อนุสาวรีย์ขนาดใหญ่รูปทรงแปลกตาซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าห้องสมุดประชาชน House of Wisdom สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จเนื่องในโอกาสที่เมืองชาร์จาห์ (Sharjah) ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้รับเลือกจาก UNESCO ให้เป็นเมืองหนังสือโลก (World Book Capital) เมื่อปี 2019
ประติมากรรมขนาด 36 เมตร ชิ้นนี้ มีชื่อว่า ‘The Scroll’ ออกแบบโดยศิลปินชื่อดังชาวอังกฤษ เจอร์รี ยูดาห์ (Gerry Judah) ทำจากเหล็ก 72 ตัน ตัดแต่งให้เป็นรูปทรงด้วยเลเซอร์ที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ และทาสีหลายชั้นเพื่อป้องกันความเสียหายจากพายุทรายและการกัดเซาะของสภาพอากาศ
แรงบันดาลใจของประติมากรรมชิ้นนี้ มาจากม้วนหนังสือภาษาอาหรับโบราณ มีรูปทรงคล้ายเปลวไฟหมุนเกลียวพุ่งสู่ท้องฟ้า สื่อถึงพลังอันยั่งยืนของหนังสือและการอ่านที่หลอมรวมผู้คนเข้าด้วยกัน ความหมายดังกล่าวสอดรับกับแนวคิดของห้องสมุดสาธารณะ House of Wisdom แห่งนี้ ที่ได้ชื่อว่าเป็นจุดศูนย์กลางความรู้แห่งใหม่ของเมืองชาร์จาห์ เมืองหลวงด้านวัฒนธรรมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ท่วงทำนองแห่งสถาปัตยกรรม
ห้องสมุดประชาชน House of Wisdom ได้รับการพัฒนาโดยหน่วยงานด้านการลงทุนและพัฒนาโครงการแห่งเมืองชาร์จาห์ ตั้งอยู่ห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร ใกล้กับสนามบินนานาชาติชาร์จาห์และมหาวิทยาลัยชาร์จาห์ ห้องสมุดประชาชนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเขตพื้นที่พัฒนาใหม่เพื่อส่งเสริมให้เมืองชาร์จาห์กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษา วัฒนธรรม และอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ เริ่มก่อสร้างในปี 2019 และเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2020
บนพื้นที่กว่า 12,000 ตารางเมตร ภายใน House of Wisdom ได้รับการออกแบบอย่างมีจุดมุ่งหมายและเน้นความสอดคล้องกันราวกับบทกวีที่คมคาย ผ่านกระบวนการทำงานและออกแบบโดยสตูดิโอชื่อดังอย่าง Foster + Partners ด้วยสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างแห้งแล้งของพื้นที่ ทำให้ตัวอาคารเน้นการระบายและป้องกันความร้อน โดยยังคำนึงถึงการสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย โครงสร้างอาคารสองชั้นห่อหุ้มด้วยผนังกระจกโดยรอบ บนหลังคาผืนใหญ่มีชายคายาว 15 เมตรยืนออกมาเพื่อบังแสงส่วนหน้าตลอดทั้งวัน ผนังด้านนอกของอาคาร (facade) มีลักษณะเป็นแผ่นอลูมิเนียมเรียงเป็นแถว เว้นระยะพอเหมาะเพื่อกรองแสงแดดที่ที่พาดผ่านในตอนเย็น นอกจากนี้บริเวณพื้นที่ชั้น 1 ยังมีฉากกั้นไม้ไผ่ที่สามารถเคลื่อนย้ายหรือเปิด-ปิดได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
พื้นที่ด้านนอกอาคารแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็น ‘สวนแห่งความรู้’ ออกแบบโดยเน้นรูปทรงเรขาคณิต มีทางเดินที่ให้ร่มเงาและเป็นที่ตั้งของประติมากรรม The Scroll ส่วนด้านหลังเป็นสวนและสนามเด็กเล่นซึ่งรวบรวมพันธุ์ไม้พื้นเมืองหลากหลายชนิด
เมื่อเข้ามาภายในตัวอาคาร จะพบกับโถงต้อนรับขนาดใหญ่ พื้นที่ทุกส่วนเปิดโล่งถึงกันเพื่อเชื่อมพื้นที่ภายนอกและภายในเข้าด้วยกัน ให้ความรู้สึกโอ่โถง สบายตา ผู้ออกแบบใช้วิธีวางโครงสร้างหลักขนาดใหญ่ (core) บริเวณ 4 มุมของอาคาร ทำให้สามารถรับน้ำหนักได้ทั่วถึงโดยไม่ต้องมีเสาภายในอาคาร ปล่องโครงสร้างสองปล่องใกล้กับทางเข้า ใช้เป็นบันไดหลักสำหรับสัญจรขึ้นไปบนชั้นลอยซึ่งเป็นโซนอ่านหนังสือ
โอเอซิสแห่งความรู้และการแลกเปลี่ยนทางความคิด
ห้องสมุดแห่งนี้มุ่งเน้นการหลอมรวมระหว่างสื่อดิจิทัลและการพัฒนาความรู้อย่างผสมผสาน มีพื้นที่จัดนิทรรศการ เครื่องทำหนังสืออัตโนมัติ (Espresso Book Machine: EBM) ซึ่งสามารถพิมพ์ เรียงหน้า และเข้าปกหนังสือหนึ่งเล่มภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที มีห้องปฏิบัติการ ‘Fab Lab’ ที่เพียบพร้อมด้วยอุปกรณ์ที่ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เช่น เครื่องพิมพ์ 3 มิติ นอกจากนี้ยังพื้นที่สำหรับการโปรโมตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ไว้ให้บริการด้วย
ในส่วนของห้องสมุด มีการรวบรวมหนังสือไว้กว่า 305,000 เล่ม โดย 200,000 เล่มอยู่ในรูปแบบหนังสือดิจิทัล นอกจากนี้ยังมีห้องสมุดสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ใช้ชื่อว่า ‘The Little Reader’ การออกแบบโดยรวมมุ่งให้เกิดการสอดประสานระหว่างหน้าที่ใช้งานและบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนทางความคิดและวัฒนธรรม บริเวณกลางอาคารเป็นสวนเปิดโล่ง ประดับตกแต่งด้วยพืชพันธุ์พื้นเมือง ช่วยปรับภูมิทัศน์ภายในอาคารให้มีพื้นที่สีเขียวและใกล้ชิดธรรมชาติมากยิ่งขึ้น
สำหรับพื้นที่การใช้งาน ถูกออกแบบให้เอื้อต่อความต้องการของผู้ใช้บริการหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการ ห้องละหมาด ห้องอ่านหนังสือ ห้องทำงานรวมกลุ่ม รวมถึงพื้นที่สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ มีมุมให้นั่งทำงานหรืออ่านหนังสือแบบกึ่งส่วนตัว ลักษณะเป็นห้องแยกที่ยื่นออกไปจากแนวผนัง ลอยตัวอยู่รอบลานกลางอาคาร
นอกจากนี้ยังมีที่นั่งอ่านหนังสือในสวน มุมพักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร บริการยืม-คืนหนังสือต่างห้องสมุด ลานจอดรถขนาดใหญ่ ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อดึงดูดและสร้างบรรยากาศให้ผู้ใช้บริการสะดวกสบายมากที่สุด เปรียบได้กับโอเอซิสที่ช่วยชุบชูหัวใจท่ามกลางสภาพอากาศอันแห้งแล้ง
‘บ้านแห่งภูมิปัญญา’ ในศตวรรษที่ 21
ห้องสมุดประชาชน House of Wisdom ได้รับแรงบันดาลใจจากบ้านแห่งภูมิปัญญาโบราณในกรุงแบกแดด ทำหน้าที่เป็นทั้งห้องสมุด ศูนย์รวมความรู้ และแหล่งชุมนุมทางความคิด โดยปรับการตีความใหม่สู่การเป็นศูนย์กลางความรู้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีบรรยากาศแสนสบายพร้อมเป็นแหล่งพบปะทางความคิด
ภายใต้อาคารรูปทรงเรียบง่าย แฝงไว้ด้วยแนวคิดการออกแบบอย่างชาญฉลาด สะท้อนอัตลักษณ์ของโลกอาหรับผ่านรูปลักษณ์ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทแวดล้อม มีพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและวิถีชีวิตเป็นหลัก เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับห้องสมุดในอนาคตที่ผสมผสานแหล่งความรู้ดั้งเดิมและโลกดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกัน ดังที่ เจอราร์ด เอเวนเดน (Gerard Evenden) หัวหน้าสตูดิโอผู้รับผิดชอบการออกแบบ กล่าวไว้ว่า
“House of Wisdom ในเมืองชาร์จาห์ อยู่บนพื้นฐานแนวคิดที่มองไปข้างหน้าว่าห้องสมุดในศตวรรษที่ 21 ควรจะเป็นอย่างไร การปรับตัวให้เข้ากับกระแสดิจิทัลในอนาคต เช่นเดียวกับมีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางของการเรียนรู้ ผ่านการส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี”
ที่มา
ArchDaily. House of Wisdom Library and Cultural Center. [Online]
Foster+Partners. House of Wisdom. [Online]
Lizzie Crook. Foster + Partners crowns Sharjah library with giant cantilevered roof. [Online]
Audrey Wachs. Foster + Partners completes House of Wisdom library in Sharjah, UAE. [Online]
Designboom. foster + partners opens its ‘house of wisdom’ to celebrate digital future of UAE. [Online]
SHUROOQ. House of Wisdom. [Online]
House of Wisdom. [Online]