แม้ห้องสมุดประชาชน เฮต เพรดิเคเรน (Het Predikheren) ประเทศเบลเยียม จะเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2018 แต่หากนับอายุของตัวอาคารดั้งเดิม นี่อาจเป็นห้องสมุดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ว่าได้
เดิมห้องสมุดแห่งนี้เป็นศาสนสถานของโดมินิกัน (Dominicanenklooster) สร้างขึ้นในปี 1650 เป็นสถาปัตยกรรมแบบบาโรก ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 18-19 มีการปรับเปลี่ยนการใช้งานเป็นโรงพยาบาลและค่ายทหาร ก่อนจะถูกทิ้งร้างไปในปี 1975
หลังจากความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุดโครงการฟื้นฟูอารามเก่าแก่อายุสามร้อยกว่าปีให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นในปี 2011 เป้าหมายคือการบูรณะให้เป็นห้องสมุดประชาชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาย่าน Tinelsite ใจกลางเมือง Mechelen ให้เป็นพื้นที่วัฒนธรรมแห่งใหม่ ประกอบด้วยแหล่งเรียนรู้และพื้นที่สาธารณะหลายแห่ง อาทิ อนุสรณ์สถาน พิพิธภัณฑ์และศูนย์เอกสารเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ Kazerne Dossin รวมถึงสวนสาธารณะ Tinelpark
ความโดดเด่นของห้องสมุดประชาชน Het Predikheren คือการบูรณะสถาปัตยกรรมยุคเก่าให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ยุคใหม่ โดยยังคงรักษากลิ่นอายและเอกลักษณ์ของอาคารเดิมไว้อย่างครบถ้วน ประกอบด้วยกลุ่มอาคารหลักที่เป็นผังสี่เหลี่ยม มีลานกว้างอยู่ตรงกลาง โครงสร้างด้านในแบ่งเป็น 2 ชั้นครึ่ง รวมห้องใต้หลังคา ส่วนด้านนอกมีโบสถ์ขนาบอยู่ทางทิศใต้ของกลุ่มอาคารดังกล่าว
ในกระบวนการปรับปรุงอาคาร ยังรักษาโครงสร้างเดิมที่เป็นไม้ไว้ทั้งหมด เสริมความแข็งแรงด้วยโครงสร้างเหล็กบริเวณพื้นอาคารและหลังคา เสริมฉนวนกันความร้อน ซ่อมแซมจุดที่ได้รับความเสียหายจากการดัดแปลงและถูกทิ้งร้าง โดยยึดหลักการอนุรักษ์อาคารทางประวัติศาสตร์อย่างเข้มงวด
ในแง่การใช้งาน ห้องสมุดแบ่งพื้นที่เป็น 3 โซน คือ ‘โซนใกล้’ อยู่บริเวณชั้นล่าง (ground floor) เป็นพื้นที่สำหรับการใช้งานอเนกประสงค์ ประกอบด้วยโถงทางเข้า ตู้เก็บของ จุดบริการยืม-คืนหนังสือด้วยตนเอง คาเฟ่ ห้องอาหาร ห้องอ่านหนังสือพิมพ์ ห้องเด็กอ่อน และโซนอินเทอร์เน็ต ลานตรงกลางเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจ อ่านหนังสือ หรือในบางโอกาสก็ใช้เป็นพื้นที่จัดนิทรรศการ คอนเสิร์ต รวมถึงการแสดงต่างๆ
โซนต่อมา อยู่ชั้นบน (first floor) เรียกว่า ‘โซนลึก’ เป็นพื้นที่สำหรับผู้ที่ต้องการความเงียบสงบ แบ่งเป็นสองส่วนหลักๆ ส่วนแรกคือพื้นที่ของห้องสมุดและห้องอ่านหนังสือ ซึ่งในอดีตเคยเป็นห้องสมุดของคณะสงฆ์ อีกส่วนเป็นพื้นที่สำนักงาน ห้องประชุม และห้องปฏิบัติการที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้หลากหลาย
โซนสุดท้าย คือห้องใต้หลังคา เรียกว่า ‘โซนกลาง’ เป็นพื้นที่ของห้องสมุดทั่วไป (general library) ใช้งานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ การออกแบบภายในใช้ประโยชน์จากลักษณะของห้องใต้หลังคาที่มีเพดานสูงและหลังคาลาดเอียง เช่น ออกแบบชั้นหนังสือให้สอดรับกับระดับความสูงของหลังคา เพิ่มหน้าต่างและช่องแสงเพื่อสร้างบรรยากาศที่ปลอดโปร่ง
นอกจากนี้ การออกแบบยังคำนึงถึงคุณสมบัติการใช้พื้นที่อย่างหลากหลาย มากกว่าการเป็นแค่ห้องสมุดที่เต็มไปด้วยชั้นหนังสือ ด้วยเหตุนี้จึงมีเพียงพื้นที่ ‘โซนลึก’ เท่านั้นที่คงไว้ซึ่งบรรยากาศห้องสมุดแบบดั้งเดิม คือเรียงรายด้วยชั้นหนังสือและโต๊ะอ่านหนังสือ
ห้องสมุดประชาชน Het Predikheren เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าประทับใจ ในการปรับปรุงอาคารทางประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม โดยยึดหลักการอนุรักษ์ที่ไม่ทำลายสิ่งเก่า หรือลดทอนคุณค่าดั้งเดิม ขณะเดียวกันก็เพิ่มประโยชน์ใช้สอยใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การใช้งานหลากหลาย จนกลายเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ของผู้คนในเมือง และเป็น 1 ใน 5 ห้องสมุดที่ได้เข้าชิงรางวัล Public Library of the Year 2021 ของสหพันธ์นานาชาติแห่งสถาบันและสมาคมห้องสมุด (IFLA)
ที่มา
บทความ “library within baroque walls” จาก ksa.nl (Online)
บทความ “City Library Het Predikheren / Korteknie Stuhlmacher Architecten + Callebaut Architecten + Bureau Bouwtechniek” จาก archdaily.com (Online)
บทความ “Public Library Het Predikheren” จาก archello.com (Online)
เว็บไซต์ Het Predikheren (Online)