หลายปีก่อน ผู้คนทั่วโลกได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ จากการเล่นเกม Pokémon GO ที่นำพาให้หลายคนออกจากบ้านเพื่อตามล่ามอนสเตอร์ตามสถานที่ต่างๆ นี่คือคุณูปการสำคัญของเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ที่ช่วยเสกโลกเสมือนให้ปรากฏซ้อนทับกับโลกความเป็นจริง
ในวันนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้ง AR, VR และ MR ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายวงการ ทั้งวงการโฆษณา วงการการศึกษา รวมถึงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ให้มีความทันสมัย นำเสนอเนื้อหาและประสบการณ์ใหม่ๆ แก่ผู้ชม
ยิ่งในช่วงวิกฤตโรคระบาด พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบโดยตรง ส่งผลให้ต้องเร่งปรับตัว คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ โดยมีเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญ
พิพิธภัณฑ์ที่เคยถูกมองว่าเป็นสถานที่น่าเบื่อสำหรับคนรุ่นใหม่ เมื่อผนวกเข้ากับเทคโนโลยีล้ำสมัย กลายเป็นความหวังที่ส่องแสงให้เห็นว่า นอกจากพิพิธภัณฑ์จะยังไม่ตาย มันอาจกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ผสานอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไว้ด้วยกันอย่างน่าทึ่ง
ต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ยุคใหม่ ที่ใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนในการสร้างสรรค์และนำเสนอเนื้อหารูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างน่าประทับใจ
หอศิลป์แห่งชาติ (The National Gallery), อังกฤษ
ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา องค์กรด้านศิลปะหลายแห่งในกรุงลอนดอนได้ร่วมกันขบคิดหาทางออก เพื่อให้ผู้คนสามารถเดินรับชมงานศิลปะโดยไม่ต้องมารวมตัวกันในอาคาร เป็นที่มาของโครงการที่ชื่อว่า ‘Art of London’
โครงการนี้ริเริ่มขึ้นในปี 2021 โดยการนำคอลเลกชันศิลปะที่มีชื่อเสียงจากหอศิลป์แห่งชาติ (The National Gallery) หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ (National Portrait Gallery) และราชบัณฑิตยสถาน (Royal Academy of Arts) ออกไปยังท้องถนนและพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนสัญจรไปมาในชีวิตประจำวัน เกิดเป็นแกลเลอรีกลางแจ้งทอดยาวผ่านใจกลางเมือง จากทางตะวันตกของพิคคาดิลลี เซอร์คัส ไปทางทิศตะวันออกของจัตุรัสเลสเตอร์ มีจุดเริ่มต้นที่หอศิลป์แห่งชาติและสิ้นสุดที่ราชบัณฑิตยสถาน
แผ่นโลหะหน้าตาเหมือนกรอบรูปซึ่งมีเครื่องหมาย Art of London และ QR Code จะถูกติดไว้บนกำแพงหรือฝาผนังตามจุดต่างๆ เมื่อผู้คนใช้โทรศัพท์มือถือสแกน พวกเขาจะได้รับชมผลงานศิลปะชิ้นเอกของศิลปินที่มีชื่อเสียง เช่น ทิเซียโน เวเชลลี (Tiziano Vecelli) วินเซนต์ แวน โก๊ะ (Vincent van Gogh) และ เทรซี เอมิน (Tracey Emin) นี่เป็นการนำเทคโนโลยี AR มาใช้แบบง่ายๆ ตรงไปตรงมา แต่ได้ผลตอบรับเกินคาด ด้วยความที่มันกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น ชักชวนให้คนรักศิลปะอยากออกตามหาว่า QR Code เหล่านั้นซ่อนอยู่ตรงจุดไหนบ้าง และผลงานที่ปรากฏออกมานั้นจะน่าตื่นตาตื่นใจเพียงใด
นอกจากนี้ บนถนนสายเดียวกันยังมีการติดตั้งประติมากรรมในธีมภาพยนตร์ ซึ่งกำลังเปิดฉายในโรงภาพยนตร์ ภายใต้โครงการ ‘Scenes in the Square’ ทั้งหมดนี้ มีเป้าหมายที่สอดคล้องกันก็คือ การสร้างการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมให้กับผู้คน รวมทั้งดึงดูดให้ผู้ใช้บริการหวนกลับมาเยือนพิพิธภัณฑ์ แม้ในปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังไม่จบสิ้นก็ตาม
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติ (Muséum national d’Histoire naturelle), ฝรั่งเศส
ใครจะคิดว่า สัตว์ที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้วจะฟื้นคืนชีพและปรากฏกายต่อหน้ามนุษย์ได้อีกครั้ง
เมื่อปี 2021 พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติฝรั่งเศส เปิดตัวโครงการ REVIVRE สร้างประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจในการรับชมนิทรรศการ ‘Gallery of Evolution’ ซึ่งจัดแสดงซากพืชและสัตว์หายาก รวมทั้งที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ตั้งแต่แมลงเต่าทองไปจนถึงเต่ายักษ์ พร้อมบอกเล่าเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ และสาเหตุแห่งความสูญสิ้นซึ่งส่วนใหญ่มาจากน้ำมือมนุษย์
เทคโนโลยี AR ซึ่งทำงานควบคู่กับแว่นตาโฮโลเลนส์ของ Microsoft ได้เปลี่ยนบรรยากาศการรับชมวัตถุจัดแสดงที่ดูน่าเบื่อ ให้กลายเป็นการเดินทางไปพบกับสัตว์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ในรูปแบบโมเดล 3 มิติขนาดจริงที่เคลื่อนไหวได้ เช่น นกตัวใหญ่เท่าช้าง เป็ดโดโด เสือเขี้ยวดาบ วัวทะเลชเต็ลเลอร์ เสือแทสเมเนีย ฯลฯ ท่ามกลางทิวทัศน์ที่สวยงาม เสมือนกำลังยืนอยู่ในป่า ทุ่งหญ้า หรือท้องทะเล อันเป็นที่อาศัยของสัตว์เหล่านั้น
ในช่วงสุดท้ายของการเดินทาง สัตว์แอนิเมชันทุกสายพันธุ์จะเดินมารวมตัวกัน เพื่อโบกมืออำลามนุษย์เป็นครั้งสุดท้าย เป็นการปิดฉากการรับนิทรรศการที่สะเทือนอารมณ์ และจะยังอยู่ในความทรงจำของผู้รับชมไปแสนนาน
พิพิธภัณฑ์ศิลปะออนตาริโอ (Art Gallery of Ontario), แคนาดา
ผลงานศิลปะนอกจากมีคุณค่าในเชิงสุนทรียะแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็นหลักฐานที่ช่วยบันทึกเรื่องราวและวิถีชีวิตของคนแต่ละยุคสมัยอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์ศิลปะออนตาริโอ ได้ร่วมมือกับศิลปินดิจิทัล อเล็กซ์ เมย์ฮิว (Alex Mayhew) นำเสนอนิทรรศการศิลปะ ‘ReBlink’ ด้วยเทคโนโลยี AR ผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อชวนให้ผู้คนได้คิดไตร่ตรองและมองเห็นแง่มุมใหม่ๆ ที่ถูกต่อยอดในงานจิตรกรรม
หนึ่งในนั้นคือภาพวาด ‘Drawing Lots’ ของ จอร์จ แอ็กนิว รีด (George Agnew Reid) อายุกว่าร้อยปี จากเดิมที่เป็นภาพชายสามคนกำลังก้มศีรษะเล่นเกมด้วยกันท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบสงบ ถูกดัดแปลงเป็นภาพเวอร์ชันร่วมสมัยใหม่ แต่ละคนต่างนั่งจ้องหน้าจอโทรศัพท์ของตนเองท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยควันพิษ ตัวอย่างดังกล่าว มิใช่การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อนำเสนองานศิลปะอย่างทื่อๆ แต่ได้ผ่านการตีความ พร้อมแทรกความคิดและบริบทของศตวรรษที่ 21 ลงไปในงานยุคเก่า
พิพิธภัณฑ์ศิลปะออนตาริโอได้นำแนวทางนี้ไปต่อยอด ด้วยการจัดแสดงแบบ pop up ทั้งในและต่างประเทศ เช่น เม็กซิโก โปแลนด์ สหรัฐอเมริกา และจาไมก้า รวมทั้งกำลังพัฒนา ‘ReBlink Plus’ นำเสนอผลงานศิลปะด้วยเทคโนโลยี AR ในพื้นที่และบริบทอื่นๆ ที่พ้นไปจากพิพิธภัณฑ์ เช่น ร้านกาแฟ ซูเปอร์มาร์เก็ต การ์ด ไปจนถึงเสื้อผ้า เพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวของศิลปะให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน
พิพิธภัณฑ์ศิลปะเปเรซ (The Pérez Art Museum), สหรัฐอเมริกา
พิพิธภัณฑ์ศิลปะเปเรซ ในรัฐไมอามี ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมมือกับ Felice Grodin จิตรกรหญิงผู้มีพื้นฐานความรู้ด้านสถาปัตยกรรม จัดนิทรรศการ ‘Invasive Species’ โดยใช้เทคโนโลยี AR เนรมิตสัตว์ประหลาดให้คืบคลานอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ เช่น ลานกลางแจ้ง ทางเดิน ระเบียง และโรงละคร
ศิลปินตั้งใจสร้างโมเดลดิจิทัล 3 มิติ เพื่อกระตุกให้ผู้คนฉุกคิดเกี่ยวกับความเปราะบางของระบบนิเวศและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลงานศิลปะแอนิเมชัน ‘Terrafish’ ที่มีโครงสร้างคล้ายแมงกะพรุนสูง 49 ฟุต ซึ่งเข้ามารุกรานและเขมือบสวนลอยฟ้าของพิพิธภัณฑ์ สื่อถึงสัตว์ต่างถิ่นที่พบในน่านน้ำฟลอริดาตอนใต้เมื่อหลายสิบปีก่อน บ่งบอกถึงการเสียเสถียรภาพของสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ในบริบทนี้ งานศิลปะจึงกลายเป็นการสื่อสารที่สามารถนำไปสู่การสนทนาและถกเถียงกันในประเด็นสำคัญๆ ของมนุษยชาติ ด้วยรูปแบบที่น่าดึงดูดและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้
ศูนย์อวกาศเคนเนดี (The Kennedy Space Centre), สหรัฐอเมริกา
โครงการบุกเบิกการสำรวจอวกาศ เป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ชาวอเมริกันมีความภาคภูมิใจ ศูนย์อวกาศเคนเนดีได้ใช้เทคโนโลยี AR เพื่อนำเสนอนิทรรศการ ‘วีรบุรุษและตำนาน’ ว่าด้วยการเดินทางที่มีทั้งความตื่นเต้นและเต็มไปด้วยอันตราย โดยเนรมิตบรรยากาศให้สมจริงราวกับว่าผู้เยี่ยมชมได้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจนั้น
หนึ่งในไฮไลต์สำคัญ คือการใช้โฮโลแกรมถ่ายทอดใบหน้าและความรู้สึกของ จีน เคอร์แนน (Gene Cernan) นักบินอวกาศของยาน Gemini 9 เมื่อครั้งออกสำรวจอวกาศในปี 1996 เขาต้องประสบกับเหตุการณ์เลวร้ายประหนึ่งอยู่ในนรก เมื่อตัวเขาหมุนเคว้งไปรอบๆ อย่างไร้การควบคุมภายใต้ชุดอวกาศที่ร้อนอบอ้าว
นิทรรศการดังกล่าว นอกจากจะช่วยถ่ายทอดเรื่องราวนอกโลก ซึ่งยากที่คนทั่วไปจะจินตนาการออก ให้สามารถเข้าถึงอย่างมีอรรถรสแล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังเป็นความพยายามในการสร้างนิยามใหม่ให้กับคำว่า ‘วีรบุรุษ’ ซึ่งไม่ใช่เพียงผู้ปกครองหรือทหารผู้พลีชีพเพื่อการสู้รบ แต่นักบินอวกาศก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่คู่ควรแก่การถูกจารึกไว้ในหอเกียรติยศของชาติด้วยเช่นกัน
แม้การใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนในพิพิธภัณฑ์และเรียนรู้สมัยใหม่ จะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ในอีกมุมหนึ่ง ยังมีบางประเด็นที่พิพิธภัณฑ์ยุคใหม่พึงตระหนักในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ เช่น ตำแหน่งของภาพจำลองที่ถูกนำเสนอ จะต้องไม่บดบังหรือรบกวนงานคอลเลกชันอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยี การเข้าถึงของผู้ใช้บริการสูงอายุที่อาจขาดทักษะทางเทคโนโลยี รวมถึงการนำผลงานศิลปะยุคเก่ามาตีความและนำเสนอในบริบทร่วมสมัย โดยที่คุณค่าเดิมไม่ถูกบิดเบือนหรือจางหายไป เป็นต้น
ที่มา
How Museums are using Augmented Reality [online]
REVIVRE, Extinct animals in augmented reality. [online]
Using Augmented Reality, London Takes Its Art to the Streets. [online]
Felice Grodin: Invasive Species [online] ReBlink : Art, augmented Reality. [online]
Cover Photo : SAOLA Studio / MNHN