คุณค่าที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังห้องสมุดยุคใหม่ในแคนาดา

1,346 views
15 mins
March 4, 2021

          เป็นเวลากว่าสิบปีมาแล้วที่ห้องสมุดประชาชนในโลกตะวันตกต่างก็ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ปี 2553 เพียงปีเดียวห้องสมุดในประเทศอังกฤษปิดตัวลงไปนับร้อยแห่ง อีกหลายแห่งต้องลดชั่วโมงการให้บริการ บรรณารักษ์จำนวนมากถูกแทนที่ด้วยอาสาสมัคร ในประเทศเบลเยียมถึงกับมีการจัดตั้งกลุ่มที่ปรึกษาใช้ชื่อว่า “Public Libraries 2012” เพื่อท้าทายแนวคิดอันล้าสมัยของห้องสมุดแบบเดิมและแสวงหาทางรอดให้กับห้องสมุดประชาชน ในอเมริกาเหนือ สัดส่วนเจ้าหน้าที่ต่อจำนวนผู้ใช้ลดลงทุกแห่งตั้งแต่ปี 2555 เช่นเดียวกับปริมาณผู้ใช้บริการและจำนวนผู้เยี่ยมชม

          ความโกลาหลอลหม่านเช่นนี้เกิดขึ้นนานนับปี สร้างความหวั่นไหวให้กับผู้คนในวงการและคนที่ยังหลงใหลในคุณค่าและบรรยากาศของห้องสมุด

          จะว่าไปแล้ว สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับห้องสมุดก็เกิดขึ้นในทุกวงการธุรกิจ เนื่องจากผลกระทบของ“สภาวะพลิกผัน” หรือ Disruption ทางเทคโนโลยี ดังเช่นกรณีรถแท็กซี่กับอูเบอร์ โรงแรมที่พักกับแอร์บีเอ็นบี และร้านเช่าหรือจำหน่ายวิดีโอกับเน็ตฟลิกซ์

          ในส่วนของห้องสมุดยุคเทคโนโลยีพลิกผัน ผู้กำหนดนโยบายหรือรัฐบาลหลายประเทศจึงมักตั้งคำถามว่า ทำไมต้องเสียงบประมาณค่าใช้จ่ายไปกับการซื้อหนังสือ ในเมื่อคนส่วนใหญ่สามารถอ่านหนังสือได้ผ่านทางออนไลน์

          สำหรับคนในวงการห้องสมุดแล้ว ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่มีจริตและความถนัดเพียงพอในการโน้มน้าวเหล่านักการเมืองให้เห็นถึงประโยชน์ของห้องสมุดที่มีต่อสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาว (หรือแม้แต่ในระยะสั้น) สิ่งที่พวกเขาทำได้ดีที่สุดเพื่อความอยู่รอดก็คือการปรับตัวเองให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง

          เมื่อฝุ่นของความตระหนกจางลง ความคิดสติปัญญาที่นำไปสู่เส้นทางของการทดลองก็เริ่มขึ้น และในเวลาเพียงไม่ถึงสิบปี ผลลัพธ์ของการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตนเองก็บังเกิดและออกดอกออกผลอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

จับตาห้องสมุดแคนาดา

          ในประเทศแคนาดา ห้องสมุดที่นี่ก็ได้รับผลกระทบไม่แตกต่างไปจากประเทศอื่น ทว่า องค์ความรู้และบทเรียนที่มีการถ่ายทอดแบ่งปันระหว่างกันข้ามพรมแดนข้ามภาคพื้นทวีปได้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับห้องสมุดในฟากฝั่งยุโรป

          เมื่อกลางปี 2561 ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยไฮริคไฮน์ ดุสเซลดอร์ฟ (Heinrich Heine University Düsseldorf) ได้จัดอันดับให้แคนาดาเป็นประเทศที่มีระบบห้องสมุดประชาชนที่ดีที่สุด จากการสำรวจห้องสมุดใน 30 เมืองสำคัญทั่วโลก เพราะมีห้องสมุดจากเมืองสำคัญในแคนาดาติดอยู่ใน 10 อันดับแรกถึง 3 เมือง ได้แก่ มอนทรีอัล โตรอนโต และแวนคูเวอร์

          ผลการสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของห้องสมุดแคนาดา จากเดิมที่ประสบปัญหาผู้ใช้บริการลดลง ถูกตัดงบประมาณ การให้บริการไม่สอดคล้องกับความต้องการ ไม่ต่างไปจากห้องสมุดทั่วโลก มาสู่ห้องสมุดยุคใหม่ที่ผ่านกระบวนการแปลงสภาพ (transform) ตั้งแต่ระดับปรัชญาวิธีคิด วิธีการบริหาร รูปแบบการให้บริการ ทรัพยากรที่มีให้บริการ การจัดพื้นที่เชิงกายภาพ ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยี

การเข้าถึง ประชาธิปไตย ความเท่าเทียม

          ห้องสมุดเมืองโตรอนโต มีจุดเด่นคือการให้บริการด้านดิจิทัลอย่างทั่วถึงทั้งห้องสมุด ว่ากันว่าเมื่อเทียบกับห้องสมุดที่นิวยอร์ก ชิคาโก อัมสเตอร์ดัม และโตเกียว เหล่านี้ยังมีบริการดิจิทัลภายในพื้นที่กายภาพน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ นอกจากนั้นคุณภาพของการให้บริการด้านดิจิทัลของห้องสมุดเมืองโตรอนโตยังเทียบเคียงได้กับห้องสมุดประชาชนชั้นนำในเบอร์ลิน ปารีส เวียนนา และสต็อกโฮล์ม ทุกวันนี้จึงมีประชากรกว่า 70% ของโตรอนโตหวนกลับมาใช้ห้องสมุดประชาชน เพราะมีหนังสือ อีบุ๊ค ซีดี ดีวีดี กว่า 40 ภาษา ให้บริการรวมแล้วมากกว่า 10 ล้านรายการ

          แต่ก็ใช่ว่าห้องสมุดเมืองโตรอนโตจะเน้นบริการดิจิทัลจนละเลยกิจกรรมในพื้นที่ เพราะห้องฉายภาพยนตร์ขนาด 575 ที่นั่งนั้นมีกิจกรรมและงานอีเวนต์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และแทบทุกกิจกรรมได้รับความสนใจอย่างสูงจนถึงกับมีคำแนะนำผู้ใช้ห้องสมุดให้จองที่นั่งล่วงหน้า ตัวอย่างเช่นเมื่อเร็วๆ นี้ในการบรรยายของ ร็อกซาน เกย์1 ปรากฏว่าที่นั่งของห้องประชุมถูกสำรองล่วงหน้าหมดเกลี้ยงภายในเวลา 88 วินาทีเท่านั้น

          การให้บริการที่เป็นมิตรและความสะดวกสบายยังเป็นอีกเหตุผลหนึ่งซึ่งดึงดูดให้ผู้คนหันกลับมาหาห้องสมุด เช่น อนุญาตให้นำขนมขบเคี้ยวเข้าไปทานได้ มีมุมกาแฟที่ตกแต่งผนังด้วยคำคมของบาลซัก2 และจำหน่ายกาแฟออร์แกนิกแบรนด์การันตีโดยมาร์กาเร็ต แอตวูด3 (ขนมขบเคี้ยวกับกาแฟออร์แกนิกอาจจะไม่ค่อยเข้ากันเท่าไหร่เมื่อเทียบกับห้องสมุด Grande Bibliothèque ในมอนทรีอัล ที่มีบริการจำหน่ายอาหารเย็นคือ รีซอตโต้กับไวน์4)

          ห้องสมุดเมืองโตรอนโตพยายามขยายการเข้าถึงการเรียนรู้รูปแบบอื่น นอกเหนือการอ่าน ด้วยการสร้างพื้นที่เฉพาะโดยไม่คิดค่าบริการ เช่น โรงเรียนศิลปะ ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ เมกเกอร์สเปซ (ที่เรียกชื่อว่า “Innovation Hub”) สตูดิโอสำหรับอัดรายการพอดแคสต์ และฉากเขียว (green screen) สำหรับการถ่ายทำวิดีโอหรือภาพนิ่ง มีเครื่องพิมพ์หนังสือเพื่อให้บริการประเภท self-publishing รวมไปถึงการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Hand-a-thons ซึ่งมีนักเรียนจำนวนมากให้ความสนใจเข้ามาใช้เครื่องพิมพ์สามมิติและบอร์ดอาร์ดูอิโน[5] สำหรับการประดิษฐ์แขนเทียม

ห้องสมุดกลางโตรอนโต (Toronto Central Library) มลรัฐออนแทริโอ หนึ่งในสามลำดับแรกของห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ห้องสมุดกลางโตรอนโต (Toronto Central Library) มลรัฐออนแทริโอ หนึ่งในสามลำดับแรกของห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Photo: Enoch Leung from Canada, CC BY-SA 2.0, via Wikimedia Commons

          วิกเคอรี โบว์ลส (Vickery Bowles) หัวหน้าบรรณารักษ์บอกว่า การเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศและเส้นทางการเรียนรู้ที่หลากหลายคือการสร้างความเท่าเทียมของศตวรรษที่ 20 แต่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ผู้คนพึ่งพิงการเข้าถึงบริการออนไลน์มากขึ้น บรรณารักษ์จึงต้องเข้าใจการใช้งานเทคโนโลยีและนำมาอำนวยความสะดวกสำหรับการให้บริการและใช้บริการให้มากขึ้น

          เธอยังบอกอีกว่าห้องสมุดประชาชนมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างพลเมืองเข้มแข็ง การสนับสนุนภาคประชาสังคม และการเป็นสถาบันที่ธำรงรักษาคุณค่าและหลักการประชาธิปไตย จึงมิใช่เรื่องแปลกที่แผนกต้อนรับด้านหน้าห้องสมุดจะมีโปสเตอร์เขียนว่า “ติดต่อสอบถามข้อมูลการตั้งถิ่นฐานในแคนาดา สำหรับผู้อพยพรายใหม่” โดยมีเจ้าหน้าห้องสมุดคอยให้ความช่วยเหลือ “ผู้มาใหม่” ในการสืบค้นข้อมูลคำขอการเป็นพลเมือง การแนะนำชั้นเรียนภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ข้อมูลการเคหะและที่อยู่อาศัย การจ้างงาน และการรักษาพยาบาล หรือแม้แต่กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการก็ยังมีหัวข้อเรื่อง “การบริหารและจัดการรณรงค์เลือกตั้ง” เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม ห้องสมุดต้องระมัดระวังที่จะไม่แสดงออกมากเกินไปว่าเข้าข้างกลุ่มหรือพรรคการเมืองใดเป็นพิเศษ เพราะงบประมาณมากกว่า 90% จากงบประมาณทั้งหมดราว 200 ล้านเหรียญต่อปี มาจากสภาเมือง ที่เหลือได้รับจัดสรรมาจากองค์การบริหารท้องถิ่นระดับมลรัฐ

          ช่วงปี 2560-2561 รัฐบาลท้องถิ่นตัดงบประมาณห้องสมุดโตรอนโตเป็นเงินจำนวน 1.4 ล้านเหรียญ สวนทางกับแผนลงทุนระยะ 3 ปี (2561-2563) ของห้องสมุดที่จะขยายสาขาไปยังพื้นที่ห่างไกล วงเงินลงทุน 51 ล้านเหรียญ และอีก 28 ล้านเหรียญกับโครงการจัดทำห้องสมุดประชาชนดิจิทัล (Digital Public Library) สำหรับผู้พักอาศัยอยู่ในรัฐออนแทริโอ[6]

          ห้องสมุดจึงต้องหาทางเพิ่มแหล่งที่มาของเงินทุนใหม่ อาทิการชักจูงภาคเอกชนเพื่อร่วมเป็นพันธมิตรและให้การสนับสนุนเงินทุนหรืออื่นๆ เช่น บริษัท Cisco Canada ที่คอยจัดหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับห้องสมุดเมืองโตรอนโต หรือการหารือกับไซด์วอล์กแล็บ (Sidewalk Labs) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทอัลฟาเบต (Alphabet Inc.)[7] ที่มีแผนจะพัฒนาพื้นที่ประมาณ 30 ไร่เศษย่านวอเตอร์ฟรอนต์โตรอนโต (Waterfront Toronto) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมที่ถูกทิ้งร้างทางฝั่งตะวันออกของเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และคาดว่าห้องสมุดอาจเข้าไปมีส่วนร่วมกับโครงการนี้ด้วย

เสรีภาพ อิสรภาพ ความยืดหยุ่น

          เมื่อปี 2554 มหาวิทยาลัยคัลการี เมืองคัลการี (Calgary) ทางตอนใต้ของมลรัฐแอลเบอร์ตา ได้เปิดอาคารแห่งใหม่สำหรับเป็นที่ตั้งของห้องสมุดมหาวิทยาลัย โรงพิมพ์มหาวิทยาลัย ห้องจัดแสดงศิลปะ ห้องจดหมายเหตุและหนังสือเฉพาะ (special collections) โดยเรียกชื่อห้องสมุดและอาคารใหม่หลังนี้ว่า ห้องสมุดดิจิทัลครอบครัวเทย์เลอร์ (Taylor Family Digital Library) หรือ TFDL

          ก่อนหน้านี้ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยคัลการีถูกเรียกตามชื่อตึกเรียนที่ห้องสมุดโยกย้ายไปอยู่ จนกระทั่งเกิดโครงการจัดสร้างอาคารห้องสมุดหลังใหม่เมื่อปี 2549 เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีของมหาวิทยาลัย โดยมีดอนและรูธ เทย์เลอร์ เป็นผู้บริจาคเงินจำนวน 25 ล้านเหรียญ ซึ่งอีกสองปีต่อมารัฐบาลท้องถิ่นได้จัดสรรงบประมาณสมทบเพิ่มเข้ามาอีกจำนวน 97 ล้านเหรียญเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัยทั้งระบบ รวมถึงโครงการจัดสร้างอาคารห้องสมุด TFDL นี้ด้วย

         การก่อสร้างใช้เวลาระหว่างปี 2551-2554 และเปิดใช้อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2554 และในปี 2557 TFDL ได้รับรางวัลห้องสมุดประหยัดพลังงานอันเนื่องมาจากการนำระบบระบายอากาศแบบใหม่มาทดแทนอุปกรณ์ฮีทเตอร์ของเดิมทั้งหมด

         ห้องสมุดดิจิทัลครอบครัวเทย์เลอร์มีขนาด 24,000 ตารางเมตร ออกแบบโดยบริษัท Kasian Architects ประกอบด้วยห้องทำงานหรือเรียนรู้เป็นกลุ่มจำนวน 29 ห้อง พร้อมจอขนาดใหญ่ติดผนัง แต่ละห้องจุได้ 4-8 คน และมีห้องประชุมใหญ่อีก 6 ห้อง พร้อมเครื่องฉายภาพติดเพดาน ใช้สำหรับการนำเสนองาน จัดประชุมสัมมนา หรือแม้แต่การสนทนาโต้ตอบผ่านสไกป์ นักศึกษาสามารถจองใช้ห้องได้ผ่านระบบทัชสกรีนที่มีให้บริการอยู่ทุกชั้นของอาคารห้องสมุด

         TFDL ถูกพัฒนามาจากพื้นที่สารสนเทศ (Information Commons) ที่ก่อนหน้านี้ได้รับความนิยมอย่างสูงภายในมหาวิทยาลัย เพราะมีบรรยากาศและสื่อสารสนเทศให้ยืมใช้ได้อย่างหลากหลายและเพียงพอ เมื่อมีการปรับปรุงใหม่ให้ใหญ่โตขึ้น แนวคิดคล้ายๆ กันนี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวตั้ง ผนวกเข้ากับรูปแบบห้องสมุดดิจิทัล เน้นให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศซึ่งเป็นฐานข้อมูลดิจิทัล ทั้งที่เป็นข้อเขียน ภาพ สไลด์ รวบรวมอยู่ในที่เดียวเหมือนกับพิพิธภัณฑ์หรือหอจดหมายเหตุ โดยสามารถเรียกใช้ได้อย่างสะดวก มีความปลอดภัย และมีคนคอยให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือในการสืบค้นหรือใช้อุปกรณ์

          จำนวนทรัพยากรที่เป็นหนังสือ และสื่อรูปแบบอื่นๆ ทั้งภาพและเสียง รวมแล้วมีมากกว่า 10 ล้านรายการ จำเป็นต้องมีพื้นที่และระบบจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพ คลังเก็บหนังสือและสื่อสารสนเทศที่ไม่ได้ถูกนำออกมาให้บริการ เป็นห้องที่มีความสูงจากพื้นจรดเพดานถึง 9 เมตร ชั้นหนังสือสามารถขยายตามแนวตั้งได้ตามความสูงของห้อง โดยมีรถยกสำหรับขนย้ายหนังสือ ระบบจัดเก็บในคลังใช้วิธีแยกหนังสือออกเป็นตามขนาด เล่มเล็กเก็บไว้ที่ชั้นหนังสือขนาดเล็ก เล่มใหญ่เก็บบนชั้นขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงมีพื้นที่ว่างสูญเสียน้อยมาก

          แนวคิดการใช้งานแบบยืดหยุ่น (flexible) ทำให้เฟอร์นิเจอร์ห้องสมุดถูกออกแบบให้สามารถเคลื่อนย้ายได้ ไม่ยึดติดพื้น นักศึกษาสามารถเคลื่อนย้ายโต๊ะเก้าอี้ไปตั้งวางที่ไหนก็ได้อย่างอิสระ มีโต๊ะเก้าอี้แบบนั่งเป็นกลุ่ม บางชั้นออกแบบที่นั่งเป็นเก้าอี้บาร์ (นั่งเรียงกันเป็นแถว)

          TFDL ออกแบบโดยผ่านการสำรวจรูปแบบมาจากห้องสมุดเพื่อการศึกษาทั่วโลก เช่น สก็อตแลนด์ ออสเตรเลีย เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งมีการสำรวจความต้องการของนักศึกษา ห้องสมุดแห่งนี้จึงมีปลั๊กไฟทุกที่นั่ง มีเครื่องรับคืนและคัดแยกหนังสืออัตโนมัติที่รวดเร็วที่สุดตั้งอยู่บนชั้น 2 ด้วยการใช้ระบบ RFID ทำให้หนังสือถูกส่งกลับขึ้นมาวางบนชั้นเพื่อให้บริการต่อได้อย่างรวดเร็วขึ้นกว่าที่ผ่านมา

          ตู้กดหยอดเหรียญของ TFDL ก็ไม่ได้มีเพียงขนมขบเคี้ยว หมากฝรั่ง หรือน้ำอัดลมกระป๋อง จำหน่ายเท่านั้น แต่ยังมีของอย่างเช่น แฟลชไดรฟ์ แบตเตอรี่ขนาด AA เครื่องคิดเลข กุญแจล็อคเครื่องแล็บท็อป รวมถึงยาแก้ปวดหัว อีกด้วย

          ทำไมจะไม่ได้ล่ะ ก็ของพวกนี้นักศึกษาที่ใช้งานห้องสมุดเขาก็ต้องการเหมือนกันมิใช่หรือ?

เสียงดังรบกวน เรื่องจุกจิกกวนใจที่แก้ไขได้

          อย่างไรก็ตาม ความอิสระของผู้ใช้และและความยืดหยุ่นของเฟอร์นิเจอร์เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ห้องสมุดยุคใหม่หลายแห่งต้องใช้เวลาอย่างมากในการบริหารจัดการพื้นที่ให้ก่อเกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะว่าเฟอร์นิเจอร์จะอยู่ไม่เป็นที่เป็นทางจนดูยุ่งเหยิง ทำให้คาดการณ์ได้ยากว่าจะใช้พื้นที่ตรงไหนอย่างไรและเพื่อใครในแต่ละช่วงเวลาของวัน รวมถึงอีกปัญหาหนึ่งที่ตามมาคือเสียงรบกวนจากการเดินขวักไขว่และการพูดคุย

          ในประเด็นแรก มีข้อเสนอให้เจ้าหน้าที่ห้องสมุดและผู้ใช้บริการต้องมาวางแผนร่วมกันว่าจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ (อิสระ) เหล่านี้อย่างไรจึงจะมีประสิทธิผลที่สุด และวางกติกาที่ผู้ใช้ทุกกลุ่มยอมรับได้ ขณะที่ประเด็นเรื่องเสียงรบกวน บางห้องสมุดดังเช่น TFDL แก้ปัญหาด้วยการจัดพื้นที่บางส่วนให้มีเพียงโต๊ะอ่านหนังสือขนาดเล็กสำหรับนั่งทำงานคนเดียว ไม่อนุญาตให้เคลื่อนย้ายโต๊ะมานั่งรวมกลุ่มกัน กระนั้นก็ดี ผู้ใช้ก็มีอิสระที่จะเคลื่อนย้ายโต๊ะขนาดเล็กไปนั่งตรงไหนก็ได้เพื่อนั่งอ่านหรือทำงานคนเดียว

          อันที่จริง ปัญหาเสียงดังรบกวนเกิดขึ้นกับห้องสมุดยุคใหม่แทบทุกแห่งที่ออกแบบโดยเน้นแนวคิดเปิดโล่งยืดหยุ่น ห้องสมุดกลางแห่งใหม่ที่เมืองฮาลิแฟกซ์ (Halifax Central Library) มลรัฐโนวาสโกเทีย เปิดให้บริการเมื่อปี 2557 มีพื้นที่สำหรับจัดการแสดงขนาด 300 ที่นั่ง ร้านกาแฟ 2 ร้าน ห้องเล่นเกม สตูดิโออัดเสียงและดนตรี ห้องเรียนภาษาสำหรับผู้ใหญ่ ห้องประชุมขนาดเล็กสำหรับนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการ

          ในส่วนพื้นที่การแสดงขนาด 300 ที่นั่งถูกออกแบบให้เหมือนกับเป็นพื้นที่กลางแจ้ง ที่นั่งชมเป็นขั้นบันได แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ 200 ที่นั่ง และ 100 ที่นั่ง ด้านข้างเป็นห้องพักนักแสดงหรือนักดนตรี (green room) การออกแบบในลักษณะนี้ไม่เพียงแต่ใช้สำหรับการแสดงเท่านั้น แต่ยังสามารถจัดกิจกรรมเต้นรำ นิทรรศการ และอีเวนต์ได้เกือบทุกประเภท แม้แต่ปรับให้เป็นห้องสอนหรือบรรยายสำหรับมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ซึ่งเปิดให้คนนอกเข้ามาเรียนหรือนั่งฟังก็ได้

ความพลุกพล่านในพื้นที่เปิดโล่งของห้องสมุดกลางฮาลิแฟกซ์ มลรัฐโนวาสโกเทีย
ความพลุกพล่านในพื้นที่เปิดโล่งของห้องสมุดกลางฮาลิแฟกซ์ มลรัฐโนวาสโกเทียความพลุกพล่านในพื้นที่เปิดโล่งของห้องสมุดกลางฮาลิแฟกซ์ มลรัฐโนวาสโกเทีย
Photo: Nlapierre, CC0, via Wikimedia Commons

          จะเห็นว่าพื้นที่ใช้งานของที่นี่ย่อมนำมาซึ่งเสียงดังรบกวนคนอ่านหนังสืออยู่เสมอ สถาปนิกผู้ออกแบบแนะนำว่าถ้าต้องการอ่านหนังสือเงียบๆ ก็ออกไปนั่งห่างๆ จากพื้นที่จัดกิจกรรม (สิวะ!) หรือถ้าใครอยากได้ยินเสียงว่าเขามีกิจกรรมหรือพูดคุยอะไรกันก็ขยับเข้ามานั่งใกล้ๆ ข้อเสนอนี้ฟังดูออกจะกำปั้นทุบดิน แต่ก็เป็นวิธีที่ง่ายๆ ตรงไปตรงมาที่สุด

          อย่างไรก็ตาม ทีมงานออกแบบก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหานี้ และพยายามหาทางแก้ปัญหาเท่าที่ทำได้ เช่น ในส่วนพื้นที่ที่เปิดโล่งระหว่างห้องต่างๆ ซึ่งมักมีผู้ใช้เดินไปมาตลอดเวลา ก็นำแผ่นยางมาปูพื้นทางเดินและบันไดเพื่อลดเสียงจากรองเท้ากระทบกับพื้นไม้ ส่วนเพดานที่มีคานแนวเส้นตรงนั้นว่ากันว่ามีคุณสมบัติในการดูดซับเสียงได้ น่าจะเป็นตัวช่วยให้ลดความน่ารำคาญจากเสียงดังไปได้บ้างพอสมควร

          ห้องสมุดกลางแวนคูเวอร์ (Vancouver Central Library) ก็ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ใช้เรื่องเสียงดังรบกวนจากพื้นที่อ่านสำหรับเด็ก เนื่องจากเป็นห้องสมุดที่ออกแบบให้โปร่งเปิดโล่งมองเห็นถึงกัน แม้จะเรียกได้ไม่เต็มปากนักว่าเป็นห้องสมุดยุคใหม่เนื่องจากสร้างเสร็จมาตั้งแต่ปี 2538 แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาเสียงดังรบกวนมาตลอดยี่สิบกว่าปี เกิดความตึงเครียดระหว่างพื้นที่เรียนรู้แนวใหม่กับพื้นที่แบบเดิมที่เน้นการอ่านและการค้นคว้าวิจัยซึ่งต้องใช้สมาธิและความสงบ ผู้ใช้จำนวนหนึ่งต้องการพื้นที่เงียบๆ และไม่รังเกียจหากจะมีพื้นที่ที่ส่งเสียงดังได้ แต่เห็นว่าควรจัดสรรและแยกให้เป็นสัดส่วน ดังนั้นห้องสมุดจึงตัดสินใจปรับปรุงพื้นที่ชั้นบนสุดสำหรับผู้ต้องการความสงบ และเรียกชื่อว่า ห้องอ่านหนังสือ ‘โคตรเงียบ’ (Super Quiet)

ห้องสมุดประชาชนแวนคูเวอร์ มลรัฐบริติชโคลัมเบีย หนึ่งในสามเมืองของแคนาดาที่มีห้องสมุดดีที่สุดในโลก
ห้องสมุดประชาชนแวนคูเวอร์ มลรัฐบริติชโคลัมเบีย หนึ่งในสามเมืองของแคนาดาที่มีห้องสมุดดีที่สุดในโลก
Photo: GoToVan from Vancouver, Canada, CC BY 2.0, via Wikimedia Commons

          กล่าวอย่างถึงที่สุด ปัญหาจุกจิกอย่างเช่นเรื่องเสียงดังรบกวนอันเนื่องมาจากการออกแบบที่เปิดโล่งและการวางผังเฟอร์นิเจอร์แบบยืดหยุ่น ไม่ควรถูกขยายให้กลายเป็นเรื่องใหญ่โตจนลดทอนกลบเกลื่อนความหมายและความสำคัญของคุณค่า (value) ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังการออกแบบห้องสมุดยุคใหม่

          ในทำนองเดียวกัน การออกแบบห้องสมุดยุคใหม่ก็หาใช่มุ่งเน้นเพียงความสวยงามแปลกตาน่าดึงดูดใจ มีพื้นที่ (space) หลากหลาย หรือใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัยเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญที่จะทำให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้นั้นอยู่ที่ ‘คุณค่า’ ของห้องสมุดที่ตอบโจทย์บริบทชุมชนและคนใช้งานต่างหาก ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ห้องสมุดแต่ละแห่งต้องค้นหาให้พบก่อนที่จะมีการออกแบบเสียด้วยซ้ำ

การยอมรับความแตกต่างและความหลากหลาย

          ที่เมืองคัลการี หลังจาก TFDL เปิดใช้งานมาแล้วเป็นเวลาถึง 7 ปี ห้องสมุดกลางแห่งใหม่ของเมือง (Calgary Public Library) จึงได้ฤกษ์เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการวันแรกเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 นี่เป็นผลงานออกแบบสถาปัตย์ร่วมสมัยระดับมาสเตอร์พีซที่ดึงดูดทุกสายตาผู้พบเห็น และสร้างความภาคภูมิใจอย่างยิ่งให้กับชาวเมือง

          ส่วนหนึ่งของอาคารระดับพื้นดินเจาะเป็นอุโมงค์สำหรับวางแนวรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail) ความยาว 135 เมตร ให้ลอดผ่าน นับเป็นโครงการที่บ่งบอกถึงความมีเอกลักษณ์ การออกแบบที่โดดเด่นน่าจับตา และกลายเป็น “สัญลักษณ์ใหม่ของเมือง” (new icon for the city) ไปในทันที

          แนวคิดการตกแต่งได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของกลุ่มเมฆที่ถูกพัดพามาโดยสายลมชินุค8 ซุ้มทางเดินเข้าอาคารเป็นหลังคาไม้ดูสวยงามเรียบง่ายเป็นแนวยาวตลอดตัวอาคารด้านหน้า ผ่านประตูทางเข้าจะเป็นโถงขนาดใหญ่ กำกับสายตาด้วยแนวคดโค้งของระเบียงทางเดินไม้ การตกแต่งภายในด้วยรูปทรงโครงสร้างเป็นรูปโค้ง แต่เชื่อมต่อไขว้ไปมาในแต่ละชั้น ต้องการบ่งบอกถึงที่ตั้งของห้องสมุดซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างย่านกลางเมืองของคัลการีกับย่านอีสต์วิลเลจซึ่งเป็นพื้นที่ชานเมืองที่กำลังถูกพัฒนาตามทิศทางการขยายตัวของเมือง

          การตกแต่งภายนอกอาคารมีลักษณะคล้ายการตัดแปะ (collage-like) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในซึ่งเน้นพื้นที่หลากหลายประเภทแตกต่างไปตามระดับความเป็นส่วนตัวของการใช้งาน ผนังอาคารใช้กระจกสลับวัสดุผิวทึบทำให้ผู้ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมสามารถมองออกมายังถนนภายนอกได้ ขณะที่พื้นที่อ่านเงียบๆ จะอยู่ในส่วนผนังทึบที่ไม่มีสิ่งรบกวนจากภายนอก

          ผนังทางเข้าอาคารเป็นผลงานภาพสีของชนชาวพื้นเมืองดั้งเดิม (First Nations) ใกล้ๆ กันเป็นประติมากรรมโลหะรูปวัวป่าไบซันและตัวอักษรภาษาพื้นเมือง เมื่อเดินเข้ามาที่ชั้นหนึ่ง เป็นโซนหนังสือทั่วไป มีร้านกาแฟ และห้องประชุมใหญ่ (Performance Hall) สำหรับจัดกิจกรรมนักเขียนพบนักอ่านหรือการบรรยายต่างๆ

          ขึ้นบันไดไปยังชั้นลอย เป็นห้องสมุดเด็กขนาด 12,000 ตารางฟุต มีหนังสือสำหรับเด็กและของเล่นสารพัด มีสนามเด็กเล่นขนาดย่อมไว้ปีนป่าย ชั้นเรียนสำหรับกิจกรรมสอนอ่าน พร้อมหนังสือสนุกๆ และแบบฝึกหัด บอร์ดเกม รวมถึงแท็บเล็ตสำหรับให้ยืมออกไปได้

          ชั้นสองเป็นพื้นที่สำหรับพบปะแลกเปลี่ยนความคิด โซนหนังสือนวนิยายและวรรณกรรม ชั้นสามเป็นพื้นที่สำหรับวัยรุ่น จัดสรรให้เป็นพื้นที่ทดลองเรียนรู้ (learning Lab) บูธนั่งอ่านหนังสือ และห้องประชุมพูดคุยกลุ่มย่อยหรือทำงานกลุ่ม มีห้องทำงานสำหรับนักเขียนท้องถิ่น ชั้นสี่คือโซนอ่านหนังสือแบบเงียบ มีโต๊ะเก้าอี้นั่งสบายๆ มีหนังสือประเภทประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และสตูดิโอสำหรับศิลปินท้องถิ่น

           ชั้นหนังสือของที่นี่ออกแบบความสูงให้ต่ำกว่าระดับสายตา เพื่อให้ผู้ใช้มองเห็นพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการมองเห็นโครงสร้างเสาคอนกรีตสูงจรดเพดานที่เป็นรูปทรงสวยงามราวกับวิหารโบราณของกรีก นับเป็นการออกแบบห้องสมุดที่สุดจะแหวกแนว เพราะนำเอารูปแบบร่วมสมัยมาผสมกับสไตล์สุดโบราณไว้ด้วยกัน

          ไมเคิล บราวน์ (Michael Brown) ประธานและซีอีโอบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เมืองคัลการี ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในโครงการห้องสมุดใจกลางเมืองแห่งนี้ กล่าวว่า ห้องสมุดแห่งนี้ไม่เพียงเอื้ออำนวยให้ชุมชนเติบโตท่ามกลางความหลากหลาย แต่ยังจะสอนบทเรียนสำคัญให้กับผู้ใช้ห้องสมุดในเรื่องการยอมรับความแตกต่างด้วย

          “ไม่มีสถานที่ใดจะมีความเป็นประชาธิปไตยยิ่งไปกว่าห้องสมุดประชาชนอีกแล้ว ที่นี่มีเสรีภาพ และเปิดกว้างต้อนรับทุกคน

          “ใกล้ๆ กับห้องสมุด มีศูนย์การศึกษานอกระบบ องค์กรการกุศลเพื่อช่วยบรรเทาสาธารณภัย และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เหล่านี้คือความแตกต่างและหลากหลาย เราหวังว่าผู้ใช้ห้องสมุด โดยเฉพาะเด็กๆ และวัยรุ่น จะได้เรียนรู้เมื่อเข้ามาห้องสมุดว่า มีความแตกต่างอย่างมากระหว่างคนไร้บ้านกับอาชญากร

          “ถ้าพวกเขาได้เห็นบรรดาคนไร้บ้านเข้ามาร่วมนั่งอ่าน ใช้คอมพิวเตอร์ หรือค้นข้อมูลหางาน นั่นยิ่งเป็นเรื่องที่วิเศษ เพราะมันสำคัญมากที่ห้องสมุดจะสอนหรือช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่า โลกนี้คือความซับซ้อน”

          ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารการตลาดของห้องสมุด แมรี่ คาพุสตา (Mary Kapusta) เน้นว่าการเข้าใช้งานภายในอาคารมีความปลอดภัยสูง มีกฎระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่รัดกุม ชัดเจน แต่ไม่แบ่งแยกกีดกัน และไม่มีระเบียบที่ขัดขวางเสรีภาพในการแสวงหาความรู้และการแสดงออก

          เงินลงทุน 245 ล้านเหรียญกับอาคาร 4 ชั้นที่มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 240,000 ตารางฟุต พร้อมหนังสือใหม่กว่า 450,000 รายการ สามารถเรียกที่นี่ได้ว่าเป็น “ศูนย์กลางวัฒนธรรมของการเรียนรู้และนวัตกรรม”

          บิล พทาเชก (Bill Ptacek) ซีอีโอห้องสมุดกลางเมืองคัลการี บอกว่า พื้นที่ในห้องสมุดจะมอบประสบการณ์ที่ผู้คนต้องรู้สึกประทับใจและอยากกลับมาใช้งานอีก เพราะที่นี่มีองค์ประกอบครบครันทั้งการสำรวจค้นหา ความลึกลับ และความมหัศจรรย์ ทุกชั้นที่ผู้ใช้ได้สัมผัสจะเต็มไปด้วยประสบการณ์อันหลากหลายจากผู้คนที่แตกต่าง

          บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุดจะไม่มีโต๊ะเก้าอี้ไว้นั่งแช่ทำงาน เพราะทุกคนต้องพร้อมเสมอที่จะเดินไปพบปะผู้ใช้ที่ต้องการความช่วยเหลือซึ่งมีความหลากหลายและเป็นเรื่องที่มีลักษณะเฉพาะตัว จะว่าไปแล้วนี่ก็เหมือนกับเป็นการวิจัยถึงความต้องการเชิงลึกของลูกค้าในอีกรูปแบบหนึ่ง

           บทความเชิงสารคดีของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ แนะนำห้องสมุดกลางคัลการีให้เป็นหนึ่งใน “52 สถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องเยี่ยมชม” ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและชาวต่างชาติจำนวนกว่า 5 แสนคนหลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมชมที่นี่ในช่วงสามเดือนแรกของการเปิดให้บริการ

เพราะความรู้ถูกแบ่งปัน ความคิดสร้างสรรค์จึงบังเกิด

          เมืองเคมบริดจ์ มลรัฐออนแทริโอ มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 130,000 คน เมืองนี้คือที่ตั้งของห้องสมุดไร้หนังสือแห่งแรกของแคนาดา ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการรีแบรนด์ห้องสมุดประชาชนเคมบริดจ์ภายใต้แนวคิด “Idea Exchange” เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้คนได้มาพบปะเรียนรู้และทำงานร่วมกันผ่านพื้นที่ชุมชนในยุคดิจิทัล (community spaces in the digital age)

          ตึกไปรษณีย์เก่า ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแกรนด์ ซึ่งเป็นอาคารเก่าก่อด้วยอิฐแบบดั้งเดิม ถูกปรับปรุงใหม่และเพิ่มพื้นที่ใช้สอยด้วยการต่อเติมอาคารกระจกเชื่อมต่อโดยรอบกับตัวตึกเดิม เรียกชื่อใหม่ว่า “Idea Exchange Old Post Office” ผู้ออกแบบตั้งใจให้ผู้ใช้ทางเดินเลียบริมแม่น้ำสามารถมองเห็นกิจกรรมและความเคลื่อนไหวภายในอาคาร ขณะเดียวกันอะลูมิเนียมที่กรุสลับกับผนังกระจกใสยังเหมือนกระจกเงาสะท้อนภาพของคนที่เดินผ่านไปมาให้ดูราวกับว่าคนนั้นกำลังเดินอยู่ในอาคารอีกด้วย

          ห้องสมุดแนวคิดใหม่แห่งนี้มีสตูดิโอสำหรับบันทึกภาพและเสียง โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก มีเครื่องดนตรีให้ยืมสำหรับใช้จัดงานแสดง มีเครื่องพิมพ์สามมิติ จักรเย็บผ้าดิจิทัล อุปกรณ์สำหรับงานช่างไม้ สำหรับบรรดาเมกเกอร์ผู้หรือสนใจในการประดิษฐ์ ชั้นบนเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก มีโต๊ะอัจฉริยะ (smart table) และอุปกรณ์สำหรับประกอบหุ่นยนต์ กำแพงห้องด้านหนึ่งทำเป็นกระดานเลโก้แบบบิลท์อิน (built-in) ให้เด็กๆ นำเอาตัวเลโก้มาต่อเติมสร้างสรรค์ได้อย่างอิสระตามแต่จะคิดจินตนาการ บรรยากาศโดยรวมชวนตื่นตา โปร่งโล่ง และดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาพบปะแลกเปลี่ยนความคิด ทดลองสาธิตและแสดงผลงาน

          ชั้นดาดฟ้าเป็นทางเดินพักผ่อนชมทิวทัศน์แม่น้ำ และมีห้องเลกเชอร์ผนังกระจกที่สร้างต่อเติมยื่นออกไปจากตัวอาคารเก่าหลังเดิม สำหรับนั่งประชุมพูดคุย อบรม หรือฟังการบรรยาย

          ใกล้ๆ กับ Idea Exchange Old Post Office คือห้องสมุดคาร์เนกี (เน้นคอลเลกชั่นหนังสือ) อาคารอิฐที่ก่อสร้างในศตวรรษที่ 20 ดังนั้นในพื้นที่ละแวกเดียวกันจึงมีพื้นที่การเรียนรู้สองรูปแบบที่สะท้อนให้เห็นถึงการหมุนเวียนแบ่งปันความรู้และคุณค่าของไอเดียหรือความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งต่างก็ไม่ได้ขัดแย้งหรือลดทอนกันและกัน แต่กลับเสริมส่งให้สถาบันอย่างเช่นห้องสมุดยังคงมีความเกี่ยวข้อง เป็นประโยชน์ และสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมได้มากยิ่งกว่าเดิม


เชิงอรรถ

[1] Roxane Gay นักคิดนักเขียนแนวสตรีนิยม (Feminism) ชาวอเมริกัน

[2] ออนอเร เดอ บาลซัก (Honoré de Balzac) นักคิดนักเขียนนิยายและบทละคร ชาวฝรั่งเศส หนึ่งในผู้วางรากฐานแนวคิดสัจจนิยมในงานวรรณกรรมยุโรป ผลงานชิ้นเอกของเขาคือเรื่อง นาฏกรรมชีวิต (La Comédie humaine)

[3] Margaret Atwood นักเขียนหญิงชาวแคนาดา ผู้สนใจเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและหลงใหลสัตว์ปีกประเภทนก จึงดำเนินการจัดทำตรารับรองผลิตภัณฑ์กาแฟที่ไม่พิษภัยต่อนกหรือ BIRD FRIENDLY® และผลิตกาแฟออร์แกนิกยี่ห้อ Atwood Blend โดยมีหุ้นส่วนคนสำคัญคือบาลซัก รายได้จากการจำหน่ายกาแฟนำไปเป็นกองทุนสร้างความตระหนักรู้ให้กับองค์กรพัฒนาเอกชนที่ชื่อว่า หอดูนกเกาะเพลี (Pelee Island Bird Observatory หรือ PIBO)

[4] Risotto เป็นอาหารอิตาลีชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นข้าวผัดที่มีลักษณะข้นไปด้วยครีมจากการดูดซับไวน์และน้ำซุปจากเนื้อวัว ปลา หรือผักในขณะผัด ส่วนผสมหลักของรีซอตโต้ประกอบด้วยพาร์มีซานชีส เนย และหัวหอม

[5] Arduino robotics kits เป็นบอร์ดวงจรอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป สำหรับใช้ต่อกับอุปกรณ์เสริมต่างๆ

[6] อย่างไรก็ตาม นโยบายปิดห้องสมุดเพื่อประหยัดงบประมาณเป็นประเด็นที่กระทบต่อความนิยมทางการเมืองของแคนาดา ตัวอย่างเช่นเมื่อปี 2559 หลังจากที่แคว้นนิวฟาวด์แลนด์ประกาศแผนการปิดห้องสมุดมากกว่าครึ่งหนึ่ง เพียงแค่ไม่นานรัฐบาลกลางต้องรีบออกมาประกาศยกเลิกแผนการตัดสินใจดังกล่าว ในกรณีของแคว้นซัสแคตเชวันก็คล้ายคลึงกันแต่เป็นการประกาศเปลี่ยนใจโดยรัฐบาลท้องถิ่นเอง

[7] เป็น Holding Company ที่ทำหน้าที่ถือหุ้นบริษัทในเครือ และหนึ่งในบริษัทหลักในเครือ Alphabet ก็คือ กูเกิล (Google)

[8] ชื่อลมประจำถิ่นในเขตทุ่งหญ้าแพรรี่ของแคนาดา หรือพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกา พัดมาจากชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก


ที่มา

https://www.theguardian.com/cities/2018/jun/15/risotto-robotics-and-virtual-reality-how-canada-created-the-worlds-best-libraries

Gemma John, Designing Libraries in 21st Century: Lessons for the UK, British Council, Winston Churchill Memorial Trust, 2016.

https://tfdl.ucalgary.ca/facts

https://www.frameweb.com/news/rdha-idea-exchange-old-post-office

https://www.atlasobscura.com/places/the-new-central-library

https://calgaryherald.com/news/local-news/spectacular-new-central-library-opens-with-an-emphasis-on-younger-generation

https://www.calgarymlc.ca/new-central-library

https://www.dezeen.com/2018/11/05/snohetta-dialog-new-central-library-calgary-wood-atrium-crystaline-exterior/

Cover Photo: https://www.rdharch.com/


เผยแพร่ครั้งแรก ธันวาคม 2562

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก