ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมหลายๆ คนเคยบอกว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’ มักจะไม่ได้เกิดขึ้นในเวลาทำงานหรือในออฟฟิศ แต่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่รู้สึกผ่อนคลาย บ้างก็ว่าความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นเมื่อเราได้พบปะกับกลุ่มคนที่สามารถร่วมแลกเปลี่ยนไอเดียได้ นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ HAUS of BRAIN ซึ่งจัดว่าเป็น Co-working Space & Cafe เต็มรูปแบบแห่งแรกของนครศรีธรรมราชได้ถือกำเนิดขึ้น
“เราอยากให้นครศรีธรรมราช มี Co-working Space ที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ให้ผู้คนมาพบปะกัน ให้นักเรียนได้มานั่งอ่านหนังสือในพื้นที่ผ่อนคลาย สะดวกสบาย” เสมอขวัญ ตรีสัตยพันธุ์ เจ้าของกิจการ HAUS of BRAIN เล่าให้เราฟัง
“เรามีร้านกาแฟ 2 แห่งที่ทำอยู่แล้ว คือ The Plug Space และเราก็มีคาเฟ่อีกแห่งหนึ่งที่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ปี 2566 ของสมาคมสถาปนิกสยาม คือ ยงคัง คาเฟ่ (Yongkang Cafe 永康) การทำ Co-working Space ที่ให้บริการทางด้านกาแฟ ขนม หรืออาหารว่างก็ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับเรา แต่ที่เราอยากทำเพราะนครฯ จะได้มีพื้นที่เรียนรู้ พื้นที่สร้างสรรค์ สำหรับคนรุ่นใหม่ และผู้ประกอบการรุ่นใหม่”
นับตั้งแต่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ลักษณะการทำงานและสถานที่ทำงานได้เปลี่ยนไป คนทำงานไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าไปในเมืองใหญ่เพื่อก่อตั้งออฟฟิศ เทคโนโลยีเอื้อให้สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ นครศรีธรรมราช จึงเริ่มมีเด็กรุ่นใหม่ที่เรียนจบกลับมาถิ่นฐานบ้านเกิด แล้วทำงานแบบสื่อสารทางไกล HAUS of BRAIN สนองตอบความต้องการของคนรุ่นใหม่เหล่านั้น
“ผู้ใช้จะแยกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ชัดเจนพอสมควร วันธรรมดาจะเป็นสตาร์ทอัป หรือบุคคลทั่วไปที่อยากจะพบปะพูดคุย ประชุม สัมมนา แลกเปลี่ยนความคิด มาคุยงาน บางคนก็มาเรียนรู้เรื่องการลงทุน เช่น เทรดหุ้น ถ้าเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือ สุดสัปดาห์ ก็จะเป็นนักเรียนนักศึกษาเป็นส่วนใหญ่”
สตาร์ทอัปเหล่านั้นมีความหลากหลาย “ด้านไอทีก็มี หรือจะเป็นด้านการขายสินค้าที่เป็น niche market ก็มี การรวมกลุ่มเพื่อทำงานศิลปะก็มี…นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีศิลปินเยอะ มีทุกแขนง โดยเฉพาะเรื่องงานหัตถกรรม ที่ดังๆ หลายท่าน” จึงเรียกได้ว่า Co-working Space แห่งนี้ ตอบสนองความต้องการของคนที่ทำงานกับเทคโนโลยีทันสมัย รวมถึงกลุ่มศิลปินที่ต้องการพื้นที่พบปะ แลกเปลี่ยนความคิด จุดไฟสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจ “ตอนนี้หลักๆ ก็เป็นสตาร์ทอัป สำหรับกลุ่มศิลปิน พื้นที่ของเราเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดไอเดีย หลังจากนั้นเขาจะไปจัดแสดงที่ไหน ก็ต้องขึ้นอยู่กับบริบทของผลงานที่แสดง”
HAUS of BRAIN ให้บริการพื้นที่อ่านหนังสือและพื้นที่ทำงาน มีห้องประชุม 4 ห้อง ที่สามารถจุคนได้ 100 ที่นั่ง มีพื้นที่ใช้งานที่ไม่ต้องจองล่วงหน้าอีกราวๆ 150 ที่นั่ง ทั้งส่วนที่เป็นลานกว้างสามารถจัดอีเวนต์ได้ และส่วนที่เป็นที่นั่ง-ที่นอนดูน่าสบาย ตอนนี้ HAUS of BRAIN ยังไม่ได้จัดกิจกรรมด้วยตัวเอง แต่ในอนาคตก็มีแผนที่จะจัดเวิร์กชอปตามความสนใจของชาวนครศรีธรรมราช
“ธุรกิจ Co-working Space อาจไม่ได้ทำกำไร บางครั้งอาจเท่าทุนหรือขาดทุนด้วยซ้ำ แต่การก่อตั้งที่นี่ถือเป็นก้าวแรกในการสร้างสรรค์และส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับคนในเมืองนครศรีธรรมราช เพราะจากการสำรวจ ยังไม่มีที่ไหนในเมืองที่ให้บริการ Co-working Space อย่างชัดเจนแบบนี้ เราจึงเห็นว่าควรเริ่มต้นสิ่งนี้เพื่อชุมชนของเรา”
ก่อนหน้านี้ เมืองนครฯ อาจจะขาดการรวมตัวของผู้ประกอบการและนักสร้างสรรค์ แต่ในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา เกิดการรวมกลุ่มคนที่มีความสนใจและเป้าหมายเดียวกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กลุ่มคนเหล่านี้หน่วยงานทางภาครัฐต่างให้ความสนใจและพัฒนาเมืองให้มีกิจกรรมมากขึ้น รวบรวมนักคิด นักศึกษา หรือคนที่มีไอเดียสร้างสรรค์ เพื่อนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับเมืองนครฯ
“นครศรีธรรมราชมีศักยภาพที่จะเติบโตมาก เราอยากให้ HAUS of BRAIN เป็นจิกซอว์ตัวเล็กๆ ที่เปิดให้คนมาใช้พื้นที่ ใช้ทรัพยากรร่วมกัน เป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยพบปะของคนที่จะพัฒนาเมือง หรือว่าคนที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะและสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ของนครศรีธรรมราช อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมพัฒนาให้นครศรีธรรมราชมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับชุมชน”
เสมอขวัญ ทิ้งท้ายเอาไว้ “เปิดกิจการมาปีกว่าๆ แล้ว ถ้าคิดในแง่ของการเงินอาจจะได้กำไรแค่เล็กน้อย แต่ถ้าคิดในแง่ของคุณค่า มันก็เป็นจุดเริ่มต้นความคิดของคนนครฯ ได้ดีมาก”