Greenbook จิบวรรณกรรมอ่านรสชา ปลูกต้นกล้าความสัมพันธ์ชุมชน

46 views
December 1, 2023

“ถ้าไม่พูดถึงรายได้ ก็รู้สึกว่าบรรลุจุดมุ่งหมายในเรื่องของเครือข่าย แล้วก็ความสัมพันธ์กับสังคมข้างนอก ถ้าไม่มีร้านก็อาจจะไม่ได้ทำ” นั่นคือคำพูดที่สะท้อนเหตุผลว่า ทำไม เชค – ดิเรก ชัยชนะ ยังคงดำเนินกิจการร้านหนังสืออิสระอย่าง Greenbook Cafe-Space มาจนถึงทุกวันนี้

แม้ช่วงที่ผ่านมา ร้านหนังสือต้องประสบกับความท้าทายจากวิกฤตโรคระบาด ทำให้ต้องโยกย้ายจากอำเภอเมืองหาดใหญ่ มาลงหลักอยู่ที่บ้านในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ข้างองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหมอ

ในบทบาทหนึ่ง Greenbook Cafe-Space คือร้านหนังสืออิสระแบบที่เราคุ้นเคย แต่อีกบทบาทหนึ่งร้านหนังสือแห่งนี้เปรียบเสมือนเป็นห้องเรียนของชุมชน ซึ่งมีสารตั้งต้นมาจากความสนใจของเชค ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสุนทรียสนทนา การทำวิจัยเพื่อเป็นแนวทางให้กับชุมชนได้ดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคอง และโครงการ ‘ห้องเรียนจะนะ’ ที่เชื่อมโยงงานศิลปะ กับมิติด้านสิ่งแวดล้อมและมิติภายในจิตใจ

Greenbook จิบวรรณกรรมอ่านรสชา ปลูกต้นกล้าความสัมพันธ์ชุมชน

ชาเพิ่มอรรถรสวรรณกรรม

เชคต้อนรับเราด้วยการให้เลือกชาร้อน 3 ชนิด ที่หลานของเขาซึ่งเรียนทางด้านเครื่องดื่ม และเปิดร้าน B.I.T Cafe & Bar ที่ตรัง เป็นคนออกแบบรสชาติ ชาทั้งสามรสมีสตอรี่ไม่ธรรมดา เพราะถอดรหัสในการเบลนด์มาจากวรรณกรรมที่เชคชื่นชอบ คือเรื่องเจ้าชายน้อย สิทธารถะ และโจนานาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล

“ผมบอกเขาว่าถ้าอยากทำโครงการนี้ด้วยกันก็ต้องอ่านหนังสือ 3 เรื่องนี้ แล้วก็ใช้แรงบันดาลใจจากการอ่านของเขามาลองปรุงว่ารสชาติของวรรณกรรมจะออกมาเป็นรสชายังไง อย่างเรื่องสิทธารถะ เขาอ่านแล้วรู้สึกว่าสิทธารถะควรจะต้องเปิดประสบการณ์การรับรู้ให้กับโลกภายนอก ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ ความสุข สีสันต่างๆ ของโลกียวิสัย ดังนั้นเขาเลยใช้ชาแดงเป็นตัวเปิดเพราะด้วยคุณสมบัติจะทำให้รับรสได้มาก แล้วมาหมักด้วยกลิ่นวานิลลากับส้มไต้หวัน” ชารสนี้จึงถูกตั้งชื่อว่า ชาสิทธา ให้สอดคล้องกับชื่อวรรณกรรม

“ส่วนเรื่องโจนาธาน เขาอ่านแล้วรู้สึกว่ามันเป็นการคิดนอกกรอบ ดังนั้นเขาก็เลยใช้ชาอินเดียมาหมักแบบชาจีนทิกวนอิม ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ค่อยมีใครทำกัน แล้วก็ผสมหอมหมื่นลี้เข้าไป เลยกลายเป็น ชาโบยบิน”

สุดท้ายคือ ชาเจ้าชายน้อย ซึ่งเป็นชาที่ใช้ชื่อเดียวกับวรรณกรรม “เขาอ่านแล้วรู้สึกว่าประสบการณ์ในวัยเด็ก มีทั้งรสขมและรสหวานอยู่ด้วยกัน ไม่ได้เป็นไปแบบสดชื่นตลอด ดังนั้นชาของเจ้าชายน้อยก็เลยใช้ชาเขียวผสมกับเครื่องเทศจีนพวกกระวาน ซินนามอน แล้วก็กลบด้วยวานิลลา เวลาดื่มมันจะฝาดๆ แต่พอสักช่วงหนึ่งมันจะหวาน ก็เหมือนกับประสบการณ์วัยเด็กที่มีหลากหลาย”

Greenbook จิบวรรณกรรมอ่านรสชา ปลูกต้นกล้าความสัมพันธ์ชุมชน
Photo: Greenbook Cafe-Space

สุนทรียสนทนาเพื่อเยียวยาจิตใจ

ด้วยเหตุที่เชคมีความสนใจเรื่อง ‘จิตใจ การภาวนา และจิตวิทยา’ Greenbook Cafe-Space จึงจัด ‘สุนทรียสนทนา’ เพื่อพัฒนาการรับฟังและการสื่อสารอยู่บ่อยครั้ง กิจกรรมนี้ทำให้เชครับรู้ถึงปัญหาในการทำงานของกลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

“ปกติ อสม. กับ กลุ่ม Caregiver จะไปดูแลแผลกดทับ กายภาพ และเปลี่ยนท่อให้ผู้ป่วยพร้อมกับเจ้าหน้าที่อนามัย”

“ปัญหาของ อสม.คือ บางครั้งเขามีความทุกข์ของเขาอยู่แล้ว พอเจอเคสของผู้ป่วยอีก ก็หนักเลย แล้วเขาไม่สามารถสื่อสารหรือว่าพูดถึงความรู้สึกได้ เลยเหมือนกับว่า แต่ละคนก็ไปรับความทุกข์คนอื่นมาเพิ่มโดยที่ตัวเองก็ไม่ได้ปลดปล่อย ไม่ได้คุย”

“เราเลยทำกิจกรรมเรื่องของการฟัง เพื่อให้ อสม. สามารถสื่อสารความรู้สึกของตัวเองได้ ไม่ต้องเก็บไว้ มีเพื่อนที่จะมาแลกเปลี่ยนกัน เหมือนกับว่ากลุ่มผู้ดูแลก็มาดูแลกันเองด้วย นอกเหนือจากการดูแลผู้ป่วย พอเขาไปดูแลผู้ป่วย ก็จะมีเครื่องมือรับฟังความต้องการ ความรู้สึก ทำให้เข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ของผู้ป่วยและ อสม. ก็จะเปลี่ยน อสม. ก็จะมีความสุขกับงาน”

Greenbook จิบวรรณกรรมอ่านรสชา ปลูกต้นกล้าความสัมพันธ์ชุมชน
Photo: Greenbook Cafe-Space

ต่อยอดสู่การทำวิจัยเพื่อชุมชน

เมื่อทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ดูแลผู้ป่วยไปสักระยะ อีกปัญหาก็ปรากฏ นั่นคือการดูแลผู้ป่วยมะเร็งมักจะเกิดขึ้นแบบไม่ทันกาล เชคจึงทำวิจัยในประเด็นนี้ให้กับ ‘ชุมชนกรุณา’ หรือ กลุ่ม Peaceful Death เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลนำไปปรับใช้

“ทำไปช่วงหนึ่งเขาก็บอกว่า ดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคองไม่ทัน เพราะปัญหาคือ หากผู้ป่วยไม่เข้าสู่ระยะสุดท้ายก็จะไม่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง มันเป็นเกณฑ์ทางการแพทย์ แต่พอเป็นโรคแล้ว มันพีคปุ๊บ ผู้ป่วยก็เสียชีวิตเลย เลยคุยกันว่าเรามาทำวิจัยกันไหม ปีที่แล้วก็เลยทำวิจัยว่าชุมชนนี้ควรจะดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร เป็นวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มี อสม. เจ้าหน้าที่ แล้วก็ผู้ป่วย ผมทำหน้าที่เป็นผู้วิจัยจากภายนอกไปช่วยให้เกิดกระบวนการ เสร็จแล้วก็ได้เป็นแผนชุมชนมา”

“วิจัยที่ผมทำมันคือแนวทางว่าผู้ป่วยมะเร็งทุกระยะควรจะได้รับการดูแลแบบประคับประคองต่างกันตามข้อมูลของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ผู้ป่วยระยะที่หนึ่งอาจจะดูแลร่างกายตัวเองได้อยู่ ดังนั้นการดูแลที่เขาต้องการก็อาจจะเน้นเรื่องจิตใจ อาหาร หรือการพาไปโรงพยาบาล ผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็อาจต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปดูแล ดังนั้นจึงสามารถสร้างแผนการดูแลเฉพาะแต่ละคนได้ ว่าควรได้รับการดูแลรูปแบบไหน”

“ทางร้านก็เชื่อมกับ Peaceful Death ด้วย เพราะฉะนั้นที่ร้านก็จะมีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการดูแลประคับประคอง และการดูแลเรื่องความตาย”

Greenbook จิบวรรณกรรมอ่านรสชา ปลูกต้นกล้าความสัมพันธ์ชุมชน
Photo: Greenbook Cafe-Space

ดอกผลจากการวิจัยในครั้งนี้

เชคเล่าถึงผลการวิจัยที่นำเสนอว่า การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะประคับประคองให้มีประสิทธิภาพต้องอาศัยความร่วมมือจาก 3 กลุ่ม คือ (1) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือหน่วยงานด้านสุขภาพ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานีอนามัย โรงพยาบาล (2) ครอบครัวผู้ป่วยและตัวผู้ป่วย (3) ชุมชน ซึ่งในที่นี้หมายถึง อสม. องค์กรบริหารส่วนตำบล และเทศบาล รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในชุมชน มาร่วมกันเป็นหุ้นส่วนเพื่อดูแลผู้ป่วยโดยไม่ได้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว

โดยเชคสังเคราะห์ได้ว่า แต่ละกลุ่มสามารถมีส่วนร่วมใน 3 รูปแบบ

“หนึ่ง ถ้าเป็นกองทุนผู้ป่วยมะเร็ง ก็ต้องหาวิธีว่าเราจะพัฒนากองทุนในชุมชนได้ยังไง”

“สอง คือเรื่องของความรอบรู้เกี่ยวกับมะเร็ง เพราะผู้ป่วยรวมถึงเจ้าหน้าที่อาจจะยังขาดความเข้าใจในบางเรื่อง เช่น อาหาร เพราะมันมีความเชื่อที่ผิดๆ อยู่เยอะ อาหารอะไรทานได้ หรือทานไม่ได้ หรือว่าทานแล้วจะมีผลกระทบอะไรไหม”

“ในการมีส่วนร่วมแบบที่สอง ก็มีกลุ่มพูดคุย ให้กำลังใจ เพราะผู้ป่วยมะเร็งบางเคสไปคีโมแล้วร่างกายทรุดโทรม เขาก็ไม่สามารถเข้าโปรแกรมครบตามที่หมอดีไซน์ได้ พอผู้ป่วยมีกลุ่มมาคุย ได้เจอผู้ป่วยด้วยกัน เขาก็จะรู้ว่า คนนี้ไปตามกระบวนการของหมอทุกอย่างจนครบแล้วอาการดีขึ้น ได้กลับมาทบทวน กลับมาเข้ากระบวนการให้สมบูรณ์ เหมือนให้กำลังใจกันได้ อันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับรู้ทางด้านมะเร็งที่จะต้องพัฒนากันต่อ”

“อันสุดท้ายคือระบบฐานข้อมูลที่จะต้องพัฒนาด้วยกัน เจ้าหน้าที่จะต้องมีฐานข้อมูล ข้อมูลนี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่เป็นคนเก็บฝ่ายเดียว ชุมชนก็สามารถรายงานเข้ามาได้ มาร่วมแจ้งว่า เออนี่ มีผู้ป่วยมะเร็งอยู่ที่นี่นะ เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปดู เพราะผู้ป่วยหลายคนไม่อยากบอก เขามองว่าเป็นปัญหาส่วนตัว บางคนก็อยากเก็บไว้คนเดียว คือไม่อยากบอกแต่ก็อยากรักษา ดังนั้นถ้ามีกลุ่มที่เป็นไพรเวตให้เขาได้คุยก็น่าจะดีกว่า พอมีฐานข้อมูล และข้อมูลพวกนี้ ก็สามารถสร้างแผนการเฉพาะได้”

Greenbook จิบวรรณกรรมอ่านรสชา ปลูกต้นกล้าความสัมพันธ์ชุมชน

ห้องเรียนจะนะ

เดิมทีตอนอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ เชคเปลี่ยนร้านหนังสือให้เป็นห้องเรียนที่ชื่อว่า ‘จะนะศึกษา’ เพื่อสื่อสารประเด็นโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ มีการเชิญอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจผ่าน 4 มิติ คือ มิติด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความสมบูรณ์ทางทรัพยากร มิติด้านโครงสร้างสังคมเพื่อทำความเข้าใจที่มาของแนวคิดการเกิดนิคมอุตสาหกรรม มิติด้านสุนทรียะเพื่อนำผู้เรียนทำความเข้าใจจะนะผ่านความงามธรรมชาติโดยใช้กิจกรรมศิลปะ และสุดท้ายคือมิติด้านจิตวิญญาณที่ผู้เข้าร่วมจะได้ไปอยู่ที่จะนะ เพื่อสัมผัสกับความเป็นอยู่ของที่นั่น หลังจากนั้นแต่ละคนจะหาจุดยืนของตัวเองว่า อยากให้พื้นที่จะนะเป็นอย่างไร

ถึงแม้ว่าการย้ายมาที่นี่จะทำให้จัดกิจกรรมอย่างเดิมไม่ได้ แต่เชคก็วางแผนเอาไว้แล้ว ว่าในอนาคตจะทำอย่างไรต่อไป

“พอย้ายมาที่นี่ ผมก็เปลี่ยนวิธี คือแทนที่จะทำที่ร้านก็ไปทำที่จะนะ ตอนนี้ผมสนใจประเด็นการใช้ศิลปะสร้างการตระหนักรู้เรื่องจะนะ ทำงานพวกอินสตอเลชัน (Installation) แล้วก็ใช้การจัดดอกไม้อิเคบานะ การภาวนา พาผู้คนไปสัมผัสกับธรรมชาติ ดูธรรมชาติ พูดถึงประเด็นที่เชื่อมโยงกับมิติด้านสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นก็สร้างผลงานศิลปะที่สะท้อนส่วนหนึ่งของจิตใจเราด้วย เชื่อมโยงกับธรรมชาติด้วย”

Greenbook จิบวรรณกรรมอ่านรสชา ปลูกต้นกล้าความสัมพันธ์ชุมชน
Photo: Greenbook Cafe-Space

สิ่งที่ได้จากร้านหนังสือ

หลังจากที่ได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดของ Greenbook Cafe-Space เราอดใจถามเชคไม่ได้ว่า เขาไม่ได้เปิดร้านหนังสือเพื่อขายหนังสือใช่ไหม? เชคตอบพร้อมหัวเราะเบาๆ “ก็ประมาณนั้น” ก่อนจะบอกเล่าถึงมุมมองต่อร้านของตัวเอง

“มันคือเครื่องมือ คือพื้นที่ให้เรียนรู้ แลกเปลี่ยน สร้างเครือข่าย”

“ถ้าไม่พูดถึงรายได้ก็รู้สึกบรรลุจุดมุ่งหมายในเรื่องของเครือข่าย แล้วก็ความสัมพันธ์กับสังคมข้างนอก ถ้าไม่มีร้านก็อาจจะไม่ได้ทำ มันอาจจะสร้างเครือข่ายยาก เหมือนว่าร้านหนังสือเป็นสิ่งที่ดึงคนให้เข้ามาได้ แล้วหนังสือที่เลือกเข้ามาที่ร้าน มันสามารถสอดคล้องกับประเด็นเราสนใจ”

Greenbook จิบวรรณกรรมอ่านรสชา ปลูกต้นกล้าความสัมพันธ์ชุมชน


Facebook Post Click

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก