หลายคนคงเคยทราบประวัติของ เจ.เค.โรว์ลิง นักเขียนเจ้าของวรรณกรรมเยาวชนแห่งยุคสมัยอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ว่าเธอเคยประสบปัญหาชีวิตส่วนตัว ไม่มีเงิน และถูกปฏิเสธต้นฉบับจากสำนักพิมพ์ถึง 12 แห่ง ก่อนจะมีสำนักพิมพ์ที่ตอบรับและตีพิมพ์ออกมา ส่งผลให้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นหนังสือที่มียอดขายมากที่สุดกว่า 500 ล้านเล่มทั่วโลก ได้รับการดัดแปลงเป็นเกม ภาพยนตร์ และสื่อต่างๆ อีกมากมาย
เช่นเดียวกับ ไมเคิล เฟลป์ส นักกีฬาว่ายน้ำผู้กวาดเหรียญรางวัลได้มากที่สุด 28 เหรียญในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เบื้องหลังความสำเร็จของเขาคือการรับมือกับสารพัดปัญหาที่รุมเร้า ทั้งปัญหาครอบครัว โรคสมาธิสั้น และภาวะซึมเศร้า
ขยับเข้ามาใกล้ตัวอีกหน่อยเรื่องราวของ ครูไอซ์-ดำเกิง มุ่งธัญญา ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เขามองไม่เห็นแต่กำเนิด แต่สามารถเรียนจบคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ได้เป็นคุณครูตามที่ตนเองใฝ่ฝัน ก่อนจะได้รับทุน Fulbright ไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา จากวิธีคิดของเจ้าตัวที่ว่า “ถ้าเราไม่จำกัดความสามารถของตัวเอง คนเราสามารถทำได้ทุกอย่าง”
ที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบุคคลผู้ประสบความสำเร็จจากทั่วโลก แม้จะต่างความฝัน ต่างวิถีชีวิต ต่างเพศ ต่างภาษา แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกัน คือกรอบความคิดที่เชื่อว่าความสามารถและความเก่งของเรานั้นไม่ถูกจำกัด และสามารถพัฒนาขึ้นได้ตลอดเวลา แม้เจอความล้มเหลวก็มองว่านั่นคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ กรอบคิดแบบที่ว่านี้ เรียกว่า กรอบคิดแบบเติบโต หรือ ‘Growth Mindset’
Growth Mindset คืออะไร
Growth Mindset เป็นแนวคิดที่มาจากงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร. แครอล เอส ดเว็ค (Dr.Carol S. Dweck) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เผยแพร่ในหนังสือ Mindset: The New Psychology of Success คือ กรอบความคิดที่เชื่อว่าความสามารถ สติปัญญาของคนเรา สามารถพัฒนาได้จากการทุ่มเทและการทำงานหนัก สมองและพรสวรรค์เป็นเพียงจุดเริ่มต้น กระตุ้นให้บุคคลนั้นเกิดความพยายาม ขวนขวายและแสวงหาความรู้อยู่เสมอ มีความยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับอุปสรรค (resilience) เพราะมองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในเส้นทางไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
ตรงข้ามกับกรอบความคิดแบบคงที่ หรือ Fixed Mindset ซึ่งเชื่อว่าความรู้หรือสติปัญญาของคนเราไม่สามารถพัฒนาได้ เดิมมีต้นทุนอยู่เท่าไหร่ ก็จะมีเท่านั้นตลอดไป เป็นเรื่องของพรสวรรค์ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง คนที่มีกรอบความคิดแบบนี้มักหลีกเลี่ยงความท้าทาย และยอมแพ้เมื่อเจอปัญหาหรืออุปสรรค
ในการทดลองของ ดร.ดเว็ค เขาทำการสังเกตพฤติกรรมเด็กนักเรียนโดยแบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่มี Fixed Mindset และ Growth Mindset พบว่าเด็กที่มี Fixed Mindset จะเชื่อว่าความสามารถของเขามีอยู่เท่าเดิม เกิดมาอย่างไรก็เป็นแบบนั้น ไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อให้เด็กกลุ่มนี้ทำบางสิ่งที่ไม่ถนัด เขาจะบอกว่าเขาไม่มีวันทำมันได้ ขณะเดียวกันก็กลัวความล้มเหลว และมักหาข้ออ้างให้กับตัวเองเสมอ
สำหรับเด็กอีกกลุ่มที่มี Growth Mindset จะเชื่อว่าความสามารถเกิดจากความพยายาม เขาสามารถเก่งขึ้นได้เมื่อพยายามมากขึ้น มองความท้าทายหรือความล้มเหลวเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเอง ทำให้เด็กกลุ่มนี้ชอบเรียนรู้และขวนขวายความสำเร็จ
งานวิจัยของ ดร.ดเว็ค นำมาสู่ข้อเสนอที่ว่า ความเชื่อของมนุษย์คนหนึ่ง มีผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถ หรือศักยภาพของบุคคลนั้น ซึ่งอาจส่งผลต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของเขาได้เช่นกัน ทั้งยังส่งผลต่อการตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) มองเห็นคุณค่าของตนเอง (self-esteem) ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการรับมือและเผชิญอุปสรรคต่างๆ ด้วย
Growth Mindset ในเด็กไทย ผ่านการประเมิน PISA
ในการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment: PISA)1 ปี 2018 มีการสำรวจเรื่องกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) เป็นครั้งแรก พบว่านักเรียนไทยมีกรอบความคิดแบบเติบโตเพียง 43% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศในสมาชิก OECD ที่ 63% และพบว่าประเทศที่มีระบบการศึกษาดี เช่น ฟินแลนด์ เอสโตเนีย มีนักเรียนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโตสูงถึง 67% และ 77%
สำหรับในภูมิภาคเอเชีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศที่ทำคะแนนทดสอบ PISA ได้สูงนั้น พบว่ามีผลประเมิน Growth Mindset ที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยเช่นกัน
จากการวิเคราะห์ของ PISA เมื่อพิจารณาข้อมูลของประเทศสมาชิก OECD ชี้ว่านักเรียนที่มี Growth Mindset จะมีแรงจูงใจในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย เห็นคุณค่าของการศึกษา ตระหนักรู้ถึงความสามารถของตนเอง ตั้งเป้าหมายในการเรียนรู้ไว้สูง และมีความคาดหวังต่อการจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ที่สำคัญคือกลัวความล้มเหลวน้อยกว่า
จะเห็นได้ว่า Growth Mindset นั้นสัมพันธ์โดยตรงกับการเรียนรู้ และเป็นหนทางหนึ่งสู่การประสบความสำเร็จทั้งในด้านการศึกษาและด้านอื่นๆ ในชีวิต ด้วยเหตุนี้การปลูกฝัง Growth Mindset ให้กับนักเรียนจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับระบบการศึกษาทั่วโลก ดังที่ ดร.ดเว็ค ได้กล่าวไว้ว่า
“เมื่อเรารู้ว่าสติปัญญามีความสามารถที่จะพัฒนาขึ้นได้ สิ่งนี้จึงเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กๆ ทุกคน ที่จะอยู่ในสถานที่ซึ่งมีบรรยากาศที่เหมาะกับการพัฒนา”
นอกเหนือจากทักษะที่ดี คือการปรับกรอบวิธีคิด
ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน หรือที่ในโลกธุรกิจใช้คำว่า ‘VUCA’ ความผันผวน (volatile) ความไม่แน่นอน (uncertain) ความซับซ้อน (complex) และความคลุมเครือ (ambiguous) ภูมิทัศน์การจ้างงานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง การเตรียมความพร้อมให้กับคนหนุ่มสาวสำหรับการทำงานในอนาคต ไม่ได้มีแค่เรื่องทักษะที่จำเป็นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรับรู้ตนเองและการปรับกรอบความคิด (mindset) ด้วย
จากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา องค์กรต่างๆ หันมาใช้จักรกลอัตโนมัติมากขึ้น ผู้คนสั่งสินค้าออนไลน์มากขึ้น ทำงานทางไกลมากขึ้น สภาเศรษฐกิจโลกคาดว่าภายในปีค.ศ, 2022 งานอย่างน้อย 75 ล้านตำแหน่งจะถูกแทนที่ด้วยจักรกลอัตโนมัติ บริษัทใหญ่ๆ ที่คนหนุ่มสาวมองว่ามั่นคงและอยากเข้าทำงาน จะหายไปราว 40% ภายในปี 2025 ทักษะใดก็ตามที่หุ่นยนต์สามารถทำแทนได้ จะไม่ถือว่ามีคุณค่าอีกต่อไป
คริสตัล ลิม-แลงจ์ (Crystal Lim-Lange) อดีตผู้อำนวยการ NUS Centre for Future-ready Graduates และผู้ก่อตั้งบริษัท Forest Wolf ประเทศสิงคโปร์ ให้ความเห็นไว้ว่า เมื่อกล่าวถึงเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี คนทั่วไปมักนึกถึงโลกภายนอก แต่อาจลืมนึกถึง ‘เทคโนโลยีภายในตัวเรา’ ว่านานเพียงใดแล้วที่ไม่ได้อัปเกรดซอฟต์แวร์ภายใน อันหมายถึงความคิดเกี่ยวกับตัวเอง และมุมมองเกี่ยวกับโลก
การพัฒนาทักษะขั้นสูงในมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับความฉลาดทางอารมณ์ เช่น ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) ยังเป็นที่ต้องการอยู่เสมอ ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน แต่แม้จะมีการพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้ก้าวหน้าเพียงใด หากเป็นคนที่ Fixed Mindset ทักษะเหล่านั้นก็แทบไร้ความหมาย เพราะหากเกิดความผิดพลาดหรือผิดหวัง คนเหล่านี้จะมองว่านั่นคือความล้มเหลว และหยุดพัฒนา
ด้วยเหตุนี้การปลูกฝัง Growth Mindset จึงเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นสิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในทุกๆ คน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่กำลังเติบโตไปเป็นพลเมืองแห่งอนาคต
เชิงอรรถ
[1] การประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment: PISA) โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา OECD เป็นการวัดทักษะการเรียนรู้ และสมรรถนะเพื่อแก้ปัญหาในบริบทของชีวิตจริง ใน 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะความรู้ความเข้าใจ ผ่านการสอบด้านการอ่าน ตรระกะและการคิดวิเคราะห์ ผ่านการสอบคณิตศาสตร์ และการใช้เหตุผลผ่านการสอบวิทยาศาสตร์
ที่มา
Brainpickings. Fixed vs. Growth: The Two Basic Mindsets That Shape Our Lives. [Online]
Carol Dweck. TEDx Norrkoping, The power of yet. [Online]
Carol Dweck. What Having a “Growth Mindset” Actually Means. [Online]
Farnam Street Media Inc. Carol Dweck: A Summary of Growth and Fixed Mindsets. [Online]
Mindset works. Dr. Dweck’s research into growth mindset changed education forever. [Online]
กรุงเทพธุรกิจ. ครูตาบอดสอนอังกฤษได้ทุน Fulbright ได้อย่างไร. [Online]
สสวท. ข้อค้นพบการ PISA 2018 เกี่ยวกับกรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset). [Online]
การบรรยาย เรื่อง “Deep Human Resilience – the Skills and Mindsets We Need to Succeed in an Era of Change” โดย คริสตัล ลิม-แลงจ์ (Crystal Lim-Lange) อดีตผู้อํานวยการ NUS Centre for Future-ready Graduates มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) และผู้ก่อตั้งบริษัท Forest Wolf ประเทศสิงคโปร์ ในการประชุม TK Forum 2021 “Library and Public Space for Learning” วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2564 ณ โรงแรมเอส 31