‘ภูสูง ห้วยลึก กับฝันที่ไปไม่ถึง’ ย้อนความคิดคำนึง บันทึกการต่อสู้จากเมืองสู่ป่า

510 views
7 mins
October 10, 2023

          หลายปีมานี้ มีหนังสือเกี่ยวกับความคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 รวมถึงเรื่องราวการต่อสู้ในเขตป่าเขาและบทบาทของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่เข้าร่วมขบวนปฏิวัติกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ให้เลือกอ่านเป็นจำนวนมากและค่อนข้างหลากหลาย ทั้งที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ งานวิจัย รวมถึงงานเขียนในลักษณะบันทึกประสบการณ์ สารคดี บทสัมภาษณ์

          นอกจากนี้  ยังมีสื่อรูปแบบอื่นนอกเหนือจากหนังสือ ที่สามารถสืบค้นเข้าถึงให้เลือกอ่านหรือดูได้โดยไม่ยากนัก เมื่อเทียบกับในอดีต

          ในความเห็นส่วนตัว ดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่ที่เติบโตและเริ่มมีความคิดอ่านเป็นของตัวเองหลังรัฐประหาร 2557 จะให้ความสนใจ (และสงสัย) กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มากเป็นพิเศษ เหตุผลหนึ่งอาจมาจากภาพความรุนแรงหฤโหดเกินคาดคิด ซึ่งพวกเขาสามารถหาดูได้ทางอินเทอร์เน็ต อีกเหตุผลหนึ่งน่าจะมาจากคำอธิบายถึงที่มาและผลของเหตุการณ์ ซึ่งเต็มไปด้วยปริศนาและข้อชวนฉงนหลายเรื่อง

          มิต้องพูดถึงในตำราเรียนสมัยมัธยม ที่อาจเอ่ยถึง 6 ตุลา เพียง 1-2 บรรทัด หรือไม่ก็ข้ามไปไม่ปรากฏ จนหลายคนไม่เคยรับรู้มาก่อนว่าเคยมีเหตุการณ์ป่าเถื่อนเช่นนี้กลางเมืองหลวง

          เมื่อถูกสะกิดให้รู้ ก็อยากรู้มากขึ้น ลึกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การดู การฟัง กระทั่งในท้ายที่สุดบางคนเกิดอาการลุกโพลง ‘ตาสว่าง’

          อันที่จริง เยาวชนคนหนุ่มสาวในยุค 14 ตุลา และ 6 ตุลา นับเป็น ‘รุ่น’ ที่ตื่นรู้และเอาการเอางานกับบ้านเมืองมากที่สุดรุ่นหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย

          การศึกษา เรียนรู้ ทำความเข้าใจ บริบทสภาพแวดล้อมทางสังคมการเมืองทั้งภายในประเทศและภูมิรัฐศาสตร์โลก แล้วเชื่อมโยงมาสู่ความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นนั้น ผ่านบทบาทการเคลื่อนไหวของพวกเขาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือขุมความรู้อันมีค่าสำหรับคนรุ่นหลัง

          หนังสือ ‘ภูสูง ห้วยลึก กับฝันที่ไปไม่ถึง’ เขียนโดย สิตา การย์เกรียงไกร ก็ได้ทำหน้าที่เช่นนั้น ผ่านการเขียนที่มีลักษณะบันทึกความทรงจำ เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยที่แข็งแกร่งที่สุดของชีวิต มีความฝันและความหวังอันยิ่งใหญ่ ท่ามกลางยุคสมัยแห่งความขัดแย้งทางการเมือง

          ผู้เขียนกล่าวถึงตัวเองว่า “…ผมเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของคนหนุ่มสาวจำนวนมากในวันเวลานั้น ที่หวังว่าการทุ่มเททั้งชีวิตจิตใจของคนรุ่นเรา จะทำให้บ้านเมืองของเราดีขึ้น แต่เราเดินไปไม่ถึงความฝันนั้น”

          หนังสือเล่มนี้ มุ่งถ่ายทอดข้อเท็จจริงจากมุมมองส่วนตัวที่ประสบพบเจอ และพยายามเกี่ยวร้อยบุคคลจำนวนมากที่เข้ามาข้องเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตการต่อสู้ตามความใฝ่ฝันของผู้เขียน แต่อาจจะด้วยข้อจำกัดเนื่องจากจำเป็นต้องเขียนพาดพิงบุคคลอื่น (ให้ผู้อื่นอ่าน) จึงสังเกตได้ถึงการรักษาระยะห่างและระมัดระวังที่จะมิให้กระทบบุคคลอื่นมากเกินไป

          ยกเว้นเพื่อนหรือสหายผู้สละชีวิต จะมีรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น อันถือเป็นการรำลึกและอุทิศให้แก่นักสู้ผู้วายชนม์

          อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ดังกล่าว ไม่ใช่เป็นเหตุให้เนื้อหาหนังสือเล่มนี้บกพร่องหรือมีคุณค่าลดน้อยลงแต่อย่างใด

          สิตา มีชื่อเดิมว่า ‘ตา เพียรอภิธรรม’ เป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ ‘มอดินแดง’ เข้าเรียนเมื่อ พ.ศ. 2514 ช่วงที่เรียนอยู่ปีสาม เขาถูกลงโทษสั่งพักการเรียน 1 ปี เพราะเข้าร่วมและเป็นแกนนำการชุมนุมประท้วงขับไล่อธิการบดี

          ผลลัพธ์ของการประท้วงที่ขอนแก่นครั้งนั้น แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นไล่หลังประมาณ 6 เดือน

          เดือนมิถุนายน 2516 มีการชุมนุมประท้วงอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่สั่งลบชื่อนักศึกษาออกจากมหาวิทยาลัย สืบเนื่องจากการวิพากษ์วิจารณ์กรณีทุ่งใหญ่นเรศวร ผลของการประท้วงทำให้อธิการบดีรามฯ ในขณะนั้นต้องลาออก

          กล่าวกันว่า นี่คือการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดภายใต้รัฐบาลทหารที่ครองอำนาจสืบเนื่องยาวนานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2501 และถือว่าเป็นการสะสมชัยชนะครั้งสำคัญของขบวนการนักศึกษา ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ในอีกสี่เดือนถัดมา

‘ภูสูง ห้วยลึก กับฝันที่ไปไม่ถึง’ ย้อนความคิดคำนึง บันทึกการต่อสู้จากเมืองสู่ป่า
ภาพการชุมนุมประท้วงให้ถอนคำสั่งการลบชื่อนักศึกษา 9 คน ภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง
Photo: จดหมายเหตุดิจิทัล มหาวิทยาลัยรามคำแหง

          ห้วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สิตาใช้ชีวิตเป็นกรรมกรไซต์งานก่อสร้างที่ขอนแก่น ไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการเคลื่อนไหวใดๆ แต่เขาได้กลับเข้ามาเรียนที่มอดินแดงอีกครั้งในช่วงกระแสสูงของขบวนการนักศึกษา

          เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวในยุคเดียวกัน ศรัทธาความมุ่งมั่นแรงกล้าที่อยากเห็นสังคมมีความเป็นธรรมและดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้เขาทุ่มเทการใช้ชีวิตนักศึกษาด้วยการเอาตัวเข้าไปช่วยแก้ปัญหาความทุกข์ยากของชาวบ้านที่เผชิญกับความอยุติธรรม เช่น กรณีเผาหมู่บ้านล่องป่าบุ่น จังหวัดอุดรธานี กรณีคนไทยถูกทำร้ายโดยทหารอเมริกันหน้าค่ายรามสูร ไปจนถึงการเคลื่อนไหวขับไล่อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นครั้งที่สอง จนได้มาซึ่งกระบวนการสรรหาที่เป็นประชาธิปไตย และได้รับการยึดถือสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

          บทบาทนักกิจกรรมของสิตา ทำให้เขาเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ประท้วงชาวเวียดนามที่หนองคายและสกลนครเมื่อต้นปี 2519 (หลังจากลาวแตก เมื่อ 2 ธันวาคม 2518) เฉพาะที่หนองคายมีการปล้นบ้านคนเวียดนามในเวลากลางวันแสกๆ แบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย ราวกับบ้านเมืองไม่มีขื่อแป สาเหตุเพียงเพราะความเกลียดกลัวด้านเชื้อชาติและอุดมการณ์

          ในปีเดียวกันนี้ นักศึกษาประชาชนถูกคุกคามและใช้ความรุนแรงถึงขั้นเสียเลือดเนื้อสูญเสียชีวิตถี่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรณีที่เกิดกับนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ร้ายแรงที่สุด คือ การปาระเบิดเข้าใส่กลุ่มนักศึกษาในงานต้อนรับนักศึกษาใหม่ที่บริเวณสถานีรถไฟขอนแก่น โดยฝีมือของ ‘กลุ่มกระทิงแดง’ อันธพาลการเมืองยุคนั้น ส่งผลให้มีนักศึกษาเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก แต่กลับไม่มีการดำเนินการหาผู้รับผิดชอบการกระทำอันป่าเถื่อนเย้ยกฎหมายแต่อย่างใด

          จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

‘ภูสูง ห้วยลึก กับฝันที่ไปไม่ถึง’ ย้อนความคิดคำนึง บันทึกการต่อสู้จากเมืองสู่ป่า
ภาพบริเวณสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Photo: บันทึก 6 ตุลา
‘ภูสูง ห้วยลึก กับฝันที่ไปไม่ถึง’ ย้อนความคิดคำนึง บันทึกการต่อสู้จากเมืองสู่ป่า
Photo: บันทึก 6 ตุลา

          บรรยากาศแห่งความกลัวและความเกลียดชังอย่างสุดขั้ว บีบบังคับให้เขาและเพื่อนตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตใหม่ด้วยการเดินทางเข้าสู่ป่า เข้าร่วมกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

          เนื้อหาหลักมากกว่าครึ่งหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ เป็นการบอกเล่าชีวิตความเป็นอยู่ในเขตป่าเขา ภารกิจการสู้รบทางทหาร การเดินเท้าทางไกลระหว่างเขตงานและฐานที่มั่นตามหน้าที่ที่ถูกมอบหมาย ซึ่งผู้เขียนเรียบเรียงให้เห็นภาพได้อย่างกระชับชัด ทั้งเรื่องอาหารการกินและการดำรงชีวิตในป่า การซ้อมรบและปฏิบัติการรบจริงหลายครั้ง รวมถึงภารกิจในช่วงท้ายๆ คือการขุดเจาะภูเขาหินทำอุโมงค์เพื่อใช้เป็นที่ตั้งสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.)

          ทุกบทตอนล้วนมีผู้คนเกี่ยวข้องมากมาย หลายคนจบชีวิตลงกลางภารกิจปฏิวัติ ซึ่งผู้เขียนจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ด้วยการบันทึกประวัติโดยย่อของคนรู้จัก และบทบาทที่เปี่ยมด้วยวีรภาพอาจหาญของบุคคลนั้น เป็นการคารวะด้วยการจดจำรำลึก ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วจะเกิดวิกฤติศรัทธาในขบวนปฏิวัติ (ซึ่งไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นนี้ในหนังสือ) และผลกระทบจากการเมืองระหว่างประเทศ นำมาสู่การล่มสลายของ พคท. และการปฏิวัติสังคมต้องล้มเหลวไปในที่สุด

          เนื้อหาหลายตอนมีความตื่นเต้นและสะเทือนใจ หากไม่เขียนถึง ก็ยากที่จะมีใครรับรู้ เนื่องจากเป็นประสบการณ์ส่วนตัวหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนจำนวนจำกัด เช่น ปฏิบัติการค้นหากระดูกเพื่อนที่เสียชีวิตและถูกฝังไว้ในป่าเขตเชื่อมต่อระหว่างเทือกเขาน้ำหนาว ภูกระดึง และดงลาน ซึ่งใช้เวลาค้นหาตำแหน่งหลุมฝังศพอยู่นานจนแทบถอดใจ แต่ก็เกิดปาฏิหาริย์ที่สามารถนำกระดูกขึ้นมาฌาปนกิจและส่งเพื่อนกลับบ้านได้สำเร็จ…

          การหยิบจับอาวุธสงครามครั้งแรกที่เกือบเด็ดชีวิตเพื่อนรัก… ภารกิจกู้ทุ่นระเบิดที่เฉียดเอาชีวิตตนเองไปทิ้งกลางสมรภูมิ… การเดินทางลัดเลาะตะเข็บชายแดนสามประเทศ… การ ‘เสียลับ’ จนเกือบถูกเจ้าหน้าที่ทางการไทยไล่ติดตามจับกุมได้ทัน… และเรื่องของพ่อเฒ่าม้งที่สละชีวิตหมาล่าเนื้อคู่ใจให้เป็นอาหารโปรตีนสำหรับเขาได้รอดตายในยามป่วยหนักด้วยไข้ไทฟัส…

          แม้เวลาจะล่วงเลยมานานมากกว่า 40 ปี แต่ความสามารถของผู้เขียนในการจดจำวัตรปฏิบัติ รายละเอียดความเป็นอยู่ ภาระหน้าที่ และชื่อเสียงเรียงนามของแต่ละบุคคลที่หมุนเวียนผ่านเข้ามาในช่วงชีวิตทหารป่า นับเป็นสิ่งที่น่าทึ่ง สะท้อนถึงความทรงจำที่ประทับฝังแน่น ซึ่งหากไม่มีการเขียนบันทึกเรียบเรียงเอาไว้ ก็น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ข้อมูลเหล่านี้จะสูญหายลบเลือนไป

           ‘ภูสูง ห้วยลึก กับฝันที่ไปไม่ถึง’ เป็นความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์จริง ผู้เขียนเขียนขึ้นในวัยวันแห่งชีวิตที่ตกผลึกแล้ว จึงไม่มีร่องรอยอาการฟูมฟายโหยหา แม้แต่ความรู้สึกเมื่อตัดสินใจก้าวลงจากภูมุ่งสู่เมือง ในยามที่ความหวังและความฝันวูบวับดับหาย สิตาก็เขียนบรรยายเอาไว้เพียงสั้นๆ ว่า “สิ้นหวัง พ่ายแพ้ วังเวง ไร้ตัวตน”

          เป็น 4 คำที่รวบรัดหมดจด และดูเหมือนเป็นความรู้สึกร่วมของผู้ที่ผ่านสัมผัสประสบการณ์ชุดเดียวกันเท่านั้น จึงจะเข้าอกเข้าใจ

          การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมไทยอาจจะยังไม่สิ้นสุด แต่การต่อสู้ของคนรุ่นหนึ่ง (บ้างก็เรียกว่า ‘คนเดือนตุลา’) นั้นกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว

          มิใช่ประวัติศาสตร์เพื่อการท่องจำ โหยหา ยึดติด

          แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต มีไว้เรียนรู้ ทบทวน ตีความ หาคำอธิบายที่ปราดเปรื่องแหลมคมให้เกิดความงอกเงยทางปัญญา

          เป็นมรดกความคิด สำหรับคนรุ่นหลังได้ถกเถียงแลกเปลี่ยน และช่วยกันปลูกสร้างพื้นที่สำหรับคนคิดเห็นแตกต่างที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก