหตุการณ์เลวร้าย เพื่อนๆ ของเขาตัดสินใจร่วมกันที่จะทำกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม โดยก่อตั้งเป็นกลุ่ม “ยุติความรุนแรง” (Stop The Violence)

             ต่อมาในปี 2000 พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลโรสกิลด์ (Roskilde Festival) เมืองโคเปนเฮเกน โดยนำกระบวนการสุนทรียสนทนา (dialogue) มาสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกให้กับผู้เข้าร่วม กิจกรรมมีระยะเวลา 4 วัน วันละ 8 ชั่วโมง ผู้คนที่มีเรื่องราวแปลกแตกต่างกันจำนวน 75 คนถูกเชิญมาเป็นอาสาสมัคร ให้ผู้อ่านได้เลือกพบปะพูดคุยคล้ายการยืมหนังสือจากห้องสมุด

          ทันทีที่นักอ่านเลือก “หนังสือ” บทสนทนาที่เข้มข้นก็เริ่มต้นขึ้น และเกิดความรู้สึกพิเศษอบอวลไปทั่วพื้นที่ ตำรวจได้นั่งคุยกับนักวาดภาพกราฟฟิตี้ นักการเมืองได้อภิปรายกับเยาวชนนักกิจกรรม และแฟนฟุตบอลได้พูดคุยอย่างลึกซึ้งกับนักสตรีนิยม มีผู้คนนับพันพากันต่อคิวเข้าร่วมกิจกรรมนี้

          จากกิจกรรมเล็กๆ ของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ได้ถูกต่อยอดกลายเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนเครือข่ายเกี่ยวกับห้องสมุดมนุษย์ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 70 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ ซูดาน ชิลี อิสราเอล  สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินเดีย จีน ฯลฯ รวมถึงประเทศไทยซึ่งมีการริเริ่มที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และก่อตั้งเป็นเครือข่ายห้องสมุดมนุษย์แห่งประเทศไทย

อ่าน “หนังสือมนุษย์” สัมผัสเรื่องราวด้วยหัวใจ

“อย่าตัดสินหนังสือแค่เพียงปก”

          โมเดลของ “ห้องสมุดมนุษย์” ที่ห้องสมุดหรือองค์กรต่างๆ นำไปประยุกต์ใช้ คล้ายคลึงกับกิจกรรมที่โคเปนเฮเกน อาจมีการจัดระบบที่ชัดเจนขึ้น โดยห้องสมุดอธิบายเหตุผลที่เลือก “หนังสือ” มานำเสนอ อคติที่คนทั่วไปมักตัดสิน และความเป็นจริงที่พวกเขาต้องเผชิญ ตัวอย่างเช่น ห้องสมุดเลือกนำเสนอ “หนังสือ” ซึ่งเป็นผู้มีภาวะออทิสติก เพราะปัจจุบันจะมีเด็ก 1 คนใน 68 คนที่ถูกวินิจฉัยว่ามีอาการดังกล่าว ผู้คนอาจรับรู้จากภาพยนตร์ว่าผู้ที่เป็นออทิสติกมักมีพรสวรรค์ที่โดดเด่นในบางด้าน ในขณะที่จริงๆ แล้วหลายคนอาจมีพฤติกรรมที่คาดเดาไม่ได้หรือขาดทักษะทางสังคม คงเป็นเรื่องดีหากคนทั่วไปเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันแทนการกีดกันพวกเขาออกจากสังคม

          ผู้ใช้บริการห้องสมุดมนุษย์ยังสามารถพบกับเรื่องราวของผู้ลี้ภัย คนข้ามเพศ คนไร้บ้าน ผู้ที่ทั้งหูหนวกและตาบอด คนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ผู้ที่สักเจาะร่างกาย คนตกงาน ชาวมุสลิม ผู้ได้รับเชื้อเอชไอวี ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวที่น่าสนใจเป็นของตัวเอง

          ห้องสมุดแต่ละแห่งอาจมีวิธีการให้บริการ “หนังสือมนุษย์” แตกต่างกัน บางแห่งอาจจัดเป็นกิจกรรมให้ยืมหนังสือมนุษย์ได้ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ห้องสมุดบางแห่งให้ผู้ใช้บริการจองโดยการเขียนบัตรยืมหนังสือ กิจกรรม “อ่าน” มนุษย์อาจใช้พื้นที่ภายในห้องสมุดโดยจัดโต๊ะเก้าอี้ให้เหมาะกับการสนทนาแบบตัวต่อตัวหรือแบบกลุ่ม บางแห่งอาจจัดเป็นกิจกรรมกลางแจ้งหรือกิจกรรมในสวนที่มีบรรยากาศเป็นกันเอง ห้องสมุดที่โปแลนด์มีการออกแบบระบบยืมหนังสือมนุษย์ผ่านทางเว็บไซต์เพื่อความสะดวกในการนัดหมาย

          นอกจากนี้ ยังมีรายการโทรทัศน์ออนไลน์ว่าด้วยห้องสมุดมนุษย์ เผยแพร่ทางช่อง TV2 ของเดนมาร์ก โดยในซีซั่นแรกได้เชิญ “หนังสือเบสท์เซลเลอร์” 6 คน ออกรายการต่อเนื่อง 6 สัปดาห์ โดยไม่เน้นความดราม่า เพราะลำพังเรื่องราวความเป็นจริงของพวกเขาก็มากเพียงพอที่จะเสนอประเด็นสำคัญ ท้าทายความคิด และกระตุ้นการสนทนาที่เปิดกว้างในสังคม

           “อย่าตัดสินหนังสือแค่เพียงปก” เป็นวรรคทองที่ถูกนำมาใช้เป็นสโลแกนของห้องสมุดมนุษย์ เพราะมนุษย์ก็ไม่ต่างจากหนังสือ ที่อาจจะมีรูปลักษณ์ภายนอกแตกต่างกัน บ้างไม่น่ามอง บ้างแปลกประหลาด บ้างดูน่ากลัว ฯลฯ ซึ่งด้านหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับอคติของผู้ที่เข้าไปรับรู้และตัดสิน แต่ไม่มีใครรู้ได้ว่าหนังสือเล่มนั้นหรือคนคนนั้น เป็นอย่างไรจริงๆ จนกว่าจะได้สัมผัสคุณสมบัติที่อยู่ภายใน

ทักษะความเป็นมนุษย์กับการทำงานในอนาคต

          รอนนี่ อาเบอร์เกล (Ronni Abergel) หนึ่งในผู้ริเริ่มแนวคิดห้องสมุดมนุษย์กล่าวว่า

“ห้องสมุดมนุษย์หมายถึงพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับตั้งคำถามยากๆ โดยไม่ตัดสิน เป็นความพยายามที่จะทำความเข้าใจหยั่งลึกไปในชีวิตของผู้คนที่คุณคิดว่าคุณรู้ …แต่คุณไม่รู้”

          ตั้งแต่ปี 2016 กิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนกำหนดให้นักศึกษาชั้นปีแรกของสถาบันผลิตนักสังคมสงเคราะห์ (Institute for Social Worker) เป็นนักอ่านของห้องสมุดมนุษย์ เพื่อให้มีโอกาสสัมผัสมิติความเป็นมนุษย์ รวมถึงเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังชีวิตของแต่ละคน โดยจัดเป็นกิจกรรมปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 สัปดาห์

          “ในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ คุณสมบัติที่สำคัญมากคือความอยากรู้อยากเห็น การมีความคิดเปิดกว้าง ความสามารถในการพบปะกับผู้คนด้วยความยอมรับนับถือและเคารพในตัวของคนที่เราได้พบปะพูดคุยด้วย ดังนั้นนักศึกษาใหม่จึงควรเข้าร่วมห้องสมุดมนุษย์ เพื่อให้เข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้ถึงความเป็นจริงที่จะได้พบเมื่อเข้าสู่วิชาชีพในอนาคต ส่วนนักศึกษาก็สะท้อนว่าพวกเขาได้แรงบันดาลใจ และมีความสุขที่ได้รับการแบ่งปันประสบการณ์และปูมหลังด้วยความเข้าใจ รวมทั้งได้รับโอกาสพิเศษที่พบกับความเป็นจริงที่หลากหลาย”

ผู้อำนวยการสถาบันผลิตนักสังคมสงเคราะห์กล่าว

ที่มา

www.humanlibrary.org

Cover Photo: Elin Tabitha (c) 2018


เผยแพร่ครั้งแรก พฤษภาคม 2561 (ปรับปรุงแก้ไขสำหรับเผยแพร่ครั้งนี้)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก