ผู้ชมราว 270,000 คน
ยอดรวม 700 รอบฉาย
ภาพยนตร์ 250 เรื่อง
จากประเทศต่างๆ 80 ประเทศ
รวมระยะเวลา 11 วัน
คือตัวเลขคร่าวๆ ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองโกเทนเบิร์ก (Gothenburg Film Festival) ในประเทศสวีเดนใช้อธิบายถึงขนาดของงาน
ถ้าเทียบกันแล้วอาจไม่ได้เป็นหนึ่งใน Big 5 ของเทศกาลภาพยนตร์จากทั่วโลก อย่างเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ เวนิส เบอร์ลิน โตรอนโต และซันแดนซ์ แต่สำหรับในแถบนอร์ดิกแล้วนั้น นี่คือเทศกาลภาพยนตร์ที่ใหญ่และคึกคักที่สุดของภูมิภาค
เทศกาลภาพยนตร์เมืองโกเทนเบิร์ก เป็นแหล่งพบปะของคนในวงการภาพยนตร์ และศูนย์กลางวัฒนธรรมในการดู ซื้อขาย รวมถึงผลิตภาพยนตร์ในแถบนอร์ดิก อาจกล่าวได้ว่าเป็นเทศกาลเชิงวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ด้วย
งานมักถูกจัดขึ้นในช่วงปลายมกราคมถึงต้นกุมภาพันธ์ เป็นการเปิดปีให้คนรักภาพยนตร์ได้ติดตามเทรนด์วงการหนัง และมีโอกาสชมภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ของสวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และไอซ์แลนด์เท่านั้น แต่ยังมาจากภูมิภาคอื่นๆ หลายเรื่องอาจไม่ได้เข้าโรงฉายตามปกติ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ชมมองเห็นความเป็นไปในแต่ละวัฒนธรรม ปัญหา หรือวิกฤตต่างๆ ที่ผู้สร้างต้องการสะท้อนผ่านภาพยนตร์ กระเพื่อมการตั้งคำถาม เปิดโลกทัศน์ หรือสร้างแรงบันดาลให้ผู้ชมอย่างเราๆ ที่นั่งชมอย่างสะดวกสบายบนเก้าอี้นุ่ม
เทศกาลที่เกิดขึ้น เพราะชาวสวีดิชต้องได้ดูหนังดี!
เทศกาลภาพยนตร์เมืองโกเทนเบิร์ก เริ่มต้นเมื่อปี 1979 ด้วยความตั้งใจของคนรักหนัง 2 คนคือ เยอราน เยลเคนดาห์ล (Göran Bjelkendahl) และกุนนาร์ คาร์ลสัน (Gunnar Carlsson) เยอรานได้ไปชมภาพยนตร์ในเทศกาล London Film Festival เมื่อปี 1978 และหมายมั่นว่าชาวสวีดิชก็ควรมีโอกาสเสพภาพยนตร์หลากหลายสัญชาติเช่นกัน ทั้งคู่จึงเริ่มขอเงินทุนจากสตูดิโอภาพยนตร์ในเมืองโกเทนเบิร์ก และได้รับเงินสบทบเพิ่มเติมจากเทศบาลเมือง แม้ยอดรวมจะไม่ได้มากมายนัก แต่ก็ทำให้เทศกาลภาพยนตร์ก่อตัวขึ้นในโกเทนเบิร์ก โดยในปีแรกมีภาพยนตร์ฉายทั้งหมด 17 เรื่อง และมีผู้ชมราว 3,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ทั้งคู่ถือเป็นเรื่องเกินความคาดหมาย
ตั้งแต่ปี 1979 จนถึง 2023 จำนวนผู้ชมและภาพยนตร์ที่เข้าฉายเพิ่มขึ้นหลายเท่า แต่สิ่งที่ยังคงเดิมคือ โรงภาพยนตร์ Draken เป็นสถานที่ฉายหนังหลักของเทศกาล
โรงภาพยนตร์ Draken ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับโรงภาพยนตร์สกาลาในย่าน สยาม กรุงเทพมหานคร และเคยเกือบจะถูกทุบทิ้งเช่นเดียวกัน แต่สมาคม Drakens Vänner (Friends of Drakens) ซึ่งก่อตั้งโดยผู้มีส่วนร่วมในเทศกาลภาพยนตร์เมืองโกเทนเบิร์ก พร้อมกับเทศบาล และ Göteborgs-Posten หนังสือพิมพ์หัวหลักประจำเมือง เข้ามาต่อชีวิต ด้วยวิธี Crowdfunding (การระดมทุน) ตั้งมูลค่าเก้าอี้โรงหนังราคา 1,000 โครเนอร์ต่อหนึ่งที่นั่ง ผู้ที่ต้องการรักษาโรงภาพยนตร์ Draken ได้สมทบทุนจนเก้าอี้ทั้ง 713 ที่นั่งยังคงปักหลักอยู่ใน Draken จนถึงทุกวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่าชาวโกเทนเบิร์ก ให้คุณค่ากับวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์และสถาปัตยกรรมมากเพียงใด
สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งคือ การกระจายรอบฉายไปยังสถานที่ต่างๆ ปัจจุบันมีทั้งหมด 9 แห่งทั่วเมือง โดยมี 4 แห่งเป็นโรงภาพยนตร์อิสระ 2 แห่งเป็นโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ 2 แห่งเป็นกึ่งศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งโรงฉายภาพยนตร์และเวทีการแสดง และอีก 1 แห่งคือโรงภาพยนตร์ Pop-up ขนาดเล็ก ตั้งอยู่กลางห้างสรรพสินค้า Nordstan ซึ่งเป็นห้างหลักประจำเมือง
การกระจายโรงฉายเช่นนี้ ช่วยเพิ่มโอกาสการแวะเวียนไปโรงภาพยนตร์ที่ไม่เคยเข้ามาก่อน กลายเป็นความเพลิดเพลินของผู้ชม เพราะแต่ละแห่งก็มีความเก่าแก่และการตกแต่งภายในที่สวยงามไม่ซ้ำกัน
เทศกาลแนวทดลอง ประสบการณ์แหวกแนวในการชมภาพยนตร์
เทศกาลภาพยนตร์เมืองโกเทนเบิร์ก ขึ้นชื่อในเรื่องการทดลองใช้ธีมงานที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้ชม ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2021 ที่โควิดส่งผลกระทบต่อธุรกิจจนต้องล็อกดาวน์ ผู้จัดจึงหยิบการรักษาระยะห่างทางสังคมขึ้นมาเป็นจุดขาย โดยเริ่มจัดเทศกาลแบบดิจิทัลเต็มตัวในปีนั้น ทำให้ผู้ชมทั่วประเทศสวีเดนสามารถชมภาพยนตร์เทศกาลได้จากโซฟาที่บ้าน ความสำเร็จยังต่อยอดให้ เทศกาลภาพยนตร์เมืองโกเทนเบิร์กจัดงานแบบไฮบริดต่อมาอีกเรื่อยๆ คือมีทั้งภาพยนตร์ที่ฉายในโรงตามปกติ และส่วนที่สามารถรับชมพร้อมกันจากที่บ้านได้
แต่สิ่งที่เลื่องลือสำหรับธีม ‘Isolation’ ในปี 2021 คือ การเปิดโอกาสให้ผู้ชมส่งใบสมัครเข้ามา เพื่อรับสิทธิ์ดูหนังอย่างโดดเดี่ยวบนเกาะปาเตอร์ โนสเตอร์ (Pater Noster) ที่อยู่ห่างไกลผู้คน ท่ามกลางผู้สมัครกว่า 12,000 ราย ผู้ถูกคัดเลือกคือพยาบาลห้องฉุกเฉิน ลิซ่า เอนโรธ (Lisa Enroth) ซึ่งทางคณะกรรมการให้เหตุผลว่าต้องการให้เธอได้พักผ่อนจากการดูแลผู้ป่วยอย่างไม่หยุดหย่อนตลอดปีที่ผ่านมา
ลิซ่าต้องอยู่บนเกาะเพียงคนเดียว ไม่มีแม้แต่โทรศัพท์มือถือให้ใช้งาน (เว้นแต่กรณีฉุกเฉิน) หน้าที่หลักคือชมภาพยนตร์ตลอดระยะเวลา 7 วัน ส่วนหน้าที่รองคือการทำวิดีโอไดอารี เล่าถึงภาพยนตร์ที่ชม ลิซ่าเล่าว่า บนเกาะเงียบเชียบจนน่าใจหาย เพื่อนเพียงรายเดียวที่ช่วยให้เวลากลางคืนไม่ว้าเหว่เกินไปก็คือภาพยนตร์ นั่นเอง
ไม่ใช่แค่ลิซ่าที่ถูกคัดเลือกให้ได้รับประสบการณ์ชมภาพยนตร์แบบพิเศษ ยังมีอีก 2 รายที่ได้รับคัดเลือก รายแรกได้นั่งดูหนังคนเดียวในสนามไอซ์ฮอกกี้ท่ามกลางเก้าอี้ว่างเปล่าอีก 12,043 ที่นั่ง ส่วนอีกรายได้รับเลือกให้ชมภาพยนตร์รอบพรีเมียร์ที่โรงหนัง Draken โดยผู้สร้างภาพยนตร์เข้ามาแนะนำเนื้อหาแค่ช่วงก่อนฉาย และปล่อยให้ชมภาพยนตร์ต่อเพียงลำพัง
ปีอื่นๆ เทศกาลหนังโกเทนเบิร์ก ก็มีการทดลองที่ทั้งแหวกแนวและสร้างสรรค์ไม่แพ้กัน เช่น
ธีม Horror เปิดโอกาสให้ลองรับชมภาพยนตร์ในโลงศพ
ธีม 50/50 ที่ตั้งใจสื่อสารเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ มีการคัดเลือกให้ภาพยนตร์ที่เข้าฉายมีสัดส่วนของจำนวนผู้กำกับหญิงชายเท่าๆ กัน อีกทั้งยังมีการชมภาพยนตร์แนวทดลอง เช่น เซเลบริตี้เพศชายที่สวีเดน มีโอกาสได้รับชมภาพยนตร์บนเก้าอี้ขาหยั่งสำหรับตรวจภายใน เพื่อให้ผู้ชายได้ลองสัมผัสว่า เก้าอี้ขาหยั่งสามารถสร้างความรู้สึกเปราะบาง กระดาก และเปิดเผยพื้นที่ส่วนตัวได้อย่างไรบ้าง
ปี 2022 ธีม Disorder มีการจัดโปรแกรมสะกดจิตก่อนชมภาพยนตร์ เพื่อทดลองหาขอบเขตระหว่างความปกติและความผิดปกติ เทศกาลหนังโกเทนเบิร์กเชื่อว่าการสะกดจิตอาจทำให้สติสัมปชัญญะของผู้ชมพร่าเลือนชั่วคราว และอาจนำไปสู่ดินแดนที่ทำให้ชมภาพยนตร์ได้อย่างมีอรรถรส สัมผัสโลกใหม่ในแบบที่การชมภาพยนตร์ปกติอาจให้ไม่ได้ และมีภาพยนตร์เพียง 3 เรื่องเท่านั้นที่ผู้ชมจะถูกสะกดจิตก่อนฉาย ซึ่งก็คือ Memoria (2021, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) Land of Dreams (2021, Shoja Azari, Shirin Neshat) และ Speak No Evil (2022, Christian Tafdrup)
นอกจากนั้น เทศกาลยังต่อยอดไปกว่าการฉายภาพยนตร์ โดยมีกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม ตั้งแต่วงเสวนา เวิร์กชอป และคอนเสิร์ต เทศกาลในปี 2023 มีกิจกรรมน่าสนใจเพิ่มเติม เช่น DocBar ที่หลังจากชมภาพยนตร์สารคดี Kungen (The King) เกี่ยวกับกษัตริย์และสื่อในสวีเดนแล้ว ผู้ชมสามารถเลือกเข้าร่วมวงเสวนากับผู้กำกับและนักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องราชวงศ์ได้
อีกกิจกรรมที่สร้างความคึกคักคือ Speed Dating สำหรับทุกรสนิยมทางเพศ ก่อนดูหนังรัก ผู้ชมจะถูกจับคู่ให้คุยกันในช่วงเวลาสั้นๆ และสลับคู่ไปเรื่อยๆ หากคุยกันถูกคอถูกใจ ก็สามารถจูงมือไปนั่งดูหนังเคียงข้างกันต่อได้ในโรงหนัง
โกเทนเบิร์ก จึงเป็นเทศกาลที่ทำให้เห็นว่า เทศกาลภาพยนตร์ไม่จำเป็นต้องอลังการงานใหญ่ หรือมีดาราชั้นนำมาเดินพรมแดงอย่างคับคั่งเสมอไป แต่หัวใจสำคัญคือการให้คุณค่ากับผู้ชมผ่านการทดลองต่างๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์กำลังเปลี่ยนแปลง ผู้ชมควรเป็นสมการที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าองค์ประกอบอื่นๆ เลย
เทศกาลที่สำเร็จได้ เพราะพลังอาสาสมัคร
คติของงานเทศกาลภาพยนตร์ที่โกเทนเบิร์กคือ ‘ไม่มีอาสาสมัคร ไม่มีเทศกาล’
อาสาสมัครของงานเทศกาลหนัง ล้วนแล้วแต่ได้รับประสบการณ์ ความประทับใจ และการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อภาพยนตร์ และสังคมในภาพรวมกันถ้วนหน้า
มีร์ญา เวสต์เตอร์ CEO ของเทศกาลภาพยนตร์ในปัจจุบันซึ่งครั้งหนึ่งก็เคยเป็นอาสาสมัคร ได้กล่าวไว้ว่า “ตอนนั้นฉันยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย การได้ร่วมเทศกาลครั้งแรกคือประสบการณ์ที่ยากจะลืมเลือน!”
คำกล่าวนั้นไม่เกินจริงเลยแม้แต่น้อย ผู้เขียนมีโอกาสได้ร่วมทำงานอาสาสมัครเทศกาลหนังในปี 2019 โดยตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายคือการเป็น Cinema Host ในแต่ละวันต้องเดินทางไปยังโรงภาพยนตร์ต่างๆ เพื่อต้อนรับผู้ชมและเกริ่นแนะนำ ภาพยนตร์สั้นๆ ก่อนฉาย เพื่อนของผู้เขียนได้รับตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในส่วน Industry Center มีหน้าที่อำนวยความสะดวกแขกต่างชาติ นักข่าว และผู้มาร่วมงานในโซน Nordic Film Market ให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น นอกจากนี้ยังมีหน้าที่อื่นๆ ของอาสาสมัครให้เลือกตามความสนใจ และทักษะที่มี เช่น ฝ่ายขายที่ต้องดูแลเรื่องตั๋วทั้งแบบดิจิทัลและออฟไลน์ ฝ่ายจัดรายการ Q&A หลังภาพยนตร์จบ และ Runner ด่านแรกที่แขกต่างชาติจะได้พบ และทำหน้าที่ขับรถรับส่งแขกไปตามจุดต่างๆ ของเมือง
อาสาสมัครแต่ละรายต้องทำงานไม่เกินกว่า 40 ชั่วโมงตลอดระยะเวลาเทศกาล 11 วัน มีเพียงบางตำแหน่งที่ได้รับค่าตอบแทนเล็กน้อย แต่สิ่งที่อาสาสมัครทุกคนได้รับคือ สิทธิ์ในการชมภาพยนตร์ทุกเรื่องทุกรอบในเทศกาลโดยไม่มีค่าใช้จ่ายหากมีที่นั่งเหลือ จึงมีโอกาสได้เห็นสปิริตคนรักหนัง ที่เดินสายติดตามชมภาพยนตร์หลายๆ เรื่องหลังทำภารกิจเสร็จสิ้น ความคึกคักและรสชาติในการดูหนัง ฉายชัดในบทสนทนาแบ่งปันสะท้อนความคิดเห็น โดยไม่ได้จำกัดอยู่ในกลุ่มอาสาสมัครวัยเดียวกันเท่านั้น แต่รวมถึงรุ่นคุณลุง คุณป้าวัยเกษียณ ที่อยากพบปะคอภาพยนตร์เช่นกัน
การพูดคุยระหว่างอาสาสมัคร ทำให้มองเห็นภาพของเทศกาลภาพยนตร์แตกต่างออกไป จากที่เคยรู้สึกว่า ‘เทศกาลหนัง’ คือแหล่งรวมภาพยนตร์ที่ต้อง ‘ปีนบันไดดู’ ก็ค้นพบว่า แท้จริงแล้วนี่คือช่วงเวลาของการเสพความหลากหลาย และไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ของคนในวงการ หรือคนหนุ่มสาว แต่เป็นช่วงพบปะของคนธรรมดาๆ ที่ชอบดูหนังเหมือนกัน และช่วยลงแรงลงพลังคนละเล็กละน้อย เพื่อให้เทศกาลสำเร็จราบรื่นไปในทุกปีๆ
เทศกาลสำหรับทุกคนในวงการภาพยนตร์
อีกภารกิจหนึ่งของเทศกาลหนัง คือ สนับสนุนความร่วมมือในวงการภาพยนตร์แถบนอร์ดิก Nordic Film Market เปิดโอกาสให้ฝ่ายซื้อ ฝ่ายขาย ฝ่ายกระจายภาพยนตร์ ฝ่ายจัดโปรแกรมเทศกาลภาพยนตร์อื่นๆ และโปรดิวเซอร์ มาพบปะ ซื้อขาย และมีส่วนร่วมกับภาพยนตร์ทั้งส่วนที่เสร็จสิ้นพร้อมฉาย ส่วนที่กำลังถ่ายทำ-พัฒนา-ตัดต่อ และส่วนที่เพิ่งเริ่มต้นโปรเจกต์
นอกจากนี้ งานเทศกาลภาพยนตร์โกเทนเบิร์กยังมีส่วนของ Nordic Film Lab ที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2008 ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และคนเขียนบทหน้าใหม่เปี่ยมศักยภาพในแถบนอร์ดิกจำนวน 12-15 คนจะถูกคัดเลือกให้มาพบปะกัน 3 ครั้งตลอดระยะเวลา 1 ปีที่โกเทนเบิร์ก โคเปนเฮเกน และออสโล บางรายอาจร่วมงานกัน หรือพัฒนาโปรเจกต์จากความเห็นของผู้ร่วมงานคนอื่นๆ โดยส่วนใหญ่แล้วผลงานของผู้ที่เข้าร่วมใน Nordic Film Lab จะได้รับคัดเลือกฉายในเทศกาลภาพยนตร์ในปีถัดไป ถือเป็นการสร้างความอุ่นใจให้คนทำหนังว่า Nordic Film Lab ไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมพบปะเลื่อนลอย
อีกกิจกรรมที่น่าสนใจ คือเวทีเสวนาชื่อ นอสตราดามุส รีพอร์ต (Nostradamus Report) ที่ทีมงานมักจะเชิญผู้เกี่ยวข้องหรือฝ่ายวางกลยุทธ์ในวงการภาพยนต์มา วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในวงการภาพยนตร์ เช่น ในปี 2022 มีการพูดคุยกันถึงเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากสงคราม รัสเซีย-ยูเครน หลายครอบครัวชนชั้นกลางเลือกจะตัดค่าใช้จ่ายส่วนที่เป็นความบันเทิงออกไป ทางรับมือควรเป็นอย่างไร ทั้งนี้ บทวิเคราะห์จากเวทีนอสตราดามุสจะเผยแพร่ในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ทุกปีและบุคคลทั่วไปก็สามารถตามอ่านรายงานได้หลังจากนั้นเช่นกัน
เทศกาลภาพยนตร์โกเทนบิร์ก เป็นเหมือนวงล้อที่ขับเคลื่อนไปได้ด้วยพลังของผู้คน นับแต่ผู้ริเริ่มจัดงานเทศกาล คนที่อุ้มชูให้โรงภาพยนตร์หลักของงานอย่าง Draken ได้ไปต่อ ผู้ชมที่ร่วม ‘เล่นด้วย’ กับไอเดียพิสดารสุดสร้างสรรค์ในการชมภาพยนตร์ อาสาสมัครที่ทำให้เทศกาลดำเนินไปอย่างเรียบร้อยทุกๆ ปี และคนในวงการภาพยนตร์ที่ทำให้เกิดความร่วมมือหลากหลาย เป็นระบบนิเวศที่ไม่น่าแปลกใจเลยว่า เพราะเหตุใดวัฒนธรรมการดูหนังที่นี่ถึงได้ครึกครื้น และนำไปสู่การต่อยอดที่หลากหลาย เกิดผลลัพธ์ทั้งในระดับบุคคล และชุมชนคนภาพยนตร์
ที่มา
บทความ “Ruben Östlund to ‘direct the audience’ at Goteborg Film Festival screening” จาก screendaily.com (Online)
บทความ “Sårbart och särat på Göteborgs filmfestival” จาก tidningensyre.se (Online)
บทความ “‘Triangle of Sadness’ Helmer Ruben Ostlund’s ‘On-Site Experience’ at Göteborg – How It Played Out” จาก variety.com (Online)
บทความ “Draken Live” จาก goteborg.com (Online)
บทความ “Filmfestivalens historia: Borttappade filmer, räknefel och oväntade succéer” จาก gp.se (Online)
บทความ “Nostradamus” จาก goteborgfilmfestival.se (Online)
บทความ “The Isolated Cinema” จาก goteborgfilmfestival.se (Online)
บทความ “This hypnotic film festival short is an encyclopedia of cinema history” จาก creativereview.co.uk (Online)
Cover Photo: Göteborg Film Festival