‘Harmonic Distortion’ คู่รักขาร็อค ที่ไม่ปล่อยให้ความฝันถูกลืม

1,754 views
7 mins
April 12, 2021

          ทุกคนมีฝัน แต่มีเพียงบางคนที่ไม่ลืมฝัน และพยายามทำมันให้เป็นจริง 

          เสียงเพลงร็อคแตกพร่าที่มีกลิ่นอายของดนตรียุค 90s ดังกระหึ่ม บอกเล่าเรื่องราวการค้นหาตัวเอง ความโดดเดี่ยว ความแปลกแยก ความฝัน ความตาย ความล้มเหลว ฯลฯ

          ‘ดรีม’ บดินทร์ บัวหลวงงาม นักร้องนำ และ ‘พิ้งค์’ อรจิรา โกลากุล มือเบส คู่รักจากวง Harmonic Distortion ได้เป็นเจ้าของพื้นที่บนเวทีแล้วอย่างสมบูรณ์

          จากจุดเริ่มต้นอันยาวนาน ตั้งแต่สมัยเรียนสาธิตฯ จุฬาฯ เมื่อปี 2537 กว่าจะผลักดันจนมาเป็นอัลบั้มแรก ‘Forgotten Dream’ ร่วมกับสมาชิกอีก 2 คน ก็อายุเข้าเลข 4 และไม่นานนัก เพลง ‘ลืมฝัน’ จากอัลบั้มนี้ก็ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสีสันอะวอร์ดส์ สาขาเพลงร็อคยอดเยี่ยมประจำปี 2562

          เบื้องหลังเวทีที่แสงสปอตไลท์สาดส่อง พวกเขาทุ่มเททำงานหนัก และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง  เพราะการทำวงดนตรีไม่ใช่แค่การแต่งเพลงได้หรือร้องเพลงเพราะ นำมาซึ่งบทพิสูจน์ที่ว่า ระหว่างทางไปสู่ความฝันไม่มีคำว่าบังเอิญ

ชื่อวง ‘Harmonic Distortion’ ดูเหมือนมีความหมายย้อนแย้งอยู่ในที อยากทราบว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

ดรีม :      มันเป็นศัพท์เทคนิคทางวิศวกรรมศาสตร์ครับ บังเอิญว่าเรานั่งดูสารคดีด้วยกันเรื่อง ตึกบุรญุลอะร็อบ (Burj al-Arab) ที่ดูไบ มันมีรูปร่างเหมือนเรือใบขนาดใหญ่ แต่ละห้องมีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเยอะมาก แล้วมันไปรบกวนไฟฟ้าหลัก จึงต้องมีการปล่อยสัญญาณ Harmonic Distortion เพื่อไม่ให้ไฟทั้งตึกดับ

พิ้งค์ :      เรารู้สึกว่าคำนี้สามารถอธิบายตัวตนของเราได้ ก็เลยเลือกคำนี้มาใช้เป็นชื่อวง เพราะซาวด์ของเราใช้เอฟเฟกต์ distortion เยอะมาก มันอาจฟังแล้วมีความดิบ มีความหยาบ มีความกร้าว แต่เราเน้นเมโลดี้ที่มีความสวยงาม ฉะนั้นมันก็เหมือนกับสองสิ่งที่ไม่น่าจะเข้ากันได้ แต่มาอยู่ด้วยกันได้

คุณทั้งคู่สนใจดนตรีตั้งแต่เมื่อไหร่ และก้าวเข้าสู่เส้นทางสายนี้ได้อย่างไร

ดรีม :      ผมมีหลักไมล์ชีวิตมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ เลยว่าอยากเล่นดนตรี อยากเป็นเหมือน บิลลี คอร์แกน (Billy Corgan) หรือ เคิร์ต โคเบน (Kurt Cobain) แต่สภาพสังคมทำให้เราต้องใช้ชีวิตแบบปกติ เรียนหนังสือ เอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย

          ก่อนหน้านี้ผมผ่านงานมาหลายอย่าง ตั้งแต่เป็นสถาปนิกออกแบบตกแต่งภายในและภูมิสถาปัตย์แล้วก็ออกมาทำห้องอัดเสียง เป็นครูด้าน sound engineer อยู่พักหนึ่ง พอจบปริญญาโทก็ไปทำงานให้คำปรึกษาด้าน creative marketing บริษัทเอเจนซี่ก็เคยทำ แม้กระทั่งร้านกาแฟก็เคยเปิดมาแล้วแต่ไม่ว่าจะหลบไปทำอะไร ความฝันที่เราอยากทำก็ยังตามมาหลอกหลอน

          คล้ายๆ กับเพลง “ลืมฝัน” มันมีโมเมนต์หนึ่งที่เราทำงาน แล้วก็ลืมสิ่งที่เราฝัน จนวันหนึ่ง demo เพลงที่เคยทำค้างไว้ก็ดังขึ้นมา ไม่ว่าเราอายุจะ 20 30 40 จนถึง 50 มันจะ repeat แบบนี้ตลอดเวลา เลยนึกถึงว่าถ้าเราใกล้จะตายแล้ว วันที่เราไม่มีแรง เรานอนอยู่บนเตียง ถ้าสิ่งที่เรายังไม่ได้ทำยัง repeat อยู่ เราจะเสียใจขนาดไหนที่ต้องตายไปพร้อมกับสิ่งที่ไม่ได้ทำ

พิ้งค์ :      ในชีวิตนี้สิ่งที่เราชอบมีอยู่สองอย่างก็คือดนตรีกับหนังสือซึ่งมีความคล้ายคลึงกันบางอย่าง ในตอนแรกเรามองตัวเองว่าเป็นนักฟังเพลงมากกว่าจะเป็นนักดนตรี ที่เริ่มต้นเล่นดนตรีตอนอยู่มหาวิทยาลัยก็เพราะว่าฟังเพลงของดรีมแล้วชอบ เลยอยากจะช่วยผลักดันเพลงที่ดีออกไปสู่ภายนอก บทบาทนักแปลก็คล้ายกัน เริ่มจากการเป็นนักอ่าน แล้วเรารู้สึกว่างานนี้เป็นงานที่ดีนะ เหมือนกับการทำเพลงตรงที่ได้เข้าไปมีส่วนในกระบวนการสร้างสรรค์ ช่วยผลักดันมันออกไปภายนอกเหมือนกัน

          บางเพลงที่ช่วยดรีมแต่ง มาจากลักษณะของตัวละครในหนังสือที่เราชอบ อย่างเพลง “สูญ” ก็ได้แรงบันดาลใจมาตัวละครชื่อโรด้า ในเรื่อง The Waves ของ Virginia Woolf เราชอบตัวละครตัวนี้ ที่มีความเก็บกด มีความดาร์ก แล้วเราก็หยิบเอาลักษณะบางอย่างเอามาใส่ในเพลง

‘Harmonic Distortion’ คู่รักขาร็อค ไปให้สุดอย่าหยุดฝัน

กว่าจะออกมาเป็นอัลบั้มชุดแรก กินเวลานับสิบปี มีอะไรที่เป็นความท้าทายบ้าง

พิ้งค์ :      ตอนแรกมันเหมือนเป็นโปรเจ็คของดรีม ที่เขามีความใฝ่ฝันอย่างนู้นอย่างนี้ ทีนี้การรวบรวมสมาชิกวงในวัย 30 กว่าเข้ามาไว้ด้วยกัน แต่ละคนก็มีชีวิตของตัวเองที่แตกต่างกันไป เราสามารถช่วยทำในบางเรื่อง แล้วก็ต้องรับผิดชอบชีวิตส่วนตัวของตัวเองด้วย ก็ต้องมาดูกันว่าใครจะช่วยด้านไหน อย่างไร ในระดับไหน

ดรีม :      เราเป็นวงดนตรี 4 คน มันไม่ใช่คนเดียว แต่ก่อนตอนเด็กๆ drive ของเราสูงมาก เราต้องมานั่งรีเช็คว่าจริงๆ แล้วเพื่อนคนอื่นๆ เขาคิดแบบเรารึเปล่า หรือพร้อมแค่ไหน ถ้าเราวิ่งแต่เขาเดิน แล้วเราไปโทษเขา วงก็มีปัญหา ไปต่อไม่ได้ ก็ต้องหาบาลานซ์ใหม่ โดยที่เราต้องยอมรับบทบาทว่า เราเป็นผู้นำ เราจะต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น

งานที่วงดนตรีอิสระจะต้องทำ มีอะไรบ้าง

พิ้งค์ :      เหมือนเราทำค่ายให้ตัวเอง คือทำทุกอย่างตั้งแต่งาน production ทำเพลง ทำ MV งาน PR เรื่องโซเชียลมีเดีย เรื่องงบภายในวง การเงิน บัญชี หรือว่าเรื่องที่เกี่ยวกับคน จะดึงใครมาช่วยทำอะไรจุดไหนอย่างไร

ดรีม :      จริงๆ ทำวงดนตรีมันก็เหมือนกับเปิดบริษัทแหละครับ เป็นบริษัทที่กำลังจะขายของความเป็นตัวตนของเรา ขายเพลง ขายภาพลักษณ์ให้คนเสพ มันคือสื่อบันเทิง จะขายได้มันก็ต้องมีการจัดการ แต่บางทีศิลปินไม่รู้ว่าต้องทำพวกนี้ด้วย

ศิลปินกับทักษะการบริหารจัดการ เป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้มากน้อยแค่ไหน

ดรีม :     ไอ้ที่เรียกว่า “ติสท์แดก” เนี่ย ศิลปินเป็นกันทุกคน ความติสท์ของคุณอาจจะเป็นประโยชน์ในแง่ไหนก็ว่ากันไป แต่อีกส่วนที่ศิลปินยังขาดกันอยู่ก็คือเรื่องการจัดการ มีคนหลังไมค์มาถามเยอะว่า ทำไมเพลงเราได้เปิดทางวิทยุ ได้ไปเล่นดนตรีที่นั่นที่นี่ มันมาจากความพยายามทั้งนั้นแหละ ไม่ได้มาจากความบังเอิญ เราเป็นวงดนตรีที่มี strategy plan มี year plan เราทำงานเยอะจนผมคิดว่าสามารถเปิดคลาสสอน music management ได้แล้ว

พิ้งค์ :      เราก็เริ่มมาจากความไม่รู้เหมือนกัน แล้วก็ลองทำมาทั้งนั้น งานกราฟฟิกตัดต่อแต่ก่อนก็ไม่รู้ว่าเขาใช้โปรแกรมอะไร ตอนนี้เราเขียนโปรไฟล์กันเอง ทำโปสเตอร์งาน ปกซีดีก็ทำเอง ใช้ Photoshop, Illustrator ไปจนถึงโซเชียลมีเดียต่างๆ แต่ก่อนก็ไม่ค่อยได้ใช้ ปัจจุบันเราสามารถทำให้คนรู้ความเคลื่อนไหวของวงได้ตลอด เดี๋ยวนี้ดรีมแต่งหน้าเองด้วย

ดรีม :      (หัวเราะ) ใช่ครับ ขึ้นเวทีเหงื่อออกแล้วเข้าตา ตายแล้ว เราเล่นกีต้าร์ก็มองไม่เห็น ก็ต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาว่า การแต่งหน้าช่วยได้ ถ่ายรูปมาก็ไม่หมอง

ถ้าให้ลองจินตนาการว่า กำลังทำวงดนตรีอิสระแบบนี้ แต่ว่าเป็นในยุค 10 หรือ 20 ปีที่แล้ว คิดว่าน่าจะยากหรือง่ายกว่า

ดรีม :      ถ้าเป็นเรื่องของแนวเพลงแบบ Harmonic Distortion เมื่อ 20 ปีที่แล้วอาจมีคนเข้าใจมันง่ายกว่า แต่สมัยก่อนการที่จะเข้าถึง resource ด้านดนตรีมันยาก คนจะนึกภาพการออกเทป ซึ่งต้องมีค่ายเพลงเท่านั้น ถ้าเทียบกับปัจจุบัน ทุกอย่างมันถูกย่อส่วนมาไว้ในห้องนอนหมดแล้ว

พิ้งค์ :      การอัดเสียงทำง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก แล้วก็เรื่องสื่อด้วย การที่มีโซเชียลมีเดียทำให้มีช่องทางที่เราจะเข้าถึงคนฟังได้โดยตรง โดยที่ไม่ต้องผ่านวิทยุ โทรทัศน์ ที่เป็นสื่อสมัยก่อน เราจึงทำวงดนตรีเองได้โดยไม่ต้องพึ่งค่าย แต่อาจจะมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง คือจะทำให้คนฟังมาเจอเราได้อย่างไร ในยุคที่มีเพลงให้ฟังเยอะแยะเต็มไปหมดเลย

‘Harmonic Distortion’ คู่รักขาร็อค ไปให้สุดอย่าหยุดฝัน

มีอะไรในยุคอะนาล็อกที่ชื่นชอบเป็นพิเศษบ้าง

พิ้งค์ :      เราเติบโตมากับอะไร เราก็จะรักเสน่ห์ของมัน ซาวด์แบบนั้นมันเป็นสิ่งที่อยู่กับชีวิตเราในช่วงวัยรุ่น มันทำให้เรามีภาพความทรงจำที่ฝังอยู่กับเพลงพวกนั้น พอชอบเราจะสามารถดึงเอา reference จากเพลงยุคนั้น เอามาผสมผสานในแบบของตัวเองได้ มันก็ช่วยให้ดนตรีมีความกว้างมากขึ้น

ในวันนี้ รู้สึกอย่างไรเมื่อมีคนฟังมากขึ้นเรื่อยๆ และบางเพลงได้ติดชาร์ตหรือได้เข้าชิงรางวัล

ดรีม :      ผมอยากเรียกมันว่าความสุขมากกว่าความสำเร็จ เพลงของ Harmonic Distortion เริ่มมาจากการที่เราเขียนเรื่องของเราเอง ผมใช้ดนตรีเป็นภาชนะในการพูด เสียงดังกว่าคนอื่น ถ้ามีคนได้ยินแล้วเขา touch บางอย่างได้ มันก็เหมือนเป็นการแชร์ประสบการณ์หรือความรู้สึกที่เรามีร่วมกัน

พิ้งค์ :      ใช่ บางทีเวลาเราอยู่กับตัวเอง เราอาจจะคิดว่ามีแต่เราคนเดียวหรือเปล่าที่เป็นแบบนี้ คนส่วนใหญ่เขาไม่เป็นแบบนี้หรอก แต่ดนตรีมันเป็นวิธีการที่สามารถ connect คนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยให้มาเจอกันได้

ภาพลักษณ์ที่อยากให้ผู้คนรู้จัก Harmonic Distortion เป็นแบบไหน

ดรีม :      เราอยากวางตัวเป็นศิลปินเพื่อนข้างบ้าน ผมนึกถึงยุค Seattle Sound ตอนนั้นผมมีเพื่อนอยู่ที่เมืองซีแอตเทิล เพื่อนบ้านเขาคือมือกลองวง Soundgarden ร็อคสตาร์ระดับโลก เขาออกมาตัดหญ้ารดน้ำต้นไม้ แล้วก็ say hi กับเพื่อนบ้าน เราอยากเป็นแบบนั้นครับ ผู้คนในย่านพญาไทสามารถเข้าถึงเราได้ง่ายๆ เราสนุกกับการเจอคนใหม่ๆ คุยกัน แลกเปลี่ยนความรู้กัน ไม่เห็นต้องทำตัวสูงส่งอะไรเลย

ถ้ามีคนที่มีฝัน อยากทำในสิ่งที่อาจจะไม่ได้อยู่ในกระแสหลักของสังคม หรืออยากจะเริ่มอะไรใหม่ๆ เป็นของตัวเอง อยากบอกอะไรกับพวกเขาบ้าง

ดรีม :      ก่อนอื่นเลยต้องตั้งเป้าหมายให้ชัด เช็ค passion ตัวเองว่าอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร วางไว้ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ แล้วก็เขียน mission มาเลยว่า 1 2 3 4 ฉันจะต้องทำอะไรบ้าง ฉันจะต้องใช้เงิน ฉันจะต้องลงทุนเรื่องอะไร ถ้าอยากเป็นศิลปิน อยากเป็นนักดนตรี แต่ยังไม่รู้เรื่องการอัดเสียง การแต่งเพลง ก็ไปขวนขวายมา ไปฝึกงานกับคนนู้นคนนี้ หรือดูเป็นตัวอย่าง มันต้องไปวิ่งเข้าไปหา อย่างที่ผมบอกว่าการเข้าถึง resource ตอนนี้มันง่าย

          แม้จะตั้งเป้าหมายไว้ แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะไปถึงตรงนั้น ทั้งข้อจำกัดเรื่องเวลา ทั้งปัจจัยที่เรามองไม่เห็น มันจะมีเรื่องที่ out of control เต็มไปหมดเลย ขึ้นอยู่กับว่าคุณยอมรับมันและแก้ปัญหาได้ไหม ต้องบาลานซ์ดีๆ

          สำหรับคนที่อยากรู้เรื่องการบริหารจัดการวงดนตรี ก็สามารถเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพวกเราได้ครับ

‘Harmonic Distortion’ คู่รักขาร็อค ไปให้สุดอย่าหยุดฝัน

เผยแพร่ครั้งแรก ทาง TK Podcast กรกฎาคม 2562 (สัมภาษณ์เมื่อ 30 กรกฎาคม 2562)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก