กอล์ฟ ทีโบน บนเส้นทางสายดนตรีที่เรียนรู้ได้ไม่รู้จบ

3,014 views
10 mins
January 28, 2021

          สำหรับคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป คงจะคุ้นเคยกันดีกับวงดนตรีชื่อดังแนวเร็กเก-สกา “ทีโบน” ซึ่งมีมือกีตาร์คือ กอล์ฟ หรือ นครินทร์ ธีระภินันท์ ทักษะความชำนาญประกอบกับความคิดที่ไม่หยุดนิ่ง ทำให้เขามีลีลาทางดนตรีที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

          วันนี้ กอล์ฟ ทีโบน ยังคงมีบทบาทอยู่ในแวดวงดนตรีด้วยใจรัก ทั้งในฐานะคนทำดนตรี อาจารย์ประจำคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สาขาวิชาดนตรีแจ๊ส และผู้ถ่ายทอดเทคนิคการเล่นดนตรีให้กับน้องๆ รุ่นใหม่

สนใจกีตาร์มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และอะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ค้นพบตัวเอง

          ตอนนั้นผมยังไม่ถึง 10 ขวบ อยู่ที่จังหวัดสงขลา บ้านผมอยู่ติดถนนเลย เด็กทุกคนในซอยเป็นเพื่อนผมหมด มีอยู่คนหนึ่งเขาสนใจกีตาร์ ก็จะถือกีตาร์ผ่านบ้านผมตลอด พอผมเลิกเรียนก็จะไปนั่งฟังเขาเล่น ผมก็ โอ้โห! นี่เล่นคนเดียวยังเพราะขนาดนี้เลย แล้วก็เริ่มรู้สึกหมกมุ่นกับมัน อยากมีกีตาร์เป็นของตัวเอง แม่ก็ซื้อให้

สำหรับครอบครัวสมัยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว การที่แม่ตัดสินใจซื้อเครื่องดนตรีให้ลูก น่าจะไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับคนทั่วไป

          ใช่ ต้องเรียกว่าเป็นอะไรที่แปลกใหม่มากสำหรับครอบครัวผม ยังดีที่บ้านผมชอบฟังเพลง คุณพ่อผมชอบแผ่นเสียง แม่ผมก็ชอบฟังเพลง ทุกเช้าผมจะได้ยินพ่อเปิดแผ่นเสียงดังลั่นบ้านเลย ต้องเรียกว่าโตมากับเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลงฝรั่งหรือเพลงไทย ตั้งแต่ยุคลูกกรุง สุนทราภรณ์ ไปจนถึงดาวใจ ไพจิตร หรือศรีไศล สุชาตวุฒิ

          ผมคิดว่าถ้าเราโตมากับอะไรสักอย่าง มันจะไม่ใช่เอเลี่ยน แต่จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปดยปริยาย ผมว่านั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมเล่นกีตาร์ แต่ว่าแปลกตรงที่ผมเอากีตาร์มาเป็นอาชีพ

หัดเรียนกีตาร์จากที่ไหน

          ผมไม่ได้ไปเรียนที่โรงเรียนสอนดนตรี แต่หัดก๊อกแก๊กๆ ไปเรื่อย ใช้วิธีที่เพื่อนสอนมาบ้าง แต่ผมเป็นคนประเภทชอบคลำเอง เปิดหนังสือเพลง สงสัยก็ถาม สักพักมันก็เริ่มเป็นเพลง

การเรียนที่โรงเรียนกับการเรียนรู้ด้วยตัวเองแตกต่างกันอย่างไร

          เมื่อเริ่มมาจากเพลงที่ชอบ ความรู้สึกที่เราเข้าหาเครื่องดนตรีมันจะต่างจากการที่เราไปเรียนดนตรี เพราะว่ามันไม่ใช่การเรียน มันคือการสร้างความบันเทิงให้ตัวเอง ผมรู้สึกมีอิสระมาก ทุกครั้งที่เล่นเพลงจบผมรู้สึกประสบความสำเร็จ แต่เวลาไปเรียนต้องอยู่ในระบบ ความสนุกมันหายไป มีแต่ความน่าเบื่อ

          ผมคิดว่าดนตรีหรือศิลปะไม่ควรอยู่ในระบบขนาดนั้น ถ้าเราได้เรียนรู้จากคนที่เล่นเป็นก็เหมือนเราได้ทางลัด ไม่ต้องไปหาอะไรเอง แต่สำหรับผม ผมต้องหาอะไรด้วยตัวเองก่อน ถ้าไม่รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์พอผมก็จะเฉยๆ แต่ผมสนุกมากกับความไม่รู้ คืออยากเข้าไปเปิดประตูบานนั้นว่ามันเป็นยังไง มันน่าตื่นเต้น  แล้วผมก็ใช้วิธีนี้ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวาดรูป ถ่ายรูป ดนตรี ศิลปะ

ชอบเล่นกีตาร์แต่ทำไมเลือกเรียนด้านศิลปะ

          ผมเป็นคนชอบวาดรูป สมัยเรียนผมเล่าเรื่องไว้ในสมุดเป็นเรื่องๆ เลย เช่นวันนี้ผมฝันถึงเกาะเกาะหนึ่ง ก็สามารถโม้เป็นเรื่องเป็นราว เรามีความสุขมาก คือคิดอะไรไปแล้วก็วาด เหมือนโลกของความจริงก็อยู่ข้างหน้า แต่หัวเราอยู่ในสมุดที่วาด

          ตอนเด็กผมมีโอกาสได้คลุกคลีกับเด็กช่างศิลป์ที่มาฝึกงานกับบริษัทเขียนแบบของน้า ทำให้ผมมีแรงบันดาลใจ สมัยก่อนโรงเรียนช่างศิลป์รับน้อยมาก แค่ 3 ห้อง ห้องละไม่ถึง 10 คน รอบแรกผมสอบเข้าไม่ได้ ผมก็ไม่เรียนไปปีหนึ่ง ระหว่างนั้นก็วาดรูปไปเรื่อยๆ สอบใหม่ก็เข้าได้

ชีวิตการเรียนที่นั่นเป็นอย่างไร

          อาจารย์คนแรกที่ผมเรียนด้วยชื่ออาจารย์มณเฑียร บุญมา เป็นศิลปินที่หัวก้าวหน้ามาก มีวิธีสอนที่แบบ โอ้โห! อะไรกันวะเนี่ย! มีแบบนี้ในโลกด้วย งานของท่านเกี่ยวกับการทดลองแบบศิลปะสื่อผสม (Mixed Media Art) อาจารย์มีสมุดสเก็ตเป็นสิบๆ เล่ม แล้วก็เล่าให้ฟังว่ากว่าจะได้งานแต่ละชิ้นท่านคิดอะไร วิธีนี้เหมือนกับเราเข้าไปนั่งในหัวอาจารย์ รู้สึกเลยว่า เฮ้ย! ทุกอย่างมันเป็นไปได้หมด เหมือนเปิดอีกประตูให้ชีวิตผมเลย คือถ้าอาจารย์ทำได้เราควรจะทำได้ด้วย เราไม่ควรปิดกั้นการคิด

          เราเรียนทุกอย่างทั้งเรียลลิสติกแล้วเซอร์เรียลลิสติก มีวิชาที่ว่าด้วยการฝึกฝีมือและวิชาที่ว่าด้วยการฝึกจินตนาการ พอเรามีอิสรภาพในการคิดคู่กันไปกับมีทักษะ มันก็เกิดเป็นชิ้นงานขึ้นมาที่ค่อนข้างลงตัว

ในความคิดของคุณ ศิลปินจึงไม่ใช่พวกฟุ้งฝัน

          ฝันอย่างเดียวไม่ได้ครับ ผมว่าศิลปินที่ดีต้องผ่านการฝึกหนักทั้งระบบความคิดและฝีมือ พอฝึกมาจนรู้ทุกอย่างแล้ว ถึงจุดหนึ่งจะเริ่มรู้สึกเบื่อและเริ่มมีงานเป็นของตัวเอง สำหรับผมศิลปินคือเป็นทั้งดีไซเนอร์และเป็นทั้งช่าง

จากการเรียนศิลปะ เปลี่ยนไปเป็นศิลปินด้านดนตรีได้อย่างไร

          ผมมีแรงบันดาลใจเกี่ยวกับดนตรีแจ๊สมาตั้งแต่ตอนเรียน ม.ต้น ที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน หลังเลิกเรียนผมจะไปเดินเซ็นทรัลสีลม เพราะเราเงินน้อยเราเลยมุ่งไปที่กระบะของลดราคาก่อน ไปเจอเทปที่เขียนว่า Born to Be Blue หน้าปกเป็นคนผิวดำ ซื้อกลับบ้านไปฟังก็เอ๊ะ! ไม่เห็นจะบลูเลย มันคือดนตรีแจ๊ส แต่ฟังเพราะดีก็เลยฟังตอนนอน รู้สึกว่าลุงแกเล่นไปได้เรื่อยๆ เหมือนแกพูดกับเรา

          แต่ก่อนดนตรีมันไม่มีภาพเพราะเราไม่มี YouTube ดังนั้นเวลาฟังผมจะนึกถึงภาพตลอดว่าคนนี้หน้าตาเป็นอย่างไร คือภาพในหัวมันไปไกลกว่าเสียงแล้วด้วยซ้ำ ผมว่าอันนั้นมันเป็นเสน่ห์มากเลย เหมือนเราอ่านหนังสือโดยไม่มีภาพ พอมีภาพกับเสียงเหมือน YouTube ในปัจจุบัน ทุกอย่างดูแล้วก็เบื่อ 

เคยมีข้อผิดพลาดหรือล้มเหลวในชีวิตหรือการทำงานบ้างไหม

          ผมเคยทำบริษัทดนตรีแล้วไปถึงทางตัน ช่วงนั้นยังต้องทำเทปทำซีดี แต่เริ่มมี mp3 เถื่อน เราไม่มีสื่อของตัวเอง ไม่มีเซลล์ ยิ่งทำก็ยิ่งเป็นหนี้เข้าไปใหญ่ อันนั้นคือบทเรียนใหญ่ของผมเลย

          แต่ผมไม่ได้รู้สึกว่าความผิดพลาดเป็นสิ่งที่ไม่โอเค ถ้าเรารู้จักทบทวนตัวเองว่าทำอะไรผิดพลาดมาบ้าง แล้วจะแก้ไขมันอย่างไร สิ่งสำคัญมากคือต้องก้มหน้ายอมรับมัน แล้วก็เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความผิดพลาด มันจะทำให้เราสามารถไปบอกคนอื่นได้ว่า ถ้าจะเป็นศิลปินที่ทำเองขายเอง คุณจะต้องเจอกับอะไรบ้าง

ครั้งนั้นได้บทเรียนอะไรที่สำคัญ

          ผมเป็นคนที่ไม่ชอบงาน commercial คืองานที่เป็นแบบการค้าการตลาดมากๆ ถ้าเราจะทำงานแบบนี้ สิ่งที่สำคัญมากๆ คือเราต้องไม่มีภาระ การมีใช้จ่ายนู่นนี่รออยู่มันทำให้ทุกอย่างติดขัดหมดเลย ถ้าเราทำเองคิดเองได้หมด นั่นคือทางที่ดีที่สุด

          สมัยนี้เป็นช่วงที่ดีที่สุดสำหรับการทำอะไรเอง เพราะมีช่องทางเยอะมาก สังเกตสิ มีคนที่ดังได้ด้วยกระแสโซเชียลเยอะมากจนเราแปลกใจ ดังนั้นถ้าเราใช้มันเป็นและเรามีความสามารถจริงๆ เราก็ทำได้ เพียงแต่ว่าเวลานี้ทุกคนทำคล้ายกันหมด เพลงคล้ายกันหมด ใช้แพลตฟอร์มเดียวกัน คอมพิวเตอร์โปรแกรมเดียวกัน คิดเหมือนกัน ฟังเหมือนกัน ต้นทุนเดียวกัน มีแรงบันดาลใจมาจากที่เดียวกัน ฟังทุกอย่างเหมือนกัน ไปเที่ยวที่เดียวกัน

สมัยก่อนวงดนตรีปล่อยเพลงมาขายเป็นอัลบั้ม คุณมองความเปลี่ยนแปลงเมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ รุกเข้ามาอย่างไร

          ทุกอย่างมันเหมือนระเบิดเวลา มันเต็มไปด้วยการใช้สื่อกันอย่างฟุ้งเฟ้อ พอไปถึงจุดหนึ่งที่ควบคุมไม่ได้ มันก็ระเบิดตูมทั้งวงการ ทุกคนใช้ของฟรี คนในวงการก็ตกที่นั่งเดียวกันหมด เวลาเราปล่อยผลงานออกไปแล้วถูกละเมิดลิขสิทธิ์มันทำให้เราอยู่ยาก

          แต่มันทำให้ผมรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนวิธีคิด แทนที่จะไปเป็นศัตรูกับมันก็ต้องหาวิธีเป็นมิตรกับมันให้ได้ งั้นก็ไม่จำเป็นต้องทำอัลบั้ม อาจจะทำแค่เพลงสองเพลง แล้วใช้มันเพิ่มยอดคอนเสิร์ตแทน

มีการจัดอันดับว่าคุณเป็นมือกีตาร์อันดับ 5 ของประเทศ รู้สึกอย่างไรกับฉายาหรือการจัดอันดับนี้

          (หัวเราะ) ผมต้องขอบคุณเลยที่ให้เป็นอันดับ 5 แต่จริงๆ ผมต้องบอกเลยว่ายังมีคนเก่งอีกเยอะมาก

ต้องฝ่าฟันอะไรมาบ้าง กว่าจะมีความความเชี่ยวชาญในสิ่งที่รัก

          ถ้าจะให้ผมเล่นกีตาร์เร็วๆ ปั่นๆ เพียงเพื่อต้องการแค่เพิ่มทักษะผมไม่ทำ ถ้าใครอยู่ในวงการกีตาร์จะรู้เลยว่าผมมีเอกลักษณ์ในเรื่องซาวด์พิเศษมาก ซึ่งผมก็ไม่รู้จนกระทั่งเล่นเยอะๆ ฟังคนอื่นเยอะๆ เวลาผมไปเล่นต่างประเทศ เขารู้สึกทันทีเลยว่าคนไทยคนนี้มีคาแรคเตอร์ของซาวด์ กับวิธีคิดที่เป็นตัวของตัวเอง

          วิธีเรียนรู้ที่จะทำให้เราเป็นโปรได้ จะต้องเอาสิ่งที่อยากทำมาแบออกให้ชัดๆ เลยว่า เป้าหมายที่เราอยากจะไป มันอยู่ตรงไหน ถ้ามัวแต่ทำตามแฟชั่นสุดท้ายคุณก็จะวิ่งไปที่เดียวกัน แล้วก็จะไปกระแทกกันเอง ถึงจุดหนึ่งมันก็จะตัน

          วิธีที่ผมเรียนเกิดจากการ improvise  ทุกอย่างสด ไม่เตี๊ยม ไปเล่นกับต่างประเทศก็ improvise อิสระเลย มันเหมือนเราออกจาก comfort zone เข้าไปอยู่ในจุดที่เราไม่รู้จักเลย แล้วก็พบว่า กูแย่แล้ว! ผมมักจะเอาตัวเองเข้าไปติดในกับดักนี้ แล้วจะสนุกมากเวลาที่ต้องหาวิธีเอาตัวรอดออกมา

มีวิธีสอนกีตาร์ให้ลูกศิษย์หรือน้องๆ อย่างไร ให้เข้าถึงประสบการณ์แบบที่คุณเคยสัมผัส

          สำหรับผมคนเล่นกีตาร์มี 2 แบบ คือจำทุกอย่างเป็นฟอร์มหรือเป็นภาพ กับอีกแบบหนึ่งคือแบบที่ผมเป็น ไม่จำภาพแต่จะเรียนรู้โครงสร้างของคอร์ดหมดเลยว่าเป็นอย่างไร เวลาผมสอนจึงเน้นให้คนเรียนคิดเป็น

          สมมุติเราเรียนแจ๊ส เหมือนกำลังเรียนวิธีพูดภาษาต่างชาติ คุณไม่มีทางทำได้ดีกว่าเจ้าของภาษา สิ่งที่คุณทำได้ก็คือแค่ทำความรู้จัก แล้วเราก็เอาระบบความคิดนั้นมาต่อยอดให้เป็นงานเราสิ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทีโบนแตกต่างจากวงอื่นคือเวลาเล่นไม่เตี๊ยม ทุกอย่างสด

การศึกษาไทยไม่ค่อยสอนให้คนคิด จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

          ต้องขึ้นกับคนสอน นอกจากต้องมีองค์ความรู้ในเรื่องที่จะสอน เขาควรจะมีวิธีสอนให้คิดเป็น ซึ่งวงการการศึกษาไทยผมว่าแก้ยากมาก และต้องแก้กันเยอะมาก

          ถ้าพื้นฐานเราเป็นคนชอบลอก เราก็จะลอก โรงเรียนทั่วไปยังสอนศิลปะด้วยการลอกรูป ต้องเขียนภาพเหมือน เขียนหนังสือสวย ถึงจะเรียกว่าเก่ง แต่ถ้าเราอยากจะต่อยอดอะไรสักอย่าง ต้องไม่ปิดกั้นการเรียนรู้ ต้องเปิดกว้างให้มีความเป็นไปได้

ยังมีอะไรที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ลงมือทำอีกไหม

          ปัจจุบันนี้ผมก็ยังซ้อมกีตาร์อยู่เป็นปกติ เพราะยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่ยังไม่รู้ เราไม่ควรประมาทกับตัวเอง เราควรจะทำไปเรื่อยๆ เหมือนตอนที่เราเพิ่งเริ่มต้น คือไม่ว่าผมจะเป็นอันดับที่เท่าไหร่ ผมก็จะทำทุกอย่างอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งอายุเยอะยิ่งต้องทำเยอะ

          เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2556) ผมหันไปถ่ายรูปแนวสตรีท จนรูปผมเป็นหนึ่งในตำนาน มันค่อนข้างจะสุดสำหรับผมแล้ว ผมก็หยุด เพราะมีอย่างอื่นที่ผมอยากทำ ตอนนี้ผมศึกษาเรื่องแพทย์ทางเลือก กำลังสนใจเรื่องเทคโนโลยีดนตรี คอมพิวเตอร์มิวสิก ผมก็เริ่มอ่าน เอาเครื่องมือมาวางแล้วก็เริ่มนั่งทำ ผมอยากรู้ว่าถ้าสิ่งที่เรามีในหัวแตกต่างจากคนอื่น พอทำแล้วมันจะออกมาเป็นอย่างไร

มีวิธีจุดไฟให้ตัวเองอย่างไรให้กระโดดลงไปทำในสิ่งที่รู้สึกว่าใช่

          สำหรับผม ในเรื่องดนตรีมันมีอะไรน่าสนใจเกิดขึ้นทุกๆ วัน สมัยนี้ถ้าคุณสนใจอะไร มือถือหาได้หมดแหละ พอมีพวกแอปพลิเคชันฟังเพลงทั้งหลาย มันกลายเป็นว่าเราเปิดประตูไปสู่โลกดนตรีที่ใหญ่มาก ผมฟังทุกวันเลย ช่วงนี้ฟังดนตรีแอฟริกัน

          ส่วนอีกอย่างหนึ่งคือลูกศิษย์หรือมือกีตาร์รุ่นน้องๆ หลายคนก็เป็นแรงขับเคลื่อนให้ผม เด็กมันยังทำได้เลย เราก็ต้องทำได้

ทุกวันนี้รู้สึกว่าชีวิตลงตัวหรือยัง

          ผมพอใจมากนะ ผมโชคดีมากๆ ที่มาอยู่จุดนี้ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบมากๆ มีแนวทางเป็นของตัวเอง แต่ผมไม่ชอบอยู่เฉยๆ ผมอยากให้มันไปได้มากกว่านี้ ไม่เคยรู้สึกว่ามันจบสิ้นแล้ว


เผยแพร่ครั้งแรก ทาง TK Podcast มกราคม 2562 (สัมภาษณ์เมื่อ ธันวาคม 2561)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก