Green Library ห้องสมุดสีเขียว ห้องสมุดรักษ์โลก

2,798 views
10 mins
June 5, 2021

          ปัจจุบันทั่วโลกต่างตระหนักถึงวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เรื่องนี้อาจดูเหมือนเป็นเรื่องห่างไกลจากวงการห้องสมุด แต่อันที่จริงแล้วห้องสมุดในฐานะขุมทรัพย์ทางสารสนเทศสามารถเป็นสื่อกลางอันทรงพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงกับโลกในอนาคตได้โดยตรง ด้วยการให้ความรู้ ปลูกฝังเจตคติในการอนุรักษ์ธรรมชาติ กระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิดเชิงวิพากษ์ ผสานกับการส่งเสริมทักษะการรู้สารสนเทศ (information literacy)

          ห้องสมุดกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเริ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อต้นทศวรรษ 1990 โดยสถาบันอุดมศึกษากว่า 40 ประเทศได้ร่วมลงนามในสัตยาบันแตลลัวส์ (Talloires Declaration) นำไปสู่การวางแผนการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ทำงานด้วยความตระหนักถึงความยั่งยืนของธรรมชาติ รวมทั้งวางแนวทางให้ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเหล่านั้นเปลี่ยนเป็นห้องสมุดรักษ์โลก และเกิดเป็นขบวนการเคลื่อนไหวห้องสมุดสีเขียว (Green Library Movement) เพื่อแสวงหาแนวทางลดผลกระทบจากการดำเนินงานของห้องสมุดที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

แบบไหนที่เรียกว่า ‘ห้องสมุดสีเขียว’

          แน่นอนว่า ห้องสมุดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกกันว่า ห้องสมุดสีเขียว (Green Library) ย่อมไม่ได้หมายถึงห้องสมุดที่ทาสีอาคารด้วยสีเขียว ใช้สีเขียวเป็นธีมหลัก หรือมีเจ้าหน้าที่ใส่ชุดยูนิฟอร์มสีเขียว โดยทั่วไปแล้วตัวบ่งชี้ถึงความเป็นห้องสมุดสีเขียวจะพิจารณาจากการออกแบบอาคารที่ใช้พลังงานน้อย รวมถึงแนวปฏิบัติงานหรือพฤติกรรมการให้บริการ ซึ่งอาจจำแนกเป็นด้านต่างๆ ได้แก่

          สถาปัตยกรรมสีเขียว เรื่องของอาคารและการใช้ไฟฟ้าย่อมเป็นสิ่งแรกๆ ที่คนจะนึกถึง เพราะตัวอาคารเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ธรรมชาติ เช่นในสหรัฐอเมริกา อาคารเป็นปัจจัยซึ่งบริโภคกระแสไฟฟ้าประมาณร้อยละ 70 ของการใช้พลังงานทั้งหมด และผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงร้อยละ 40 ดังนั้นห้องสมุดสีเขียวจึงต้องหาหนทางลดการใช้พลังงานของตัวอาคาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไฟส่องสว่าง การถ่ายเทอากาศ การควบคุมอุณหภูมิ การออกแบบตกแต่งภายในที่เหมาะสม การใช้พลังงานทดแทน ระบบกำจัดและหมุนเวียนของเสีย การใช้วัสดุจากธรรมชาติ

          พฤติกรรมสีเขียว เป็นเรื่องของมนุษย์โดยเฉพาะ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมใจของเจ้าหน้าที่และผู้มาใช้บริการห้องสมุด เช่น ใช้แสงจากธรรมชาติ การลดหรือนำกระดาษกลับมาใช้ใหม่ (reuse) การใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์ การใช้ผลิตภัณฑ์ที่หาได้ในท้องถิ่น ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้งาน ใช้หมึกเครื่องพริ้นเตอร์แบบเติมซ้ำได้และเลือกหมึกที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ใช้จอแบบ LCD การคัดแยกขยะ ลดการใช้อุปกรณ์การสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์

          หนังสือสีเขียว การเลือกใช้ทรัพยากรห้องสมุดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยมีหลัก 3 ข้อคือ

          หนึ่ง เลือกทรัพยากรที่มีเนื้อหาที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาพลังงาน ปัญหาโลกร้อน เทคโนโลยีสีเขียว การทำสวนออร์แกนิก

          สอง ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า โดยการจำหน่ายออกหนังสือเก่าหรือทรัพยากรที่ไม่ใช้แล้วด้วยการรียูสหรือรีไซเคิลแทนที่จะทิ้ง เช่น นำไปขายหรือบริจาค กรณีของหนังสือกระดาษสามารถนำไปหมุนเวียนได้ง่ายกว่าสื่อและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

          สาม เลือกรูปแบบทรัพยากรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันสำนักพิมพ์หลายแห่งพยายามผลิตสิ่งพิมพ์โดยใช้กระดาษรีไซเคิลและดำเนินการปลูกต้นไม้ทดแทน ในขณะที่ทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์แม้จะช่วยลดการใช้พลังงานในการเดินทางเพื่อเข้าถึงสารสนเทศ แต่การผลิตอุปกรณ์และการใช้งานก็บริโภคกระแสไฟฟ้าจำนวนมาก ดังนั้นห้องสมุดสีเขียวจึงต้องหาแนวทางลดการใช้พลังงานจากทรัพยากรทั้งสองประเภทไปพร้อมๆ กัน

          บริการและกิจกรรมสีเขียว กระแสห้องสมุดสีเขียวกระตุ้นให้บรรณารักษ์ริเริ่มบริการและกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ให้กับชุมชน นอกเหนือไปจากบทบาทพื้นฐานในการจัดหาทรัพยากรและสารสนเทศด้านวิถีชีวิตสีเขียว ห้องสมุดประชาชนหลายแห่งมีบทบาทเป็นศูนย์การศึกษาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการจัดกิจกรรมทางการศึกษาและเวิร์คช็อปเพื่อให้ผู้ใช้บริการมีแนวทางที่จะดำเนินชีวิตแบบสีเขียว เช่น การรีไซเคิล ความปลอดภัยทางอาหาร ฯลฯ ห้องสมุดบางแห่งมีบริการให้ยืมเครื่องมือทำการเกษตรและให้ยืมอุปกรณ์ตรวจวัดกระแสไฟฟ้า บรรณารักษ์ของห้องสมุดบางแห่งสามารถให้ความรู้และสารสนเทศเกี่ยวกับการปลูกพืชผัก การใช้ยาสมุนไพร และการดูแลสุขภาพแบบทางเลือก เป็นต้น

          ระบบสารสนเทศสีเขียว ICT กลายเป็นประเด็นที่ห้องสมุดเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นนั้นหมายถึงการบริโภคพลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นด้วย มีการวิจัยที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการใช้ ICT อย่างเหมาะสมสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ แนวทางที่จะนำไปสู่ระบบสารสนเทศสีเขียวก็คือ กระบวนการประมวลผลที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ การแบ่งปันทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ การรียูสเครื่องมือและเนื้อหาอิเล็กทรอนิกส์ และพฤติกรรมการใช้ ICT ที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน

เรียนรู้อย่างยั่งยืนด้วยทักษะสีเขียว

          การให้บริการสารสนเทศเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนภายในห้องสมุดมีปริมาณเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่แง่มุมที่ยังมีการกล่าวถึงกันไม่มากนักก็คือ บทบาทของห้องสมุดในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่กระบวนการคิดอย่างยั่งยืน อันได้แก่ ทักษะการรู้สารสนเทศ (information literacy skill) และทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking skill) ทักษะทั้งสองด้านนี้มีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างจิตสำนึกและพฤติกรรมรักษ์โลก

          ทักษะการค้นหาสารสนเทศที่คล่องแคล่วช่วยลดระยะเวลาและทรัพยากรในการแสวงหาความรู้ได้ทางอ้อม ห้องสมุดอาจลองนำเสนอข้อเท็จจริงและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี เช่น ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดขึ้นขณะใช้งานเว็บไซต์ และสอนวิธีการพัฒนากลยุทธ์ในการค้นหาอย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจนำเสนอข้อมูลปริมาณการใช้พลังงานหรือปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นอยู่ทุกขณะที่เราดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อก่อให้เกิดความตระหนักถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

          กระบวนการที่สำคัญคือการกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการรู้จักคิดเชื่อมโยงระหว่างการกระทำและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งท้ายที่สุดแล้วสามารถตัดสินและประเมินคุณค่าว่าจะดำรงชีวิตร่วมกับธรรมชาติในยุคที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีได้อย่างไรให้เกิดความยั่งยืนที่สุด

5 ห้องสมุดสีเขียว เพื่อโลกสีเขียว

ห้องสมุดอาราเบียน (Arabian Library) แอริโซนา, สหรัฐอเมริกา

          ห้องสมุดอาราเบียนเป็นสาขาของห้องสมุดเมืองสก็อตส์เดล สร้างขึ้นเมื่อปี 2003 ท่ามกลางภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยทะเลทรายในมลรัฐแอริโซนา จุดมุ่งหมายของห้องสมุดแห่งนี้คือการเป็นพื้นที่เรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาสารสนเทศด้วยตัวเอง สถาปนิกออกแบบอาคารให้มีภาพลักษณ์ทันสมัยและสร้างความรู้สึกกลมกลืนกับธรรมชาติ

          เมืองสก็อตส์เดลวางเป้าหมายให้อาคารหลายแห่งของเมืองได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED1 ห้องสมุดอาราเบียนเป็นอาคารรุ่นแรกๆ ที่พัฒนาขึ้นในระยะนำร่องและได้รับการรับรองระดับเงิน นอกจากนี้ห้องสมุดยังได้รับรางวัล IIDA/Metropolis Smart Environments Award ในปี 2008

          ห้องสมุดอาราเบียนก่อสร้างด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น โครงสร้างหลักประกอบด้วยเหล็กและหินแกรนิต ฉนวนกันความร้อนทำด้วยฝ้ายรีไซเคิลจากเมืองใกล้เคียง เพดานทำมาจากกระดานไม้อัดรีไซเคิล ดวงไฟแขวนสามารถยกเคลื่อนย้ายตำแหน่งได้ตามต้องการ ห้องสมุดเลือกใช้สีทาผนังที่มีสารเคมีต่ำ และออกแบบให้มีระบบการไหลเวียนอากาศที่ดี ทั้งยังมีบริการชาร์จไฟสำหรับยานพาหนะที่ใช้กระแสไฟฟ้า

          การจัดวางหนังสือในห้องสมุดอาราเบียนพยายามให้ดูคล้ายกับร้านหนังสือ ผู้อำนวยการห้องสมุดมองว่า ห้องสมุดนั้นไม่ต่างอะไรกับร้านค้า ซึ่งต้องการดึงดูดให้คนเข้ามาแล้วเกิดความสนใจในตัวสินค้า สิ่งที่จำเป็นก็คือการสร้างความน่าสนใจให้กับตัวสินค้าให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และกระตุ้นให้คนยืมหนังสือออกไปให้มากที่สุด ห้องสมุดค้นพบว่าเคาน์เตอร์บรรณารักษ์นอกจากจะไม่มีความจำเป็นแล้วยังเป็นสิ่งขวางกั้นปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการ สุดท้ายแล้วจึงเปลี่ยนเป็นคีออสสืบค้นฐานข้อมูลและยืมคืนด้วยตนเองโดยมีบรรณารักษ์คอยยืนข้างๆ ให้คำแนะนำ นอกจากนี้ลูกค้าสามารถยังจองหนังสือออนไลน์แล้วเดินเข้ามารับในช่อง walk through ที่สะดวกรวดเร็วได้ทันที

ห้องสมุดวียานูเอวา (Villanueva Library), โคลอมเบีย

          หลายปีก่อนหน้านี้ โคลอมเบียเป็นประเทศที่ขาดเสถียรภาพและมีความไม่ปลอดภัยสูงที่สุดในภูมิภาคละตินอเมริกา อันเนื่องมาจากกองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลและกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ห้องสมุดประชาชนวียานูเอวาได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตท่ามกลางไฟสงครามและความรุนแรง และเป็นเสมือนสื่อกลางในการแสวงหาสันติภาพด้วยการเยียวยาและบูรณะสังคมทางอ้อม

          ความไม่มั่นคงทางการเมืองฉุดรั้งให้เศรษฐกิจโคลอมเบียเติบโตอย่างเชื่องช้า ประชากรนับร้อยหมู่บ้านทั่วประเทศมองไม่เห็นช่องทางในการศึกษาระดับสูง วียานูเอวาเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมเข้ามาสร้างเครื่องมือเพื่อยกระดับคุณภาพในการเรียนรู้ มีการประกวดออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ซึ่งมีโจทย์ให้สามารถสร้างอรรถประโยชน์สารพัดอย่างให้กับชุมชน ทีมสถาปนิกหน้าใหม่อายุเพียง 20 กว่าๆ จากมหาวิทยาลัยโบโกตาชนะการประกวดครั้งนี้ พวกเขาออกแบบให้ห้องสมุดตั้งอยู่ชั้นบนของอาคาร ส่วนชั้นล่างเป็นห้องฉายภาพยนตร์ ห้องสมุดเด็ก ออฟฟิศสำนักงาน ห้องอาบน้ำ และมีระเบียงทางเดินรายรอบที่สามารถประยุกต์เป็นโถงสำหรับจัดกิจกรรม

          หากว่าแนวคิดการก่อสร้างที่ยั่งยืนหมายถึงการใช้วัสดุในท้องถิ่น แรงงานท้องถิ่น ใช้ต้นทุนที่จำกัด สอดคล้องกับสภาพอากาศ และต้องการการดูแลซ่อมแซมต่ำ ห้องสมุดประชาชนวียานูเอวาก็ถือว่าได้รวมเอานิยามเหล่านั้นไว้อย่างครบถ้วนในอาคารเดียว

          งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดนำมาซึ่งทางออกที่มีคุณภาพที่สุดและเปี่ยมไปด้วยความสร้างสรรค์ สถาปนิกเน้นกระบวนการก่อสร้างที่เรียบง่ายที่สุด ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีทักษะขั้นสูง แค่เพียงจัดเวิร์คช็อประยะสั้นให้แก่ชาวบ้านละแวกนั้นงานก่อสร้างก็เริ่มต้นได้แล้ว

          โครงสร้างหลักของอาคารทำมาจากหินแม่น้ำนำมาบรรจุในตะแกรงเหล็ก กรุผนังด้วยไม้ระแนงซึ่งนำมาจากป่าสนที่ได้รับการควบคุมมาตรฐานด้านระบบนิเวศ การใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นมีส่วนช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง อาคารมีความแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันก็มีช่องว่างระหว่างหินและไม้ซึ่งเอื้อต่อการไหลเวียนของอากาศ พื้นผิวจากวัสดุที่ไม่ราบเรียบดูเหมือนจะหยอกล้อกับแสงและเงาสลัวก่อให้เกิดบรรยากาศสุนทรียะ เหนือสิ่งอื่นใด อาคารที่สร้างขึ้นจากแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้จุดประกายให้เกิดกิจกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในท้องถิ่นอีกหลายโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม

ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเดลฟท์ (Delft University of Technology Library – TU Delft), เนเธอร์แลนด์

          มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเดลฟท์ เป็นมหาวิทยาลัยด้านเทคโนโลยีที่เก่าแก่ที่สุด ใหญ่ที่สุด และมีสาขาหลากหลายที่สุดของเนเธอร์แลนด์ มุ่งเน้นศาสตร์ด้านพลังงาน ยานยนต์ การก่อสร้าง สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ห้องสมุดก่อตั้งมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เอกลักษณ์อันโดดเด่นอยู่ที่ยอดทรงกรวยซึ่งสื่อความหมายถึงพลังของเทคโนโลยีที่ทะลุทะลวงออกมาจากห้องสมุด

          ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเดลฟท์เป็นประตูด้านดิจิทัล (digital gateway) ของเมือง มีพื้นที่ใช้สอย 15,000 ตารางเมตร โต๊ะนั่งทำงานและอ่านหนังสือกว่า 300 ตัว รองรับนักศึกษาและนักวิชาการที่มาใช้บริการเฉลี่ย 3,000 คนต่อวัน อาคารแบ่งออกเป็น 5 ชั้นประกอบด้วยห้องอ่านหนังสือ ห้องเก็บรักษาหนังสือ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย สำนักงาน คลังหนังสือประวัติศาสตร์ ห้องนิทรรศการ ห้องเรียน และร้านหนังสือ ห้องสมุดแห่งนี้ได้รับรางวัล National Steel Award ในปี 1998 และ Corus Construction Award ในปี 2000

          องค์ประกอบของอาคารเป็นไปตามมาตรฐานด้านความยั่งยืน แสงธรรมชาติสามารถส่องลงมายังห้องสมุดผ่านสถาปัตยกรรมทรงกรวยและผนังกระจก ภายในอาคารใช้สีทาผนังที่ปราศจากสารโคบอลต์ ผนังด้านชั้นวางหนังสือเลือกใช้สีน้ำเงินเข้มช่วยสร้างเสน่ห์น่าค้นหาในอารมณ์เดียวกันกับโรงภาพยนตร์ ส่วนพื้นสีน้ำตาลได้แรงบันดาลใจมาจากทะเลทรายซาฮารา หลังคามีแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์และผืนหญ้าน้ำหนักเบาที่หยั่งรากลึก 6 นิ้วซึ่งช่วยกักเก็บความร้อนและความเย็น และยังเป็นสถานที่อาบแดดยอดนิยมมานานหลายทศวรรษ

หอสมุดแห่งชาติคิงฟาฮัด (King Fahad National Library), ซาอุดิอาระเบีย

          หอสมุดแห่งชาติคิงฟาฮัด กรุงริยาด เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนาเมืองผ่านโครงการทางวัฒนธรรม ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่จนแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2013 กลายเป็นสถาปัตยกรรมด้านวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดของซาอุดิอาระเบีย ห้องสมุดตั้งอยู่บริเวณจุดตัดระหว่างถนนหลักสองสายของเมืองหลวง ซึ่งรัฐบาลวางแผนพัฒนาย่านนี้ให้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างชีวิตชีวาให้กับเมืองเสมือนเป็นโอเอซิสท่ามกลางทะเลทราย

          ในการปรับปรุงห้องสมุดครั้งใหญ่สถาปนิกไม่ได้ทุบทำลายอาคารห้องสมุดหลังเดิม แต่ได้แอบซ่อนมันไว้อยู่ใจกลางอาคารที่ทันสมัยเพื่อแสดงถึงความเคารพในคุณค่าของอดีต อีกทั้งยังพยายามผสมผสานแนวคิดทางศิลปะของโลกอาหรับให้คงอยู่ในสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ หน้าที่หลักของโครงสร้างอาคารหลังเก่าคือจัดเก็บหนังสือและสื่อ ชั้นต่างๆ และดาดฟ้าอาคารเดิมกลายเป็นพื้นที่อ่านหนังสือ ส่วนที่ขยายต่อเติมออกมาโดยรอบเป็นร้านอาหาร ร้านหนังสือ และพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ

          อาคารห้องสมุดมีรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ปกคลุมด้วยผืนผ้าใบโปร่งแสงรูปสี่เหลี่ยมดัดขอบให้คดโค้ง ช่วยป้องกันแสงแดดและเพิ่มการหมุนเวียนของลมบริเวณผนังอาคาร ซึ่งสามารถลดความร้อนได้ถึงร้อยละ 7  ในขณะที่ยังสามารถใช้ประโยชน์จากแสงสว่างได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองในการใช้พลังงานน้อยมาก จนได้รับรางวัล Global Award ปี 2015 สาขานวัตกรรมสถาปัตยกรรมการก่อสร้าง ทั้งยังเป็นความหวังสำหรับการออกแบบในอนาคตที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะโลกร้อน เพราะอาคารนี้สามารถรับมือกับอุณหภูมิสูงกว่า 50 องศาเซลเซียสของภูมิภาคตะวันออกกลางได้อย่างสบาย

ห้องสมุดประชาชนไทเป สาขาเป่ยโถว (Taipei Public Library, Beitou Branch), ไต้หวัน

          ห้องสมุดประชาชนไทเปมีสาขาหลัก 12 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งเมือง บางสาขายังมีห้องสมุดย่อยที่มีลักษณะเฉพาะแยกให้บริการอีกด้วย ซึ่งจะมีขนาดแตกต่างกัน บางแห่งก็มีจุดเน้นและคอลเลกชันเด่นของตัวเอง สำหรับห้องสมุดสาขาเป่ยโถวเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2006 ห้องสมุดได้รับการออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออก ได้รับการรับรองมาตรฐาน LEED และได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นห้องสมุดที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

          โครงสร้างอาคารส่วนใหญ่สร้างขึ้นจากไม้เนื้อแข็ง มองดูแล้วมีส่วนคล้ายกับสถาปัตยกรรมของญี่ปุ่น ซึ่งช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์เคยเข้ามาปกครองไต้หวัน หน้าต่างขนาดใหญ่ช่วยให้แสงจากธรรมชาติส่องสว่างเข้ามายังห้องสมุด และทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ บนหลังคาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ วัสดุหลังคาบุด้วยดินหนา 20 เซนติเมตรเพื่อเป็นฉนวนกันความร้อนในฤดูร้อนและเก็บกักความอบอุ่นในฤดูหนาว แต่ละชั้นมีระเบียงไม้ล้อมรอบซึ่งช่วยลดรังสีความร้อนที่จะผ่านเข้าไปยังตัวอาคารโดยตรง หลังคาลาดเอียงของห้องสมุดเป็นเส้นทางระบายน้ำฝนไปเก็บกักไว้รดน้ำต้นไม้และใช้ในห้องส้วม

          บริเวณจุดยืมคืนหนังสือมีกระดานอิเล็กทรอนิกส์ที่แสดงปริมาณกระแสไฟฟ้าซึ่งถูกใช้ในห้องสมุดแบบเรียลไทม์ มีข้อมูลเกี่ยวกับความชื้น ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และอุณหภูมิภายในพื้นที่แต่ละส่วนด้วยมาตราที่ละเอียดถึง 1/10,000 องศา

          ห้องสมุดเป่ยโถวมีพื้นที่ใช้สอย 3 ชั้น รวม 2,145 ตารางเมตร ชั้นล่างเป็นพื้นที่สำหรับเด็กและสื่อโสตทัศน์ ชั้นที่ 2-3 เป็นพื้นที่สำหรับอ่านหนังสือซึ่งมีทั้งภาษาจีนและภาษาต่างประเทศกว่า 40,000 รายการ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับหนังสือเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติโดยเฉพาะ มีที่นั่งหลากหลายรูปแบบ ชั้นหนังสือออกแบบให้มีความสูงเพียง 110 เซนติเมตรเพื่อให้ความรู้สึกเปิดโล่งไม่อึดอัด รายรอบห้องสมุดเป็นต้นไม้ใหญ่เขียวขจี ผู้ใช้บริการจึงสามารถดื่มด่ำอรรถรสในการอ่านไปพร้อมกับความสงบงามของธรรมชาติ


เชิงอรรถ

[1] หลักมาตรฐานสากล LEED เป็นมาตรวัดประสิทธิภาพของอาคารสีเขียว แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ระดับผ่านมาตรฐาน ระดับเงิน ระดับทอง และระดับแพลทตินัม


ที่มา

From Green Libraries to Green Information Literacy [Online]

Villanueva’s Public Library/Meza+Piñol+Ramírez+Torres [Online]

Villanueva Public Library, Colombia [Online]

GPW: Delft University of Technology Library [Online]

King Fahad National Library/Gerber Architekten [Online]

Cover Photo: Mecanoo, CC BY-SA 4.0, via Wikimedia Commons


เผยแพร่ครั้งแรก มิถุนายน 2559
เผยแพร่ซ้ำ มิถุนายน 2561
ปรับปรุงแก้ไขใหม่สำหรับเว็บไซต์ The KOMMON
พิมพ์รวมเล่มในหนังสือ โหล (2560)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก