‘เมืองความรู้’ คือเมืองที่พัฒนาบนฐานความรู้ (knowledge based urban development) ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงความรู้ของพลเมือง มีความสามารถในการเพิ่มมูลค่าและดึงดูดการลงทุนในธุรกิจความรู้ ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัย พลเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจที่เข้าถึงได้ ซึ่งจำเป็นต้องมี ‘พื้นที่’ สำหรับพบปะ สอบถาม และแลกเปลี่ยนความรู้ มีความร่วมมือทางสังคม เศรษฐกิจ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ส่วน ‘เมืองสุขภาพ’ ตามนิยามขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า นอกจากจะเป็นเรื่องของสุขภาพกายใจของประชากรในเขตเมืองแล้ว ยังรวมถึงวิธีการวางแผนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองโดยรัฐบาลท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักอื่นๆ ด้วย ดังนั้นเมืองที่สนับสนุนและส่งเสริมความผาสุกทางร่างกายและจิตใจของผู้อยู่อาศัยจะถือเป็นเมืองสุขภาพ
เมื่อพิจารณานิยามความหมายของเมืองสองรูปแบบนี้ จะเห็นว่ามีความซ้อนทับกันอยู่บางส่วน จึงมีผู้ทดลองผนวกเอาจุดเด่นของการพัฒนาเมืองทั้งสองแบบจนนำมาสู่กรอบแนวคิดเพื่อการพัฒนาสู่เมืองความรู้และสุขภาพ ซึ่งมีการนำมาประยุกต์ใช้ที่เมืองโกลด์โคสต์ ประเทศออสเตรเลีย
รู้จักโกลด์โคสต์ (Gold Coast) และจุดเปลี่ยนการพัฒนาเมือง
โกลด์โคสต์ เป็นเมืองใหญ่อันดับ 6 ของออสเตรเลีย มีประชากรกว่า 600,000 คน เป็นเมืองจุดหมายการท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ก่อนที่จะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกใน พ.ศ. 2551 ทำให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวของเมืองชะลอตัวลง แต่ก็สามารถฟื้นตัวอีกครั้งด้วยต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะกับการพักผ่อน มีสภาพภูมิอากาศแบบกึ่งเขตร้อน แนวชายฝั่งที่ทอดยาวกับหาดทรายขาว มีภูเขาและป่าไม้สำหรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โกลด์โคสต์ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคนต่อปี โดยเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 1 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ โกลด์โคสต์ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ (Commonwealth Games) พ.ศ. 2561 มหกรรมกีฬาที่ดึงดูดผู้เข้าชมระหว่างรัฐและต่างประเทศมากกว่า 120,000 คน นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ 10,000 คน ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมืองอย่างมีนัยสำคัญ มีการลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการมูลค่ากว่า 1,600 ล้านดอลลาร์ พร้อมกับการขยายตัวของภาคธุรกิจที่สอดรับกัน เช่น ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร สถานบันเทิง
เส้นทางสู่เมืองความรู้และสุขภาพ
โกลด์โคสต์ไม่หยุดตัวเองไว้เพียงแค่การเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง แต่ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางด้านการศึกษา สุขภาพ และนวัตกรรม เพื่อขยายฐานทางเศรษฐกิจของเมืองให้กระจายตัวอย่างหลากหลาย และดึงดูดการลงทุนของภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ มุ่งเน้นให้เป็นเมืองที่สร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตและมองเห็นโอกาสใหม่ๆ
การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ภาครัฐโดยเทศบาลเมืองโกลด์โคสต์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นผู้นำการพัฒนา อย่างน้อยใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่
1. การพัฒนาและเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง
อาทิ โครงการรถราง Light Rail Corridor – Parkwood to Broadbeach เป็นหนึ่งในโครงการระบบขนส่งสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ถือเป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนเมืองให้เป็นปลายทางที่ทันสมัยและเข้าถึงได้ เชื่อมต่อ 16 สถานี ระยะทาง 16 กิโลเมตร เส้นทางดังกล่าวเชื่อมพื้นที่ชายหาดสู่โรงพยาบาล และมหาวิทยาลัยภายในเมืองได้โดยสะดวก
นอกจากนั้น ยังพัฒนาการเชื่อมต่อจากถนนสายหลักให้เป็นโครงข่ายเส้นทางเข้ามาภายในเมืองมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการขนส่งสาธารณะ มีการพัฒนาโครงข่ายรถสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ปรับปรุงทางเดินเท้าและเลนจักรยานที่ปลอดภัย และมีบรรยากาศที่ดี
2. การพัฒนาย่าน หรือพื้นที่พัฒนาพิเศษในเมือง
โกลด์โคสต์ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล สถาบัน ธุรกิจเอกชน และที่อยู่อาศัย ส่งเสริมการใช้พื้นที่แบบผสมผสาน เพื่อกระตุ้นการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เช่น
โครงการ Gold Coast Health and Knowledge Precinct (GCHKP)
จากการได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเมืองโกลด์โคสต์หลายด้าน โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้าง เช่น หมู่บ้านนักกีฬา การคมนาคมขนส่งในเมือง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หลังจากที่มหกรรมกีฬานานาชาติผ่านพ้นไป โกลด์โคสต์ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น แต่ได้เดินหน้าลงทุนเพิ่มเติมในโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพ การศึกษา และการขนส่งที่ทันสมัย เพื่อต่อยอดไปสู่โครงการพัฒนา ‘ย่านสุขภาพและความรู้’ หรือ Gold Coast Health and Knowledge Precinct (GCHKP) บนพื้นที่ 200 เฮกตาร์2 มูลค่าการลงทุน 5,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างสรรค์พื้นที่พัฒนาพิเศษแห่งใหม่ให้เป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทระดับโลกที่มีเอกลักษณ์ สำหรับธุรกิจการค้า การวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรม
คาดการณ์ว่า GCHKP จะมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโกลด์โคสต์ให้ทัดเทียมเมืองสำคัญระดับโลก ภายในพื้นที่ของย่านนี้ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโกลด์โคสต์ โรงพยาบาลเอกชนโกลด์โคสต์ และสถานศึกษาขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง ประชากรในย่านประกอบด้วยนักศึกษาระดับอุดมศึกษากว่า 20,000 คน คนทำงานกว่า 14,000 ตำแหน่ง นักวิจัย 1,000 คน ภายในย่านดังกล่าวยังเปิดให้มีการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เช่า (built-to-rent) และพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสาน (mixed-use) เพื่อให้เป็นย่านการค้าสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่สำหรับทำงานร่วมกัน และศูนย์สร้างสรรค์นวัตกรรม (COHORT Innovation Space)3 มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ และระบบการขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพ เมื่อพัฒนาแล้วเสร็จสมบูรณ์ คาดว่า GCHKP จะมีการจ้างงานถึง 26,000 ตำแหน่ง และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจท้องถิ่นกว่า 2,900 ล้านดอลลาร์
Southport PDA
Southport ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลและประกาศให้เป็นพื้นที่สำคัญในการพัฒนาหรือ Priority Development Area (PDA) ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 ถือเป็นก้าวสำคัญในการวางแผนสำหรับย่านธุรกิจโกลด์โคสต์และส่งเสริมแผนการพัฒนาเมือง มีการลงทุนสร้างอาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย พื้นที่สาธารณะเพื่อการพักผ่อนและสันทนาการ ทางเดินเท้าที่ร่มรื่น เลนจักรยาน และโครงข่ายขนส่งมวลชนสาธารณะ
3. การส่งเสริมสุขภาพและสร้างเสริมคุณภาพชีวิต
โดยทั่วไป เมืองโกลด์โคสต์มีศูนย์บริการสุขภาพ คลินิกวัคซีน ที่มีการทำงานร่วมกันเชื่อมโยงข้อมูลเป็นเครือข่ายและพร้อมให้บริการแก่ประชาชนอยู่ค่อนข้างพร้อมสมบูรณ์อยู่แล้ว
กระนั้นก็ตาม ทางเทศบาลเมืองก็ยังสนับสนุนให้มีโปรแกรมการออกกำลังกายครบวงจรที่เรียกว่า Active & Healthy Program ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้เหมาะกับทุกเพศทุกวัยและตามระดับความแข็งแรงของสุขภาพแต่ละคน พลเมืองทุกคนสามารถติดตามตารางหรือสมัครเข้าร่วมกิจกรรมผ่านเว็บไซต์เมือง มีกิจกรรมให้เลือกอย่างหลากหลายเช่น การเคลื่อนไหวสำหรับเด็ก โยคะ หรือการดูแลสุขภาพเพื่อผู้สูงวัย เป็นต้น
นอกจากนั้นยังริเริ่มโปรแกรม Active Travel ผ่านการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางการเดินเท้า การขี่จักรยาน และเส้นทางขนส่งสาธารณะแบบบูรณาการ รวมทั้งดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการเดินและการขี่จักรยาน
การส่งเสริมสุขภาพพลเมืองด้วยการสนับสนุนให้มีการเดินทางด้วยการเดินเท้าและขี่จักรยาน นอกจากการปรับปรุงทางเดินเท้าและเลนจักรยานให้มีคุณภาพและปลอดภัย ยังจำเป็นต้องมีบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมร่มรื่นกับกิจกรรมดังกล่าวด้วย ดังนั้นเทศบาลจึงดำเนินการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่เปิดโล่ง ตลอดจนส่งเสริมการจัดกิจกรรมทางสังคม เพื่อให้พลเมืองมีโอกาสได้มาพบปะกัน รวมไปถึงการจัดเทศกาลเกี่ยวกับภาพยนตร์ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจสำคัญของเมือง
เรียนรู้จากโกลด์โคสต์
แผนการพัฒนาเมืองโกลด์โคสต์นั้นให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย โรงเรียน โรงพยาบาล สถาบันวิจัย ย่านธุรกิจ รวมถึงพื้นที่สาธารณะ ให้เชื่อมถึงกันเป็นโครงข่าย เพราะพื้นที่เหล่านี้ถือว่าเป็น ‘พื้นที่ความรู้’ ซึ่งไม่ควรจะแยกตัวอย่างโดดเดี่ยว
รูปแบบวิธีการเชื่อมต่อกันจะต้องสามารถเข้าถึงได้ง่ายด้วยระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ และให้ความสำคัญกับโปรแกรมการพัฒนาให้เกิดกิจกรรมทางกาย เช่น เส้นทางเดินเท้า เส้นทางจักรยาน สวนสาธารณะ เพราะกิจกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดทั้งกระบวนการสร้างองค์ความรู้ ไปพร้อมๆ กับการสร้างสุขภาพที่ดี
การดำเนินกระบวนการทั้งหมดนี้นำโดยภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชนเข้ามาช่วยขับเคลื่อน พลเมืองของเมืองโกลด์โคสต์สามารถค้นหากิจกรรม ติดต่อ ร้องเรียน ตรวจสอบทุกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเองผ่านทางเว็บไซต์ของเมือง
ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และข้อตกลงร่วมกันของประชาชนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ พลเมืองต้องได้รับข้อมูลที่เพียงพอทั้งก่อนและหลังการดำเนินโครงการของภาครัฐ เพื่อให้พวกเขาเข้าใจว่าจะได้รับประโยชน์อะไรจากการพัฒนาเมือง และทำไมจึงควรจะมีส่วนร่วมในการกำหนดวิสัยทัศน์ของเมือง
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ส่งเสริมให้โกลด์โคสต์พัฒนาไปสู่การเป็นเมืองความรู้และสุขภาพ และเป็นเมืองที่ดึงดูดผู้อยู่อาศัยและนักลงทุน
เชิงอรรถ
[1] ดัดแปลงจาก: Daniel O’Hare, Bhishna Bajracharya, Isara Khanjanasthiti. Transforming the tourist city into a knowledge and healthy city: Reinventing Australia’s Gold Coast. IFKAD-KCWS 2012 joint conference – Knowledge, innovation and sustainability: Integrating micro and macro perspectives. Matera, Italy.Jun. 2012.
[2] 1 เฮกตาร์ (hectare) เท่ากับ 10,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 6 ไร่ 1 งาน
[3] COHORT ประกอบด้วยพื้นที่ทำงาน (co-working space) ห้องวิจัย สตูดิโอ สิ่งอำนวยความสะดวก มีโปรแกรมฝึกอบรมและให้บริการคำปรึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพทางนวัตกรรมและธุรกิจ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://cohortspace.com.au/
ที่มา
Daniel O’Hare, Bhishna Bajracharya, Isara Khanjanasthiti. Transforming the tourist city into a knowledge and healthy city: Reinventing Australia’s Gold Coast. IFKAD-KCWS 2012 joint conference – Knowledge, innovation and sustainability: Integrating micro and macro perspectives. Matera, Italy.Jun. 2012. [online]
Natasha Dragun, CNN. How Australia’s Gold Coast reinvented itself. Published 8th January 2018. [Online]
เว็บไซต์ gchkp
เว็บไซต์ goldcoast