ประกอบร่างสร้างเป็น ‘Hagiography’ ประวัติชีวิตนักบุญ

174 views
7 mins
April 10, 2024

          ครั้ง มหาตมะ คานธี กำลังเขียน ข้าพเจ้าทดลองความจริง อัตชีวประวัติที่เปิดเผยภูมิหลัง วัฒนธรรม ลักษณะนิสัยที่ส่งผลต่อความเชื่อ หล่อหลอมความคิดของสามัญชนที่ฝึกฝนตนเองจนหนึ่งชีวิตของเขาส่งผลต่อโลกได้ ในขณะนั้นเอง มิตรสหายท่านหนึ่งได้ท้วงติงเขาไว้ว่า

          “อะไรทำให้ท่านเขียนงานชิ้นนี้? การเขียนอัตชีวประวัติเป็นประเพณีของชาวตะวันตกโดยเฉพาะ…”

          คานธีไม่ได้เล่าต่อว่าตอบไปอย่างไร หากเขียนขยายความว่า เปล่าเลย เขาไม่ได้มีเจตนาป่าวประกาศถึงสิ่งยิ่งใหญ่ที่ตนทำ หากเพียงบันทึกไว้ถึงบทเรียน-บันทึกที่เป็นดั่งกระบวนการทดลองความจริงเช่นกัน ทดลองผ่านชีวิต ตกผลึกความคิดผ่านการเขียน

ประกอบร่างสร้างเป็น ‘Hagiography’ ประวัติชีวิตนักบุญ
Photo: สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง

          บันทึกของคานธีถูกนำมาเล่าใน “คำตาม: เมื่อวิสาโล ภิกขุทดลองความจริง” ที่ สันติสุข โสภณสิริ เขียนไว้ในหนังสือ ประกอบสร้างเป็นตัวตน พระไพศาล วิสาโล: เส้นทางชีวิตจากนักกิจกรรมสู่พระนักคิด นักเขียน อัตชีวประวัติที่ร้อยเรียงความสัมพันธ์จากผู้คนรอบข้างจากต่างกรรมต่างวาระ ทั้งบิดา มารดา ครูอาจารย์ มิตรสหาย ที่เมื่อผนึกรวมกันแล้วทำให้เห็นอิทัปปัจจยตา เมื่อสิ่งนี้เป็น สิ่งนี้ย่อมเกิดขึ้น ที่ประกอบร่างสร้างตัวตนคนหนึ่งคนขึ้นมา 

          นักบรรพชีวินวิทยาผู้ศึกษาประวัติวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ผ่านซากดึกดำบรรพ์บอกว่า เราสามารถศึกษาอดีตหลายร้อยหลายพันปีได้ผ่านฟันซี่เดียวฉันใด เสี้ยวส่วนของชีวิตคนก็ทำให้เห็นฉากตอนของอดีตที่ส่งผลต่อตัวตนและสังคมได้ฉันนั้น

ประกอบร่างสร้างเป็น ‘Hagiography’ ประวัติชีวิตนักบุญ
Photo: สำนักพิมพ์เสมสิกขาลัย

          ในแง่นี้ บันทึกชีวิตของพระไพศาล หรือคานธี หรือบุรุษสตรีใดจึงหาใช่เรื่องราวของปัจเจกชน หากฉายภาพประวัติศาสตร์ทางสังคมที่การกระทำและไม่กระทำของเรา ล้วนแต่ส่งผลต่อชีวิตเราและเขาทั้งนั้น อัตชีวประวัติจึงมีค่าทั้งต่อปัจเจกที่ได้ทบทวน ค้นพบความหมายในช่วงเวลาต่างๆ ของชีวิตตนเอง ผู้อ่านได้เห็นว่าหนึ่งชีวิตเป็นผล และส่งผลต่อชีวิตอื่นมหาศาลเพียงใด ที่สำคัญสังคมก็ได้บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่จารึกโดยประชาชน

          สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ครูคนสำคัญที่พระไพศาลเรียกว่า เป็นทั้งนักเขียนที่มีอิทธิพลต่อชีวิต และเป็นครูที่ส่งผลต่อทั้งชีวิตฆราวาสและบรรพชิต เปรยไว้ใน “คำนำ: อนุโมทนากถา” ของหนังสือเล่มนี้ว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ภิกษุไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมเขียนอัตชีวประวัติ อาจด้วยมุมมองที่มิตรสหายของคานธี ทักท้วงว่าเป็นประเพณีของชาวตะวันตก หรือเป็นการงานที่สร้างความลุ่มหลง ขวางกั้นการหลุดพ้นซึ่งตัวตน ด้วยเหตุนี้ครูบาอาจารย์หลายท่านจึงทั้งปฏิเสธที่จะเขียน อีกทั้งห้ามศิษย์เขียนถึงประวัติของตนด้วยมองว่า ชีวิตของตนยังมีความด่างพร้อย เป็น ‘แบบอย่าง’ ไม่ได้ โชคยังดีบ้างในบางกรณีที่ศิษยานุศิษย์รับหน้าที่สัมภาษณ์ เรียบเรียงเรื่องราวเอาไว้ เช่น หนังสือ เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา อัตชีวประวัติของพุทธทาสภิกขุ สัมภาษณ์โดย พระประชา ปสนฺนธมฺโม ที่กลายเป็น ‘อมตนิพนธ์’ ผลงานที่ถอดความคำสอนของครูผ่านชีวิต ความคิด และการกระทำ

ประกอบร่างสร้างเป็น ‘Hagiography’ ประวัติชีวิตนักบุญ
Photo: สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง

          ประกอบสร้างเป็นตัวตน ให้อรรถรสที่ต่างออกไป ตรงกันข้ามกับที่ ซิกมันด์ ฟรอยด์ วิจารณ์การเขียนชีวประวัติไว้ว่า บุคคลใดก็ตามที่ริอ่านเขียนชีวประวัตินั้นย่อมโกหก ปกปิดความจริงโดยสมบูรณ์ แน่นอนว่าชีวิต 65 ปี บวช 40 พรรษาไม่อาจถูกบันทึกไว้ในหนังสือเกือบ 300 หน้า หากอัตชีวประวัติเล่มนี้ให้กลิ่นอายคล้ายการเขียนเพื่อทำความเข้าใจตัวตนดังคำตามที่ว่า

          “งานเขียนอัตชีวประวัติของมหาตมา คานธี1 เรื่อง ข้าพเจ้าทดลองความจริง น่าจะเป็นต้นแบบในการเขียนขุดค้นตัวตนเพื่อแสวงหาสัจจะชีวิตของพระอาจารย์ไพศาลไม่มากก็น้อย ดังจะเห็นได้ในหนังสืออัตชีวประวัติของท่านเล่มนี้ที่มีการวิพากษ์ตนเองแบบลอกเปลือกอย่างถึงแก่นใน ชนิดที่ไม่พบในขนบการเขียนชีวประวัติของพระเถราจารย์รูปใด”

          เช่น ที่ท่านเล่าไว้ในเจตนาก่อนบวชว่าเป็นไปเพื่อการผ่อนพักจากการทำงานหนัก และหลายครั้งก็รู้สึกอยากสึกด้วยซ้ำไป ฯลฯ การเขียนในเชิงนี้อาจทำให้ศรัทธาของศิษย์บางคนเจือจาง แต่ก็ทำให้ผู้อื่นเห็นสัจธรรมบางอย่าง โดยเฉพาะธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ และเสริมพลังยิ่งหากผู้อ่านรับรู้ได้ว่า

          “ความสำเร็จทางจิตที่เป็นไปได้สำหรับคนๆ หนึ่ง ความสำเร็จนั้นน่าจะเป็นไปได้สำหรับทุกคน” การ ‘ทำจิตพร้อมทำกิจ’ ของพระไพศาลจึงไม่ใช่เรื่องวิเศษเฉพาะตน หากเป็นสิ่งที่เราทุกคนล้วนสามารถฝึกฝนได้ 

          ในกวาดตาแรก ประกอบสร้างเป็นตัวตน อาจถูกจัดวางไว้ในหมวด ‘Hagiography’ ประวัติชีวิตของนักบุญ (hagio มาจากภาษากรีก ‘hagios’ แปลว่า holy ศักดิ์สิทธิ์ และ graphy มาจาก graphia แปลว่าการเขียน) ที่โดยมากมักเป็นการเขียนเพื่อยกย่อง เชิดชู และอาจเจือปนปาฏิหาริย์ต่างๆ หากบันทึกชีวิตของนักบุญไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป

          Dragon Thunder: My Life with Chogyam Trungpa ชีวประวัติของ เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช (Chogyam Trungpa Rinpoche) วัชราจารย์ชาวทิเบต เขียนโดย ไดอานา มุกโป (Diana Mukpo) ภรรยาของเขา แม้จะเป็นเรื่องราวชีวิตของคุรุธรรมาจารย์คนสำคัญที่ทำให้พุทธศาสนาวัชรยานเดินทางเข้าสู่โลกตะวันตก หากบันทึกชีวิตของเขากลับตรงไปตรงมาในความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุด ไม่มีการตัดออก หรือเติมแต่งใดๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับศิษย์ ร่ำสุรา กิริยานอกขนบ ฯลฯ

          แน่นอนว่าการเขียนเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดข้อถกเถียง เคลือบแคลงสงสัยว่าบุคคลที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ เหมาะสมที่จะเป็นแบบอย่างหรือไม่ หากบันทึกชีวิตที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันอาจสะท้อนได้ดีถึงคำสอนของตรุงปะ ครั้งยังมีชีวิตว่าขออย่าให้นักเรียนมองเขา หรือคุรุทางจิตวิญญาณท่านใดว่าเป็น ผู้กอบกู้ (savior) ที่จะมาช่วยเขาหรือใครได้ หากความธรรมดาหรือแม้กระทั่ง ‘ความบ้า’ ในความหมายของการไม่ตามขนบ ซื่อตรงต่อธรรมชาติอย่างถึงที่สุดนั่นแหละ คือคำสอนที่สะท้อนในตัวตนของเขา ตัวตนที่ใครต่อใครบอกว่าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตัวตนที่ฉับพลัน จริงแท้ในทุกสภาวะที่เป็น และสลายคลี่คลายไม่เป็นอะไรเลย

ประกอบร่างสร้างเป็น ‘Hagiography’ ประวัติชีวิตนักบุญ
Photo: Shambhala Publications

          การเขียนในเชิง(อัต)ชีวประวัติหาใช่ hagiography การใช้ธรรมชาติชีวิตเป็นคำสอนกลับทรงพลังและเสริมพลัง (empower) กว่าการเอ่ยอ้างความขลัง แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ว่าคำสอนสูงสุดนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และความศักดิ์ (พลัง) สิทธิ์ (อำนาจ/ความสามารถ) ที่แท้จริงนั้นเป็นสิ่งที่เราทุกคนล้วนมี นี่ไม่ใช่การยกย่องอัตตาให้เสมอครู หากเป็นการเรียนรู้จากครู และสร้างศรัทธาในตัวเอง ในธรรมชาติเดิมแท้ของมนุษย์ทุกคนที่เราเป็นอยู่ ว่าการตื่นรู้นั้นหาใช่เรื่องเฉพาะตนของเทวดา นักบุญ นักบวชคนใดที่เราทำได้เพียงพนมมือกราบไหว้-หากไม่อาจเป็น


เชิงอรรถ

[1] สะกดชื่อตามต้นฉบับในหนังสือ ประกอบสร้างเป็นตัวตน พระไพศาล วิสาโล: เส้นทางชีวิตจากนักกิจกรรมสู่พระนักคิด นักเขียน

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก