เสรีนิยมใหม่ไม่ถูกใจสิ่งนี้! ‘Green School’ โรงเรียนแนวใหม่ผลิตนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม

1,927 views
5 mins
January 20, 2022

          กลางทุ่งนาป่าเขาในเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย มีอาคารไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยหญ้าหลายหลังซุกซ่อนอยู่ มันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนที่มีแนวคิดกรีนที่สุดในโลก ซึ่งน้อมนำให้เด็กๆ ใกล้ชิดและหวงแหนธรรมชาติ พร้อมก้าวออกไปเป็นเยาวชนนักกิจกรรม นวัตกร และผู้ประกอบการด้านสิ่งแวดล้อม ผู้นำพาการเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืน

          โรงเรียนแห่งนี้สนับสนุนให้เด็กๆ ‘มือเปื้อนดิน เท้าเปื้อนโคลน’ ได้ลองผิดลองถูก เรียนรู้จากความผิดพลาด จนกระทั่งกลายเป็นนวัตกรรมหรือทางออกใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา ทั้งระดับชุมชนและระดับโลก  หลังก่อตั้งมาเป็นเวลาสิบกว่าปี ปัจจุบันแนวทางการศึกษาดังกล่าวได้สร้างแรงกระเพื่อม และกลายเป็นต้นแบบของโรงเรียนสีเขียวในอีกหลายประเทศ

          ว่ากันว่า นี่คืออีกหนึ่งโมเดลโรงเรียนแห่งอนาคต ที่ตั้งต้นจากการคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม-ปัญหาใหญ่ที่สุดที่มวลมนุษยชาติต้องเผชิญ

ฉีกตำรา ปฏิรูปการศึกษาเพื่อโลกใบนี้

          โรงเรียนนานาชาติสีเขียว (Green School International: GSI) ก่อตั้งเมื่อปี 2008 โดยจอห์นและซินเธีย ฮาร์ดีส์ เจ้าของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับชาวแคนาดา ซึ่งมองว่าการศึกษากระแสหลักนั้นเข้มงวดเกินไปและสร้างความทุกข์ให้กับผู้เรียน เมื่อต้องเลือกโรงเรียนให้กับลูกสาว พวกเขาจึงตัดสินใจสร้างโรงเรียนขึ้นมาเองในบาหลี ท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อ “สร้างประสบการณ์การศึกษาแบบองค์รวม โดยผสมผสานจิตใจ ร่างกาย และอารมณ์เข้าด้วยกัน”

          พวกเขาได้แรงบันดาลใจมาจากแนวคิด ‘Three Springs’ ของอลัน เว็กสตาฟ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่าด้วยชุมชนกับหมู่บ้านเพื่อการศึกษา และภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Inconvenient Truth’ ที่ตีแผ่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์

          โรงเรียนสีเขียว บาหลี เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับมัธยมปลาย มุ่งปฏิรูปการศึกษาให้เหมาะกับนักเรียนในศตวรรษที่ 21 โดยประยุกต์ใช้แนวทางการศึกษาแบบทางเลือก เช่น วอลดอร์ฟ ซึ่งเน้นเรื่องการเชื่อมโยงมนุษย์กับจักรวาลและธรรมชาติ และมอนเตสซอรี ซึ่งให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์และการกำกับตนเอง นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการเรียนรู้ปัญหาร่วมสมัยระดับโลก เพื่อเตรียมพร้อมให้เด็กๆ รับมือกับสิ่งเหล่านั้นในอนาคต

           หลักการเรียนรู้ของโรงเรียนถูกเรียกด้วยคำย่อว่า ‘REAL’ คือ การเรียนการสอนที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในชีวิตจริง (Relational) เชื่อว่าความรู้มาจากการมีประสบการณ์ (Experiential) เน้นการกระทำและถือว่าการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต (Action-oriented) และมุ่งแก้ปัญหาใกล้ตัวจากระดับท้องถิ่นสู่ระดับโลก (Local to global)

          นักเรียนของโรงเรียนสีเขียวใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเรียนรู้นอกห้องเรียน มีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้วางแผนธุรกิจและทำงานร่วมกับท้องถิ่นเพื่อจัดการกับความท้าทายในปัจจุบัน เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความไม่เท่าเทียม นักเรียนจะได้รับการบ่มเพาะไอเดีย ทดสอบ และนำไปปรับใช้จริง โดยการให้คำแนะนำของชุมชน ศิลปิน ผู้ประกอบการ และครู

          ที่โรงเรียนมีศูนย์ทดสอบต้นแบบนวัตกรรม ‘iHub’ เปรียบเป็นห้องแล็บด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การออกแบบ ฯลฯ ซึ่งสนับสนุนการทำงานและทดลองทั้งที่ใช้เทคโนโลยีระดับต่ำและสูง ตัวอย่างผลลัพธ์จากการบ่มเพาะนวัตกรรม เช่น ธุรกิจ ‘Bio Bus’ รถที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว 100% เพื่อแก้ปัญหาระบบขนส่งของโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล หรือการคิดค้นกลไกที่ช่วยบริหารจัดการขยะในชุมชน 1.2 ตันต่อเดือน เป็นต้น

Photo :  Green School Bali
Photo :  Green School Bali

นักเรียนระดับเวิร์ดคลาส กับบทบาทในการสร้างโลกให้น่าอยู่

          ผู้เรียนของโรงเรียนสีเขียว บาหลี นอกจากมีความรู้ในศาสตร์สาขาต่างๆ แล้ว ยังมีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล้าตัดสินใจ พร้อมรับความเสี่ยง มั่นใจในการค้นหาคำตอบที่ตนอยากรู้ และลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งล้วนแต่เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21

          นับตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนมาสิบกว่าปี นักเรียนและศิษย์เก่าหลายสิบคนของโรงเรียนสีเขียว บาหลี ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยในเวทีระดับนานาชาติ เช่น ในที่ประชุมสหประชาชาติ และ TED Talk รวมทั้งกลายเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และผู้ประกอบการเพื่อความยั่งยืนมากมาย อาทิ

          เมลาติ และ อิสเบล วิจเซน สองพี่น้องชาวดัตช์-อินโดนีเซีย เจ้าของแคมเปญ ‘Bye Bye Plastic Bags’ ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 12 และ 10 ปี ส่งผลให้เกิดการแบนถุงพลาสติกทั่วทั้งเกาะบาหลี และขยายไปสู่การขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังใน 20 ประเทศทั่วโลก  โคลเวอร์ โฮแกน นักวิจัยและนักเคลื่อนไหวรณรงค์เรื่องปัญหาโลกร้อน ผู้ก่อตั้ง ‘Force of Nature’ องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านการปลูกฝังความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมให้เยาวชน ซึ่งปัจจุบันมีเครือข่ายและอาสาสมัครกว่า 50 ประเทศ

          นิโคลัส ซายี ชาวละตินอเมริกัน เจ้าของแบรนด์ Tumbao ผลิตภัณฑ์ซึ่งสร้างสรรค์จากหนังเทียมที่ทำจากต้นกระบองเพชร อิสามิ ซาอิด ราสฮิด ศิลปินผู้ตระเวนเล่นดนตรีจากแทนซาเนียไปยังสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องไฟป่าในเกาะบอร์เนียว และ เทสฮาโลนิกา คริสันติ ผู้เปิดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กด้อยโอกาส

          ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกล่าวว่า “โรงเรียนสีเขียวไม่ได้เป็นเพียงโรงเรียน แต่เป็นการเคลื่อนไหวระดับโลกเพื่อยกระดับผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะโลกในตอนนี้ต้องการเรา …พวกเขาเป็นเด็กที่มีจิตใจเข้มแข็ง และในวันนี้พวกเขาได้กลายมาเป็นนักเปลี่ยนแปลง”

Photo :  Green School Bali
Photo :  Green School Bali

การออกแบบที่เน้นความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ

          เมื่อหัวใจของการเรียนรู้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กายภาพของโรงเรียนสีเขียว บาหลี จึงได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน เพื่อเอื้อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ เดิมทีเดียวการออกแบบมีแนวคิดสุดโต่ง คือตั้งใจให้อาคารสร้างจากวัสดุธรรมชาติ และใช้พลังงานหมุนเวียนโดยไม่พึ่งพาระบบสาธารณูปโภค แต่ในทางปฏิบัติแล้วพบว่า ไม่สามารถจัดหาพลังงานและน้ำดื่มได้เพียงพอ

          การออกแบบและสร้างโรงเรียนตั้งใจให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จึงมีการตัดต้นไม้เพียงไม่กี่ต้น และมีการปลูกทดแทนในสถานที่แห่งอื่น ต้นไม้บางต้นยังคงเติบโตผ่านช่องหลังคา มีการใช้หลักการเพอร์มาคัลเจอร์ (Permaculture) คือการออกแบบพื้นที่ที่คำนึงถึงความหลากหลาย ความมั่นคง และระบบนิเวศโดยรวม ที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยได้รับอาหาร พลังงาน และทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน โรงเรียนแห่งนี้จึงปลูกข้าวอินทรีย์ ผัก และผลไม้ ไว้บริโภคเอง

          สถาปัตยกรรมต่างๆ สร้างขึ้นจากวัสดุหมุนเวียนเป็นหลัก เช่น ไม้ไผ่ หินภูเขาไฟ หญ้าในท้องถิ่น และดิน ห้องเรียนถูกสร้างขึ้นโดยไม่มีกำแพง เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมรอบตัว โครงสร้างแบบเปิดโล่งยังช่วยให้มีแสงธรรมชาติและมีการระบายอากาศที่ดี

          นอกจากนี้ ยังมีสะพานไม้ไผ่ยาว 22 เมตร ทอดข้ามแม่น้ำอายุง เปรียบเป็นสัญลักษณ์ที่สวยงามและแข็งแกร่งของการเปลี่ยนผ่านจากโลกแห่งความคิดไปสู่ความเป็นจริง ส่วนอาคารหลักของโรงเรียนซึ่งกว้าง 60 เมตร ก่อสร้างโดยใช้เสาไม้ไผ่มากถึง 2,500 ต้น ได้กลายเป็นต้นแบบของการสร้างสถาปัตยกรรมไม้ไผ่ขนาดใหญ่ให้กับหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงนักออกแบบที่สนใจด้านนวัตกรรมการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม

          ทั้งนี้ โรงเรียนนานาชาติสีเขียว บาหลี เป็น 1 ใน 5 โรงเรียนที่เข้ารอบสุดท้ายของการประกวด International School Awards 2022 ประเภทรางวัลด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะประกาศผลการตัดสินช่วงปลายเดือนมกราคม 2022

Photo :  Green School Bali

จากต้นแบบในบาหลี สู่การปลูกเมล็ดพันธุ์ในพื้นที่ใหม่ๆ

          ในวันนี้ โรงเรียนสีเขียว มิได้มีอยู่ในเกาะบาหลีเท่านั้น แต่เริ่มขยายสาขาออกไปยังหลายประเทศ

          โรงเรียนสีเขียว นิวซีแลนด์ ตั้งอยู่ในเกาะเหนือ ระหว่างภูเขาไฟทารานากิและทะเลทัสมัน ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย มีความสนุก และเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต มีโครงการปลูกป่าในโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของนิวซีแลนด์ และทำแคมเปญ Bye Bye Plastic Bags เช่นเดียวกับบาหลี

          ส่วน โรงเรียนสีเขียว แอฟริกาใต้ ตั้งอยู่กลางหุบเขาใกล้เมืองเคปทาวน์ ประกอบด้วยไร่ธัญญาหาร สวนผัก และสวนดอกกล้วยไม้ ซึ่งเป็นห้องเรียนชั้นเลิศสำหรับวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทั้งนี้ โรงเรียนวางแผนที่จะระดมทุนการศึกษาและเงินช่วยเหลือสำหรับเด็กในพื้นที่ด้อยโอกาส เนื่องจากแอฟริกาใต้มีอัตราของนักเรียนที่ออกจากโรงเรียนกลางคันสูงที่สุดในโลก และมีนักเรียนเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่มีโอกาสเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

          ล่าสุด โรงเรียนสีเขียว ได้ขยายสาขาใหม่ในเมืองทูลุม ประเทศเม็กซิโก เป้าหมายของโรงเรียนแห่งนี้มิใช่เพียงการพัฒนานักเรียน แต่ต้องการพัฒนาผู้คนในชุมชน เนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่ใจกลาง ‘Selvazama’ โครงการที่อยู่อาศัยแห่งอนาคตกลางผืนป่า แต่ละครอบครัวซึ่งย้ายมาอยู่อาศัยที่นี่ล้วนต้องปรับตัวและเรียนรู้วิถีชีวิตที่แตกต่างจากเดิม

          ทั้งนี้ หากพิจารณาจากความจำเป็นในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง แนวทางการศึกษาของโรงเรียนสีเขียว อาจกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ไม่ช้าก็เร็ว ต้นแบบโรงเรียนที่เกิดขึ้นจึงมิได้ถูกออกแบบให้หยั่งรากลึกในสภาพแวดล้อมแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นโมเดลที่สามารถนำไปทำซ้ำหรือขยายผลต่อได้ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดของโลก


ที่มา

เว็บไซต์ Green School [online]

Inside the Balinese school that produces teen activists, UN speakers and rock stars [online]

Welcome to the Greenest School on Earth [online]

Green School [online]

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก