เดือนมกราคม 2560 โดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกจากประชาชนสหรัฐขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 เป็นผลลัพธ์ที่ชวนให้ทั้งโลกนิ่งงัน การเลือกตั้งในอีกบางประเทศก็ได้ผู้นำปีกขวา เช่น อินเดีย บราซิล โปแลนด์ การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษหรือเบร็กซิต (Brexit) สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้สร้างความกังวลและคำถามใหญ่ว่าโลกกำลังจะหันขวาหรือไม่
การไม่เชื่อปัญหาโลกร้อนและมองว่าเป็นเรื่องโกหก เหยียดเพศ เหยียดชาติพันธุ์ เหยียดผิว ยกย่องความพิเศษหรืออภิสิทธิ์ของผิวสี เชื้อชาติ หรือศาสนาของตน เป็นจุดร่วมที่โดนัลด์ ทรัมป์และผู้นำปีกขวามีร่วมกัน เป็นชุดคุณค่าที่ขัดแย้งกับสิทธิมนุษยชนและเสรีนิยมประชาธิปไตย แต่ก็เป็นเพราะกระบวนการประชาธิปไตยนั่นเองที่ทำให้คนแบบทรัมป์ขึ้นมามีอำนาจ
เจสัน สแตนลีย์ (Jason Stanley) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยเยล ค้นหาคำตอบว่ากลุ่มขวาจัดหรือลัทธิ ‘ฟาสซิสม์’ (Fascism) ทำงานอย่างไรถึงทำให้ผู้คนเชื่อว่าการถอยห่างออกจากประชาธิปไตยเป็นหนทางที่ดีกว่าผ่านหนังสือ ‘นี่แหละฟาสซิสม์’ หรือ ‘How Fascism Works: The Politics of Us and Them’ ซึ่งเป็นหนังสือที่ได้รับความสนใจและกล่าวถึงมาตั้งแต่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2561 และได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทยในปี 2566 โดยสำนักพิมพ์ Bookscape
ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ปลุกผู้คนให้รู้จักฟาสซิสม์ ผ่านฮิตเลอร์ในเยอรมนี มุสโสลินีในอิตาลี และในญี่ปุ่น ลักษณะร่วมกันคือความเชื่อในความบริสุทธิ์ ความพิเศษ ความยิ่งใหญ่ของเชื้อชาติตนชนิดคลุ้มคลั่ง เป็นชนวนของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และสงครามที่ล้างผลาญหลายล้านชีวิต แต่ไม่ว่ามนุษย์จะมีบทเรียนความสูญเสียกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ความคลุ้มคลั่งชนิดนี้ก็ยังไม่หมดไปจวบจนปัจจุบัน
ลำพังอำนาจในมือผู้นำไม่เพียงพอจะสร้างโศกนาฏกรรมขนาดใหญ่เช่นนี้ได้ มันต้องอาศัยการสนับสนุนจากประชาชน แสดงว่าลัทธิฟาสซิสม์มีวิธีการบางอย่างที่เรียกการสนับสนุนจากประชาชน นี่คือหัวใจของหนังสือเล่มนี้
‘How Fascism Works อธิบายกลวิธีที่ลัทธิฟาสซิสม์ใช้ว่ามี 10 วิธี ถ้าใช้ภาษาแบบที่เกษียร เตชะพีระ นักวิชาการรัฐศาสตร์เคยเขียนบทความถึงหนังสือเล่มก็คือ เสาหลักสิบต้นของลัทธิฟาสซิสต์ ประกอบด้วย อดีตที่สร้างจากตำนาน โฆษณาชวนเชื่อ การต่อต้านปัญญาชน ความจริงลวงตา ลำดับช่วงชั้น ภาวะตกเป็นผู้ถูกกระทำ กฎหมายและความสงบเรียบร้อย ความหวั่นวิตกเรื่องเพศ นครโซดอมและกอมเมอร์ราห์ หมายถึงการสร้างความเชื่อว่าชนบทเป็นสถานที่อันบริสุทธิ์ของความเป็นชาติ ขณะที่เมืองใหญ่เป็นเมืองแห่งบาปที่ทำลายจารีตอันดีงามของชาติ และการงานมอบเสรีภาพ หมายถึงการกล่อมเกลาว่าคนรวยเพราะขยัน ดังนั้น พวกเขาจึงคู่ควร ส่วนคนจนเพราะขี้เกียจ ไร้ความสามารถ ซึ่งก็สมควรแล้วเช่นกัน
ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความรู้สึกคุ้นเคยอย่างยิ่ง เหมือนกับว่าฟาสซิสม์กำลังทำงานอยู่รอบตัว หันไปทางไหนก็ประสบพบเจออย่างน่าประหลาด
ถ้าให้สรุปด้วยภาษาของตนเองว่าฟาสซิสม์ทำงานอย่างไร มันถูกเฉลยอยู่ในชื่อหนังสือแล้วนั่นคือ มันสร้างศัตรูให้มีตัวตนชัดเจนขึ้น แล้วกล่อมคนให้เชื่อว่า ‘พวกเรา’ นั้นดี และคู่ควร ส่วนศัตรูหรือ ‘พวกมัน’ นั้นเลวและควรถูกกำจัดให้หมดสิ้นไปจากประเทศ
“อดีตเป็นห้วงเวลาที่การเมืองแบบฟาสซิสต์กล่าวอ้างว่าเป็นปฐมบทของตนเสมอมา อดีตที่สร้างจากตำนานนั้นอาจกล่าวถึงความบริสุทธิ์เชิงศาสนา ความบริสุทธิ์เชิงเชื้อชาติ ความบริสุทธิ์เชิงวัฒนธรรม หรือทั้งหมดนี้รวมกัน โดยขึ้นกับว่าชาตินั้นๆ นิยามด้วยอะไร” แต่แล้ว…
“อดีตอันรุ่งโรจน์เช่นนี้พ่ายแพ้ให้กับความอัปยศอดสูตามแนวคิดโลกสากล (globalism) นานาชาตินิยมแนวเสรีนิยม (liberal cosmopolitanism) และการเคารพ ‘ค่านิยมสากล’ อย่างความเท่าเทียม”ตำนานเช่นนี้มีรากฐานมาจากจินตนาการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวที่ไม่มีอยู่จริงในอดีต
“การเมืองแบบฟาสซิสต์ย่อมเรียกร้องที่จะเชิดชูให้อดีตกลายเป็นตำนาน และสถาปนามรดกแห่งชาติในรูปแบบที่จะนำไปใช้เป็นอาวุธเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง”
มันต้องอาศัยการโฆษณาชวนเชื่ออย่างเข้มข้นเพื่อให้ผู้คนคล้อยตาม ไม่เฉพาะการสร้างตำนานหรอก แต่กับทุกเรื่องที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายตนและหยิบยื่นความเป็นปีศาจให้ฝ่ายตรงข้าม ผู้เขียนยกตัวอย่างประเด็นทุจริตคอร์รัปชันซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีของนักการเมืองแบบฟาสซิสต์ที่ชื่นชอบการประณามการทุจริตในรัฐที่ตนต้องการเข้ายึดอำนาจ ทั้งที่คนกลุ่มนี้ทุจริตสาหัสเสียยิ่งกว่าคนที่ตนยึดอำนาจมา สแตนลีย์ กล่าวว่า
“สำหรับนักการเมืองฟาสซิสต์ การทุจริตเกี่ยวข้องกับความบริสุทธิ์ผุดผ่องมากกว่าเรื่องของกฎหมายถ้อยคำแบบนี้จงใจกระตุ้นให้นึกถึงการทุจริตในแง่ของการล้มล้างระเบียบตามจารีตประเพณี”
ฟาสซิสม์บิดเบือนความจริงพร้อมกับสร้างความจริงใหม่ที่รับใช้เป้าหมายทางการเมืองของตน ดังนั้น นักวิชาการ ปัญญาชนผู้ผลิตองค์ความรู้ คอยวิเคราะห์ตีแผ่มายาคติ-วาทกรรม และเหนี่ยวรั้งสังคมจากความบ้าคลั่งจึงกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจที่ฟาสซิสม์ต้องทำลาย
ในสหรัฐฯ ฟาสซิสม์โจมตีบรรดาอาจารย์และวิชาใดๆ ที่ไม่สอดคล้องกับความเชื่อของตน เช่น เพศสภาพศึกษาเพราะฟาสซิสม์เชื่อในปิตาธิปไตย อาจารย์ที่ข้องเกี่ยวกับการเมืองมากเกินไปจะถูกกาหัวว่าเป็นอันตรายและลดความน่าเชื่อถือ โจมตีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง กล่าวหาว่าอาจารย์พวกนี้คอยล้างสมองเด็กๆ ด้วยความเชื่อผิดๆ เป็นต้น
การศึกษาที่ดีในแบบฟาสซิสม์เป็นอย่างไร มันคือการปลูกฝังความภาคภูมิใจในอดีตที่สร้างจากตำนาน ตอกย้ำปทัสถานตามระบบช่วงชั้นและจารีตประเพณีแห่งชาติ
ฟาสซิสม์ยังโจมตีสถาบันอุดมศึกษาว่าปิดกั้นเสรีภาพในการพูดของพวกเขา ไม่ยอมให้พื้นที่แก่กลุ่มขวาจัดสื่อสาร เดวิด โฮโรวิตซ์ ตัวตึงฟาสซิสม์ถึงกับมีศูนย์เสรีภาพของตัวเองไว้ส่งเสริมเสรีภาพในการพูดของฟาสซิสม์และดิสเครดิตมหาวิทยาลัยซึ่งมักเป็นป้อมปราการของเสรีนิยมประชาธิปไตย ในมหาวิทยาลัยบางแห่งเมื่อผู้ว่าการรัฐขวาจัดขึ้นมีอำนาจก็ทำการกดดันกระทั่งอธิการบดีออกจากตำแหน่ง
ใช่ว่าเรื่องเสรีภาพในการพูดที่ฟาสซิสม์ยกมาอ้างจะไม่มีประเด็น ความน่าขบขันของคนกลุ่มนี้คือเรียกร้องเสรีภาพในการพูดของตน แต่ทำลายเสรีภาพในการพูดของคนอื่นที่คิดไม่เหมือนตน สแตนลีย์เปรียบเปรยว่า
“คงไม่มีใครคิดว่าการจะตั้งคำถามได้อย่างเสรีนั้นจำเป็นต้องเปิดพื้นที่โดยเชิญนักวิจัยที่พยายามพิสูจน์ว่าโลกแบนเข้ามาอยู่ในคณะ…การเปิดพื้นที่ให้กับพวกที่เชื่อว่าโลกแบนกลับยิ่งขัดขวางการสืบสาวหาความรู้อย่างเป็นภววิสัยเสียมากกว่า
“หากจะบอกว่าการเปิดพื้นที่ให้กับเสียงแบบนี้ในห้องรับรองคณะจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับการให้เหตุผลต่อต้านอุดมการณ์ที่เป็นพิษ แต่การทำแบบนี้กลับยิ่งเป็นการบ่อนทำลายการถกเถียงแบบใช้สติปัญญา เพราะมันนำไปสู่การทำลายการสื่อสารและการตะโกนด่าทอกันเสียมากกว่า”
ฟาสซิสม์เชื่อว่าคนไม่เท่ากันเพราะธรรมชาติไม่ได้ทำงานแบบนั้น คนผิวขาวเหนือกว่าคนผิวดำ ผู้ชายเหนือกว่าเพศอื่นๆ ชนชั้นสูงย่อมดีกว่าชนชั้นต่ำ คนพวกนี้จึงมองเสรีนิยมประชาธิปไตยเป็นปีศาจเพราะมันทำลายช่วงชั้นในสังคมและผู้ที่พยายามเผยแพร่แนวคิดนี้คือศัตรูของชาติ
พวกเขายังบูชากฎหมายและความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะกฎหมายที่ปกป้องความเชื่อของกลุ่มตน กติกาที่รักษาความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น กฎที่ธำรงขนบจารีตของชาติ แค่การดำรงอยู่ของผู้เห็นต่างก็ถือเป็นอาชญากรรมโดยตัวมันเองที่ต้องจัดการ พวกเขาจะพร่ำพูดเพียงว่าต้องทำตามกฎหมายๆๆ ถ้าไม่อยากติดคุกก็แค่อยู่เงียบๆ
ผู้เขียนใช้ภาษาค่อนข้างง่ายเมื่อเทียบกับประเด็นซับซ้อนที่ต้องการสื่อ พร้อมกับมีตัวอย่างสถานการณ์รอบโลกทั้งในอดีตและปัจจุบันประกอบ ช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าฟาสซิสม์ทำงานอย่างไร จุดที่หนังสือไม่ได้กล่าวถึงเพราะไม่ใช่แกนหลัก แต่ผมเห็นว่าสำคัญก็คือการผงาดของฟาสซิสม์ในสังคมเสรีนิยมประชาธิปไตย
ในอเมริกาฯ อินเดีย บราซิล หรือที่ใดก็ตาม ผู้นำฟาสซิสม์ขึ้นสู่อำนาจผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ต่อให้บอกว่าเป็นเพราะพวกเขาใช้กลวิธีต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้จนได้รับชัยชนะทางการเมืองก็ตาม แต่ถึงที่สุดพวกเขาก็ถูกเลือกจากประชาชนเสียงส่วนใหญ่ในประเทศอันเป็นกติกาที่ถูกต้องชอบธรรม เกิดสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกซึ่งเป็นจุดที่ระบอบประชาธิปไตยถูกโจมตีเสมอมา
ผมมีเพดานจำกัดที่จะตอบคำถามทางรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนขนาดนี้
แต่พอมองกลับไปที่สหรัฐฯ เมื่อครั้งที่โดนัลด์ ทรัมป์พ่ายแพ้การเลือกตั้งแล้วพยายามสร้างสถานการณ์เพื่อประกาศภาวะฉุกเฉินให้กองทัพเข้าควบคุมสถานการณ์เพื่อเขาจะได้อยู่ในตำแหน่งต่อซึ่งไม่ต่างอันใดกับการทำรัฐประหาร ปรากฏว่ากองทัพไม่เอาด้วย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.มาร์ค มิลลีย์ ระบุว่า ‘จะไม่ยอมทำตามคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม และเหล่า ผบ.ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน โดยจะไม่ยอมลาออก แต่จะสู้จนถูกไล่ออก และเหล่า ผบ.ก็ได้ตกลงเช่นนี้เพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตยของอเมริกา’ (อ้างอิงจาก mgronline.com) มันทำให้เห็นว่าการปกป้องระบบให้คงอยู่คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ประชาชนได้เรียนรู้และแก้ไขความผิดพลาดของตนเอง
หากวันนั้นกองทัพเลือกรับใช้โดนัลด์ ทรัมป์มากกว่าประชาชน การเมืองสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไรก็ตอบยาก การป้องกันสังคมจากการครอบงำของฟาสซิสม์คงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการปกป้องระบบ ไม่ใช่การทำลายมันโดยอ้างความดีงามใดๆ