ในพื้นที่ชนบท อำเภอดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี มีห้องสมุดเล็กๆ แห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยนิทานและวรรณกรรมเยาวชนชั้นดี จากจุดเริ่มต้นที่ไม่มีเงินทุนแม้แต่บาทเดียว กลายมาเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตชีวาของเด็กๆ
คะทาวุธ แวงชัยภูมิ หรือครูจุ้ย ชายผู้หลงรักหนังสือ เคยทำงานอยู่กรุงเทพฯ นานกว่าสิบปี กระทั่งราวปี 2558-2559 ได้ตัดสินใจย้ายไปลงหลักปักฐานในชุมชนที่เงียบสงบกับภรรยา พร้อมหนังสือกว่า 60 ลัง และแมวอีก 7 ตัว ช่วงแรกเขาทดลองเปิดบ้านให้เด็กๆ สามารถเข้ามาอ่านหนังสือ จนต่อมาขยับขยายเป็นห้องสมุดที่ใช้ชื่อว่า ‘ห้องสมุดแมวหางกิ้นส์’ ภาษาถิ่นหมายถึง แมวหางกุด ซึ่งมาจากสิ่งที่เขารักและผูกพันนั่นเอง
ครูจุ้ยระดมเงินทุนสร้างห้องสมุดด้วยการประกาศขายหนังสือส่วนตัวที่ตนเองเก็บสะสมไว้ เพื่อนสนิทมิตรสหายและผู้ทราบข่าวต่างเข้ามาจองซื้อหนังสือดี บางคนส่งหนังสือมาให้เพื่อนำไปขายต่อ บางคนร่วมสมทบเงินสนับสนุน รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือจากคนในชุมชน มีชาวบ้านอาสามาเป็นช่างก่อสร้าง เพราะมองเห็นว่าลูกหลานจะได้รับประโยชน์จากการมีห้องสมุด
ห้องสมุดแมวหางกิ้นส์ เป็นอาคารชั้นเดียวสร้างอย่างเรียบง่าย ขนาด 56 ตารางเมตร มีลักษณะโปร่งโล่ง ผนังฉาบด้วยปูนเปลือยไม่ได้ทาสีสันใดๆ มีบานหน้าต่างและประตูกระจก เพื่อให้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ภายนอกและความเป็นไปในชุมชน ที่นี่ไม่เพียงมีหนังสือดีให้เด็กอ่าน แต่ยังจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ศิลปะ ภาษาอังกฤษ การพัฒนาตนเอง ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
กลยุทธ์ที่ทำให้เด็กรักการอ่าน มีทั้งให้เด็กเลือกอ่านหนังสือที่ตนชอบ แล้วมาอ่านให้เพื่อนฟัง ทำให้ผู้อ่านมีความมั่นใจในตัวเอง ส่วนผู้ฟังก็เกิดความกระตือรือร้นอยากอ่านหนังสือ บางครั้งครูจุ้ยก็เป็นผู้เลือกหนังสือที่น่าจะเหมาะกับเด็กแต่ละคน
“ผมแนะนำน้องคนหนึ่งให้อ่านการ์ตูนนิกายเซน เขาอ่านแล้วมาถามผมว่า อัตตาคืออะไร ผมบอกว่าคำถามนี้น่าสนใจมาก ครูยังไม่ตอบ ขอให้อ่านจนจบก่อน จบเล่มหนึ่งยังไม่รู้ก็ลองไปอ่านต่อเล่มที่สอง แล้วค่อยมาคุยกัน จากนั้นเด็กก็มาอธิบายเรื่องอัตตาตามความเข้าใจของเขาว่า แต่ก่อนเราไม่มีชื่อนะ ตอนนี้เรามีชื่อขึ้นมา แต่ก่อนเราไม่มีเสื้อผ้า พอมีเสื้อผ้าแล้วเราชอบ เราก็หวงเสื้อผ้าของเรา …จะเห็นว่าเด็กเริ่มสนใจหนังสือเพราะเขามีคำถามที่อยากรู้ เราทำหน้าที่กระตุ้นให้เขาหาคำตอบด้วยการอ่าน ผมแค่หาวิธีช่วยให้เขาคลี่คลาย คอยคุยกับเขา บางทีก็ให้บันทึกความรู้สึกลงในสมุด เป็นการเรียนรู้ทั้งโลกภายนอกและภายในไปพร้อมกัน”
ปัจจุบัน ห้องสมุดแมวหางกิ้นส์ทำงานร่วมกับโรงเรียนและองค์กรหลายแห่งในภาคอีสานที่ขาดแคลนหนังสือ เช่น โรงเรียนบ้านดงดิบ โรงเรียนบ้านคำเตย และศูนย์ประสานงานกลุ่มเด็กและเยาวชนหนองเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี และสมาคมป่าชุมชนอีสาน จังหวัดสุรินทร์ โดยร่วมกันออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้และจัดหาหนังสือที่มีคุณภาพสำหรับเด็ก
ห้องสมุดแมวหางกิ้นส์ยังจำเป็นต้องหาจุดลงตัวระหว่างการทำให้ห้องสมุดสามารถดำเนินไปอย่างต่อเนื่องพร้อมกับหารายได้หล่อเลี้ยงตัวเอง เพราะทั้งครูจุ้ยและภรรยาต่างก็มีภาระต้องออกไปทำงานข้างนอก หากเด็กๆ อยากมาใช้บริการในช่วงปิดเทอมก็อาจพบว่าห้องสมุดปิด หนึ่งในโมเดลที่ครูจุ้ยมองไว้คือ การรับจัดกิจกรรมให้กับโรงเรียนหรือครอบครัวนอกชุมชน เข้ามาเรียนรู้ที่ห้องสมุดและหมู่บ้านร่วมกันกับเด็กในชุมชน
ที่มา
เฟซบุ๊ก ห้องสมุดแมวหางกิ้นส์ (Online)
เฟซบุ๊ก Katawut Jui (Online)
วิดีโอ “ห้องสมุดแมวหางกิ้นส์” จาก facebook.com (Online)
วิดีโอ “กว่าจะเป็น ห้องสมุดแมวหางกิ้นส์” จาก facebook.com (Online)